xs
xsm
sm
md
lg

สมใจนึก “คสช.” ปลด “ประภัสร์” พ้น ร.ฟ.ท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คสช. ปลดฟ้าผ่า “ประภัสร์ จงสงวน” คดีสะเทือนขวัญบนรถไฟเป็นตัวเร่งให้เปลี่ยนตัวผู้ว่าการ ไม่รอประธานบอร์ดใหม่ที่เพิ่งได้ตัว “ออมสิน ชีวะพฤกษ์” ใช้อำนาจเต็มปลด หลังจากส่งสัญญาณมาตั้งแต่ปลัดกระทรวงคมนาคมเร่งให้บอร์ดพิจารณา แถมแกนนำสหภาพฯ ที่เคยถูกเลิกจ้างกลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง
นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(ภาพ:ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย)
นับตั้งแต่การเข้ามายึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 นอกเหนือจากการโยกย้ายตัวบุคคลทั้งในหน่วยงานราชการต่างๆ โดยเฉพาะตำแหน่งสำคัญที่คาดว่าจะเป็นคนของเครือข่ายทักษิณ รวมไปถึงบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม

แต่อีกหน่วยงานหนึ่งที่หลายคนจับตา นั่นคือ ตำแหน่งของผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มี นายประภัสร์ จงสงวน นั่งเป็นผู้ว่าการอยู่ ซึ่งยังสามารถทำงานต่อไปได้อย่างไร้ปัญหา

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า นายประภัสร์ จงสงวน ถือเป็นคนของพรรคเพื่อไทยโดยตรง ถูกวางตัวให้อยู่ในตำแหน่งสำคัญ โดยเฉพาะตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่เป็นมาถึง 3 วาระ ตั้งแต่ปี 2540 - 2551

จากนั้นลงรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2551 ในนามพรรคพลังประชาชน หรือพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน แต่ได้ลำดับ 2 รองจาก นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จากพรรคประชาธิปัตย์

หลังจากการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ประภัสร์เข้ามารับตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระรวงคมนาคม ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 เขาลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี และลงสมัครตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งประภัสร์ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2555

โดยคณะรัฐมนตรีของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติเห็นชอบการแต่งตั้ง นายประภัสร์ จงสงวน ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยให้รับค่าตอบแทนคงที่ในอัตราเดือนละ 400,000 บาท รวมทั้งสิทธิประโยชน์อื่นๆ ตามที่กระทรวงการคลังเห็นชอบแล้วตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เกิดเหตุรถไฟตกรางเป็นว่าเล่น จนต้องมีการจัดสรรงบประมาณมาเพื่อทำการรื้อ และทำรางรถไฟใหม่ทั้งหมดในเขตภาคเหนือตอนบน นอกจากนี้ยังมีโครงการจัดซื้อตู้โดยสารและหัวรถจักรของการรถไฟมูลค่าเกือบ 2 หมื่นล้านบาท โดย คสช. ตีกลับให้ไปดำเนินการทบทวนเนื่องจากมีหลายส่วนมีความไม่โปร่งใส

ขณะเดียวกัน พี่สาวของนายประภัสร์ อย่าง นางสุดสงวน สุธีสร อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงที่มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ จนโดนพิพากษาจำคุกกรณีนำมวลชนไปวางพวงหรีดและชูป้ายข้อความวิจารณ์การทำหน้าที่ของศาลแพ่งต่อการชุมนุมของ กปปส. และมวลมหาประชาชน พร้อมกับ นางดารุณี กฤตบุญญาลัย

แม้รู้ทั้งรู้ว่าประภัสร์เป็นคนของพรรคเพื่อไทย แค่ คสช. ก็ไม่สามารถปรับโยกย้ายได้อย่างที่ต้องการ เนื่องจากตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟฯ เป็นระบบสัญญาจ้างที่ครั้งนั้นมีการคัดเลือกบุคคลภายนอกที่มีฝีมือและประสบการณ์ในการบริหารเข้ามาทำงาน

อำนาจในการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ว่าการการรถไฟฯ จึงตกไปอยู่ที่อำนาจของบอร์ดการรถไฟ ซึ่งประธานการรถไฟก็ลาออกเหมือนกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ดังนั้น จึงไม่สามารถเปลี่ยนตัวผู้ว่าการได้ทันที

แต่จากคดีสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นบนรถไฟขบวนสุราษฎร์ธานี - กรุงเทพฯ กับเหตุฆาตกรรมเด็กหญิงอายุ 13 ปี กลายเป็นการปลุกกระแสสังคมให้คนไทยทั้งประเทศลุกฮือขึ้นมา เรียกร้องให้มีการประหารผู้ต้องหาที่กระทำการโหดเหี้ยมดังกล่าว ขณะเดียวกันก็มีกระแสเรียกร้องให้นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

ความต้องการที่กดดันให้นายประภัสร์ลาออกนั้น ถูกเพิ่มขึ้นด้วยการที่นายประภัสร์ออกมาให้ข้อมูลเสมือนผู้ต้องหาไม่ได้เป็นพนักงานการรถไฟ แต่สุดท้ายในโลกออนไลน์ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าบุคคลดังกล่าวเป็นพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยจริง ประภัสร์จึงออกมายอมรับในที่สุด
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งปลดผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย
นับได้ว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้เข้าทาง คสช. เป็นอย่างดี เพราะหากมีการปลดหรือเลิกจ้างผู้ว่าการการรถไฟฯ คนนี้ก็เท่ากับได้ประโยชน์ 2 ต่อ คือได้ล้างคนในระบอบทักษิณออกไปจากการรถไฟ แถมยังได้ใจประชาชนที่รับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

ประการต่อมาภายในการรถไฟแห่งประเทศไทยนั้นยังมีเรื่องของการจัดซื้อตู้รถโดยสารและหัวรถจักร มูลค่า 2 หมื่นล้านบาทที่มีความไม่โปร่งใส ซึ่งทาง คสช. ได้ตีกลับแผนดังกล่าวของการรถไฟฯ ไปก่อนหน้านี้

ส่งสัญญาณปลดมานาน

แม้ว่า นายประภัสร์ จงสงวน จะออกมายืนยันว่าไม่ขอลาออก และจะอยู่ต่อเพื่อแก้ปัญหาของการรถไฟฯ นั้น แต่สัญญาณที่ถูกส่งออกมาชัดเจนว่าการขออยู่ต่อของผู้ว่าการการรถไฟฯ ท่านนี้คงอยู่ในสถานะที่ลำบาก

เริ่มที่ นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ที่ออกมากล่าวว่า ยอมรับว่า มีกระแสที่แรงมาก เป็นเรื่องจิตสำนึกของผู้บริหารและการจะไล่ออกนั้นต้องพิจารณาในขั้นตอนของกฎหมาย เพราะผู้ว่าการเข้ามาทำงานโดยสัญญาจ้าง ดังนั้นขั้นตอนจะอยู่ที่คณะกรรมการรถไฟ ซึ่งบอร์ดที่เหลืออยู่มีอำนาจในการพิจารณาข้อกำหนดในสัญญาเรื่องการเลิกจ้างได้ ดังนั้นกรณีนี้บอร์ดรถไฟควรเรียกประชุมด่วน

นอกจากนี้ ตำแหน่งประธานบอร์ดการรถไฟฯ ที่ว่างลงนั้นก็ได้ นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ประธานบอร์ด ซึ่งมีการแต่งตั้งเมื่อ 9 กรกฎาคม 2557

โดยก่อนหน้านี้ แกนนำสหภาพแรงงานการรถไฟฯ 13 คน ที่เคยถูกเลิกจ้างได้ต่อสู้ทางคดีความกันจนได้กลับเข้ามาทำงานในการรถไฟฯ อีกครั้ง เมื่อ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา

ดูเหมือนทุกอย่างรวดเร็วไปหมด และทิศทางที่ออกมาล้วนเป็นไปในแนวทางเดียวกัน นั่นย่อมหมายถึงความไม่มั่นคงในเก้าอี้ของประภัสร์ จงสงวน มาถึงแล้ว!
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานบอร์ดการรถไฟฯ เมื่อ 9 กรกฎาคม 2557
ประธานบอร์ดรถไฟฯ ชี้ชะตาประภัสร์

“กรณีของคุณประภัสร์คงต้องเป็นอำนาจหน้าที่ของบอร์ดการรถไฟฯ ที่จะพิจารณาตัดสินว่าจะประเมินผลงานที่ผ่านมาอย่างไร ขณะนี้บอร์ดของการรถไฟฯ ก็เพิ่งได้ตัวประธานคนใหม่ ต้องรอดูว่าจะมีการพิจารณาในเรื่องนี้อย่างไร” แหล่งข่าวจากการรถไฟฯ กล่าว

ตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟฯ มาในรูปของสัญญาจ้าง ดังนั้นการที่จะเปลี่ยนแปลงหรือเลิกจ้างนั้นต้องมีเหตุผลและเงื่อนไขที่เพียงพอ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาฟ้องร้องเหมือนกรณีของการเลิกจ้าง นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ที่การบินไทย

ตรงนี้ต้องขึ้นอยู่กับรายละเอียดของสัญญาจ้าง ว่า มีการระบุไว้ในเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ หากมีการเลิกจ้างก่อนกำหนด อาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ แต่นายประภัสร์ออกมากล่าวว่า หากบอร์ดเลิกจ้างก็ไม่คิดที่จะฟ้องร้อง แต่ออกตัวว่าหากจะให้ลาออกก่อนกำหนดนั้นเกรงว่าจะต้องชดใช้ค่าเสียหายการรถไฟฯ ดังนั้น เรื่องนี้คงต้องขึ้นกับบอร์ดชุดใหม่ที่จะเข้ามาว่าจะตัดสินอย่างไร

การได้ตัวประธานการรถไฟฯ คนใหม่อย่างนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ เข้ามาอาจจะทำให้การตัดสินใจในเรื่องของนายประภัสร์ง่ายขึ้น เนื่องจากคดีที่เกิดขึ้นนั้นกลายเป็นเสียงเรียกร้องให้มีการปลดผู้ว่าการ หากจำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยให้เมื่อคำนวณจากเงินเดือน 4 แสนบาทต่อเดือน กับระยะเวลาที่เหลืออีก 8 เดือน ราว 3.2 ล้านบาท ก็ถือว่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับกระแสความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศที่รับไม่ได้กับเหตุการณ์นี้

โอกาสอยู่ต่อน้อย

อย่างไรก็ตาม หากตัดเรื่องเหตุสะเทือนขวัญและเรื่องการเป็นคนของทักษิณออกไปแล้ว ถือว่านายประภัสร์เป็นผู้มีความรู้ความสามารถทางด้านระบบราง แม้จะจบด้านกฎหมายมา ไม่ได้จบทางด้านวิศวกรรมโดยตรง แต่ประสบการณ์ทั้งจากที่การทางพิเศษฯ และที่รถไฟฟ้ามหานคร ก็นับได้ว่ายังทำงานต่อไปได้ ขึ้นอยู่กับว่าทาง คสช. จะตัดสินใจอย่างไร การเดินหน้ารถไฟรางคู่ถือเป็นนโยบายหนึ่งที่ คสช. ให้ความสำคัญที่จะเดินหน้าโครงการนี้ต่อ

นั่นคือโอกาสที่นายประภัสร์จะมีโอกาสนั่งเก้าอี้ผู้ว่าการการรถไฟฯ ต่อไป

สิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นบทเรียนอีกด้านหนึ่ง เพราะเป็นระบบสรรหาผู้บริหารที่มาจากบุคคลภายนอก แม้จะได้มืออาชีพที่มีความรู้ความชำนาญมาช่วยพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้าขึ้น แต่ก็ทำให้เกิดช่องว่างที่ภาคการเมืองส่งคนของตัวเองเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างหรือการจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล

วิธีการดังกล่าวควรจะยกเลิกได้แล้วเนื่องจากคนภายในองค์กรนั้นก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ต่างกัน และต้องปฏิบัติงานอย่างระมัดระวังมากกว่า เนื่องจากหากเกิดความผิดพลาดใดๆ จะกระเทือนไปถึงประวัติในการทำงานที่ผ่านมาทั้งหมด

“ประเมินแล้วว่าคุณประภัสร์คงอยู่อยาก เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไป อีกทั้งมีเรื่องคดีที่เกิดขึ้นนั้นโหดร้ายเกินกว่าจะรับได้ และมีกระแสจากภาคประชาชนเข้ามาหนุนให้ปลดผู้ว่าการ เชื่อว่าประธานบอร์ดคนใหม่ที่ คสช. แต่งตั้งคงหาทางออกให้กับเรื่องนี้ได้”
คำสั่งคสช.ให้ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย พ้นจากตำแหน่ง
เสนอดันคนในขึ้นผู้ว่าการ

ขณะเดียวกัน ปมปัญหาอีกประการหนึ่งคือระบบการสรรหาผู้บริหารที่มาจากบุคคลภายนอก แม้จะได้มืออาชีพที่มีความรู้ความชำนาญมาช่วยพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้าขึ้น แต่ก็ทำให้เกิดช่องว่างที่ภาคการเมืองส่งคนของตัวเองเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล

อย่างกรณีหากมีการปลดผู้ว่าการการรถไฟฯ ออก หน่วยงานอย่างการรถไฟฯ ก็เดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้นตอนนี้จึงขึ้นอยู่กับ คสช.ว่าจะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร

นอกจากนี้ แกนนำสหภาพแรงงานการรถไฟฯ 13 คนที่เคยถูกเลิกจ้างได้ต่อสู้ทางคดีความกันจนได้กลับเข้ามาทำงานในการรถไฟอีกครั้งเมื่อ 19 มิถุนายน ที่ผ่านมา เมื่อบวกกับประธานการรถไฟฯ คนใหม่ ที่มาจากสายของ คสช. ท้ายที่สุดการเปลี่ยนตัวผู้ว่าการการรถไฟฯ คงเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า

และอำนาจเดียวที่จะสามารถสั่งปลด นายประภัสร์ จงสงวน ได้ในเวลานี้โดยไม่ต้องรอการพิจารณาของบอร์ด รฟท. ก็คืออำนาจพิเศษของ คสช.เท่านั้น ซึ่งที่สุดแล้ว นายประภัสร์ ก็หนีไม่พ้น

โดยเมื่อเวลาประมาณ 18.49 น. คสช. มีการออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 89/2557 เรื่องการให้ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยพ้นจากตำแหน่ง เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเหมาะสมยิ่งขึ้น จึงมีคำสั่งให้ นายประภัสร์ จงสงวน พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย สั่ง ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2557

กำลังโหลดความคิดเห็น