xs
xsm
sm
md
lg

จับตายังมีพระผู้ใหญ่ใน “มส.” เอี่ยวทุจริตเงิน-ทรัพย์สินหลวง!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปฏิบัติการปัดกวาดวงการสงฆ์ กำลังถูกยกระดับ จากเดิมที่บรรดาอาณาจักรต้องทนกับกระแสวิกฤตศรัทธาต่อวงการ “ผ้าเหลือง” ที่ปรากฏให้เห็นหลากหลายประเด็น มีการทุจริตเงินญาติโยม ทรัพย์สินวัด และย่ามใจจนกล้าที่จะทุจริตเงินหลวง หรือเงินทอนวัด กระจายไปทั่วจนถึงระดับมหาเถรสมาคม ที่วันนี้ถูกดำเนินคดี-ปลดจาก มส.-ฝ่ายปกครองและถอดถอนสมณศักดิ์ ที่สำคัญยังพบการซื้อขายตำแหน่ง-สมณศักดิ์กันอู้ฟู่ จับตา ยังมีพระผู้ใหญ่ใน มส.อาจเป็นคิวต่อไป พร้อมยกระดับจากโกงเงินหลวง สู่การโกงทรัพย์สินหลวง!

ปฏิบัติการปัดกวาดวงการสงฆ์ได้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ในยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เริ่มตั้งแต่การเข้าไปตรวจค้นวัดพระธรรมกาย และดำเนินคดีกับพระไชยบูลย์ สิทธิผล หรือพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาในคดีร่วมกันฟอกเงิน สมคบกันฟอกเงิน รับของโจร กรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น และคดีรุกป่าอีกหลายคดี แม้วันนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะยังไม่สามารถนำตัวพระธัมมชโย มาลงโทษได้ก็ตาม

แต่ปฏิบัติการเฝ้าระวังตรวจค้นของดีเอสไอ ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องทั้งในทางลับและเปิดเผย

อย่างไรก็ดีเป็นที่รู้กันว่า การจะดำเนินคดีกับพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย เป็นไปได้ยากนั่นเป็นเพราะได้รับความช่วยเหลือจากบรรดาพระผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคม(มส.) และมหาเถรสมาคมนั่นแหละกลายเป็นแหล่งสะสมอำนาจ สะสมเงินทอง สะสมตำแหน่ง ของบรรดาพระผู้ใหญ่บางรูป ที่ไม่ได้ยึดพระธรรมวินัยในการประพฤติปฏิบัติ จนนำสู่ปฏิบัติการกวาดล้างครั้งใหญ่ และมีพระผู้ใหญ่ 3 รูป ต้องถูกดำเนินคดี พร้อมสละสมณเพศ และโปรดเกล้าฯถอดสมณศักดิ์พระผู้ใหญ่ 7 รูปที่เกี่ยวข้องกับคดีเงินทอนวัดล็อตที่ 3

การดำเนินการครั้งนี้อาจจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ที่ทำให้บรรดาพระผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคมอีกหลายรูป รวมทั้งพระสงฆ์ที่มีสถานะเป็นพระปกครอง ที่ปฏิบัติตนผิดทำนองคลองธรรม และเบียดบังผลประโยชน์ของวัด และงบหลวง ต้องขวัญกระเจิง เกิดอาการร้อน ๆ หนาว ๆ ขึ้นมาได้
นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
ปฏิบัติการครั้งนี้ จึงนับว่าสะเทือนต่อวงการพระสงฆ์และสะเทือนต่อความรู้สึกของบรรดาญาติโยม แต่เป้าหมายสูงสุดของรัฐบาลก็คือเพื่อจัดระเบียบวงการสงฆ์ให้ปฏิบัติตัวอยู่ในพระธรรมวินัยอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าพฤติกรรมต่างๆ ของพระสงฆ์ ก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อ “ผ้าเหลือง” โดยเฉพาะภาพพระมั่วสีกา พระออกบิณฑบาต รับแต่เงินไม่รับสิ่งของ มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในวัด ทั้งการทะเลาะวิวาท เล่นการพนัน เสพสุรา และบางรูปตั้งตนเป็นผู้วิเศษ ปลุกเสกของขลังและหาผลประโยชน์จากเงินบริจาคของบรรดาญาติโยม และเบียดบังทรัพย์สินของวัดมาเข้ากระเป๋าของตัวเอง

พฤติกรรมเหล่านี้จะปรากฏให้เห็นอยู่เป็นประจำและเป็นเรื่องที่ฝ่ายอาณาจักรหรือฆราวาสรู้แจ้งเห็นจริง แต่ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของศาสนาจักรซึ่งมีองค์กรปกครองของสงฆ์ ตามลำดับชั้นจะต้องไปแก้ไขกันเอง แต่พบว่าทุกเรื่องราวหาเป็นเช่นนั้นไม่ ตรงกันข้ามนับวันบรรดาพระสงฆ์ที่มีตำแหน่งทางปกครองกลับใช้สถานะความเป็นพระปกครองในระดับสูงแสวงหาประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้องต่อไป

“เจ้าอาวาสก็ใช้ความเป็นพระปกครอง แสวงหาประโยชน์ในทรัพย์สินของวัด ทั้งในเรื่องที่ดินของวัด การก่อสร้างต่างๆ มีการทุจริตเงินญาติ โยม เงินธรณีสงฆ์หรือจากทรัพย์สินของวัด แค่นี้ไม่พอ ยังกล้าที่จะทุจริตเงินของแผ่นดินที่มีการตรวจพบแล้วตั้งแต่ล็อตที่ 1-4 ก็ต้องยอมรับว่าเงินหลวงตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ จึงเป็นที่มาของการตรวจสอบครั้งใหญ่ และดำเนินคดีกับพระผู้ใหญ่” นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ระบุ

สำหรับคดีทุจริตเงินทอนวัดล็อตแรก เป็นงบอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์ และพัฒนาวัด 12 วัด ตั้งแต่ปี 2555-2559 ความเสียหาย 60 ล้านบาท ผู้ต้องหา 10 คน

คดีทุจริตเงินทอดวัดล็อตที่สอง พบการทุจริตงบอุดหนุน 3 ประเภท คือ 1.เงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์และพัฒนาวัด 2.เงินอุดหนุนส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และ3 เงินอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาแผนกธรรมและแผนกบาลี จำนวน 23 วัด ตั้งแต่ปี 2555-2560 ความเสียหายประมาณ 141 ล้านบาท มีผู้ต้องหา 10 คน

ส่วนคดีทุจริตเงินทอนล็อต 3 เป็นการทุจริตงบอุดหนุนพระพุทธศาสนาด้านพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา แผนกธรรมและบาลี และงบด้านเผยแผ่ศาสนา รวมทิ้งสิ้น 100กว่าล้านบาท เป็นส่วนที่เกี่ยวพัน 3 วัด และพระผู้ใหญ่ 3 รูป 89 ล้านบาท คือวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร, วัดสามพระยา และวัดสัมพันธวงศาราม โดยมีการตรวจค้นและเข้าจับกุมพระผู้ใหญ่ 7 รูป ที่พัวพันคดีเงินทอนวัด ในข้อหาร่วมกันฟอกเงิน และเป็นเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 157 ในฐานะพระปกครองปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ประกอบด้วย พระศรีคุณาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ, พระราชกิจจาภรณ์ (สมณศักดิ์เดิมคือ พระวิจิตรธรรมาภรณ์) (เทอด วงศ์ชะอุ่ม) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร, พระพรหมดิลก (เอื้อน กลิ่นสาลี) วัดสามพระยา กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร พร้อมพระอรรถกิจโสภณ (สมทรง อรรถกฤษณ์) วัดสามพระยา ซึ่งเป็นเลขาเจ้าคณะกรุงเทพฯ ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงเงินสนับสนุนโรงเรียนพระปริยัติธรรม

ส่วนพระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขโข) เจ้าอาวาสวัดสระเกศ และพระพรหมเมธี (จำนงค์ เอี่ยมอินทรา) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม ซึ่งอยู่ในหมายจับแต่ได้หลบหนีไปในเวลานั้น แต่ในที่สุดพระพรหมสิทธิ ได้ขอเข้ามอบตัวและตำรวจกองบังคับการปราบปราม ได้นำตัวส่งฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งศาลฯได้พิเคราะห์แล้วคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์การกระทำความผิดมีผลกระทบต่อพุทธศาสนาและมีลักษณะเป็นขบวนการโดยมีการแบ่งหน้าที่ยักย้ายเงินที่ได้มาผ่านทางธนาคาร จึงต้องมีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอยู่ในความครอบครองของผู้ต้องหากับพวก หากให้ปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว เชื่อว่าผู้ตัองหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้าน จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

ขณะเดียวกันพระพรหมเมธี ก็มีการติดต่อที่จะเข้ามอบตัวเช่นกัน

นอกจากนี้เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศถอดถอนสมณศักดิ์ ความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า

“ด้วยปรากฏว่า มีกรณีพระภิกษุถูกกล่าวหาว่า กระทําการทุจริตและถูกดําเนินคดีอาญาในความผิดฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ตามความในมาตรา 5 ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ และปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต”

อาศัยอํานาจตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดฐานร่วมกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถอดถอนสมณศักดิ์ จํานวน 7 รูป ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

แหล่งข่าวระบุว่า นอกจากคดีทุจริตแล้ว พนักงานสอบสวนยังได้ตรวจพบการซื้อขาย “สมณศักดิ์” เกิดขึ้นจริงเพราะที่ผ่านมามีข่าววงในแต่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีการซื้อขาย แต่การตรวจสอบครั้งนี้ทำให้ได้หลักฐานสำคัญที่วัดสามพระยา เพราะการซื้อขายสมณศักดิ์ เป็นปัญหาใหญ่ในวงการสงฆ์ และเป็นต้นเหตุให้บรรดาพระสงฆ์ต่างแสวงหาเงิน เพื่อนำไปซื้อสมณศักดิ์ ซื้อตำแหน่ง เพื่อหวังจะให้ตัวเองได้เข้ามามีอำนาจปกครองทางสงฆ์ เมื่อมีอำนาจปกครองก็จะยิ่งทำให้อำนาจบารมีเบ่งบาน และเงินทองก็จะได้มาโดยง่ายเช่นกัน

“พระสงฆ์ที่เข้ามาหาประโยชน์ เพราะรู้ช่องทาง รู้กฎหมายให้อำนาจเจ้าอาวาสในฐานะฝ่ายปกครอง รู้ว่ากฎหมายสงฆ์มีเรื่องสาภยศ มีสมณศักดิ์ พอได้อำนาจทางปกครอง ก็แสวงหาประโยชน์ไม่มีใครกล้าตรวจสอบ ก็ได้ทั้งเงิน ทอง และแอบซ่อนตัวอยู่ในศาสนา มีการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งได้เป็นกรรมการเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสงฆ์สูงสุด ก็ยิ่งทำให้ไม่มีการตรวจสอบใดๆ ทำให้พระเหล่านี้สะสมอำนาจบารมี อิทธิพล ขึ้นมามากมาย

ดังนั้นการเข้าดำเนินการกับพระผู้ใหญ่ทั้ง 3 รูป ซึ่งเป็นกรรมการเถรสมาคม ถือเป็นความเด็ดขาดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อให้องค์กรสงฆ์มีความสะอาด และหากต้องการจะปฏิรูปศาสนาอย่างจริงจังนั้น นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเป็นที่เลื่อมใสของประชาชนกลับคืนมาได้

“ต้องแก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ อย่าให้เรื่องยศถาบรรดาศักดิ์ของพระมาเป็นเรื่องใหญ่ จะต้องนำพระธรรมวินัยเป็นตัวตั้ง และให้ประชาชนมามีส่วนร่วมมากขึ้น เช่นเราจะตั้งเจ้าอาวาส ในต่างจังหวัดขนาดประชาชนเดินขบวนขับไล่ ถ้าคณะภาค คณะจังหวัด จะเอาก็ได้เป็น อย่างนี้ฟังเสียงประชาชนน้อยไป

แหล่งข่าวระบุว่า ที่ผ่านมาคณะสงฆ์ หรือบรรดาพระผู้ใหญ่ และพระฝ่ายปกครองที่อยู่ตามต่างจังหวัดต่างเข้าไปเกี่ยวข้อง เกื้อหนุนกับนักการเมืองและพรรคการเมือง มีการพึ่งพิงซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะมีการช่วยหาเสียงให้ด้วย และเมื่อพรรคนั้นได้เข้ามาเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น รัฐบาลก็ต้องเป็นฝ่ายยอมพระตลอดมา

“รู้กันอยู่ว่าพระผู้ใหญ่รูปไหน วัดไหนให้การสนับสนุนพรรคการเมืองใด และพระเหล่านี้ก็ใช้วิธีการที่นักการเมืองซื้อเสียง หรือไม่ต่างกับที่ตำรวจใช้ในการวิ่งเต้นเส้นสาย มาใช้กับการซื้อขายตำแหน่งและสมณศักดิ์ ส่วนแต่ละชั้นจะมีการซื้อราคาเท่าไรนั้น ในวงการสงฆ์ไม่ได้มีกำหนดราคาไว้ตายตัว เพราะมีองค์ประกอบอื่นเข้ามาใช้ในการพิจารณาด้วย

โดยเฉพาะการซื้อขายตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดต่างๆ จะขึ้นอยู่กับวัดนั้นๆ จะมีรายได้จากอะไรบ้าง มีผู้คนศรัทธา หรือมีเงินบริจาคมาจากไหน และทรัพย์สินวัดสามารถสร้างประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด ดังนั้น บางวัดซื้อตำแหน่งเจ้าอาวาสแค่หลักแสน แต่วัดดังๆ จะเป็นหลักล้านขึ้นไป ซึ่งบางแห่ง3-5 ล้านบาท เป็นต้น

“เจ้าคณะตำบาล เจ้าคณะอำเภอ ประเภทนี้ไม่มีใครอยากเป็น ไม่ต้องซื้อขาย เพราะทำงานเหมือนฝ่ายธุรกิจ แต่ถ้าเป็นเจ้าคณะจังหวัด นี่ต้องจ่ายหนัก เพราะมีอำนาจในการแต่งตั้งเจ้าอาวาสโดยตรง”

ในการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้สมณศักดิ์นั้น ก็มีพระผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเสนอชื่อ ก็มักจะมีการหาประโยชน์จากตรงนี้ ซึ่งพระบางรูปอยากได้สมณศักดิ์ เพื่อเป็นเกียรติ ก็ยอมจ่ายเงินซื้อตำแหน่งซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ส่วนการทุจริตเงินทอนล็อต 4 ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) ได้เข้าตรวจสอบในช่วง พ.ศ. 2554-2559 มีเป้าหมาย 60 วัดทั่วประเทศ ซึ่งตรวจสอบไปแล้ว 40 วัด พบเข้าข่ายทุจริต 30วัด และกำลังดำเนินการตรวจสอบวัดเป้าหมายที่เหลือ ซึ่งมีวัดที่มีชื่อเสียงในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ที่ไม่เคยปรากฏในรายชื่อจากการดำเนินคดีทุจริตเงินทอน วัดล็อต1-3มาก่อน และมีพระสงฆ์ระดับเจ้าคณะอำเภอ เจ้าอาวาส รวมถึงข้าราชการของ พศ.เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

แหล่งข่าวระบุว่า การตรวจสอบการทุจริตเงินทอนวัดนั้น อาจจะมีการตรวจสอบเชิงลึกและสาวไปถึงพระผู้ใหญ่ที่ยังอยู่ในมหาเถรสมาคม ได้เช่นกัน และอาจจะมีไปจนถึงการใช้ทรัพย์สินของวัด ไปหาประโยชน์ที่มีค่าเช่าถูกๆ แต่ผู้เช่าสามารถนำไปหาประโยชน์ได้เป็นหลายเท่า

“ยกตัวอย่าง ถ้าหากวัดสามพระยา ได้เอาที่ดินไปให้ผู้เช่ารายหนึ่ง เช่าเดือนละ 3 หมื่น ปีละ 3 แสนกว่าบาท แต่ผู้เช่ามีการนำไปหาประโยชน์ให้เช่าต่อปีละ 3ล้านกว่าบาท มีส่วนต่างเป็น 10 เท่า เมื่อมีการตรวจสอบขึ้นมา วัดก็ต้องโดน เนื่องจากเจ้าอาวาสหรือพนักงานเอาทรัพย์สินของวัด หรือที่ธรณีสงฆ์ไปหาประโยชน์โดยมิชอบ ก็จะเป็นความผิด ในมาตรา 157 เป็นการประพฤติมิชอบ

ดังนั้นการตรวจสอบเพื่อปัดกวาดวงการสงฆ์จากนี้ไป ที่เกิดจากการตรวจสอบทุจริตเงินหลวง ก็จะถูกยกระดับก้าวไปสู่การตรวจสอบการใช้ทรัพย์สินของหลวงโดยเฉพาะที่ธรณีสงฆ์ ไปหาประโยชน์ก็จะทำให้บรรดาพระผู้ใหญ่ พระปกครอง และวัดต่างๆ ต้องสะดุ้งตามๆ กัน !

ระบบอุปถัมภ์ในวงการสงฆ์ ใช้เงินซื้อสมณศักดิ์-เจ้าอาวาสเมืองนนท์ 3 ล้าน



กำลังโหลดความคิดเห็น