xs
xsm
sm
md
lg

เสียงร่ำไห้จากแม่เมาะ! “ปัญหายังอยู่...เราจะสู้จนกว่าจะตาย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรงไฟฟ้าถ่ายหินแม่เมาะดูจะเป็นเรื่องไกลตัว เมื่อคำพิพากษาที่ปรากฏและความจริงอันแสนโหดร้ายได้รับการยอมรับจากความยุติธรรม ค่าชดเชยความเสียหายดูเหมือนจะทำให้หลายคนเข้าใจว่าเรื่องราวทุกอย่างจบด้วยดี
 
“ในเรื่องของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หินลิกไนต์ มันเป็นเรื่องคดีเก่าที่ฟ้องกันมาตั้งนานแล้ว แล้วมีเสียค่าชดเชย มันไม่ใช่วันนี้ แต่มันฟ้องกันมานาน แต่วันนี้ หลังจากที่มันเกิดเหตุแล้ว เขาได้มีการปรับปรุงทั้งเครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือ กลไกกำจัดมลพิษต่างๆ เยอะแยะไปหมด” ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการ คืนความสุขให้คนในชาติประจำวันที่ 6 มีนาคม 2558

แต่เสียงสะท้อนจากชาวบ้านกลับไม่เป็นแบบนั้น เมื่อชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่ายหินแม่เมาะมีนับหมื่นชีวิต ความเสียหายกระจายตัวไปรอบชุมชนและหมู่บ้าน กระทั่งในสิ่งแวดล้อมที่สะท้อนผ่านความเจ็บป่วยมากมาย

“ปัญหาแม่เมาะยังไม่ได้รับการเยียวยาทั้งหมด ชาวบ้านยังไม่ได้รับการอพยพออกจากพื้นที่ ส่วนของสิ่งแวดล้อมที่เสียหายก็ยังไม่ได้รับการฟื้นฟูให้กลับเป็นเหมือนเดิม โรงงานไฟฟ้าและเหมืองแร่ยังคงปล่อยมลภาวะสร้างความเสียหายอยู่” นี่คือเสียงหนึ่งของชาวบ้านแม่เมาะ “เราขอแค่อากาศบริสุทธิ์และฝนน้ำสะอาดเท่านั้นเอง”
 
ปัญหานี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่เมื่อท่าทีของรัฐบาลดูจะโอนอ่อนให้การสร้างเหมืองแร่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่แน่ว่าปัญหามลภาวะอาจกำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่คุกคามเราใกล้ขึ้นทุกทีก็เป็นได้

ความตายที่พิสูจน์ไม่ได้

ความคืนหน้าล่าของกรณีแม่เมาะคือคำพิพากษา 2 คดีของศาลปกครองสูงสุดที่มีแนวโน่มที่ดีต่อชาวบ้านมากขึ้น แม้ว่าชาวบ้านจะต้องรอคอยความยุติธรรมยาวนานกว่า 11 ปีก็ตาม แต่นิวัติ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความ ในฐานะคนที่ทำงานด้านเกาะติดกรณีนี้มาอย่างยาวนานก็มองเห็นทิศทางที่ดีขึ้น จากคำพิพากษา 2 คดีนี้ เขาเผยถึงการทำงานอันยาวนานที่หน่วยงานอย่าง สภาทนายความนั้นมีการลงพื้นที่ตั้งแต่ปี 2546

“เดิมชาวบ้านที่ร้องเรียนมาเป็นเรื่องที่เกิดในอำเภอแม่ทา จังหวัดลำปาง โดยคดีสิ่งแวดล้อมพวกนี้เราจะส่งทีมงานเข้าไปดูพื้นที่ก่อนแล้วก็ตั้งคณะทำงานซึ่งจะมีทั้งทนายความและนักวิชาการโดยเราจะศึกษาทุกๆ ด้านที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ในส่วนของการลงพื้นที่จะมีประเด็นแรกคือ ชาวบ้านไม่เชื่อใจทนาย เพราะมันมีผลประโยชน์สูง ถ้าทนายพลิกผันเปลี่ยนฝ่าย ชาวบ้านจะเสียเปรียบมาก ดังนั้นหลายเรื่องเราจะส่งคณะกรรมการบริหารลงไปชี้แจงโดยตรงว่า ทนายไม่มีสิทธิตัดสินใจในเชิงคดี การตัดสินใจขึ้นอยู่กับคณะกรรมการเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวบ้าน”

อีกประเด็นคือเรื่องของข้อเท็จจริงที่ในส่วนของแม่เมาะจะมี 3 - 4 ประเด็นหลัก คือ EIA หรือการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งมีการศึกษาที่ต้องตั้งคำถามว่าจัดทำไว้อย่างสมบูรณ์หรือไม่? และยังมีประเด็นเกี่ยวกับการป่วยที่ชาวบ้านทุกคนทั่วประเทศที่ใกล้เหมืองต่างๆ เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเหมือนกัน

“ปัญหาคือเราไม่สามารถชี้ลงไปได้ว่าโรคทางเดินหายใจนั้นเกิดจากอะไร หมอไม่ลงความเห็นหรอก ฉะนั้นในการทำคดี ในการพิสูจน์ตรงนี้ ปัญหาคือการพิสูจน์เชิงการแพทย์จะลำบากมาก ถ้าพิสูจน์ในลักษณะมลพิษมันจะง่ายต่อการพิสูจน์เพราะมีหน่วยงานที่รับพิสูจน์”
ในส่วนของการฟ้องร้องมีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ “สิทธิชุมชน” และกระบวนการฟ้องร้องที่เปลี่ยนแปลงไป เขามองว่า คดีแม่เมาะสร้างคุณูปการในการเข้าถึงความยุติธรรมของชาวบ้านเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

“แต่ก่อนคำว่าฟ้องอย่างคนอนาถาซึ่งจะมีละเว้นค่าธรรมเนียม แต่เมื่อศาลเห็นว่าเป็นคดีชาวบ้านซึ่งเป็นเอกชนฟ้องรัฐจึงได้โอนมาเป็นคดีที่ศาลปกครองซึ่งไม่มีข้อกำหนดให้ฟ้องอย่างคนอนาถาได้ ชาวบ้านไม่มีเงินก็เข้าไปไม่ถึงความยุติธรรมตรงนี้

“ระหว่างนั้นเป็นเกมยื้อที่ต้องใช้มวลชนและหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาเคลื่อนไหว จนเมื่อสามารถยื่นอุทธรณ์ไม่ให้คดีมีการฟ้องอย่างคนอนาถาเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ ศาลตีความว่าไม่ขัดแต่ช่วงยื้อนั่นเองที่ศาลปกครองมีการออกข้อกำหนดว่าด้วยการฟ้องโดยยกเว้นค่าทำเนียมต่างๆ”

สิ่งนี้คือการเปลี่ยนกระบวนการยุติธรรมในระยะยาวโดยผู้ขอรับสิทธิดังกล่าวต้องผ่านการไตร่สวนก่อน โดยศาลอาจจะไม่เว้นให้ 100 เปอร์เซ็นต์ มุมที่เป็นข้อดีก็คือคดีแม่เมาะเป็นคดีแรกที่ฟ้องโดยยกเว้นค่าทำเนียนศาลปกครอง และการไม่ต้องฟ้องแบบคนอนาถาซึ่งทำให้คนจำนวนมากเสียสิทธิจากการมีทรัพย์สินในครอบครองแต่ยังติดหนี้อยู่

“พอศาลเห็นมีบ้านราคา 10 ล้านอยู่แต่ติดหนี้ 8 ล้านก็ฟ้องไม่ได้ ถ้าจะฟ้องเขาต้องขายบ้านมาฟ้องเหรอ ดังนั้นการมีเกณฑ์ยกเว้นค่าทำเนียมศาลปกครอง ต้องยกความดีให้กับชาวบ้านแม่เมาะที่ฟ้องร้องเรื่องนี้”

เขาเผยว่า คดีแม่เมาะสิ่งที่เห็นชัดถึงความเปลี่ยนแปลงคือ 1 ศาลได้เขียนคำว่าหน่วยงานของรัฐชัดเจนขึ้น ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานของรัฐและ 2 คือเรื่องสิทธิชุมชน โดยศาลเขียนเรื่องสิทธิชุมชนเป็นสิทธิของชาวบ้านที่จะไปฟ้องศาลปกครองได้

“อีกประเด็นหนึ่งที่ศาลเขียนไว้ระหว่างการละเมิดในคดีสิ่งแวดล้อมกับละเลยตามพิธีจัดตั้งศาลปกครอง ศาลได้อธิบายคำว่าละเลยของกฟผ.คือการไม่ปฏิบัติตามสัมปทานที่ตัวเองขอไว้ แล้วการที่การไฟฟ้าไม่มีการตรวจสอบก็เป็นผลดีในเชิงคดี”

ในมุมมองเขาจึงเห็นว่าคดีแม่เมาะได้ประโยชน์แตกต่างจากคดีอื่น โดยคดีสิ่งแวดล้อมกรณีถ่ายทำหนังเรื่องเดอะบีชมีเรื่องของสิทธิ์ชุมชนที่ศาลให้เฉพาะอบต.เป็นผู้ฟ้อง แต่พอมาคดีคลิตี้ล่างศาลวิเคราะห์สิทธิชุมชนกว้างขึ้นให้ชาวบ้านรวมตัวกันเป็นสิทธิชุมชน เมื่อถึงคดีแม่เมาะเรื่องสิทธิของชาวบ้าน ศาลสามารถเป็นผู้เดือดร้อนรายบุคคลได้ นี่คือข้อแตกต่างที่เปลี่ยนไป

ข้อจำกัดของความยุติธรรม

หลังการต่อสู้อันยาวนาน มีหลายหน่วยงานเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือเยี่ยวยาปัญหาในพื้นที่ อีกตัวแทนจากหน่วยงานที่ลงไปเคลื่อนไหวด้านกฎหมายกับปมปัญหาที่เกิดขึ้น สุรชัย ตรงงาม มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
มีมุมมองต่อคำพิพากษาว่า คดีแม่เมาะเป็นมหากาพย์ยาวนานและยังไม่สิ้นสุดลงตั้งตัวเองเกิดเลยก็ว่าได้ โดยมีสิ่งสำคัญหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังคำพิพากษาทั้งสองคดี

“ผมว่าใน 2 คดีนี้ได้มีการยืนยันหลักการสำคัญคือ สิทธิในการดำเนินชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี ถ้าดูรัฐธรรมนูญปี 50 มันจะมีคำว่าสิทธิ์ในการดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติสุข ปลอดภัย เหล่านี้ผมคิดว่าคำพิพากษานี้เป็นสิ่งยืนยันว่า มันเป็นสิ่งสำคัญเฉกเช่นเดียวกับสิทธิในชีวิตและร่างกาย

“ถ้าเป็นนักกฎหมายถึงตรงนี้คือขนลุกซู่แล้วนะ เพราะว่าเราก็เคยติดตามคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศ สิทธิด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสิทธิในยุคหลัง คำว่าสิทธิส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายก่อน สิทธิด้านสิ่งแวดล้อมมันมาหลังๆ แต่คำพิพากษาในคดีแม่เมาะได้ยืนยันว่าสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสิทธิส่วนหนึ่งของสิทธิ์ในชีวิตและร่างกาย มันสำคัญมากๆ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรอง มันมีนัยนะมาก เป็นสิทธิที่ไม่ว่าจะมีในรัฐธรรมนูญต่อไปหรือไม่ก็ต้องคำนึงในจุดนี้”

เมื่อพิจารณาจากหลักการด้านสิทธิ เขาเผยว่าสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญที่ส่งผลให้หากมีกิจการใดก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิ ก็ถือว่าเป็นการละเมิดและไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากเกิดความเสียหายก็ต้องมีการชดใช้

“คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดยังได้ชี้ให้เห็นบางเรื่องที่น่าตกใจ ไอ้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ใช้กันมันไม่แน่ว่าจะเป็นการคุ้มครองสิทธิ์ประชาชนหรือเปล่า คำพิพากษาถึงการกำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดซ์ออกไซด์ในบรรยากาศใน 1 ชม. ซึ่งออกตามพ.ร.บ.ด้านสิ่งแวดล้อม 2535 เราพบว่า การประกาศค่าเฉลี่ยความเข้มข้นในคำพิพากษาของคนทั่วไปกับคนแม่เมาะไม่เท่ากัน

“มันไม่เท่ากันอย่างไม่น่าเชื่อ 780 กับ 1300 พูดง่ายๆว่า มันเคยมีมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้คนในแม่เมาะอึดกว่าคนในพื้นที่อื่นของเมืองไทย ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ประกอบอย่างชัดแจ้งแต่เป็นไปแล้ว และเป็นเหตุในการกำหนดค่าเสียหายด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ต้องตั้งคำถามมากมาย”

สิ่งสำคัญที่เขาอยากจะตั้งคำถามก็คือ การกำหนดค่ามาตรฐานอาจจะเป็นไปได้มั้ยว่าจะมีการคำนึงถึงผู้ประกอบการมากกว่าความปลอดภัยของประชาชน ค่ามาตรฐานกำหนดแล้วคนยังเดือดร้อน มีปัญหาที่ค่ามาตรฐานหรือเปล่า? ค่ามาตราฐานตรงนี้มีความคิดว่าคนไทยอึดกว่าคนทั่วโลกมั้ย?

“แต่ในทางกฎหมายในพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมไม่มีโทษอะไร ไม่มีความรับผิดชอบอะไร พ.ร.บ.เหมืองแร่ก็ปรับแค่ไม่เกิน 2,000 บาทเท่านั้น ผมคิดว่ามันเป็นปัญหามาก ต้องแก้ไขหรือปฏิรูปอย่างเร่งด่วนเพราะสิ่งที่เราเห็นว่ามันจะป้องกันไม่ให้ชุมชนได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จริงๆแล้ว ไร้น้ำยาโดยสิ้นเชิง”

ทั้งนี้ รากของปัญหาทั้งหมดเขามองว่ามาจากระบบข้าราชการไทยที่ไม่มีการคุ้มครองและเป็นหลักประกันด้านสิ่งแวดล้อมในการดำรงชีวิตที่ดีเพียงพอให้กับประชาชน

“การแก้ไขโดยหน่วยงานรัฐจะทำให้ชาวบ้านและชุมชนไม่ต้องมีความเสี่ยงต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และไม่ต้องแสวงหาความยุติธรรมจากกระบวนการศาลอย่างเดียว ระบบรัฐหรือมาตรการใดๆของรัฐเองที่ไม่เป็นหลักประกับเพียงพอต้องมีการปรับปรุง ตัวกฟผ.ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเองด้วย เป็นรัฐด้วยต้องกำหนดมาตรการที่คุ้มครองและเป็นหลักประกันให้กับประชาชนอย่างเพียงพอ”

หลักการทำเหมืองที่ทำลายชีวิตคนมาก

เหมืองถ่านหินแม่เมาะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดโรงไฟฟ้าขึ้น การก่อสร้างที่มีการคลุมพื้นที่กว้างใหญ่และยาวนานตั้งแต่ปี 2497 นั้น แทบจะเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์อันยาวนานที่มีเบื้องหลังซ้อนอยู่ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา เผยถึงชีวประวัติอันไม่ชอบมาพากลของเหมืองแร่แห่งนี้ไว้โดยมีนิยามว่า เป็นเหมืองที่มีวิธีการทำที่ทำลายล้างชีวิตคนมาก

“ตัวเหมืองแม่เมาะเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2497 แล้ว ก็มีการทำมาเรื่อย ช่วงแรก 2497 แม้จะเริ่มมีกฎหมายแร่แต่ก็ไม่ได้บังคับ ยังไม่มีกฎหมายสิ่งแวดล้อม เงื่อนไขการขอประทานบัตรก็ยังไม่ชัดมากนัก แต่หลังต่อมาปี 2510 หลังจากมีกฎหมายเหมืองแร่ออกมาปุ๊บก็มีความชัดเจนมากขึ้น เหมือนแร่ต้องทำ 2 ส่วน 1 คือทำตามกระบวนการขอประทานบัตร 2 คือยุคนี้ก็ยังเป็นยุคที่ยังไม่มีตัวกฎหมายสิ่งแวดล้อม 2535 หลังปี 2535 เหมืองก็เข้มงวดมากขึ้น คือต้องทำตามขั้นตอนอนุมัติของกฎหมายและถูกบังคับให้ทำeia”

เขาเผยว่าปัจจุบันขณะนี้มีประทานบัตรเหมืองแม่เมาะอยู่ที่ประมาณ 61 แปลง คือ 1 หมื่น 1,026 ไร่ มีประทานบัตรที่สิ้นอายุไป 4,658 ไร่ นี่คือในช่วงนับตั้งแต่มีกฎหมายแร่ 2510 โดยก่อนหน้านั้น 2497 - 2510 ไม่ปรากฏข้อมูล

“ประเด็นคือพอเห็นตัวเลขนี้แล้วเรารู้สึกว่ามันมโหฬารแล้วน่าตกใจนิดหน่อย เหมืองแม่เมาะเป็นเหมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีประทานบัตรเยอะที่สุด ต้อง 6 - 7 แปลงที่ยังไม่หมดอายุ เป็นการเปิดหน้าดินที่ใหญ่มากๆ ข้อสังเกตคือพื้นที่ขนาดใหญ่เหล่านี้ การขอประทานบัตรติดต่อกันเป็นหมื่นๆ ไร่ ข้อสังเกตทางธรณีวิทยาคือขั้นหิน ขั้นลิกไนต์มันแผ่กระจายเป็นบริเวณกว้างมาก ต้องลอกออกเป็นแผ่นๆ แต่คำถามคือทำไมต้องเร่งรีบเปิดหน้าดินมากขนาดนั้น ทำไมไม่ขอประทานบัตรเล็กๆ สัก 10 - 20 แปลง หรือ 5 - 10 แปลงแล้วค่อยๆ ทำไปที่ 5 - 10 แปลงนั้นจนกว่าจะหมด

“คือเอาถ่านหินตั้งแต่ติดกับผิวดิน แล้วค่อยลึกลงไปๆ มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ก่อนค่อยขยายไปแปลงอื่น ทำไมขอประทานบัตรใหญ่โตขนาดนั้น คำตอบคืออาศัยความสะดวกง่ายและลงทุนน้อย เพราะการทำเหมืองถ่านหินแบบขอเป็นกลุ่มประทานบัตรแล้วเอาถ่านหิน เอาลิกไนต์ระดับผิวดินจนถึงระดับลึกที่สุดมาเนี่ยมันลงทุนสูงกว่าการลองหน้าดินเป็นแผ่นๆ ถ้าไม่มีอำนาจบาตรใหญ่แบบนี้ไม่มีทางใช้หลักการนี้ในการทำเหมืองแร่ มันมีข้อสงสัยอยู่เพราะหลักการนี้ทำลายชีวิตคนมาก ทั้งสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศมหาศาล เนื่องจากมันเอาทั้งแอ่ง คลุมทั้งแอ่ง”

ทางด้านของ ดร.อาภา หวังเกียรติ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตได้ให้ความเห็นทางวิทยาศาสตร์ว่า การพิสูจน์ในด้านของมลพิษในสิ่งแวดล้อมก็เป็นไปได้ยาก ด้วยข้อจำกัดทางวิทยาศาสตร์ที่การตรวจสอบสารพิษยังก้าวตามไปไม่ทันการก่อมลภาวะของการทำอุตสาหกรรมในปัจจุบัน

“ข้อจำกัดทางวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์ว่าชาวบ้านป่วยด้วยโรคจากซัลเฟอร์ไดออกไซด์ นอกจากไม่มีความเห็นของหมอที่กล้าออกมายืนยันแล้ว การตรวจสอบสารพิษที่เกิดขึ้นนั้นก็มีข้อจำกัดที่วิทยาศาสตร์การให้ตรวจสอบตามไม่ทันอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษต่างๆ ออกมา มันมีสารพิษตัวใหม่ๆ ออกมามากมายจนวิทยาศาสตร์กว่าจะพิสูจน์ได้ว่าสารตัวนี้เป็นพิษกับมนุษย์มันก็เดินหน้าผลิตสารพิษตัวใหม่ออกมาจนพิสูจน์ไม่ทัน เมื่อไม่ทันมันก็บอกไม่ได้ว่าการปล่อยสารเคมีเหล่านั้นออกมาเป็นมลพิษ ตรงนี้ก็ส่งผลต่อการฟ้องร้องในชั้นศาลอีกด้วย”

เสียงร่ำไห้จากแม่เมาะ

ท่ามกลางห้องประชุมข่าว ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากพื้นที่ 4 คนเข้ามารวมกันอยู่เพื่อบอกเล่าเรื่องราวจากพื้นที่โดยตรง ส่งผ่านปัญหาที่พบเจอให้กับประชาชนทั่วไปได้รับรู้

พิชิต โพธิรังสีกร ชาวบ้านจังหวัดตราดผู้ได้รับผลกระทบ เอ่ยเล่าถึงความยุติธรรมที่ใช้เวลานานกว่า 10 ปีกว่าจะมาถึง ในช่วงเวลาดังกล่าวมีชาวบ้านเสียชีวิตไปแล้วกว่า 36 ราย

“วันที่ 17 -18 สิงหาคม 2541 ถือเป็นวันวิปโยดของชาวแม่เมาะ สัตว์วัวควายล้มตายไป 20 - 30 ตัว นับประสาอะไรกับคนที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะเป็นพิษและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ได้ยินคำพูดของหมอคนหนึ่งซึ่งไปประชุมที่แม่เมาะและได้ให้ความรู้กับชาวบ้านว่า ชาวบ้านส่วนมากที่แม่เมาะป่วยด้วยโรคซัลเฟอร์ไดออกไซด์หลังจากวันที่ 17 - 18 ไม่น้อยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์แต่ชาวบ้านออกมาตรวจกับหมอต่างๆ ปรากฏว่าส่วนมากไม่กล้ารับรอง ไม่กล้าบอกว่าชาวบ้านป่วยจากซัลเฟอร์ไดออกไซด์ กลับบอกเพียงว่าชาวบ้านป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ ภูมิแพ้หรืออื่นๆ ชาวบ้านมาตรวจบางครั้งผู้นำก็ขู่ หมอก็ขู่บอกว่าชาวบ้านอุปโลกเอาเอง คือในแม่เมาะพ่อแม่ของพนักงานไฟฟ้าใครที่มาวิ่งเต้นเรื่องซัลเฟอร์ก็จะมีอันเป็นไป”

ด้านวิทยา แก้วพิมุก ราษฎรที่ได้รับผลกระทบในการทำเหมือง เผยว่าตนเองเป็น 1 ในผู้ฟ้อง 130 คนซึ่งศาลสั่งให้อพยพออกจากพื้นที่ในรัศมี 5 กิโลเมตร แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เคยได้รับการติดต่อจากการไฟฟ้าเลย

“ตอนนี้ชาวบ้านไม่รู้อะไรเลย เลยต้องมาตั้งคำถามว่าคุณจะปฏิบัติตามคำสั่งศาลหรือไม่? ปฏิบัติอย่างไร? ในคำสั่งศาลบอก 90 วัน ป่านนี้จะ 60 วันแล้ว ยังไม่มีหน่วยงานไหนมาติดต่อชาวบ้านแม้แต่คำเดียว แม้แต่คนเดียว ชาวบ้านจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร? จะวางแผนในชีวิตข้างหน้าไปอย่างไร?

“งานนี้ถึงอยากจะเรียกร้องให้ผู้สื่อข่าวเปิดประเด็นสู่สังคมว่าแม่เมาะยังมีปัญหาอยู่หลังคำพิพากษา และแม่เมาะจะต่อสู้กันต่อไปด้วยไม่รู้กฎหมาย สู้ไปเรื่อยๆ จนกว่าชีวิตจะหาไม่ อยากจะหาความเป็นธรรมของคนแม่เมาะ คุณมีความชอบธรรมแค่ไหน? มีจิตใต้สำนึกแค่ไหนต่อสังคม? ผมขอตั้งคำถาม คำพิพากษาชัดเจนคุณยังไม่ทำ! คุณไม่มีความรับผิดชอบแม้แต่น้อยนิด!”

มาตรา 44 ถูกประกาศใช้แล้ว นายกรัฐมนตรีสามารถจัดได้โดยเร็ว ชาวบ้านอย่างเขาไม่สนใจวิธีการขอเพียงให้ได้รับความช่วยเหลือก่อนไม่ว่าจะทางไหนย่อมเป็นหนทางที่ดีที่สุด

“ผมยังไม่ค่อยทราบเรื่องมาตรา 44 แต่ชาวบ้านต้องทำแล้ว อยากให้ท่านนายกฯลงพื้นที่อำเภอแม่เมาะด่วนเพื่อทราบและรู้จักปัญหาของเมืองแม่เมาะ ถ้านายกฯลงไปชาวบ้านก็จะบอกให้ว่าแม่เมาะเป็นอย่างไร เพราะชาวบ้านไม่มั่นใจในคนของแม่เมาะ ชาวบ้านเชื่อนายกฯคนเดียวเพราะนายกฯลงไปข้อมูลชัดเจน”

อีกประเด็นร้อนที่หลายคนนึกถึงคือโฆษณาของกฟผ.ที่บอกถึงขั้นว่าแม่เมาะมีอากาศที่บริสุทธิ์เทียบกับอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อง

“โกหกกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ อากาศบริสุทธิ์...บริสุทธิ์แค่ไหน? อย่างไร? บอกว่าบริสุทธิ์เทียบเท่าวนอุทยานแจ้ซ้อนซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลย แม่เมาะกับแจ้ซ้อนมันคนละอย่างกันเลย ภูมิอากาศ ภูมิประเทศก็คนละอย่าง ฉะนั้นการโฆษณานี้คือโกหก โฆษณาชวนเชื่อเกินความเป็นจริง ผมสรุปเลยจะฟ้องก็ฟ้องเอาข้อเท็จจริงออกมา เพราะผมไม่กลัวแล้ว ศาลได้พิสูจน์แล้วว่ามีผลกระทบจริงเป็นจริง ณ ปัจจุบันนี้”
 


 
บทเรียนที่ได้จากแม่เมาะครั้งนี้อาจยังไม่สิ้นสุด กระบวนการให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมและการเยียวยายังอีกยาวไกล ชีวิตของชุมชนที่สิ้นสลาย โศกนาฏกรรมที่หลายชีวิตต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง หากชีวิตของผู้คนยังมีค่าในนิยมของความเป็นมนุษย์กรณีแม่เมาะก็อาจเป็นมากกว่าบทเรียนเพียงบทหนึ่ง

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ภาพโดย ปัญญพัฒน์ เข็มราช




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754









กำลังโหลดความคิดเห็น