MGR Online - สตง.ผนึกกรมสอบสวนคดีพิเศษชำแหละขบวนการโกงรถหรู “สุดชั่ว” ทั้ง จนท.และโชว์รูม แฉอดีตบิ๊กศุลกากรนำทีม 8 เจ้าหน้าที่สมรู้ร่วมคิดกับบริษัทนำเข้าตรวจพบคืนภาษีไม่ถูกต้องเกือบ 20 ล้าน คาดยังมีอีกหลายคดี ขณะที่หน่วยต่อต้านการโจรกรรมรถสหราชอาณาจักรให้ข้อมูลรถราคาแพง 10 คันถูกส่งเข้าประเทศไทย คาดย้อนหลัง 5 ปีมีเป็นพัน
คดีรถหรูที่กำลังเป็นประเด็นส่อว่าอาจบานปลายถึงขั้นล้างบางกรมศุลกากร หน่วยงานในแดนสนธยาครั้งนี้โดยมีรายงานเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2560 ว่า นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือ 2 ฉบับ ถึงนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เพื่อให้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้ารถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรและมีการสำแดงราคาอันเป็นเท็จในคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าไปตรวจค้นและอายัดรถไว้ 160 คันภายใน 15 วัน และขอให้ดำเนินการเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร 9 รายที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจคืนภาษีอากรให้แก่บริษัทเอกชนที่เป็นผู้นำเข้ารถยนต์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่ บริษัท จูบิลี่ ไลน์ จำกัด และบริษัท นิชคาร์ จำกัด เป็นเงินภาษีคืนกว่า 19.88 ล้านบาท
ผู้ว่าการ สตง.กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีนี้เกิดจากสำนักตรวจสอบการจัดเก็บรายได้ ได้ตรวจสอบการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากรแล้วพบว่ามีเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเหล่านั้นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจคืนเงินภาษีอากรให้แก่บริษัท จูบิลี่ ไลน์ฯ ที่ได้นำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปลัมบอร์กินี รุ่น Gallardo จำนวน 16.8 ล้านบาท และคืนเงินบริษัท นิชคาร์ฯ ที่นำเข้ารถโลตัส รุ่น Elise S 3.4 ล้านบาท ทั้งๆ ที่เจ้าพนักงานศุลกากรผู้ประเมินอากร ฝ่ายบริการคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากรที่ 3 จำนวน 2 คนประเมินราคาแล้วไม่อาจรับราคาที่ผู้นำเข้าสำแดงในใบขนสินค้าได้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาทดสอบตามแนวทางการพิจารณาราคารถยนต์นั่งสำเร็จรูป ตามคำสั่งกรมศุลกากร ที่ 317/2547 อีกทั้งยังเห็นว่าเอกสารของ 2 บริษัทผู้นำเข้าไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากเอกสารที่นำมาแสดงไม่ใช่ต้นฉบับ และหลักฐานการชำระเงินไม่ผ่านการรับรองจากธนาคาร จึงขอให้วางเงินเป็นประกันจนครบจำนวนอากรสูงสุดที่อาจจะพึงต้องเสียตามมาตรา 112 ของ พ.ร.บ.ศุลกากร และกำหนดให้บริษัททั้ง 2 รายยื่นเอกสารเกี่ยวกับการซื้อขายตัวจริงมาประกอบการพิจารณาภายใน 7 วัน
กระทั่งถึงกำหนดบริษัทเอกชนทั้ง 2 รายไม่สามารถยื่นเอกสารประกอบการพิจารณาได้ ผู้ประเมินอากรจึงอาศัยอำนาจตามกฎหมายศุลกากร ผลักเงินประกันดังกล่าวเป็นรายได้แผ่นดินตามระเบียบศุลกากร รวม 20.2 ล้านบาท ต่อมาบริษัทผู้นำเข้าทั้ง 2 รายอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรต่อสำนักมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้เสนอเรื่องตามขั้นตอนให้รองอธิบดี 2 คน คือ นายวิศาล วุฒิศักดิ์ศิลป์ และนางฉวีวรรณ คงเจริญกิจกุล เพื่อดำเนินการตามขั้นตอน ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเห็นชอบคืนอากรที่เคยประเมินให้เป็นรายได้แผ่นดินให้บริษัทเอกชนทั้ง 2 ราย จำนวน 19.88 ล้านบาท โดยไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์
สตง.ตรวจสอบแล้วเห็นว่า การคืนภาษีอากรที่เป็นรายได้แผ่นดินให้กับเอกชนผู้นำเข้าทั้ง 2 ราย เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายศุลกากร มาตรา 10 มาตรา 112 เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัททั้งสอง จึงเห็นควรให้เรียกเงินคืนจากบริษัททั้ง 2 ราย และผู้ที่เกี่ยวข้อง และให้ดำเนินการทางอาญา ทางแพ่ง ทางละเมิดทางวินัยร้ายแรงต่อบุคคล ดังนี้
นางฉวีวรรณ คงเจริญกิจกุล อดีตรองอธิบดีกรมศุลกากร นายธีระ สุวรรณพงษ์ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ นายประพันธ์ พิสมยรมย์ นิติกร ชำนาญการ นายบุญสืบ บุญญกนก นิติกรชำนาญการ นายพร้อมชาย สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นายรำพินธ์ กำแพงทิพย์, นายบัญชา กอ-สนาน, นางดาริศรา บุญยะนันท์ ทั้งหมดเป็นนักวิชาการศุลกากรชำนาญการ บริษัท จูบิลี่ ไลน์ฯ บริษัท นิชคาร์ฯ กรณีมีพฤติกรรมสนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าพนักงาน และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
หนังสือ สตง.ระบุให้อธิบดีกรมศุลกากรดำเนินการและให้แจ้งผลการดำเนินงานกลับมายัง สตง.ตามมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.สตง.ภายใน 90 วัน หากละเลยไม่ดำเนินการถือว่ามีความผิดตามมาตรา 63 ของ พ.ร.บ.ตรวจเงินแผ่นดิน “สตง.ได้รับความร่วมมือจากอธิบดีกรมศุลกากรมาตลอดในเรื่องการนำเข้ารถหรู และเพื่อปกป้องภาษีของประเทศ สตง.จะประสานให้ทาง ป.ป.ช.และ ป.ป.ท.ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” ตอนท้ายของเอกสารลับที่ สตง.จัดส่งไปยังอธิบดีกรมศุลกากรระบุ
ส่วนการเคลื่อนไหวของดีเอสไอตรวจยึดอายัดรถหรู และปราบปรามกลุ่มขบวนการกระทำผิดเกี่ยวกับการลักลอบและหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรรวมทั้งสิ้น 166 คัน มูลค่าความเสียหายกว่า 3,000 ล้านบาทนั้น พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยความคืบหน้าว่า พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างรวบรวมพยานเอกสารที่เกี่ยวข้อง และตรวจสอบเอกสารที่ยึดมาเพื่อพิสูจน์ทราบว่ามีการทำราคาต่ำเข้ามาในลักษณะใด ขณะนี้ดีเอสไอได้รับราคากลางของรถหรูในประเทศผู้ผลิตที่อายัดมาได้แล้วหลังจากนี้จะนำมาตรวจสอบ ย้อนหลัง 5 ปี คาดว่าจะมีรถกว่า 1,000 คัน โดยจะตรวจสอบย้อนหลังร่วมกับกรมศุลกากร ว่าที่ผ่านมามีบริษัทที่นำเข้ามีการสำแดงใบเสียภาษีเท็จ หลีกเลี่ยงการเสียภาษี จำนวนกี่บริษัทส่วนกรณีมีบุคคลแอบอ้างเป็นเจ้าพนักงานกรมดีเอสไอเรียกเก็บเงินจากบริษัทหรือตัวแทนผู้จำหน่ายรถยนต์ที่อาจเกี่ยวข้องกับการถูกตรวจสอบว่าจะสามารถให้ความช่วยเหลือหรือเจรจาต่อรองไม่ให้ถูกดำเนินคดีได้ จากการตรวจสอบพบบุคคลแอบอ้างชื่อ คือ นายอรรคพล ทรัพย์พูลปฐม โดยดีเอสไอได้เข้าตรวจค้นบ้านและนำตัวส่งให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ยอมรับว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรนั้นไม่ทราบราคาที่แท้จริงของรถหรูที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เนื่องจากรถแต่ละบริษัทมีการสำแดงราคาที่ใกล้เคียงกัน และมีเอกสารที่ถูกต้องจึงไม่สามารถตรวจสอบได้ กรณีประชาชนที่มีการซื้อรถหรูไปแล้วเกิดความไม่มั่นใจว่าได้รถยนต์ที่ซื้อไปถูกกฎหมายหรือไม่ สามารถมาแจ้งเจตนาของการซื้อรถต่อเจ้าหน้าที่ได้ แต่หากพบมีความผิดดีเอสไอก็ยังอนุโลมให้ครอบครองรถไว้ก่อนได้โดยต้องทำหลักประกัน เมื่อเจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบรถจะต้องนำมาให้ตรวจ
ด้าน พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยว่า รถหรูที่ถูกโจรกรรมมาจากต่างประเทศและได้อายัดจากโชว์รูมหรูจำนวน 166 คันนั้น ขณะนี้หน่วยต่อต้านการโจรกรรมรถยนต์จากสหราชอาณาจักรได้ประสานมายังดีเอสไอว่ารถยนต์ที่มีการแจ้งหายไว้จากสหราชอาณาจักรถูกโจรกรรม 42 คัน โดยรถดังกล่าวพบวาถูกส่งตรงมาที่ประเทศไทย 10 คัน ข้อมูลดังกล่าวอยู่ในมือกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว