เปิดพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฉบับล่าสุด เพิ่มหมวด 4 ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ม.222/1-222/49 พิจารณาคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมากทีเดียว เช่น คดีผู้บริโภค, สิ่งแวดล้อม, คุ้มครองผู้บริโภค, หลักทรัพย์ และแข่งขันการค้า หวังช่วยผู้ด้อยโอกาส ประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย เลี่ยงฟ้องซ้ำซ้อน ป้องกันคำพิพากษาแย้งกัน และลดภาระศาลได้
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2558 ภายหลังจากที่สภานิติบัญญัติได้พิจารณาแก้ไข และทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 7 เมษายน โดยให้เพิ่มความในหมวด 4 การดำเนินคดีแบบกลุ่ม ตามมาตรา 222/1-222/49 ในลักษณะ 2 วิธีพิจารณาวิสามัญในศาลชั้นต้น ภาค 2 วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้นแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจออกข้อกำหนดได้ อาทิ คุณสมบัติ ส่วนได้ส่วนเสีย สิทธิ์สมาชิกกลุ่มที่มีอำนาจฟ้อง, หลักเกณฑ์การดำเนินคดี, วิธีการแจ้งดำเนินคดี,การนัดพร้อม แก้ไขคำฟ้องและคำให้การ กระบวนพิจารณารับฟังพยาน, การบังคับคดีและเงินรางวัลทนายโจทก์ และอื่นๆ
ให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิพากษาคดี เว้นแต่ศาลแขวง, หากคดีอาญาพิพากษาให้จำเลยผิด ต้องถือข้อเท็จจริงตามส่วนอาญา แต่หากพิพากษาเป็นอื่น ไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามส่วนอาญาได้, ให้คดีละเมิด ผิดสัญญา เรียกร้องสิทธิ์ สิ่งแวดล้อม คุ้มครองผู้บริโภคแรงงาน หลักทรัพย์ แข่งขันการค้า เข้าข่ายฟ้องกลุ่มได้, หากไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีสามารถอุทธรณ์ได้ใน 7 วัน
ทั้งนี้ ในท้าย พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ระบุหมายเหตุถึงความจำเป็นในการออกพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยระบุช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน เนื่องจากเป็นวิธีการที่สามารถคุ้มครองผู้เสียหายจำนวนมากได้ในการดำเนินคดีเพียงครั้งเดียว และสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายที่ไม่มีความสามารถฟ้องคดีเพื่อเยียวยาความเสียหายด้วยตนเองได้ หรือผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจำนวนเพียงเล็กน้อย เช่น คดีที่ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย การดำเนินคดีแบบกลุ่มจึงเป็นมาตรการที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้เป็นอย่างดี ประกอบกับการดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นวิธีการที่ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และยังช่วยหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดีและป้องกันความขัดแย้งกันของคำพิพากษา ตลอดจนเป็นมาตรการในการลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ถือเป็นครั้งแรกที่กฎหมายฟ้องคดีแบบรวมกลุ่ม (class action) ได้มีใช้ในไทย กฎหมายฉบับนี้จะทำให้การฟ้องร้องคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก แต่เกิดความเสียหายคนละไม่มาก (ซึ่งทำให้เป็นคดีที่ “ไม่คุ้ม” สำหรับใครคนใดคนหนึ่งที่จะเป็นโจทก์ ยังไม่นับปัญหาเรื่องวัฒนธรรมแบบไทยๆ คือคนธรรมดารู้สึกไม่สบายใจที่จะมีชื่อเป็นโจทก์ฟ้องบริษัทใหญ่ๆ) เช่น คดีผิดกฎหมายหลักทรัพย์ คดีละเมิด คดีสิ่งแวดล้อม และคดีผู้บริโภค เกิดได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิมมาก ช่วยลดภาระงานของศาลเองด้วย
***********************************************************************************
พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๕๘
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๕๘”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๔ การดำเนินคดีแบบกลุ่ม มาตรา ๒๒๒/๑ ถึงมาตรา ๒๒๒/๔๙ ในลักษณะ ๒ วิธีพิจารณาวิสามัญในศาลชั้นต้น ภาค ๒ วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้นแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
“หมวด ๔ การดำเนินคดีแบบกลุ่ม
ส่วนที่ ๑ บททั่วไป
มาตรา ๒๒๒/๑ ในหมวดนี้ “กลุ่มบุคคล” หมายความว่า บุคคลหลายคนที่มีสิทธิอย่างเดียวกันอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริง และหลักกฎหมายเดียวกัน และมีลักษณะเฉพาะของกลุ่มเหมือนกัน แม้ว่าจะมีลักษณะของความเสียหายที่แตกต่างกันก็ตาม
“สมาชิกกลุ่ม” หมายความว่า บุคคลใด ๆ ที่อยู่ในกลุ่มบุคคล
“การดำเนินคดีแบบกลุ่ม” หมายความว่า การดำเนินคดีที่ศาลอนุญาตให้เสนอคำฟ้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงสิทธิของโจทก์และสมาชิกกลุ่ม
“เจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่ม” หมายความว่า บุคคลที่เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ช่วยเหลือศาลในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม
มาตรา ๒๒๒/๒ เพื่อความเหมาะสมสำหรับคดีบางประเภท หรือเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาหรือการบังคับคดีเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม ประธานศาลฎีกามีอำนาจออกข้อกำหนดใด ๆ ที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในหมวดนี้ได้ ดังนี้
(๑) กำหนดคุณสมบัติ ส่วนได้เสีย รวมตลอดทั้งการได้มาซึ่งสิทธิการเป็นสมาชิกกลุ่มของโจทก์ที่จะมีอำนาจฟ้องคดีแบบกลุ่มได้
(๒) กำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม
(๓) กำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการแจ้งเรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่มให้สมาชิกกลุ่มทราบ
(๔) กำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการนัดพร้อม การแก้ไขคำฟ้องและคำให้การ การดำเนินกระบวนพิจารณาและการรับฟังพยานหลักฐาน ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม
(๕) กำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบังคับคดีและเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์
(๖) ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องที่จำเป็นอื่น ๆ ในการดำเนินคดีแบบกลุ่มข้อกำหนดนั้น เมื่อได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๒๒๒/๓ ศาลตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง เว้นแต่ศาลแขวง มีอำนาจในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม
มาตรา ๒๒๒/๔ กระบวนพิจารณาส่วนใดที่มิได้บัญญัติไว้ในหมวดนี้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติในภาค ๑ บททั่วไป และบทบัญญัติในคดีสามัญมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในหมวดนี้
ในกรณีที่มีการร้องขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มในคดีซึ่งมีกฎหมายกำหนดวิธีพิจารณาความไว้เป็นการเฉพาะ ให้ศาลในคดีนั้นมีอำนาจสั่งให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มและนำวิธีพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๒๒๒/๕ ให้มีเจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่มทำหน้าที่ช่วยเหลือศาลในการดำเนินคดีแบบกลุ่มตามที่ศาลมอบหมาย ดังต่อไปนี้
(๑) ไกล่เกลี่ยคดีแบบกลุ่ม
(๒) ตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน
(๓) บันทึกคำพยาน
(๔) ดำเนินการให้มีการคุ้มครองสิทธิของคู่ความและสมาชิกกลุ่มทั้งก่อนและระหว่างการพิจารณา
(๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้หรือตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาในการทำหน้าที่ช่วยเหลือนั้น
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ ให้เจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่มเป็นเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญาและให้มีอำนาจมีหนังสือเรียกบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาให้ข้อมูลหรือให้จัดส่งเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามอำนาจหน้าที่
หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่มให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
ในกรณีที่กฎหมายวิธีพิจารณาความใดบัญญัติให้มีเจ้าพนักงานคดีทำหน้าที่ช่วยเหลือศาล ในการดำเนินคดีไว้เป็นการเฉพาะ ให้เจ้าพนักงานคดีดังกล่าวนอกจากมีหน้าที่ตามกฎหมายนั้นแล้วมีหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ด้วย
มาตรา ๒๒๒/๖ ผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่ม ต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโททางกฎหมายหรือปริญญาเอกทางกฎหมาย
(๒) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางกฎหมาย เป็นสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภาและได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายตามที่คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
(๓) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางกฎหมายและปริญญาในสาขาวิชาอื่นที่คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนดซึ่งไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีและได้ประกอบวิชาชีพตามที่คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสี่ปี
ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งเป็นเจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่ม ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนด
มาตรา ๒๒๒/๗ ในกรณีที่การฟ้องคดีแบบกลุ่มตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แม้ว่าจะมีการฟ้องเป็นคดีอาญาแล้วก็ตาม ศาลที่พิจารณาคดีแบบกลุ่มอาจพิจารณาคดีต่อไปโดยไม่ต้องรอให้ศาลคดีอาญามีคำพิพากษาก่อน และหากศาลในคดีอาญา ได้มีคำพิพากษาแล้ว
(๑) ในกรณีที่คำพิพากษาคดีส่วนอาญานั้นได้วินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำความผิด ศาลที่พิจารณาคดีแบบกลุ่มต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
(๒) ในกรณีที่คำพิพากษาคดีส่วนอาญานั้นได้วินิจฉัยเป็นอย่างอื่น ศาลที่พิจารณาคดีแบบกลุ่มไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
ส่วนที่ ๒ การขออนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม
มาตรา ๒๒๒/๘ คดีที่มีสมาชิกกลุ่มจำนวนมากดังต่อไปนี้ โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มอาจร้องขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้
(๑) คดีละเมิด
(๒) คดีผิดสัญญา
(๓) คดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายต่าง ๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภคแรงงาน หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การแข่งขันทางการค้า
มาตรา ๒๒๒/๙ ในการร้องขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องเริ่มคดีเพื่อขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้
คำร้องขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มตามวรรคหนึ่ง โจทก์ต้องแสดงเหตุตามสมควรที่ศาลจะอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม
มาตรา ๒๒๒/๑๐ คำฟ้องของโจทก์ต้องทำเป็นหนังสือและแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาคำขอบังคับ รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์และของกลุ่มบุคคลที่มีลักษณะเดียวกับโจทก์ด้วยและในกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงิน คำขอบังคับของกลุ่มบุคคลต้องระบุหลักการและวิธีการคำนวณเพื่อชำระเงินให้แก่สมาชิกกลุ่มเท่าที่จะระบุได้ แต่ไม่จำเป็นต้องแสดงจำนวนเงินที่สมาชิกกลุ่มแต่ละรายจะได้รับด้วย
ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้โจทก์ผู้เริ่มคดีเสียค่าขึ้นศาลตามคำขอบังคับเฉพาะในส่วนของโจทก์ผู้เริ่มคดีเท่านั้น
มาตรา ๒๒๒/๑๑ ในกรณีที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม หากศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่มีข้อขัดข้องที่จะรับไว้ตามมาตรา ๑๘ หรือมีข้อขัดข้องแต่โจทก์ได้แก้ไขให้ถูกต้องแล้ว ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งรับคำฟ้อง ให้ศาลพิจารณาคำร้องของโจทก์ตามมาตรา ๒๒๒/๑๒ แล้วมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มโดยไม่ชักช้า
มาตรา ๒๒๒/๑๒ ในการพิจารณาคำร้องขออนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลจัดส่งสำเนาคำฟ้องและคำร้องเช่นว่านั้นไปให้จำเลย เมื่อศาลได้ฟังคู่ความทุกฝ่ายและทำการไต่สวนตามที่เห็นสมควรแล้ว ศาลจะอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ต่อเมื่อเป็นที่พอใจแก่ศาลว่า
(๑) สภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์และของกลุ่มบุคคล มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๒๒/๑๐
(๒) โจทก์ได้แสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะที่เหมือนกันของกลุ่มบุคคลที่ชัดเจนเพียงพอเพื่อให้รู้ได้ว่าเป็นกลุ่มบุคคลใด
(๓) กลุ่มบุคคลมีสมาชิกกลุ่มจำนวนมาก ซึ่งการดำเนินคดีอย่างคดีสามัญจะทำให้เกิดความยุ่งยากและไม่สะดวก
(๔) การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีอย่างคดีสามัญ
(๕) โจทก์ได้แสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นสมาชิกกลุ่มที่มีคุณสมบัติ ส่วนได้เสีย รวมตลอดทั้งการได้มาซึ่งสิทธิการเป็นสมาชิกกลุ่ม ตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ถ้ามี และโจทก์รวมทั้งทนายความที่โจทก์เสนอให้เป็นทนายความของกลุ่มสามารถดำเนินคดีคุ้มครองสิทธิของกลุ่มบุคคลได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม
คำสั่งศาลที่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลอาจจำกัดขอบเขตของกลุ่มบุคคลให้ชัดเจนเพียงพอเพื่อให้รู้ว่าเป็นกลุ่มบุคคลใดก็ได้
คำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มอาจอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง และให้งดการพิจารณาไว้จนกว่าคำสั่งนั้นจะถึงที่สุด ทั้งนี้ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดโดยเร็ว คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาเมื่อได้ส่งหมายเรียกให้จำเลยแล้ว ให้จำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในหนึ่งเดือนและให้ถือว่าทนายความของโจทก์เป็นทนายความของกลุ่มด้วย
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ
มาตรา ๒๒๒/๑๓ ในกรณีที่มีการยื่นคำร้องขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มเกี่ยวกับสิทธิอย่างเดียวกันหลายรายในศาลเดียวกันหรือต่างศาลกัน ให้ศาลรวมการพิจารณาคำร้องขอเหล่านั้นเข้าด้วยกัน และมีคำสั่งให้ผู้ร้องรายหนึ่งรายใดเป็นโจทก์ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาตามมาตรา ๒๒๒/๒ คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด เว้นแต่จะเป็นกรณีตามมาตรา ๒๒๒/๑๒ วรรคสาม
ส่วนที่ ๓การพิจารณาคดีแบบกลุ่ม
มาตรา ๒๒๒/๑๔ เมื่อคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มถึงที่สุดแล้ว ให้ศาลสั่งให้โจทก์นำเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแบบกลุ่มมาวางต่อศาลตามจำนวนที่เห็นสมควรภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง ในกรณีที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าวและไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุแห่งการเพิกเฉยเช่นว่านั้น ให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการดำเนินคดีแบบกลุ่มและให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ
หากต่อมาปรากฏว่าค่าใช้จ่ายที่วางไว้มีจำนวนไม่เพียงพอ ศาลจะสั่งให้มีการวางเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวเพิ่มเติมตามจำนวนที่เห็นสมควรก็ได้ ในกรณีที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าวและไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุแห่งการเพิกเฉยเช่นว่านั้น ให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง
มาตรา ๒๒๒/๑๕ ให้ศาลส่งคำบอกกล่าวคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มให้สมาชิกกลุ่มเท่าที่ทราบ และประกาศทางหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายเป็นเวลาสามวันติดต่อกัน รวมทั้งทางสื่อมวลชนอื่นหรือวิธีการอื่นใดเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควร
คำบอกกล่าวและประกาศอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อศาลและเลขคดี
(๒) ชื่อและที่อยู่ของคู่ความและทนายความฝ่ายโจทก์
(๓) ข้อความโดยย่อของคำฟ้องและลักษณะของกลุ่มบุคคลที่ชัดเจน
(๔) ข้อความที่แสดงว่าศาลอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม และวันเดือนปีที่ศาลมีคำสั่ง
(๕) สิทธิของสมาชิกกลุ่มตามมาตรา ๒๒๒/๑๖ และมาตรา ๒๒๒/๑๗
(๖) กำหนดวันเพื่อให้สมาชิกกลุ่มแจ้งความประสงค์ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม ทั้งนี้ ตามที่ศาลเห็นสมควรแต่ต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวัน
(๗) ผลของการออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม
(๘) ผลของคำพิพากษาที่จะผูกพันสมาชิกกลุ่ม
(๙) ชื่อและตำแหน่งผู้พิพากษาผู้ออกคำบอกกล่าวและประกาศ
มาตรา ๒๒๒/๑๖ สมาชิกกลุ่มมีสิทธิออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มได้โดยแจ้งความประสงค์เป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดตามมาตรา ๒๒๒/๑๕ (๖) และให้ถือว่าสมาชิกกลุ่มดังกล่าวไม่เป็นสมาชิกกลุ่มนับแต่วันที่ได้แจ้งความประสงค์นั้นต่อศาล เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง สมาชิกกลุ่มจะออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล และคำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด บุคคลที่ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มแล้ว จะร้องขอกลับเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มอีกไม่ได้ สมาชิกกลุ่มและบุคคลที่ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มจะร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมในการดำเนินคดี แบบกลุ่มโดยอาศัยสิทธิตามมาตรา ๕๗ ไม่ได้
มาตรา ๒๒๒/๑๗ สมาชิกกลุ่มที่ไม่ได้ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มตามมาตรา ๒๒๒/๑๖
ย่อมมีสิทธิดังต่อไปนี้
(๑) เข้าฟังการพิจารณาคดี
(๒) ร้องขอให้ศาลสั่งแสดงว่าโจทก์มิได้มีคุณสมบัติ ส่วนได้เสีย รวมตลอดทั้งการได้มาซึ่งสิทธิการเป็นสมาชิกกลุ่มตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒๒/๑๒ (๕)
(๓) ขอตรวจเอกสารทั้งหมดหรือบางส่วนในสำนวนความหรือขอคัดสำเนาเอกสารเหล่านั้น
(๔) จัดหาทนายความคนใหม่มาดำเนินคดีแทนทนายความของกลุ่มตามมาตรา ๒๒๒/๑๙ วรรคสอง
(๕) ร้องขอเข้าแทนที่โจทก์โดยอาศัยสิทธิตามบทบัญญัติในส่วนนี้
(๖) คัดค้านการร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ตามมาตรา ๒๒๒/๒๕ การที่โจทก์ขอถอนฟ้อง ตามมาตรา ๒๒๒/๒๘ การที่มีการตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดี ตามมาตรา ๒๒๒/๒๙ และการที่คู่ความตกลงกันเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด ตามมาตรา ๒๒๒/๓๐
(๗) ตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา ๒๒๒/๔๐ สมาชิกกลุ่มจะแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินการตามวรรคหนึ่งก็ได้ มาตรา ๒๒๒/๑๘ ห้ามมิให้สมาชิกกลุ่มที่ไม่ได้ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มตามมาตรา ๒๒๒/๑๖ ยื่นฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันกับที่โจทก์ได้ยื่นฟ้อง ในกรณีที่สมาชิกกลุ่มที่ไม่ได้ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มได้ยื่นฟ้องคดีไว้ก่อนสิ้นกำหนด ระยะเวลาของการออกจากสมาชิกกลุ่ม ให้ศาลที่ได้รับฟ้องไว้นั้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
มาตรา ๒๒๒/๑๙ ในกรณีที่การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะไม่คุ้มครองหรือเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกกลุ่มอย่างเพียงพอ หรือไม่มีความจำเป็นที่จะดำเนินคดีแบบกลุ่มอีกต่อไป เมื่อความปรากฏต่อศาลเองหรือตามคำแถลงของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งยกเลิกการดำเนินคดีแบบกลุ่ม และดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยให้ถือว่ากระบวนพิจารณาที่ได้กระทำไปแล้ว มีผลผูกพันการดำเนินคดีสามัญของโจทก์และจำเลยต่อไปด้วย
หากความปรากฏต่อศาลในระหว่างการพิจารณาว่าทนายความฝ่ายโจทก์ไม่สามารถดำเนินคดีคุ้มครองสิทธิของกลุ่มบุคคลได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม หรือทนายความฝ่ายโจทก์ขอถอนตัวจากการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์และสมาชิกกลุ่มจัดหาทนายความคนใหม่มาดำเนินคดีแทนภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด หากโจทก์และสมาชิกกลุ่มเพิกเฉยไม่ดำเนินการดังกล่าว ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมคำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด
มาตรา ๒๒๒/๒๐ เมื่อศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มและจำเลยได้ยื่นคำให้การแล้วให้ศาลกำหนดวันนัดพร้อมโดยสั่งให้คู่ความทุกฝ่ายมาศาลเพื่อดำเนินการดังนี้
(๑) ไกล่เกลี่ยหรือนำวิธีอนุญาโตตุลาการมาใช้เพื่อให้คดีเสร็จไปทั้งหมดหรือบางส่วน
(๒) ให้คู่ความนำต้นฉบับพยานเอกสารหรือพยานวัตถุทั้งหมดที่ประสงค์จะอ้างอิงและอยู่ในความครอบครองของตนที่สามารถนำมาศาลได้มาแสดงต่อศาล เพื่อให้ศาลและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตรวจดู ถ้าพยานหลักฐานดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของคู่ความฝ่ายอื่นหรือของบุคคลภายนอกคู่ความฝ่ายที่ประสงค์จะอ้างอิงต้องขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกพยานหลักฐานนั้นมาจากผู้ครอบครอง โดยยื่นคำขอต่อศาลพร้อมกับการยื่นบัญชีระบุพยานเพื่อให้ได้พยานหลักฐานนั้นมาก่อนวันนัดพร้อม
ในกรณีที่มีเหตุขัดข้องทำให้คู่ความไม่สามารถนำพยานหลักฐานที่อยู่ในความครอบครองของตนมา หรือยังไม่ได้มาซึ่งพยานหลักฐานที่ศาลออกคำสั่งเรียกจากคู่ความฝ่ายอื่นหรือบุคคลภายนอก หรือมีเหตุจำเป็นอื่นใด ถ้าศาลเห็นสมควร ก็ให้ศาลเลื่อนวันนัดพร้อมออกไปตามที่เห็นสมควร หากคู่ความฝ่ายใดจงใจไม่ดำเนินการดังกล่าวในวันนัดพร้อมหรือวันอื่นที่ศาลได้เลื่อนไปคู่ความฝ่ายนั้นไม่มีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานดังกล่าวมาสืบในภายหลัง แต่ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้
(๓) ให้ศาลตรวจคำคู่ความและคำแถลงของคู่ความแล้วนำข้ออ้าง ข้อเถียง ที่ปรากฏในคำคู่ความและคำแถลงของคู่ความเทียบกันดูและสอบถามคู่ความทุกฝ่ายถึงข้ออ้าง ข้อเถียง และพยานหลักฐานที่ยื่นต่อศาล ว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้าง ข้อเถียง นั้นอย่างไร ข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับกันก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างแต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคำคู่ความ ให้ศาลกำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท
และกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดนำพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้ในการสอบถามคู่ความดังกล่าว คู่ความแต่ละฝ่ายต้องตอบคำถามที่ศาลถามเอง หรือถามตามคำขอของคู่ความฝ่ายอื่น เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายอื่นยกเป็นข้ออ้าง ข้อเถียง และพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่คู่ความได้ยื่นต่อศาล ถ้าคู่ความฝ่ายใดไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด หรือปฏิเสธข้อเท็จจริงใดโดยไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้ง ให้ถือว่ายอมรับข้อเท็จจริงนั้นแล้ว เว้นแต่ศาลจะเห็นว่าคู่ความฝ่ายนั้นไม่อยู่ในวิสัยที่จะตอบหรือแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้งได้ในขณะนั้นและเป็นข้อเท็จจริงที่จำเป็นต่อการกำหนดประเด็นข้อพิพาท ศาลจะมีคำสั่งให้เลื่อนวันนัดพร้อมเฉพาะส่วนที่ยังไม่เสร็จสิ้นออกไป และให้คู่ความฝ่ายนั้นทำคำแถลงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงนั้นมายื่นต่อศาลภายในเวลาที่ศาลเห็นสมควรก็ได้
(๔) กำหนดระยะเวลาทั้งหมดในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม
(๕) กำหนดวัน เวลา วิธีการ และขั้นตอนในการดำเนินคดีแบบกลุ่มที่จำเป็น เช่น จำนวนและรายละเอียดเกี่ยวกับพยานที่จะนำมาเบิกความ บันทึกถ้อยคำแทนการสืบพยานบุคคล พยานผู้เชี่ยวชาญ พยานเอกสาร และพยานหลักฐานที่ต้องการให้ศาลเรียกจากคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอก รวมทั้งการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ การเดินเผชิญสืบ และการส่งประเด็นไปสืบยังศาลอื่น
ในกรณีที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันนัดพร้อมหรือวันอื่นที่ศาลได้เลื่อนไป ให้ศาลดำเนินการตามมาตรานี้โดยให้ถือว่าคู่ความที่ไม่มาศาลได้ทราบการดำเนินการในวันนั้นแล้ว และคู่ความที่ไม่มาศาลไม่มีสิทธิขอเลื่อนกำหนดนัดหรือคัดค้านประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบที่ศาลกำหนดเว้นแต่เป็นกรณีที่ไม่สามารถมาศาลได้ในวันนัดพร้อมหรือวันอื่นที่ศาลได้เลื่อนไปเพราะเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้หรือเป็นการคัดค้านประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนเมื่อศาลได้ดำเนินการตามมาตรานี้เสร็จสิ้นแล้ว ให้ศาลกำหนดวันสืบพยานซึ่งมีระยะเวลาไม่น้อยกว่าสิบวันนับแต่วันนัดพร้อมวันสุดท้ายให้ถือว่าวันนัดพร้อมวันแรกตามมาตรานี้เป็นวันชี้สองสถานตามประมวลกฎหมายนี้
มาตรา ๒๒๒/๒๑ ก่อนวันนัดพร้อมตามมาตรา ๒๒๒/๒๐ ไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลพร้อมสำเนาในจำนวนที่เพียงพอเพื่อให้คู่ความฝ่ายอื่นรับไปจากเจ้าพนักงานศาลและถ้าคู่ความฝ่ายใดมีความจำนงจะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ให้ยื่นต่อศาลก่อนกระบวนพิจารณาที่ต้องกระทำในวันนัดพร้อมเสร็จสิ้น
การยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลเมื่อผู้ร้องขอแสดงเหตุอันสมควรว่าไม่สามารถทราบถึงพยานหลักฐานนั้นหรือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หรือเพื่อให้โอกาสแก่คู่ความในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
มาตรา ๒๒๒/๒๒ ในกรณีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การหรือขาดนัดพิจารณาศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การหรือขาดนัดพิจารณามิได้ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ถ้าโจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบตามความในวรรคหนึ่งภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด หรือในกรณีที่คู่ความทั้งสองฝ่ายหรือโจทก์ขาดนัดพิจารณา ให้บังคับตามบทบัญญัติมาตรา ๒๒๒/๒๕นอกจากที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาโดยขาดนัดมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๒๒๒/๒๓ ในการพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้ศาลมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ ในการนี้ ศาลจะรับฟังพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานหลักฐานอื่นนอกเหนือจากพยานหลักฐานของคู่ความก็ได้ แต่ต้องให้คู่ความทุกฝ่ายทราบและไม่ตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะโต้แย้งพยานหลักฐานดังกล่าว ศาลอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาคดีได้แต่ต้องให้คู่ความทุกฝ่ายทราบและไม่ตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะขอให้เรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญฝ่ายตนมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวบุคคลที่ศาลขอให้มาตามวรรคหนึ่งและวรรคสองมีสิทธิได้รับค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าเช่าที่พัก และการชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป ตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาโดยได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม และไม่ถือว่าเงินที่ศาลสั่งจ่ายตามวรรคนี้เป็นค่าฤชาธรรมเนียมในการดำเนินคดีแบบกลุ่มที่คู่ความจะต้องชำระ
มาตรา ๒๒๒/๒๔ ไม่ว่าการพิจารณาคดีจะได้ดำเนินไปแล้วเพียงใด ศาลอาจมีคำสั่งให้มีการแบ่งกลุ่มย่อยเนื่องจากมีลักษณะของความเสียหายที่แตกต่างกันระหว่างบุคคลในกลุ่ม และในกรณีเช่นนี้ศาลอาจสั่งให้มีการนำสืบถึงความเสียหายของกลุ่มย่อยให้ชัดเจนด้วยก็ได้ คำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด
มาตรา ๒๒๒/๒๕ ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้ศาลกำหนดวันตามที่เห็นสมควรแต่ต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันเพื่อให้สมาชิกกลุ่มยื่นคำขอเข้าแทนที่โจทก์ รวมทั้งกำหนดวันยื่นคำคัดค้าน คำขอเข้าแทนที่โจทก์วันนัดไต่สวนคำขอเข้าแทนที่โจทก์ และส่งคำบอกกล่าวให้สมาชิกกลุ่มเท่าที่ทราบ กับประกาศโดยใช้วิธีการตามที่เห็นสมควร
(๑) เมื่อโจทก์มิได้มีคุณสมบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒๒/๑๒ (๕)
(๒) เมื่อโจทก์มรณะหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ
(๓) เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์
(๔) เมื่อโจทก์ทิ้งฟ้อง
(๕) เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายหรือโจทก์ขาดนัดพิจารณา
(๖) เมื่อโจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบตามมาตรา ๒๒๒/๒๒
(๗) เมื่อโจทก์ร้องขอต่อศาลว่าไม่ประสงค์ที่จะเป็นโจทก์ดำเนินคดีแทนกลุ่มอีกต่อไป
ในกรณีตาม (๒) นอกจากสมาชิกกลุ่มแล้ว บุคคลตามมาตรา ๔๒ หรือมาตรา ๔๕ แล้วแต่กรณีอาจร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ได้ด้วย โดยให้นำมาตรา ๒๒๒/๒๖ และมาตรา ๒๒๒/๒๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๒๒๒/๒๖ ในการพิจารณาอนุญาตให้สมาชิกกลุ่มคนใดเข้าแทนที่โจทก์ต้องเป็นที่พอใจแก่ศาลว่าสมาชิกกลุ่มคนนั้นมีคุณสมบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒๒/๑๒ (๕) ถ้าศาลอนุญาตให้สมาชิกกลุ่มเข้าแทนที่โจทก์ ให้โจทก์เดิมยังคงมีฐานะเป็นสมาชิกกลุ่มคนหนึ่งและทนายความของโจทก์เดิมยังคงเป็นทนายความของกลุ่มต่อไป ในกรณีตามมาตรา ๒๒๒/๒๕ (๕)และ (๖) ให้ศาลกำหนดวันสืบพยานใหม่โดยเร็ว ถ้าศาลไม่อนุญาตให้สมาชิกกลุ่มเข้าแทนที่โจทก์หรือไม่มีการร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ ให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการดำเนินคดีแบบกลุ่มและให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยให้ถือว่ากระบวนพิจารณาที่ได้กระทำไปแล้วมีผลผูกพันการดำเนินคดีสามัญของโจทก์ต่อไปด้วยคำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด
มาตรา ๒๒๒/๒๗ ห้ามมิให้สมาชิกกลุ่มที่เข้าแทนที่โจทก์ตามมาตรา ๒๒๒/๒๕ ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่โจทก์ในชั้นพิจารณาเมื่อตนร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ และห้ามมิให้ใช้สิทธิเช่นว่านั้นในทางที่ขัดกับสิทธิของโจทก์เดิม เว้นแต่เป็นที่พอใจแก่ศาลตามคำร้องของสมาชิกกลุ่มที่เข้าแทนที่โจทก์ว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาของโจทก์ที่ได้ทำไปแล้วซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกกลุ่มนั้นเกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ ในกรณีเช่นว่านี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลอาจมีคำสั่งอย่างใด ๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้
มาตรา ๒๒๒/๒๘ เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้วโจทก์จะถอนคำฟ้องไม่ได้เว้นแต่ศาลจะอนุญาตในกรณีที่จำเลยยื่นคำให้การแล้ว ห้ามไม่ให้ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องโดยมิได้ฟังจำเลยก่อนในกรณีที่ได้มีการส่งคำบอกกล่าวกับประกาศให้สมาชิกกลุ่มตามมาตรา ๒๒๒/๑๕ แล้วหากศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนคำฟ้อง ให้ศาลกำหนดวันตามที่เห็นสมควรแต่ต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันเพื่อให้สมาชิกกลุ่มคัดค้านโดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาล และสั่งให้โจทก์นำเงินค่าใช้จ่ายมาวางศาล รวมทั้งแจ้งเรื่องการถอนฟ้องให้สมาชิกกลุ่มทราบตามวิธีการเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๒๒/๑๕ วรรคหนึ่งในกรณีที่โจทก์เพิกเฉยไม่นำเงินค่าใช้จ่ายมาวางศาลตามวรรคสามโดยไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุแห่งการเพิกเฉยเช่นว่านั้น ให้ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ถอนคำฟ้อง
มาตรา ๒๒๒/๒๙ เมื่อศาลมีคำ สั่งอนุญาตให้ดำ เนินคดีแบบกลุ่มและพ้นระยะเวลาตามมาตรา ๒๒๒/๑๕ (๖) แล้ว ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้มีการตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดี ให้ศาลกำหนดวันตามที่เห็นสมควรแต่ต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันเพื่อให้สมาชิกกลุ่มคัดค้านหรือแจ้งความประสงค์ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มโดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาล และสั่งให้โจทก์นำเงินค่าใช้จ่ายมาวางศาล เพื่อแจ้งเรื่องการตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดี
ให้สมาชิกกลุ่มทราบตามวิธีการเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๒๒/๑๕ วรรคหนึ่ง เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้มีการตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีแล้ว ให้ถือว่าสมาชิกกลุ่มรายที่แจ้งความประสงค์ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มและมิได้ขอถอนความประสงค์ดังกล่าวก่อนศาลมีคำสั่งอนุญาต ไม่เป็นสมาชิกกลุ่มนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาต
ในกรณีที่โจทก์เพิกเฉยไม่นำเงินค่าใช้จ่ายมาวางศาลตามวรรคหนึ่งโดยไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุแห่งการเพิกเฉยเช่นว่านั้น ให้ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้มีการตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดี
มาตรา ๒๒๒/๓๐ เมื่อศาลมีคำ สั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มและพ้นระยะเวลาตามมาตรา ๒๒๒/๑๕ (๖) แล้ว ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้มีการเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ ให้นำความในมาตรา ๒๒๒/๒๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๒๒๒/๓๑ คำบอกกล่าวและประกาศตามมาตรา ๒๒๒/๒๘ มาตรา ๒๒๒/๒๙ และมาตรา ๒๒๒/๓๐ อย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อศาลและเลขคดี
(๒) ชื่อและที่อยู่ของคู่ความ
(๓) ข้อความโดยย่อของคำฟ้องและลักษณะของกลุ่มบุคคลที่ชัดเจน
(๔) ข้อความโดยย่อของการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ได้กระทำไปแล้วและเหตุที่ต้องมีคำบอกกล่าวและประกาศ
(๕) สิทธิของสมาชิกกลุ่มและผลของคำสั่งอนุญาตของศาลตามมาตรา ๒๒๒/๒๘ มาตรา ๒๒๒/๒๙หรือมาตรา ๒๒๒/๓๐ แล้วแต่กรณี
(๖) ผลของการออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มตามมาตรา ๒๒๒/๒๙ หรือมาตรา ๒๒๒/๓๐แล้วแต่กรณี
(๗) ชื่อและตำแหน่งผู้พิพากษาผู้ออกคำบอกกล่าวและประกาศ
มาตรา ๒๒๒/๓๒ ในการพิจารณามีคำสั่งตามมาตรา ๒๒๒/๒๘ มาตรา ๒๒๒/๒๙ หรือมาตรา ๒๒๒/๓๐ ให้ศาลคำนึงถึง
(๑) ความจำเป็นในการดำเนินคดีแบบกลุ่มต่อไป
(๒) ความคุ้มครองหรือประโยชน์ของสมาชิกกลุ่ม
(๓) ความยุ่งยากหรือความสะดวกในการดำเนินคดีแบบกลุ่มต่อไป
(๔) ความเป็นธรรมและความมีประสิทธิภาพในการดำเนินคดีแบบกลุ่มต่อไป
(๕) จำนวนของสมาชิกกลุ่มที่คัดค้าน
(๖) ความสามารถของจำเลยในการชดใช้ค่าเสียหายในกรณีมีการตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดี
(๗) การตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีของคู่ความมีความเป็นธรรมและเป็นประโยชน์กับสมาชิกกลุ่ม
มาตรา ๒๒๒/๓๓ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มให้อายุความในการฟ้องคดีของสมาชิกกลุ่มสะดุดหยุดลงนับแต่วันที่โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มในกรณีที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม หากปรากฏว่าอายุความการฟ้องคดีของสมาชิกกลุ่มครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณาคำร้องขออนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มหรือจะครบกำหนดภายในกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุด ให้สมาชิกกลุ่มมีสิทธิฟ้องคดี
เพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุด
มาตรา ๒๒๒/๓๔ ในกรณีที่อายุความสะดุดหยุดลงเพราะเหตุตามมาตรา ๒๒๒/๓๓ หากมีกรณีดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง
(๑) ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง
(๒) ศาลมีคำสั่งยกเลิกการดำเนินคดีแบบกลุ่ม
(๓) ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้อง
(๔) ศาลยกคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลหรือโดยไม่ตัดสิทธิสมาชิกกลุ่มที่จะฟ้องคดีใหม่
(๕) สมาชิกกลุ่มออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มตามมาตรา ๒๒๒/๑๖ มาตรา ๒๒๒/๒๙ หรือมาตรา ๒๒๒/๓๐
ในกรณีตาม (๒) (๓) (๔) และ (๕) หากปรากฏว่าอายุความการฟ้องคดีของสมาชิกกลุ่มครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณา หรือจะครบกำหนดภายในกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ให้สมาชิกกลุ่มมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดหรือนับแต่วันที่สมาชิกกลุ่มไม่เป็นสมาชิกกลุ่ม แล้วแต่กรณีความในวรรคสองให้ใช้บังคับในกรณีที่สมาชิกกลุ่มผู้ใดถูกปฏิเสธคำขอรับชำระหนี้โดยอ้างเหตุว่าไม่เป็นสมาชิกกลุ่มตามคำพิพากษา เนื่องจากศาลได้มีคำพิพากษาโดยกำหนดลักษณะเฉพาะของกลุ่มแตกต่างจากลักษณะเฉพาะของกลุ่มตามที่ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มตามมาตรา ๒๒๒/๑๒วรรคสอง โดยให้มีสิทธิฟ้องคดีนับแต่วันที่คำสั่งปฏิเสธคำขอรับชำระหนี้ถึงที่สุด
ส่วนที่ ๔
คำพิพากษาและการบังคับคดี
มาตรา ๒๒๒/๓๕ คำพิพากษาของศาลมีผลเป็นการผูกพันคู่ความและสมาชิกกลุ่มและในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ให้โจทก์หรือทนายความฝ่ายโจทก์มีอำนาจดำเนินการบังคับคดีแทนโจทก์และสมาชิกกลุ่ม สมาชิกกลุ่มมีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ แต่ไม่มีสิทธิที่จะดำเนินการบังคับคดีตามส่วนนี้ด้วยตนเอง
หากความปรากฏต่อศาลว่าทนายความฝ่ายโจทก์ไม่สามารถดำเนินการบังคับคดีเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของสมาชิกกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์และสมาชิกกลุ่มจัดหาทนายความคนใหม่มาดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้
มาตรา ๒๒๒/๓๖ คำพิพากษาของศาลต้องกล่าวหรือแสดงรายการดังต่อไปนี้
(๑) รายการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๔๑
(๒) ลักษณะโดยชัดเจนของกลุ่มบุคคลหรือกลุ่มย่อยที่จะต้องถูกผูกพันตามคำพิพากษา
(๓) ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงิน ต้องระบุจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณในการชำระเงินให้สมาชิกกลุ่ม
(๔) จำนวนเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์ตามมาตรา ๒๒๒/๓๗
มาตรา ๒๒๒/๓๗ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยกระทำการหรืองดเว้นกระทำการหรือส่งมอบทรัพย์สิน ให้ศาลกำหนดจำนวนเงินรางวัลที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่ทนายความฝ่ายโจทก์ตามที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงความยากง่ายของคดีประกอบกับระยะเวลาและการทำงานของทนายความฝ่ายโจทก์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ซึ่งมิใช่ค่าฤชาธรรมเนียมที่ทนายความฝ่ายโจทก์ได้เสียไป และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ เมื่อการพิจารณาสิ้นสุดลงให้ทนายความฝ่ายโจทก์ยื่นบัญชี
ค่าใช้จ่ายดังกล่าวต่อศาลโดยให้ส่งสำเนาแก่จำเลยด้วย
ถ้าคำพิพากษากำหนดให้จำเลยใช้เงิน นอกจากศาลต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งแล้วให้ศาลคำนึงถึงจำนวนเงินที่โจทก์และสมาชิกกลุ่มมีสิทธิได้รับประกอบด้วย โดยกำหนดเป็นจำนวนร้อยละของจำนวนเงินดังกล่าว แต่จำนวนเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์ดังกล่าวต้องไม่เกินร้อยละสามสิบของจำนวนเงินนั้น
ถ้าคำพิพากษากำหนดให้จำเลยกระทำการหรืองดเว้นกระทำการหรือส่งมอบทรัพย์สินและให้ใช้เงินรวมอยู่ด้วย ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในการกำหนดจำนวนเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์ตามมาตรานี้ หากมีการเปลี่ยนทนายความฝ่ายโจทก์ ให้ศาลกำหนดจำนวนเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์ตามสัดส่วนของการทำงานและค่าใช้จ่ายที่ทนายความแต่ละคนเสียไปให้ถือว่าทนายความฝ่ายโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและจำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
ในส่วนของเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์ด้วย และเงินรางวัลดังกล่าวมิใช่ค่าฤชาธรรมเนียม
มาตรา ๒๒๒/๓๘ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ให้ศาลมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการปฏิบัติตามคำพิพากษา โดยจะกำหนดไว้ในคำพิพากษาหรือโดยคำสั่งในภายหลังก็ได้ และในระหว่างการบังคับคดีให้ศาลมีอำนาจออกคำบังคับเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้ตามที่เห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาสั่งคำร้องขอทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาคำสั่งของศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด
มาตรา ๒๒๒/๓๙ ให้ศาลแจ้งคำพิพากษาให้สมาชิกกลุ่มทราบตามวิธีการเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๒๒/๑๕ วรรคหนึ่ง และให้แจ้งอธิบดีกรมบังคับคดีทราบด้วย
ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินหรือชำระหนี้เป็นเงินรวมอยู่ด้วย ให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการต่อไป รวมทั้งกำหนดวันตามที่เห็นสมควรในคำบอกกล่าวและประกาศตามวรรคหนึ่ง เพื่อให้สมาชิกกลุ่มยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ถ้าเป็นกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้อย่างอื่นและจำเป็นจะต้องมีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อประโยชน์แก่การบังคับตามคำพิพากษา โจทก์อาจยื่นคำขอต่อศาลเพื่อตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการได้เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามวรรคสอง สมาชิกกลุ่มที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่มีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์สินหรือเงินในการบังคับคดีตามส่วนนี้ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย สมาชิกกลุ่มที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดระยะเวลา อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลา
มาตรา ๒๒๒/๔๐ คู่ความในคดีและสมาชิกกลุ่มรายอื่นอาจขอตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของสมาชิกกลุ่มผู้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ แต่ต้องกระทำภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย อาจขอขยายระยะเวลาออกไปอีกได้ไม่เกินสามสิบวัน
มาตรา ๒๒๒/๔๑ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจเรียกคู่ความในคดี สมาชิกกลุ่ม ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง มาสอบสวนในเรื่องคำขอรับชำระหนี้ของสมาชิกกลุ่มเพื่อพิจารณามีคำสั่งต่อไปได้
มาตรา ๒๒๒/๔๒ คำขอรับชำระหนี้ของสมาชิกกลุ่มรายใด ถ้าคู่ความในคดีและสมาชิกกลุ่มรายอื่นไม่โต้แย้ง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจสั่งอนุญาตให้รับชำระหนี้ได้ เว้นแต่มีเหตุอันสมควรสั่งเป็นอย่างอื่นโดยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้ศาลทราบถึงการดำเนินการดังกล่าวด้วยคำขอรับชำระหนี้ของสมาชิกกลุ่มรายใด ถ้ามีผู้โต้แย้ง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ยกคำขอรับชำระหนี้
(๒) อนุญาตให้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน
(๓) อนุญาตให้ได้รับชำระหนี้บางส่วน
สมาชิกกลุ่มที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้และไม่มีผู้โต้แย้งตามวรรคหนึ่ง สมาชิกกลุ่มที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้และมีผู้โต้แย้งตามวรรคสอง หรือผู้โต้แย้ง อาจยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อศาลได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีคำสั่งของศาลตามวรรคสามให้อุทธรณ์และฎีกาได้ภายใต้บทบัญญัติในภาค ๓ อุทธรณ์และฎีกา
มาตรา ๒๒๒/๔๓ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ให้ทนายความฝ่ายโจทก์ในคดีแบบกลุ่มมีอำนาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้เฉลี่ยทรัพย์แก่ทนายความฝ่ายโจทก์ โจทก์ และสมาชิกกลุ่มตามมาตรา ๒๙๐ ตามจำนวนที่มีสิทธิได้รับในกรณีที่จำนวนเงินที่สมาชิกกลุ่มได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา ๒๒๒/๔๒ ยังไม่เป็นที่ยุติให้ศาลที่ได้รับคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ตามวรรคหนึ่งรอการมีคำสั่งให้เฉลี่ยทรัพย์ไว้ก่อน และเมื่อได้ข้อยุติในจำนวนเงินดังกล่าวแล้ว ให้ทนายความฝ่ายโจทก์แจ้งให้ศาลนั้นทราบเมื่อศาลได้มีคำสั่งให้เฉลี่ยทรัพย์แล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีนั้นส่งเงินให้เจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีแบบกลุ่มเพื่อจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิตามมาตรา ๒๒๒/๔๔
มาตรา ๒๒๒/๔๔ เมื่อจำเลยนำเงินหรือทรัพย์สินมาวางต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือเมื่อได้ขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินของจำเลย หรือเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รวบรวมทรัพย์สินอื่นใดของจำเลยเสร็จ และได้หักค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิตามลำดับ ดังนี้
(๑) ผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนตามมาตรา ๒๘๗ และมาตรา ๒๘๙
(๒) เงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์ตามมาตรา ๒๒๒/๓๗
(๓) ค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโจทก์
(๔) โจทก์ สมาชิกกลุ่ม และเจ้าหนี้อื่นที่มีสิทธิได้รับเฉลี่ยทรัพย์ตามมาตรา ๒๙๐
ส่วนที่ ๕ อุทธรณ์และฎีกา
มาตรา ๒๒๒/๔๕ ให้คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล โดยไม่นำข้อจำกัดสิทธิเรื่องทุนทรัพย์ของการอุทธรณ์และฎีกาในข้อเท็จจริงมาใช้บังคับ
มาตรา ๒๒๒/๔๖ สมาชิกกลุ่มไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ยกเว้นในกรณีตามมาตรา ๒๒๒/๔๒
มาตรา ๒๒๒/๔๗ ในกรณีที่จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์หรือฎีกาให้จำเลยนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลเฉพาะในส่วนที่จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่ไม่ต้องนำเงินมาชำระหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลสำหรับเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์
มาตรา ๒๒๒/๔๘ คดีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์หรือฎีกาส่งมาให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาหากศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณีพิจารณาเห็นว่าอุทธรณ์หรือฎีกานั้นต้องห้ามอุทธรณ์หรือห้ามฎีกาให้ยกอุทธรณ์หรือฎีกา โดยไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นที่อุทธรณ์หรือฎีกา แต่ถ้าศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณี พิจารณาเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาดจะรับพิจารณาพิพากษาคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือห้ามฎีกาดังกล่าวนั้นก็ได้
ส่วนที่ ๖ ค่าธรรมเนียม
มาตรา ๒๒๒/๔๙ ให้คิดค่าธรรมเนียมตามอัตราดังต่อไปนี้
(๑) ค่ายื่นคำขอรับชำระหนี้สองร้อยบาท แต่การขอรับชำระหนี้ที่ไม่เกินสองหมื่นบาทไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
(๒) ค่าคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อศาลในเรื่องการขอรับชำระหนี้เรื่องละสองร้อยบาท
(๓) ค่าขึ้นศาลในกรณีที่มีการอุทธรณ์เรื่องการขอรับชำระหนี้ หรือการอุทธรณ์เรื่องเงินรางวัลของทนายความ เรื่องละสองร้อยบาท
(๔) ค่าธรรมเนียมอื่นนอกจาก (๑) (๒) และ (๓) ให้คิดอัตราเดียวกับค่าธรรมเนียมตามตารางท้ายประมวลกฎหมายนี้”
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นกระบวนการดำเนินคดีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน เนื่องจากเป็นวิธีการที่สามารถคุ้มครองผู้เสียหายจำนวนมากได้ในการดำเนินคดีเพียงครั้งเดียว และสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายที่ไม่มีความสามารถฟ้องคดีเพื่อเยียวยาความเสียหายด้วยตนเองได้ หรือผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจำนวนเพียงเล็กน้อย เช่น คดีที่ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย การดำเนินคดีแบบกลุ่มจึงเป็นมาตรการที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้เป็นอย่างดี ประกอบกับการดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นวิธีการที่ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และยังช่วยหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดีและป้องกันความขัดแย้งกันของคำพิพากษา ตลอดจนเป็นมาตรการในการลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกทางหนึ่ง สมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเพื่อกำหนดกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการดำเนินคดีแบบกลุ่ม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้