จับตา 4 เรื่องใหญ่ที่รัฐบาลบิ๊กตู่กำลังเผชิญ ส่วน 'ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019' รับมือได้ ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ โพสต์แนะต้องมีมาตรการควบคุม ดูแล ไม่เช่นนั้นโรคปอดบวมอู่ฮั่น จะมีการระบาดอย่างรวดเร็ว จนเกิดความโกลาหล และสูญเสีย ด้านแหล่งข่าว สธ.ชี้ ต้องเร่งตรวจสอบและควบคุม 5 กลุ่มจากจีนที่เดินทางเข้าไทย ปัจจุบันกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งกรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ฯ เชียงใหม่ หัวหิน
สารพันปัญหาที่กำลังคืบคลานเข้ามาในประเทศไทย และท้าทายความสามารถในการบริหารจัดการจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และที่ดูจะหนักหนาที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือที่บางคนเรียกสั้นๆ ว่าไวรัสอู่ฮั่น
จากข้อมูลของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan อธิบายสถานการณ์ของการระบาดโรคปอดบวมอู่ฮั่น จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 การเตรียมพร้อมเพื่อลดความสูญเสียเมื่อมีการระบาดของโรค
ตามรูปของกราฟ โดยธรรมชาติการระบาดของโรคเมื่อมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จนมีภูมิต้านทานกลุ่มเกิดขึ้นมากพอ โรคก็จะหยุดระบาด ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยไม่ทำอะไรเลย การระบาดของโรคจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามภาพจำลองเส้นกราฟสีแดง ถ้าไม่ทำอะไรเลย การระบาดจะมีผู้ป่วยจำนวนมาก อาจใช้เวลาประมาณ 6 เดือน เมื่อมีผู้ป่วยติดเชื้อและมีภูมิต้านทานเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากโรคก็จะหยุดเอง ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าเมื่อมีผู้ป่วยจำนวนมากจะเกินความสามารถที่บุคลากรทางการแพทย์ และระบบสาธารณสุข จะรองรับได้ การดูแลจะไม่ทั่วถึง ไม่มีเตียงรับผู้ป่วย เกิดความโกลาหลวุ่นวาย และเกิดความสูญเสียจำนวนมาก
นี่คือข้อห่วงใยที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ บอกให้ทุกคนในประเทศไทยได้ตระหนักรู้!
ไม่เพียงเท่านั้น ศ.นพ.ยง ชี้ให้เห็นว่า หากประเทศไทยมีมาตรการในการดูแล ควบคุม พยายามหยุดยั้งการระบาดของโรค ด้วยมาตรการระดับหนึ่ง ประชาชนทุกคนช่วยกัน ให้การระบาดของโรคลดลง และระยะเวลาจะยาวนานขึ้นเป็นแบบเส้นสีขาว แต่ในบางครั้งหรือบางระยะเวลาการสาธารณสุขจะไม่สามารถรองรับได้ เป็นครั้งคราว
สิ่งที่เราอยากให้เห็นและให้เป็นคือแบบเส้นสีเหลือง ในการใช้มาตรการทุกสิ่งอย่างเข้มงวด จริงจัง ที่ขัดขวางการระบาดของโรคให้มีจำนวนผู้ติดโรคน้อยที่สุด แม้การระบาดของโรคจะยาวนานขึ้นจนกว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันกลุ่ม ซึ่งอาจจะมากกว่า 1 ปี แต่มาตรการการดูแลผู้ป่วยและระบบสาธารณสุขจะทำได้ดีขึ้น ดังนั้น การสูญเสียจะน้อยที่สุด เป็นการกระจายผู้ป่วยให้เกิดขึ้นทีละน้อย จนกว่าจะได้ภูมิคุ้มกันกลุ่มมากเพียงพอหรือมีวัคซีนมาช่วยเสริมภูมิต้านทานกลุ่มให้เร็วขึ้น โรคก็จะหยุดระบาด และกลายเป็นโรคประจำถิ่น
ศ.นพ.ยง ย้ำว่า หากเรามาช่วยกันใช้มาตรการทุกอย่างในการป้องกัน ไม่ให้เกิดการระบาดใหญ่อย่างรวดเร็ว แบบในเมืองอู่ฮั่นที่ตั้งตัวไม่ทัน ถึงต้องสร้างโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้ระบบการสาธารณสุขของเรารองรับได้ และไม่อยากเห็นผู้ป่วยเป็นจำนวนมากเกิดขึ้นพร้อมกัน นอกจากทางราชการหรือผู้เกี่ยวข้องทำงานอย่างหนักแล้ว เราทุกคนจะต้องช่วยกันดูแลป้องกันตัวเองด้วย
ทั้งหมดที่ ศ.นพ.ยง โพสต์บอก ก็เพื่อให้ประเทศไทยเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างดีที่สุดเพราะเชื่อว่าการระบาดจะเกิดขึ้นแน่นอน และยาวนาน 6 เดือนถึง 1 ปี
หากเราย้อนไปดูจะพบว่า การระบาดของโรคปอดบวมอู่ฮั่น จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เริ่มต้นขึ้นในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ในนครอู่ฮั่น ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณภาคกลางของประเทศจีน และจีนได้ยืนยันแล้วว่าเชื้อไวรัสนี้มาจากตลาดหัวหนาน (Huanan) ซึ่งค้าส่งอาหารทะเล แต่มีการขายสัตว์ป่าหลายประเภทที่นี่ และได้มีการสั่งระงับการค้าสัตว์ป่าไปแล้ว
แต่ปัญหาอยู่ที่โรคปอดบวมอู่ฮั่นมีการระบาดไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการระบาดจากคนสู่คนได้ง่ายเพราะมีการเดินทางเข้าออกทั้งคนจีน ไปยังประเทศต่างๆ และคนต่างชาติเดินทางมายังอู่ฮั่น หรือคนจีนมาทำงานที่เมืองอู่ฮั่น และกลับไปยังเมืองต่างๆ ในประเทศจีน
โดยข้อมูล ณ 29 มกราคมนี้ พบว่ายอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในจีนมีถึง 7,711 คน เสียชีวิตไปแล้ว 170 คน ส่วนจำนวนผู้ติดต่อใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสรวมอยู่ที่ 88,693 ราย โดย 81,947 รายยังอยู่ระหว่างการสังเกตการณ์ทางการแพทย์
ขณะเดียวกันมีผู้ติดเชื้อไวรัสทั่วโลก รวม 20 แห่ง ได้แก่ ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย เนปาล ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย แคนาดา เยอรมนี กัมพูชา ศรีลังกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และไทย
แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า รัฐบาลได้เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาอย่างเต็มที่ โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการในหลายมาตรการ เช่น การเฝ้าระวังคัดกรองผู้โดยสารเครื่องบินในเส้นทางการบินจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เข้ามายังประเทศไทย, ประสานไปยังสถานทูตจีนเพื่อขอความร่วมมือให้เป็นสื่อกลางในการติดตามผู้ป่วยชาวจีน และสื่อสารกับคนจีนให้เข้าใจในมาตรการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558, เปิดเผยสถานการณ์เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ
แต่มาตรการดังกล่าวยังไม่เพียงพอ ที่สำคัญรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ต้องร่วมมือกันเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดของโรคปอดอักเสบอู่ฮั่นเป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องมีข้อมูลและเฝ้าระวัง 5 กลุ่มต่างๆ ที่เข้ามาและปัจจุบันยังอยู่ในประเทศไทย
กลุ่มแรก คือกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนจากอู่ฮั่น ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดที่อู่ฮั่นอย่างรุนแรง คือกลุ่มที่เดินทางเข้ามาก่อนช่วงตรุษจีน ในช่วงวันที่ 15-20 มกราคม ซึ่งปกติวีซ่าจะให้ 15 วัน แต่รัฐบาลได้ขยายวีซ่าให้อยู่ต่อได้ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ไม่ได้มาเพื่อไปเที่ยวพัทยา ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ เท่านั้น แต่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้เดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ เช่นที่ตราด นครราชสีมา ซึ่งนิยมไปเที่ยวเขาใหญ่ ที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้น
“คนกลุ่มนี้ยังต้องเฝ้าระวังจะเป็นหรือไม่เป็นก็ได้ ไวรัสตัวนี้มีระยะฟักตัวตั้งแต่ 1 ถึง14 วันซึ่งช่วงฟักตัว ผู้ติดเชื้อจะยังไม่มีอาการป่วย คนกลุ่มนี้รัฐบาลต้องมีข้อมูลให้ชัดเจน ว่ามีจำนวนเท่าใด อยู่ที่ไหนบ้าง”
โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ รัฐบาลจะประมาทไม่ได้ จัดอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเช่นกัน เพราะเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวจีนลงเครื่องและกระจายไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งในกรุงเทพฯ ก็นิยมไปเที่ยวเยาวราช ถนนข้าวสาร ห้างสรรพสินค้าทั้งที่ประตูน้ำ หรือห้างดังๆ ที่คนจีนนิยม เที่ยววัดสำคัญๆ ทั้งวัดพระแก้ว วัดระฆัง เป็นต้น
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่หลังจีนสั่งปิด ห้ามคนจีนเดินทางไปนอกประเทศและไม่ให้คนต่างชาติเข้าไป เมื่อวันที่ 23 ม.ค. แต่ปรากฏว่าในวันที่ 27 มกราคมนี้ทางการจีนได้อนุญาตให้กรุ๊ปทัวร์จีนที่มีการจองโรงแรม และซื้อตั๋วเดินทางพร้อมแล้ว ยอมให้มีการออกนอกประเทศ แต่บริษัททัวร์จะต้องรับรองความปลอดภัยว่านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ไม่ได้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ
แต่การอนุญาตให้กรุ๊ปทัวร์จีนออกนอกประเทศได้ แม้จะไม่ใช่อนุญาตให้คนอู่ฮั่นที่อาศัยอยู่ในอู่ฮั่นออกไปก็ตาม แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่าคนที่เข้ามาทำงานในเมืองอู่ฮั่นและกลับไปยังบ้านของตัวเองที่อยู่เมืองอื่นๆ สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้นั้น ยังเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าติดตามเช่นกัน
“กลุ่มนี้อาจจะออกจากอู่ฮั่นแล้วกลับไปเมืองอื่นๆ แล้วซื้อทัวร์มาเที่ยวในไทย คนกลุ่มนี้อาจติดเชื้อไวรัสมาก่อนแต่ยังไม่มีอาการเท่านั้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็เฝ้าระวังอยู่ เพราะนักท่องเที่ยวจีนที่ออกมาเพียงวันเดียวแล้วมาเสียชีวิตที่เชียงใหม่ก็มาจากกลุ่มนี้ แต่ก็ต้องดูว่าเสียชีวิตเพราะไวรัสหรือไม่”
กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่มาจากเมืองอื่นๆ ไม่ได้อาศัยอยู่ในอู่ฮั่น หรือทำงานในอู่ฮั่น และไม่ได้เข้ามาเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ แต่เข้ามาส่วนตัว จองตั๋วมาท่องเที่ยวหรือเข้ามาทำงานหรือเข้ามาเรียนในประเทศ ก็ยังเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะเชื้อไวรัสที่มีการติดต่อไม่ได้อยู่แค่ที่เมืองอู่ฮั่นเท่านั้น
“กลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังมาก หรือคุมเข้มมากๆ เพราะเป็นกลุ่มล่าสุดที่ได้ออกจากจีนและเป็นคนจีนเท่านั้น”
กลุ่มที่สี่ เป็นกลุ่มทั่วไป คือ อยู่เมืองไหนก็ได้ สามารถเดินทางไปประเทศต่างๆ ได้ กลุ่มนี้ อาจจะไป สิงคโปร์ ญี่ปุน และมาไทย ซึ่งกลุ่มนี้จะติดเชื้อหรือไม่ติดก็ได้ ก่อนที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย
“กลุ่มที่ 4 น่าหนักใจ เพราะจะไปตรวจเฉพาะเที่ยวบินที่มาจากจีนก็ไม่ได้ เพราะเขาอาจติดจากประเทศอื่นก็ได้ ซึ่งสุ่มยาก เมื่อเป็นแบบนี้จึงต้องตรวจทุกเที่ยวบินจะทำได้หรือไม่ แต่จะเลือกปิดเที่ยวบินที่มาจากจีนทั้งหมดถามว่าถูกต้องหรือไม่ ทำได้หรือไม่”
กลุ่มที่ 5 บรรดาลูกเรือบนเครื่องบิน ซึ่งรัฐบาลจะมองเฉพาะนักท่องเที่ยวหรือผู้โดยสารที่เข้ามาประเทศไทยเพียงแค่นี้ไม่ได้ ยังมีกลุ่มคนที่ต้องเฝ้าระวังคือบรรดาลูกเรือของสายการบินต่างๆ ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสโคโรนาได้เช่นกัน เพราะบรรดาลูกเรือต่างต้องอยู่ภายในห้องโดยสารด้วยกันหลายชั่วโมง ซึ่งหากมีคนในเที่ยวบินนั้นติดเชื้อไวรัสโคโรนา ก็มีโอกาสที่ผู้โดยสารคนอื่นๆ และลูกเรือบนเครื่องก็ติดได้เช่นกัน
ทั้ง 5 กลุ่มจึงมีความสำคัญที่รัฐบาลจะต้องมีตัวเลขการเข้า-ออก การเดินทางไปยังเมืองต่างๆ ก่อนทีจะเข้ามาประเทศไทย ที่พักอาศัยในช่วงท่องเที่ยว โปรแกรมการเดินทางว่ามีการวางแผนไปที่ไหนบ้าง ทั้งระยะเวลาการอยู่ และการออกจากประเทศไทย
แหล่งข่าวบอกว่า ปัจจุบัน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้ความสำคัญกับข้อมูลการเข้าออกของคนจีน และชาวต่างชาติ ทั้งในรูปนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ นักศึกษา และบุคคลทั่วไป เนื่องจากชาวจีนนิยมมาเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่มาก จึงจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ หากมีปัญหาเกิดขึ้นจะป้องกันได้ทัน จึงมีการจัดทำแบบสอบถามการเดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเก็บไว้เป็นข้อมูลต่อไป
ดังนั้นเรื่องของไวรัสอู่ฮั่น จึงเป็นหนึ่งประเด็นที่รัฐบาลประยุทธ์ต้องเตรียมแผนรับมือให้ทันเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันยังมีอีกหลายเรื่องที่รอถล่มรัฐบาลบิ๊กตู่
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา และอดีตคณบดีพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) บอกว่า ขณะนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กำลังเผชิญปัญหาอยู่ 4 เรื่องหลักๆ คือ
1. ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งโดยรวมแล้วถือว่ารัฐบาลสามารถรับมือได้ดี ประเด็นนี้จึงไม่น่ามีผลกระทบต่อรัฐบาล ส่วนกรณีความล่าช้าในการนำคนไทยที่อยู่ในอู่ฮั่นกลับประเทศนั้น กระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ เกิดจากการเปรียบการทำงานของรัฐบาลไทยกับรัฐบาลประเทศอื่นๆ ที่เขาทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่า ส่วนรัฐบาลไทยยังด้อยอยู่ ทั้งที่จริงๆ แล้วไทยกับจีนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ดังนั้นหากรัฐบาลมีความตื่นตัว และเห็นความสำคัญของชีวิตคนไทยที่อยู่ในความเสี่ยงก็ต้องรีบดำเนินการ
2. ปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 รัฐบาลยังแก้ไขปัญหาได้ไม่ดีนัก หน่วยงานรัฐยังขาดการประสานงานและความร่วมมือ ขาดมาตรการในการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว และมีปัญหาด้านประสิทธิภาพในการทำงาน
3. ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพของน้ำประปา ขณะนี้ยังไม่เห็นมาตรการชัดเจนในการแก้ปัญหา ทั้งที่รัฐบาลควรจะเตรียมการไว้ก่อนที่จะถึงช่วงหน้าแล้ง ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ดือนเมษายน และหากรัฐบาลไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมก็คงจะเผชิญปัญหาหนัก
4. ปัญหาการเมือง ขณะนี้มีอยู่ 2 ประเด็น คือ
1).เรื่องการเสียบบัตรแทนกันในการลงมติ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยแล้ว ปัญหาดังกล่าวเกิดจากพฤติกรรมของ ส.ส.ที่ยังคงมีความคิดแบบเดิมๆ ว่าการเสียบบัตรแทนกันเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ตระหนักถึงหน้าที่ของตนเองซึ่งต้องปฏิบัติด้วยความถูกต้องชอบธรรม ซึ่งเป็นทัศนคติที่ผิดพลาดมาก เห็นว่าการทำงานในพื้นที่สำคัญกว่าการทำหน้าที่ออกกฎหมายในสภา ทั้งที่การลงมติในสภาถือเป็นการทำหน้าที่แทนประชาชน
อีกทั้งปัญหาดังกล่าวยังทำให้การออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ล่าช้าออกไปอย่างน้อยๆ 1 เดือน การจะจัดสรรงบประมาณไปใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ล่าช้าออกไปอีก เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาที่มาซ้ำเติมรัฐบาล ทั้งนี้เท่าที่ทราบขณะนี้รัฐบาลได้เตรียมการรับมือกับปัญหาดังกล่าวไว้บ้างแล้ว โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย บอกว่ามีหลายมาตรการ
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้รัฐบาลต้องหาตัวผู้รับผิดชอบให้ได้ ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.ที่เสียบบัตรแทนกัน หรือ ส.ส.ที่ไม่ได้ร่วมลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563
2) การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้นในเดือน ก.พ.นี้ ซึ่งประเด็นหลักในการอภิปรายที่จะสร้างปัญหาให้รัฐบาลก็คือเรื่อง EEC เนื่องจากฝ่ายค้านเตรียมข้อมูลไว้ถล่มเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบที่มีต่อชุมชน ปมปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย การจัดประมูลด้วยความเร่งรีบ ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องหาคำตอบให้ประชาชน
“ขณะนี้คะแนนนิยมของรัฐบาลลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ถึงจุดที่เกิดวิกฤตศรัทธาจนออกมาชุมนุมขับไล่” รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต บอก