xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ชี้อันตรายจากความ “กลัวแดด” ก่อโรครุมเร้า หวั่น “แสงสีฟ้า” บนจอทำสมองเพี้ยน!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


        สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ระบุแสงแดดมีทั้งคุณและโทษ แต่สามารถป้องกันได้ พบคนไทยกลัวดำ กลัวริ้วรอย หลบเลี่ยงแสงแดดจนขาดวิตามินดี เป็นอันตรายก่อโรคกระดูกพรุน กระดูกหัก และป้องกันโรคมะเร็ง ภูมิแพ้ หัวใจ แนะวิธีเลือกครีมป้องกันแดด การปกป้องแบบธรรมชาติ ชี้งานวิจัยต่างประเทศพบแสงสีฟ้าจากคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ตัวทำลายให้หน้าย่น ริ้วรอย เกิดไว และมีสิทธิ์ทำให้สมองเพี้ยน รวมทั้งโรคยอดฮิต “ซีวีเอส” ได้ง่ายๆ

         ความร้อนจากแสงแดด ผนวกกับคลื่นความร้อนที่เกิดจากการสะสมความร้อน นับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้น เห็นได้จากเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2559 ประเทศไทยมีสภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัดทั่วไปเกือบตลอดเดือน ส่งผลให้อุณหภูมิสูงสุดทำลายสถิติเดิมหลายพื้นที่ ซึ่งในเดือนเมษายนปีนี้ วัดได้ 44.6 องศาเซลเซียสเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 และเป็นการทุบสถิติความร้อนในรอบ 66 ปี (ตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลในปี พ.ศ. 2494)
       ความร้อนที่รุนแรง และแดดจัดๆ ในแต่ละวัน ทำให้วิถีชีวิตคนเปลี่ยนแปลงไปมาก จากความกลัวแดด กลัวความดำ กลัวผิวหมองคล้ำ คนจึงเลือกที่จะอยู่แต่ในบ้าน หรือ ไปทำงาน ก็เลือกที่จะถูกแดดให้น้อยที่สุด ทั้งที่ความจริง แสงแดดเปรียบเสมือนดาบสองคม ซึ่งมีทั้งให้คุณและโทษ เราอาจใช้แสงแดดในการให้ความร้อน ในการดำรงชีวิต เสริมการประกอบอาชีพ ในขณะที่อีกหนึ่งคุณประโยชน์ที่จะได้รับจากแสดงแดด คือ แดดช่วยสร้างวิตามินดี ซึ่งถ้าเราได้รับแดดสด (การรับแสงโดยตรงโดยไม่ผ่านกระจก) วันละประมาณ 10-15 นาที ร่างกายจะสามารถสร้างวิตามินดีที่จําเป็นต่อกระดูก ซึ่งเป็นวิธีธรรมชาติและเป็นประโยชน์กับร่างกายโดยตรง
      แต่ในทางการแพทย์กลับพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ขาดวิตามินดี ทั้งที่อยู่ในประเทศโซนร้อน และเลือกที่จะซื้อวิตามินดีมาบริโภคทดแทน ทั้งที่ความจริงวิตามินดีที่ได้จากแสงแดดมีคุณประโยชน์สูงและป้องกันสารพัดโรค
      ที่สำคัญสุดเราอาจไม่รู้ว่า ไม่ใช่แค่แสงแดดเท่านั้นที่ทำลายใบหน้าให้หมองคล้ำ เหี่ยวย่น แต่ในความเป็นจริงภัยจากแสงสีฟ้า จากหน้าจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน ที่เรานั่งแชต และบางคนกลางคืนยังทั้งนั่งและนอนแชต ขณะที่แสงสว่างในห้องไม่เอื้ออำนวยด้วย ไม่ได้ทำร้ายแค่สายตาเท่านั้น แต่กลับเป็นตัวทำลายใบหน้าให้หมองคล้ำและเหี่ยวย่นขึ้นไปอีก

     ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องรู้วิธีและปรับเปลี่ยนความคิดจากการกลัว และหลีกเลี่ยงแสงแดด รวมไปถึงอันตรายจากแสงสีฟ้า มาเป็นการหาวิธีการป้องกัน การเสริมสร้างวิตามินดีแบบไม่ต้องเสียสตางค์ แถมป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้นเมื่อเรามีอายุมากขึ้น รวมไปถึงการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดแบบถูกวิธี และคุ้มค่าที่สุดมาใช้
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประวิตร อัศวานนท์ ประธานประชาสัมพันธ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย
      ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประวิตร อัศวานนท์ ประธานประชาสัมพันธ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า   แสงแดดมีทั้งคุณและโทษ ในขณะที่เรื่องแดด กับเรื่องร้อน ต้องแยกกัน  สิ่งที่ทุกคนกลัวจากแสงแดด คือ รังสี UV ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอะไรหลายๆ อย่างกับสภาพผิว เช่น ริ้วรอย ฝ้า กระ หรือความหมองคล้ำ

      โดยในแสงแดดประกอบด้วย รังสีที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น มีชื่อเรียกว่ารังสีอัลตราไวโอเลต (ultraviolet) หรือรังสียูวี (UV) แบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ รังสียูวีเอ (UVA) รังสียูวีบี (UVB) และรังสียูวีซี (UVC) ซึ่งรังสียูวีเอ สามารถทะลุไปถึงชั้นผิวหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ได้   แม้ว่าอาการที่เกิดขึ้นกับผิวหนังเมื่อสัมผัสกับรังสียูวีเอ จะไม่เห็นผลชัดเจน แต่ถ้าได้รับรังสียูวีเอนานๆ รังสีนี้ก็จะทำลายอนุมูลอิสระในผิวหนัง ทำลายความยืดหยุ่นของเซลล์ ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่น เกิดริ้วรอยและทำให้สีผิวคล้ำเข้ม   ขณะที่รังสียูวีบี แม้จะไม่สามารถทะลุชั้นผิวหนังที่ลึกได้เท่ากับรังสียูวีเอ แต่ก็มีผลทำให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้น เกิดอาการแสบร้อนและถ้าได้รับนานๆ ผิวหนังจะไหม้แดง 
          ส่วนรังสียูวีซี จะไม่สามารถผ่านชั้นบรรยากาศโลก และไม่ค่อยมีผลกระทบต่อมนุษย์เท่ายูวีเอและยูวีบี ซึ่งทั้งรังสียูวีเอและยูวีบี ก็ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นและก่อโรคมะเร็งผิวหนังได้ใกล้เคียงกันทั้ง 2 ชนิด

         “UVA ที่เป็นตัวการสำคัญสร้างริ้วรอย ทำให้ผิวดำ ผิวคล้ำ หรือ ความเหี่ยวย่น เป็นปัญหาหลักของการกลัวแดดของคนไทย ซึ่งแตกต่างกับต่างประเทศ ด้วยความเป็นคนพื้นผิวขาว และนิยมอาบแดดเพื่อให้ผิวคล้ำ ซึ่งนอกจากรังสี UVA แล้ว ยังได้รับรังสี UVB เมื่อได้รับแสงแดดนานๆ จะมีผลทำให้ผิวหนังไหม้แดง เพราะถ้าโดนรังสีนี้มากๆ อาจทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้ ซึ่งคนตะวันตก มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งผิวหนังมากกว่าคนไทย”

        อย่างไรก็ดีคนไทยจะไม่ปรากฏเป็นปัญหาในเรื่องรอยไหม้แดงจากแสงแดด เนื่องจากคนไทยไม่นิยมตากแดดจนผิวไหม้แดง แต่สิ่งที่ค รอย ฝ้า และใบหน้าที่หมองคล้ำ และสิ่งสำคัญแสงแดดสามารถทำร้ายผิวของเราได้ทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นแดดอ่อนหรือแดดจัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและความเข้มของรังสียูวีในแสงแดด

แสงแดดผสมแสงสีฟ้า ยิ่งดับเบิลทำร้ายผิว

         ขณะเดียวกัน อาจารย์หมอประวิตร ย้ำว่า แม้แสงยูวีของดวงอาทิตย์ จะเป็นตัวหลักทำให้เกิดความร้อน และทุกคนมักจะกลัวแสงแดด และหาวิธีการหลบแดด โดยคำนึงว่าความเหี่ยวย่น หรือ ผิวหมองคล้ำ มาจากแสงแดดเป็นหลัก แต่จากกฎธรรมชาติเราจะเห็นว่าแสงแดดในแต่ละวันมีช่วงเวลา คือ มีแสงช่วงเช้า และหมดแสงช่วงเย็น เรามักหลบแดดธรรมชาติได้ โดยไม่ได้คำนึงว่า ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นตัวเสริมก่อให้ผิวเกิดริ้วรอย หรือ หมองคล้ำได้เช่นกัน เรียกว่าไม่ต้องออกไปเจอแดด แต่รอยหมองคล้ำ รอยย่น ก็มาถามหา นั่นคือ แสงสีฟ้า แสงที่ออกมาจากอุปกรณ์ไอทีต่างๆไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต จอทีวี หรือ มือถือ ซึ่งทวีความน่ากลัวมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน เรามีวิถีชีวิตอยู่หน้าจอเหล่านี้มากขึ้น เรียกว่าตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน ชีวิตอยู่กับหน้าจอ อุปกรณ์ไอทีต่างๆ ซึ่งแสงสีฟ้าที่ออกจากหน้าจออุปกรณ์เหล่านี้ เป็นสาเหตุสำคัญและยิ่งทำให้เราเกิดฝ้า กระ และความเหี่ยวย่นได้

         “เรื่องแสงสีฟ้าหมอมีงานวิจัยจากต่างประเทศยืนยันได้ว่า แสงสีฟ้าที่ออกจากหน้าจอ ก่อให้เกิดริ้วรอย และความคล้ำบนผิวหนังได้ ซึ่งแสงยูวีจะเป็นตัวการสำคัญที่สร้างความเหี่ยวย่น หมองคล้ำ แต่ถ้าเรายิ่งไปรับแสงจากจออุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มขึ้น ก็จะเป็นแรงหนุนดับเบิลทำให้เกิดริ้วรอย หรือความหมองคล้ำ กับผิวหนังเพิ่มขึ้นด้วย”

           ขณะที่แสงแดด เราอาจใช้ครีม หรือ ตัวช่วยอื่นๆ ในการป้องกันถ้าเรารู้จักวิธี แต่แสงจากจออุปกรณ์ต่างๆ คงไม่มีครีมหรือตัวช่วยใดๆ กันแสงได้ ยกเว้นการเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ให้น้อยลง และมีความเหมาะสม
แสงสีฟ้าส่งผลให้สมองเพี้ยนได้

       ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประวิตร ย้ำว่า แสงสีฟ้าจากอุปกรณ์ไอทีต่างๆ นอกจากจะก่อผลร้ายกับผิวหนัง แล้ว สิ่งที่อันตรายไปกว่านั้นคือ แสงที่เข้าตามากๆ จะมีผลต่อการสั่งการเกี่ยวกับกลางวันกลางคืนของสมองเพี้ยนไป เช่น หลายคนรู้สึกนอนไม่เต็มอิ่ม นอนไม่สนิท ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการอยู่หน้าจอมากไป นานเกินไป จนทำให้รอบการนอน หรือความลึกของการนอนของคนเปลี่ยนไป ขณะที่ผลกระทบจากแสงจออุปกรณ์เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อระบบสมองหรือไม่นั้น คงต้องติดตามผลเป็นระยะเวลานานๆ

        อีกหนึ่งความเสี่ยงสำหรับผู้ที่อยู่หน้าจอคอมพ์นานๆ คือการเสี่ยงเป็นโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (computer vision syndrome) หรือ โรคซีวีเอส คนที่ทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เกิน 2 ถึง 3 ชั่วโมง จะมีอาการตาเมื่อยล้า ตาแห้ง แสบตา ตาพร่า ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยบ่า ไหล่ คอ หรือปวดหลัง อาการเหล่านี้พบได้ถึงร้อยละ 75 ของบุคคลที่ใช้คอมพิวเตอร์โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ถ้ารู้สึกตัวว่าจ้องหน้าจอนานเกินไป ให้กะพริบตาบ่อยขึ้น หรือพักสายตาโดยการละสายตาจากคอมพิวเตอร์หลังจากใช้ไปประมาณ 20 นาที
วิตามินดีสร้างได้ ไม่เสียสตางค์ ซื้อกินก็ไม่คุ้มค่า

          ขณะเดียวกันแสงแดดก็มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก เนื่องจากสามารถทำให้ร่างกายสร้างวิตามินดีได้ตาม ธรรมชาติ ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประวิตร บอกว่า เราควรโดนแสงแดดบ้าง อย่าไปกลัว เนื่องจากวิตามินดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งถ้าเรามีวิตามินดีเพียงพอ จะสามารถป้องกันโรคกระดูกพรุน กระดูกหัก เป็นตัวหลักได้ นอกจากนี้ คุณประโยชน์ของวิตามินดียังเกี่ยวข้องและมีแนวโน้มป้องกันหลายๆ โรคได้ อาทิ โรคติดเชื้อ โรคภูมิคุ้มกัน โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งอาจมีปัญหาเรื่องโรคกระดูกพรุน จึงควรออกไปรับแสงแดด เช่น การออกกำลังกายช่วงเช้าๆ หรือออกไปเดินเพื่อให้ร่างกายโดนแดดบ้าง ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างวิตามินดีให้กับตัวเองโดยวิธีธรรมชาติ
        และด้วยนิสัยคนไทยชอบหลบแดด กลัวแดด ทำให้มีปัญหาขาดวิตามินดีกันมาก ทั้งนี้ การขอเจาะเลือดจากโรงพยาบาล จะทำให้เรารู้ว่า เราขาดวิตามินดีหรือไม่ ซึ่งถ้าเราขาด เราก็สามารถสร้างวิตามินตัวนี้ได้ด้วยวิธีง่ายๆ และเพียงลงทุนให้ร่างกายได้โดนแดดสดๆ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และที่สำคัญ ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งนอกจากการโดนแดดแล้ว เรายังสามารถเสริมวิตามินดีได้จากอาหารบางจำพวก อาทิ ปลาแซลมอน ผักกลุ่มใบเขียว นมที่เติมวิตามินดี เป็นต้น
       ส่วนการกินอาหารในรูปอาหารเสริมวิตามินดี นายแพทย์ประวิตร ให้มุมมองว่า การกินอาหารตามธรรมชาติ น่าจะดีกว่าการพึ่งอาหารเสริมวิตามินดี เนื่องจากน่าจะเห็นผล ตรวจสอบได้ และมีที่มาที่ไปอย่างชัดเจน ที่สำคัญคือไม่แพง
วิธีเลือกครีมกันแดด เหมาะและคุ้มค่าที่สุด

         สิ่งที่ทุกคนกลัวจากแสงแดด คือ ว เช่น ริ้วรอย ฝ้า ทั้งนี้วิธีป้องกันวิธีหนึ่ง คือ การใช้สารกันแดด หรือ ครีม กันแดด เพื่อที่จะชะลอไม่ให้เกิดริ้วรอยต่างๆ ขณะที่ความกังวลคนไทยส่วนใหญ่ จะกลัวริ้วรอย กลัวฝ้า มากกว่า ดังนั้น เราควรเลือกครีมกันแดด หรือ สารกันแดด ที่มีสารป้องกันทั้ง UVA ควบคู่กับ UVB ทั้งนี้ ให้ดูค่า SPF ตัวเลขที่มาก ก็จะป้องกันแสงแดดได้มาก การเลือกครีมกันแดด บ้านเราจะขึ้นกับวิถีชีวิต หรือ ไลฟ์สไตล์ คนที่อยู่กลางแดดมากๆ นานๆ ควรจะใช้ SPF สูงเช่น เกิน 30 หรือ 50 ขึ้นไป

          แต่ถ้าเป็นคนที่ตื่นแต่เช้า ทำงานแต่เช้า ไม่ค่อยได้เจอแดด ใช้ SPF 15-30 ก็เพียงพอ ขณะที่กรณีคนอยู่ในห้องแอร์ หรือ โดนแดดน้อย การใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูง ก็เป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ และการเลือกใช้ครีมกันแดด ควรเลือกใช้ SPF ตามไลฟ์สไตล์และวิถีชีวิต ถ้าทำงานในออฟฟิศ อยู่ใกล้แดดส่องมา จะได้รับ UVA ซึ่งจะทำให้เกิดริ้วรอย ความคล้ำ ขณะที่กระจกจะค่อนข้างกัน UVB สารที่ทำให้ไหม้แดงได้เกือบ 100%
         “การเลือกใช้ครีมจึงขึ้นอยู่กับวิถีชีวิต หรือ ไลฟ์สไตล์ ถึงจะได้ผลมากที่สุด นั่นคือ คนไทยควรเน้นครีมที่ป้องกัน UVA มากกว่าเน้น UVB คือ เน้นที่ป้องกันรอยเหี่ยว ริ้วรอยหมองคล้ำ กระฝ้า มากกว่ารอยไหม้แดง”

           ในการเลือกซื้อครีมกันแดดมาใช้นั้น แบรนด์ใหญ่ก็ดูมีมาตรฐานและมีความน่าเชื่อถือ แต่ความจริงสิ่งที่ต้องคำนึงคือ ต้องมี “เครื่องหมาย อย.” อาจช่วยป้องกันความเสี่ยงได้ เพราะครีมกันแดด ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ใหญ่หรือแบรนด์ SME หรือผลิตภัณฑ์ที่บรรยายสรรพคุณ SPF หรือค่าสารกันแดดสูงๆ เพื่อโปรโมตสินค้านั้น เราไม่สามารถไปตรวจเช็กได้ว่าสินค้ายี่ห้อนั้นๆ มีค่า SPF ตามระบุหรือไม่

        ดังนั้น สิ่งที่ควรระวังในการเลือกซื้อ ก็คือ การคำนึงและพิจารณาถึงองค์ประกอบหลายๆ อย่างให้รอบคอบ  กรณีครีมบางตัว หรือ บางยี่ห้อ อาจมีสารปนเปื้อน เช่น สารปรอท สารสเตียรอยด์ ซึ่งตรงนี้ก็มีการพบกันอยู่เรื่อยๆ ที่อวดอ้างสรรพคุณ เช่น ใช้แล้วหน้าขาว เห็นผลเร็ว ซึ่งตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่น่ากลัวว่าใส่สารอะไร เข้าไป และอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ และการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อะไร ให้ดูที่มาที่ไป ดูแหล่งผลิต ดูแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ หรือพอมีมาตรฐานที่ยอมรับได้เป็นสิ่งสำคัญ

         “เปรียบเสมือนกับว่า เราควรรู้หัวนอนปลายเท้า ให้รู้ที่มาที่ไปเพื่อลดความเสี่ยง และป้องกันอันตรายได้บ้าง”   ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประวิตร ยืนยันว่า สินค้าบางตัวมีการโฆษณาว่าได้รับรางวัล แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า คุณภาพจะได้มาตรฐาน หรือ ใช้ได้ผลดี ซึ่งการได้รับรางวัลอาจไม่ได้หมายถึงคุณภาพผลิตภัณฑ์ แต่อาจได้รางวัลจากสถานประกอบการ หรือการจัดการต่างๆ เป็นต้น
   
           ขณะที่ครีมกันแดด ถือได้ว่าเป็นหนึ่งทางเลือกในการปกป้องผิวจากแสงแดด ขณะเดียวกัน คุณหมอบอกว่า อย่าหวังพึ่งพิงครีมกันแดดอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายวิธี เช่น การเตรียมอุปกรณ์กันแดด ถ้าต้องออกไปเจอแดดนานๆ อาทิ หมวก แว่นกันแดด เสื้อคลุม หรือ ร่ม ซึ่งอุปกรณ์พวกนี้ถือเป็นการกันแดดที่ไม่มีผลบกระทบหรือ มีโทษแต่อย่างใด ยกตัวเอย่างเช่น ชาวนาที่สวมหมวก ปิดหน้า ใส่เสื้อผ้าโปร่ง ทำงานกลางแจ้ง กลางแดด ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่เข้าใจในการหาวิธีกันแดดเมื่อต้องทำงานกลางแจ้งได้ดีเช่นกัน

           นอกจากเราจะทาครีมที่หน้าแล้ว บริเวณคอ แขน หรือมือ ก็สำคัญ ซึ่งปกติคนจะละเลยกันมาก ควรจะทา หรือใช้สเปรย์ฉีดกันแดดไว้ด้วย

          ดังนั้นท่ามกลางแสงแดดที่นับวันจะรุนแรงขึ้นจึงไม่ใช่ปัญหาและอุปสรรคอีกต่อไป ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกรับแสงแดดเพื่อให้เกิดคุณประโยชน์ให้มากที่สุดอย่างไร และเลือกวิธีป้องกันไม่ให้แสงแดดและแสงสีฟ้ามาทำอันตรายเราได้

กำลังโหลดความคิดเห็น