xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลไม่ปล่อยมือสางปัญหาวงการสงฆ์ ดึง”พงศ์พร”กลับ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“บิ๊กตู่”ไม่ทิ้ง“พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์”ตั้งเป็นที่ปรึกษานายกฯ ด้านพระพุทธศาสนา วิษณุยันไม่มีอำนาจ แต่มีบทบาท ส่งสัญญาณสางปัญหาในวงการพุทธศาสนาต่อ รัฐมีไพบูลย์-พงศ์พร ฝ่ายค้านมีนิยม-พรเพ็ญ บวกฝ่ายรัฐสายธรรมกายอย่างสมเกียรติ นักวิชาการขั้วอำนาจเก่าออกโรงค้าน

หลังจากการเกษียณอายุราชการของพันตำรวจโทพงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ จากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) เมื่อ 30 กันยายน 2562 ท่ามกลางความยินดีของฝ่ายที่ไม่ชื่นชอบการทำงานของอดีตผอ.สำนักพุทธฯ รายนี้ และกลุ่มการเมืองยังเตรียมตรวจสอบการทำงานของพงศ์พรในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง

ก่อนครบวันเกษียณอายุราชการเพียง 4 วัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ. ป.ป.ช.) เมื่อ 26 กันยายน 2562 เพื่อขอให้สอบข้อเท็จจริงกรณีสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีการเบิกจ่ายงบประมาณจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไปโดยมิชอบหรือไม่ และทำการสอบหาข้อเท็จจริงว่ากรณีดังกล่าวจะเข้าข่ายเป็นการร่วมกันฟอกเงินหรือไม่

เป้าหมายมุ่งไปที่พันตำรวจโทพงศ์พรว่า การร้องทุกข์กล่าวโทษคดีเงินทอนวัดนั้นมีความไม่ชอบมาพากล เหตุใดจึงไม่ดำเนินคดีกับการให้เงินอุดหนุนส่วนราชการอื่นเหมือนกับที่ดำเนินคดีกับพระผู้ใหญ่ที่ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์

สำนักพุทธฯ มีแค่รักษาการ

ขณะที่รัฐบาลยังไม่มีท่าทีใด ๆ กับพันตำรวจโทพงศ์พร นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่สามารถต่ออายุราชการให้พันตำรวจโทพงศ์พรได้ โดยยกมาตรา 108 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ระบุว่าการต่ออายุราชการจะกระทำได้เฉพาะข้าราชการที่ไม่ใช่ตำแหน่งบริหาร ตำแหน่ง ผอ.พศ. เป็นตำแหน่งบริหาร ส่วนจะจ้างต่อให้ทำอย่างอื่นสามารถทำได้

ส่วนตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั้น ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 8 ตุลาคม 2562 เรื่อง ให้ข้าราชการรักษาราชการแทน โดยแต่งตั้งให้ นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง รองผอ.พศ. รักษาราชการแทน ผอ.พศ. ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป
คำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
“พงศ์พร”ที่ปรึกษานายกฯ

จากนั้น 21 ตุลาคม 2562 ได้มีเอกสารแต่งตั้งพันตำรวจโทพงศ์พรเผยแพร่ออกมา

คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 275/2562 เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ด้านการพระพุทธศาสนา

เพื่อให้การทำนุบำรุง การส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา การพัฒนางานพระพุทธศาสนา การดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติ ตลอดจนการสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาบุคลากรในพุทธศาสนา เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เรียบร้อย มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงแต่งตั้ง พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ด้านการพระพุทธศาสนา โดยให้มีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้

1.ศึกษา วิเคราะห์ ให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ ประสานงาน เร่งรัด และติดตามการดำเนินงานด้านการพระพุทธศาสนา

2.ปฏิบัติหน้าที่อื่น ตามที่นายกรัฐมนตรี หรือนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มอบหมาย

3.รายงานความคืบหน้า ปัญหา อุปสรรค และมาตรการแนวทางในการแก้ไข รวมทั้งผลการปฏิบัติหน้าที่ต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นระยะ

ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้การสนับสนุนการ ดำเนินงานของที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ด้านการพระพุทธศาสนา ตามที่ร้องขอ และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ด้านการพระพุทธศาสนา โดยให้ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ด้านการพระพุทธศาสนา อยู่ในความควบคุม การกำกับ ดูแล ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป สั่ง ณ 2 ตุลาคม 2562 ลงนามโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ไม่มีอำนาจ-แต่มีบทบาท

เป็นอันว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้ทอดทิ้งพันตำรวจโทพงศ์พรที่ถูกดึงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาวงการสงฆ์ในช่วงที่รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) อย่างที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วง

เนื่องจากที่ผ่านมาการทำงานของอดีตผอ.สำนักพุทธฯ คนล่าสุดนั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการสงฆ์ระดับหนึ่ง แน่นอนว่ามีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยการแนวทางการทำงานของเขาอยู่ไม่น้อย และจ้องที่จะเอาคืนเมื่อโอกาสเปิด ดังนั้นการดึงเอาพันตำรวจโทพงศ์พรกลับเข้ามาดูแลด้านพระพุทธศาสนาอีกครั้งในตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เสมือนเป็นเครื่องป้องกันการถูกจ้องเล่นงานจากฝ่ายตรงข้ามได้เป็นอย่างดี

เมื่อพิจารณาจากคำสั่งแต่งตั้งการเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการพระพุทธศาสนา จะเห็นได้ว่า กรอบและอำนาจหน้าที่การทำงานนั้นกว้างกว่าตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รวมถึงคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐให้การสนับสนุนการ ดำเนินงานของที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ด้านการพระพุทธศาสนา ตามที่ร้องขอ

แม้จะต้องทำงานผ่านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แต่ก็ถือว่าเป็นงานที่นายกรัฐมนตรีต้องรับทราบผลการทำงานของพันตำรวจโทพงศ์พร

“มอบหมายให้ดูแลเรื่องบางเรื่องที่ค้างอยู่ในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และเมื่อถึงเวลาได้ ผอ.พศ.คนใหม่แล้วก็จะได้แบ่งหน้าที่กันให้ถูกต้องต่อไปว่า จะให้พันตำรวจโทพงศ์พรช่วยประสานหรือดูแลเรื่องใดบ้าง การจ้างเช่นนี้ไม่ใช่การต่ออายุ และไม่มีอำนาจทางราชการ แต่มีบทบาท โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาการว่าจ้าง ขึ้นอยู่กับภารกิจหรือแล้วแต่นายกฯ”นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าว
นายสมเกียรติ์ ศรลัมภ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงวัฒนธรรม)
ศาสนจักรมีผลต่ออาณาจักร

สะท้อนให้เห็นว่างานด้านพระพุทธศาสนา ยังเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ภาครัฐให้ความสำคัญที่จะเดินหน้าต่อ และทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างก็กำหนดนโยบายและวางแนวทางการทำงานและตัวบุคคลในด้านพระพุทธศาสนาไว้เช่นกัน

ทั้งนี้งานด้านพุทธศาสนานั้น ทุกรัฐบาลก่อนหน้ามักไม่เข้าไปก้าวก่าย แค่จัดสรรงบประมาณให้ไป ที่เหลือให้คณะสงฆ์ดำเนินการกันเองผ่านทางกรมการศาสนาและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เนื่องจากถือว่าส่วนของศาสนจักรแยกออกจากฝ่ายอาณาจักร จนทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นมากมายในด้านการปกครองสงฆ์ จนกลายเป็นอีกขั้วอำนาจหนึ่งที่มีผลต่อฝ่ายอาณาจักรไม่น้อย แต่ไม่มีรัฐบาลใดกล้าเข้าไปแก้ปัญหาดังกล่าว จนมาถึงยุค คสช.

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในทางปฏิบัติแล้วส่วนของศาสนจักรกับอาณาจักรนั้นมีความเชื่อมโยงกัน ไม่ใช่แค่เพียงการจัดงบประมาณให้ใช้บริหารงานด้านพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของการเกื้อกูลกันระหว่างเรื่องของสมณศักดิ์ของพระที่ต้องพึ่งพารัฐบาล และวัดใหญ่วัดดังที่มีประชาชนเข้าไปทำบุญมากก็มักจะมีนักการเมืองเข้าไปร่วมกิจกรรมอยู่เสมอ นับเป็นอีกกลวิธีหนึ่งของการหาเสียง ยามใดที่พรรคนั้นได้เป็นรัฐบาลก็จะจัดสรรสิ่งต่าง ๆ ให้ตามที่พระผู้ใหญ่ในวัดนั้นเอ่ยปาก

ฐานลูกศิษย์ร่วม 10 ล้านคนที่เข้าวัดอย่างสม่ำเสมอ อย่างวัดพระธรรมกาย จึงเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่นักการเมืองบางพรรคให้การสนับสนุนและคอยช่วยเหลือวัดดังกล่าวเรื่อยมา แม้เจ้าอาวาสวัดใหญ่จะถูกแจ้งข้อหาในทางโลก แต่สุดท้ายคดีดังกล่าวก็ถูกอัยการสั่งไม่ฟ้องในรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร

ในด้านหลักธรรมคำสอน แม้จะมีข้อท้วงติงว่าผิดเพี้ยนไปจากพระไตรปิฎก หรือแม้เจ้าอาวาสวัดดังกล่าวจะถูกข้อกล่าวหาในทางโลก แต่คณะสงฆ์ชั้นปกครองที่ผ่านมาต่างก็ออกมติอุ้มอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายมาโดยตลอด

จนเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติสงฆ์ ที่ลดอำนาจของคณะสงฆ์ชั้นปกครองลงและมีการโครงสร้างของกรรมการมหาเถรสมาคมชุดใหม่
นางพรเพ็ญ บุญศิริวัฒนกุล รองประธานกรรมาธิการศาสนาคนที่ 1
ฝ่ายวัดวางตัวประกบ

ในภาครัฐงานด้านพุทธศาสนาฝ่ายที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กรรมาธิการด้านศาสนาและผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทั้ง 3 ส่วนงานจะมีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงกิจการด้านพระพุทธศาสนา ในอดีตเกือบทุกรัฐบาลทั้งรัฐมนตรีและผู้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักจะเดินไปในทิศทางเดียวกัน

ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าตรวจสอบการใช้จ่ายเงินตามวัดต่าง ๆ เกรงจะถูกกล่าวข้อกล่าวหาว่ารังแกพระ กลัวกระทบต่อฐานเสียงที่แต่ละวัดมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดขั้วอำนาจขึ้นในวงการสงฆ์ และในการเลือกตั้งหลายครั้งคะแนนเสียงของลูกศิษย์วัดก็ชี้เป็นชี้ตายในการจัดตั้งรัฐบาล

หากสำรวจตัวบุคคลที่จะเข้ามาดูแลงานด้านพระพุทธศาสนาที่ชัดเจนในฝ่ายของรัฐบาลเวลานี้มีเพียงนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองประธานคนที่ 2 กรรมาธิการด้านศาสนาและพันตำรวจโทพงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านพระพุทธศาสนา ส่วนนายสมเกียรติ ศรลัมพ์ หัวหน้าพรรคประชาภิวัฒน์สายตรงของวัดพระธรรมกายที่ร่วมรัฐบาล ยอมลาออกจากตำแหน่งส.ส.เพื่อหวังเข้ามาเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยตรง แม้จะได้รับการแต่งตั้งแล้ว แต่สุดท้ายถูกโยกไปเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมแทน

ขณะที่ฝ่ายค้านก็เปิดเกมรุกงานด้านพระพุทธศาสนาผ่านทางดร.นิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ที่ใช้เวทีสภาผู้แทนราษฎรร่วมกับนายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ตั้งกระทู้สอบถามถึงเรื่องคดีความของพระผู้ใหญ่ที่ถูกดำเนินคดี จนได้สิทธิประกันตัวออกมาสู้คดี

นอกจากนี้ยังมีนางพรเพ็ญ บุญศิริวัฒนกุล จากพรรคเพื่อไทย รองประธานคนที่ 1 กรรมาธิการด้านศาสนา ท่านนี้เป็นศิษย์วัดพระธรรมกายเช่นกัน และมีนามสกุลเดียวกับพระบริหารระดับสูงในวัดพระธรรมกาย เพียงแต่บทบาทของกรรมาธิการด้านศาสนาขณะนี้ยังไม่มีอะไรออกมา และคงต้องถกเถียงกับนายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่นั่งในกรรมาธิการชุดเดียวกัน

ดังนั้นงานด้านพุทธศาสนาในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีแนวทางอย่างไร พันตำรวจโทพงศ์พรจะสานต่องานเดิมเรื่องเงินทอนวัดหรือไม่ และนายไพบูลย์จะดูแลเรื่องบัญชีทรัพย์สินของวัดต่อจากเดิมหรือไม่ และจะถูกสกัดจากฝ่ายตรงข้ามอย่างไร ซึ่งมีนักวิชาการด้านพุทธศาสนาฝ่ายปกป้องขั้วอำนาจเก่าเริ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์บ้างแล้ว อีกไม่นานคงได้เห็นบทบาทของทั้ง 2 ฝ่าย



กำลังโหลดความคิดเห็น