xs
xsm
sm
md
lg

ฮุนเซนเลือกกัมพูชา สลัด “ทักษิณ” - ปล่อยตัววีระ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลากปัจจัยกดดันให้นายกฯ ฮุนเซน ของกัมพูชา ต้องตัดสินใจปล่อยตัว “วีระ สมความคิด” ทั้งๆ ที่ปฏิเสธในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ ส่วนในรัฐบาลเพื่อไทยทำแค่เป็นพิธี แม้จะเคยช่วยแต่ต้องแลกด้วยเงื่อนไข ประเมินนาทีนี้ทักษิณกลับมาใหญ่อีกยาก อีกทั้งพี่ใหญ่อย่างจีนหนุนไทยเต็มตัว ปล่อย 1 คนไทย แลกคน 2.5 แสนกลับ ลดแรงกดดันทางการเมืองในกัมพูชาได้อีก ถือว่าคุ้ม

จู่ๆ ก็มีข่าวในช่วงค่ำของวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 ว่า ทางประเทศกัมพูชาได้ปล่อยตัว นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) และแกนนำภาคีเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ที่ต้องโทษคุมขังอยู่ที่เรือนจำเปรย์ซอว์ ประเทศกัมพูชานาน 3 ปี 6 เดือน พร้อมทั้งเดินทางกลับเมืองไทยในวันที่ 2 กรกฎาคม

ถือเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดว่าทุกอย่างจะง่ายดายเพียงนี้ เนื่องจากกรณีของนายวีระนั้น มีความพยายามของทั้ง 2 รัฐบาลคือ ทั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่การช่วยเหลือก็ไม่ประสบความสำเร็จ

แม้จะมีความพยายามของรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นที่จะขอตัว 7 บุคคลที่ถูกทหารกัมพูชาจับกุมตัวไป แต่ทุกอย่างไม่เป็นไปดังหวัง ทางกัมพูชาได้ตัดสินลงโทษคณะคนไทยกลุ่มนี้ทั้งหมด ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาในเวลานั้น ไม่ได้ราบรื่นนัก เนื่องจาก ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เลือกที่จะยืนเคียงข้าง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์นั้นถือเป็นคู่แข่งสำคัญทางการเมืองของทักษิณ
นายวีระ สมความคิด ได้รับการปล่อยตัวเมื่อ 1 กรกฎาคม 2557
อดีตที่เคยแนบแน่น

เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าความสัมพันธ์ระหว่าง ทักษิณ กับ ฮุน เซน เป็นไปอย่างแนบแน่น ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ธุรกิจในเครือชินวัตรเข้าไปทำกิจการด้านโทรศัพท์ในกัมพูชา แม้จะกระทบกระทั่งกันบ้างในช่วงหนึ่ง แต่เมื่อทักษิณขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ความสัมพันธ์ก็เป็นไปอย่างแน่นแฟ้น

ผลประโยชน์ร่วมกันที่คาดหวังในเรื่องพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนอ่าวไทย กับ MOU 44 ทำให้ ฮุน เซน ให้การสนับสนุนพรรคการเมืองของชินวัตรอย่างสุดตัว แม้ในช่วงที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาบริหารประเทศ ฮุน เซน ก็เสมือนเป็นพรรคฝ่ายค้านกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ไปในตัว

หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองเมื่อปี 2553 ฐานปฏิบัติการฝึกนักรบเสื้อแดงและกองกำลังติดอาวุธจากต่างชาติ ล้วนแล้วแต่ถูกจับตามองว่ามาจากการสนับสนุนของประเทศเพื่อนบ้านรายนี้

เมื่อทุกอย่างไม่ง่าย ทุกคนที่ถูกจับกุมจึงถูกศาลกัมพูชาพิพากษาจำคุก สุดท้ายในรัฐบาลประชาธิปัตย์มีการเดินเรื่องจนมีการปล่อยตัวออกมาได้ 5 คน หนึ่งในนั้นคือ นายพนิต วิกิตเศรษฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์

ส่วนที่เหลืออีก 2 คน คือ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ซึ่งถูกจับกุมพร้อม นายวีระ ยังถูกจำคุกต่อเนื่องจากการถูกตั้งข้อหาจารกรรมเพิ่ม ต่อมานางสาวราตรีถูกปล่อยตัวออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ขณะที่นายวีระยังถูกคุมขังต่อ
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรกับสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรี กัมพูชา
เพื่อไทยเคยยื่นข้อเสนอแลกปล่อยตัว

ในระหว่างนี้แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นพรรคเพื่อไทย ที่มีสายสัมพันธ์ดีเยี่ยมกับผู้นำกัมพูชา แต่การเดินเรื่องเพื่อขอตัวนายวีระให้พ้นโทษนั้น เสมือนไม่อยากดำเนินการอย่างจริงจัง เนื่องจากนายวีระเองคือผู้ที่ยื่นเรื่องให้มีการตรวจสอบการซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษกที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นผู้ซื้อ ครั้งนั้นศาลพิพากษาให้จำคุกพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร 2 ปี เป็นเหตุให้ทักษิณต้องเดินทางออกนอกประเทศมาจนถึงวันนี้

“ครั้งแรกมีอดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทยเข้าไปพบนายวีระ ที่เรือนจำ เพื่อให้ความช่วยเหลือ และเสนอเงื่อนไขที่จะให้เลิกเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่นายวีระปฏิเสธ จึงถูกจำคุกต่อไป ครั้งที่สองมีโฆษกพรรคเพื่อไทยเข้าไปพบและเสนอเงื่อนไขในการให้ความช่วยเหลือคือต้องยอมรับว่ารุกล้ำพื้นที่ของกัมพูชาจริง ทำหนังสือขอโทษสมเด็จฮุน เซน และเลิกเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่นายวีระปฏิเสธอีกเช่นกัน”

เมื่อทั้ง 2 รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการขอตัวนายวีระจากเรือนจำที่กัมพูชามาได้สำเร็จ การเข้ายึดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ญาติของนายวีระได้เข้าร้องขอต่อหัวหน้า คสช. อีกครั้งเมื่อ 26 พฤษภาคม

แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีคนจากพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งที่หลบหนีการจับกุมหลังจากมีหมายจับ ข้ามไปอาศัยในประเทศกัมพูชา หลังจากนั้นไม่นานทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป โดยเฉพาะท่าทีของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชาที่ออกมายอมรับการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย และยืนยันว่าจะไม่ให้มีใครมาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในกัมพูชา

สายสัมพันธ์หด-หมดประโยชน์

ช่วงนี้ความสัมพันธ์ที่เคยแนบแน่นระหว่าง ทักษิณ กับ ฮุน เซน เริ่มหมดไป ว่ากันว่าสัญญาที่ทักษิณเคยให้ไว้กับนายกฯ ฮุน เซน ทั้งเรื่องเงินที่ใช้ในการเลือกตั้งก็ไม่ได้มาตามสัญญา ทำให้การเลือกตั้งในกัมพูชาเมื่อ 28 กรกฎาคม 2556 ฝ่ายของ ฮุน เซน เกือบเพลี่ยงพล้ำ แถมได้ที่นั่งในสภาน้อยลงกว่าเดิม ขณะที่ฝ่ายค้านได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นมาจนทำให้อำนาจเด็ดขาดที่มีในมือเริ่มลดน้อยลง

เงินลงทุนในเรื่องพลังงานที่เคยพูดคุยกันไว้ก่อนหน้าก็ไม่เป็นไปตามคำมั่นสัญญา ประกอบกับที่ยืนของทักษิณบนพื้นที่ต่างๆ ของโลกเริ่มน้อยลง จึงทำให้สายสัมพันธ์ที่แนบแน่นในอดีตจางหายไป

กรณีของ นายวีระ ถือเป็นการปฏิเสธความสัมพันธ์ที่มีกับคนในตระกูลชินวัตรที่เคยมีมาจนหมดสิ้น หลายคนที่หนีไปยังฝั่งกัมพูชาต้องระเห็จออกไปนอกประเทศ ทั้ง นายจักรภพ เพ็ญแข และ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ที่เปิดตัวองค์กรเสรีไทย
นายสม รังสี หัวหน้าพรรคกู้ชาติกัมพูชากับการชุมนุมประท้วงผลการเลือกตั้ง (REUTERSSamrang Pring)
“ฮุนเซน” เปลี่ยนเพื่อตัวเองรอด

แม้ว่าปฏิบัติการปล่อยตัว นายวีระ สมความคิด ถูกระบุว่าเป็นไปตามคำร้องขอของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.

แต่ในทางปฏิบัติแล้วอำนาจทั้งหมดในกัมพูชาอยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ไม่ว่าข้อกฎหมายของกัมพูชาจะเป็นอย่างไร หาก ฮุน เซน สั่งทุกอย่างก็จะดำเนินการได้ทันที ขึ้นอยู่กับว่าจะสั่งหรือไม่เท่านั้น สำหรับกรณีนี้ที่ดำเนินการได้อย่างรวดเร็วนั้น เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิม จากเดิมที่ยืนอยู่ข้างตระกูลชินวัตรอย่างสุดขั้วก็เริ่มเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน

สถานการณ์ทางการเมืองในกัมพูชานั้นเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ที่ผ่านมาการเลือกตั้งในกัมพูชาได้สะท้อนถึงสถานะของนายกฯ ฮุน เซน แล้วว่ากำลังเสื่อมจากอำนาจลงทุกขณะ เนื่องจากจำนวน ส.ส. ที่เคยได้รับเลือกจาก 90 ที่นั่งลดลงเหลือ 68 ที่นั่ง ขณะที่พรรคฝ่ายค้านที่มี นายสม รังสี เป็นผู้นำกลับได้รับความนิยมจากชาวกัมพูชาเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมที่มี ส.ส. เพียง 29 ที่นั่ง เพิ่มเป็นถึง 55 ที่นั่ง และยังมีการประท้วงว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมามีการโกงการเลือกตั้ง จนมีการออกมาของประชาชนชาวกัมพูชาจำนวนมาก

ท่านนายกฯ ฮุน เซน คงไตร่ตรองแล้วว่าทุกอย่างเริ่มเป็นไปในทางลบกับตัวเขา คนรุ่นใหม่ในกัมพูชาเริ่มแสดงออกและเทน้ำหนักไปที่พรรคฝ่ายค้านอย่าง สม รังสี ขณะที่การเข้ามายึดอำนาจของ คสช. ในครั้งนี้ อย่างน้อยก็อีกราว 2 ปีที่ตระกูลชินวัตรอาจจะกลับมาได้อีกครั้ง แต่ก็คงไม่ง่ายและคงไม่สามารถคุมอำนาจเบ็ดเสร็จได้เหมือนเดิม

ดังนั้น การตัดสินใจที่จะเลือกวางตัวเป็นกลาง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของไทยในครั้งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งทางรอดของนายกฯ ฮุน เซน เพื่อประคองไม่ให้เกิดภาพลบกับสายตาของคนกัมพูชา
แรงงานชาวกัมพูชาทยอยเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย
แรงงานเขมรกลับลดแรงกดดัน

นอกจากนี้ จากนโยบายการจัดระเบียบแรงงานต่างชาติของ คสช. เมื่อ 10 มิถุนายน ทำให้เกิดการแห่เดินทางกลับของแรงงานชาวกัมพูชากันอย่างเนืองแน่น โดยฝ่ายกัมพูชาประเมินกันว่ามีมากถึง 250,000 คน

แรงงานชาวกัมพูชาที่กลับไป ไม่ว่าจะเป็นไปด้วยความตื่นตระหนกหรือกังวลว่าจะถูกจับกุม แต่คน 250,000 คนที่โยกกลับไปบ้านเกิดถือว่าไม่ใช่เรื่องดีสำหรับนายกฯ ฮุน เซน เพราะคนเหล่านี้กลับไปก็หางานทำยาก และหากปล่อยไว้มีความเป็นไปได้สูงที่จะกลายเป็นแนวร่วมกับพรรคฝ่ายค้านอีก ยิ่งทำให้เก้าอี้ความเป็นนายกฯ ของฮุน เซน สั่นคลอนมากขึ้น

ค่าแรงวันละ 300 บาท กับคน 250,000 คน สร้างรายได้ให้กับชาวกัมพูชาราว 2,250 ล้านบาทต่อเดือน หรือปีละ 27,000 ล้านบาท เลี้ยงดูคนในกัมพูชาได้อีกร่วมล้านคน

ดังนั้น การปล่อยตัว นายวีระ สมความคิด 1 คน กับนักโทษชาวกัมพูชาจำนวนหนึ่ง และแรงงานชาวกัมพูชาที่ไหลกลับเข้ามาทำงานที่ประเทศไทยจึงเป็นอะไรที่ลงตัวอย่างมากสำหรับ ฮุน เซน ขณะที่ฝ่าย คสช. ได้รับการยกย่องจากคนไทยทั้งประเทศ
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้รับมอบหมายให้เดินทางไปเยือนประเทศจีน
ไทย-จีนช่วยหนุน

นอกจากนี้ ยังมีบางเรื่องที่มีส่วนหนุนให้การขอตัวนายวีระกลับมาเมืองไทยง่ายยิ่งขึ้น นั่นคือสายสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน เห็นได้หลังจากการยึดอำนาจ คสช. ได้ส่งพลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม เดินทางไปเยือนจีน หลังจากที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางทหารกับประเทศไทย

การเดินทางไปเยือนจีนของตัวแทน คสช. ในครั้งนี้จึงมีความหมายไม่น้อย ทั้งสหรัฐฯ และยุโรปต่างจับตามอง นับเป็นอีกวิธีการถ่วงดุลอำนาจของชาติมหาอำนาจทั้ง 2 ทางหนึ่ง อีกทางหนึ่งยังเป็นการส่งสัญญาณไปยังประเทศกัมพูชาไปในตัว เนื่องจากที่ผ่านมาจีนถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่และให้ความช่วยเหลือกัมพูชามาก

ในเมื่อไทยกับจีนมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การแข็งขืนต่อไทยจึงไม่ใช่เรื่องดีนักต่อผู้นำกัมพูชา อีกทั้งที่ผ่านมานายกฯ ฮุน เซน ก็ใกล้ชิดกับจีนค่อนข้างมาก ทำให้มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ไม่พอใจ หันไปหนุนผู้นำพรรคฝ่ายค้านอย่างนายสม รังสี

แม้จะไม่มีสัญญาณอะไรบ่งบอกว่าจีนเข้ามามีส่วนให้การเจรจาครั้งนี้ราบรื่น แต่คนในแวดวงความมั่นคงทราบกันดีว่าจีนถือว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้คำร้องขอของพลเอก ประยุทธ์ สัมฤทธิผล

ดังนั้น ทุกอย่างจึงลงตัวอย่างง่ายดาย

กำลังโหลดความคิดเห็น