xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ชี้ภัยจากสุขภาพเทียบชั้นก่อการร้าย ผลิตหมอเฉพาะทางรับมือโรคจากการเดินทาง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพทย์โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ระบุภัยจากปัญหาสุขภาพ จากการเดินทางไปต่างประเทศน่ากลัว ไม่แพ้ภัยจากการก่อการร้าย ทั้งที่เกิดจากเดินทางท่องเที่ยว การติดต่อธุรกิจ การแสวงบุญ หรือแม้กระทั่งการชมคอนเสิร์ต และการแข่งขันกีฬาระดับโลก ล้วนแต่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพทั้งสิ้น แนะวิธีป้องกันตัวในการเดินทางปลอดภัยไร้เสี่ยงติดเชื้อ โดยเฉพาะคนไทยที่นิยมเดินทางไปแอฟริกา อเมริกาใต้ อินเดีย เนปาล ตะวันออกกลาง รวมไปถึงการเปิดเออีซี ที่มีการเคลื่อนย้ายภาคแรงงาน แจงประเทศไทยให้ความสำคัญกับโรคที่มาจากการเดินทาง พร้อมเปิดหลักสูตรแพทย์เฉพาะทาง เพื่อผลิตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญโรคที่เกิดจากการเดินทางทั่วโลก ขณะเดียวกัน “สธ.” เร่งภายในปี 59 เปิด “คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยว” ใน 13 เขตสุขภาพ ซึ่งเป็นจังหวัดสำคัญที่มีการเข้า-ออกจากนักเดินทางเพื่อป้องกันโรคระบาดที่จะเกิดตามมา

การท่องเที่ยวและการเดินทางในปัจจุบันนั้น คนสามารถเดินทางไปในอีกซีกโลกได้โดยใช้ระยะเวลาไม่เกิน 2 วัน นั่นจึงเป็นที่มาของการเปิดให้บริการคลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยว โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ซึ่งเป็นหลักสูตรที่กำลังพัฒนาองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับประเทศไทย

ล่าสุดเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่ส่งผลต่อการเปิดเสรีทำให้แรงงานต่างด้าวเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองไทยมากขึ้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญ โดยมีการยกระดับขึ้นเป็นนโยบาย มีการตั้งคลินิกท่องเที่ยวตามหัวเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเขตพื้นที่เศรษฐกิจ เพื่อรองรับปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศภายหลังการเปิดเออีซี

นายแพทย์วศิน แมตสี่ แพทย์ประจำบ้านเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวกับ “ Special Scoop” ว่า ในบทบาทของ “คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยว” ของโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ถือว่าเป็นต้นแบบของคลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยว ซึ่งมีการดูแลให้คำแนะนำและรักษานักเดินทางทั้งก่อนและหลังการเดินทางนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมในด้านการป้องกันโรค

ทั้งด้านการให้ข้อมูลและการแนะนำให้คนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ในช่วงก่อนการเดินทาง (Pre travel Counseling) เช่นในแถบแอฟริกา ต้องเตรียมตัวป้องกันการติดเชื้อจากโรคประจำถิ่น หรือโรคที่มีการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง เช่น โรคมาลาเรีย ไข้เหลือง โรคไข้กาฬหลังแอ่น โดยพิจารณาจากความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเดินทางของนักท่องเที่ยวแต่ละคนว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด เพื่อวางแผนให้คำแนะนำ ฉีดวัคซีนป้องกัน หรือยารับประทานป้องกัน

รวมถึงการดูแลรักษาภายหลังการเดินทาง (Post travel Counseling) เพื่อเตรียมรับสิ่งที่คนเดินทางต่างประเทศนำเข้ามา เช่น อาการเจ็บป่วย ไม่สบายหลังจากเดินทางกลับ นอกจากนั้นยังมีให้คำปรึกษาในช่วงระหว่างการเดินทาง (During travel) เป็นการแนะนำระหว่างการเดินทาง เช่น นักวิจัยกลุ่มที่กำลังเดินทางสำรวจในป่า 1 เดือน ต้องมีการอบรมถึงข้อปฏิบัติตนให้มีความปลอดภัยในระหว่างการทำงาน

ข้อปฏิบัติตนของนักเดินทางเพื่อให้พ้นความเสี่ยง

ส่วนการเดินทางไปต่างประเทศ ในแต่ละประเทศต้องมีการปฏิบัติตัวอย่างไรนั้น นายแพทย์วศิน กล่าวว่า การพิจารณาให้คำปรึกษาเพื่อวางแผนการป้องกันโรคสำหรับนักเดินทางแต่ละคนนั้นขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น รูปแบบการเดินทาง ระยะเวลา กิจกรรมที่ทำ สถานที่ที่จะไป ฯลฯ ดังนั้น จึงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปประเทศนั้นๆ ต้องพิจารณาเป็นรายๆไป

แต่สิ่งแรกที่ต้องให้ความสำคัญ คือ จุดประสงค์ของการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งจะมีความแตกต่างกัน เช่น เดินทางไปทำธุรกิจ (Business Trip) ไปเยี่ยมญาติพี่น้อง (Visit Friend Relative : VFR) เป็นอาสาสมัคร เดินทางไปทำงานวิจัย หรือ นักท่องเที่ยวแบบแบ็กแพ็ก (Backpack Tourism) เรียกว่า ต้องพิจารณาและประเมินความเสี่ยงเป็นรายบุคคลไป

เห็นได้จากกรณีการเดินทางของคน 2 คนที่ไปประเทศแอฟริกาเหมือนกัน แต่คนหนึ่งเดินทางไปแบบบิสซิเนสทริป ติดต่อธุรกิจในเมืองหลวง พักโรงแรม 5 ดาว ใช้เวลา 4-5 คืน ขณะที่อีกคนเดินทางไปในฐานะอาสาสมัครที่ต้องคลุกคลีกับคนท้องถิ่นในระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งลักษณะนี้คนที่ไปเป็นอาสาสมัครมีความเสี่ยงมากกว่าอย่างแน่นอน

ดังนั้นหน้าที่ของคลินิกท่องเที่ยว คือ ให้ข้อมูลและคำปรึกษาแก่ผู้เดินทางรับรู้ถึงภาพรวม ว่าการเดินทางไปในพื้นที่นั้นจะต้องตระหนักและระมัดระวังในเรื่องไหนบ้าง โดยตามขั้นตอนเมื่อได้ข้อมูลจากนักท่องเที่ยวแล้ว จะมีการเจาะในรายละเอียดว่ามีการเดินทางไปส่วนไหนที่เมืองไหน ระยะเวลาเท่าไหร่ และแต่ละเมืองมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอย่างไรบ้าง หลังจากนั้นทางคลินิกจะมีการประเมิน และนำข้อมูลที่ได้มาให้คำแนะนำกับคนที่จะเดินทาง

แต่การตัดสินใจว่าจะปฏิบัติตามที่คลินิกท่องเที่ยวแนะนำ เช่น ฉีดวัคซีนหรือกินยาป้องกันโรคอะไรบ้างสำหรับการเดินทางในทริปนั้น การตัดสินใจขึ้นอยู่กับผู้เดินทางเอง ถือเป็นสิทธิของแต่ละคนว่าจะปฏิบัติตามหรือไม่

“บางคนเดินทางไปประเทศที่มีความเสี่ยง แต่เห็นว่าเดินทางไปเพียงแค่ 5 วัน และส่วนใหญ่ก็ใช้ชีวิตอยู่ในโรงแรมอาจจะตัดสินใจไม่ฉีดวัคซีนหรือกินยา ซึ่งเป็นสิทธิของแต่ละคนที่ต้องการลดความเสี่ยงมากน้อยต่างกัน”
นายแพทย์วศิน แมตสี่ แพทย์ประจำบ้านเวชศาสตร์ป้องกัน  โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน
เดินทางทุกประเภทมีโอกาสติดโรค

คลินิกท่องเที่ยวไม่ได้โฟกัสเฉพาะปัญหาสุขภาพ หรือโรคติดเชื้อที่แพร่ระบาดมาจากนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงการดูแล “กลุ่มนักเดินทาง” ซึ่งเคลื่อนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง อาทิ การดูแลให้คำแนะนำ การเดินทางที่มีลักษณะ “คนจากหลายๆ ที่เดินทางไปรวมกัน” ซึ่งมีทั้งเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ประกอบพิธีฮัจญ์ หรือกิจกรรมที่มีคนรวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น การแข่งขันกีฬาระดับเวิลด์คลาส โอลิมปิกเกม การแสดงคอนเสิร์ต และกลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางที่เป็นกลุ่มใหญ่ ไปจนถึงการเดินทางของชาวโรฮิงญามาประเทศไทย

ตัวอย่างการติดโรคระบาดจากการเดินทาง โดยไม่ได้ป้องกัน เช่น กรณีกลุ่มแรงงานไทยเดินทางไปทำงานที่ประเทศไนจีเรีย โดยไม่เคยพบแพทย์และไม่ได้รับคำแนะนำถึงการเตรียมตัวป้องกันโรคมาลาเรียที่มีความเสี่ยงสูงที่นั่น พบว่าจากแรงงานทั้งหมด 6 คน เป็นมาลาเรีย 3 คน คิดเป็นร้อยละ 50 และต่อมามีการเสียชีวิต 1 คน คิดเป็นร้อยละ 20 ถือว่าอัตราการติดเชื้อจากไนจีเรียของกลุ่มนี้เป็นอัตราที่สูงมาก ซึ่งแรงงานไทยที่กำลังเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ หรือผู้ที่เดินทางไปภารกิจเป็นระยะเวลานาน จะต้องได้รับการอบรม และรับคำแนะนำในเรื่องของการเตรียมตัวก่อนเดินทาง ทั้งกินยาป้องกันโรคมาลาเรีย หรือใช้ยาป้องกันยุงที่มีประสิทธิภาพ

สำหรับกลุ่มที่เดินทางเพื่อการท่องเที่ยวในพื้นที่อเมริกาใต้ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนไทย เช่นที่ประเทศบราซิล ป่าอเมซอน โบลิเวีย มาชูปิกชู เปรู หรือดำน้ำที่กาลาปากอส ผู้เดินทางต้องมีการเตรียมตัวฉีดวัคซีนไข้เหลือง หรือกินยาป้องกันก่อนขึ้นพื้นที่สูงแม้แต่การเดินทางไปดูฟุตบอล หรือคอนเสิร์ตในต่างประเทศ ก็ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมเพราะแต่ละกิจกรรมมีคนจากที่ต่างๆ มารวมกัน โดยไม่มีใครรู้ว่าแต่ละคนมีปัญหาสุขภาพอย่างไร จึงต้องมีการฉีดวัคซีนก่อนเดินทางและมีข้อระวังในเบื้องต้นด้วย

รูปแบบหรือสไตล์ของการท่องเที่ยว ก็มีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน กรณีแบ็กแพ็กจะมีโอกาสติดเชื้อมากทั้งจากการเดินทาง และการรับประทานอาหารท้องถิ่นหรือข้างทางที่ไม่มีคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม การระบุโรคอันตรายที่มากับการท่องเที่ยวนั้นไม่สามารถเฉพาะเจาะจงได้ เพราะแต่ละพื้นที่มีความเสี่ยงที่ต่างกัน แต่โดยหลักมักจะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ หรือโรคระบบทางเดินอาหาร อย่างไรก็ตามต้องติดตามข่าวสารโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

ประเด็นที่อันตราย คือไม่สามารถทราบข้อเท็จจริงว่ามีคนไทยเดินทางไปในประเทศที่มีความเสี่ยงกี่กลุ่ม จึงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันผลักดันในอนาคต ให้กลุ่มคนที่จะเดินทางไปประเทศที่มีความเสี่ยง ต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อม สำหรับการรับมือในเรื่องนี้ ในส่วนคลินิกท่องเที่ยวนั้นอยู่ระหว่างการทำวิจัย โดยเก็บข้อมูลคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศในทุกทวีป มีการติดตามตั้งแต่ก่อนเดินทาง หลังจากเดินทางกลับมา 15 วัน เพื่อขอข้อมูลกรณีมีปัญหาการเจ็บป่วยตามมา

ซึ่งเมื่อการวิจัยสมบูรณ์จะทำให้รู้ข้อมูลของปัญหาสุขภาพในแต่ละพื้นที่เสี่ยง ที่จะเป็นประโยชน์กับนักเดินทางกลุ่มต่อไป ข้อมูลนี้มีความสำคัญเนื่องจากจะได้ข้อเท็จจริงกว่าการนำข้อมูลของประเทศอื่นมาวิเคราะห์ เพราะสุขภาพ สภาพแวดล้อม ภูมิต้านทาน มีความแตกต่างกัน
ภาพจากอินเทอร์เน็ต
คนที่ต้องการรับคำแนะนำต้องเริ่มต้นอย่างไร

ที่คลินิกมีแบบฟอร์มเพื่อให้คนที่จะเดินทางกรอกรายละเอียด ซึ่งมีทั้งข้อมูลเบื้องต้นของแต่ละบุคคล ประเทศที่จะเดินทางไป ระยะเวลาการพักอาศัยในแต่ละประเทศ รวมทั้งจุดประสงค์ในการเดินทาง หลังจากนั้นคลินิกท่องเที่ยวจะมีการค้นหาข้อมูลเพื่อนำมาประเมินว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด สำหรับค่าใช้จ่ายในการรับบริการ จะเป็นตามมาตรฐานการพบแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐทั่วไป

ทั้งนี้การให้คำปรึกษาแนะนำก่อนเดินทาง จะเน้นการให้ข้อมูลต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น และสิ่งที่ต้องระมัดระวัง รวมทั้งให้ข้อมูลในเชิงวิชาการ โดยสื่อสารให้คนที่กำลังจะเดินทางทราบอย่างชัดเจนถึงความเสี่ยงและโรคที่ต้องระมัดระวัง

ส่วนหลังการเดินทาง จะเน้นการให้คำปรึกษาในรูปแบบทางการแพทย์มากขึ้น ทั้งการวินิจฉัย การรักษา กรณีกลุ่มคนไทยที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ และพบการป่วยเป็นมาเลเรียหลังกลับจากเดินทาง ต้องมีการหาข้อมูลโดยละเอียดว่าคณะที่ร่วมเดินทางไปประกอบด้วยใคร เพราะเมื่อเจอเคสอาการของโรคในคนไข้บางราย ถือเป็นเพียงส่วนเล็กของกลุ่ม ขณะเดียวกันก็ต้องมีการแจ้งกลับไปที่ประเทศเหล่านั้น ถึงโรคระบาดที่ต้องเฝ้าระวังและป้องกันด้วย

ข้อมูลหลังการเดินทางจึงถือว่ามีความสำคัญมากสำหรับการเฝ้าระวัง ตัวอย่างเพิ่มเติม เช่นกรณีติดเชื้อไวรัสเมอร์ส ที่มาจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส ที่มีการระบาดนั้น จะเห็นได้ว่ากลุ่มโรคเหล่านี้เป็นโรคที่ติดเชื้อจากทางเดินหายใจ ซึ่งการแพร่ระบาดจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง

ดังนั้นนอกจากการเฝ้าระวังหากเจอเคสที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หรือในสถานที่ซึ่งคนไทยเดินทางไปนั้น ยังต้องมีการวางแผนตั้งรับ หากเป็นโรคที่มีลักษณะคล้ายไข้หวัดใหญ่อย่างเมอร์ส ที่มีอัตราการตายสูงในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวหลายโรค ลักษณะนี้ต้องมีประกาศของกระทรวงสาธารสุข และเป็นนโยบายของรัฐบาล เพื่อเพิ่มความเข้มงวด มีการตรวจสอบคนที่จะเดินทางเข้าประเทศ และคนที่มีไข้จะต้องมารายงานตัวเพื่อติดตามอาการ

ระบบของประเทศไทย ที่เป็นตัวอย่างที่ดีนั้น คือ ระบบของพิธีฮัจญ์ ที่มีคนไทยเดินทางไปประกอบพิธีที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่มีปัญหาเรื่องโรคเมอร์ส ดังนั้นคนไทยทุกคนที่จะไปร่วมพิธีต้องมีการเตรียมตัวโดยลงทะเบียน และรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่เป็นความเสี่ยง เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้กาฬหลังแอ่น โดยไม่มีการคิดค่าใช้จ่าย รวมถึงได้รับคำแนะนำในการป้องกันตัวระหว่างที่พำนักในประเทศซาอุฯ และหลังจากเดินทางกลับ ทุกคนต้องผ่านช่องทางที่มีการตรวจสอบโดยเฉพาะ

การออกแบบให้มีระบบตรวจสอบโรค เชื่อว่าจะสามารถป้องกันโรคที่มาจากต่างแดนได้ แม้จะไม่สามารถป้องกันได้ถึง 100% ก็ตามหากอยู่ในระหว่างการฟักตัวของโรค แต่ก็เชื่อว่าสามารถลดความเสี่ยงของโรคระบาดได้อย่างมีนัยสำคัญ

เทรนด์การรับบริการคลินิกท่องเที่ยว


นายแพทย์วศิน กล่าวว่า เวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศในโซนยุโรป และอเมริกา เพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้นิยมเที่ยวในประเทศเขตร้อน แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือแถปแอฟริกา ซึ่งมีความเสี่ยงของโรคระบาดไม่มากก็น้อย และหลังการเดินทางท่องเที่ยว มักมีอาการเจ็บป่วยกลับไป

ซึ่งการรักษาในประเทศแถบยุโรปหรืออเมริกานั้น บางครั้งไม่มีข้อมูลเพื่อรักษาโรคที่ติดต่อในอีกทวีป ทำให้บางรายถึงแก่ชีวิต จึงเป็นที่มาของการให้ความสำคัญเรื่องการเตรียมตัวก่อนเดินทาง

ขณะที่คนไทยยังไม่มีความกังวลเรื่องโรคที่มาจากการเดินทางมากนัก อย่างไรก็ตามเริ่มมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมก่อนเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้น สัดส่วนการเข้ารับบริการที่คลินิก จากเดิมชาวต่างชาติเข้ามารับคำแนะนำในการเดินทางมีประมาณ ร้อยละ 70 ขณะที่คนไทยอยู่ที่ร้อยละ 30 แต่ปัจจุบันสัดส่วนระหว่างคนต่างชาติและคนไทยอยู่ที่ใกล้เคียงกันคือร้อยละ 50

ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่ามีจำนวนคนไทยที่เริ่มตระหนัก และหันมาให้ความสำคัญกับการเตรียมตัวก่อนการเดินทาง โดยเปลี่ยนวิธีการจากการหาข้อมูลบนสื่ออินเทอร์เน็ต อ่านบล็อกหรือรีวิวการท่องเที่ยว เริ่มให้ความสำคัญ โดยการขอคำแนะนำจากคลินิกท่องเที่ยว ทั้งการอ่านข้อมูลจากสื่อประชาสัมพันธ์ของเพจและเว็บไซต์ ซึ่งเผยแพร่ความรู้ในเชิงวิชาการ รวมถึงมีการขอรับคำแนะนำจากคลินิกท่องเที่ยวโดยตรง

โดยเฉพาะคนไทยกลุ่มที่นิยมเที่ยวในประเทศที่มีความเสี่ยงสูง อย่าง แอฟริกา อเมริกาใต้ อินเดีย เนปาล หรือคนไทยที่นิยมเดินทางแบบท่องเที่ยวแบบผจญภัย ในสถานที่แปลกใหม่ เช่น การเดินทางบนเขาที่ประเทศเนปาล ที่จะต้องเตรียมตัวเพื่อเฝ้าระวังไฮอะติจูด หรือการแพ้ความสูงซึ่งจำเป็นต้องมียาป้องกันโรคที่มีความเสี่ยง

คลินิกท่องเที่ยวเปิดให้บริการมา 10 ปี ในระยะแรกนั้นมีคนเดินทางเข้ารับบริการประมาณ 100 คนต่อปี หรือ 10 คนต่อเดือน ปัจจุบันมีคนเข้ามารับบริการมากขึ้นเป็นหลักพัน โดยในปี 2558 มีคนที่เดินทางมาขอรับคำแนะนำกว่า 3 พันคนต่อปี หรือ 20-30 คนต่อวัน

สำหรับการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อนบ้านใกล้ๆ ต้องมีการปฏิบัติตัวอย่างไรขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของโรค รวมถึงสุขภาพและความแข็งแรงของแต่ละคน ตัวอย่างล่าสุดที่มีการระบาดของโรคโปลิโอในประเทศลาว พบว่าสถานการณ์มีคนไทยที่จะเดินทางไปลาวเข้ามาขอคำแนะนำเรื่องการเตรียมตัว บางรายขอให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ ซึ่งคลินิกท่องเที่ยวจะมีการพิจารณากันเป็นรายเคส เช่น หากเดินทางไปทำงาน และต้องพำนักที่ประเทศลาวเป็นระยะเวลาหลายวันนั้น จะแนะนำให้ฉีดวัคซีน

การรับมือเมื่อมีการเปิดเออีซี

นักเดินทางที่กล่าวถึงนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะนักท่องเที่ยวเท่านั้น เพราะมีทั้งคนที่เดินทางไปทำธุรกิจ และแรงงานอพยพ หรือแรงงานต่างด้าว ซึ่งพบว่าก่อนเปิดเออีซีนั้น ก็มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก พร้อมกับโรคที่เข้ามา เช่น วัณโรค ตับอักเสบ โรคติดเชื้อคอตีบ ไอกรน ซึ่งกลุ่มโรคเหล่านี้คนไทยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันแล้ว

นอกจากนี้ยังมีโรคมาลาเรียซึ่งพบในคนไทยไม่มากนัก ขณะที่ในคนต่างด้าวพบว่ามีจำนวนมาก โดยที่ผ่านมาโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนก็ให้การรักษาแก่แรงงานต่างด้าวอยู่เรื่อยๆ ซึ่งที่ผ่านมามีการหารือกันว่า เมื่อแรงงานต่างด้าวเข้ามาเป็นจำนวนมากแล้ว การป้องกันโรคระบาดควรต้องมีการวางแผนรับมืออย่างเข้มข้นมากขึ้นเช่นกัน เห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2558 กระทรวงสาธารณสุขมีการรณรงค์ฉีดวัคซีนคอตีบ และบาดทะยัก สำหรับคนอายุ 20-50 ปี

ทั้งนี้นโยบายในระดับกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคนั้น มีแผนครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งการลงทะเบียน การตรวจสุขภาพเบื้องต้น เอกซเรย์ปอด รวมถึงการซื้อบัตรสุขภาพของแรงงานต่างด้าว แต่กรณีที่มีแรงงานบางส่วนลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายนั้น กลุ่มนี้อาจนำโรคติดต่อเข้ามาได้ เพราะไม่ได้เข้าตรวจสุขภาพ จึงส่งผลให้การดำเนินการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 100% ที่วางไว้

เร่งพัฒนาหลักองค์ความรู้

นายแพทย์วศิน กล่าวว่า คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยว เปิดให้บริการมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว แต่เพิ่งเปิดหลักสูตรแพทย์เฉพาะทางมาประมาณ 3 ปี และบทบาทที่คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยว เป็นสถานการศึกษาที่มีการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนแพทย์เฉพาะทาง 2 แห่ง คือ ที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค ซึ่งรับสมัครแพทย์จบใหม่ที่ผ่านการทำงานใช้ทุน 3 ปี โดยสามารถสมัครเรียนต่อหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว เป็นระยะเวลา 3 ปี การเรียนต่อหลักสูตรที่นี่ ต้องเรียนควบคู่ไปกับการเรียนปริญญาโท เพราะนอกจากจะเป็นแพทย์เฉพาะทางที่เรียนรู้ในเชิงลึกของโรคติดเชื้อในเขตร้อนแล้ว ยังต้องเน้นงานด้านวิชาการ และการทำวิจัยเพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยเสริม

ปัจจุบันถือว่าองค์ความรู้ที่เป็นของประเทศไทยเองยังมีน้อยมาก เพราะที่ผ่านมานั้นเกือบทั้งหมดเป็นข้อมูลที่เป็นองค์ความรู้จากตะวันตก ทั้งเรื่องคำแนะนำเกี่ยวกับอัตราการเจ็บป่วยของคนไทยในต่างประเทศ และโรคที่ต้องระวังของแต่ละประเทศ ดังนั้นหลักการของคลินิก คือ การสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อที่จะนำมาปรับใช้กับคนไทย

โรคติดเชื้อที่มักเป็นปัญหาของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ จะเป็นโรคติดเชื้อเขตร้อนแทบทั้งสิ้น ขณะที่การเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาจะต้องรู้ว่ามีโรคประจำถิ่น เช่น ลามดีซิส ร็อกกี้เมาน์เทนฟีเวอร์ ส่วนการเดินทางไปอเมริกาใต้มีโรคชักกาดีซิส โรคเหล่านี้ต้องมีการเรียนรู้ว่า เมื่อเดินทางกลับมาแล้วจะต้องเฝ้าระวังโรคอะไรบ้าง เพราะเป็นโรคแปลกๆ ที่บ้านเราไม่เคยเจอ งานบริการรักษาให้คำแนะนำโรคสำหรับผู้ที่กำลังเดินทางนั้น จึงต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานและการทำงานวิจัยร่วมไปด้วย

บุคลากรที่มาทำงานด้านนี้ยังมีน้อยมาก ที่ผ่านมาเรียกว่าเป็นช่วงของการปูทาง ทั้งการผลิตอาจารย์ และงานวิจัย ในส่วนของบุคลากรนั้น มีทั้งโรงพยาบาลต้นสังกัด แพทย์จากกรมควบคุมโรค และแพทย์อิสระที่ต้องการเรียนต่อหลักสูตรนี้ สำหรับการผลิตแพทย์เฉพาะทางนั้น ขณะนี้มีทั้งหมด 3 รุ่นและกำลังศึกษาอยู่ โดยแพทย์ในรุ่นแรก 2 คน รุ่นที่ 2 จำนวน 5 คน และรุ่นที่ 3 อีก 5 คน ซึ่งยังมีจำนวนไม่มากนัก

กำลังโหลดความคิดเห็น