xs
xsm
sm
md
lg

แฉเหตุ ปชป.เลือดไหลไม่หยุด จับตาแกนนำอีก 5 คนพร้อมโบกมือลา!?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แจงเหตุผลสำคัญที่ ปชป.เลือดไหลไม่หยุด! ชี้ใครจะเป็นคิวต่อไป คาด 'อัศวิน-อภิชัย' 2นักธุรกิจ ออกอาการแล้ว วงในแนะจับตา 'ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ - ถาวร เสนเนียม - สาธิต วงศ์หนองเตย' ซึ่งเป็นกลุ่ม กปปส. นิ่งที่สุดแต่อาจมีเซอร์ไพรส์ เชื่อ 3 กลุ่มที่บอกลา ปชป. ล็อตแรกกว่า 20 คน ตามด้วยนิวเดม และ 'พีระพันธุ์ - กรณ์' ล้วนแต่เป็น Futurista ที่จะสร้างอนาคตให้ ปชป. ด้านกรณ์เร่งปั้นพรรคใหม่ ขายจุดแข็งดึงคนรุ่นใหม่และประชาชนร่วมสานฝันมือเศรษฐกิจของเมืองไทย ส่วน ปชป.จะกอบกู้พรรคได้อย่างไร!


การทยอยลาออกของระดับแกนนำ และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องจะยังคงมีต่อไปหรือไม่? และใครจะเป็นคิวต่อไป รวมไปถึงพรรค ปชป. จะมีสถานภาพอย่างไรต่อไป เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และต้องการค้นหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดอะไรกับพรรค ปชป. ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรค

เริ่มตั้งแต่การประกาศลาออกของกลุ่ม 'นิวเดม' ที่เกิดขึ้นภายหลังพรรค ปชป.มีมติร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ทั้งที่คนเหล่านี้รวม 30 ชีวิตเป็นเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพได้เข้ามาอยู่ในพรรค ปชป.ด้วยการคัดเลือก อบรม หล่อหลอมและเจียระไน ซึ่งใช้เวลาถึง 2 ปี จนทำให้พวกเขาเป็นเนื้อเดียวกัน มีความผูกพันกัน มีอุดมการณ์ ปชป.ชัดเจน จนเป็นที่มั่นใจว่า นิวเดมกลุ่มนี้จะเติบโต แข็งแกร่ง และเป็นแรงหนุนให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจพรรค ปชป.เพื่อสร้างโอกาสให้ ปชป.กลับมายิ่งใหญ่ในสนามการเมืองได้ในอนาคต

ส่วนบรรดาผู้อาวุโสในพรรคก็เริ่มเข้าสู่วัยร่วงโรย ความเชี่ยวกรากทางการเมือง หรือ เขี้ยวเล็บต่างๆ ที่เคยมีอยู่ก็จะบ่มเพาะและถ่ายทอดไปสู่รุ่นต่อรุ่น เพื่อคงอุดมการณ์ ปชป.ไว้เหมือนที่ผ่านมา

ว่ากันว่าการเดินออกไปของกลุ่มนิวเดม ได้สร้างความโกรธแค้นให้กับกลุ่มบรรดาผู้อาวุโสที่มีบทบาทในพรรคมาก เพราะถือว่าเป็นการหักหน้าและนำไปสู่การล่มสลายของ 'นิวเดม' ซึ่งแม้แต่ชื่อก็ไม่ให้คงไว้ใน ปชป.อีกต่อไป

เมื่อเป็นเช่นนี้ นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรค ปชป. และเป็น รมช.มหาดไทย ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงเสนอให้มีการรื้อฟื้นและจัดอบรมโครงการ 'ยุวประชาธิปัตย์' ขึ้นมาแทน ซึ่งนิวเดมที่เหลืออยู่ก็จะเข้าไปอยู่ใน 'ยุวประชาธิปัตย์' ซึ่งวันนี้มีการอบรมรุ่นแรกจำนวน 132 คนไปแล้วและจะมีรุ่น 2, 3, 4, 5......ต่อไป

โดย 'ยุวประชาธิปัตย์' จะเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนพรรค ร่วมคิด ร่วมสร้างกรุงเทพฯ ซึ่งวันนี้พรรค ปชป.ได้มอบหมายให้นายสรรเสริญ สมะลาภา อดีตรอง หน.พรรค ปชป.ดูแลพื้นที่ กทม. เข้ามาเป็นแม่ทัพในการดูแลและผลักดัน 'ยุวประชาธิปัตย์' ไปสู่เป้าหมายให้ได้

“การฟื้นยุวประชาธิปัตย์ ก็เพราะพรรคอยากจะได้ ส.ส. กทม.เพิ่ม แต่ปัญหาคือเราใช้เวลาสั้นๆ ในการอบรม คนที่เข้ามาอบรม ก็ไม่ได้คนที่สนใจจริงๆ ถ้าพูดถึงปริมาณก็ดูจะเยอะ รุ่นละเป็น 100 กว่าคน แต่พูดถึงคุณภาพจะแตกต่างจากนิวเดมมาก เพราะนิวเดมใช้เวลาเรียนรู้ ศึกษา อบรม มากกว่า 2 ปี พวกนี้จะผูกพันกันมาก อุดมการณ์ใช่เลย”



จากซ้าย: นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายกรณ์ จาติกวณิช,นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี
เมื่อ ปชป.ยังไม่สามารถสร้างเลือดใหม่ได้ แต่ก็ต้องมาสูญเสียกำลังสำคัญ เพราะต้องไม่ลืมว่า ก่อนที่นิวเดมจะสูญพันธุ์นั้น บรรดาคนรุ่นใหม่ และรุ่นเก่าบางคนในพรรค ปชป.ที่เคยร่วมเคลื่อนไหวและเป็นกลุ่ม กปปส. ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาฯ พรรค ปชป.เป็นแกนนำก็ได้ลาออกจากพรรคปชป.ร่วม 20 คน และไปลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งวันนี้คนเหล่านี้กลายเป็นแกนนำในพรรค พปชร.ซึ่งถือว่าเป็นสายตรง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษา, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น การยื่นใบลาออกของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค ปชป.อดีตแคนดิเดตหัวหน้าพรรค ไม่ได้สร้างความตกใจให้กับแกนนำพรรค ปชป. เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในพรรคได้สร้างแรงกดดันให้กับหลายๆ คนที่เคยมีบทบาทและอยู่ในระดับแกนนำแต่ไม่ได้สังกัดกลุ่มผู้มากบารมีในพรรค ปชป. ทุกๆ คน เมื่อถึงเวลาจำต้องออกไป!

แม้ว่านายพีระพันธุ์จะไม่ได้มีบทบาทในพรรค ปชป.แล้ว แต่เขากลับมีบทบาทสำคัญในฐานะข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) และประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

ว่าไปแล้วนายพีระพันธุ์ คือจุดเริ่มต้นของคนที่เป็นเลือดประชาธิปัตย์ และเป็นหนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคซึ่งเป็นคู่แข่งคนสำคัญของนายจุรินทร์ และเมื่อเสร็จสิ้นการแข่งขันกลับพบว่านายพีระพันธุ์กลายเป็นคนที่ไม่มีตัวตนอยู่ในพรรคนับตั้งแต่นั้นมา

ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกันที่คิวต่อไปเป็น "นายกรณ์ จาติกวณิช" หนึ่งในคู่ชิงหัวหน้าพรรคปชป. ที่หลั่งน้ำตาประกาศลาออกจากพรรค ปชป.เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา เพราะสถานภาพภายในพรรคของนายกรณ์ ไม่ได้ต่างจากนายพีระพันธุ์ คือไร้ซึ่งตัวตน ตามด้วย นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ประกาศลาออกจากพรรค ปชป.เช่นกัน

“การลาออกของนายกรณ์ ทำให้ ปชป.เสียหาย ตรงที่ว่ามาออกตามหลังนายพีระพันธุ์ จึงทำให้คนในพรรค สมาชิกพรรคต่างๆ และสังคมเริ่มมองว่า ปชป.ผิดปกติและมีปัญหาในเรื่องการบริหารของหัวหน้าพรรคและผู้ใหญ่ในพรรค” พร้อมกับมีคำถามตามมาว่า ใครจะเป็นรายต่อไป!

บนซ้าย:นายอัศวิน วิภูศิริ , นายอภิชัย เตชะอุบล  ( ล่างซ้าย )  นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์,นายถาวร เสนเนียม ,นายสาธิต วงศ์หนองเตย
แหล่งข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า จริงๆ แล้วการประกาศลาออกของแกนนำและเชื่อว่าจะมีคนอื่นตามมาอีกนั้น ไม่ใช่เรื่องแค่ไม่มีที่ยืนในปัจจุบัน ซึ่งหมายถึงผู้อาวุโสของพรรคและหัวหน้าพรรคไม่ได้ให้บทบาทอะไรทั้งสิ้น แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้ถึงปัญหาที่สะสมมานานและมองออกว่ากลุ่มคนที่อยู่ปัจจุบันจะมีอนาคตทางการเมืองได้ จะต้องเป็นกลุ่มก๊วนของผู้อาวุโสพรรคเท่านั้น หากใครไม่เข้าพวกโอกาสจะถูกเขี่ยทิ้งมีตลอดเวลา

ตรงนี้คือประเด็นสำคัญที่ทำให้แกนนำพรรคหลายๆ คนได้มีการจับเข่าคุยกัน และประเมินว่าใครควรอยู่และใครควรไปได้แล้ว โดยประเด็นสำคัญที่สุดคือทุกคนที่เป็นนักการเมืองอาชีพ ต่างมองว่าการจะมีชีวิตทางการเมืองที่ยืนยาวได้ จุดสำคัญอยู่ที่การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ ส.ส.ไม่ว่าจะเป็นบัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส.เขตก็ตาม แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นใน ปชป. คือ ทั้งแกนนำ และสมาชิกหลายคนมองเห็นว่าถ้าอยู่ต่อไปจะไม่ได้เห็นอนาคตทางการเมืองแน่นอน คือไม่ได้เป็น ส.ส. เพราะบรรดาผู้อาวุโสที่ยึดพรรคนั้น ไม่มีทางส่งลงสมัคร ส.ส.เขต หรือไม่จัดอยู่ในบัญชีรายชื่อหรือถ้าจัดก็อยู่ในลำดับท้ายๆ

ที่สำคัญสถานะที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ไม่สามารถที่จะสร้างผลงานทั้งในส่วนของพรรค และส่วนของตัวเขาเองได้เลย 

“คุณกรณ์ เขารู้อยู่แล้วว่าเลือกตั้งครั้งหน้าหากยังอยู่ ปชป. เขาจบแน่ๆ เพราะคุณจุรินทร์ จะจัดเขาอยู่ในบัญชีรายชื่ออันดับท้ายๆ จึงมีการเตรียมแผนตั้งพรรคไว้รองรับแล้ว ซึ่งพวกเราก็มีการคุยกันไว้บ้าง ส่วนใครจะไปหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจกันเอง”

แหล่งข่าวบอกอีกว่า นายกรณ์ จะต่างกับนายพีระพันธุ์ ตรงที่ว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่น่าจะดึงไปช่วยงานหรือเข้าร่วมทีมเศรษฐกิจ ซึ่งในความเป็นจริงนายกรณ์ก็รู้ดีว่าปัญหาอยู่ตรงไหน จึงได้มีแผนไว้แล้วว่าจะออกมาตั้งพรรค แต่การประกาศเปิดตัวเร็วนั้นเป็นเพราะว่า นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ หรือโจ ผู้บุกเบิกสายการบินต้นทุนต่ำ “ไทยแอร์เอเชีย' ซึ่งนั่งเก้าอี้ซีอีโอ จะมานั่งเป็นเลขาธิการพรรค ได้มีการเร่งรัดเพราะเชื่อว่าการทำพรรคการเมือง จะต้องมีการเตรียมการอย่างน้อย 1-2 ปี ทั้งในเรื่องการทำนโยบาย การสร้างกระแส ปั่นกระแส จึงจะทำให้พรรคเป็นที่รู้จักของสังคมได้

นอกจากนี้นายกรณ์เชื่อว่าด้วยจุดแข็งของตัวเขา บวกกับนายธรรศพลฐ์ และสมาชิกหลายๆ คนที่จะมาร่วมสร้างพรรค จะทำให้พรรคนี้เจาะฐาน กทม.ได้แน่ๆ

ส่วนคนในพรรค ปชป. ที่จะตามไปอยู่พรรคของนายกรณ์ เพราะเชื่อว่านายกรณ์ จะทำให้พรรคมีความทันสมัย และผลักดันนโยบายที่โดนใจประชาชนออกมาขายให้คนชั้นกลาง โดยเฉพาะถูกใจฐานเสียงใน กทม.ซึ่งจะทำให้เรียกคะแนนเสียงเก่าๆ กลับคืนมาได้

“ทั้ง 2 คนเป็นนักธุรกิจ บริหารกิจการขนาดใหญ่มาแล้ว จะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับประชาชนและประเทศได้ และจุดขายของเขาจะอยู่ในนโยบายสร้างธุรกิจ Start Up สร้างเงินทุนในและนอกประเทศ และแก้ไขปัญหาให้กับ SME ให้ประสบความสำเร็จเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศได้”

แต่สิ่งที่นายกรณ์ พยายามสื่อให้สังคมได้เห็นอย่างต่อเนื่องก็คือตัวเขาเป็นรัฐมนตรีคลังที่เก่ง มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่านายกรณ์ ได้เข้าไปคลุกคลีกับเรื่องนโยบายการเกษตรอย่างต่อเนื่อง และพยายามสร้างฝันให้กับคนทั่วไปได้เห็นว่านักธุรกิจที่ผ่านการบริหารองค์กรใหญ่ๆ มาแล้วเท่านั้นจึงจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้สำเร็จ และคนที่จะอธิบายให้สังคมได้เห็นภาพชัดก็คือนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ที่ลาออกจาก ปชป. มาร่วมในการตั้งพรรค

“ในพรรค ปชป. ยอมรับว่าคุณอรรถวิชช์ เป็นคนเก่ง เป็นคนนิ่งและอธิบายเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องง่าย และชาวบ้านฟังแล้วจับต้องได้ และยิ่งพรรคคุณกรณ์ทำให้สมาชิกพรรคมองเห็นอนาคตพรรคได้ จะมีคนแห่ตามไปอีกหลายคน เพราะมีการคุยกันแล้วว่าเบื่อการบริหารของผู้บริหารพรรค ปชป.ยุคนี้”

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ - นายชวน หลีกภัย
สิ่งสำคัญที่แกนนำพรรค ปชป.ซึ่งเป็นสายเลือด ปชป.โดยตรง บอกว่าสมาชิกพรรคที่ยังรักพรรคปชป. จะเลือกอยู่กับพรรคต่อไป แต่สิ่งที่แกนนำมีการคุยกันและเป็นห่วงคือ เมื่อพรรค ปชป. แตกออกเป็น 3 ส่วนซึ่งหมายถึง กลุ่มนิวเดม 1 ส่วน พรรคนายกรณ์ อีก 1 ส่วน และอีก 1 ส่วน คือพรรค ปชป. ที่เหลืออยู่ เมื่อมาแข่งกันเองในสนาม กทม.ในที่สุดก็จะแพ้พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งแพ้พรรคพลังประชารัฐ

“เมื่อเค้กถูกแบ่งเป็น 3 ก้อน จะเอาอะไรไปต่อสู้กับพรรคอื่นๆ ปชป.ก็จะอ่อนแอลงไป เพราะสนามภาคใต้ก็ถูกพรรคพลังประชารัฐแย่งพื้นที่ไปได้แล้ว ซึ่งพิสูจน์แล้วในการเลือกตั้งที่ผ่านมา อีสานไม่ต้องไปพูดถึง ไม่มีโอกาสอยู่แล้ว”

ขณะเดียวกัน หากผู้บริหารพรรค ปชป.ไม่รีบแก้ไขปัญหาภาคใต้ ก็อาจจะลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 ของปัจจุบันก็ได้ เพราะวันนี้ก็มีการประเมินแล้วพบว่าพรรคที่กุมฐานเสียงทางใต้ได้เวลานี้คือ พรรคพลังประชารัฐและภูมิใจไทย เพราะมีงบให้ ส.ส.ลงพื้นที่ และยังมีงบประมาณของกระทรวงที่ 2 พรรคนี้ดูแลอยู่ ได้มีการจัดสรรงบเพื่อพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ไว้แล้ว

“ปชป.จะเอาอะไรไปสู้เขา หากไม่รีบแก้ไขปัญหาภายในพรรคให้เรียบร้อย ก็จะมีคนออกไปอีก"

แหล่งข่าวพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า ในช่วงที่มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและนายจุรินทร์ได้เป็นหัวหน้าพรรค เพราะกลุ่มของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ได้มีการเทคะแนนเสียงให้ แต่วันนี้นายจุรินทร์กลับไม่มีที่ให้นายอภิสิทธิ์ยืนได้เลย หรือแม้กระทั่งห้องก็ไม่มีให้อยู่ ถามว่าคนกลุ่มนี้แหละ ที่กำลังเป็นที่จับตาของแกนนำในพรรคว่าจะยังอยู่พรรค ปชป.ต่อไปหรือไม่

“มีเสียงแว่วๆ ในพรรคอาจจะมีอีก 2 คนที่เป็นคนของนายอภิสิทธิ์ คือ นายอภิชัย เตชะอุบล และนายอัศวิน วิภูศิริ ทั้ง 2 คนเป็นนักธุรกิจ และนายจุรินทร์ รับปากจะให้ตำแหน่ง แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่บอกไว้”

ส่วนที่สังคมควรจับตามองคือ นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา และนายสาธิต วงศ์หนองเตย ส.ส ตรัง ทั้ง 3 คนนี้นิ่งกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในพรรค ปชป.มากจนทำให้แกนนำพรรคหลายคนเริ่มหาคำตอบว่าจะยังอยู่พรรค ปชป.ต่อไปหรือไม่

“3 คนนี้อยู่ในกลุ่ม กปปส.สนิทสนมกับณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ มากๆ และก็เป็นคนหนุนให้ ปชป.ร่วมรัฐบาลที่ผ่านมา”

สำหรับสมาชิกที่จะยังคงเหนียวแน่นและอยู่กับพรรค ปชป.ต่อไปจะเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ปัจจจุบันดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร จะอยู่ในกลุ่มบัญชีรายชื่อ เช่น นายกนก วงษ์ตระหง่าน นายพิสิฐ ลี้อาธรรม นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช นายนิพนธ์ บุญญามณี เป็นต้น รวมไปถึงกลุ่มของนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส่วนกลุ่มของนายจุรินทร์ ก็จะเป็น ส.ส.เขตส่วนใหญ่ และกลุ่มที่อยู่กลางๆ แต่เป็นพวกอำนาจนิยม คือจะอยู่กับผู้ชนะเท่านั้น จะยังคงอยู่พรรค ปชป.ต่อไป

อย่างไรก็ดี แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า ทั้ง 3 กลุ่มที่มีการออกไปจากพรรค ปชป.ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแรก ที่มีณัฏฐพล ทีปสุวรรณ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และสมาชิกเกือบ 20 คน ตามด้วยกลุ่มนิวเดม ต่อด้วย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายกรณ์ จาติกวณิช และนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ที่มีจุดเหมือนกันที่สุดคือเขาเป็นพวกฟิวเจอริสต้า : Futurista ที่มีอนาคตและสร้างอนาคตให้กับพรรค ปชป.ได้

“คนพวกนี้เป็น Futurista เป็นกลุ่มคนหัวก้าวหน้า เป็นคนรุ่นใหม่ มีการศึกษาดี มีสติปัญญา มีเหตุผล มีอุดมการณ์และอนาคตทั้งในแง่ตัวเขาเอง และการผลักดันหรือสร้างอนาคตให้กับพรรค ปชป.ได้แน่ๆ”

ดังนั้นอนาคตของพรรค ปชป.ที่เหลืออยู่จึงต้องฝากความหวังไว้กับนายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ปชป. จะกอบกู้พรรค ปชป.ให้สามารถกลับมายิ่งใหญ่ได้หรือไม่ หรือแค่เพียงรักษาเก้าอี้ ส.ส.ที่มีอยู่ในปี 2562 แค่ 52 ที่นั่ง ก็หืดขึ้นคอแล้ว!



กำลังโหลดความคิดเห็น