แฉเรื่องเน่า ๆ ในกรมศุลกากร ร่วมกันทำเป็นขบวนการ หลังมือดีเข้าไปตรวจสอบพบหลักฐานถึงที่มาที่ไปของสินค้า ส่งต้นสังกัด “บีโอไอ” ตรวจ ยันว่าเป็นเอกสาร “ปลอม” แม้มีหลักฐานสาวถึงผู้รับกลับโต้แย้งว่าถูกขโมยบัตรประชาชนไปรับสินค้า แต่ทุกรายสามารถนำสินค้าออกไปได้สะดวกสบาย โดยเฉพาะ “ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ” ผลิตเครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบเอกสาร “ปลอม ปลอม ปลอม” เจ้าหน้าที่คนไหนกล้าแตะจะถูกโยกขึ้นหิ้ง ชี้ “บิ๊กตู่” ควรส่งคนเข้าไปจัดการ จะสร้างรายได้เข้ารัฐอีกหลายหมื่นล้านบาท แค่บริษัทอิเล็กทรอนิกส์รายเดียวที่อยู่ในมือดีเอสไอ มีมูลค่าถึง 2,400 ล้านบาท
กรมศุลกากร เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกสินค้า ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งทุจริตคอร์รัปชันสูงที่สุดหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งถูกร้องเรียนในเรื่องการเรียกรับผลประโยชน์เพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกให้สินค้าทุกอย่างผ่านระบบศุลกากรออกมาได้อย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันกรมศุลกากรกำลังตกเป็นข่าวฉาวในสื่อต่าง ๆ เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เข้าไปตรวจค้นและอายัดรถหรูไว้ 160 คัน และจะต้องดำเนินการเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร 9 รายที่มีอดีตรองอธิบดีกรมศุลฯเข้าไปเกี่ยวข้องเพราะมีส่วนร่วมตัดสินใจคืนภาษีอากรให้แก่บริษัทเอกชนที่เป็นผู้นำเข้ารถยนต์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คดีรถหรูจึงเป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์จำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงยังมีเรื่องเน่า ๆ ที่เกิดขึ้นในกรมศุลกากรอีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการ ‘ปลอม’ ใบอนุญาตที่เกิดขึ้นอย่างเป็นขบวนการทั้งคนในและคนนอกร่วมมือกันเบียดบังผลประโยชน์ชาติ ซึ่งหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าไปจัดการตรวจสอบในเรื่องนี้จะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศอีกหลายหมื่นล้านบาท
เพียงแค่บิ๊กตู่สั่งขุดคุ้ยข้อมูลการนำเข้า-ส่งออกภายในระยะปัจจุบันถึงก่อน 10 ปีที่จะหมดอายุความตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ก็จะสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ว่า รัฐสูญเสียรายได้จากตรงนี้ไปเท่าไร และยังสามารถรู้ได้ว่าขบวนการปลอมแปลงเอกสาร ไม่ได้มีแค่คนในกรมศุลกากรเท่านั้น ยังมีตัวการที่นั่งลอยนวลหรือร่ำรวยกับวิธีการเช่นนี้โดยที่รัฐไม่สามารถเอาผิดได้เลย
แหล่งข่าวจากกรมศุลกากร กล่าวว่า เรื่องผลประโยชน์ในกรมศุลกากรมีมากมายเพียงแค่เรื่องของเอกสารปลอมเพียงเรื่องเดียวก็ทำให้เจ้าของบริษัท เจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ผลประโยชน์กันมหาศาล ขณะที่รัฐต้องเสียรายได้มหาศาลจากเอกสารปลอมเช่นกัน
ที่สำคัญกว่าจะรู้ว่าทุกอย่างปลอม ปรากฏว่าสินค้าหลุดจากโกดังไปแล้ว ส่วนจะมีใครช่วยเบิกทางให้สามารถนำสินค้าออกไปได้นั้น เป็นเรื่องที่รู้กันภายในกรมศุลกากรเท่านั้น
ที่ผ่านมาที่กรมศุลฯ สามารถจับกุมได้และมีการตรวจสอบหลักฐานใบอนุญาตต่าง ๆ เริ่มจากตรวจสอบใบอนุญาตบีโอไอ ด้วยการสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แต่คำตอบที่ได้มาในหลาย ๆ เรื่อง ก็คือ สำนักงานบีโอไอ ไม่ได้ออกเอกสารดังกล่าว อีกทั้งการสอบถามไปยังบีโอไอในแต่ละครั้งต้องใช้เวลานานพอสมควร เพราะทางสำนักงานบีโอไอ จะต้องขอข้อมูลจากบริษัทเอาต์ซอร์สที่บีโอไอว่าจ้างเข้าไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าวส่งเอกสารมาก่อนจึงจะตอบทางกรมศุลกากรได้
ตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มสีดำ หรือสีเทาดำ ตั้งข้อสังเกตว่า หนังสือรับรองจากบีโอไอหลาย ๆ ฉบับที่กรมศุลกากรจับได้ ไม่มีใครหรือหน่วยงานใดพิสูจน์ได้ว่าปลอมหรือไม่ปลอม มีเพียงบีโอไอ เท่านั้นที่ยืนยันว่าปลอม
“แล้วใบอนุญาตบีโอไอที่เป็นใบจริง คือใบไหน เพราะจับเคสไหนก็เป็นใบปลอม”
ดังนั้นเมื่อต้นสังกัดคือสำนักงานบีโอไอ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้ออกเอกสารดังกล่าวจึงเป็นเรื่องของเอกสารปลอม เป็นผลให้กรมศุลกากรจะต้องมาตรวจเอกสารอื่น ๆ ว่านอกจากใบอนุญาตบีโอไอปลอมแล้ว ยังมีใบอื่น ๆ ปลอมอีกหรือไม่
โดยเฉพาะการขนส่งทางอากาศ จะต้องมีเอกสารในการยื่นขนสินค้าแต่ละครั้ง ตั้งแต่ MASTER AIR WAYBILL ซึ่งเป็นใบตราส่งสินค้าทางอากาศที่ออกให้โดยสายการบิน, HOUSE AIR WAYBILL ใบตราส่งสินค้าทางอากาศที่ออกให้โดย Air Freight Forwarder หรือใบตราสินค้า D/O หรือ Delivery Order ซึ่งเป็นตราสินค้าที่ผู้รับขนสินค้าต้องออกให้แก่ผู้ส่งสินค้าเพื่อแสดงว่าได้รับสินค้าเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งใบอินวอยซ์ (Invoice) ซึ่งเป็นเอกสารแสดงการเสียภาษีนำเข้าที่เจ้าของคลังสินค้าจะเป็นผู้ออกให้ จะระบุชื่อของผู้เสียภาษีซึ่งก็คือเจ้าของสินค้าที่ระบุในรายการนั่นเอง
ในความเป็นจริงเวลาที่บีโอไอจะให้ใบรับรองว่ามีการยกเว้นภาษี จะต้องรับรองมาพร้อมอินวอยซ์ และประทับตรามาด้วย จากนั้นก็ต้องมีใบขนสินค้า เมื่อเข้าสู่ระบบศุลกากร ก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมต่าง ๆ
“D/O ที่ไปแลกจะมีชื่อชัดเจนและ MASTER AIR WAYBILL กับ HOUSE AIR WAYBILL จะปลอมไม่ได้เพราะมาจากต่างประเทศ”
เพราะทันทีที่มีการนำสินค้าจากใต้ท้องเครื่องบินมาเก็บที่คลังสินค้าซึ่งคลังสินค้าจะออกใบ D/O จะมีรายละเอียดชัดเจนว่าบริษัทใดเป็นเจ้าของ ชื่อผู้รับ เครื่องหมายต่าง ๆ หีบห่อ สิ่งที่บรรจุและน้ำหนัก หรือขนาด เป็นเช่นไร ซึ่งตรงกับเอกสาร MASTER และ HOUSE AIR ที่ระบุผู้มีกรรมสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ตรงนี้จะทำให้เรารู้ทันทีว่า สินค้านั้นเป็นของบริษัทใด ซึ่งเมื่อเรียกมาสอบถามกลับได้รับการปฏิเสธว่าบริษัทไม่เคยนำเข้าสินค้าดังกล่าว และมีการปลอมบัตรประชาชนของเขาไปรับสินค้านั้น ๆ ซึ่งระหว่างที่กำลังดำเนินการตรวจสอบปรากฏว่าสินค้าถูกปล่อยออกไปหมดแล้ว
แหล่งข่าวบอกด้วยว่า เรื่องการปลอมเอกสารมีจำนวนมาก ไม่มีเจ้าหน้าที่กล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวโดยเฉพาะเรื่องของบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนและได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ ซึ่งเป็นสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่เราตรวจพบและทางบีโอไอยืนยันว่าไม่ได้ออกเอกสารดังกล่าว แต่เมื่อเราตรวจไปตามขั้นตอนก็รู้ว่าสินค้าเป็นของบริษัทใด มีชื่อคนมารับสินค้าชัดเจน แต่ปรากฏว่าเรื่องนี้เดินต่อไม่ได้
“มีคนมากระซิบให้เจ้าหน้าที่หยุด เพราะความจริงไม่มีใครรู้เลยว่าใครอยู่เบื้องหลังบริษัทข้ามชาตินี้ อธิบดีบางคนยังบอกอีกว่า ให้อั๊วเกษียณไปก่อนใครอยากทำก็ค่อยทำ ไม่อยากเดือดร้อน เพราะคดีนี้เอ่ยไปถูกฟ้องกันแน่ เพราะแบรนด์สินค้าขายทั่วโลก มูลค่าความเสียหายเป็นหมื่นล้าน”
อย่างไรก็ดีเรื่องเอกสารปลอมนั้น ยังเป็นเรื่องที่วนเวียนอยู่ในกรมศุลกากร และอาจเป็นช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่สีดำ หรือสีเทาดำ ใช้เป็นช่องทางเรียกผลประโยชน์ได้ด้วย อีกทั้งไม่มีผู้บังคับบัญชาคนไหน หรือหัวหน้างานคนไหนจะสั่งการให้ดำเนินการ ขณะที่หน่วยงานภายนอกหรือบุคคลภายนอกอาจมองว่าถ้ามีหลักฐานขนาดนี้ทำไม? กรมศุลกากรไม่ดำเนินคดีฟ้องร้องกับบริษัทเหล่านี้
“คำถามคือใครจะกล้าหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาฟ้องร้อง เพราะไม่มีผู้บังคับบัญชาคนไหนเซ็นตั้งแฟ้มเรื่อง ไม่มีคนกล้า เพราะกรมศุลกากรมันเป็นแค่นามธรรม มันต้องมีคนกล้าเซ็นตั้งแฟ้มก่อน ดูอย่างบริษัทข้ามชาติ ที่มีหลักฐานชัดเจน บิ๊กกรมศุลฯ ยังบอกให้หยุดก่อน รอเค้าเกษียณก่อน นี่แหละวัฒนธรรมคนกรมศุลฯ”
แหล่งข่าวบอกอีกว่า วิธีการช่วยกันของคนกรมศุลฯ เมื่อมีการตรวจพบหรือจับกุม สำหรับพวกทำเอกสารปลอม ซึ่งความเป็นจริง เรายังใช้คำว่า 'ปลอม' ไม่ได้ จนกว่าจะมีการสั่งคดี ส่วนวิธีการช่วยให้ทุกอย่างผ่านระบบศุลกากรได้รวดเร็วคือการดำเนินการกับบริษัทนี้ในข้อหา 'สำแดงเท็จ” ตามมาตรา 99 และมาตรา 27 ในเรื่องของการหนีภาษีศุลกากรตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ ก็จะทำให้คดีเบา สั่งปรับได้ทุกอย่างก็จบ
ขณะเดียวกัน ยังมีอยู่หลายเรื่องที่เจ้าหน้าที่กรมศุลฯ ทำการสืบสวนและสามารถโน้มน้าวให้ผู้ใหญ่ในกรมศุลฯยอมเซ็นตั้งเรื่องเป็นคดีความปลอมเอกสารและขนของหนีภาษีของบริษัทต่าง ๆ ซึ่งคดีพวกนี้กรมศุลกากรได้แยกส่งไป 2 หน่วยงาน คือถ้ามูลค่าความผิดไม่เกิน 20 ล้านบาทจะส่งไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าคดีที่มีความซับซ้อน ใช้วิธีการแยบยล และมีมูลค่าเกิน 20 ล้านบาท จะส่งไปที่ดีเอสไอ
“คดีที่ศุลกากรส่งไปดีเอสไอ ข้อมูลหลักฐานชัดเจน เป็นธุรกิจด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าความเสียหาย 2,400 ล้านบาท ซึ่งกำลังจะหมดอายุความ 10 ปีแล้ว แต่ถ้าดำเนินคดีอาญาอายุความจะเป็น 15 ปี แม้จะไม่ได้ตัวการใหญ่มาลงโทษ แค่คนคนนี้ผิดกฎหมายอาญามันก็จะฟ้องเอง สังคมก็จะรู้แล้วว่า บริษัทนี้คือบริษัทอะไร สามารถเรียกค่าเสียหายเข้ารัฐได้ด้วย และยังมีคดีอื่น ๆ ที่ส่งให้ตำรวจเศรษฐกิจ รวมมูลค่าหมื่นกว่าล้านบาท”
อย่างไรก็ดี คดีที่ทางศุลกากรส่งไปยังดีเอสไอและตำรวจเศรษฐกิจ ยังไม่ปรากฏความคืบหน้าว่าจะดำเนินการสั่งฟ้องหรือไม่ ขณะที่ปัญหาเรื่องการปลอมแปลงเอกสารขนของหนีภาษี ยังคงวนเวียนอยู่ในกรมศุลกากร ซึ่งคาดหวังกันว่าหากรัฐบาลบิ๊กตู่เข้าไปดำเนินการกวาดล้างทุจริตในกรมศุลกากรอย่างจริงจัง ก็น่าจะทำให้ภาพลักษณ์ของกรมศุลฯ ดีขึ้น เพราะหากไม่ดำเนินการในยุครัฐบาล คสช.แล้ว ก็อย่าหวังว่าจะจัดการได้ในรัฐบาลเลือกตั้ง เพราะความเป็นจริงบรรดาข้าราชการผู้ใหญ่และระดับอาวุโสของที่นี่ต่างวิ่งเข้าหานักการเมืองและทำงานสนองการเมืองเพื่อให้เก้าอี้ตัวเองมั่นคงเป็นหลัก!