xs
xsm
sm
md
lg

จี้ “บิ๊กตู่” เช็กบิล 2 หน่วยงานทุจริต “ร.ฟ.ท.-สุวรรณภูมิ” รื้อสัมปทาน!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ต่อตระกูล ยมนาค” ชี้ “บิ๊กตู่” ฮีโร่ตัวจริง เดินหน้าใช้อำนาจพิเศษปราบคอร์รัปชัน ขณะที่ “ข้าราชการ - อัยการ” ตัวขัดขวาง ป.ป.ช. จัดการพวกขี้โกง มั่นใจเด้งอัยการสูงสุด ส่งผลดีกับ ป.ป.ช. ทำงานได้สะดวก ส่วนเงินใต้โต๊ะแลกกับการได้งานปีละ 2 แสนล้านบาท ด้านคมนาคม ระบุ มาเฟียและคนใน ร.ฟ.ท. ร่วมมือหาประโยชน์ที่ดิน โดยเฉพาะที่ย่านรัชดา พบใช้คนขับรถทำสัญญาเช่าแทน ขณะเดียวกันสนามบินสุวรรณภูมิมีผู้อิทธิพล 3 กลุ่ม แบ่งผลประโยชน์ลงตัว จี้ คสช. รื้อสัมปทานทั้งระบบ

เพียงแค่ 1 เดือนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจได้สร้างผลงานมากมาย ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนโดนใจประชาชน เริ่มตั้งแต่การแก้ปัญหาจำนำข้าว การโยกย้ายบิ๊กข้าราชการในระบอบทักษิณ สั่งทบทวนโครงการขนาดใหญ่ ทั้งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในวงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท การกวาดล้างแหล่งการพนันทั่วประเทศ การควบคุมแรงงานต่างด้าว การจัดระเบียบรถสาธารณะ แท็กซี่สนามบินสุวรรณภูมิ รถตู้โดยสาร วินมอเตอร์ไซค์ และการแก้ปัญหาหวยเกินราคา

ที่สำคัญแต่ละเรื่องที่ คสช. เข้าไปจัดการนั้นก็อาจไปกระทบผลประโยชน์ของบรรดามาเฟีย ที่มีทั้งคนในเครื่องแบบและไม่มีเครื่องแบบเกี่ยวข้องด้วย

ขณะที่ประเด็นปัญหาการคอร์รัปชัน ยังเป็นเรื่องใหญ่ที่ คสช. ให้ความสำคัญ เพราะสาเหตุหลักในการทำรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ครั้งนี้ต้องยอมรับว่ามาจากการทุจริตคอร์รัปชันเช่นกัน ซึ่งความจริงปัญหาการคอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน และนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงในสังคมไทย

ดังนั้น การที่จะปราบคอร์รัปชันให้หมดไปจากสังคมไทยได้นั้น จึงอยู่ที่ “ผู้นำ” เพราะหากหัวไม่ส่ายหางย่อมไม่กระดิก และวันนี้สังคมไทยกำลังรออัศวินขี่ม้าขาว ว่าจะมาขุดรากถอนโคนขบวนการคอร์รัปชันได้จริงหรือไม่?
คสช.เดินหน้าจัดการกับปัญหาการคอร์รัปชัน
โกงปีละ 2 แสนล้านบาท

รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค อนุกรรมการฝ่ายมาตรการป้องกันการทุจริต ป.ป.ช. และเป็นคณะผู้ก่อตั้งเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (ค.ป.ต.) บอกว่า การเข้ามาเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามทุจริต คอร์รัปชันของ คสช. จะเป็นผลดีกับประเทศอย่างยิ่ง ทั้งการจัดตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ที่เข้าตรวจโครงการใหญ่ 8 โครงการ และคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 69/2557 เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งหากตรวจพบจะมีการลงโทษชัดเจน

อย่างไรก็ดี การออกคำสั่งปราบปรามการทุจริตของ คสช. พร้อมลงมือปฏิบัติในทันทีนั้น ไม่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลใดๆ เพิ่งจะมาเห็น พล.อ.ประยุทธ์ ที่กระทำในเวลาเดียวกัน ซึ่งมีเจตนาจะสื่อสารไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะข้าราชการในทุกๆ ระดับ เพราะที่ผ่านมา ข้าราชการเป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้การทุจริตเติบโตและขยายวงกว้างมากขึ้น

“เมื่อข้าราชการเห็นว่า คสช.เอาจริง สั่งรื้อ สั่งทบทวนโครงการ โยกย้ายข้าราชการ ก็มีความมั่นใจว่า คสช.มีข้อมูลหลักฐาน เอาจริง และข้าราชการทั่วๆ ไปต่างให้ความร่วมมือ ก็ทำให้พวกที่เกี่ยวข้องได้คิด”

นอกจากนี้ การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณจำนวนมาก ไม่ใช่ทำให้ประเทศเสียหายแค่งบประมาณรัฐรั่วไหลเพราะการทุจริตคอร์รัปชันเท่านั้น แต่กลับทำให้การพัฒนาประเทศผิดทิศทาง โดยหวังว่าการลงทุนจะเป็นตัวช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ เช่นการลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงที่ใช้งบประมาณมาก แต่กลายเป็นการไปสร้างภาระหนี้สิ้น และทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นหายไป

ดังนั้น การที่ คสช. เข้าไปจัดระเบียบใหม่กับรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ และบรรดาองค์กรมหาชน ทั้งการบินไทย การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นต้น จะส่งผลดีกับงบประมาณประเทศโดยตรง ซึ่งจากข้อมูลของ ป.ป.ช. ก็พบว่ารัฐวิสาหกิจถูกร้องเรียนเรื่องทุจริตมากที่สุด

“เงินที่สูญไปกับการทุจริตในรัฐวิสาหกิจและองค์กรมหาชนมหาศาลจำนวนมาก เพราะหน่วยงานเหล่านี้มีการลงทุนมาก ตัวเลขทุจริตจะอยู่ประมาณ 30-50% ของวงเงินลงทุนแต่ละโครงการ แต่เฉลี่ยจะประมาณ 30% พวกนี้ตั้งงบประมาณกันเอง ทำกันเอง บอร์ดก็พากันไปตามที่ตกลงกันไว้”

รศ.ดร.ต่อตระกูล ระบุว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยทำการสำรวจดัชนีสถานการณ์คอรัปชัน ซึ่งพบว่ามีการจ่ายใต้โต๊ะหรือการทุจริตเพื่อให้ได้งานถึงปีละ 200,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหากไม่เร่งดำเนินการแก้ไข เพราะข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐของแต่ละหน่วยงานนอกจากจะเป็นตัวการทุจริตแล้วยังเป็นตัวการในการขัดขวางการทำงานของ ป.ป.ช. ด้วย
การก่อสร้างเส้นทางต่าง ๆ มักจะพบปัญหาคอร์รัปชันเสมอ
โละอัยการสูงสุด ช่วย ป.ป.ช.ทำงานสะดวก

“ข้าราชการไม่ให้ความร่วมมือ ดึงเรื่องไว้อ้างโน่นอ้างนี่ไปเรื่อย และถ้าผลักดันไปถึงอัยการ ก็เตะถ่วงเรื่องด้วยการขอเพิ่มเติม ให้สอบเพิ่มเติม จะฟ้องหรือไม่ฟ้อง แต่ในที่สุดก็ยกเลิกไปเฉยๆ การย้ายอัยการสูงสุดจึงเป็นเรื่องดีกับ ป.ป.ช.ทำงานสะดวกขึ้น”

ดังนั้น การที่ คสช. ออกคำสั่งที่ 62/2557 เด้ง นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด (อสส.) ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น จึงเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ ป.ป.ช. ทำงานสะดวกและรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการปฏิบัติหน้าที่และช่วยให้การปราบปรามการทุจริต สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทุกยุค “ผู้นำ” โกงเอง

ขณะเดียวกัน รศ.ดร.ต่อตระกูล บอกอีกว่า กองทัพมีบทเรียนจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 มาแล้ว และรู้ว่าการทุจริตเกิดได้อย่างไรและจะปราบได้อย่างไร เพราะวันนี้เจ้าหน้าที่รัฐรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามคอร์รัปชัน คือมีความรู้ ความเข้าใจ รู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปราม รู้วิธีการและรู้ว่ามีองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามทุจริต แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้

“จะปราบทุจริตสำเร็จได้อยู่ที่ตัวผู้นำ สังคมไทยกำลังรอผู้นำ ที่ผ่านมาทำไม่สำเร็จ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการช่วยหรือไม่ช่วยในการปราบปราม แต่มันอยู่ที่ผู้นำโกงเสียเอง ซึ่งวันนี้เราไม่มีนักการเมืองที่มาจากการลงทุนซื้อเสียง และกองทัพที่เข้ามาบริหารประเทศขณะนี้ไม่ได้มาจากการลงทุน จึงไม่ต้องหาเงินไปชดใช้ใคร เขาจึงสามารถจัดการได้หมดไม่ว่าฝ่ายไหน”

นอกจากนี้ การปราบปรามการทุจริตนั้น หากดำเนินการไปแล้วไปเจอตอ เช่นไปเจอทหารด้วยกันเองที่เป็นตัวการใหญ่ในการทุจริต ก็เชื่อว่า คสช. มีวิธีการจัดการ ทั้งการขอร้องด้วยวาจา หรือเรียกให้มารายงานตัว และขอให้เลิกไปทำธุรกิจอื่นแทนจะดีกว่า

รศ.ดร.ต่อตระกูล บอกด้วยว่า ขณะนี้เราใช้อำนาจพิเศษในการบริหารประเทศ และได้ผู้นำที่มีความเฉียบขาดและตั้งใจจริงในการปราบปรามการทุจริต หรือจะเรียกว่าประเทศไทยกำลังมีฮีโร่ตัวจริง อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.มาดำเนินการ จึงทำให้สังคมมีความหวังที่จะจัดการปัญหาการทุจริต และผลพลอยได้จากการปราบทุจริต ก็คือจะทำให้นักธุรกิจกล้าที่จะเข้ามาลงทุนมากขึ้น

“วันนี้ถ้าไม่มีอำนาจพิเศษปราบได้ยาก คนไม่เกรงกลัว แม้จะลดไปเพียงครึ่งเดียว หรือสูญไป 1 แสน แต่ก็ยังมีความหวังดีกว่าปล่อยให้ระบาดไปทั่ว ซึ่งองค์กรปกครองท้องถิ่น ป.ป.ช. พบการทุจริตเป็นจำนวนมาก จึงต้องใช้เวลาในการขุดรากถอนโคนในทุกหน่วยงาน”

ดังนั้น หาก คสช. สามารถจับผู้ทุจริตมาลงโทษได้มากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้คนที่เคยโกงกินเกิดความหวาดกลัว ส่วนคนใหม่ที่คิดจะทุจริตก็จะไม่กล้ากระทำ เป็นผลให้งบประมาณของรัฐที่เคยสูญเสียไป จะสามารถนำไปใช้พัฒนาประเทศได้มากขึ้น
พื้นที่ 2 ข้างทางของการรถไฟฯมักมีเอกชนเข้ามาเสนอผลประโยชน์
มาเฟียฮุบที่ดินรัชดา

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การทุจริตมีด้วยกันหลายรูปแบบ ทั้งทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง ทุจริตเชิงนโยบาย ทุจริตในการให้สัมปทานรัฐ เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคม นอกจากจะมีการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคของรัฐแล้ว ยังมีเรื่องผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินที่ดินทั่วประเทศของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่กระจายตัวอยู่ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะใน กทม. บริเวณทำเลทอง ได้มีการนำไปหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ แต่ปรากฏว่าไม่สามารถจัดเก็บรายได้เข้าการรถไฟฯ เนื่องจากมีกลุ่มผู้มีอิทธิพลเข้าไปครอบครอง ซึ่งมีคนในการรถไฟฯ เองรู้เห็นเป็นใจ โดยเฉพาะที่ดินในพื้นที่ทำเลทอง บริเวณแนวถนนรัชดาภิเษก เลี้ยวไปทางศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ปัจจุบันมีเต็นท์รถมือสอง ใช้พื้นที่อยู่เป็นจำนวนมาก

“วันนี้คนการรถไฟฯ อยากให้ คสช. เข้ามาดูแลการใช้ที่ดินที่มีการนำไปหาประโยชน์มาก เพราะมีการทุจริตเยอะมาก อย่างแปลงที่ดินรัชดา เป็นที่ดินแปลงงาม ใกล้ อสมท ใกล้ตึกทรู ใกล้รถไฟฟ้าใต้ดิน มีผู้เข้าไปครอบครองใช้ประโยชน์และมีการจ่ายเงินค่าเช่าที่ดินให้ผู้มีอิทธิพลสูงมาก แต่การรถไฟฯ กลับไม่สามารถจัดเก็บรายได้จากที่ดินแปลงเหล่านี้”

โดยในเบื้องต้นที่เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบพบว่า บุคคลที่เข้ามาทำสัญญาเช่ากับการรถไฟฯ ไม่ใช่เจ้าของธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ แต่กลับนำคนขับรถมาทำสัญญาแทน แสดงให้เห็นว่าในปีที่มีการทำสัญญากันนั้น จะต้องมีผู้บริหารของ รฟท.รู้เห็นเป็นใจแน่นอน เพราะผ่านมาเกือบ 10 ปี การรถไฟฯ ยังไม่สามารถจัดเก็บรายได้จากที่ดินแปลงนี้ได้เลย

ดังนั้น หาก คสช. เข้าไปผ่าตัดในเรื่องการบริหารจัดเก็บรายได้ในทรัพย์สินที่ดินของการรถไฟฯ จะทำให้การรถไฟฯ จัดเก็บรายได้มากขึ้น และจะเป็นการชดเชยรายได้ให้การรถไฟฯ ที่ขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะได้ด้วย
สนามบินสุวรรณภูมินับเป็นหนึ่งในโครงการที่มีการคอร์รัปชั่นสูง
ใครคือผู้มีอิทธิพลในสุวรรณภูมิ

ส่วนในเรื่องการทุจริตในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ คสช. เข้าไปจัดระเบียบรถแท็กซี่นั้น แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า ความจริงแล้วในสนามบินสุวรรณภูมิมีปัญหาการทุจริตที่ใหญ่กว่าปัญหาแท็กซี่ที่ คสช. ควรเข้าไปดำเนินการ เพราะในความเป็นจริงกลุ่มผลประโยชน์ในสนามบินสุวรรณภูมิ จะมีด้วยกัน 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกจะเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากธุรกิจสัมปทาน และใช้ “เงิน” บันดาลได้ทุกอย่าง ซึ่งกลุ่มนี้จะเข้าหาทั้งทหาร นักการเมือง และพรรคการเมืองทุกพรรค คณะกรรมการบริหารสนามบิน และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารในสนามบิน ซึ่งหากมีปัญหากระทบต่อธุรกิจของกลุ่ม ก็จะเข้าไปเจรจาด้วยวิธีนิ่มนวล และมีเงินเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ทุกอย่างที่เป็นปัญหา กลายเป็นไม่มีปัญหาในทันที

กลุ่มที่ 2 จะเป็นกลุ่มคนในเครื่องแบบ จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจรถแท็กซี่สาธารณะ รถแท็กซี่ป้ายดำ และที่จอดรถผู้โดยสารในสนามบินเป็นหลัก

ขณะที่กลุ่มที่ 3 จะเป็นกลุ่มนักการเมืองของพรรคเพื่อไทย จะเข้าไปเกี่ยวกับรถเข็นกระเป๋า ธุรกิจขนส่งน้ำมัน

ดังนั้น หาก คสช. ต้องการจะเข้าไปปราบปรามทุจริตในสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว จะต้องเข้าไปรื้อสัญญาสัมปทานทั้งหมด โดยเฉพาะสัมปทานในการใช้พื้นที่ในสนามบิน ทั้งในเรื่องการพาณิชย์ การให้บริการที่พัก โรงแรม และอาคารที่จอดรถ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้รัฐได้ผลตอบแทนมากขึ้น เพราะสัญญาที่ทำไว้นั้นไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่มชัดเจน!

กำลังโหลดความคิดเห็น