xs
xsm
sm
md
lg

“ภาพที่ดีที่สุดของผมคือ จังหวะชั่วพริบตา” นัท สุมนเตมีย์ นักถ่ายภาพใต้น้ำระดับแถวหน้าของเมืองไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
 
ART EYE VIEW---แด่พ่อ..ผู้สอนให้ผมรู้จักและรักทะเล คือคำอุทิศใน โอเคียนอส (Okeanos) หนังสือภาพใต้น้ำ ซึ่งรวมผลงานภาพถ่ายที่คัดเลือกมาจากผลงานตลอด 20 ปี ของ นัท สุมนเตมีย์ นักถ่ายภาพใต้น้ำระดับแถวหน้าของเมืองไทย

หนังสือเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้ และภาพถ่ายบางส่วนที่ตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ ถูกนำมาพิมพ์ลงบนผ้าใบ เพื่อจัดแสดงให้ผู้สนใจได้ชม ระหว่างวันนี้ - 29 มีนาคม พ.ศ.2559 ณ บริเวณผนังโค้ง ชั้น 3-4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ นัทหาทุนมาพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ซึ่งมีลักษณะเป็นหนังสือภาพปกแข็ง (Coffee Table Book) ด้วยการระดมทุนแบบ (Crowd funding ) ผ่านโซเชียลมีเดีย

กระทั่งสามารถระดมทุนได้ดังที่ตั้งเป้าไว้ และพลอยทำให้เขาได้รับรู้ด้วยว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ติดตามผลงานและให้กำลังใจเขามาโดยตลอด

ไปทำความรู้จัก เมื่อวานนี้ วันนี้ วันพรุ่งนี้ และหนังสือเล่มล่าสุดนี้  ของ นัท สุมนเตมีย์ ให้มากขึ้น ผ่านบทสัมภาษณ์นี้
 



:::หนังสือโอเคียนอสของคุณเขียนคำอุทิศให้คุณพ่อ ท่านมีอิทธิพลต่อการเป็นนักถ่ายภาพใต้น้ำของคุณอย่างไรบ้าง

พ่อผม (สุมน สุมนเตมีย์) เป็นนักดำน้ำรุ่นแรกๆของเมืองไทย ผมได้มีโอกาสไปดำน้ำกับคุณพ่อตั้งแต่เด็ก ผมได้มีโอกาสเห็นเกาะหลายๆแห่ง ตั้งแต่ครั้งที่มันยังเป็นเกาะร้างอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเกาะสิมิลัน ที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบัน ผมเห็นสิมิลัน ตั้งแต่ 30 ปีก่อน สมัยที่ยังไม่มีที่ทำการอุทยานไปตั้งอยู่ มีแต่ป้ายอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ผมไปกับพ่อ เพื่อนพ่อ และลูกของเพื่อนพ่อ ตอนนั้นผมอายุประมาณ 10 กว่าขวบครับ ไปกางเต็นท์นอนบนเกาะอยู่ 4 วัน

ผมถือว่าเป็นช่วงชีวิตที่ดีที่สุดช่วงนึงของตัวเอง เพราะว่าทุกวันนี้ ต่อให้มีเงินร้อยล้านพันล้านก็หาโอกาสอย่างผมไม่ได้อีกแล้ว เพราะว่าทุกวันนี้เกาะแทบทุกเกาะในเมืองไทย ถูกพัฒนาไปเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปหมดแล้ว

ผมยังเชื่อว่าการรักษาสภาพธรรมชาติ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการพยายามที่จะรักษาให้มันคงสภาพดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด แต่การพัฒนาส่วนใหญ่นำพามาซึ่งความเสื่อมโทรม ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกัน ไม่ควรเรียกว่าการพัฒนาด้วยซ้ำ

พ่อเป็นต้นแบบในการใช้ชีวิตของผม ผมรู้จักทะเลก็เพราะพ่อ ผมมีโอกาสใช้ชีวิตสมัยเด็ก ออกไปตกปลา ออกไปดำน้ำเพราะพ่อ

:::คุณเรียนจบมาทางด้านไหน

จริงๆผมใฝ่ฝันอยากจะเรียนด้านประมงนะครับ อยากเรียนวิทยาศาสตร์ทางทะเล มาตั้งแต่เด็ก แต่ผมเรียนสายศิลป์-ฝรั่งเศส ผมก็เลยเลือกเอนทรานซ์เข้าคณะวารสารศาสตร์(สาขาวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

:::หลายคนรู้จักคุณผ่านผลงานที่ตีพิมพ์ใน อนุสาร อสท. (นิตยสารรายเดือนเพื่อการท่องเที่ยว และอนุรักษ์ธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) คุณเริ่มต้นทำงานที่นี่เป็นที่แรกเลยหรือเปล่า

ใช่ครับ ผมเริ่มฝึกงานครั้งแรกกับ อสท. ตอนเรียนอยู่ ปี 3 ไปฝึกงานครั้งแรกก็ออกไปดำน้ำกับพวกพี่ๆที่กองบรรณาธิการเลย เพราะเรามีพื้นฐานอยู่แล้ว มีอุปกรณ์ถ่ายภาพใต้น้ำของพ่ออยู่แล้ว

ตลอดหลายปี ผมเป็นฟรีแลนซ์ ทำงานส่งให้ อสท.เป็นชิ้นๆ ไม่ได้เป็นพนักงานประจำ ผมใช้เวลาอยู่ตั้งนาน กว่าจะได้ทำงานให้ที่นี่ เพราะ อสท.เป็นรัฐวิสาหกิจ การจะเข้าไปทำงานก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผมโชคดีที่ว่า แม้ผมจะเรียนจบแล้ว ผมยังตามไปฝึกงานที่นี่ต่ออีกหลายเดือน

การที่เราจะทำงานสารคดี สำหรับผม ผมเชื่อว่า สิ่งสำคัญที่สุดต้อง สิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งที่เรารู้จัก เรามีเรื่องราวที่จะเล่า ผมคิดว่าผมมีความรู้เรื่องทะเลพอสมควร สามารถเล่าเรื่องราวที่ผมรู้แบ่งปันให้กับคนอื่นได้

(นัทเป็นนักเขียนและช่างภาพฟลีแลนซ์ให้กับกองบรรณาธิการอนุสาร อสท ระหว่างปี 2537-2542 จากนั้นในปี 2543 ได้ร่วมก่อตั้งหนังสือ Nature explorer ร่วมกับ ดวงดาว สุวรรณรังษี และทำงานในฐานะบรรณาธิการภาพมาจนถึงปี พ.ศ. 2550 ก่อนจะออกมาทำงานเป็นนักเขียนและช่างภาพอิสระอย่างเต็มตัว)


:::ก่อนจะระดมทุนเพื่อตีพิมพ์หนังสือ โอเคียนอส คุณเคยมีผลงานรวมเล่มเป็นหนังสือมาก่อนหรือเปล่า และยังมีงานอะไรอีกบ้างที่คุณทำทั้งที่ผ่านมาและปัจจุบัน

ผมเคยมีหนังสือที่เป็นลักษณะไดอารี่ออกมาประมาณ 3- 4 เล่ม มีหนังสือที่ทำร่วมกับคนอื่น ชื่อ Andaman and Beyond โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมีหนังสือ 50 ช่างภาพ ที่ก็ทำร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเหมือนกัน

นอกจากนี้ตอนปี พ.ศ. 2539 ผมเคยได้รับเชิญให้ไปถ่ายภาพให้กับหนังสือภาพถ่าย Thailand : 9 Days in the Kingdom (รวมผลงาน 50 ช่างภาพระดับแนวหน้าทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมพรรษา ครบ 80 พรรษา ในปี 2550)

เมื่อประมาณ 2—3 ปีที่แล้ว ผมเคยเป็น 1 ใน 30 ช่างภาพ ที่ไปถ่ายภาพให้กับโครงการ 7 days in Myanmar แต่งานหลักๆของผมที่ผ่านมาคืองานถ่ายภาพใต้น้ำ

ระยะหลังมานี้ผมมีงานถ่ายภาพวีดีโอใต้น้ำด้วย โดยผมใช้กล้องตัวเดียวกันกับกล้องที่ใช้ถ่ายถ่ายภาพนิ่ง คือกล้อง DSLR (Digital Single Lens Reflex หรือกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวระบบดิจิตอล)

ย้อนไปสมัยที่ใช้กล้องฟิล์ม ผมไม่ค่อยเปลี่ยนกล้อง ผมใช้กล้องมาประมาณ 2—3 ตัวเอง แต่พอถึงยุคดิจิตัล มันต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ไปตามเวลา ผมเปลี่ยนไป 3-4 ตัวแล้วครับ ปัจจุบันผมใช้กล้อง Canon 1d

เหตุที่ผมหันมาทำงานถ่ายวีดีโอใต้น้ำด้วย เพราะเป็นการว่าจ้างของทีมรายการสารคดีใต้น้ำทีมหนึ่งของคนไทย ชื่อรายการ “ใต้โลกโสภา” ผมเดินทางไปบันทึกภาพเพื่อทำสารคดี เก็บ footage (ฟิลม์หรือคลิปภาพยนตร์ ระยะยาวเป็นฟุตๆ) มา 5-6 ปีแล้วครับ แต่ว่าตอนนี้ยังไม่ได้ช่อง ยังไม่ได้เวลาออกอากาศ


:::หนังสือภาพใต้น้ำเล่มล่าสุดของคุณ แนวคิดหรือหัวใจหลักที่ต้องการนำเสนอคืออะไร

เพื่อที่จะเล่าถึงมหาสมุทร,ผู้ที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทร และเล่าว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทร ในมุมกว้างๆ ภาพถ่ายในหนังสือผมคัดเลือกมาจากผลงานของผมตลอด 20 ปี ภาพถูกแบ่งออกเป็นหมวดๆ ได้แก่ Home(บ้านหลังใหญ่),Servive (ชีพชนม์),Mysterious(เร้นลับ),Love(ความรัก) และMoment&Movement(ลีลา)

:::โอเคียนอส ชื่อหนังสือ มีที่มาอย่างไร

โอเคียนอส เป็นภาษากรีก หมายถึง เทพแห่งท้องทะเล หรือ โอเคียเนียอุส ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า โอเชี่ยน(Ocean) ในปัจจุบัน แต่หนังสือที่ใช้คำว่า Ocean เป็นชื่อหนังสือมีอยู่ 30-40 เล่มแล้วมั้งในโลกนี้ ผมเลยพยายามหาคำว่าโอเชี่ยนที่เป็นภาษาอื่นมาตั้งเป็นชื่อหนังสือ

:::ทำไมถึงเลือกใช้วิธีระดมทุน เพื่อพิมพ์หนังสือ

เพราะการทำหนังสือภาพแบบนี้ใช้เงินทุนเป็นล้านนะครับ ผมไม่มีเงินทุนเป็นล้าน ผมจึงเริ่มระดมทุนมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปีที่แล้ว (พ.ศ.2558) ผมตั้งเป้าไว้ว่าผมจะพิมพ์ 1,000 เล่ม โดยใช้เงินจากการระดมทุน 500 เล่ม(เล่มละ 2,500 บาท) หลังจาก 500 เล่มแจกจ่ายให้กับผู้ที่เราระดมไปหมดแล้ว ผมก็จะขายอีก 500 เล่มที่เหลือ ซึ่งส่วนนี้ก็จะเป็นเหมือนกับค่าตอบแทนของผมและทีมงานในการทำงาน

:::ไม่มีพิมพ์เพิ่มอีกแล้ว

คงไม่แล้วครับ เพราะว่ามันคือคำให้สัญญาระหว่างเรากับผู้ที่ร่วมระดมทุน และผมเคยบอกว่า ถ้าระดมทุนได้ไม่ถึง 500 เล่ม ผมก็จะไม่พิมพ์ แต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาเราระดมทุนได้ตามเป้าพอดี แต่ ณ วันนี้ผมก็และทีมงานทุกคนก็ยังไม่ได้ค่าตอบแทน เราจะได้ค่าตอบแทนต่อเมื่อ เราเริ่มขายเล่มที่ 501 ได้



:::ตลอด20 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ภาพถ่ายของ นัท สุมนเตมีย์ พยายามจะสื่อสารเรื่องอะไรกับผู้คนมากที่สุด

ผมเดินทางมาแล้วทั่วโลก ผมใช้เวลาเยอะมากในการทำงาน ผมเชื่อว่าภาพที่ดีที่สุดของผมคือ Moment คือ จังหวะชั่วพริบตาที่เกิดขึ้นนะครับ ผมชอบถ่ายภาพสัตว์ Moment ที่สัตว์มี Interaction(ปฏิสัมพันธ์) กับเรา ภาพถ่ายของผม มันจะส่งผ่านไปให้กับคนดูรู้สึกได้ว่า นี่แหล่ะคือชีวิต

:::คุณคำนึงถึงความสวยงามของภาพ หรือในแง่ศิลปะภาพถ่ายอย่างไรบ้าง

ตอบยากเนอะ เราไม่ได้เค้นมันออกมา อย่างที่ผมบอกครับ งานของผมถ่ายทอด Moment หรือจังหวะชั่วพริบตาของสิ่งที่ผมถ่าย ผมเชื่อในการเดินทางไปเห็น และมันมีสัญชาตญาณบอกว่านี่แหล่ะใช่ ของบางอย่างมันเล่ายากเหมือนกันว่ามันใช่แล้ว

แต่ผมรู้สึกว่าอีกสิ่งหนึ่งที่ผมพยายามจะทำคือ การนำคนที่อยู่ห่างไกลเหมือนได้ร่วมเดินทางไปกับผมอยู่ ณ ตรงนั้น ผ่านภาพถ่ายของผม

:::อะไรคือสิ่งที่คุณพยายามจะถ่ายทอดให้กับช่างภาพคนอื่นๆ ในเวลาที่ถูกเชิญไปเป็นวิทยากร

อย่างที่บอก ผมเชื่อใน Moment จังหวะที่เรามองเห็น เพราะจริงๆแล้วด้วยอุปกรณ์ที่พัฒนาไปไกลในทุกวันนี้ ผมว่าเรื่องของการกดชัตเตอร์ เด็กมัธยมก็กดได้ แต่ว่าการที่เราได้พาตัวเราไปอยู่ตรงนั้น ณ เวลานั้น มันอาจต้องใช้ความรู้จากการฝึกฝนและประสบการณ์

:::ต่อจากนี้ไป คุณวางแผนการทำงานของตัวเองไว้อย่างไร

ยังไม่ได้วางแผนอะไรเลยครับ แต่จะพยายามเดินทางเหมือนเดิมครับ

:::คุณเคยจัดทริปพาคนอื่นๆไปถ่ายภาพใต้น้ำด้วยกันหรือไม่

ผมยังไม่เคยจัดทริปพาใครไปดำน้ำหรือถ่ายภาพใต้น้ำ แต่วันหนึ่งจะเริ่ม เพื่อพาพวกเขาไปเห็นโลกที่ผมเคยไปเห็น หลายคนเคยไปทริปเดียวกับผม เพราะการไปดำน้ำหรือถ่ายภาพใต้น้ำของผมแต่ละครั้ง บางทีผมก็ไปร่วมกับคนอื่นบ้าง

:::เดินทางมาแล้วทั่วโลก มีท้องทะเลหรือมหาสมุทรไหนที่ประทับใจมากที่สุดไหม

ทุกที่มี Moment ที่ผมประทับใจ ตอบไม่ได้หรอกนะครับว่า “ตองกา” ดีกว่า “กาลาปากอส” หรือว่าดีกว่า “เมืองไทย” หรือเปล่า เพราะว่าถ้าที่ไหนดีกว่าที่อื่น ผมคงเลือกรูปที่นั่นลงที่เดียว ครับ ทุกที่มี Moment ที่ดี เหมือนทุกวันในชีวิตเราที่มี Moment ที่ดีโผล่เข้ามา



:::โลกใต้มหาสมุทรสอนอะไรให้กับชีวิตคุณมากที่สุด

(ยิ้มและคิดอยู่นานก่อนที่จะตอบ) นึกไม่ออก เป็นคำถามที่ยากมาก (นัทจึงหันไปถามน้องๆทีมงาน น้องผู้หญิงคนหนึ่งตอบว่า ...จังหวะที่ดี มันไม่ได้มีอยู่เสมอ)....ถูก....(แล้วหันไปถามน้องผู้ชายบ้าง ได้รับคำตอบว่า....ได้รู้ว่า...เราไม่น่าทำ) ถ้าเลือกทำอย่างอื่น เราคงจะรวยกว่านี้ (น้องผู้ชายบอกเพิ่มเติม...เราบังคับทุกอย่างในโลกนี้ไม่ได้ )...ถูก...เราเป็นส่วนหนึ่งของมัน เราเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์

:::ทุกวันนี้คุณมีความเป็นห่วงในท้องทะเลหรือมหาสมุทรอย่างไรบ้าง

บางทีเราเป็นห่วง เราก็ได้แต่เป็นห่วง แต่เราทำอะไรไม่ได้ สิ่งที่ผมพยายามจะพูดตลอด 20 ปี ก็คือว่า ทะเลไม่ใช่แค่น้ำเค็มๆที่ทำให้เราแสบตา ทะเลในความหมายของคนส่วนใหญ่ก็คือที่ๆมีให้เราไปเดินชายหาด แต่งตัวสวยๆไปถ่ายรูป แต่ความจริงแล้วเนี่ย ทุกๆอนูของน้ำทะเลมันคือชีวิต ตักน้ำขึ้นมาหนึ่งแก้ว ในนั้นมีชีวิตไม่รู้เท่าไหร่ ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งนะครับว่า ถ้าเราเคารพธรรมชาติแล้ว ธรรมชาติก็เคารพเรา

:::เวลานึกถึงตัวเอง นอกจาก “นักถ่ายภาพใต้น้ำ” คุณคิดว่าตัวเองเป็น “นักอนุรักษ์” ด้วยหรือไม่

ผมเป็นนักถ่ายภาพครับ ผมไม่ได้ทำงานด้านการอนุรักษ์ ผมคิดว่าในสังคมเราตอนนี้ ก่อนที่เราจะข้ามไปพูดถึงเรื่องการอนุรักษ์ สิ่งสำคัญที่เราต้องรู้คือ คนในสังคมยังมีความรู้เกี่ยวกับทะเลค่อนข้างน้อย ...ไม่รู้ ก็เลยไม่รัก ไม่ห่วงใย.. การอนุรักษ์เนี่ย ถ้ามันเริ่มต้นจากความผูกพัน ผมเชื่อว่ามันเป็นไปตามกลไกของมันเอง โดยที่ไม่ต้องไปบอกว่า เราต้องอนุรักษ์กันนะ เพื่อนู่นเพื่อนี่ ความจริงแค่เราเข้าใจ มันไม่ต้องไปหว่านล้อมหรือไปบอกกันเลยว่าต้องอนุรักษ์ เพราะมันเป็น common sense ของคนทั่วไปที่จะหวงแหน

คำว่านักอนุรักษ์ในความหมายของคุณคืออะไร ต้องออกมาเดินประท้วง หรือ พยายามทำในสิ่งที่เราทำได้ ผมเชื่อว่าการเป็นนักอนุรักษ์มันมีหลายฟังก์ชั่น หลายมิตินะครับ ผมอาจจะไม่ใช่ฝ่ายบู๊  ออกไปประท้วง ห้ามไม่ให้สร้างเขื่อน ไม่นู่น ไม่นี่ แต่ผมก็ไม่ใช่คนที่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน

ฟังก์ชั่นของผมอาจจะไม่ใช่การออกไปบู๊ แต่ผมเชื่อในเรื่องของการให้ความรู้กับคน และเป็นความรู้ที่ถูกต้องด้วย

รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ ภาพโดย : ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย และ ART EYE VIEW






ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews


แพทย์ชี้ภัยจากสุขภาพเทียบชั้นก่อการร้าย                                                                                      ผลิตหมอเฉพาะทางรับมือโรคจากการเดินทาง!
แพทย์ชี้ภัยจากสุขภาพเทียบชั้นก่อการร้าย ผลิตหมอเฉพาะทางรับมือโรคจากการเดินทาง!
แพทย์โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ระบุภัยจากปัญหาสุขภาพ จากการเดินทางไปต่างประเทศน่ากลัว ไม่แพ้ภัยจากการก่อการร้าย ทั้งที่เกิดจากเดินทางท่องเที่ยว การติดต่อธุรกิจ การแสวงบุญ หรือแม้กระทั่งการชมคอนเสิร์ต และการแข่งขันกีฬาระดับโลก ล้วนแต่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพทั้งสิ้น แนะวิธีป้องกันตัวในการเดินทางปลอดภัยไร้เสี่ยงติดเชื้อ โดยเฉพาะคนไทยที่นิยมเดินทางไปแอฟริกา อเมริกาใต้ อินเดีย เนปาล ตะวันออกกลาง รวมไปถึงการเปิดเออีซี ที่มีการเคลื่อนย้ายภาคแรงงาน แจงประเทศไทยให้ความสำคัญกับโรคที่มาจากการเดินทาง พร้อมเปิดหลักสูตรแพทย์เฉพาะทาง เพื่อผลิตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญโรคที่เกิดจากการเดินทางทั่วโลก ขณะเดียวกัน “สธ.” เร่งภายในปี 59 เปิด “คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยว” ใน 13 เขตสุขภาพ ซึ่งเป็นจังหวัดสำคัญที่มีการเข้า-ออกจากนักเดินทางเพื่อป้องกันโรคระบาดที่จะเกิดตามมา
กำลังโหลดความคิดเห็น