ไทย-จีนสานความร่วมมือทางเทคนิคด้านพลังงานทดแทนและนิวเคลียร์ พร้อมทั้งมองลู่ทางด้าน LNG หลังจีนมีแนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซฯ เพิ่มขึ้น ขณะที่ไทยก็ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางซื้อขาย LNG ในภูมิภาคอาเซียน “ราช กรุ๊ป” แย้มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จีนก่อสร้างแล้ว 40% มั่นใจจ่ายไฟเข้าระบบได้ในปี 64
นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุม THE FOURTH CHINA-THAILAND ENERGY WORKING GROUP ที่จัดขึ้นในประเทศไทยที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานฝ่ายไทย และฝ่ายจีนมีรัฐมนตรีช่วยสำนักงานพลังงานแห่งชาติจีน เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้หารือความร่วมมือด้านเทคนิคเรื่องของพลังงานทดแทน นิวเคลียร์ และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งประเทศจีนมีท่าเรือขนาดใหญ่และมีความต้องการใช้ LNG ในปริมาณมาก ขณะที่ไทยก็มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการจัดหาและนำเข้า LNG กอปรกับไทยก็มีเป้าหมายที่จะยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่จะพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันเพื่อทำเทรดดิ้งในอนาคต
จากแนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซฯ จีนที่เพิ่มขึ้น เมื่อมีความร่วมมือกันทำให้เกิด synergy สร้างความเข้มแข็ง และยังช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขันธุรกิจเทรดดิ้ง LNG ร่วมกัน และยังลดความเสี่ยงจากการขาดแคลน LNG ในอนาคต โดย ปตท.ก็มีแผนที่จะทำเทรดดิ้ง LNG ในจีนตอนใต้ ก็มองว่าเป็นโอกาสที่จะร่วมมือที่จะเกิดขึ้นได้
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังมีการแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีรถไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยจีนมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีล้ำหน้าไปมาก ทั้งการพัฒนาตัวรถไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้าและแบตเตอรี่ โดยพร้อมสนับสนุนให้ไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ได้เร็วขึ้น
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกัง ระยะที่ 2 หน่วยที่ 3 และหน่วยที่ 4 กำลังการผลิตติดตั้งหน่วยละ 1,180 เมกะวัตต์ (รวมกำลังผลิตติดตั้ง 2,360 เมกะวัตต์) ตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองกวางสี ทางตอนใต้ของจีนว่า โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 40% คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) และรับรู้รายได้ในปี 2564 คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 10% ในโครงการนี้ 236 เมกะวัตต์
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกัง ระยะที่ 2 หน่วยที่ 3 และ 4 เป็นความร่วมมือระหว่าง China General Nuclear Power Corporation (CGN) ถือหุ้นสัดส่วน 51%, Guangxi Investment Group Company Limited (GIG) ถือหุ้นสัดส่วน 39% และบริษัท Ratch China Power Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของราช กรุ๊ป ถือหุ้นสัดส่วน 10% ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนเพื่อจัดตั้งบริษัท กวางสี ฟังเชงกัง นิวเคลียร์ เพาเวอร์ II จำกัด (Guangxi Fangchenggang Nuclear Power (II) Co,.Ltd ) ซึ่งจะเป็นผู้พัฒนา ก่อสร้าง และดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกัง ระยะที่ 2 มีมูลค่าโครงการประมาณ 4 หมื่นล้านหยวนหรือราว 2 แสนล้านบาท โดยราช กรุ๊ปใส่เงินลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 7.5 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้มีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่าง Ratch China Power กับบริษัท กวางสี ฟังเชงกัง นิวเคลียร์ เพาเวอร์ II จำกัด เนื่องจากมีข้อติดขัดจากฝั่งจีน แต่เชื่อคาดว่าจะดำเนินการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนได้เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับจีน พร้อมเล็งสานความร่วมมือขยายการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต