xs
xsm
sm
md
lg

ออมสินพลิกโฉมแบงก์รัฐเทียบชั้นเอกชน ชูนวัตกรรมการเงินใหม่-ผุดศูนย์เตือนภัยศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


'ออมสิน'โชว์แผนพัฒนามุ่งสร้างความแข็งแกร่งให้ธนาคาร พร้อมเดินหน้าสนองนโยบายรัฐบาล 'บิ๊กตู่' ตั้งงบกว่า 2 แสนล้านบาท ปั้นเศรษฐกิจฐานราก ตั้งแต่เริ่มตั้งไข่ก้าวสู่ธุรกิจที่แข่งขันได้ หนุนโครงการสตาร์ทอัพ ตั้งหน่วยงานใหม่สร้างผู้ประกอบการ สนับสนุนสินเชื่อSMEs ขณะเดียวกันเปิด “ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน" เพื่อใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยให้หน่วยงานของภาครัฐ รับรู้ปัญหาและแนวทางป้องกัน ในด้านเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

สถานการณ์การแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ ในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น จะเห็นได้ว่ากับหลายแห่งเริ่มปรับตัวเพื่อรองรับพฤติกรรมวิถีการใช้ชีวิตในโลกดิจิตัลมานานแล้ว เช่นเดียวกัน ธนาคารออมสิน แม้ว่ามีบทบาทเป็นธนาคารของรัฐ ที่ต้องตอบสนองนโยบายของรัฐบาลก็ตาม แต่เพื่อไม่ให้ตกขบวนทันกับยุคสมัยนั้น การหาที่ยืนแบบมั่นคงด้วยการปรับตัว หาวิธีการสร้างรายได้เลี้ยงตัวเอง จึงเป็นอีกภาระกิจที่สำคัญ

จากยุคที่ 1การก่อตั้งธนาคารออมสิน มาสู่ยุคที่ 2การเติบโต อย่างรุดหน้า และยุคที่ 3การวางรากฐานความ มั่นคง จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันเข้าสู่ยุคที่ 4 คือ การปรับโฉมใหม่ สู่ความทันสมัยครบวงจรซึ่งอยู่ภายใต้รัฐบาลคสช. นั้น จึงมี 2 ภารกิจหลัก

ในภารกิจแรก คือ การรักษาบทบาทของการเป็นธนาคารรัฐ ที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล และในภารกิจที่ 2 คือ การพลิกโฉมใหม่สู่ความทันสมัยครบวงจร โดยเฉพาะการปรับปรุงพัฒนาระบบการดำเนินงาน รวมถึงภาพลักษณ์ในการบริการในทุกด้าน เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ และเพื่อรักษา ฐานลูกค้ามากกว่า 26 ล้านบัญชีให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ทุกกลุ่มอาชีพ และทุกช่วงวัย
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน
อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนธนาคารออมสิน ในฐานะธนาคารรัฐให้ไปสู่เป้าหมาย โดยนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน นั้น มีการวางยุทธศาสตร์สู่ GSB New Era : Digital Transformation Banking “มุ่งพัฒนาสังคมไทยทุกระดับสู่ชีวิตดิจิตอล” ซึ่งมีการดำเนินการต่อเนื่องจากช่วงปลายปีจนถึงปัจจุบันนั้น เน้นส่งเสริมด้านการออม และการช่วยเหลือและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้

ภารกิจสนองนโยบายรัฐส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก

สำหรับภารกิจตอบสนองกับนโยบายรัฐ ที่ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการ SMEs เพราะเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยนั้น มีตั้งแต่โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs วงเงิน 150,000 ล้านบาท โครงการบ้านประชารัฐ 30,000 ล้านบาท กองทุนร่วมลงทุนกิจการ SMEs โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาวิกฤติภัยแล้งปี 2558/59 วงเงิน 2,000 ล้านบาท ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดได้อนุมัติร่วมลงทุนกับSMEs ไปแล้ว 2 ราย วงเงิน 60 ล้านบาท และอยู่ระหว่างหากับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนกับเอสเอ็มอีอีก 3 กองทุน

นอกจากนั้นยังมี โครงการ SMEs Startup ซี่งถือว่าเป็นโครงการใหญ่ที่ตอบสนองนโยบายรัฐบาล และมีส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจไทย สนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่ หรือ สตาร์ทอัพ กลุ่มเยาวชนคนทำงานรุ่นใหม่ ที่มีอายุระหว่าง 16-30 ปี โดยโครงการนี้ จะสร้างโอกาสให้กับกลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่ ได้เตรียมความพร้อมในการเป็นผู้ประกอบการในอนาคต รวมถึงสามารถนำความรู้และไอเดียธุรกิจ มาสร้างสรรค์พัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรม ร่วมพัฒนาวิสาหกิจชุมชนไทย ซึ่งมีทั้งการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือนำผลิตภัณฑ์เก่ามาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม

ส่วนในด้านหลักการ รับสมัครทีมละไม่เกิน 3 คน ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด 1 ทีม 1 แนวคิดธุรกิจ โดยมุ่งเน้นเกณฑ์การตัดสินหลักที่เป็นรูปธรรม “ทำได้เลย ทำได้เร็ว ทำได้จริง” โดยเน้นสตาร์ทอัพในกิจการเอสเอ็มอ-ีทั่วไป เพราะสตาร์ทอัพในกลุ่มฟินเทค ที่ประยุกต์เทคโนโลยีเข้ามาใช้กับธุรกรรมเกี่ยวข้องกับการเงินนั้น ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีการสนับสนุนอยู่

ซึ่งจากคัดเลือกใน 1,600ทีมที่คาดว่าจะมีมีการสมัครเข้ามานั้น หากทีมไหนมีผลงานตามคอนเซปต์การประกวด ธนาคารออมสินจะร่วมลงทุนและสนับสนุนทางการเงิน ต่อยอดด้วยการทำ BUSINESS MATCHING โดยสรรหานักลงทุนที่มีศักยภาพและมีความสนใจร่วมลงทุนให้อีกทางหนึ่ง รวมถึงการให้คำปรึกษาด้านต่างๆ เพื่อสร้างให้ธุรกิจใหม่มีความพร้อมและศักยภาพในการแข่งขันได้สูงสุดต่อไป

ในอนาคตภายใน 1 - 2 เดือนนี้ธนาคารออมสินได้วางแผนเตรียมจะตั้งสายงานใหม่ขึ้นมา ซึ่งประกอบไปด้วย 3 กลุ่มงาน คือกลุ่มงานค้นหาธุรกิจสตาร์ทอัพ กลุ่มงานพัฒนาผู้ประกอบการ และกลุ่มสินเชื่อเพื่อทำหน้าที่ในการดูแลกลุ่มผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับ การคิดแผนธุรกิจ ไปจนถึงขั้นตอนการประกอบธุรกิจได้จริง

เปิดศูนย์วิจัยเปิดผลิตภัณฑ์ใหม่รับมือการแข่งขันยุคนี้

การพลิกบทบาทของธนาคารออมสิน ในภาระกิจสร้างรายได้ให้ตัวเอง และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันนั้น ในปีนี้จึงได้มีการเพิ่มอีกบทบาทใหม่ คือ เปิดตัว"ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน" มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสนับสนุนงานวิเคราะห์และวิจัยเชิงลึกแก่หน่วยงานภายในธนาคารออมสินแล้ว ศูนย์วิจัยนี้ยังมีความสำคัญในการใช้เป็นสัญญาณเตือนสำหรับหน่วยงานของภาครัฐ เพื่อให้รับรู้ปัญหาและแนวทางป้องกัน ตลอดจนเป็นแนวคิดในด้านเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

ซึ่งการเปิดศูนย์วิจัยฯธนาคารออมสินในระยะเริ่มต้น มีศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบและพัฒนาแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาครายไตรมาสของธนาคารออมสิน (Government Savings Bank Quarterly Macroeconomic Model: GSB-QMM) เพื่อใช้ติดตามภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจ วิเคราะห์ผลกระทบตลอดจนพยากรณ์แนวโน้มของเศรษฐกิจและธุรกิจรวมทั้งใช้ประกอบการจัดทำรายงานต่างๆ เพื่อเผยแพร่ให้กับหน่วยงานภายในธนาคาร และประชาชนทั่วไป

ส่วนในด้านการออกแบบและจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (Grassroots Economic Sentiment Index : GSI) ขึ้นมา โดยข้อมูลที่ใช้สร้างดัชนีดังกล่าวได้มาจากการสอบถามความคิดเห็นของประชาชน ในระดับฐานรากในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รายได้ที่จะได้รับในอนาคต การออมทั้งในปัจจุบันและอนาคต การก่อหนี้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต และสถานการณ์การจ้างงาน และการใช้จ่าย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้ธนาคารออมสิน ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนใช้ติดตาม ภาวะเศรษฐกิจฐานราก และใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้รับปัญหา และสามารถหาแนวทางในการป้องกัน/แก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้กิจกรรมสำคัญที่ศูนย์วิจัยวางแผนว่าจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การประมาณการภาวะเศรษฐกิจมหภาค และจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะเผยแพร่ในรูปแบบของการแถลงข่าว พร้อมกับเอกสารเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ นอกจากนั้นยังจะมีการจัดทำรายงานภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจ รายงานภาวะเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งบทวิเคราะห์/บทความ/ผลการสำรวจความคิดเห็น (Poll) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฐานราก

อีกทั้งการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ทั้งในด้าน e-payment ถือเป็นการพลิกโฉมธนาคารออมสิน GSB New Era : Digital Transformation Banking ได้อย่างอย่างชัดเจน

โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ของปีนี้ ที่ธนาคารออมสินจะเดินหน้า e-payment ระบบรัฐบาลชำระเงิน แทนการถือเงินสด ซึ่งมีการออกแบบขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตประชาชนผู้มีรายได้น้อย ในรูปแบบของ People Card ซึ่งเป็นบัตรกดเงินสดผู้มีรายได้น้อย

รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ การให้สินเชื่อวงเงินฉุกเฉินผ่าน Mobile Banking : Mymo ซึ่งสินเชื่อเหล่านี้จะอยู่ในกรอบความคิดตามนโยบายรัฐ คือ ความพอเพียง มีวินัยทางการเงินเพื่อให้เศรษฐกิจได้รับการพัฒนาสู่ความยั่งยืนต่อไป

ส่วนในด้านของสินเชื่อ ปีนี้ ซึ่งถือว่ามีปริมาณความต้องการสินเชื่อของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง และธนาคารออมสินก็สามารถผลิตภัณฑ์ภายใต้เงื่อนไขที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้ดี สำหรับภาพรวมของเงินให้สินเชื่อแก่ลูกค้ายังคงขยายตัวจากสิ้นปี 2558 แต่เนื่องจากเป็นช่วงการชำระคืนเงินกู้ของลูกหนี้รายใหญ่ทำให้สินเชื่อรวมลดลงสุทธิ 17,659 ล้านบาท

โดยมาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้สินเชื่อของธนาคารฯ ขยายตัวได้ โดยเป็นการให้สินเชื่อที่ครอบคลุมทุกกลุ่มประเภท ได้แก่ สินเชื่อเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน (กองทุนหมู่บ้าน) และสินเชื่อกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก สินเชื่อโครงการบ้านประชารัฐ เป็นต้น โดยสินเชื่อคงเหลือ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559 อยู่ที่ 1,902,000 ล้านบาท ลดลงประมาณร้อยละ 0.9 จากสิ้นปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 1,919,659 ล้านบาท

จากผลการดำเนินงานของธนาคารออมสินช่วง 3 เดือนแรกของปี 2559 ( 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม 2559 ) นั้น เนื่องจากต้องหักเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ( ร้อยละ0.18) หรือประมาณ 800 ล้านบาท ดังนั้นธนาคารออมสินจึงมีกำไรสุทธิจำนวน 1,656 ล้านบาท ซึ่งส่วนสำคัญมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จำนวน 14,041 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ จำนวน 1,129 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมาจากธุรกิจบัตรและบริการอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมียอดบัตรอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นมาเป็น 5.3 ล้านบัตร บริการ Mobile Banking ภายใต้แบรนด์ “MyMo” มีถึงกว่า 540,000 ราย Internet Banking อีกกว่า 136,000 ราย และผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุด “ บัตรเครดิตธนาคารออมสิน” ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมามียอดสมัครแล้วเกือบ 11,000 บัตร

นายชาติชาย กล่าวในงานแถลงถึงทิศทางการดำเนินงานปี 2559 ว่า ธนาคารออมสินยังคงเป้าหมายการเติบโตด้านสินเชื่อของปีนี้โตที่ร้อยละ6-8 โดยหากไม่รวมสินเชื่อกลุ่มอาชีพคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.6 และคาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 17,800 ล้านบาท ส่วนเงินฝากโตร้อยละ 4-6 โดยดูแลให้เป็นไปตามภาวะตลาด เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ เนื่องจากปัจจุบันยังมีสภาพคล่องเหลือประมาณ 3 - 4 แสนล้านบาท พอร์ตสินเชื่อ 1.9 ล้านล้านบาท และถึงแม้ปล่อยสินเชื่อเยอะ ก็มี Reply มากอยู่ดี ส่วนแนวโน้มข้างหน้า ในฐานะที่เป็นแบงก์รัฐต้องทำหน้าที่ประคองเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มฐานรากเป็นสำคัญ

กำลังโหลดความคิดเห็น