กรมแพทย์แนะสะสมเนื้อกระดูกให้มากที่สุดในช่วงวัยรุ่น เหตุมวลกระดูกค่อย ๆ หายไปเมื่ออายุมากขึ้น เสี่ยงโรคกระดูกพรุน แนะกินอาหารแคลเซียมสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ช่วยป้องกันได้
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กระดูกเป็นเนื้อเยื่อพิเศษ มีหน้าที่เป็นโครงสร้างสำหรับเป็นที่เกาะของกล้ามเนื้อและเอ็นยึดต่าง ๆ เป็นเกราะป้องกันการกระทบกระแทกเป็นแกนสำหรับการเคลื่อนไหวที่เกิดจากการดึงหรือหดตัวของกล้ามเนื้อ เป็นแหล่งสังเคราะห์เซลล์เม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ รวมทั้งเป็นคลังของเกลือแร่ที่สำคัญต่อร่างกาย คือ แคลเซียม ที่น่าห่วงคือ โรคกระดูกพรุน คือ ภาวะที่เนื้อเยื่อกระดูกผุกร่อนไปจากปกติโครงกระดูกซึ่งเคยแข็งแกร่งจะเปลี่ยนเป็นโครงที่ผุกร่อนพร้อมจะแตกหักได้ทุกเมื่อ โดยมีสาเหตุมาจากกระบวนการเสริมสร้างกระดูกลดลงและเนื้อเยื่อเสื่อมสลายในช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป
“ตามปกติเพศหญิงจะมีมวลกระดูกน้อยกว่าเพศชาย เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนเพศหญิงจึงมีอัตราการสูญเสียมากกว่าการสร้างกระดูก จึงทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน สำหรับอาการของโรคกระดูกพรุนมักจะไม่แสดงอาการเตือนภัยใด ๆ อาจมีแค่ปวดเมื่อย คนทั่วไปมักไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคกระดูกพรุนจนกว่าเข้าจะรับการรักษากระดูกจากอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยหรือมีอาการปวดหลัง หลังโก่งค่อมหรือโค้งงอ ตัวเตี้ยจากการยุบตัวลงของกระดูกสันหลัง” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
นพ.สุพรรณ กล่าวว่า แนวทางการป้องกันโรคกระดูกพรุน คือ การสะสมเนื้อกระดูกให้มากที่สุดในช่วงวัยรุ่น พยายามรักษาปริมาณเนื้อกระดูกให้คงเดิมมากที่สุดในวัยก่อนหมดประจำเดือน และชะลอการถดถอยของเนื้อกระดูก เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดกระดูกหักในวัยหลังหมดประจำเดือน โดยเฉพาะตำแหน่งที่อาจเกิดขึ้นบ่อย ได้แก่ กระดูกข้อสะโพก กระดูกสันหลัง และกระดูกข้อมือ นอกจากนี้ ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมตามปริมาณที่ร่างกายต้องการ คือ 800 - 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน และควรกินแคลเซียมหลังอาหารเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กระดูกและฟัน เช่น นม เนยแข็ง ผลิตภัณฑ์จากนม ปลาเล็กปลาน้อยพร้อมกระดูก กุ้งแห้ง กุ้งฝอย ถั่วแดง งาดำ อาหารทะเล ผักใบเขียวทุกชนิด ดื่มน้ำที่มีสารฟลูออไรด์ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มสุรา ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควรเพิ่มการดูดซึมสารแคลเซียมโดยการเพิ่มวิตามินดีในรูปของอาหารหรือยา อาหารวิตามินดีสูง ได้แก่ นม น้ำมันตับปลา เนยแข็ง เนย ไข่ และตับ เป็นต้น นอกจากนี้ การได้รับแสงแดดจะสามารถช่วยเพิ่มการสังเคราะห์วิตามินดีทางผิวหนังได้อีกด้วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่