xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นประกาศรับซื้อไฟฟ้าชุมชน Quick Win ก.พ.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พพ.ชงหลักเกณฑ์และคัดเลือกโรงไฟฟ้าชุมชนเสนอ “สนธิรัตน์” คาดประกาศรับซื้อไฟโรงไฟฟ้าชุมชนกลุ่ม Quick Win ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ได้ภายใน ก.พ.นี้ และเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใน มี.ค.นี้ ก่อนเปิดยื่นโรงไฟฟ้าชุมชนกลุ่มทั่วไปอีก 600 เมกะวัตต์ภายในครึ่งแรกปีนี้


นายยงยุทธ จันทโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ.ในฐานะเลขานุการในคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้นำเสนอข้อมูลหลักเกณฑ์และการพิจารณาคัดเลือกโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ให้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณาวันนี้ (17 ม.ค.) เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการขับเคลื่อนนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน เนื่องจากขณะนี้ทางคณะกรรมการฯ ยังไม่สามารถเปิดประชุมได้อย่างเป็นทางการ


อย่างไรก็ตาม หากมีการลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เป็นที่เรียบร้อยจะสามารถนำรายละเอียดหลักเกณฑ์คัดเลือกโครงการฯ เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อมีมติอนุมัติได้ทันที ขณะเดียวกัน จะส่งเรื่องให้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกเป็นประกาศรับซื้อไฟฟ้า คาดว่าน่าจะดำเนินการเปิดยื่นเสนอโครงการในรูปแบบเร่งรัด หรือกลุ่ม Quick Win ได้ภายในเดือน ก.พ.นี้ เพื่อให้สามารถลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ได้ภายในเดือน มี.ค.นี้ และสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ได้ภายในปี 2563 โดยในส่วนของกลุ่ม Quick win คาดว่าจะมีปริมาณรับซื้อไฟฟ้าไม่เกิน 100 เมกะวัตต์


ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนรูปแบบทั่วไป หรือกลุ่มสร้างใหม่ ทางคณะกรรมการฯ จะพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือกโครงการต่อจากเปิดโครงการ Quick win ซึ่งน่าจะเปิดให้ยื่นเสนอโครงการฯ ได้ภายในครึ่งแรกปี 2563 ในส่วนที่เหลือ 600 เมกะวัตต์ โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ภายในปี 2564 เป็นต้นไป เพื่อให้ครบเป้าหมายโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่จะมีปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารวม 700 เมกะวัตต์

ด้านนายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) กล่าวว่า บริษัทไม่ค่อยสนใจลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนมากนัก เนื่องจากมีข้อกังวลต่อปริมาณเชื้อเพลิงที่จะใช้ในการผลิตไฟฟ้า เบื้องต้นโครงการน่าจะเน้นเชื้อเพลิงประเภทชีวมวลเป็นหลักจึงมีความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงที่อาจไม่เพียงพอ ทำให้ราคาเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งพบว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลทางภาคใต้หลายแห่งเริ่มประสบปัญหาดังกล่าว จากเดิมราคาเชื้อเพลิงชีวมวลอยู่ที่ 500 บาท/ตัน ปรับขึ้นถึงระดับ 1,200 บาท/ตัน ซึ่งเป็นระดับราคาเท่ากับเชื้อเพลิงขยะ RDF แต่มีค่าความร้อนต่ำกว่าด้วย โดยเชื้อเพลิงชีวมวลให้ค่าความร้อนกว่า 2,000 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม ขณะที่เชื้อเพลิงขยะ EDF ให้ค่าความร้อนสูงกว่าที่ระดับกว่า 3,000 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม ซึ่งค่าความร้อนที่มีมากกว่าก็จะให้ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าที่มากกว่าด้วย

แต่ทั้งนี้ มีกลุ่มชุมชนในบริเวณที่ตั้งโรงไฟฟ้าของบริษัทใน จ.สระบุรีให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ก็ได้มาหารือกับทางบริษัท ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาว่าโครงการจะมีความน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ มติ กพช.เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2562 ได้เห็นชอบในหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) และราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยกำหนดปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายไม่เกิน 10 เมกะวัตต์และเป็นสัญญาประเภท Non-Firm ที่สามารถใช้ระบบกักเก็บพลังงานร่วมด้วยได้ แต่ห้ามใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลช่วยในการผลิตไฟฟ้า ยกเว้นช่วงเริ่มต้นเดินเครื่อง โดยแบ่งประเภทเชื้อเพลิง 4 ประเภท ได้แก่ ชีวมวล, ชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย), ชีวภาพ (พืชพลังงาน) และเชื้อเพลิงผสมผสาน หรือ Hybrid ระหว่างชีวมวล หรือชีวภาพ ข้างต้น กับพลังงานแสงอาทิตย์


ส่วนรูปแบบการร่วมทุน ประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชนอาจร่วมกับองค์กรของรัฐ) สัดส่วนประมาณ 60-90% และ 2. กลุ่มวิสาหกิจชุมชน (มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน) สัดส่วนประมาณ 10-40% (เป็นหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่า 10% และเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีกรวมแล้วไม่เกิน 40%) มีส่วนแบ่งจากรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นให้กับกองทุนหมู่บ้านที่อยู่ใน “พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น” ของโรงไฟฟ้านั้นๆ โดยมีอัตราส่วนแบ่งรายได้ สำหรับโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ไม่ต่ำกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย และสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Hybrid ไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์ต่อหน่วย


กำลังโหลดความคิดเห็น