xs
xsm
sm
md
lg

เงินท่วมโลกกดดอกเบี้ยต่ำยาว หมดยุควัยเกษียณฝากแบงก์กินดอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นักการเงินคาดดอกเบี้ยทั่วโลกต่ำอีกนาน หลังเศรษฐกิจประเทศใหญ่พร้อมใจกันเกิดวิกฤต อัดเงินท่วมโลก กดดอกเบี้ยติดลบ หวังจีนอย่าแย่ไปกว่านี้ ส่วนไทยบาทเริ่มแข็งซ้ำเติมส่งออก ชี้คนสูงวัยพึ่งดอกเบี้ยฝากเลี้ยงชีพทำใจรับสภาพ นอกจากต่ำอีกนานแล้วมีโอกาสที่จะลดลงได้อีก บีบให้ต้องเดินสู่พื้นที่เสี่ยงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า เตือนมนุษย์เงินเดือนภาคเอกชนไม่เริ่มต้นออมบั้นปลายชีวิตลำบาก

นับได้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกในเวลานี้ไม่อยู่ในภาวะปกติ ประเทศมหาอำนาจใหญ่ทั้งสหรัฐอเมริกา ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ล้วนมีปัญหาเศรษฐกิจ ไม่นับรวมญี่ปุ่นที่สภาพเศรษฐกิจซึมมานานนับสิบปี

แม้ทั้งสหรัฐฯ และกลุ่มยุโรปจะแก้ปัญหามาได้ระยะหนึ่ง สหรัฐฯ เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อปลายปี 2558 ยุโรปยังไม่ฟื้นอย่างชัดเจน เมื่อเศรษฐกิจของประเทศเสาหลักในการบริโภคแย่ลง การส่งออกของหลายๆ ประเทศก็ต่างประสบปัญหา แถมยักษ์ใหญ่อย่างจีนแสดงอาการถดถอยของเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น แม้เศรษฐกิจจีนยังเติบโตแต่จะเป็นการเติบโตที่น้อยลง มีการลดค่าเงินหยวนเพื่อประคับประคองสถานการณ์

ขณะที่ญี่ปุ่นก็ออกประกาศที่หลายฝ่ายไม่คาดคิดเมื่อ 29 มกราคม 2559 เมื่อธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารพาณิชย์ในอัตรา -0.1% จะคิดเฉพาะสภาพคล่องที่เกินกว่าระดับของทุนสำรองที่ BOJ กำหนดไว้ เงินในโครงการเพิ่มสภาพคล่องดอกเบี้ย 0.1% และเงินที่ไม่เกินเกณฑ์กันสำรองดอกเบี้ย 0% เริ่มมีผลบังคับใช้ 16 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป

นับเป็นเหตุการณ์ที่หลายคนไม่เคยคิดว่าเศรษฐกิจของโลกจะมาถึงขั้นที่ดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ แม้ญี่ปุ่นจะไม่ใช่ชาติแรกที่ใช้ เพราะก่อนหน้านี้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศให้ดอกเบี้ยยูโรติดลบที่ 0.3%

โชคดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ตามเดิม โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินประชุมเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2559 เห็นว่า นโยบายการเงินในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ผ่อนปรน และควรรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย รวมทั้งยังคงต้องระมัดระวังความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการด้านต่างๆ อย่างใกล้ชิด และพร้อมจะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ

ยักษ์ใหญ่ป่วยพร้อมกัน

เมื่อเงินฝากเริ่มไม่มีความจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยจึงค่อยๆ ปรับตัวลดลง ถึงขั้นดอกเบี้ยติดลบนั้นยังไม่เคยเกิดขึ้น แต่วันนี้เราได้เห็นแล้วว่าแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของบางประเทศทำให้เกิดภาวะเงินท่วมโลก

ด้วยเศรษฐกิจที่ซับซ้อนขึ้น โลกการค้าเชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียว เมื่อประเทศหนึ่งประสบปัญหาประเทศอื่นก็ต้องกระทบตามไปด้วย แนวทางการแก้ปัญหาภายใต้กรอบเดิมๆ ไม่สามารถฝ่าวิกฤตที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นเราจึงได้เห็นการอัดฉีดเงินมหาศาลเข้ามากอบกู้สถานการณ์ ฉีกกฎเกณฑ์เดิมๆ ที่เคยมีอยู่

ปริมาณเงินที่อัดฉีดทั้งจากสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น กลายเป็นภาระกับสถาบันการเงินต่างๆ เพราะการปล่อยกู้ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ภาคธุรกิจต่างๆ ก็ต้องระมัดระวัง การขยายกิจการเพิ่มหรือลงทุนใหม่ก็ต้องชะลอออกไปเพื่อรอดูสถานการณ์ เมื่อมีปริมาณเงินท่วมระบบ ปล่อยกู้ไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเมื่อลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้วจะมีผู้มาขอกู้

“ในอดีตปัญหาทางเศรษฐกิจแม้จะเกิดขึ้นกับประเทศหนึ่ง แต่ประเทศที่เหลือที่ไม่ประสบเหตุก็จะเป็นตัวประคับประคองให้เศรษฐกิจประเทศนั้นค่อยๆ ฟื้นตัว แต่เวลานี้มหาอำนาจที่มีกำลังซื้อสูงพร้อมใจกันเกิดปัญหา จึงไม่มีประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่พอที่จะมาช่วยพยุงไว้ได้ กลายเป็นแย่กันไปหมดแทบทุกประเทศ” นักเศรษฐศาสตร์มหภาคกล่าว

หลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นติดลบ มีเงินส่วนหนึ่งไหลเข้ามาประเทศไทยในตลาดพันธบัตรระยะสั้นบ้างแล้ว ผลคือทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ขณะนี้ยังประเมินไม่ได้เพราะที่ญี่ปุ่นจะเริ่มใช้วันที่ 16 กุมภาพันธ์ หากมีเงินไหลเข้ามามากค่าเงินบาทก็จะแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 1 ปีอยู่ที่ประมาณ 1.44% สูงกว่าในหลายประเทศ โอกาสที่เงินทุนเหล่านั้นจะไหลเข้ามากินส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยก็มีความเป็นไปได้ หากเข้ามาจนค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้นย่อมกระทบต่อภาคการส่งออกอีกทาง ที่ผ่านมาเงินบาทเราอ่อนไปที่ 36.325 บาท และเริ่มแข็งค่าขึ้นอยู่ที่ 35.24-35.6 บาท

ส่งออกเราก็เจอปัญหาเรื่องกำลังซื้อในต่างประเทศมีน้อย หากมาเจอเรื่องค่าเงินอีก สินค้าจากไทยก็จะมีราคาแพงขึ้น กลายเป็นโชคร้าย 2 ชั้นที่เข้ามา เมื่อสินค้าขายไม่ได้สุดท้ายก็จะวนกลับมาที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะทำได้ 3% หรือไม่
ดอกเบี้ยเงินฝากของไทย (ที่มา : www.tradingeconomics.comthailanddeposit-interest-rate-percent-wb-data.html)
ภาวนาจีนอย่าทรุด

ตอนนี้ทุกประเทศก็ตกอยู่ภายใต้ภาวะดอกเบี้ยต่ำกันทั้งสิ้น การตัดสินใจของธนาคารกลางญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งมาจากการถดถอยของภาวะเศรษฐกิจจีน จนทำให้ต้องออกมาตรการใหม่ออกมา เพราะญี่ปุ่นเองก็อยู่ในสภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศซบเซามานาน

ต้องดูต่อไปว่าเมื่อมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้วจะทำให้ค่าเงินเยนอ่อนลงมากน้อยเพียงใด และญี่ปุ่นจะมีการใช้วิธีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มอีกหรือไม่ รวมไปถึงกลุ่มสหภาพยุโรปและจีนจะอัดเงินเข้าระบบอีกเท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ดอกเบี้ยทั่วทั้งโลกต้องปรับลดลง

หากจีนสามารถประคองเศรษฐกิจต่อไปได้ สถานการณ์ก็จะซึมไปอย่างนี้อีกนาน แต่ถ้าเศรษฐกิจจีนแย่ทุกประเทศก็จะลำบาก เงินหยวนจะอ่อนค่าลง จะเกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนกันมากขึ้น ตรงนี้ต้องขึ้นอยู่กับวิธีการจัดการของธนาคารแห่งประเทศไทยว่าจะตัดสินใจอย่างไร จะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดซึ่งก็จะกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวมอีกเช่นกัน ถือเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากในการบริหารจัดการ

ดอกเบี้ยต่ำอีกนาน กระทบทุกวงการ

ภายใต้สภาพการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำทั่วโลก เพื่อประคับประคองให้เศรษฐกิจของแต่ละประเทศผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปให้ได้ นอกจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ในสภาพที่ถดถอย ไม่เป็นไปตามคาดการณ์แล้ว ยังมีแรงกระทบไปถึงทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชน ทั้งเรื่องความอยู่รอดของภาคธุรกิจและความมั่นคงในการทำงานของแรงงานต่างๆ

ไม่เพียงแค่ประชากรในวัยทำงานภาคเอกชนที่ต้องอาจถูกผลกระทบทั้งเรื่องค่าจ้าง เงินเดือน โบนัสหรือสวัสดิการต่างๆ ที่อาจต้องช่วยนายจ้างประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นไป แม้กระทั่งผู้ที่พ้นวัยทำงานไปแล้วก็กระทบด้วยเช่นกัน จากปัจจัยของอัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำลง

นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ นักบริหารการเงิน กล่าวว่า เราเคยพูดเมื่อ 10 กว่าปีมาแล้วว่าดอกเบี้ยจะเป็นขาลง ผลตอบแทนที่ต่ำลงนั้นเริ่มเกิดขึ้นหลังจากปี 2540 เรื่อยมา ยิ่งสถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในเวลานี้ เชื่อว่าอีก 10 ปีจากนี้แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยก็จะอยู่ในทิศทางต่ำต่อไป เศรษฐกิจโลกโตช้าลง เพราะไม่มีประเทศไหนเข้ามาช่วยประคับประคองเหมือนก่อน

ผู้ที่พึ่งพารายได้จากดอกเบี้ยในการดำรงชีพจึงลำบาก ต้องหาทางนำเงินมาลงทุน จำเป็นต้องเดินไปสู่พื้นที่ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งในปีนี้ช่องทางการลงทุนอื่นๆ ก็มีความเสี่ยงสูง เช่น น้ำมันหรือทองคำ ควรหลีกเลี่ยง ตลาดหุ้นก็ยังพอได้บ้างเล็กน้อย ส่วนตราสารหนี้ก็ให้ผลตอบแทนที่ไม่สูง

อย่างไรก็ตามสถานการณ์จากนี้ไปสำหรับประเทศไทย ไม่อาจเปรียบได้กับญี่ปุ่นที่แม้จะอยู่ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมาเป็นเวลานานตั้งแต่ 1980 ทั้งนี้เป็นเพราะคนญี่ปุ่นมีเงินออม เพียงแค่กังวลกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนญี่ปุ่นผ่านความทุกข์ยากในช่วงสงครามโลกมาก่อน แตกต่างจากคนไทย

ดังนั้นคนไทยควรต้องออมเงินมากขึ้นและบริโภคให้น้อยลง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับภาวะดอกเบี้ยต่ำเช่นนี้

คนพึ่งดอกเบี้ยเงินฝาก-ลำบาก

“ดอกเบี้ยที่ต่ำอยู่ในเวลานี้ ไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าจะไม่ลดลงไปอีก ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ หากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวก็ดีไป แต่ถ้าลากยาวไปอย่างนี้เราจะต้องหาทางเตรียมตัวเพื่อรับมือ” แหล่งข่าวจากวงการธนาคารกล่าว

กลุ่มที่ทางเลือกน้อยคือผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณ คนที่เป็นข้าราชการกินบำนาญก็รอดไป แม้จะเลือกรับบำนาญแต่ในระยะหลังรัฐบาลมักจะมีการปรับเพิ่มเงินบำนาญให้อีก อย่างปี 2558 ปรับเพิ่มเงินให้ข้าราชการบำนาญอีก 4% ทำให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างไม่ลำบากแม้ค่าครองชีพจะเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนคนที่ไม่มีบำนาญการหวังพึ่งเงินเก็บ ฝากเงินไว้กินดอกเบี้ยจะต้องรับบทหนักที่สุด ทุกวันนี้ดอกเบี้ยออมทรัพย์อยู่ที่ 0.5% ดอกเบี้ยฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ราว 1.5% หักภาษี 15% จะเหลือดอกเบี้ยสุทธิเพียง 1.275% เพียงพอต่อการดำรงชีวิตหรือไม่

เดิมพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 ปี ผลตอบแทน 3% ที่เปิดขายจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ช่วงต้นปียังหาซื้อได้ แต่ก็หมดลงอย่างรวดเร็วภายในเดือนมกราคม และยังไม่มีทีท่าว่าจะมีการออกพันธบัตรรัฐบาลออกมาอีกหรือไม่ ขณะที่โปรโมชันเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ก็มีน้อยลง ล่าสุดมีของธนาคารกรุงไทย ดอกเบี้ยราว 1.65-1.7% เท่านั้น จะเห็นได้ว่าตอนนี้ทางเลือกของผู้มีเงินออมเหลือน้อยลง แม้ในอนาคตจะมีการรับฝากรอบใหม่แต่ดอกเบี้ยจะลดลงไปอีก

คนที่มีเงินเก็บออมน้อย คงไม่สามารถพึ่งรายได้จากดอกเบี้ยเพื่อดำรงชีพได้เหมือนสมัยก่อน เพราะทิศทางดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะลดลงไปอีก คนที่ไม่มีทางเลือกจำเป็นต้องประหยัดการใช้จ่ายลง หรือต้องพยายามหารายได้เสริม ไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย ทำงานหารายได้เพิ่มหรืออาจจำเป็นต้องพึ่งพาลูกหลานมากขึ้น

ส่วนคนที่พอมีความพร้อมในการรับความเสี่ยง จากเดิมที่ฝากเงินกินดอกเบี้ยกับสถาบันการเงินที่มั่นคงความเสี่ยงแทบจะเป็นศูนย์ อาจต้องยอมเสี่ยงมากขึ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินไว้ที่เดิม

ตอนนี้หากเป็นตระกูลเงินฝากมีกลุ่มที่เป็นบริษัทเครดิตฟองซิเอร์และบริษัทเงินทุน รับฝากเงินอยู่ผลตอบแทนอยู่ที่ 3-4% ซึ่งบริษัทเหล่านี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขในการคุ้มครองเงินฝากจากสถาบันประกันเงินฝาก ขึ้นอยู่กับว่าท่านจะกล้าหรือไม่

หรือจะมองหาหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่เสนอดอกเบี้ยราว 3-5% ทั้งนี้ต้องศึกษาถึงระดับความเสี่ยงทั้งจากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ประเภทของหุ้นกู้ให้ดีก่อนตัดสินใจ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มกองทุนรวมทั้งตราสารหนี้และตราสารทุนให้เลือก แต่ต้องศึกษาให้ดีก่อน

อีกหนึ่งทางเลือกคือการยอมได้รับผลตอบแทนน้อย แต่หวังเรื่องของโชคเข้ามาพ่วงด้วยคือสลากออมทรัพย์ที่มีของธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ส่วนใหญ่มีอายุ 3 ปี เงินต้นอยู่ครบได้ดอกเบี้ยสูงกว่าออมทรัพย์เล็กน้อย ที่เหลือเป็นเรื่องของดวง

ทางเลือกอื่นที่มีความเสี่ยงมากกว่านี้ แม้ว่าอาจจะได้ผลตอบแทนสูง แต่อยากให้คำนึงว่าถ้าผิดพลาดขึ้นมาเงินออมก้อนสุดท้ายของชีวิตจะร่อยหรอลงไป เพราะผู้ที่พ้นวัยทำงานจะต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ต้องเตรียมเงินจำนวนหนึ่งเพื่อใช้จ่าย เตรียมไว้สำหรับค่ารักษาพยาบาล

ไม่มีเงินออม-บั้นปลายลำบาก

สำหรับผู้ที่ยังอยู่ในวัยทำงานการใช้จ่ายอย่างประหยัด เก็บออมเงินให้มากขึ้น ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งนับจากนี้ไป เพราะความไม่แน่นอนอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในภาคเอกชนที่อ่อนไหวกับสถานการณ์ของเศรษฐกิจ

ลักษณะการออมก็ไม่แตกต่างไปจากแนวทางที่กล่าวมา เลือกได้ว่าต้องการความเสี่ยงต่ำหรือเสี่ยงมากขึ้น หากต้องการความคุ้มค่าควรเลือกออมที่สามารถนำมาใช้หักลดหย่อนภาษีได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ประกันชีวิต กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือหุ้นระยะยาว

ผู้ที่อยู่ในภาคเอกชนต้องวางแผนในอนาคตไว้ให้ดี ปัจจุบันมีระบบประกันสังคมเข้ามาช่วยในเรื่องเงินบำเหน็จ บำนาญ ลองคำนวณให้ดีว่าวันที่ท่านพ้นวัยทำงานไปแล้วต้องรับเงินบำนาญจากประกันสังคมเดือนละ 5-6 พันบาทนั้นท่านสามารถดำรงชีพได้หรือไม่ หากไม่เพียงพอท่านก็ต้องเก็บออมให้มีเงินสักก้อนเพื่อไว้ใช้จ่าย ดังนั้นใครที่เริ่มออมได้เร็วกว่าย่อมได้เปรียบกว่าผู้ที่เริ่มต้นออมช้า

บางท่านวางแผนไว้ใช้เงินบำนาญจากประกันสังคมส่วนหนึ่ง หาดอกผลจากเงินก้อนที่เก็บออมไว้ส่วนหนึ่ง แต่ดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงย่อมทำให้ท่านได้ผลตอบแทนที่น้อยลงตามไปด้วย การที่จะอยู่บ้านเฉยๆ ใช้เงินที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ท่านอาจต้องออกไปหารายได้เพิ่ม ตามความรู้ความสามารถที่ท่านมี เพื่อสามารถดำรงชีวิตอยู่ให้ได้

กำลังโหลดความคิดเห็น