xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาใจ “บิ๊กตู่-ยิ่งลักษณ์” กระตุ้นต่อม “ปู”- ไม่หนี-สู้คดีจำนำข้าว!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชำแหละหลายปัจจัยที่ทำให้ คสช. อนุญาตให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โบยบินเหมือน “ปล่อยเสือเข้าป่า หรือ ปล่อยปลาลงน้ำ” ขณะที่ ป.ป.ช. มีมติ 7 : 0 ชี้มูลความผิดทุจริตโครงการจำนำข้าว ส่วนสัญญาใจ “บิ๊กตู่ - ปู” สร้างความมั่นใจต้องกลับมาสู้คดี หลัง ปล่อยให้ “ปูแดง” เลือกทางเดินด้วยตัวเอง เชื่อยังไม่ปีกกล้าขาแข็งเหมือนพี่ชาย “คสช.” ลั่นขอเวลาจัดการปัญหาชาติ - ไม่ติดยึดอำนาจ หวั่นอยู่นานจะเกิด “เผด็จการทหาร” นำไปสู่ความรุนแรงรอบใหม่
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม(ภาพจาก Internet)
กรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. อนุญาตให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางออกนอกประเทศได้ ระหว่างวันที่ 20 กรกฎาคม - 10 สิงหาคม 2557 ตามคำร้องขอที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ติดต่อประสานงานมายัง คสช. เพื่อไปทำภารกิจส่วนตัวในประเทศแถบยุโรปนั้น กำลังเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ และมีคำถามเกิดขึ้นตามมามากมาย

โดยเฉพาะอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ คสช. อนุญาตให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกนอกประเทศได้ แม้ว่า พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก และทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ระบุถึงเหตุผลที่อนุญาต เนื่องจากเป็นการขอตามขั้นตอน และที่ผ่านมาไม่เคยขัดคำสั่งของ คสช. หรือฝืนคำสั่งที่ได้ตกลงกันก่อนหน้านี้ รวมไปถึงไม่ได้ผิดกฎหมายด้านความมั่นคง ก็ตาม

แต่หลายๆ กลุ่มที่มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนข่าวสารบ้านเมืองก็ยังไม่มั่นใจ และพยายามจะหาเหตุหาผล เพราะเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. จะต้องมีคำตอบในใจที่กล้า “ปล่อยเสือเข้าป่า หรือ ปล่อยปลาลงน้ำ” ทั้งๆ ที่มีบทเรียนจากกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พี่ชายของนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่ถูกยึดอำนาจเมื่อปี 2549 และได้ขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อร่วมงานพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก ที่ประเทศจีน เมื่อ 5 สิงหาคม 2551 และไม่ได้เดินทางกลับมา กระทั่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 พิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดีทุจริตซื้อที่ดินรัชดาภิเษก และไม่กลับเข้ามาสู้คดีจนทุกวันนี้

ดังนั้น สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจอนุญาตนางสาวยิ่งลักษณ์ ออกนอกประเทศครั้งนี้ ในสายตาของนายทหารที่รู้จักและเคยร่วมงาน ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และนางสาวยิ่งลักษณ์ รวมไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ และคนในตระกูลชินวัตร หลายๆ คนแล้ว บอกได้สั้นๆ ว่า

ประยุทธ์ให้ยิ่งลักษณ์เลือกทางเดินด้วยตัวเอง !

แหล่งข่าวจากกองทัพ ระบุว่า การที่ คสช. อนุญาตให้นางสาวยิ่งลักษณ์ไปต่างประเทศได้ โดยไม่กังวลว่านางสาวยิ่งลักษณ์จะไม่กลับมาสู้คดีความ โดยเฉพาะกรณีจำนำข้าวนั้น เป็นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจให้นางสาวยิ่งลักษณ์เลือกเส้นทางเดินของตัวเอง ซึ่งวันนี้มีเพียง 2 แนวทาง คือ การกลับมาสู้คดีความ หรือจะหนีคดีไปใช้ชีวิตระหกระเหินแบบ พ.ต.ท.ทักษิณ

“พล.อ.ประยุทธ์ ให้ยิ่งลักษณ์เลือกเอง ถ้ามั่นใจว่าตัวเองบริสุทธิ์ ก็ต้องต่อสู้ตามสัญญา แต่ถ้ายิ่งลักษณ์ไม่กลับมาสู้คดี ก็แปลว่าเขายอมรับว่าทำผิดตามที่ ป.ป.ช. กล่าวหา เลยต้องหนี”

อย่างไรก็ดี คสช. มีคำสั่งอนุญาตก่อนที่ ป.ป.ช. จะชี้มูลความผิดนางสาวยิ่งลักษณ์ กรณีจำนำข้าว โดยเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้พิจารณาการไต่สวนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว ซึ่งมีมติเสียงข้างมากด้วยคะแนน 7 : 0 กรณี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อยู่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว มีอำนาจสามารถยับยั้งมิให้เกิดการทุจริต มิให้เกิดความเสียหายได้

แต่ผู้ถูกกล่าวหาได้ดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไป มีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/3 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติ หรือละเว้นหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริต จึงได้ส่งรายงาน เอกสารพร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. มาตรา 70 ต่อไป

สำหรับขั้นตอนในการดำเนินการของ ป.ป.ช. จะต้องนำเรื่องส่งให้อัยการสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ภายใน 14 วัน ก่อนที่อัยการสูงสุด จะรวบรวมข้อมูลฟ้องศาลฎีกาฯ ภายใน 30 วันต่อไป

แหล่งข่าวบอกอีกว่า ในความเป็นจริงแล้ว ก่อนจะมีการอนุญาตฯ นั้น เชื่อว่าจะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูล ความเป็นไปได้ต่างๆ เราจะพบว่านางสาวยิ่งลักษณ์ มีความต่างกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นอย่างมาก และตรงนี้จึงเป็นความเชื่อมั่นว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ จะเลือกกลับมาสู้คดีแน่นอน

ประเด็นแรก ที่ต้องมองก็คือ คดีของนางสาวยิ่งลักษณ์นั้นเป็นแค่ขั้นตอนของ ป.ป.ช. และนางสาวยิ่งลักษณ์ ก็เป็นแค่ผู้ถูกกล่าวหา ยังไม่ได้มีการตัดสินชี้มูลแต่อย่างใด ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการพิจารณาของศาลฯ แล้ว เหลือเพียงแค่วันแถลงอ่านคำพิพากษา ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ รู้แล้วว่าตัวเองมีความผิดอย่างไร จึงต้องหนีคดี

“เรื่องของยิ่งลักษณ์ วันนี้ต้องถือว่าเธอบริสุทธิ์อยู่ คสช. จะไม่อนุญาตให้ออกนอกประเทศก็ไม่ได้ คสช. ต้องใจกว้าง คดีแค่เริ่มต้น ยังมีเวลาในการพิจารณา เคยเห็นหรือไม่ ในขั้นศาลฯ หลุดก็มีให้เห็นกันหลายคดี”
พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร พี่ชายมีประสบการณ์ในต่างประเทศมากกว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร(ภาพจาก Internet)
ประเด็นที่สอง ต้องมองย้อนไปถึงการใช้ชีวิตระหว่างนางสาวยิ่งลักษณ์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่แตกต่างกันมาก จะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องเลือกกลับมาสู้คดีความ กล่าวคือ นางสาวยิ่งลักษณ์ เติบโตในเมืองไทย การไปอยู่ต่างประเทศก็แค่ช่วงสั้นๆ ตอนไปเรียนปริญญาโท และ/หรือการไปเที่ยวต่างประเทศ พอเข้าสู่สนามการเมือง ก็ไปตามภารกิจงานในฐานะหัวหน้ารัฐบาลแค่นั้น

“ยิ่งลักษณ์ยังไม่ปีกกล้าขาแข็งแบบทักษิณ เธอไม่มีเพื่อนสนิทมิตรสหายที่จะคอยช่วยเหลือเกื้อกูลแบบเดียวกับพี่ชายที่เป็นมนุษย์อินเตอร์”

แหล่งข่าวอธิบายว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นมนุษย์อินเตอร์ในเรื่องการใช้ชีวิตมาก มีประสบการณ์อยู่ต่างประเทศมายาวนาน ตั้งแต่ได้ทุนไปเรียนต่างประเทศ เมื่อเข้าสู่แวดวงธุรกิจด้านโทรคมนาคมและการสื่อสารก็เชื่อมโยงด้านการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ เป็นอดีตเจ้าของและประธานสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี และมีความเกี่ยวพัน หรือมีเพื่อนสนิทมิตรสหายในระดับผู้นำทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองมาตั้งแต่สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ช่วงที่อยู่พรรคพลังธรรม เข้าร่วมรัฐบาลชวน หลีกภัย เมื่อประมาณปี 2537 - 2538

“ทักษิณเข้าสู่แวดวงการเมืองตั้งแต่ปี 2518 เป็นนายตำรวจติดตาม นายปรีดา พัฒนถาบุตร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และนายปรีดาก็เป็นผู้ติดเขี้ยวเล็บทางการเมืองให้กับเขาด้วย”

อีกทั้งประมาณปี 2539 เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา และเป็นรองนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก่อนที่จะออกมาตั้งพรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2541 และได้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2544 ติดต่อกัน 2 สมัย ส่วนอีกครั้งเมื่อช่วงมีนาคม 2548 - 19 กันยายน 2549 ก่อนถูกรัฐประหารโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหารในสมัยนั้น

นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเป็นอดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีแห่งประเทศกัมพูชา สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน และอดีตที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา และเขายังได้สัญชาติอื่น เช่น สัญชาตินิการากัว สัญชาติมอนเตเนโกร

แต่หากมองย้อนมาที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ แล้วจะเห็นว่าประสบการณ์ทั้งด้านการใช้ชีวิต การทำธุรกิจ หรือประสบการณ์ทางการเมืองนั้น เทียบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้เลย

“ถ้าคิดว่าหนีไปอยู่ต่างประเทศแล้วจะมองว่ามีพี่ชายคอยให้การช่วยเหลือไม่ต้องกลัวอะไร ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะการใช้ชีวิตในเมืองนอกต้องอยู่ที่ใจตัวเอง ต้องแกร่ง เป็นสำคัญ”

ประเด็นที่สาม ที่ทำให้เชื่อว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องกลับมาก็คือ ทั้งนางสาวยิ่งลักษณ์ และ ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร “น้องไปป์” (บุตรชาย) ยังไม่แข็งแรงพอทั้งในเรื่องจิตใจ และการใช้ชีวิตหากจะออกไปต่อสู้ในต่างประเทศกันตามลำพัง ส่วนการจะให้น้องไปป์ไปเรียนต่อต่างประเทศก็เป็นเรื่องที่เตรียมความพร้อมไว้ได้ เพราะน้องไปป์ก็เรียนโรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ อยู่แล้ว

“ยิ่งลักษณ์พลาดเพราะประสบการณ์ทางการเมืองน้อยมาก แค่สองเดือนที่พี่ชายบอกให้มาลงสนามการเมือง ก็ต้องเข้ามา จึงทำให้เชื่อคนรอบข้างแค่คนรู้จักไม่กี่คน มี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ และปัญหาจำนำข้าว ฟังที่คุยๆ กัน ข้อมูลที่กิตติรัตน์บอก ป.ป.ช. จะมัดตัวยิ่งลักษณ์โดยไม่รู้ตัว”

แหล่งข่าวบอกอีกว่า ยิ่งลักษณ์อาจตัดสินใจไม่ให้ลูกไปเรียนต่างประเทศก็ได้ เพราะหากมองย้อนไปดูครอบครัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ลูก 3 คน ทั้ง “โอ๊ค - เอม - อุ๊งอิ๊ง” ที่พ่อแม่มีเงินมหาศาล และบางครั้งมีปัญหาตามมาในสถาบันเมื่อครั้งอุ๊งอิ๊งอยู่จุฬาฯ เอมอยู่ ม.เกษตรศาสตร์ เขาก็ไม่เลือกที่จะแก้ปัญหาด้วยการส่งลูกไปเรียนเมืองนอก และเอมก็ได้ไปเรียนต่างประเทศก็ช่วงปริญญาโท

“เอมช่วงอยู่เกษตรก็โดนหนัก ที่ถูกว่าใช้เงิน อิทธิพลของพ่อ ย้ายคณะจากภาคพิเศษของ ม.เกษตรฯ วิทยาเขตศรีราชา มาอยู่ภาคปกติของ ม.เกษตรฯ บางเขน อุ๊งอิ๊งเข้าจุฬาฯ ได้เพราะข้อสอบรั่วเพื่อช่วยอุ๊งอิ๊งได้เข้าเรียน หรือช่วงมีปัญหาการเมืองแรงๆ ก็ถูกคนในมหา’ลัยแซวว่า นึกว่าลาออกไปแล้ว”

ดังนั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเลือกให้น้องไปป์ อยู่ใกล้ชิดตัวเองมากที่สุดเหมือนที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร เลือกให้ลูกทั้ง 3 คนอยู่ใกล้ตัวมากกว่าจะปล่อยให้ไปอยู่ต่างประเทศตามลำพัง
นางสาวยิ่งลักษณ์กับ ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร บุตรชาย(ภาพจาก Yingluck Shinawatra)
ประเด็นที่ 4 ก็คือ เงิน-ทอง ที่นางสาวยิ่งลักษณ์ มีอยู่ในเวลานี้ ก็ไม่ได้มากมายเหมือนพี่ชาย ซึ่งจากการประเมินของคนใกล้ชิด เชื่อมั่นว่า อย่างเก่งที่นางสาวยิ่งลักษณ์ จะมีก็ไม่เกิน 1 พันล้าน ที่พี่ชายมอบให้ เมื่อแลกกับการต้องเข้ามาทำงานด้านการเมือง

“1 พันล้าน ถ้าต้องไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ และไม่รู้จักใช้ ไม่รู้จักหาเพิ่มเติม 1 พันล้านสามารถหมดได้ แต่ 1 พันล้านอยู่ในเมืองไทย จะอยู่อย่างสบายๆ ไปตลอด”

ประเด็นสุดท้าย ที่เชื่อว่าจะเป็นหนทางสำคัญที่ทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์เลือกจะอยู่เมืองไทย ก็คือ การพูด การเจรจา การยอมรับตามเงื่อนไขที่ คสช. หยิบยื่นให้ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายคืนความสุขให้ประชาชนได้ จะช่วยให้นางสาวยิ่งลักษณ์อยู่เมืองไทยได้อย่างปลอดภัย และมั่นคงในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งตามที่นางสาวยิ่งลักษณ์ต้องการได้แน่นอน

“พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่คนโหดร้าย และไม่ได้คิดว่าจะอยู่ในอำนาจนี้ยาวนาน เพราะหากอยู่นานเกินไป จะกลายเป็นบูมเมอแรง ย้อนมาเล่นงาน คสช.”

แหล่งข่าวย้ำอีกว่า ขณะนี้สังคมไทยควรให้โอกาส คสช. ในการปฏิบัติงาน ซึ่งเชื่อว่าจะใช้เวลาแค่ 2 - 3 ปีเท่านั้น เพราะต้องไม่ลืมว่าระบอบทักษิณได้ครอบงำประเทศมาเป็นเวลา 12 - 13 ปีแล้ว การที่ คสช. เข้ามาเพียง 2 เดือนยังไม่สามารถล้างระบอบทักษิณได้ เพราะการจะจัดการระบอบทักษิณได้ต้องไปรื้อไปล้างที่ข้าราชการก่อน

เนื่องเพราะระบอบทักษิณล้วงลึกในระบบข้าราชการไปจนถึงระดับผู้อำนวยการกอง มีการวางเครือข่ายให้เจริญเติบโต และข้าราชการที่จะได้ดีหรือเติบโต ก็ต้องเป็นข้าราชการที่คุกเข่าให้นักการเมืองเท่านั้น

“มันต้องล้างวงรอบนี้ไปอีก 2 - 3 ปี เพื่อให้ข้าราชการที่ดี มีจิตสำนึก มีคุณธรรม รับใช้บ้านเมือง หรือพูดง่ายๆ เป็นข้าราชการของพระองค์จริงๆ ได้มีโอกาสเติบโตและทำงานเพื่อชาติ ส่วนพวกคุกเข่าแล้วได้ดีก็ต้องหมดไป”

ดังนั้น เมื่อจบปีที่ 3 แล้ว ก็ควรส่งมอบและเข้าสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยต่อไป ซึ่งตรงนี้กองทัพทุกคนเชื่อมั่นว่าจะไม่ยึดติดกับอำนาจแน่นอน โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้ำเสมอว่าไม่ติดยึดอำนาจ

“ถ้าปล่อยให้ไปถึงปีที่ 4 ปัญหาที่จะตามมา ก็คือ เผด็จการอย่างคุณทักษิณ พอเข้าปีที่ 4 ก็สร้างเผด็จการรัฐสภาแล้ว ทหารก็เหมือนกัน หากอยู่ต่อก็จะเกิดเผด็จการทางทหารตามมา”

แหล่งข่าวบอกอีกว่า กองทัพ และ คสช. เชื่อมั่นว่าจะไม่ยึดติดอำนาจ จนกลายเป็นบูมเมอแรง หรือนำไปสู่เผด็จการทหาร ที่ในที่สุดก็จะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงรอบใหม่อีก เพราะสังคมไทยไม่ยอมรับเผด็จการทหารแน่นอน ซึ่งเรามีบทเรียนมาแล้วทั้งในยุคเผด็จการ ถนอม - ประภาส หรือเผด็จการรัฐสภาในยุคระบอบทักษิณ ว่านำไปสู่ปัญหาและความรุนแรงอย่างไร

ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยขอให้คนที่อยู่ต่างประเทศกลับมา คสช. พร้อมจะให้ความเป็นธรรม คนไทยต้องให้อภัยกันอยู่แล้ว เราจะต่อสู้กันไปทำไม ต้องร่วมมือร่วมใจกันนำพาประเทศชาติไปสู่อนาคตที่ดีในวันข้างหน้านั้น แหล่งข่าวบอกว่า ถ้อยคำของ พล.อ.ประยุทธ์ มีความหมายอยู่ในตัวแล้ว ว่าหมายถึงใครที่มีอิทธิพลต่อขั้วอำนาจเก่า

“ข้อความนี้ไม่ได้สื่อถึงคนมีอำนาจที่อยู่ในต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังมีความหมายที่บอกคุณยิ่งลักษณ์ด้วยว่า คสช. พร้อมให้ความเป็นธรรม และคนไทยต้องให้อภัยกันอยู่แล้ว อยู่ประเทศไทยดีที่สุด”

ดังนั้น จากนี้ไปขึ้นอยู่กับเส้นทางเดินของนางสาวยิ่งลักษณ์แล้วว่าจะเลือกเดินเส้นทางใด ระหว่างการอยู่เมืองไทยเพื่อต่อสู้คดี และมีโอกาสที่จะหลุดคดีได้เช่นกัน กับการเลือกที่จะระหกระเหินไปยังประเทศต่างๆ เหมือนพี่ชายที่ยังไม่มีโอกาสกลับมาประเทศไทย แม้ว่า คสช. จะเปิดโอกาสพร้อมให้ความเป็นธรรมแล้วก็ตาม!

กำลังโหลดความคิดเห็น