โดย...นิสารัตน์ สงประเสริฐ
นักวิชาการด้านสุขภาพที่ศึกษาวิจัยปัญหาแคดเมียมในลุ่มน้ำแม่ตาว
แคดเมียมเป็นโลหะหนักที่อยู่ในถ่านหิน เมื่อนำถ่านหินมาใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยการเผา แคดเมียมจะกระจายสู่อากาศ และโดนฝนชะลงสู่แหล่งน้ำ เข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจ และกินอาหารที่ปนเปื้อนแคดเมียม
ผลกระทบสุขภาพ การหายใจ จะเกิดโรคเกี่ยวกับหลอดลม และระบบทางเดินหายใจ มะเร็งปอด
กินอาหารที่ปนเปื้อนแคดเมียมจะเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ โรคไตวาย โรคกระดูกพรุน
เหตุการณ์การปนเปื้อนแคดเมียมในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนแคดเมียมในแหล่งน้ำ เนื่องจากต้นน้ำแม่ตาวเป็นที่ตั้งของเหมืองแร่สังกะสี (แคดเมียมอยู่ในแร่สังกะสี) และไหลลงลำน้ำแม่ตาว ซึ่งประชาชนในพื้นที่นำมาใช้ทำนา ปลูกผัก และอุปโภคบริโภค ทำให้แคด เมียมปนเปื้อนสู่เมล็ดข้าว และพืชผัก
ผลกระทบที่ประชาชนได้รับ : พบว่าคนที่กินข้าวที่ปลูกในพื้นที่ปนเปื้อนแคดเมียม มีแคดเมียมในปัสสาวะสูงกว่าคนที่ไม่ได้กินข้าวที่ปลูกในพื้นที่ ทำให้เกิดภาวะไตเสื่อม และเป็นโรคไตในที่สุด เมื่อไตเสื่อม ทำให้ระบบการดูดซึมแคลเซียมของร่างกายผิดปกติ นำไปสู่การเกิดโรคกระดูกพรุน เป็นความเจ็บป่วยเรื้อรังทำให้ร่างกายทรุดโทรม และไม่มียาที่จะรักษา
อีกทั้งผืนดินที่ปนเปื้อนแคดเมียมที่แม่ตาว ทำให้ชาวนาที่แม่ตาวต้องหยุดการทำนาไปในที่สุดเพราะข้าว และผักที่ปนเปื้อนแคดเมียมขายไม่ได้ หรือขายได้แต่ถูกกดราคา อีกทั้งชาวบ้านยังต้องซื้อข้าว และผักที่ปลูกนอกพื้นที่ปนเปื้อนมากินทั้งๆ ที่เดิมเคยพึ่งตนเองได้
สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา นั้น การปนเปื้อนแคดเมียมเป็นอีกโจทย์ที่น่ากังวลปริมาณแคดเมียมนำเข้าจากถ่านหินจากอินโดนีเซียนั้น มีปริมาณสูงสุดตามที่ระบุในรายงานร่าง EHIA คือ 1 mg/kg เมื่อคำนวณจากปริมาณถ่านหินต่อวันที่ใช้ซึ่งเท่ากับ 23 ล้านกิโลกรัม ดังนั้น จะมีแคดเมียมถูกนำเข้าสู่พื้นที่วันละ 23 กิโลกรัม หรือปีละ 8,395 กิโลกรัม หากคำนวณตลอดอายุโรงไฟฟ้าถ่านหิน 40 ปี จะมีการนำเข้าแคดเมียมในพื้นที่ถึง 335,800 กิโลกรัม แน่นอนว่ามวลสารไม่หายไปไหน กลวิธีการกำจัดแคดเมียมออกไม่ให้ปนเปื้อนในบรรยากาศนั้นจัดการได้จริง หรือหรือจัดการได้มากน้อยเพียงใด เป็นคำถามที่สร้างความกังวลอย่างยิ่งต่อหายนะทางสุขภาพที่จะมาสู่คนในชุมชน
ในรายงานร่าง EHIA ยังไม่มีความชัดเจนว่า มวลแคดเมียมที่นำเข้าทั้งหมด เมื่อถ่านหินถูกเผาแล้วแคดเมียมจะปะปนไปในอากาศร้อนที่ระบายสู่ปล่องในสัดส่วนเท่าใด เหลือติดไปกับเถ้าลอยหรือเถ้าหนักจำนวนเท่าใด เถ้าเหล่านั้นหากผังกลบไว้จะสร้างมลพิษสู่ดินสู่น้ำหรือไม่ การบำบัดด้วย ACI หรือการฉีดผงถ่านเข้าไปดูดจับนั้นสามารถดูดซึมแคดเมียมได้มากน้อยเพียงใด การบำบัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ด้วยวิธีให้อากาศร้อนนั้นผ่านน้ำทะเล จะทำให้แคดเมียมปนเปื้อนไปกับน้ำทะเลแค่ไหน ละอองของแคดเมียมสามารถลอยไปได้ไกลเพียงใด รวมทั้งมีการวัดวิเคราะห์ปริมาณแคดเมียมสะสมในคนในสัตว์ทะเล หรือพืชพันธุ์ในพื้นที่หรือไม่อย่างไร คำถามเหล่านี้ล้วนไม่มีคำตอบในร่าง EHIA ฉบับ ค.3 ที่กำลังจะมีการรับฟังความเห็นแต่อย่างใด
โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จะเปลี่ยนอำเภอเทพาที่มีโรงงานอุตสาหกรรมน้อยที่สุดในจังหวัดสงขลา ซึ่งมีธรรมชาติที่ยังใสสะอาดบริสุทธิ์ ให้เป็นพื้นที่ปนเปื้อนขนาดใหญ่ที่สุดแห่งใหม่ของประเทศไทย คนเทพาคงไม่อยากเป็นเหมือนคนแม่ตาว ที่ต้องอยู่กับแคดเมียมอย่างจำใจ