วงใน พปชร. ยัน บิ๊กตู่ไม่ได้ขู่ 'ถ้าผมอยู่ไม่ได้ พวกคุณก็อยู่ไม่ได้' เป็นการส่งสัญญานเตือนพรรค ปชป.ถ้าคิดเล่นเกมการเมืองกับรัฐบาลพร้อมโละทิ้ง ปชป.แน่นอน สั่งเช็กข้อมูลคนใน ปชป.ใครอยู่เบื้องหลังวางยุทธศาสตร์ให้ 6 ส.ส.โหวตสวน เชื่อนี่คือหมากที่ ปชป.ต้องการคุม 'บิ๊กตู่และพปชร.' ระบุเล่นการเมืองแบบนี้ 7 รัฐมนตรี ปชป.นั่งไม่ติด ขณะเดียวกันเข้าล็อก พปชร.ต้องการดึง 3 กระทรวงหลักคืน แจงให้จับตายุทธศาสตร์ 'บิ๊กตู่' ปรับ ครม.-ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ต้องรอหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลผ่านไปก่อน จะพบว่าพรรค ปชป.ลำบากสุด!
ใครว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขู่ 'ถ้าผมอยู่ไม่ได้ พวกคุณก็อยู่ไม่ได้' !
นั่นคือคำพูดจากปากบิ๊กตู่ ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่มีการหยิบยกกรณีรัฐบาลแพ้โหวตการพิจารณาญัตติด่วนเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44 ซึ่งที่ผ่านมาการพิจารณาในญัตติดังกล่าวได้ทำให้การประชุมล่มมาแล้ว 2 ครั้ง หลัง ส.ส.ซีกรัฐบาลแพ้โหวต แต่กลับเสนอให้มีการลงคะแนนใหม่ กระทั่งฝ่ายค้านประท้วงด้วยการวอร์กเอาต์จากการประชุม
ทำให้การประชุมในวันนี้ 4 ธ.ค.เป็นที่จับตามองว่า สภาล่มครั้งที่ 3 จะเกิดขึ้นหรือไม่? เพราะในวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ได้จัดงานมีตติ้งกระชับความสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาล ที่สโมสรราชพฤกษ์ ซึ่งนอกจากจะมีพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคแล้ว ยังมีพรรคเล็กพรรคน้อยได้เข้าร่วมเพื่อไม่ให้ใครแตกแถวในการประชุมลงมติสวนในการประชุมสภาฯ เรื่องตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบมาตรา 44 ซึ่งเป็นการตรวจเช็กเบื้องต้นเท่านั้น
แต่ในความเป็นจริง บิ๊กตู่และแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ต้องการเช็กความจริงใจจากพรรคประชาธิปัตย์ที่มีให้กับรัฐบาลบิ๊กตู่ ว่าจะสามารถอยู่ร่วมกันต่อไปได้หรือไม่! ?
หากจะถอดความที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พูดออกมาด้วยน้ำเสียงแข็งกร้าวว่า 'ตอนที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลผมก็ช่วยดูแลบ้านเมือง ทำไมตอนนี้พวกผมชวนมาเป็นรัฐบาล แต่ทำไมพรรคประชาธิปัตย์ทำแบบนี้ รู้มั้ยบ้านเมืองขณะนี้เป็นอย่างไร”
ถ้อยคำดังกล่าวของ พล.อ อนุพงษ์ สะท้อนให้สังคมได้เห็นว่า ปชป.คือตัวปัญหาของรัฐบาลบิ๊กตู่ในการจะก้าวเดินไปข้างหน้า
โดยเฉพาะในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ยอมที่จะเฉือนเก้าอี้รัฐมนตรีที่เป็นหัวใจในการบริหารด้านเศรษฐกิจและการสร้างคะแนนนิยมไปให้ ปชป. ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์, กระทรวงเกษตรฯ ทั้งที่แกนนำพรรคไม่เห็นด้วยและต้องการจะเอา 2 กระทรวงนี้คืนมาตลอด
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย บอกว่า รัฐบาลมีทางเลือกในใจไว้แล้วและไม่ต้องการให้ ปชป.มาทำให้รัฐบาลสะดุดแน่นอน เพียงแต่รอจังหวะหลังการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลตามที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติไว้ หากพรรค ปชป.ยังยืนยันที่จะปฏิบัติตัวเช่นนี้คือไม่เป็นเอกภาพตามที่วิปรัฐบาลตกลงกันแล้วก็ต้องโละ ปชป.ออกไป
'เวลานี้รัฐบาลไม่เลือกยุบสภา แต่จะเลือกปรับ ครม.มีการเตรียมการไว้จะโละ 53 เสียงของ ปชป.ไปเป็นฝ่ายค้านคู่กับเพื่อไทย เราจะได้กระทรวงพาณิชย์ เกษตรฯ ช่วยคมนาคม กลับมาบริหารเอง อาจมองว่าเสียงรัฐบาลไม่พอ แต่ให้ตามดูว่าเสียงรัฐบาลจะมาจากไหน จังหวะนั้นเราอาจได้เห็นยุบพรรคอนาคตใหม่ เกือบ 40 เสียงน่าจะมาที่พลังประชารัฐ และยังมีเสียงงูเห่าจากเพื่อไทยซึ่งเป็นเรื่องของบิ๊กพรรคเป็นคนคุยไว้แล้ว และพรรคเล็กพรรคน้อยไม่มีทางแตกแถว”
ดังนั้นสิ่งที่แกนนำพรรค พปชร.ดำเนินการเวลานี้คือต้องติดตามวิเคราะห์และประเมินกันว่าจะมีรัฐมนตรีกี่คน และกี่พรรคร่วมที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อเตรียมรับมือให้พร้อม
“พลังประชารัฐกับภูมิใจไทย คุยกันรู้เรื่อง ไม่กั๊กกัน แต่ ปชป.กั๊กตลอด ซึ่งเราก็เช็กมาแล้ว ใครจะโดนอภิปรายบ้าง ก็มีกระทรวงเกษตรฯ พุ่งเป้าไปที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ปชป. ส่วนภูมิใจไทย ก็เป็นนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ แต่พลังประชารัฐก็จะโดนเรื่องเศรษฐกิจ”
แหล่งข่าวบอกอีกว่า คนใหม่ที่เข้ามาร่วมรัฐบาลเชื่อว่าจะไม่เรื่องมาก ไม่ต่อรอง ก็จะได้ส่วนที่เคยเป็นของพรรค ปชป.ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยไป และบางคนก็มีการตั้งตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ ให้ก็น่าจะชดเชยได้ดีกว่าต้องมาหงุดหงิดกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจากการที่แกนนำ พปชร. ได้พูดคุยกับแกนนำ ปชป. ถึงปัญหาภายในพรรค ปชป.ก็ทำให้รู้ว่า ภายในพรรคมีการแบ่งขั้วกันชัดเจน และดูเหมือนว่านายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคไม่น่าจะเอาอยู่
“ในพรรค ปชป.แบ่ง 2 ฝ่ายชัดเจน คือเอาบิ๊กตู่กับไม่เอาบิ๊กตู่ แต่สุดท้ายเมื่อฝ่ายเอาบิ๊กตู่ชนะ ก็ทำให้ ปชป.ได้ 7 เก้าอี้รัฐมนตรีกับตำแหน่งประธานสภา แต่รอยร้าวข้างในยังคงคุกรุ่นขยายวงอยู่ตลอด และเริ่มลามไปสู่ความเบื่อหน่ายต่อนายหัวชวน ที่หลายคนมองว่าเขาคือหัวหน้าพรรคตัวจริง”
นอกจากนี้ความพยายามที่จะหนุนให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. กลับเข้าสู่การเมือง ด้วยการใช้มติพรรคเสนอนายอภิสิทธิ์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่สภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ไม่สามารถสัมฤทธิผลได้
ขณะเดียวกันความพยายามที่จะไม่ให้คนทำงาน และเป็นมือเป็นไม้ที่คนในพรรค ปชป.ยอมรับเข้ามามีบทบาทในการทำงานให้กับรัฐบาลบิ๊กตู่ ด้วยการสกัดทุกวิถีทางเพื่อให้คนเหล่านี้อยู่อย่างไม่มีที่ยืนในพรรคหรือต้องตัดสินใจเลือกเดินออกจากพรรคไปเอง ไม่ว่าจะเป็น นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม มือปราบทุจริตข้าวในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ตัดสินใจลาออกไปอยู่กับพรรครวมพลังประชาชาติไทย รวมไปถึงนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ซึ่ง่ไม่ได้มีตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาลและไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารพรรค และยังมี นายกรณ์ จาติกวณิช มือเศรษฐกิจและเป็นคนรุ่นใหม่ของพรรคที่ไม่มีตำแหน่งใดๆ เช่นกัน อีกทั้งยังมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ซึ่งเป็นคู่ชิงหัวหน้าพรรคกับนายจุรินทร์ ก็ดูเหมือนจะไม่มีที่ยืนในพรรคเช่นกัน
อย่างไรก็ดี มีสิ่งที่สร้างความประหลาดและแตกแยกหนักที่สุดในพรรค ปชป. รวมไปถึงเป็นที่สนใจจนทำให้พรรค พปชร.ต้องการหาสาเหตุว่าใครอยู่เบื้องหลังในการลงมติสวนที่มีการตกลงของวิป รัฐบาลไว้แล้ว ซึ่งมี ส.ส.รวม 6 คนประกอบด้วย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง, นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี, นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช, นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก, นายพนิช วิกิตเศษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนางกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ ส.ส.พังงา
“เวลานี้ก็ต้องค่อยๆ คืบเข้าไปดูว่า การเดินเกมในสภาของพรรค ปชป.หรือการวางยุทธศาสตร์ในสภา ใครเป็นคนวาง ก็ต้องให้แกนนำพรรค และส.ส.คุยกับคนที่เราไว้ใจได้ว่า ปชป.ยังหนุนบิ๊กตู่อย่างไร เพื่อจะได้นำมาประเมินได้ว่า ปชป.จะเล่นการเมืองแบบนี้ไปตลอดหรือไม่ จะไว้ใจกันได้หรือไม่”
แหล่งข่าวบอกอีกว่า ถ้า ปชป.เล่นบทแบบนี้เพราะต้องการคุมเกมเหนือพรรค พปชร.เพราะคิดว่าอย่างไรรัฐบาลบิ๊กตู่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ส่วนรัฐมนตรีของพรรค ปชป. 7 คน ก็จะนั่งอยู่เฉยๆ โดยที่ไม่ทำอะไร เชื่อว่าเป็นเรื่องที่คนวางยุทธศาสตร์ของ ปชป. คิดผิด เพราะวันนี้แรงหนุนบิ๊กตู่และพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้ลดน้อยลงไป เนื่องจากพรรค พปชร.ได้มีการสำรวจคะแนนเสียงอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่พรรค พปชร. กลับมองว่าพรรค ปชป.น่าจะตกที่นั่งลำบากเพราะแรงกระเพื่อมภายในพรรคปชป.ยังมีอย่างต่อเนื่อง และอาจนำไปสู่การย้ายพรรคที่จะเกิดขั้นเมื่อมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในอนาคตหากบิ๊กตู่ถึงทางตัน!