xs
xsm
sm
md
lg

2 วิธีปลดแอก “หนี้” มนุษย์เงินเดือน พร้อมรับมือค่าครองชีพกระหน่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนี้บัตรเครดิตคนชนชั้นกลางทะยานเข้าสู่ภาวะเฝ้าระวัง หนี้เสียโตในอัตราเร่ง แถมสินเชื่อบุคคลไปในทิศทางเดียวกัน สะท้อนภาวะชักหน้าไม่ถึงหลังต้องยอมเป็นหนี้ ตามด้วยค่าครองชีพเข้าช่วงขาขึ้น ค่าโทลล์เวย์ ก๊าซ LPG แท็กซี่ น้ำมันดีเซลจ่อทะลุ 30 บาทหลังขึ้นภาษีสรรพสามิต แนะทางออกใครไม่ไหวโอนหนี้บัตรเป็นสินเชื่อบุคคลแทน หากจนแต้มต้องรอนาโนไฟแนนซ์ดอกเบี้ย 36%

การวัดการใช้จ่ายของผู้คนในชนชั้นกลางสะท้อนได้จากพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิต คนที่มีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป นิยมใช้บัตรเครดิตในการซื้อสินค้าที่ได้ทั้งส่วนลดและการสะสมแต้ม แต่หลังจากเกิดวิกฤตการเมืองมาตั้งแต่ปลายปี 2556 ที่กินเวลาร่วม 8 เดือน ทำให้สภาพเศรษฐกิจของประเทศทรุดลงอย่างมาก คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2557 นี้น่าจะอยู่ที่ 1%

ขณะเดียวกันการแถลงภาวะสังคมไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2557 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์หนี้บัตรเครดิต หลังจากพบว่ามีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จากการใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มขึ้น 31.8% คิดเป็นสัดส่วน 2.7% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด สินเชื่อที่ผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้นถึง 48.9% คิดเป็นมูลค่า 14,644 ล้านบาท และเป็นสัดส่วน 4.7% ของสินเชื่อรวม เช่นเดียวกับยอดคงค้างชำระบัตรเครดิต 3 เดือนเพิ่มขึ้น 28.1% คิดเป็นมูลค่า 8,153 ล้านบาท และเป็นสัดส่วน 2.9% ของสินเชื่อรวม

ทั้งนี้ผู้มีรายได้ต่ำมีหนี้บัตรเครดิตต่อรายได้ในสัดส่วนที่สูง และยังพบว่าการจ้างงานยังคงลดลงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว โดยการมีงานทำของคนไทยในวัยแรงงานลดลง 18%

สิ่งที่เกิดขึ้นนับเป็นสัญญาณหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจในปี 2557 ที่คนกลุ่มนี้ต้องหาทางแก้ปัญหาในการดำรงชีวิต ที่ต้องแบกรับกับค่าครองชีพในปัจจุบันให้ได้ เมื่อสินค้าในการดำรงชีพแพงขึ้นไม่ว่าจะมาจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทหรือจากปัจจัยด้านอื่น ขณะที่รายได้ยังไม่ขยับขึ้นทันต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น ภาระการเป็นหนี้จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก
หน่วย:ล้านบาท
หนี้เสียบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคลพุ่ง

จากตัวเลขการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่ายอดสินเชื่อคงค้างของปี 2557 โดยภาพรวมแล้วเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ยอดการใช้จ่ายรวมทั้งหมดแล้วยังทรงตัว ที่สำคัญตัวเลขหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้นในอัตราที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจับตามอง จากปลายปี 2556 จาก 6.637 พันล้านบาท 9 เดือนของปีนี้ ขยับขึ้นเป็น 8.152 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.8%

“ไม่ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจ แต่เป็นตัวเลขที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะการใช้จ่ายโดยรวมดูเหมือนซึมๆ แต่หนี้คงค้างกับหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือนกลับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการสวนทางกัน สะท้อนได้ถึงสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในเวลานี้ กำลังซื้อของคนนิ่งๆ หรืออาจน้อยลง และความสามารถในการชำระหนี้น้อยลงตามไปด้วย หมายถึงของแพงขึ้น คนรายได้ไม่เพิ่มหรือเพิ่มน้อยกว่าราคาสินค้าหรือคนมีกำลังซื้อที่น้อยลงจนต้องยอมเป็นหนี้บัตรเครดิต” นักวิจัยรายหนึ่งตั้งข้อสังเกต

สิ่งที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของคนชนชั้นกลางนั้น ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับสินเชื่อบุคคล โดยในรอบ 9 เดือนของปี 2557 ที่มียอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นทุกเดือน พร้อมๆ ยอดค้างชำระที่เกิน 3 เดือน จากปลายปี 2556 ที่ 1.09 หมื่นล้านบาท สิ้นกันยายนขยับไปที่ 1.46 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.1%

นี่เป็นเพียงตัวเลขการใช้จ่ายของผู้ใช้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีตัวเลขอยู่ สภาพของคนในกลุ่มนี้ยังส่ออาการย่ำแย่ต่อสภาพเศรษฐกิจในเวลานี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับคนในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท ว่าสถานะทางการเงินและภาระหนี้สินโดยรวมจะเป็นอย่างไร
หน่วย:ล้านบาท
ดาบ 2 โทลล์เวย์-ก๊าซ-ดีเซล

ขณะเดียวกันคนในกรุงเทพฯ ที่ใช้รถยนต์อาจต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ เนื่องจากในวันที่ 22 ธันวาคม 2557 จะมีการปรับราคาค่าผ่านทางขึ้น ช่วงดินแดง-ดอนเมือง รถ 4 ล้อ ปรับจาก 60 บาท เป็น 70 บาท รถมากกว่า 4 ล้อ ปรับเป็น 100 บาท ช่วงที่ 2 ดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน รถ 4 ล้อ ปรับจาก 25 บาท เป็น 30 บาท รถมากกว่า 4 ล้อ จาก 35 บาท ปรับเป็น 40 บาท ทำให้ตลอดทั้งเส้นทางขาออก รถ 4 ล้อ ปรับขึ้นราคาจาก 85 บาท เป็น 100 บาท ขณะที่รถมากกว่า 4 ล้อ จาก 125 บาท เป็น 140 บาท หรือปรับขึ้น 15 บาท

ดังนั้นใครที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวและจำเป็นต้องใช้ทางด่วนเส้นนี้เพื่อเดินทางเข้ามาทำงาน ย่อมต้องมีภาระเพิ่มขึ้นทั้งฝั่งเข้าเมืองและออกเมือง

ตามมาด้วยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติลดการอุดหนุนราคาขายปลีก LPG ภาคครัวเรือนและภาคขนส่งลง 0.4673 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้สะท้อนต้นทุนแท้จริงของตลาด โดยจะส่งผลให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนและขนส่งเพิ่มขึ้น 0.50 บาทต่อกิโลกรัม โดยขยับจากราคา 22.63 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 23.13 บาทต่อกิโลกรัม มีผลเมื่อ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

การขยับราคาก๊าช LPG ให้มาใกล้เคียงกับความเป็นจริงโดยลดการอุดหนุนลงนั้น ย่อมกระทบต่อภาคประชาชน ทั้งในด้านราคาอาหารและภาคการผลิตอื่นจำเป็นต้องมีการปรับราคาขึ้น หรืออาจลดปริมาณและคุณภาพลงเพื่อคุมราคาไว้ รวมไปถึงราคาค่าโดยสารทั้งรถแท็กซี่ที่ได้รับการอนุมัติให้ปรับขึ้นไปในเดือนธันวาคมนี้เฉลี่ยที่ 13% และยังจะมีผู้ประกอบการขนส่งรายอื่นทั้งรถโดยสารต่างจังหวัดและรถขนส่งมวลชนกรุงเทพหรือรถร่วมบริการที่จ่อเรียกร้องขอปรับราคาขึ้น

ปีหน้าผู้ใช้รถยนต์เครื่องดีเซลอาจต้องยอมรับสภาพกับราคาน้ำมันดีเซลที่ทุกรัฐบาลตรึงราคาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรมาโดยตลอดนั้น อาจถึงเวลาที่ต้องเผชิญกับความจริง เนื่องจากกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลนั้นมีแผนทยอยปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ในปี 2558

แนวทางการปรับจะเป็นการโอนอัตราการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากปัจจุบันเรียกเก็บอยู่ที่ 4.30 บาทต่อลิตร มาเปลี่ยนเป็นการเก็บภาษีสรรพสามิตแทน ซึ่งกระทรวงการคลังจะเสนอภาษีน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเป็น 4 บาทต่อลิตร

นี่คือปัจจัยที่จะเข้ามาซ้ำเติมสภาพการใช้จ่ายของภาคประชาชนที่อยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากอยู่แล้วให้มากขึ้น
บริการเงินสดทันใจที่เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น
เลือกวิธีแก้ปัญหา

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ตามพื้นที่ชานเมืองจะได้เห็นใบปลิวที่ติดตามสะพานลอยมากขึ้น เชิญชวนให้มาใช้บริการเงินด่วน โดยระบุว่าแม้จะติดบัญชีดำจากเครดิตบูโรก็สามารถใช้บริการได้ สะท้อนถึงช่องว่างที่เกิดขึ้น เพื่อกวาดลูกค้าที่เป็นหนี้มากขึ้นจนไม่มีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีวิตและไม่สามารถใช้บริการสินเชื่อในระบบได้

“สิ่งที่ต้องแลกกันก็คือคุณได้เงินเร็วทันต่อการใช้จ่าย แต่อาจได้ไม่ครบตามจำนวนเนื่องจากมีการหักไว้ส่วนหนึ่ง อีกทั้งผู้ให้บริการเหล่านี้อยู่นอกระบบ ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยที่คิดกับผู้ใช้บริการจะสูงกว่าในระบบมาก และวิธีการติดตามทวงนี้อาจไม่ใช้ช่องทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว อาจมีเรื่องของการข่มขู่หรือทำร้ายตามมาในภายหลังหากลูกหนี้ผิดนัดชำระ” นักการเงินรายหนึ่งกล่าว

อีกทางหนึ่งสำหรับผู้มีภาระเรื่องบัตรเครดิตที่อยู่ในสถานะที่ไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามกำหนด เนื่องจากต้องชำระขั้นต่ำ 10% ขณะนี้มีธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นหลายรายที่ให้บริการรับโอนหนี้บัตรเครดิตกันมากขึ้น โดยเฉพาะแบงก์เล็กหรือแบงก์ที่ไม่ได้รุกงานด้านนี้

วิธีการคือจะมีการรับโอนหนี้บัตรเครดิต แต่จะเลือกจากลูกค้าที่มีความสามารถในการผ่อนชำระได้ โดยซื้อหนี้จากบัตรของลูกค้าในสถาบันการเงินที่ลูกค้าเปิดใช้อยู่แล้วโอนกลับมาทำสัญญาใหม่เป็นการนำเอาหนี้บัตรก้อนดังกล่าวปรับมาเป็นสินเชื่อบุคคลแทน เนื่องจากมียอดการผ่อนชำระขั้นต่ำที่น้อยกว่า

หลายคนอาจกังวลว่าเมื่อเปลี่ยนมาเป็นสินเชื่อบุคคลแล้วอาจต้องเจอกับดอกเบี้ยที่สูงกว่านั้น ขณะนี้หลายแบงก์แข่งกันมาก บางแห่งคิดดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า 20% เช่น 14.6% หรือ 18% ซึ่งต่ำกว่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่บัตรเครดิตเรียกเก็บจากกรณีการผิดนัดชำระที่มีเพดานไว้ 20%

การโอนหนี้บัตรเครดิตไปเป็นสินเชื่อบุคคลนั้น แม้ว่าระยะเวลาในการผ่อนชำระอาจนานขึ้น แต่จะทำให้ภาระในการผ่อนชำระแต่ละเดือนของท่านลดลง

ประการต่อมาการโอนหนี้ไม่ได้หมายถึงท่านจะไม่มีบัตรเครดิตไว้ใช้เลย สถาบันการเงินที่รับโอนส่วนใหญ่จะมีเงื่อนไขให้ท่านต้องเปิดบัตรเครดิตกับเขาด้วย แต่วงเงินในบัตรอาจเป็นอัตราเริ่มต้นที่ให้วงเงินไม่สูงนัก ซึ่งเป็นวิธีการหาลูกค้าของสถาบันการเงินที่รับโอนหนี้บัตรเครดิต คือได้ทั้งสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้นและได้ลูกค้าบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น เพียงแต่จะมีการเลือกลูกค้าที่มีความสามารถในการชำระหนี้ตามเงื่อนไขของเขาได้เป็นหลัก

อีกทางเลือกหนึ่งแต่อาจต้องรอนั่นคือนาโนไฟแนนซ์ของรัฐบาลที่มีแนวคิดแต่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง โดยให้วงเงินในการกู้เพื่อการใช้ชีวิตราว 1-1.2 แสนบาทต่อราย แต่ต้องแลกกับดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งกำหนดไว้ที่ 3% ต่อเดือน หรือ 36% ต่อปี แม้ตัวดอกเบี้ยอาจจะสูงแต่ก็ยังดีกว่าการใช้สินเชื่อนอกระบบที่อาจต้องเสี่ยงต่อสภาพร่างกายและจิตใจหากเกิดการผิดนัดชำระ

กำลังโหลดความคิดเห็น