xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ยก “ร่าง รธน.” เป็นวาระแห่งชาติ รับน้ำในเขื่อนน้อยกว่าปี 58 ทุ่มงบสู้ภัยแล้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประยุทธ์” ยก “ร่างรัฐธรรมนูญ” เป็นวาระแห่งชาติเพื่อนำไปสู่การปฏิรูป ชี้ คสช. เข้ามาแค่ห้ามเลือด หวังพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้สำเร็จ รับน้ำในเขื่อนน้อยกว่าปี 58 วอนทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัด - สนองมาตรการรัฐ เผยทุ่มเกือบแสนล้านบรรเทาปัญหา พร้อมแจงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแค่กำหนดกรอบกว้าง ๆ เชื่อผสานนโยบายพรรค ประเทศฉลุยแน่ อ้างจำเป็นต้องมีเครื่องมือควบคุม ไม่ให้ย้อนสู่วังวนเดิม

วันนี้ (26 ก.พ.) เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งสถานการณ์ภัยแล้ง ว่า รัฐบาลยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาตรรวม 39 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) น้อยกว่าปี 58 จำนวน 5.3 ล้าน ลบ.ม. โดยรัฐบาลต้องดูแล บริหารจัดการ หาน้ำมาเติม ฟื้นฟูแหล่งน้ำ รวมทั้งดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการอุปโภค-บริโภค หากเราสามารถควบคุม ประหยัด ลดการใช้น้ำลงได้ตามมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ ก็จะช่วยให้เรามีน้ำใช้ไม่ขัดสนในอนาคต

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ใช้น้ำกลุ่มหลักของประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งหลายประการ อาทิ การส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน การชะลอหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร การรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด และส่งเสริมการปลูกข้าวโดยวิธีเปียกสลับแห้ง และการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ทั้งการปฏิบัติการของหน่วยฝนหลวง การขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติเพิ่มเติม การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล - แก้มลิง - ขนมครก เป็นต้น รวมไปถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยแล้งและมาตรการเพิ่มขีดความสามารถทางการเกษตร เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งในระยะเร่งด่วน ในส่วนของสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและจำเป็นของเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ปี 2558/2559 วงเงิน 6,000 ล้านบาท โครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SMEs ด้านการเกษตร วงเงิน 72,000 ล้านบาท และโครงการชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤติภัยแล้ง วงเงิน 15,000 ล้านบาท

“การบริหารจัดการน้ำ ยังคงต้องมองไปในอนาคตปี 60 ด้วย ซึ่งสภาพลมฟ้าอากาศ ยังเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก เพื่อความไม่ประมาท ผมจึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนทุกคน ทุกภาคส่วน ช่วยกันประหยัด ใช้น้ำเท่าที่จำเป็น ช่วยกันคนละไม้ คนละมือ รัฐบาลก็ได้พยายามในเรื่องของการแก้ปัญหาระยะยาว ได้จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำระยะยาวไปถึงปี 69” นายกฯ ระบุ

หัวหน้า คสช. กล่าวไปถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เราต้องการบ้านเมืองที่สงบสุข ชุมชนได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้มแข็ง เศรษฐกิจที่มีความมั่นคงตั้งแต่ฐานราก การเมืองมีเสถียรภาพ นักการเมืองมีธรรมาภิบาล ที่จะมีการบริหารประเทศอย่างมีทิศทาง ข้าราชการทำงานด้วยความสบายใจ ด้วยความสุจริต โปร่งใส ประชาชนก็จะได้รับสวัสดิการและการบริการอย่างทั่วถึง ทรัพยากรธรรมชาติถูกนำมาใช้ประโยชน์กับทุกคนโดยรวมอย่างเท่าเทียม เกิดความสมดุล สถานการณ์ประเทศในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูป การเข้ามาของ คสช. และรัฐบาล ถือเป็นเพียงการห้ามเลือด หรือหยุดเลือดเท่านั้น แต่ทำอย่างไรเราจะพลิกวิกฤตเหล่านี้ให้เป็นโอกาสให้ได้สำเร็จ

“เป็นเรื่องของพวกเราทุกคนจะต้องช่วยกัน ผมถือว่าการร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นวาระแห่งชาติ แล้วทุกคนก็ทำงานอย่างแข็งขัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ให้มีการปฏิรูปให้ได้ จะต้องมีกลไกมีเครื่องมืออย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กันและกันได้ว่า เราจะสามารถประคับประคองประเทศไม่ให้ล้มครืนลงมา หรือย้อนไปสู่วังวนเดิม ๆ เรามีทั้งนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งใช้เป็นกรอบการพัฒนาประเทศร่วมกัน ของรัฐบาล เอกชน และประชาชน เพื่อจะขับเคลื่อนบ้านเมืองไปในทิศทางเดียวกัน การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติเป็นเพียงกรอบกว้าง ๆ อยากให้ทุกคนไปศึกษารายละเอียด ว่า ไม่ได้ควบคุมทุกอย่าง ซึ่งทุกรัฐบาลก็ควรจะต้องทำ ถึงไม่ต้องเขียนก็ต้องทำ รวมไปถึงแผนปฏิรูปของ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กับ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เดิม ก็ต้องกำหนดไว้ทุก 5 ปี แต่ละปีก็มีรายละเอียดที่ต้องทำ เมื่อประกอบกันแล้ว รัฐบาลใหม่ก็สามารถบริหารประเทศได้อย่างมั่นคง มีเสถียรภาพ หากว่าเราใช้ทั้งยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายพรรคไปพร้อมกัน ประเทศชาติก็จะมีอนาคต

“เราจะมีการประเมินยุทธศาสตร์ชาติ ทุก 5 ปี ซึ่งเราได้ประเมินพร้อมไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นไป ก็ 4 แผน 12 + 13 + 14 + 15 แผนละ 5 ปี” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

คำต่อคำ : รายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" วันที่ 26 ก.พ.59


สวัสดีครับพ่อแม่พี่น้องที่รักชาวไทยทุกท่าน วันที่ 26 กุมภาพันธ์ของทุกปีจะเป็นวันสหกรณ์แห่งชาติ ซึ่งเป็นกลไกสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรรมไทย ที่อาชีพหลักก็คือการเกษตรมาอย่างยาวนานกว่า 100 ปี ตั้งแต่ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อต้องการให้เข้าถึงแหล่งทุนสำหรับขยายกำลังการผลิตเปลี่ยนจากระบบเลี้ยงตัวเองในชนบท มาสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อการค้า ที่สำคัญก็คือการขจัดวงจรหนี้สิน การถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน รัฐบาลขอสืบสานเจตนารมณ์เดิมของสหกรณ์ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก ล่าสุดผมดีใจที่ได้เป็นประธานในการมอบหนังสือ อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเนื้อที่ 2400 กว่าไร่ ให้กับสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด สำหรับจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินราว 500 ราย ตามนโยบายของรัฐ เพื่อใช้ประโยชน์ในลักษณะเป็นแปลงรวม ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ และให้มีการบริหารจัดการกันเอง ซึ่งรัฐบาลจะดำเนินการให้ครบในแต่ละภูมิภาคของประเทศต่อไป

นอกจากนั้น รัฐบาลได้ขยายผลเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตรกรรมคู่ขนานไปกับการส่งเสริมให้เป็น Smart Farmer ด้วยการผลักดันนโยบายสาธารณะอย่างเป็นระบบครบทุกมิติ ดูแลทั้งต้นทาง - กลางทาง - ปลายทาง เช่นในเรื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร เพื่อจะขับเคลื่อนการนำสินค้าในท้องถิ่นสู่สายตาชาวโลก ทั้งโอท็อป ทั้ง 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอี และส่งเสริมการประกอบการในลักษณะวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น

ทั้งนี้จะไม่เป็นเพียงสร้างโอกาสในการพัฒนาอย่างยั่งยืนเท่านั้นนะครับ เพื่อให้กับพี่น้องเกษตรกรมีเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นให้กับชุมชน และประเทศในภาพรวม ผลประโยชน์โดยรวมจะเกิดขึ้นกับประเทศชาติในอนาคต และเราจะได้ลดการพึ่งพาอาศัยจากปัจจัยภายนอกที่มีโอกาสที่จะผันผวน และควบคุมไม่ได้ตลอดเวลา ผมอยากให้เศรษฐกิจไทยสามารถยืนบนลำแข้งของตนเองนะครับ เกื้อกูลกันในสังคม เข้มแข็งไปด้วยกัน ในโอกาสนี้ผมขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องเกษตรกรที่ต่อไปจะต้องพัฒนาเป็น Smart Farmer พัฒนาตนเอง และมองอนาคตตนเอง ประเทศชาติ 10 ปี 20 ปี เหมือนกับที่รัฐบาลนี้ กำลังสร้างค่านิยมใหม่ให้กับสังคมไทยนะครับ

สำหรับปัญหาเรื่องภัยแล้ง รัฐบาลยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์อยู่ อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาตรรวม 39 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าปี 58 จำนวน 5.3 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยรัฐบาลจะต้องดูแลบริหารจัดการหาน้ำมาเติม ฟื้นฟูแหล่งน้ำ รวมทั้งดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้น้ำ ในส่วนที่ 1 นะครับคือ ภาคการผลิต ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการอุปโภค บริโภคนั้น หากเราสามารถควบคุม ประหยัด ลดการใช้น้ำลงได้ ตามมาตรการต่างๆ ของรัฐที่กำหนดมา จะช่วยให้เรามีน้ำใช้ไม่ขัดสนในอนาคตนะครับ

ส่วนที่ 2 คือ น้ำสำหรับผลักดันน้ำเค็ม เพื่อรักษาระบบนิเวศนั้น เป็นไปตามธรรมชาติ การขึ้นลง การหนุนของน้ำทะเล เราไม่สามารถจะควบคุมได้ แต่สามารถจะคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ที่ผ่านมานั้นรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ใช้น้ำกลุ่มหลักของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งหลายอย่างด้วยกัน เช่น การส่งเสริมความรู้ และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน การชะลอ หรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน การจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ทั้งการจ้างงานในแรงงานด้านชลประทาน หรือการจ้างงานเร่งด่วน และการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน การเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ เช่น ให้ทุกส่วนราชการรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด และส่งเสริมการปลูกข้าว โดยวิธีเปียกสลับแห้ง การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ทั้งการปฏิบัติการของหน่วยฝนหลวง การขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติเพิ่มเติม การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล แก้มลิง- ขนมครก การเสริมสร้างสุขภาพ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนการสนับสนุนอื่นๆ เช่น การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ ตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดลองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 และแผนสินเชื่อสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนสหกรณ์ เป็นต้น ทุกอย่างจะเสริมกันทั้งหมด

ทั้งนี้ นอกจากจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพ และการใช้ชีวิตของพี่น้องเกษตรกร รัฐบาลยังมุ่งหวังที่จะลดปริมาณการใช้น้ำในส่วนนี้ลง ด้วยการสร้างแรงจูงใจ สมัครใจ ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ปัจจุบันรัฐบาลได้ผลักดันนโยบายที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตรกรรมเอง โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยแล้ง และมาตรการเพิ่มขีดความสามารถทางการเกษตร ที่กระทรวงการคลังเสนอเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งในระยะเวลาเร่งด่วนที่จะส่งผลต่อความเป็นอยู่ รายได้ และกิจการทางเศรษฐกิจ และสภาวะทางสังคม ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถภาคการเกษตร รวมทั้งการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และภัยธรรมชาติอื่นๆ ในระยะกลาง ซึ่งจะประกอบไปด้วย โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและจำเป็นของเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งปี 2558-2559 วงเงิน 6 พันล้านบาท โดยให้สินเชื่อไม่เกิน 12,000 บาทต่อราย กำหนดชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 1 ปี ไม่มีดอกเบี้ย กลุ่มเป้าหมายก็คือเกษตรกร ลูกค้ารายย่อยของ ธ.ก.ส. จำนวน 5 แสนราย ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ไม่สามารถทำการผลิตได้ หรือผลผลิตได้รับความเสียหาย ทำให้มีรายได้ลดลง เพื่อจะใช้เป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเป็นการชั่วคราว พร้อมทั้งก่อให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และช่วยป้องกันการก่อหนี้สินนอกระบบของเกษตรกร

โครงการต่อไปคือ โครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอี ด้านการเกษตรนะครับ เพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย วงเงิน 72,000 ล้านบาท วงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย เป็นสินเชื่อระยะเวลาเงินกู้ไม่เกิน 10 ปี มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี สำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภาคการเกษตร ทั้งรายคน วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร หรือบริษัทชุมชน จำนวน 7,200 ราย ในการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าการเกษตรนะครับ และกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน

ต่อไปเป็นโครงการชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤติภัยแล้ง วงเงิน 15,000 ล้านบาท วงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อกลุ่ม กำหนดชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 1 ปี มีอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0.01 ต่อปี สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ประสบวิกฤตภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง รวม 26 จังหวัด จำนวน 100,000 ราย ที่มีความสมัครใจและตั้งใจในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตอย่างแท้จริง และผ่านการคัดเลือกจากชุมชน โดยจะให้ใช้เป็นค่าเช่าที่ดิน ค่าปัจจัยการผลิต และค่าจ้างแรงงานให้กับเกษตรกร

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการน้ำ ยังคงต้องมองไปในอนาคตปี 60 ด้วยนะครับ ซึ่งสภาพลมฟ้าอากาศ ยังเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท ผมจึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนทุกคน ทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัด ใช้น้ำเท่าที่จำเป็น ช่วยกันคนละไม้คนละมือนะครับ รัฐบาลได้พยายามในเรื่องของการแก้ปัญหาระยะยาว ได้จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำระยะยาวไปถึงปี 69 แล้วนะครับ การดูแลพี่น้อง ชุมชน หมู่บ้าน ซึ่งที่ผ่านมาประสบปัญหาหลายประการมาด้วยกันนะครับ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง และปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ สาเหตุหนึ่งมาจากระบบโครงสร้างพื้นฐานในชุมชนยังไม่ได้รับการพัฒนา และขาดปัจจัยการผลิตที่จำเป็น

ดังนั้นรัฐบาลจึงผลักดันโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐผ่าน กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวน 79,556 กองทุนๆ ละไม่เกิน 500,000 บาท วงเงินรวม 35,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน อาทิเช่น ยุ้งฉางชุมชน โรงตากพืชผลทางการเกษตร โรงสีชุมชน โรงงานผลิตปุ๋ยประจำชุมชน การจัดทำแหล่งเก็บน้ำชุมชน และเครื่องจักรสำหรับแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น

หรือใช้ในการดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ที่ชุมชนเห็นว่าเป็นประโยชน์ ในการส่งเสริมศักยภาพในการประกอบอาชีพ และความเป็นอยู่ในชุมชนให้ดีขึ้น ก็ถือว่าเป็นมาตรการเร่งด่วน เราต้องการให้สามารถดำเนินการเบิกจ่ายให้ได้ภายใน 6 เดือน ทั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในระดับฐานรากที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ครอบคลุมทั้งกระบวนการ ตั้งแต่กิจกรรมด้านการผลิต การเพิ่มมูลค่าสินค้าและการตลาด ซึ่งจะส่งผลให้ชุมชนพัฒนาอย่างมั่นคง แข็งแรงต่อไป ก็นับว่า เป็นมาตรการ ในการจะขยายผลความสำเร็จตามความต้องการของพี่น้องเกษตรกร ผ่านกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง ทั้งนี้เพื่อจะส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน โดยได้มีการวัดวงเงินสินเชื่อไว้เดิม 60,000 ล้านบาท นั้น รัฐบาลจะช่วยเหลือในเรื่องดอกเบี้ย เป็นเวลา 2 ปี โดยกองทุนหมู่บ้านรวมกว่า 50,000 กว่ากองทุน มีสมาชิกได้รับประโยชน์จากโครงการนี้กว่า 3 ล้านครัวเรือน

ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยของรัฐบาลและ คสช. ขอให้ช่วยกันดูแลการใช้จ่ายการทำโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ ให้เป็นไปอย่างโปร่งใสนะครับ แล้วก็เป็นธรรมตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง เราจะต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันกันระหว่างข้าราชการส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น และ อปท. นะครับ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่จะต้องไม่ขัดแย้งกันอีกต่อไป เราต้องทำโครงการให้ตรงตามวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ดีกว่าไปแจกเปล่าๆ นะครับ

สิ่งสำคัญที่ผมอยากเห็นคือ กลไกการทำงาน ที่ยึดหลักการ “ประชารัฐ” ที่มีส่วนร่วม ทั้งจากภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ ในการที่จะมุ่งเน้นพัฒนาภาคการผลิต การแปรรูป การตลาดอย่างครบวงจร ตลอดจนการบริหารจัดการพื้นที่การผลิตให้เหมาะสม ทั้งนี้จะต้องไม่มีความซ้ำซ้อนกับโครงการอื่นๆ นะครับ ภายใต้นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล จะได้สอดประสานกันในสิ่งที่ขาดในโครงการอื่นๆ นั้น มีมาหลายโครงการแล้ก็มีลักษณะการดำเนินงานเดียวกัน แต่จะต้องสอดแทรก ลงไปในส่องที่ยังไม่เพียงพอนะครับ ทั้งนี้จะต้องมีระบบการติดตามและการประเมินผล ที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ผมอยากเห็นพี่น้องร่วมกันทำงานอย่างจริงจังนะครับ เพื่อจะสร้างเอกภาพและมีมาตรฐานเดียวกัน

รัฐบาลพร้อมจะสนับสนุนการมีส่วนร่วมของ “อาสาประชารัฐ” ซึ่งจะเป็นพลังขับเคลื่อนอันเกิดจาก “แรงระเบิดจากภายใน” ที่ต้องการสังคมที่มีมาตรฐาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะความอยู่ดี กินดี มีความสุข มีรายได้ มีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง จะทำให้หมู่บ้าน ชุมชน และสังคม สามารถพึ่งตนเอง มีความเข้มแข็ง อย่างยั่งยืน เป็นการสร้างความสามัคคี ความปรองดองไปด้วยนะครับ นำไปสู่การช่วยกันในเรื่องการพัฒนา ด้านเศรษฐกิจ และสังคม ด้านการเมืองการปกครอง และอื่นๆ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยทุกคน

สำหรับการน้อมนำแนวพระราชดำริ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติในทุกระดับนั้น ถือว่าเป็นภารกิจสำคัญ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดาร พื้นที่ห่างไกลให้พ้นจากความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำด้าน ที่มีอยู่แล้วเดิมให้มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง ดีขึ้นสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง โดยจะมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และข้าราชการจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือเรื่องวิชาการ ดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้โครงการพัฒนาต่างๆ ที่จะดำเนินการในพื้นที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถแก้ไขปัญหา และพัฒนาความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนได้อย่างแท้จริง เป็นแบบอย่างโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับประเทศเพื่อนบ้าน อาเซียน และประชาคมโลกอื่นๆ ด้วยนะครับ

ในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืนของประเทศนั้น รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ในเรื่องของการศึกษาโดยมี 6 เรื่องหลักที่ต้องการให้เร่งการดำเนินการในช่วงเวลา 1 ปี 6 เดือน ประมาณนั้นที่ของรัฐบาลนี้ ประกอบด้วย การปรับปรุงหลักสูตร และกระบวนการเรียนรู้ การผลิตและการพัฒนาครู การทดสอบการประเมิน การประกันคุณภาพ และการพัฒนามาตรฐานการศึกษา การผลิตพัฒนากำลังคนและงานวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของการพัฒนาประเทศ ไอซีซีเพื่อการศึกษา และการบริหารจัดการทั้งการปรับปรุงโครงสร้าง การบริหารจัดการ และการกระจายอำนาจ แม้ว่าจะทำได้ไม่สมบูรณ์นักในระยะแรก ห้วงเวลาจำกัดไม่ถึง 100%

เพราะฉะนั้นเราอาจจะเริ่มต้นไปให้ได้ก่อน นำร่องทดลองปฏิบัติไป แต่ต้องทั่วถึงนะครับ ทุกพื้นที่ ทุกภูมิภาคไปก่อน เพื่อจะเป็นแนวทางเอาไว้ทุกโครงการ เรารีรอไม่ได้ เราต้องขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี 4 แผน และแผนปฏิรูปต่างๆ แผนแต่ละแผนจะใช้เวลา 5 ปี เช่นเดียวกันมีการประเมินทุก 5 ปี

กระทรวงการศึกษาฯ จะต้องสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมานั้นการขับเคลื่อนนโยบาย ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ โดยหลักการพัฒนา 4H ก็คือ สมอง จิตใจ ทักษะ สุขภาพ ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมตามความสนใจ และความถนัด และมีครูคอยให้คำแนะนำ มีศึกษานิเทศก์ติดตาม ดูแลให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องนั้น สามารถแปลงนโยบายไปสู่การจัดกิจกรรมได้เป็นอย่างดีนะครับ มีความก้าวหน้าตามลำดับ ปัจจุบันก็อยู่ในระหว่างการประเมินผลการดำเนินการสำหรับนำมาใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงในภาคการศึกษาหน้าต่อไป ซึ่งเป็นอีกความพยายามหนึ่งของรัฐบาลที่ผมเห็นว่าประสบความสำเร็จ และถือว่าเป็นการปฏิรูปในส่วนของการผลิต และการพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศด้วย และรองรับต่อตลาดแรงงานของอาเซียนด้วยการผลักดันสร้างภาพลักษณ์ ปรับค่านิยมต่อการเรียนสายอาชีพให้ดีขึ้นเห็นได้ว่าเรามีจำนวนผู้เรียนอาชีวะในปีการศึกษา 2558 เพิ่มขึ้นมากในรอบ 10 ปี ต้องขอขอบคุณภาคเอกชน ผู้ประกอบการที่สนับสนุนการศึกษาในระบบทวิภาคี ช่วยให้เด็กได้ประสบการณ์ จากการทำงานในสถานประกอบการจริง และภาคเอกชนก็ได้คนทำงานที่มีศักยภาพตรงตามความต้องการด้วย

ทั้งนี้ ผมเห็นว่าศักยภาพเด็กไทยนะครับ เราไม่ได้ด้อยในเวทีโลกเลย หลายประเทศเขามีการพัฒนาตามหลัก เราไม่ได้แพ้เขาหรอกนะ เพราะงั้นวันนี้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพได้เร่งจัดทำมาตรฐานมากกว่า 200 สาขา นะครับ ถ้าเด็กอาชีวะสามารถผ่านการรับรองมาตรฐานแต่ละด้าน ก็จะเป็นสิ่งที่การันตีฝีมือและมาตรฐานค่าตอบแทนด้วยนะครับ แต่รัฐบาลก็ไม่ลืม ที่จะส่งเสริมและยกระดับคุณภาพในการใช้ภาษาอังกฤษนะครับ สำหรับกลุ่มต่างๆ คู่ขนานไปด้วย

ทั้งนี้เพื่อให้มีโอกาสในเรืองของความก้าวหน้าในการประกอบอาชีพที่ดีขึ้นครับ ทั้งนี้การปฏิรูปการศึกษา ผมถือว่าเป็นงานค่อนข้างยากนะครับ เนื่องจากมีกฎหมายหลายฉบับ มีหลายหน่วยงาน มีการแบ่งแยกหน่วยงานจนมากเกินไป ไม่มีเอกภาพ ในการที่กำกับดูแลอำนวยการปฏิบัติให้เป็นไปในทางที่สอดคล้องกันเองนะครับ ทำได้ยาก รัฐบาลและ คสช.กำลังแก้ไขปัญหาเหล่านี้นะครับ เพื่อจะให้เกิดการปฏิรูประยะที่ 1 ที่ผมกล่าวไปแล้วนี่ ถึงปี 60 นี่ให้ได้โดยเร็วนะขอความร่วมมือจากบุคคลากรทางการศึกษาด้วยนะครับ ช่วงนี้ขอเถอะนะ ขอให้เดินหน้าให้ได้ก่อน

เรื่องร่างรัฐธรรมนูญนะครับ อยากให้ทุกคนนั้น คิดแล้วก็จินตนาการไปพร้อมๆ กับผมด้วยว่า สิ่งที่เราต้องการคืออะไร ประเทศไทย คนไทย ต้องการอะไร ที่ผ่านมาเป็นยังไง เกิดขึ้นมาบ้าง เราคงต้องการบ้านเมืองที่สงบสุข ชุมชนได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้มแข็ง เศรษฐกิจที่มีความมั่นคงตั้งแต่ฐานราก การเมืองที่มีเสถียรภาพ นักการเมืองที่มีธรรมาภิบาล ที่จะมีการบริหารประเทศอย่างมีทิศทาง ข้าราชการทำงานด้วยความสบายใจ ด้วยความสุจริต โปร่งใส ประชาชนก็จะได้รับสวัสดิการและการบริการอย่างทั่วถึง ทรัพยากรธรรมชาติถูกนำมาใช้ประโยชน์กับทุกคนโดยรวมอย่างเท่าเทียม เกิดความสมดุลนะครับ เหมือนวิสัยทัศน์ที่เราได้กล่าวไว้แล้วว่าประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน หากสิ่งที่เราต้องการตรงกันแล้ว เราอาจจะผิดหวังนะครับ กับสถานการณ์ในประเทศใน ช่วง 10 กว่าปี ที่ผ่านมา เราถึงได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเข้ามาของ คสช. และรัฐบาล ถือเป็นเพียงการห้ามเลือด หรือหยุดเลือดเท่านั้นเอง แต่ทำอย่างไรเราจะพลิกวิกฤติเหล่านี้ให้เป็นโอกาสให้ได้สำเร็จนะครับ เป็นเรื่องของพวกเราทุกคนจะต้องช่วยกัน ผมถือว่าการร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นวาระแห่งชาติ แล้วทุกคนก็ทำงานอย่างแข็งขัน

อยากให้ประชาชนทุกคน ทุกหมู่เหล่า ให้ช่วยกันคิด ว่าเราจะทำอย่างไรให้เป็นประสิทธิผล ในเรื่องที่เราได้ทำมาแล้วเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ให้มีการปฏิรูปให้ได้ จะต้องมีกลไก มีเครื่องมืออย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กันและกันได้ว่า เราจะสามารถประคับประคองประเทศไม่ให้ล้มครืนลงมาอีกครั้งหนึ่ง หรือย้อนไปสู่วังวนเดิมๆ เรามีทั้งนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งใช้เป็นกรอบการพัฒนาประเทศร่วมกันของประเทศ ของรัฐบาล ของเอกชน และประชาชน เพื่อจะขับเคลื่อนบ้านเมืองไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ แยกทั้งคน ทั้งเงิน ทั้งโครงการ งบประมาณก็เสียหายนะครับ ใช้กันอย่างไร้ทิศทาง

วันนี้เราได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งก็เป็นเพียงกรอบกว้างๆ นะครับ อยากให้ทุกคนไปศึกษารายละเอียดว่า ไม่ได้ควบคุมทุกอย่างอยู่แล้ว เป็นกรอบกว้างๆ ซึ่งทุกรัฐบาลก็ควรจะต้องทำอยู่แล้ว ไม่ต้องเขียนก็ต้องทำ ที่ผ่านมาอาจจะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง ก็เลยต้องเขียนขึ้นมา เพราะงั้นอยากให้ทุกคนในประเทศรู้ว่าจะเดินไปอย่างไร อนาคตเราจะเป็นอย่างไร นี่เราต้องเตรียมตัว เตรียมความพร้อมอย่างไร ทุกภาคส่วนนะครับ เพื่อให้มีการมั่นคงนะครับ มีความมั่นทันคงกับประเทศชาติ แล้วก็มีความมั่งคั่งของประชาชนโดยรวม เราจะมีการประเมินยุทธศาสตร์ชาติ ทุก 5 ปี ซึ่งเราได้ประเมินพร้อมไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นะครับ ที่ผมกล่าวไปแล้ว ตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นไป ก็ 4 แผนนะครับ แผน 12 13 14 15 ก็แผนละ 5 ปี แล้วนะครับ

แล้วก็แผนปฏิรูปของ สปท. ปัจจุบัน กับ สปช.เดินนะครับ ทำให้รัดกุมขึ้น โดยกำหนดไว้ทุก 5 ปี แต่ละปีก็มีรายละเอียดที่ต้องทำ บางอย่างก็จบภายในปีเดียว บางอย่างก็จบภายใน 5 ปี ทำนองนี้ ประกอบกันไปด้วยแล้วกัน รัฐบาลใหม่ ก็สามารถบริหารประเทศได้อย่างมั่นคง มีเสถียรภาพ หากว่าเราใช้ทั้งยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายพรรคไปพร้อมกัน ผมว่าประเทศชาติมีอนาคตนะ

ผมขอขอบคุณนักการเมืองที่หวังดีกับประเทศชาติ เพราะงั้นเราไม่น่าจะมาขัดแย้งกันตรงนี้ ในเมื่อทุกท่านอาสาจะเข้ามาดูแลประชาชนและประเทศชาติ ไม่ใช่เพื่อตนเอง

ผมขอความร่วมมือและความไว้วางใจให้กับรัฐบาล คสช. กรธ. สนช. สปท. ทั้งคณะที่ผ่านมา และคณะนี้ด้วยในการที่จะร่วมกันทำงาน ไม่งั้นเดินหน้าไม่ได้ เพราะงั้นก็เราจะขอปฏิบัติภารกิจที่พี่น้องได้มอบหมายให้กับเรานั้นด้วยความเชื่อมั่น ไว้เนื้อเชื่อใจมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นให้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงด้วยดีครับ ขอบคุณครับ สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น