จับตาคดีพระธัมมชโย ในขั้นตอนอัยการจะสั่งฟ้อง-ไม่ฟ้อง จะเกิดปัญหาอะไรตามมา ขณะที่โมเดลการชุมนุมปกป้องพระธัมมชโยเหมือนการชุมนุมทางการเมือง คาดยุทธวิธีการจัดการของดีเอสไอและรัฐบาล เป็นตัวจักรสำคัญให้ผู้ร่วมชุมนุมในวัดธรรมกายอ่อนแอ และเป็นแรงบีบให้พระธัมมชโยต้องเลือก หากไม่มอบตัว ถูกจับได้มีสิทธิ์ถูกจับศึก ชี้เหตุธรรมกายมั่นใจเป่านกหวีดเมื่อไร พระภิกษุและศิษย์ธรรมกายพร้อมเดินทางสมทบได้ทันที โชว์เส้นทางธรรมกายขยายเครือข่ายในระดับท้องถิ่นมานาน ทั้งจัดโครงการเข้าถึงโรงเรียน คัดเด็กหัวดีบวชเณร หนุนเจ้าคณะฯพระในพื้นที่ ยึดวัดร้าง!
วันนี้เดินมาถึงจุดสำคัญ ที่จะสามารถตัดสินคดีพระธัมมชโยได้ว่าจะเป็นไปอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการชุมนุมของคณะศิษยานุศิษย์ หรือถ้อยคำที่ออกมาแถลงว่า ดีเอสไอทำเกินกว่าเหตุ กรณียกกำลังเจ้าหน้าที่กว่าพันนายเพื่อบุกจับพระธัมมชโยที่มีสถานะเป็นเพียงผู้ต้องหา และยังไม่ได้เป็นจำเลย อีกทั้งยังเป็นพระชราวัย 72 ปี ที่มีอาการอาพาธอีกด้วย หรือแม้กระทั่งการกล่าวว่าพระธัมมชโยจะมอบตัวเมื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้น ก็ถือเป็นการดิสเครดิตของตัวเองทั้งสิ้น
อีกทั้งในสถานการณ์ที่เจ้าสัวบุญชัย เบญจรงคกุล ออกมาเคลื่อนไหวนำสันติสุขมาสู่ประเทศ โดยชวนศิษย์ธรรมกายให้มาปฏิบัติธรรมที่วัด และสวดมนต์เพื่อปกป้องพระธัมมชโย นับว่าเป็นข้อผิดพลาดเป็นอย่างมาก
นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า การที่ผู้ชุมนุมประกาศจะให้พระธัมมชโยเข้ามอบตัว ก็ต่อเมื่อประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ถือเป็นความผิดพลาดรุนแรงที่สุด เพราะเท่ากับส่งสัญญาณว่าผู้ชุมนุมและพระธัมมชโยไม่เคารพต่อกระบวนการยุติธรรมของอัยการ ที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และเท่ากับไม่เคารพต่อศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นอำนาจตุลาการ 1 ใน 3 อำนาจ ทำให้เห็นว่าอัยการและศาลไม่ได้อยู่ในสายตา
ซึ่งการรอในครั้งนี้ก็คือการรอฝ่ายการเมืองเท่านั้น ถือเป็นความผิดพลาดที่ทำลายความชอบธรรมที่อาจจะมีอยู่ไปจนหมด การชุมนุมทางการเมืองใดๆก็ตาม สุดท้ายทุกคนที่เป็นแกนนำซึ่งมีหมายจับก็จะเข้ามอบตัว และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทั้งสิ้น
“ที่ผ่านมาอดีตนายกรัฐมนตรีถึง 5 คนที่มีคดี ทั้งคุณทักษิณ ชินวัตร คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล อ.ชวลิต ยงใจยุทธ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่างก็ไม่เคยปฏิเสธขั้นตอนในชั้นนี้ ตั้งแต่การมอบตัวกับพนักงานสอบสวน ประกันตัว ไปสู่การสู้คดีในชั้นศาล มีแต่พระธัมมชโยเท่านั้นที่พยายามจะเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือกว่ากฎหมายและผู้นำการเมืองใดๆทั้งสิ้น ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก”
ยิ่งกว่านั้นการชุมนุมเพื่อหนุนให้กำลังใจพระธัมมชโยในครั้งนี้เป็นคดีอาญา ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก อีกทั้งเป็นการชุมนุมเพื่อปกป้องบุคคล คือ พระธัมมชโยนั้น ไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญอีกด้วย แตกต่างจากคดีในปี 2549 ที่เป็นเรื่องของการครอบครองที่ดินวัดพระธรรมกาย ในชื่อของพระธัมมชโย ไม่มีผู้เสียหายที่เป็นประชาชน รวมทั้งวงเงินไม่มหาศาลเหมือนครั้งนี้
ธรรมกายยึดโมเดลการเมืองในการชุมนุม
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า ลักษณะของการชุมนุมของศิษย์วัดธรรมกายที่ผ่านมารวมถึงเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ดีเอสไอและเจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายค้นไปที่วัดพระธรรมกายนั้น มีลักษณะคล้ายการชุมนุมทางการเมือง แต่มีความแตกต่างเพียงแค่ตัวบุคคลที่เข้ามาชุมนุม รวมถึงความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญเท่านั้น
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ลักษณะการชุมนุมของวัดพระธรรมกาย มีรูปแบบเหมือนการชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องกีดขวาง บริเวณทางเข้าวัด การใช้มวลชนเป็น “กำแพงมนุษย์” การเรียกระดมมวลชนที่มีการพูดปลุกใจ แสดงออกในวัตถุประสงค์เพื่อต่อสู้กับภาครัฐ เพื่อปลุกเร้าความรู้สึกของมวลชน มีเป้าประสงค์ที่คล้ายคลึงกัน
แต่มีความแตกต่างกันตรงที่ว่าถ้าเราเปรียบเทียบการชุมนุมทางการเมือง ถ้าแกนนำต้องคดี มีหมายจับ ผู้ชุมนุมจะชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เพื่อล้อมแกนนำไว้นั้นทำได้ เพราะมีรัฐธรรมนูญคุ้มครองเรื่องการชุมนุมปราศจากอาวุธ
แต่กรณีของผู้ชุมนุมเพื่อปกป้องพระธัมมชโย เพียงเพื่อไม่ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยใช้วิธีสันติปราศจากอาวุธก็ตาม แต่ผู้ชุมนุมจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ เพราะผิดกฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะ ไม่มีสิทธิ์ในการชุมนุมที่นำมาใช้ “กล่าวอ้าง” ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญให้เฉพาะสิทธิ์ในการแสดงความคิด และยังผิดเรื่องการชุมนุมเกิน 5 คนตามคำสั่ง คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ)
ดังนั้นผู้ชุมนุมที่วัดพระธรรมกายจึงมีความสุ่มเสี่ยงในเรื่องผิดกฎหมายเพราะไม่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ
หมายค้นครั้งที่ 2 ช่วยดีเอสไอจับพระธัมมชโยง่ายขึ้น
คดีธัมมชโยก็มีการคาดการณ์กันว่า หมายค้นวัดพระธรรมกายในครั้งต่อไป จะไม่ใช่หมายค้นที่เป็นไปในลักษณะเดียวกับครั้งที่ 1 ซึ่งทำให้ดีเอสไอทำงานยาก เพราะมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ในการตรวจสอบ รวมถึงระยะเวลาในการตรวจค้น โดยถือเป็นความชอบธรรมหลังเหตุการณ์ที่ผ่านมา หลายๆประการที่ชี้ให้เห็นแล้วว่า วัดพระธรรมกายไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ดีเอสไอมีการผ่อนปรนให้
ด้านความคืบหน้าล่าสุดของดีเอสไอนั้น พ.ต.อ.ไพสิษฐ์ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยถึงการขออนุมัติศาลเพื่อเตรียมเข้าค้นรอบ 2 นั้น คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนมากขึ้น นอกจากนั้นยังพบเงินที่ถูกยักยอกจากสหกรณ์ฯ คลองจั่น ให้วัดพระธรรมกายเพิ่มอีก 400 กว่าล้านบาท
นายไพบูลย์ กล่าวว่า การดำเนินการส่วนที่เกี่ยวกับคดีจากนี้ไปจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นหมายจับพระธัมมชโย กรณีที่ศาลอนุมัตินั้น ดีเอสไอต้องดำเนินการร่วมกับตำรวจ โดยไม่ต้องรอคำสั่งฟ้องจากอัยการ เพราะหากหมายจับยังอยู่ก็ต้องดำเนินการเลย ซึ่งในขั้นตอนขอการจับกุมตัว ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง และรอบคอบ โดยเฉพาะในระยะแรก กระแสของศิษย์ยังมีความรุนแรงอยู่ แต่สถานการณ์จะไม่เป็นอย่างหมายค้นครั้งแรก เพราะดีเอสไอ จะต้องรายงานปัญหาที่พบไปยังศาล ซึ่งหมายค้นก็จะออกมาครอบคลุมมากขึ้น ทั้งในส่วนของพื้นที่ตีวงกว้างขึ้น ระยะเวลาก็จะยาวนานขึ้น อาจจะครอบคลุมไปถึงพื้นที่ 2,000 กว่าไร่ ระยะเวลาก็อาจจะขยายไป 3-7 วัน
ในด้านของวิธีการเข้าจับกุม เมื่อมีหมายค้นออกมาแล้ว ก็อาจจะไม่ต้องแจ้ง สามารถดำเนินการได้เลยตามช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจากรูปคดีนี้เป็นหมายค้นที่ออกตามหมายจับ จึงมีนัยยะสำคัญแสดงว่าเป็นผู้ต้องหาแล้ว ดังนั้นการออกหมายค้นเพื่อเข้าไปจับกุมผู้ต้องหาออกมานั้น โดยปกติศาลจะออกให้อยู่แล้ว เพียงแต่กรณีนี้มีลักษณะพิเศษ ด้วยความกว้างของพื้นที่ และมีปัญหาเรื่องมวลชน การออกหมายค้นใน 24 ชม. จึงไม่เพียงพอ
ส่วนกรณีการปลุกระดมจากศิษย์และผู้มีชื่อเสียงเช่น นายบุญชัย เบญจรงคกุล ที่เกรงว่าอาจจะนำมาสู่ความรุนแรงนั้น จะเกิดก็ต่อเมื่อมีการปะทะกัน ซึ่งดีเอสไอก็จะหลีกเลี่ยงอยู่แล้ว สถานการณ์ไม่น่าจะเป็นเหมือนวันที่ 16 อย่างที่กล่าว คือเรียกว่าดีเอสไอทำได้โดยต้องมีเทคนิคในการจับกุม ไม่จำเป็นต้องหักด้ามพร้าด้วยเข่า
“เวลานี้ถ้าพระธัมมชโยมอบตัว ศาลก็ต้องให้ประกันตัวได้ เพราะไม่ได้หลบหนี หรือต่อต้าน แต่ถ้าดีเอสไอเข้าไปจับกุมก็ต้องถูกจับสึก เป็นเรื่องที่พระธัมมชโยต้องตัดสินใจ”
เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังอัยการฟ้อง-ไม่ฟ้อง
นายไพบูลย์ กล่าวถึงการดำเนินการในส่วนที่ 2 คือคดีที่ดีเอสไอส่งสำนวนให้อัยการพิจารณานั้น ลำดับถัดไปอัยการจะตรวจสำนวนว่าสมควรจะมีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ หรือเห็นว่าสำนวนยังไม่ครบถ้วนจะต้องมีการสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งเป็นกระบวนการของอัยการที่จะต้องดำเนินการต่อไป โดยในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ จะมีความเห็นออกมาเกี่ยวกับคดีว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่
ซึ่งหากอัยการเห็นว่ามีมูลและควรสั่งฟ้อง ก็จะให้ดีเอสไปนำตัวพระธัมมชโย (จำเลย) มาขึ้นศาลเพื่อฟ้องคดีต่อศาลต่อไป และเมื่ออยู่ในขั้นตอนนี้ หากจะขอประกันตัวจะต้องเป็นส่วนของศาลพิจารณาว่าจะให้ประกันตัวต่อศาลเพื่อต่อสู้คดีต่อไปหรือไม่
“สำหรับขั้นตอนนี้ กรณีที่ศาลรับฟ้องเลย หากมีการขอประกันตัวในระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งจะเป็นดุลพินิจของศาล อาจจะให้ประกันหรือไม่ให้ประกันก็ได้ อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตจากคดีเดียวกัน กรณีของนายศุภชัย จะเห็นว่า ถูกฝากขังตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน ไปจนถึงชั้นศาล ซึ่งยังให้ขังไว้กระทั่งตัดสินคดี แต่กรณีพระธัมมชโยนั้น มีความเป็นไปได้ที่ศาลจะให้ประกันตัว”
ส่วนการดำเนินการตามหมายจับนั้น เพราะหากว่าดีเอสไอรู้ว่าพระธัมมชโยอยู่ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นเขตอำนาจตามกฎหมายที่จะต้องนำตัวมาลงโทษ จะต้องดำเนินการไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งสุดท้ายเมื่ออัยการสั่งฟ้องดีเอสไอก็ต้องเข้าไปจับกุมนำตัวพระธัมมชโยมาขึ้นศาลอยู่ดี
ในวันนี้ถ้าไม่มอบตัวและไม่หลบหนี แต่ยังอยู่ในวัดแบบนี้ อย่างไรดีเอสไอและเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องหาทางเข้าจับกุมจนได้ แต่จะทำได้เมื่อไรนั้นต้องดูตามสถานการณ์ไป ซึ่งส่วนตัวไม่เชื่อว่าทางเลือกซ่อนตัวแบบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อพระธัมมชโย ยิ่งทิ้งเวลาให้เนิ่นนานไป มวลชนก็จะอ่อนล้าและความชอบธรรมของการใช้วิธีดื้อแพ่งต่อกระบวนการยุติธรรมก็จะหมดไป ภาพลักษณ์ของวัดพระธรรมกาย และพระธัมมชโยก็จะเสียหายรุนแรงเพิ่มขึ้น
ยิ่งนับวันความชอบธรรมของพระธัมมชโย สวนทางกับดีเอสไอและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่กลับจะยิ่งมีความชอบธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ และถ้ากระบวนการอัยการออกมามีความเห็นสั่งฟ้องก็จะยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้น รวมไปถึงยิ่งศิษย์ของวัดพระธรรมกายเริ่มดำเนินการที่ผิดกฎหมายให้สังคมเห็น รวมทั้งดึงเอาเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งจะเป็นปัจจัยให้ความชอบธรรมลดน้อยลงไปโดยลำดับ
ส่วนในกรณีถ้าอัยการไม่สั่งฟ้องนั้น ต้องมีหลักฐานชัดเจน เพราะกรณีนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในปี 2549 เมื่ออัยการสั่งฟ้องไปแล้ว จนไปดำเนินคดีในศาล แต่อัยการสูงสุดกลับเป็นผู้ถอนฟ้อง ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ส่งผลให้อัยการสูงสุด และสำนักอัยการเกิดความเสียหายต่อภาพพจน์มาก และที่สำคัญคือ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นคนเดียวกัน และคดีนี้ยังเป็นคดีที่ร้ายแรงกว่า เพราะมีผู้เสียหายที่เป็นประชาชน จำนวนมาก รวมทั้งวงเงินมหาศาล ยิ่งกว่านั้น นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีต ปธ.สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ ผู้กระทำผิดก็ถูกลงโทษไปแล้ว
ดังนั้นการที่อัยการจะไม่สั่งฟ้องในคดีนี้จะต้องพิจารณาอย่างชัดเจน และต้องตอบคำถามกับสังคมได้อย่างสิ้นข้อสงสัย และอัยการสูงสุดต้องเป็นผู้อนุมัติหากไม่สั่งฟ้อง โดยจากการศึกษาข้อมูลทั้งหมด เชื่อว่าอัยการไม่น่าปฏิเสธหลักฐานและข้อมูลต่างๆได้ เมื่อคดีมีมูลต้องพิสูจน์กันที่ศาลเท่านั้น ซึ่งเป็นกระบวนการต่อสู้ในชั้นศาลต่อไป
ธัมมชโยถูกจับได้จังหวะให้ภิกษุผิดพระธรรมวินัยพ้นทาง
หากมีการจับกุมพระธัมมชโยจะมีผลกระทบต่อพุทธศาสนาหรือไม่นั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีอาญาแผ่นดิน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเลย เป็นเรื่องของบุคคลที่ร่วมกันกระทำผิดอาญาแผ่นดิน ฉ้อโกงประชาชน เพียงแต่บุคคลนั้นเป็นพระภิกษุที่มีลูกศิษย์ลูกหามาก เรื่องคดีสหกรณ์นี้จึงเป็นเพียงเรื่องของผู้มีอิทธิพล เพียงแต่ผู้มีอิทธิพลนั้นเป็นพระภิกษุ ซึ่งก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเหมือนกัน
แต่ส่วนที่มีผลกระทบกับพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่เรื่องของคดีนี้ แต่เป็นเรื่องวิธีปฏิบัติตนของพระธัมมชโย รวมทั้งพระภิกษุอีกจำนวนมากที่เป็นเครือข่าย ที่ยังมีการกระทำที่บิดเบือนคำสอนของพระพุทธองค์ มีวัตรปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามพุทธอย่างแท้จริง
โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน การกระทำผิดกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดพระธรรมวินัยด้วย มีการสะสมเงินทอง การสะสมกิเลส มีคำสอนที่เป็นไปในทางที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง จึงมองว่าเป็นกระบวนการที่ตรวจสอบพระภิกษุที่ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย แอบอ้างความเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเพื่อหาประโยชน์ให้กับตนเองและพรรคพวก ถ้ามีการตรวจสอบและมีการดำเนินการให้บุคคลเหล่านั้นพ้นไปจากพระพุทธศาสนา จะถือว่าเป็นกระบวนการที่เป็นประโยชน์ต่อการทำนุบำรุง ทำให้พระพุทธศาสนาบริสุทธิ์ และส่งเสริมให้รุ่งเรืองเผยแผ่ออกไปกว้างขวางขึ้น
ธรรมกายเสมือนมะเร็งร้ายแผ่ขยายได้รวดเร็ว
ด้าน พระอาจารย์ดุษฎี เมธังกุโร เจ้าอาวาสวัดทุ่งไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร กล่าวถึงกรณีที่พระทางภาคใต้ประกาศว่าจะเป็นกำลังหนุนให้พระธัมมชโย เมื่อมีอะไรให้ส่งสัญญาณไป พระทางใต้พร้อมช่วยเหลือนั้น ไม่ได้หมายถึงพระทางภาคใต้ทั้งหมด แต่เป็นพระบางส่วนที่วัดพระธรรมกายมีการจัดตั้งพระที่ภาคใต้ไว้จำนวนหนึ่ง โดยผ่านโครงการตักบาตรแสนรูปในจังหวัดต่างๆ ซึ่งมีการจัดขึ้นหลายครั้งแล้ว แต่ระยะหลังมีการคัดค้านไม่ให้จัด เพราะมีลักษณะคล้ายกับการเดินธุดงค์ธรรมชัย หรือ การเดินธุดงค์บนดอกกุหลาบดอกดาวเรือง สุดท้ายโครงการนี้จึงระงับไป เพราะจัดแล้วได้ไม่คุ้มเสีย
ทั้งนี้โครงการบวชพระแสนรูปนั้น เป็นการรวมศูนย์แล้วดึงคนจากส่วนกลางออกไป ให้อยู่ในแนวคิดของวัดพระธรรมกาย ซึ่งปัจจุบันมีพระประจำอยู่ที่วัดหลายพันรูป คนที่เรียนเก่งเปรียญ 8 เปรียญ 9 มารวมอยู่ที่วัดพระธรรมกาย พระเหล่านี้ที่จริงแล้วมาจากท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ ทำให้วัดในหมู่บ้านร้างเหลือพระเพียง 2-3 รูป หรือเหลือแต่เจ้าอาวาสที่ชรากับชาวบ้านที่มาช่วยเฝ้าสถานที่ จากวัดที่เคยมีพระจำนวน 20 รูปก็จะเหลือพระเพียง 3 รูป 5 รูป เมื่อมีกิจนิมนต์ไปงานบุญต่างๆ นั้นแทบจะไม่พอ
มีการตั้งคำถามกันว่า การตักบาตรพระแสนรูปล้านรูปนั้น ไม่เคยมีบัญชีวัดแสดงเลยว่าได้เงินมาเท่าไหร่ จึงเป็นจุดที่แสดงให้เห็นว่าเงินนั้นเก็บไว้ แต่สิ่งของต่างๆ ทั้งเครื่องใช้ของกินที่เหลือเฟือใช้ไม่หมด จึงค่อยส่งไปให้ภาคใต้
ลักษณะนี้ชี้ให้เห็นว่า วัดพระธรรมกาย มีการอุดหนุนให้พระทางภาคใต้จำนวนหนึ่ง นอกจากนั้นยังพยายามทำตัวเป็นกองหน้าของฝ่ายบุกคือ ให้เลือกว่าจะสนับสนุนวัดพระธรรมกายหรือไม่ ถ้าไม่สนับสนุนให้เป็นกองหน้า จะมีอะไรไปรับมือกับมุสลิม เป็นความคิดของการช่วงชิงพื้นที่ ช่วงชิงศาสนา พยายามทำให้เห็นว่า เป็นการทำเพื่อศาสนาพุทธซึ่งกำลังถูกเบียดเบียนโดยศาสนาอิสลาม จึงทำให้มีพระจำนวนหนึ่งที่มีแนวคิดเดียวกับกลุ่มเสื้อแดงเห็นด้วย และมีการดำเนินการในลักษณะที่เป็นพันธมิตรกัน
ขอเป็นกองหน้าแก้ปัญหาภาคใต้
แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว พระผู้ใหญ่ทุกรูปไม่ได้มีความเห็นชอบกับเรื่องนี้ เจ้าคณะภาคบางรูป รวมถึงพระป่าและพระที่มาจากทหาร ก็ไม่อยากให้ธรรมกายเข้ามายุ่ง เพราะคิดว่าทางภาคใต้สามารถแก้ปัญหาได้เอง การอยู่ร่วมกับมุสลิมสามารถจะสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ด้วย 3 แนวทางแนวทางแรก คือ อยู่ร่วมกันแบบเดิม แต่ระยะหลังเมื่อมีคนหัวรุนแรงที่ไปศึกษาศาสนาแล้วกลับมา ทำให้มีปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างพุทธกับมุสลิม
แนวทางที่สอง คือ ให้ทหารมาบวชพระและประจำอยู่ที่วัดๆละ 5 รูป ซึ่งบางรูปตั้งใจบวชจริงๆ แต่บางรูปนั้นด้วยความที่เคยเป็นทหารมาก่อนทำให้อีกฝ่ายไม่วางใจ เกรงจะเป็นการแฝงมาเป็นพระหรือไม่
แนวที่สาม คือ แนวอุดหนุนของธรรมกาย คือขอเป็นกองหน้าแก้ปัญหาให้ชาวพุทธอยู่แบบสงบสันติ ส่วนนี้จึงถือว่าการจัดตั้งของวัดธรรมกายดี มีการจัดการดี เงินถึง และหากว่าได้เป็นกองหน้าของฝ่ายพุทธก็จะทำให้มีน้ำหนัก ในการเรียกความชอบธรรมที่จะทำงาน
พระอาจารย์ดุษฎี กล่าวอีกว่า ฝ่ายที่วิเคราะห์มองว่า ยุทธศาสตร์แบบนี้ไม่มีทางที่จะรับมือกับปัญหามุสลิมทางภาคใต้ได้ เพราะยิ่งปล่อยไว้นานมากเท่าไหร่จะยิ่งสร้างความยิ่งใหญ่ให้วัดธรรมกายมากขึ้น ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาทางภาคใต้โดยตรง ไม่ได้แก้ปัญหาการอยู่ร่วมกัน รวมทั้งไม่ได้เป็นการทำนุบำรุงศาสนาให้มีความแข็งแรงจริง แต่กลับกลายเป็นข้ออ้างที่จะทำให้วัดธรรมกายมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
โดยระยะหลังจะใช้นโยบายขยายเครือข่ายในลักษณะไม่สร้างวัดเอง เพราะช้าและต้องใช้ทุนมาก แต่จะใช้วิธีการจัดกิจกรรมตามสถานีวิทยุ หรือจัดทำบุญอุบาสกอุบาสิกา บวชเณรภาคฤดูร้อน เช่น ตัวอย่างที่เคยพบคือ เมื่อมีโครงการแล้วจะเข้าไปคุยกับเจ้าอาวาสแล้วถวายให้เจ้าอาวาสเดือนละ 5,000 บาท และขอเช่าศาลา ค่าน้ำไฟอีกเดือนละ 5,000 บาท เพราะโดยปกติศาลาไม่มีการใช้อยู่แล้วเพราะพระเหลือไม่มาก และจะส่งพระหรืออาสาสมัคร ซึ่งเป็นคนที่วัดธรรมกายฝึกอบรมไว้สำหรับงานนี้ไปประจำที่วัด
เพราะฉะนั้นจึงมีพระ 2 ประเภทอยู่ในวัดเดียวกัน คือ พระท้องถิ่นที่มีความรู้น้อยเป็นลูกชาวบ้านในแถบนั้น และอีกกลุ่ม คือ พระที่เรียนจบมหาวิทยาลัย หรือเป็นอาสาสมัครที่อุทิศตัวให้วัดธรรมกาย ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปจะกระทบไปถึงกรรมการวัด ที่มีการแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายด้วย คือ ฝ่ายที่นิยมธรรมกาย ก็จะมีการจัดกิจกรรมมีเงินเข้าวัดมากขึ้น อีกฝ่ายคือ มองว่าวัดนั้นชุมชนท้องถิ่นช่วยกันสร้างขึ้นมา แต่วันนี้ธรรมกายเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจทุกเรื่อง จึงทำให้กรรมการยิ่งเกิดการแตกแยก
ด้วยเหตุผลนี้ จึงทำให้บางวัดไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากธรรมกาย เพราะเป็นการแทรกแซงโดยนำเงินมาช่วยเหลือแต่ต้องยึดแนวทางตามวัดพระธรรมกาย เช่นเสนอว่าวัดไหนมีงานบุญ สามารถประชาสัมพันธ์ผ่านวิทยุธรรมกายได้ ลักษณะเหมือนเอื้อเฟื้อ แต่อันที่จริงแล้วพระท่านมองว่าควรเป็นสถานีวิทยุของวัดมากกว่าจะเป็นสถานีของธรรมกาย
เลือกปั้นพระเกรดAยึดศูนย์ธุดงคสถาน
ในขณะที่พระบางรูปก็นิยมธรรมกาย เป็นเพราะได้เงินเดือนและได้จัดกิจกรรมตามสะดวก ซึ่งพระในท้องถิ่นมองว่า วัดพระธรรมกายจะเข้ามาในวัดที่มีความพร้อม มีญาติโยมเยอะ แต่วัดที่มีปัญหาจริง ยากจนจริงนั้น ไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือ เลือกเฉพาะวัดที่มีโอกาส เพราะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
“วัดพระธรรมกายเติบโตเหมือนมะเร็ง โตขึ้นจริง ใหญ่กว่าวัดทั่วไปถึง 10 เท่า แต่วัดอื่นๆเล็กลงไปทุกวัน และการบวชที่ประกาศว่าไม่เสียค่าใช้จ่ายนั้น อันที่จริงไปเรี่ยไรญาติโยมมา เพราะการบวชนั้นสุดท้ายก็มีโยมอุปปัฎฐาก ซึ่ง รูปหนึ่ง 4 -5 พันบาท และส่วนใหญ่ก็เป็นญาติของพระเอง เช่น พ่อแม่ เพราะฉะนั้นการที่ทำอย่างนี้บ่อยๆ และการบวชแสนรูปนั้นไม่ใช่ทำในทีเดียว แต่บวชครั้งละ 5,000 รูปจนถึง 10,000 รูป สะสมจำนวนไปเรื่อยๆ
ในที่สุด 1 แสนรูปจะมีการคัดเลือกเฉพาะพระที่หน่วยก้านดี มีความรู้ดี ใช้เป็นทีมงาน นำมาทำประโยชน์ได้ สุดท้ายน่าจะเหลือประมาณ 1-2 หมื่นรูป ที่มาทำกิจกรรมเดินธุดงค์ ในส่วนที่ไม่มีความรู้ มีประวัติด่างพร้อยมาก่อน พัฒนาได้ยาก ก็จะส่งกลับท้องถิ่นเมื่อครบกำหนด 1 เดือน การส่งกลับทำให้ไม่มีผู้ดูแล ปกครองไม่ได้ เพราะพระอุปัชฌาย์อยู่ในกรุงเทพฯ รวมทั้งพระไม่มีโอกาสพัฒนาต่อ ในขณะที่พระที่มีความรู้ดี จบมหาวิทยาลัย ก็จะมีการส่งเสริมต่อให้เรียนอีกปี สองปี แล้วส่งไปประจำศูนย์ธุดงคสถาน จังหวัดละ 5-10 รูป ซึ่งมีโรงเรียนต่างๆ เอานักเรียนมาอบรมกับธรรมกาย ที่แฝงชื่อ “ธุดงคสถาน”
การบวชแสนรูปนั้นได้ประโยชน์ คือการดึงทรัพยากรบุคคลและเงินมารวมศูนย์ไว้เพื่อทำหลักสูตรล้างสมองพระที่มาฝึกอบรมเพื่อมาทำงานให้ หลังจากนั้นก็ส่งพระของตนเองไปในจังหวัดต่างๆ ที่ธรรมกายมีสถานที่อยู่ เพื่อจะทำกิจกรรมอบรมนักเรียน และรวมญาติโยมในจังหวัดนั้น เหมือนการไปยึดครองอีกแบบหนึ่ง การต้องการมีอำนาจปกครองนั้น เพราะกฎหมายคณะสงฆ์ไทย เจ้าอาวาสเป็นผู้มีถิ่นฐานที่วัด ดังนั้นมูลนิธิ อาคาร ที่ดินของวัด ถ้าเจ้าอาวาสองค์ใหม่ขึ้นมา บัญชีวัดก็เหมือนจะโอนไปที่เจ้าอาวาสทั้งสิ้น รวมทั้งมีอำนาจตั้งไวยาวัจกรใหม่ กรรมการชุดใหม่ได้โดยปริยาย จะใช้วิธีการส่งพระเลขาฯไปประจำวัดที่เจ้าอาวาสชรา หรืออาพาธ พระเลขาฯจึงมีโอกาสขึ้นเป็นเจ้าอาวาสได้ในเร็ววัน ได้ทรัพย์สินของวัดโดยอัตโนมัติ ปัญหานี้คณะสงฆ์ยังมองไม่เห็นอันตรายจากการนี้
ชูนโยบายยึดวัดร้างขยายอิทธิพลธัมมชโย
วัดในเมืองไทยมี 2 ประเภท คือ ในอดีตเป็นวัดมาก่อนแต่ปัจจุบันไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ จึงมีสถานะเป็นวัดร้าง และที่ดินยังเป็นทรัพย์สมบัติส่วนกลางอยู่ โดยมีสำนักพุทธฯ เป็นผู้ดูแล อีกประเภท คือ สร้างขึ้นใหม่ เป็นสำนักสงฆ์เป็นที่ปฏิบัติธรรมและที่พักสงฆ์ ซึ่งก่อนจะยกระดับตั้งขึ้นมาเป็นวัดใหม่นั้น ต้องผูกพัทธสีมาและสร้างโบสถ์
ส่วนกรณีที่เป็นสำนักสงฆ์ตั้งใหม่นั้น ธรรมกายจะไม่เข้าไป จะเข้าไปกรณีที่เป็นวัดร้าง เพราะหากว่ามีพระเข้าไปอยู่จำพรรษาครบ 5 รูป จะสามารถขอยกขึ้นเป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษาได้ เพราะฉะนั้นวัดไหนที่เป็นวัดร้างแต่มีทำเลดี เป็นเกาะล้อมรอบด้วยป่าไม้ ธรรมกายจะส่งพระเข้าไปเป็นทีม ทีมละ 5 รูป ซึ่งมีทั้งพระนักเทศน์ พระนักบริหาร พระที่มีความเก่งด้านงานก่อสร้าง จึงสามารถสร้างและบูรณะวัดขึ้นมาใหม่ได้ และยิ่งถ้ามีเงินหนุนอีกเป็นหมื่นๆ ล้าน ยิ่งสามารถนำมาช่วยได้วัดละ 1-2 ล้าน โดยไม่ต้องเรี่ยไรญาติโยม
ด้วยความพร้อมนี้จึงชี้ให้เห็นว่า ธรรมกายสร้างวัดสาขาใหม่ๆ ขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว โดยอาศัยพระผู้ใหญ่ที่เป็นคนของธรรมกาย เช่นเจ้าคณะจังหวัด นำคนที่ตนเองเห็นชอบมาเป็นเจ้าอาวาส เป็นนโยบายยึดวัดร้าง ผ่านเจ้าคณะจังหวัด และจากนั้นวัดร้างที่บูรณะขึ้นมาก็มีเจ้าอาวาสเป็นคนของธรรมกาย
ซึ่งเรื่องที่เป็นอันตรายอยู่ตรงนี้ “อีกไม่เกิน 20 ปีธรรมกายจะยึดคณะสงฆ์เกินครึ่งได้ ในระดับผู้บริหารสามารถเรียกคะแนนเสียงได้แล้ว แต่ระดับท้องถิ่นชุมชนต้องทำงานอีกสักระยะ”
นอกจากนี้ ธรรมกายยังมีโครงการอบรมนักเรียนในช่วงฤดูร้อน ไม่ได้บวชครั้งละ 50 คน แต่นำร่องบวชโรงเรียนละ 5 คน 10 คน โดยคัดเด็กหัวกะทิเข้ามาก่อน พร้อมสร้างสายสัมพันธ์กับโรงเรียนต่างๆ แล้วจัดกิจกรรมให้เด็กมาที่วัดพระธรรมกาย ทำให้รู้สึกว่าบวชอยู่วัดนี้ได้ทั้งเพื่อนและได้เที่ยวกรุงเทพฯ ด้วย เมื่อกลับไปก็กลายเป็นเครือข่ายให้ธรรมกาย
ในอนาคตเมื่อมีความพร้อม ถ้าต้องการขยายจากการบวชเณร 100 รูป เพียงโรงเรียนละ 5 รูป 20 โรงเรียนก็ทำได้ และหากจะบวช 1,000 รูป ก็สามารถเดินหน้าได้ทันที โดยขยายจาก 20 โรงเรียนที่เป็นฐานในการบวชเณร เป็นโรงเรียนละ 50 รูป ทำให้ไปถึงเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีการวางกลไกไว้หมดแล้ว
ที่มีการกล่าวว่าถ้าดีเอสไอไปจับพระธัมมชโย พระทางใต้พร้อมจะขึ้นมาทันทีนั้น ก็อาจมีบางส่วนขึ้นมาเช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่พุทธมณฑล แต่อันที่จริงแล้ว พระทั้งหมดไม่ได้สวามิภักดิ์ธรรมกาย จะมีแต่พระบางรูปที่เป็นคนเสื้อแดง และในบางส่วนคือกลุ่มที่ได้เงินสนับสนุนจากธรรมกาย ซึ่งพระสองกลุ่มนี้มีความฝักไฝ่ทางการเมืองเหมือนกัน คิดว่าธรรมกายเป็นที่พึ่งได้ในอนาคตหากมีการปฏิรูปศาสนา และนอกจากนั้นยังได้ผลประโยชน์อีกด้วย
พระอาจารย์ดุษฎี ยืนยันว่า พระส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 ไม่เห็นด้วย และไม่ได้เดือดร้อนจากเหตุการณ์จับกุมพระธัมมชโย ท่านมีหน้าที่ของพระ สวดมนต์ปฏิบัติธรรมกับชาวบ้าน และไม่ได้พึ่งเงินจากธรรมกาย
ขณะเดียวกันก็มีพระที่พึ่งพาเงินจากธรรมกาย ซึ่งระบุชัดเจนได้เลยว่า ที่มาช่วยธรรมกายนั้น ได้เงินเดือนจากธรรมกาย การระดมญาติโยมมาแต่ละครั้ง เจ้าอาวาสได้อย่างน้อย 5,000 - 10 ,000 พาเณรมาได้ 500 บาท ถ้าพามา 20 รูปได้หนึ่งหมื่นบาท ใช้รถกระบะ 2-3 คันนั่งมาเองได้เงิน 1 หมื่นบาทเป็นค่าหัว ซึ่งเป็นเฉพาะค่าน้ำมันอย่างเดียว ไม่รวมค่าเลี้ยงดูที่เป็นภัตตาหาร ถวายย่าม ซึ่งมีให้แยกออกมาอีก สำหรับพระทั่วไปได้ 3,000 บาท บางรูปก็มาเพราะอยากได้ ในขณะที่บางรูปมาเพราะรู้สึกว่าได้รับการยกย่องเป็นคนสำคัญ และเป็นช่องทางหนึ่งที่มีผลประโยชน์บางอย่างที่เชื่อมโยงกันอยู่ แต่ส่วนใหญ่ไม่มาเพราะท่านมองเห็นว่าไม่มีความจำเป็น และไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงิน
ที่ผ่านมามา ในเดือนเมษายนทุกปี มีการเกณฑ์พระไปร่วมงานวันเกิดพระธัมมชโย ซึ่งหากมีจัดประชุมพระตรงกับวันนี้ พระบางรูปจะไม่มาเลย เป็นที่รู้กันว่าต้องเลี่ยงวันนี้
ดังนั้นการที่พระรูปไหนประกาศตัวเชิดชูธรรมกายยิ่งมากเท่าไร ยิ่งต้องดูเบื้องหลัง ว่าลึกๆนั้นมีสายสัมพันธ์กันในเรื่องการตอบแทน หรือไม่ มีเงินเดือน มีค่าเดินทาง ต้องถามกันตรงๆ ซึ่งส่วนนี้ไม่ใช่พระปลอม เป็นพระจริงที่คิดแบบธรรมกาย และมีความเชื่อว่าจะเป็นหัวหอกทางศาสนาที่แก้ปัญหาความขัดแย้งกับมุสลิมในภาคใต้ได้ ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่สามารถแก้ได้ดีกว่า คนในพื้นที่