แจงมูลเหตุที่ “ตระกูลชินวัตร-คนเสื้อแดง-เพื่อไทย” ประกาศเป็นศัตรูกับองค์กรอิสระ มั่นใจได้อำนาจกลับคืนจะฉีก รธน. ปี 50 และจัดการร่าง รธน. ฉบับใหม่ทันที แกนนำ นปช. ชี้ “ยิ่งลักษณ์” จะถูกลงดาบในคดีโยกย้าย “ถวิล” หลังสงกรานต์แน่ เตรียมระดมพลสู้ จะไม่ใช่แค่ต้านอำนาจศาล-องค์กรอิสระ แต่จะทำลายฝ่ายตรงข้ามพุ่งเป้า “สุเทพ” เป็นหลัก
เหลียวหลังแลหน้า ทบทวนบาดแผลที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวกพ้องเจ็บปวดที่สุด ตั้งแต่การเข้าสู่อำนาจทางการเมืองจน ณ วันนี้ วันที่เขาจะอยู่หรือไปจากอำนาจทางการเมืองล้วนเกิดจากองค์กรอิสระและศาล ในการตรวจสอบการทุจริต และการกระทำที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญทั้งหลาย แผลนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ตัว พ.ต.ท.ทักษิณเองที่โดนตัดสินจำคุกคดีทุจริตที่ดินรัชดา และถูกตัดสินยึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาทตกเป็นของแผ่นดิน พรรคไทยรักไทยและพลังประชาชนที่ถูกยุบ กรรมการบริหารถูกตัดสิทธิ์ รวมถึง ส.ส. ล่าสุดของพรรคกว่า 200 คนที่กำลังรอถูกคิวเชือดจาก ป.ป.ช. ตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี เหตุแก้รัฐธรรมนูญตามคำสั่ง พ.ต.ท.ทักษิณมิชอบ
ขณะที่ตัวนางสาวยิ่งลักษณ์เองก็มีคดีที่เกี่ยวข้องมากมาย โดยเฉพาะคดีทุจริตจำนำข้าวที่หลักฐานแน่นคาดสาวถึงตัวแน่ และที่เร็วกว่านั้นคือคดีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ไม่เป็นธรรมที่ล้วนเป็นคดีร้อน
นี่คือสิ่งที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ส.ส.ในพรรคเพื่อไทย นปช. รวมถึงนางสาวยิ่งลักษณ์มีความจงเกลียดจงชังองค์กรอิสระและศาลอย่างที่สุด และถือเป็น “ศัตรูคู่อาฆาต” ที่ต้องทำลาย
ทำไม พ.ต.ท.ทักษิณ และพวกพ้องถึงถือว่า “องค์กรอิสระ” และ “ศาล” คือศัตรูคู่อาฆาตแบบที่เรียกว่าอยู่ร่วมกันไม่ได้...
ย้อนรอยทักษิณถูกศาล-องค์กรอิสระเช็กบิล
รัฐธรรมนูญ 2540 นับเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนฉบับแรกของไทย ที่เริ่มกำหนดให้มีองค์กรอิสระต่างๆ ขึ้นมาตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐบาล เพื่อเป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชนมากที่สุด
อย่างไรก็ดี หลังจากการประกาศใช้ไปไม่กี่ปี และหลังจากการเข้าสู่อำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่นำพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย และเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 ก่อนที่จะถูกคณะทหารทำรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549
5 ปีสำหรับการบริหารงานของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นรัฐบาลที่มีการทุจริตแบบใหม่ ที่เรียกว่าการทุจริตเชิงนโยบายมากที่สุด กล่าวคือมีการตั้งนโยบาย หรือแก้กฎหมายต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของกลุ่มตระกูลชินวัตร และพวกพ้องจำนวนมาก
ประกอบด้วยอำนาจในฐานะรัฐบาล และอำนาจในเชิงผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีการใช้อำนาจในการบริหารจัดการ “คน” เพื่อให้เป็นประโยชน์กับรัฐบาลที่สุดด้วย ไม่ว่าจะเป็นการโยกย้ายแต่งตั้งคนของตัวเองเข้าไปบริหารงานในส่วนสำคัญๆ หรือการ “ดูด” “รวบ” ส.ส.จากพรรคอื่นมาไว้พรรคไทยรักไทยให้มากที่สุด เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งรัฐบาลพรรคเดียว และสำเร็จในการเลือกตั้งปี 2548
ร้ายที่สุดคือเมื่อเข้าไปอยู่ในอำนาจนานขึ้น ทำให้มีการรุกคืบจากการคุมสภาล่างแบบเบ็ดเสร็จ ก็ลามไปยังสภาสูง โดยมีการสนับสนุน ส.ว. บางคนอย่างลับๆ เพื่อให้ได้คะแนนเสียงในส่วนของ ส.ว. ให้ได้มากที่สุด ในการนำเสนอและผ่านร่างกฎหมายสำคัญๆ นอกจากนี้ยังมีการส่งคนของตัวเองไปนั่งตามองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อทำให้ภาคของการตรวจสอบรัฐบาลอ่อนแอลง
เหล่านี้คือเหตุผลของการเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คือรัฐบาลมีการทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อน, การใช้อำนาจในทางมิชอบ, การละเมิดจริยธรรมคุณธรรมของผู้นำประเทศ, การแทรกแซงองค์กรอิสระ, การละเมิดสิทธิเสรีภาพ และบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ
แน่นอนว่า รัฐประหาร 19 กันยายนนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณที่ครองอำนาจสูงสุดในการบริหารบ้านเมืองมากว่า 6 ปีรู้สึกไม่พอใจอย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่ถูกยึดอำนาจ แต่ยังถูกยึดทรัพย์ของตระกูลไว้เบื้องต้นมากถึง 76,000 ล้านบาท
หลังจากนั้น คณะรัฐประหารได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นเพื่อตรวจสอบการทุจริตมิชอบต่างๆ ต่อมาภายหลังศาลอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงมีคำวินิจฉัยให้ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ และคนใกล้ชิดจำนวน 46,000 ล้านบาทให้ตกเป็นของแผ่นดิน
สร้างความคับแค้นให้ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างมาก เมื่อรวมกับคดีที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องระหกระเหินไปอยู่ต่างประเทศมาจนถึงทุกวันนี้คือ คดีทุจริตประมูลซื้อที่ดินรัชดาภิเษก ที่ศาลอาญาแผนกผู้ดำรงตำแน่งทางการเมืองได้ตัดสินจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดฐาน “เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดี และเป็นเจ้าพนักงาน และสนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นฯ” ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และประมวลกฎหมายอาญา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2550 โดยเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2551 พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา ตัดสินใจไม่ไปรายงานตัวต่อศาล ในคดีที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก โดยทั้งสองเดินทางไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ทั้งนี้แม้ว่าจะหนีรอดพ้นจากการติดคุกติดตะราง แต่ พ.ต.ท.ทักษิณก็ต้องระหกระเหินอยู่ต่างประเทศ เพราะคดีนี้มีอายุความ 15 ปี ซึ่งจะหมดอายุความในวันที่ 12 สิงหาคม 2566
คดีนี้เป็นคดีที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณเจ็บปวดที่สุด และไม่ว่าฝ่ายใดจะเสนอให้ พ.ต.ท.ทักษิณยอมติดคุก และขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่เลือกทางนี้ และแม้ว่าจะประกาศไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมืองใดๆ ในประเทศไทย แต่ผ่านมาแล้วเกือบ 8 ปี จนถึงทุกวันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมีพฤติกรรมที่ส่งเสริมสนับสนุนให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายมาโดยตลอด
ดังนั้นหลังจากปี 2549 พ.ต.ท.ทักษิณที่ไม่ยอมรับความจริงว่าตัวเองสร้างปัญหาไว้กับบ้านเมืองมากมาย แต่กลับเริ่มโจมตีระบบยุติธรรมของไทยว่า “สองมาตรฐาน” และไม่เป็นประชาธิปไตย โดยมีการจ้างทนายต่างประเทศ ซื้อสื่อต่างประเทศ เพื่อโหมกระแสดังกล่าวตามแผนโลกล้อมประเทศไทย รวมถึงก่อตั้งขบวนการภาคประชาชนเพื่อต่อต้านระบบยุติธรรมของไทยในนามกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาด้วย
และทำให้บ้านเมืองวุ่นวายมากที่สุดในปี 2553 ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เพราะกลุ่ม นปช.มีการรวมตัวกันใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ มีการก่อตั้งกองกำลังคนชุดดำ และมีการเผาบ้านเผาเมืองสร้างความวุ่นวายในประเทศไทยอย่างประเมินค่าความเสียหายไม่ได้
ไทยรักไทย-พลังประชาชนถูกยุบ
แน่นอนว่าไม่ใช่แต่เพียงตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ไปต่อไม่ได้ เพราะพรรคไทยรักไทยที่เขาสร้างมากับมือ ก็สร้างปัญหาไว้กับบ้านเมืองจนโดนตัดสินให้ยุบพรรคแล้วถึง 2 ครั้ง
ครั้งแรกคือการยุบพรรคไทยรักไทย โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีการวินิจฉัยในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ทำให้กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยโดนตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี จากข้อกล่าวหาที่มีการจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหนีเกณฑ์ 20 เปอร์เซ็นต์ คือ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ร่วมกันให้เงินสนับสนุนแก่พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ลงแข่งขันกับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทยเพื่อหลีกเลี่ยงการที่ต้องมีคะแนนเสียงถึงร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น และร่วมกันสนับสนุนให้มีการตัดต่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลการเป็นสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทย ที่เป็นสมาชิกไม่ครบ 90 วัน ให้ครบ 90 วัน อันเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนให้มีการปลอมเอกสาร เป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นการกระทำอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 66(1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541
ครั้งที่สองคือการยุบพรรคพลังประชาชนที่ตั้งขึ้นมาหลังพรรคไทยรักไทยถูกยุบไป โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีการวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชนในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 จากการที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรค กระทำการฝ่าฝืนและขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ที่มีผลทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต และได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ นายยงยุทธมีการให้เงินกำนัน 10 คนในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย คนละ 20,000 บาทก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่พรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ ต้องร่วมรับผิดชอบ
ทำให้พรรคพลังประชาชนต้องสิ้นสภาพตามพรรคไทยรักไทยไป และ พ.ต.ท.ทักษิณมีการตั้งพรรคเพื่อไทยมาแทน
การได้มาซึ่งอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ไม่ถูกกฎหมาย ปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่ามีในทุกกระบวนการแม้แต่การเตรียมการเลือกตั้ง แต่การที่ พ.ต.ท.ทักษิณหลุดพ้นจากอำนาจรัฐบาลไปเนื่องจากถูกรัฐประหาร และเมื่อกลับเข้ามาได้หลังการเลือกตั้งปี 2550 ก็ยังปรากฏพบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีการใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยมิได้เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง รวมทั้งมิได้เกรงกลัวศาล และองค์กรอิสระของไทยแต่อย่างใด
โดยเฉพาะหลังส่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มานั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ลุแก่อำนาจ-ดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมล้างผิดตัวเอง
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถใช้อำนาจของตัวเอง ผ่านเสียงของ ส.ส.ในสภา จากพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนกว่า 300 เสียง และ ส.ว.กว่า 70 เสียงในอาณัติที่ตนเองคิดว่าจะทำอะไรก็ได้ จึงลุแก่อำนาจดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อเอาเงินที่ถูกยึดไป 46,000 บาทคืน และล้างไพ่คดีความของตัวเองทั้งหมด เพื่อกลับสู่ประเทศไทยโดยไม่ต้องติดคุก และรับผิดชอบผลกรรมใดๆ ที่ตนเองก่อไว้
สิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่คาดคิดมาก่อนคือ ไม่คาดว่าจะมีประชาชนจำนวนมากมายมหาศาลที่ต่อต้านการกระทำดังกล่าว จนเกิดกระบวนการภาคประชาชนต่อต้านรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ในชื่อ กปปส.ได้สำเร็จ จนนำไปสู่การประกาศยุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคม 2556
เมื่อประชาชนทนไม่ได้ ก็ไม่ได้ใช้วิธีรุนแรง มีแต่การชุมนุมแบบอหิงสา ชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ โดยมุ่งหันหน้าเข้าพึ่งระบบยุติธรรม เพื่อเอาคนที่ทำผิดมารับโทษทางกฎหมาย
คดีท่วมรัฐบาลยิ่งลักษณ์-ส.ส. รอดยาก
ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังต้องชดใช้กรรมจึงผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ตั้งแต่
คดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มา ส.ว. โดยเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2556 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก วินิจฉัยร่างแก้ไขที่มา ส.ว. เป็นโมฆะ ฐานกระทำความผิดการเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันกระทำหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 มาตรา 83 มาตรา 91
คดีแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่วันที่ 8 มกราคม 2557 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยคำร้องที่ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และสมาชิกรัฐสภารวม 383 คน ร่วมกันดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่จำกัดอำนาจรัฐสภาในการให้ความเห็นชอบการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศของฝ่ายบริหาร เข้าข่ายเป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองและกระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ โดยศาลมีมติเสียงข้างมากเห็นว่า การพิจารณาและลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีกระบวนการในการพิจารณามิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยกระบวนการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค 2 และมาตรา 125 วรรคหนึ่ง เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ส่วนการแก้ไขโดยตัดเนื้อหาสำคัญ เป็นการกระทำเพื่อให้บุคคลหรือคณะบุคคลได้อำนาจในการปกครองประเทศมาโดยไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3, 4, 5, 87 และมาตรา 122 รวมทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งด้วย
กรณีนี้มีการส่งเรื่องต่อมาที่ ป.ป.ช. ที่กำลังตัดสินความผิดของ ส.ส. 308 คนที่แก้รัฐธรรมนูญโดยไม่ชอบ โดยมี ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยมากถึง 221 ส.ส.เพื่อไทยตอนนี้ก็ระส่ำหนัก เพราะถ้าโดนชี้มูลก็หมดสิทธิเล่นการเมืองไปยาวถึง 5 ปี
คดีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าผิดจริง จึงมีคำสั่งให้คืนตำแหน่งให้นายถวิลภายใน 45 วัน เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2557 ซึ่งขณะนี้มีการฟ้องร้องต่อไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ และกำลังรอคำวินิจฉัย
คดี 2 ล้านล้านบาท ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2557 ว่ารัฐบาลมีการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 และมาตรา 170 และกระบวนการตรากฎหมายเป็นไปโดยมิชอบ โดยมีการเสียบบัตรแทนกันในการลงคะแนนของสภาผู้แทนราษฎร
ในส่วนขององค์กรอิสระขณะนี้ ก็มีคดีสำคัญคือคดีทุจริตจำนำข้าว ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของ ป.ป.ช. แว่วมาว่า คดีนี้เป็นคดีทุจริตที่มีหลักฐานมัดแน่นถึงตัวนางสาวยิ่งลักษณ์แบบดิ้นไม่หลุด
การรุกไล่เข้าตรวจสอบยิ่งลักษณ์ และคนในเครือข่ายระบอบทักษิณทั้งหมดในเวลานี้ เรียกได้ว่า ทำให้ฝ่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณดิ้นพล่าน และออกอาการต่อต้านอำนาจศาล และองค์กรอิสระทั้งหมด ด้วยการกระทำหลายวิธี ที่ปรากฏก็มีตั้งแต่
มีการใช้มวลชนเข้าบีบ คุกคามการทำงานในหน้าที่ขององค์กรอิสระต่างๆ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช. ที่โดนหนักกว่าเพื่อน
มีการใช้ขบวนการใต้ดินเพื่อก่อความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาหลายครั้ง
มีการสั่งให้พรรคเพื่อไทยประกาศตัวไม่รับอำนาจศาล และองค์กรอิสระ รวมทั้งมีการส่งทีมทนายไปยื่นฟ้องฝ่ายตรงข้าม หรืออาจกล้ากระทั่งมีการส่ง นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และ พล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นแสง อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ไปยื่นคำฟ้องศาลรัฐธรรมนูญต่อศาลอาญาเสียอีก โดยอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 291 และมาตรา 130 เอกสิทธิ์ ส.ส. และ ส.ว. ในการออกเสียงลงคะแนน
ที่พบมากคือ การที่ตัวนางสาวยิ่งลักษณ์ และบุคคลสำคัญในพรรค ออกมาดิสเครดิตศาล และองค์กรอิสระ โดยประเด็นสำคัญยังเป็นประเด็นเดิมๆ คือ ไม่เท่าเทียม สองมาตรฐาน, ต้องอยู่ในตำแหน่งรักษาการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 และไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ในความผิด เพราะตอนนี้ไม่ได้เป็นรัฐบาล จะลาออกจากการเป็นรัฐบาลไม่ได้อีก
นี่คือวิธีการของพลพรรครักทักษิณที่ออกมาอุ้มนางสาวยิ่งลักษณ์ให้อยู่ในอำนาจตามคำสั่งพี่ชายให้นานที่สุด
“ที่เราต้องออกมาต่อสู้ เพราะเรารู้สึกว่าไม่มีความเท่าเทียม ศาลต้องยุติธรรมสำหรับทุกคน อย่างเช่นฆ่าคนตายทุกคนต้องผิดหมด แต่ทำไมบางคนไม่ผิด ขณะนี้คนเสื้อแดงเลยเกิดความสงสัยว่ายุติธรรมหรือไม่ แต่คดีที่เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ หรือตัวนายอภิสิทธิ์ ทำไมล่าช้าทั้งหมด” แหล่งข่าวระบุ
คาดหลังสงกรานต์ “ปู” ไม่รอด “คดีย้ายถวิล”
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวแกนนำ นปช. กล่าวว่า ที่ผ่านมารู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมเลย โดยเฉพาะจาก ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ รู้สึกว่าสองมาตรฐาน เพราะคดีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลายๆ คดียังไม่ได้รับการพิจารณา
“คดีประกันราคาข้าวของนายอภิสิทธิ์ ดูซิ 1,600 วันแล้วไม่คืบหน้า แต่ของนางสาวยิ่งลักษณ์แค่ 21 วันก็เรียกรับข้อกล่าวหาแล้ว หรือจะแก้ต่างว่าแจ้งเรื่องไป 1 ปี 10 เดือนแล้วตาม ป.ป.ช.บอก รวมแล้วก็ 420 วัน แล้วของนายอภิสิทธิ์ 1,600 วันแล้ว ไม่เห็นคืบหน้า”
ยังไง นปช.ก็รับไม่ได้เรื่อง “ตุลาการภิวัฒน์” เพราะรู้สึกว่านางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ได้รับความเป็นธรรม และต้องปกป้อง โดยเฉพาะคดีที่คิดว่าจะเชือดนางสาวยิ่งลักษณ์ คือคดีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนสี
“ตอนนี้ยิ่งลักษณ์ก็ไม่ได้เป็นนายกฯ ก็ไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องโยกย้ายถวิลไว้พิจารณา เรามองว่าแนวโน้มมีการพิจารณาว่าผิดตามศาลปกครองสูงสุดแน่ๆ คือผิดมาตรา 268 พ้นจากตำแหน่งมาตรา 266 แต่ว่านายกฯ พ้นตำแหน่งไปแล้ว จะพ้นอีกเป็นครั้งที่ 2 ได้หรือไม่” แหล่งข่าวแกนนำ นปช. กล่าว
นี่คือที่มาของการที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ออกมาประกาศนัดชุมนุมมวลชน นปช.ครั้งใหญ่ที่สุด เป็นวัน “ไทยแลนด์โอเพ่นเดย์” ในวันที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยสถานภาพนางสาวยิ่งลักษณ์ รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 จากการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ให้พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
ความสำคัญของคดีนี้ประกอบด้วย หนึ่ง คดีจำนำข้าวของ ป.ป.ช. แม้ชี้มูลความผิด แต่เมื่อจะนำไปถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ออกจากรักษาการนายกรัฐมนตรีมีข้อจำกัดที่คะแนนเสียง 3 ใน 5 ของ ส.ว.มีไม่เพียงพอ และสองคดีการโยกย้ายนายถวิลโดยมิชอบนั้น มีคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดว่าผิดอยู่แล้วเป็นแนวทาง โดยเชื่อว่า หลังสงกรานต์ที่จะถึงนี้เป็นวันที่ยิ่งลักษณ์จะถึงคิวถูกเชือด!
ดังนั้น นางสาวยิ่งลักษณ์รอดยาก!
“เราเดินหน้าออกมาชุมนุมแน่ แต่ยังไม่รู้ที่ไหน อย่างไร แต่ต้องชุมนุม คาดว่าหลังสงกรานต์นี้แล้ว” แหล่งข่าวแกนนำ นปช. กล่าว
เล่นงานสุเทพ-อาจเอื้อมพระราชอำนาจ
ขณะเดียวกันการออกมาเคลื่อนไหวของเสื้อแดง ครั้งต่อไปจะไม่ใช่แค่ต่อต้านอำนาจศาล และองค์กรอิสระ แต่ต้องทำลายกลุ่มผู้ต่อต้านนางสาวยิ่งลักษณ์ด้วย โดยเฉพาะตัวของนายสุเทพ
“เราประเมินกันว่า การที่นายสุเทพบอกว่าจะจบแล้ว ภายในเดือนเมษายน แปลว่านายสุเทพต้องรู้อะไรก่อนแล้ว เพราะฉะนั้นหลังสงกรานต์เราเตรียมที่จะชุมนุมใหญ่อีกครั้ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 69 เพราะไม่ถูกต้องที่จะมาลงดาบยิ่งลักษณ์ เป็นการเปิดช่องอำนาจที่ไม่ได้บัญญัติตามรัฐธรรมนูญ สุเทพจะใช้ช่องทางนี้ในการเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แต่ถามว่าถูกต้องไหม อาจเอื้อมหรือเปล่า”
ดังนั้นการที่นายสุเทพพูดเรื่องรัฏฐาธิปัตย์ จึงเป็นประเด็นที่ขณะนี้พรรคเพื่อไทยจะหยิบมาเล่นงานนายสุเทพ ในประเด็น “การอาจเอื้อมพระราชอำนาจ” และจะพุ่งเป้าไปที่จุดนี้ ซึ่งขณะนี้คนในพรรคเพื่อไทยก็รับลูกเรื่องนี้แล้ว โดยเฉพาะ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่สั่งให้มีการถอดเทปเพื่อเอาผิดนายสุเทพฐานกบฏ
ตั้งเป้ากลับเข้าอำนาจ-ฉีก รธน. 50 ให้ได้
ที่สำคัญเกมต่อสู้ทางการเมืองของทั้งสองขั้วอำนาจ ตั้งแต่วันนี้ยาวไปถึงเดือนพฤษภาคม ที่คาดว่าหลังสงกรานต์จะเป็นช่วงร้อนแรงที่สุด เนื่องเพราะเสื้อแดงก็จะสู้ถึงที่สุด
“เราจะต่อต้านอย่างที่สุด เพราะรับไม่ได้กับระบบตุลาการภิวัฒน์ และเมื่อไรที่กลับเข้าสู่อำนาจได้ สิ่งที่ นปช. จะทำคือ ฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 ให้ได้” แหล่งข่าวระบุและบอกอีกว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ใช้อยู่ขณะนี้ ร่างขึ้นโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ได้อำนาจมาจากการปฏิวัติเมื่อปี 2549 ยังไงก็ต้องยกเลิก จากนั้นจะดำเนินการให้ประชาชนเป็นผู้ร่างขึ้นมาใหม่ต่อไป ซึ่งจะมีผลโดยตรงกับองค์กรอิสระหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันต่อไป