xs
xsm
sm
md
lg

ศาลสิ่งแวดล้อม ทางออกโลกทุนนิยม เอื้อ “ทุน-ชุมชน–ธรรมชาติ” อยู่ร่วมกันได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยเหลือและสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการบริหารจัดการในอำนาจตุลาการ เพิ่มความเชี่ยวชาญทางคดีของผู้พิพากษาและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ส่งผลให้ผู้เสียหายได้รับการแก้ไขและเยียวยาอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอเป็นเวลานานนับ 10 ปี ขณะที่การลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศยุคทุนนิยมส่งผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมอย่างรุนแรง คดีดังๆ ผุดเป็นดอกเห็ด ทั้ง ปตท.เคมิคอล ไฟไหม้โรงขยะแพรกษา โรงไฟฟ้ากระบี่ คดีเหมืองทองเลย-พิจิตร และเหมืองโปแตชที่อุดร รัฐจึงต้องหาวิธีจัดการและบูรณาการเพื่อให้ ‘ทุน-ชุมชน-ธรรมชาติ’ อยู่ร่วมกันได้

คดีสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหามลพิษทั้งทางน้ำ ทางอากาศ และปัญหาดินเสื่อมโทรม ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่คดีสิ่งแวดล้อมที่ใช้วิธีการพิจารณาคดี โดยแผนกคดีสิ่งแวดล้อมของศาลแพ่งอาจจะไม่ทันกับสถานการณ์ เพราะปัญหาเหล่านี้นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ทำให้ระบบนิเวศขาดความสมดุล น้ำชั้นใต้ดินเปลี่ยนสภาพ เกิดอุทกภัยหรือภัยแล้งในหลายพื้นที่แล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพอนามัยและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมากอีกด้วย

ดังนั้นปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทั้งในเรื่องการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และการเยียวยาประชาชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งปัจจุบันสมาคมนักกฎหมายพิทักษ์สิ่งแวดล้อมได้เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้มีการพิจารณาจัดตั้ง “ศาลสิ่งแวดล้อม” ไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีกฎหมายเป็นการเฉพาะที่จะสามารถบังคับใช้ได้เพื่อเตรียมรับมือกับวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมในอนาคต
แฟ้มภาพ
อย่างไรก็ดี Special Scoop ได้พูดคุยกับผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้องกับคดีสิ่งแวดล้อมและภาคประชาชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม มีความเห็นตรงกันว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องมีการจัดตั้ง “ศาลสิ่งแวดล้อม” เป็นการเฉพาะเพื่อให้เป็นศาลชำนัญพิเศษ พิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความแตกต่างจากอรรถคดีทั่วๆ ไป เหมือนกับที่มีการจัดตั้งศาลปกครอง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลแรงงาน ศาลเยาวชนและครอบครัว เป็นต้น

ทั้งนี้เพราะคดีในศาลแพ่งทั่วไปจะเป็นการพิจารณาคดีหลักๆ คือผิดสัญญาและละเมิด หรือใช้สิทธิ์เรียกร้อง แต่การพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกับคดีทั่วไป คือ เป็นคดีที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก ต่อสังคมโดยรวม กระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั่วไป ป่าไม้ อากาศ ดิน น้ำ ลม ไฟ ตลอดจนด้านการลงทุนก็ได้รับผลกระทบ และที่สำคัญคือ ปัญหาหลังจากทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายไปแล้ว แม้จะมีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วยตัวเงินก็ตาม

แต่ก็มีคำถามเกิดขึ้นตามมาว่า ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายจะฟื้นฟูกันอย่างไร ตรงนี้คือประเด็นปัญหาที่ต้องจัดการแก้ไขต่อไป

“การดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีในศาลสิ่งแวดล้อมเราจะต้องเน้นใช้วิธีไกล่เกลี่ยและการระงับข้อพิพาทเป็นหลัก หากคู่กรณีไม่สามารถตกลงกันได้ ศาลก็จะพิจารณาตัดสินชี้ขาดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมและความสงบเรียบร้อยเป็นหลัก”
ศาลแพ่ง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันประชาชนอาจเข้าใจว่ามีศาลสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่ในความเป็นจริงเป็นเพียงแผนกคดีสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในศาลแพ่งเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ก็มีคดีสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบรุนแรงมาอยู่ที่แผนกคดีสิ่งแวดล้อมหลายๆ คดีโดยเฉพาะคดีที่โด่งดังและถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ในแวดวงสิ่งแวดล้อม ก็คือกรณีน้ำมันรั่วในทะเลอ่าวไทย ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด มหาชน (PTTGC) ซึ่งท่อรับน้ำมันดิบที่อยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร เกิดรอยแตกรั่วขึ้น เป็นผลให้น้ำมันดิบ 54,341 ลิตร ไหลทะลักออกสู่ทะเลมาบตาพุดทันที

ส่งผลให้หาดทราย ทะเลสีฟ้า แปรเปลี่ยนเป็นสีดำ ส่งกลิ่นเหม็น กระจายเข้าไปสู่ชายฝั่งอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด สถานที่ท่องเที่ยวที่โด่งดังของจังหวัดระยอง และยังส่งผลกระทบไปถึงการทำอาชีพประมง ค้าขาย การท่องเที่ยว สุขภาพอนามัยของประชาชนบริเวณดังกล่าวเช่นกัน

ตรงนี้จึงเป็นสาเหตุให้ชาวบ้านรวมตัวกันกว่าหมื่นคนฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดระยอง ขอให้บริษัท พีทีทีฯ ฟื้นฟูชายฝั่งทะเลเป็นหลัก โดยให้เหตุผลว่า ส่งผลกระทบต่อประมงเพราะน้ำมันที่รั่วส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้กุ้งหอยปูปลาตาย และส่งผลกระทบทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวมีจำนวนลดลง

ดังนั้นแม้บริษัท พีทีทีฯ จะแสดงความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาก็ตาม แต่เพื่อให้เรื่องนี้สามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็วจึงมีการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของแผนกคดีสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นความต้องการของคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายคือ พีทีทีและผู้ที่ได้รับความเสียหาย

โดยในการพิจารณาคดีพีทีทีฯ นั้น ปัจจุบันได้ใช้วิธีการไกล่เกลี่ยและระงับข้อพิพาท โดยคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายยินยอมจึงมีการตั้งคณะทำงานด้วยการเชิญผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านฝ่ายละ 9 คนเข้ามาร่วมในการแก้ปัญหา ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมเป็นคณะทำงานนั้นล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน จุดประสงค์ก็เพื่อจะมีแนวทางในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทะเลชายฝั่งที่เสียหาย เยียวยาประชาชนและชุมชน

“เราจะจัดประชุมจัดทำ Master Plan ในการฟื้นฟูออกมา ซึ่ง รศ.ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน สำนักงานอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นประธานในการบริหารจัดการ จากนั้นให้คู่ความดูว่าพอใจหรือไม่ โดยเราจะต้องลงพื้นที่ฟังเสียงชาวบ้านว่าต้องการแบบไหน ซึ่งผังแม่บทที่เราจัดทำ จะมีทั้งแผนขนาดเล็ก ที่พีทีทีและชุมชนสามารถจัดการได้ และจะมีแผนขนาดใหญ่ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐบาลจะต้องเป็นผู้ดำเนินการต่อไป”

ส่วนในเรื่องการฟ้องร้องค่าเสียหายก็จะเป็นเรื่องการต่อสู้ในทางคดีแพ่ง ซึ่งอาจจะใช้เวลาเป็น 10 ปีก็ได้

แต่จากการที่ประเทศไทยยังไม่มีศาลสิ่งแวดล้อมและการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันจึงต้องใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีความแพ่ง ประกอบกับคำแนะนำของประธานศาลฏีกาที่กำหนดไว้ตามสากลควรปฏิบัติ ที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อม หมายความถึง

1.คดีแพ่งที่การกระทำตามคำฟ้องก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันเนื่องมาจากการทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมของชุมชนหรือระบบนิเวศ

2.คดีแพ่งที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยกระทำการหรืองดเว้นกระทำการเพื่อคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อมของชุมชน

3.คดีแพ่งที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย เพื่อขจัดพิษที่เกิดขึ้น หรือฟื้นฟูสภาพแวดล้อม หรือเพื่อมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่เสียไป

4. คดีแพ่งที่มีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายสุขภาพอนามัย หรือสิทธิใดๆ ของโจทก์ อันเกิดจากมลพิษที่จำเลยเป็นผู้ก่อหรือผู้รับผิด

นอกจากนี้คำแนะนำของประธานศาลฎีกาให้นำมาตรการที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมมากำหนดไว้ให้เป็นแนวทางของศาลในการพิจารณา ทั้งในเรื่องการไกล่เกลี่ย การแสวงหาข้อเท็จจริง การตั้งพยานผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมพิจารณา
แฟ้มภาพ
“กรณีของพีทีทีฯ ได้ใช้คำแนะนำของประธานศาลฎีกาเข้ามาดำเนินการ และปัญหาที่จะตามมาก็คือเราไม่มีกฎหมายหลักที่จะไปบังคับเขาให้ดำเนินการตามสัญญา สมมติว่าพีทีทีฯ ยอมรับในแผนและรับปากว่าจะแก้ไข แต่ถึงเวลาไม่ดำเนินการจะทำอย่างไร”

อีกทั้งในคดีสิ่งแวดล้อมนั้น ควรใช้หลักการพิจารณาเป็นกลุ่ม (Class Action ) เพราะเป็นคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมากสามารถรวมตัวกันเพื่อฟ้องคดีเยียวยาความเสียหายของตนเอง ซึ่งในการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะสามารถตั้งตัวแทนของกลุ่มเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองและสมาชิกกลุ่มทั้งหมด

ดังนั้นการจัดตั้งศาลคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นมานั้น ก็สามารถระบุในกฎหมายชัดเจนเพราะเป็นกฎหมายเฉพาะ ทั้งกำหนดวิธีการพิจารณา การไกลเกลี่ย แม้ทุกศาลจะนำมาใช้ก็ตาม แต่สิ่งแวดล้อมจะต้องใช้วิธีการพิเศษเข้ามาช่วย ซึ่งผู้พิพากษาก็ต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ เพราะจะต้องคำนึงถึงความเสียหายในเรื่องการลงทุนและการพัฒนาประเทศเข้ามาประกอบด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องปกป้องภาคประชาชน รวมทั้งสิ่งแวดล้อมในทุกๆ ด้านด้วย

‘ชาวบ้าน ผู้ประกอบการภาคเอกชน และสิ่งแวดล้อม คือ 3 สิ่งที่ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ และเมื่อมีปัญหาก็ต้องได้รับความเป็นธรรม การพัฒนาด้านเศรษฐกิจจึงจะเติบโตได้ เพราะถ้าเราปกป้องเฉพาะประชาชน ชุมชน นักลงทุนก็ถอนตัว มีผลต่อการพัฒนาประเทศเช่นกัน”

ขณะเดียวกันเมื่อมีศาลเฉพาะสิ่งแวดล้อมขึ้นมา ก็จะมีตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงกำหนดบทลงโทษที่รุนแรง ก็จะทำให้ผู้ลงทุนไม่กล้าสร้างความเสียหายหรือมีความระมัดระวังมากขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม

“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่การฟ้องร้องคดีสิ่งแวดล้อมมีจำนวนเพิ่มขึ้นนั้น มีความซับซ้อนมากขึ้น อุปสรรคในการทำงานก็มากขึ้นทั้งในเรื่องเครื่องมือ บุคลากร และวิธีในการพิจารณาในแต่ละคดีก็แตกต่างกัน เราจึงควรมีกฎหมายเฉพาะขึ้นมาได้แล้ว”
แฟ้มภาพ
โดยเฉพาะคดีสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงอีกคดีหนึ่งก็คือกรณีไฟไหม้บ่อขยะแพรกษา มีพื้นกว่า 100 ไร่ อยู่ที่ตำบลแพรกษา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ที่เกิดไฟไหม้เป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์ไฟถึงได้มอดดับ ควันพิษจากไฟปกคลุมพื้นที่เป็นวงกว้าง ซึ่งเป็นเขตชุมชน หมู่บ้านจัดสรร และแพร่กระจายไปพื้นที่อื่นๆ จนต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่และประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน และวันนี้ก็มีการโอนคดีมาอยู่ที่แผนกคดีสิ่งแวดล้อม โดยใช้วิธีไกล่เกลี่ย มีการตั้งผู้เชี่ยวชาญ พร้อมเชิญหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงมาเป็นคณะทำงาน อาทิ ผู้นำท้องถิ่น นายก อบต. อบจ. กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นคณะทำงานเพื่อฟื้นฟูบ่อขยะแพรกษา

“มีวิธีจัดการที่แตกต่าง แต่สุดท้ายก็ไกล่เกลี่ย และมาร่วมกันหาทางออกว่าจะฟื้นฟูกันอย่างไร จึงต้องมีการดึงภาคเอกชน ภาคสังคม ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อรับรู้ว่ามีการแก้ไขอย่างไร”

นอกจากนี้ยังมีคดีโรงไฟฟ้ากระบี่ คดีเหมืองทองคำที่จังหวัดเลยและพิจิตร คดีเหมืองโปแตชที่อุดรธานี ฯลฯ ซึ่งแต่ละคดีนั้นล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งด้านสุขภาพ สภาพชั้นดิน และชุมชนที่เขาอาศัยอยู่บริเวณนั้น

จากนี้ไปคงต้องจับตาดูว่า “ศาลสิ่งแวดล้อม” จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้หรือไม่? ท่ามกลางคดีสิ่งแวดล้อมที่กำลังผุดเป็นดอกเห็ด!

กำลังโหลดความคิดเห็น