โดย...พญ.ณัชชา หริญรักษ์ แพทย์ด้านเวชศาสตร์ป้องกัน ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ เครือ รพ.บำรุงราษฎร์
โรคกระดูกพรุน เป็นโรคที่เกิดจากการสลายของกระดูกที่สะสมเป็นเวลานาน ซึ่งถือเป็น “ภัยเงียบ”ที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา เนื่องจากการวินิจฉัยตรวจพบได้ยากในระยะเริ่มต้น
กระดูกของคนเราจะเติบโตและมีความหนาแน่นจนถึงช่วงวัยกลางคน คนส่วนใหญ่จึงลืมให้ความสนใจดูแล โรคกระดูกพรุนจะตรวจวินิจฉัยพบก็หลังจากที่ผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บจากภาวะกระดูกหัก หรือเกิดปัญหาข้อต่อและหมอนกระดูกสันหลัง
ภาวะกระดูกหักมักเกิดขึ้นบริเวณกระดูกสันหลัง สะโพก และข้อมือ อาจก่อให้เกิดภาวะพิการถาวร และเป็นอัตรายต่อชีวิตได้ รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่นเช่น อาการเจ็บปวดเรื้อรังเวลาเคลื่อนไหวร่างกาย ความพิการผิดรูปของกระดูก (หลังโก่งค่อม) แม้การสูญเสียเนื้อเยื่อกระดูกจะเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดตามอายุขัย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสูญเสียเนื้อเยื่อกระดูกจนเกิดภาวะกระดูกพรุน เพื่อลดความเสี่ยง เราควรจะดูแลรักษากระดูกให้แข็งแรงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม
โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่เกิดขึ้นทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่มักจะเกิดในผู้หญิงตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ความหนาแน่นของกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากช่วงวัยทอง เนื่องจากการลดระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในร่างกายอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ดี ผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน ดังนั้นการดูแลกระดูกให้แข็งแรงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และคาเฟอีนเป็นประจำ หรือผู้ที่ขาดความสมดุลในการบริโภคอาหารและไม่ค่อยได้ออกกำลังกายก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆของร่างกายที่เราต้องดูแล การเติบโตของกระดูกถูกกระตุ้นโดยการออกกำลังกาย ทั้งการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอที่ช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและเพิ่มมวลของกล้ามเนื้อโดยการยกน้ำหนัก นับเป็นอีกทางเลือกที่ดีในการป้องกันภาวะกระดูกพรุน
คนไทยและคนเอเชียมีแนวโน้มและความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนสูง เนื่องจากเรามีกระดูกที่บาง โครงสร้างร่างกายที่เล็ก และมีการบริโภคแคลเซี่ยมในปริมาณต่ำ
การป้องกันภาวะกระดูกพรุน ทำได้ดังนี้
ทั้งหญิงและชายที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปควรตรวจเช็คความหนาแน่นของมวลกระดูกสะโพกและกระดูกสันหลังอย่างสม่ำเสมอ
เราควรบริโภคอาหารที่มีแคลเซี่ยมสูงอย่างเช่น ชีส โยเกิร์ต ผักใบเขียว คอร์นเฟลค ปลาซาร์ดีน งา ปลาตัวเล็กตัวน้อย และนมเสริมวิตามินดี วันละแก้วเป็นประจำ
เลือกบริโภคเนื้อสัตว์ที่อุดมไปด้วยวิตามินดี อย่างเนื้อปลาต่างๆเช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า และปลาแฮร์ริ่ง วิตามินดีนั้นสำคัญต่อร่างกายของเราเพราะช่วยให้เราดูดซึมแคลเซี่ยมได้ดีขึ้น
บริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน เค จำพวกผักต่างๆเช่น ผักโขม ผักจำพวกกะหล่ำ ถั่วเขียว หน่อไม้ฝรั่ง และบรอคโคลี่ เพราะวิตามิน เค ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีในการเพิ่มความแข็งแกร่งของกระดูก
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การยกน้ำหนัก การวิ่งเหยอะๆ เล่นเทนนิส และการเดินนั้นก็เป็นทางเลือกที่ยอดเยี่ยมที่ช่วยเสริมสร้างและคงความแข็งแรงให้กระดูก
การออกไปรับแสงแดดในช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น 10 โมงเช้า เพื่อช่วยให้เราได้รับวิตามินดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
สำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนนั้นมีอยู่หลายทาง ทั้งการใช้ยารักษาร่วมกับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ทั้งการบริโภคอาหารและการออกกำลังกาย การใช้ฮอร์โมนบำบัด ซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องความไม่สมดุลของฮอร์โมนเป็นรายๆไป และควรอยู่ภายใต้การดูและของแพทย์เพื่อประเมินผลได้ผลเสีย และความเสี่ยงเฉพาะบุคคล
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่