xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐแก้วิกฤตต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย จากลูกจ้างแค่พริบตายกระดับสู่ “เถ้าแก่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทีดีอาร์ไอ แจงปัญหาแรงงานต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย ถ้าไม่รีบแก้ไขจะกลายเป็นดินพอกหางหมู พบต่างด้าวเข้ามาเป็นลูกจ้างไม่นานยกระดับสู่การเป็นเถ้าแก่ ทั้งการค้า เกษตร ก่อสร้าง ถึงยุค “คนต่างด้าวเป็นนาย คนไทยเป็นยาจก” จี้รัฐหาทางเข้มงวด เจ้าหน้าที่ไม่ปล่อยปละละเลย ด้านเอกชน ควรเห็นกับผลประโยชน์ของชาติ ปรับนโยบายจ้างงาน ดึงเยาวชนนักศึกษา-นักเรียนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ติงอย่าเห็นแก่ค่าแรงที่ถูกเพราะความจริงแรงงานต่างด้าวคือตัวปัญหากดค่าจ้างคนไทยด้วยกัน

ผลสำรวจการประกอบอาชีพค้าขายรายย่อยของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร เชียงใหม่ นครราชสีมา หนองคาย ชลบุรี และสงขลา พบว่า แรงงานต่างด้าวเป็นเจ้าของร้านในห้างสรรพสินค้า 6.9% ของจำนวนผู้ค้าทั้งหมด เป็นเจ้าของแผงในตลาดนัด 1.8% เป็นเจ้าของแผงในตลาดสด 20.9% และเป็นเจ้าของร้านในตลาดชุมชน 9.7% ซึ่งต่างด้าวที่เป็นเจ้าของร้านหรือแผงค้ามีสัญชาติพม่า 44.5% กัมพูชา 21.4% ลาว 19.8% เวียดนาม 4.4% จีน 1.6% ชนกลุ่มน้อย 5.5% และอื่นๆ 2.7%

ขณะที่สถานการณ์ด้านการทำงานของคนไทย จากกองเศรษฐกิจการแรงงาน สํานักงานปลัดกระทรวงแรงงาน พบว่าสถานการณ์การว่างงาน จากข้อมูลในเดือนกรกฎาคม 2559 มีผู้ว่างงานจํานวน 153,661 คน มีอัตราการขยายตัว อยู่ที่ 13.37% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา มิถุนายน 2558 พบว่า อัตราการว่างงานขยายตัวอยู่ที่ 0.93% และหากคิดเป็นอัตราการว่างงานจากตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่ 1.48% โดยอัตราการว่างงานของสํานักงานสถิติแห่งชาติ อยู่ที่ 1.01

ยิ่งกว่านั้นยังมีข้อมูลที่น่าสนใจคือ คนไทยบางส่วนที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี พยายามหาทางออกในด้านอาชีพ โดยทำงานที่ไม่ตรงกับสาขาที่เรียนมา หรืออดทนยอมทำงานที่ต่ำกว่าวุฒิการศึกษา เช่น พนักงานขาย ลูกจ้างรายวัน ไปจนถึงงานแม่บ้านออนไลน์ที่ใช้ผู้จบปริญญาตรีมาทำงาน ซึ่งกำลังเป็นที่กล่าวถึงในขณะนี้
เปรียบเทียบจำนวนและอัตราการว่างงานปี 2558 และ 2559   ที่มา : กระทรวงแรงงาน
ดูเหมือนสถานการณ์ด้านการทำงานของคนไทย สวนทางกันอย่างสิ้นเชิงกับคนต่างด้าวที่มีแนวโน้มจะเป็นเจ้าของกิจการ ตั้งแต่ระดับรถเข็น หาบเร่แผงลอยริมถนน แผงในตลาดสด ไปจนถึงในห้างสรรพสินค้า

อย่างไรก็ดีสถานการณ์ที่คนต่างด้าวเข้ามาแย่งอาชีพคนไทยนั้นกำลังเป็นปัญหาที่นับวันจะรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐต้องตระหนักและเร่งหามาตรการหรือทางออกในการแก้ไขก่อนที่จะลุกลามจนกลายเป็นดินพอกหางหมู
เปรียบเทียบจำนวนผู้ว่างงานตามระดับการศึกษาที่สำเร็จเดือนสิงหาคมปี 2558 และ 2559   ที่มา : กระทรวงแรงงาน
ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ บอกถึงปัญหาด้านแรงงานว่า ความจริงประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมแรงงานต่างด้าว แบ่งเป็นหลายลักษณะ แต่ก็ยังมีปัญหา ซึ่งหากไม่เร่งแก้ไขจะกลายเป็นปัญหาดินพอกหางหมู

ทั้งนี้เพราะคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมีด้วยกันหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่เข้ามาในระบบ ตามมาตรา 12 ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่าด้วยเรื่องการขอใบอนุญาตทำงานและขยายระยะเวลาอยู่ในราชอาณาจักร โดยคนต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานภายใต้สิทธิประโยชน์ของ BOI จะไม่ใช่ปัญหา เพราะคนกลุ่มนี้เป็นแรงงานในระดับที่มีทักษะ หรือแม้แต่ตามมาตรา 13 ที่ผ่อนผันและใช้กันอยู่ถึงเกือบ 3 ล้านคนก็ไม่ใช่ปัญหา ถ้าแรงงานทำงานตามอาชีพที่มีการขออนุญาตไว้ตาม พ.ร.บ.แรงงานต่างด้าวปี 2551
ที่มา : กระทรวงแรงงาน
แรงงานใน-นอกระบบชวนญาติเข้ามาแย่งอาชีพคนไทย

โดยปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากแรงงาน “กลุ่มที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2539” และมีการขยายเวลาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 20 ปี เมื่ออยู่มานานจากการขยายเวลา การจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการอนุญาตให้ “ญาติพี่น้อง” ตามเข้ามาได้ ทำให้เกิดการสร้างครอบครัวในบ้านเรา อีกทั้งคนที่เป็นผู้ติดตามก็ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ เพราะมีการจดทะเบียนรองรับเป็นระยะ ทำให้กลุ่มนี้เข้าไปอยู่ในระบบด้วยเช่นกัน

ที่สำคัญ ยังมีคนต่างด้าวอีกกลุ่มที่อยู่นอกระบบ ซึ่งแม้จะมีความเข้มงวดทางกฎหมาย แต่ก็มีการขยายจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ประเมินว่ามีจำนวนมากถึง 7-8 แสนคน คนเหล่านี้ส่วนหนึ่งยิ่งมีการกวดขันในระบบโรงงานมากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งลักลอบเข้าไปรับจ้างทำงานในอาชีพต่างๆ โดยอาศัยช่องว่างที่กำลังของเจ้าหน้าที่ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง ส่งผลให้มีโอกาสไปทำงาน “ในอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทย” ตั้งแต่การขายสินค้า แรงงานก่อสร้าง แม้แต่งานเกษตรในพื้นที่ห่างไกลซึ่งเจ้าหน้าที่เข้าไปไม่ถึง

“คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วจะเข้ามาแทรกตัวในส่วนของอาชีพที่อยู่ในเมือง เพราะโดยธรรมชาติแรงงานต่างด้าวไม่ชอบวิถีชีวิตในชนบท แต่มีความชอบแสงสีในเมืองมากกว่า”

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าคนต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทย จะมีสถานที่เที่ยวยอดนิยมที่อยากไป เช่น สวนจตุจักร ห้างสรรพสินค้าต่างๆ กรณีคนจากประเทศลาวที่มาอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งมาได้แค่จังหวัดอุดรธานี ก็อยากไปเดินเที่ยวในห้างสรรพสินค้า และเมื่อมาประจำเป็นเวลานานหลายปี ก็จะมองเห็นช่องทางทำมาหากิน เข้ามาในประเทศลึกขึ้นเรื่อยๆ และนำมาสู่การลักลอบทำงานนั่นเอง

ยึดกิจการร้านอาหารหวั่นปนเปื้อนไม่ได้มาตรฐาน

สิ่งที่น่ากังวลและถือว่าเป็นอีกปัญหาที่เกิดขึ้น จากพัฒนาการและการเรียนรู้ คือเมื่อเข้ามาอยู่เป็นเวลานาน เริ่มจากการทำงานที่ร้านอาหาร เป็นผู้ใช้แรงงานล้างจาน ไม่เป็นแรงงานผิดกฎหมาย เพราะทำงานตามที่จดทะเบียนไว้ แต่เมื่ออยู่นานหลายปี ภายหลังก็เริ่มยกระดับขึ้นไปทำงานในหน้าที่เสิร์ฟอาหาร และเป็นลูกมือพ่อครัว ทำไปเรื่อยๆ ประมาณ 4-5 ปี จนเกิดความชำนาญ พัฒนามาเป็นคนขาย เจ้าของกิจการ ไปจนถึงการยกระดับเป็นแฟรนไชส์ในที่สุด

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยในอาหาร เนื่องจากกลุ่มคนต่างด้าวอาจจะไม่มีความเข้าใจ เพราะคุ้นชินกับความเรียบง่าย ไม่ใช้มาตรฐานเหมือนที่มีในประเทศไทย ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภค

ขณะเดียวกันมีผู้บริโภคในชุมชนย่านหมู่บ้านนักกีฬาฯ เล่าว่า จะพบเห็นแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะแรงงานพม่า ที่เข้ามาเป็นลูกจ้างขายอาหาร เช่นขายประเภทยำ ก๋วยเตี๋ยว ข้าวเหนียวหมู ไก่ทอด ขายข้าวแกง หรือน้ำเต้าหู้ ซึ่งจะอยู่แต่ละร้านไม่นาน ก็จะขยับขยายจากเป็นลูกจ้างก็มาเป็นเจ้าของเอง

“ต้องยอมรับแรงงานกลุ่มนี้เป็นคนขยัน อดทน มีความตั้งใจสูงที่จะเก็บเงินเก็บทอง เพื่อส่งกลับไปประเทศตัวเอง โดยเฉพาะคนที่มาอยู่เป็นคู่สามีภรรยาจะยิ่งขยัน หลายคู่เปลี่ยนสถานะจากลูกจ้างมาค้าขายอาหารอีสาน ข้าวเหนียว ส้มตำ ไก่ทอด”

มาถูกกฎหมายแต่กลายเป็นแรงงานแฝงที่ยกระดับ

ดร.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า กลุ่มคนที่เข้ามาเป็นแรงงานถูกกฎหมาย มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องนั้น บางคนก็กลายเป็นแรงงานแฝงเช่นกัน เพราะ “ทำอาชีพไม่ตรงกับที่ขออนุญาตไว้” จดทะเบียนถูกต้องเป็นแรงงานก่อสร้าง เป็นแม่บ้าน แต่พัฒนามาจนเป็นเจ้าของกิจการ

สาเหตุที่สามารถยกระดับขึ้นไปได้นั้น เพราะค่าแรงของแรงงานต่างด้าวไม่ได้มีอัตราถูกอย่างที่เชื่อกัน แรงงานต่างด้าวได้รับค่าแรงวันละ 300 บาท แม้จะไม่มีสวัสดิการอะไรรองรับ แต่ 300 บาทต่อวันซึ่งนี้ไม่มีรายจ่ายอะไรมากนัก เพราะกินอยู่กับเจ้าของกิจการ

ดังนั้นรายได้ต่อเดือนจึงเรียกว่าอยู่ในอัตราที่สูง คิดเป็นรายได้ 6 -7 หมื่นบาทต่อปี ซึ่งเป็นยอดเงินที่สูงมากเมื่อคิดตามสกุลเงินในประเทศของพวกเขา ถือว่าทำให้ร่ำรวยได้ทีเดียว เก็บเงินเพียงไม่กี่ปีก็สามารถเป็นนายหน้า ออกเงินกู้ให้คนชาติเดียวกันได้ รวมทั้งผันตัวจากการเป็นลูกมือ ลูกจ้างขายของให้คนไทย กลายเป็นเจ้าของกิจการ เริ่มจากเข็นรถ จัดสินค้า คัดเลือกสินค้า เมื่อรายได้มากขึ้น ก็มีการเช่าแผง เซ้งแผง รับของมาเป็นจุดกระจายสินค้า เป็นพ่อค้ารายใหญ่ในที่สุด ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวงกว้าง

การเซ้งแผงมักจะนิยมในละแวกตลาดไทย ตลาดสี่มุมเมือง ทำอาชีพพ่อค้ารับชื้อผักผลไม้ และยังมีการเปิดร้านค้าต่างๆ ในย่านที่เป็นย่านการค้าซึ่งมีคนต่างด้าวอาศัยรวมกันอยู่มาก โดยจะเน้นการขายของชำ ของเบ็ดเตล็ดให้กันเอง เป็นรูปแบบที่ทำมาเป็นเวลานานแล้ว

แรงงานระดับล่างทำได้เหตุเจ้าหน้าที่ละเลย

ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ บอกว่า ถ้าจะมองในแง่กฎหมาย อาจจะมองไปถึงการปล่อยปละละเลย การไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ เพราะอาชีพเหล่านี้เป็นอาชีพที่ไม่ได้รับอนุญาต การเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้น ต้องเข้ามาในเชิงธุรกิจ มีการจดทะเบียน ขออนุญาตเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งประเทศเราก็เปิดรับเรื่องการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ สามารถทำได้ แต่สิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ในวันนี้เกิดจากแรงงานระดับล่างซึ่งลักลอบทำ

แม้แต่ในภาคของแรงงานเกษตร และแรงงานก่อสร้างที่สามารถทำได้ ไม่ได้มีการจำกัดอาชีพ ก็ยังมีปัญหา เนื่องจากการยกระดับเป็นเจ้าของ เช่นเช่าที่ทำการเกษตรเอง หรือกลายเป็นนายหน้า เป็นโฟร์แมนคุมงานก่อสร้าง ซึ่งเกินระดับของทักษะแรงงานที่มี
ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน  ทีดีอาร์ไอ
โดยเฉพาะอาชีพ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 จำนวน 39 อาชีพ ที่สงวนไว้ให้คนไทยเท่านั้น แรงงานต่างด้าวไม่สามารถทำได้ เช่น อาชีพตัดผม งานช่างฝีมือ หรือการค้าขาย ทั้งค้าปลีกและค้าส่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาชีพที่อยู่ในเมือง

ดังนั้นในยุคปัจจุบันจึงเห็นคนต่างด้าวมีการพัฒนาเข้ามายึดอาชีพจากคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้น.มากว่า 10 ปีจากการที่คนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในไทยถึง 20 ปี แม้จะมีกลับไปประเทศตนเองบ้าง แต่ก็เป็นจำนวนน้อยมาก

“คนกลุ่มนี้รู้จักหาช่องทางที่จะยกระดับด้วยการพัฒนา จะพูดภาษาไทยได้ บางส่วนเขียนได้ ซึ่งสถานประกอบการเองก็มีส่วนในการสนับสนุน เช่น พูดภาษาไทยได้ เขียนภาษาไทยได้จะให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ ทำให้มีความพากเพียรในการเรียนรู้ภาษาไทย ทำให้สื่อสารได้ง่าย”

คนไทยต้องลดเกรดก่อปัญหาว่างงานเชิงโครงสร้าง

นอกจากนี้สิ่งที่กำลังเป็นปัญหาให้กับภาคแรงงานโดยเฉพาะบัณฑิตไทยจบใหม่ ต้องหันมาทำงานรับจ้าง หรือแม่บ้านออนไลน์นั้น เนื่องจากคนไทยที่จบปริญญาตรีมีจำนวนมากในทุกปี และในพื้นที่อยู่ของตนก็ไม่มีงานรองรับ อัตราคนว่างงานเฉลี่ยของประเทศสูงถึง 1-1.5 แสนคนต่อปี คำนวณจากอัตราเงินเดือนขั้นต้น 15,000 บาทต่อเดือน ก็คิดเป็นมูลค่าความเสียโอกาสถึงหมื่นล้านบาทต่อปี ขาดการสร้างรายได้ เราสูญเสียไปมากจากคนว่างงานในประเทศ

ขณะที่ต่างด้าวเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งเป็นความลักลั่นที่ไม่สมควร ปัญหาส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของช่องทางตลาด เนื่องจากประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความเจริญยังไปไม่ทั่วถึง แต่มหาวิทยาลัยที่ผลิตบุคลากรมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ ขณะที่ตลาดแรงงานของปริญญาตรีหรือผู้มีการศึกษาสูงมีจำกัด คนไม่อยากไปอยู่ไกลบ้าน ไกลภูมิลำเนาของตนเอง ผู้ปกครองก็ห่วงบุตรหลาน จึงทำให้เกิดปัญหาการว่างงานเชิงโครงสร้าง คนทำงานต่ำกว่าวุฒิการศึกษา จบปริญญาตรี ทำงานที่ใช้วุฒิมัธยมศึกษา ทำให้สูญเสียทรัพยากรบุคคลไปเป็นจำนวนมาก

ในทรรศนะของ ดร.ยงยุทธ เชื่อว่าบัณฑิตปริญญาตรีถ้าไม่เลือกงาน หรือต้องไปประกอบอาชีพแม่บ้านก็อยากให้มองกันว่า อาชีพแม่บ้านมีหลายระดับ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นงานดูแลผู้สูงอายุนั้น ถือว่าได้รับค่าตอบแทนสูงเพราะนายจ้างต้องการผู้ที่สามารถไว้วางใจได้ และถือว่าเป็นการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ที่มีรายได้หรือค่าตอบแทนที่ดี

ทางออกในการแก้ไขปัญหา

ดร.ยงยุทธ กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องต่างด้าวนั้นเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ต้องมีความเข้มงวดด้านกฎหมาย เพราะหากปล่อยไปนานกว่านี้ จะทำให้ลุกลาม แก้ไขไม่ได้ ทำนองเดียวกับกรณีการบุกรุกป่าสงวน ปล่อยปละจนปลูกบ้าน ปลูกรีสอร์ต กรณีนี้ก็เช่นกัน แรงงานเหล่านี้อยู่มานานจนปักหลักเต็มตลาด จะไปจับเขาภายหลังนั้นก็เป็นความยากลำบาก และเกิดความสูญเสียทั้งสองฝ่าย เพราะมีการลงทุน จะนำส่งกลับประเทศไปเลยโดยไม่มีการชดเชยจะขยายตัวเป็นประเด็นใหญ่

ปัจจุบันอาชีพลูกจ้างตามร้านค้า โชห่วย ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ลูกจ้างปั๊มน้ำมัน ไม่ใช่คนไทยไปเสียแล้ว ซึ่งในอดีตเป็นการจ้างงานจากเด็กนักเรียน หรือผู้ที่หารายได้เสริมซึ่งเป็นคนไทย ทางออกคือต้องหาวิธีจ้างแรงงานไทยให้เป็นรายชั่วโมงได้ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา มีรายได้ตามเวลาที่มี การกำหนดให้จ้างเป็นวัน ทำให้เกิดข้อจำกัด และเป็นโอกาสของแรงงานต่างด้าว ซึ่งสามารถรองรับงานได้ทุกรูปแบบ การแก้ไขเรื่องพื้นฐานลักษณะนี้ ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ไม่ปล่อยปละละเลย น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

วันนี้รัฐบาลก็มีการจัดตั้งชุดเฉพาะกิจจำนวน 6 ชุด ในโครงการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานต่างด้าว เพื่อออกตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมดำเนินคดีเช่นกัน โดยตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 100/2557 และ 101/2557 กระทรวงแรงงาน แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย

โดยเฉพาะปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาแย่งอาชีพคนไทย มีมาตรการแก้ปัญหา 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ตั้งแต่เดือนกันยายน-ธันวาคม 2559 โดยประสานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง จัดชุดเฉพาะกิจออกตรวจปราบปรามการลักลอบทำงานของคนต่างด้าว ทั้งในส่วนของกลุ่มที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตและกลุ่มที่ประกอบอาชีพที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวทำ อาทิ ค้าขาย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย

ส่วนมาตรการระยะยาวได้มอบหมายให้หน่วยงานด้านความมั่นคง และตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว บังคับใช้กฎหมายตามแผนการตรวจของชุดเฉพาะกิจและรณรงค์ปลุกจิตสำนึกให้คนในชุมชนร่วมมือกันเฝ้าระวังแจ้งเบาะแสเมื่อพบเห็นการกระทำผิดที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย

ที่ผ่านมา แม้ภาครัฐให้ความสำคัญกับเรื่องประมงมาก แต่ก็ต้องหันมาดูแลเรื่องแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานด้านอื่นเช่นกัน ต้องมีการสนธิกำลังดำเนินการ ข้าราชการท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ก็ต้องมีส่วนช่วยในการเป็นหูเป็นตาให้ อย่าให้การส่งเสริม เพื่อให้คนไทยมีช่องทางหายใจบ้าง

ดร.ยงยุทธ กล่าวทิ้งท้ายว่า “แรงงานต่างด้าวนั้นเหมือนการเติมน้ำจนเต็มแก้ว ไม่มีที่เหลือ คนไทยโดยเฉพาะในภาคอีสานมีรายได้เพียงแค่ 40-50% ซึ่งต้องหารายได้อย่างอื่นมาเพิ่มให้เพียงพอ ตั้งแต่งานรับจ้าง งานก่อสร้างต่างๆ หากเราปล่อยให้ต่างด้าวที่มาอยู่บ้านเราทำงานจนหมด จะเหลืองานอะไรให้คนไทยหารายได้เสริม จึงต้องมีการดูแล นายจ้างเองก็ไม่ควรคิดว่าคนไทยขี้เกียจ ไม่ทำงาน เรื่องมาก อยากให้ปล่อยไปตามกลไกทางตลาด ในข้อเท็จจริงจะเห็นได้ว่าแรงงานต่างด้าวนั้นมีส่วนในการกดค่าจ้าง ทำให้คนไทยทำไม่ได้

ตามกลไกทางเศรษฐศาสตร์ เมื่อแรงงานขาดแคลน ค่าจ้างก็ต้องขึ้นไปในระดับที่พอเพียง แต่พอมีแรงงานต่างด้าว กลับกลายเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่า เสมือนคนไทยไม่อดทนกับคนไทยด้วยกัน!

กำลังโหลดความคิดเห็น