รอยเตอร์ - รอยเตอร์รายงานพิเศษในวันนี้(30) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการกองทัพบกได้แถลงต่อหน้ากองทัพนักข่าวในวันที่ 27 ธันวาคม 2013 ที่สร้างความตกตะลึงให้กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยของอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรว่า “จะไม่ตัดทางเลือกที่ให้กองทัพเข้ามาแก้ไขวิกฤตบ้านเมือง” และเป็นวันที่เอกสารจัดทำโดยเสนาธิการทหารบกให้คำแนะนำกองทัพไทยในการรับมือวิกฤตทางการเมืองตามสถานการณ์ต่างๆถือกำเนิดขึ้น และมีแผน B การทำรัฐประหารรวมอยู่ในนั้น
ในวันนั้น(27 ธันวาคม 2013) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการกองทัพบกกล่าวเปรยว่า “หนทางนี้ยังไม่เปิดแต่ก็ไม่ปิด” เมื่อผู้บัญชาการทหารบกไทยถูกถามว่าจะเกิดมีรัฐประหารอีกครั้งหรือไม่ “ทุกสิ่งสามารถเป็นไปได้” พลเอก ประยุทธ์ กล่าวในขณะนั้น
ถือเป็นการตอบคำถามครั้งสำคัญหลังจากที่ทางกองทัพปฎิเสธในเรื่องการทำรัฐประหารเรื่อยมา และนอกจากนี้ไม่ใช่เพียงแต่พลเอก ประยุทธ์ที่แค่โพล่งให้สัมภาษณ์กับสื่อในวันนั้น แต่ยังมีหลักฐานเอกสารอ้างอิงจากเสนาธิการทหารบกของไทยประทับตราลงวันที่ 27 ธันวาคม 2013 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่พลเอก ประยุทธ์ได้แถลงต่อสื่อ โดยเอกสารฉบับนี้แสดงถึงสถานการณ์จำลองต่างๆที่อาจเกิดขึ้น และวิกฤตจะพัฒนาเป็นความรุนแรงอย่างไร รวมไปถึงกองทัพต้องรับมืออย่างไรบ้าง
และหนึ่งในสถานการณ์ที่ระบุว่ากองทัพควรรับมืออย่างไร “หากวิกฤตนั้นเกินกว่าที่ตำรวจจะสามารถควบคุมได้” และหากเกิดขึ้นจริง เอกสารให้คำแนะนำว่า กองทัพต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน หรือกฎอัยการศึก นอกจากนี้คำแนะนำจากเอกสารได้แสดงถึงแนวทางในการยึดอำนาจ “ในขณะที่แสดงบทบาทตัวเป็นกลางระหว่างความขัดแย้ง” และการเป็นตัวกลางในการช่วยเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งทางการเมือง
หลังจาก 5 เดือนผ่านไป กองทัพไทยตระหนักว่าต้องเผชิญกับทุกสถานการณ์เกือบทั้งหมดที่ระบุไว้ในเอกสาร และประสบล้มเหลวในการเป็นตัวกลางช่วยไกล่เกลี่ย ทำให้เหตุความรุนแรงทางการเมืองได้ทำให้นำไปสู่การประกาศกฎอัยการศึก
ถึงแม้ไทยจะมีรัฐประหารมาแล้วถึง 12 ครั้ง แต่ครั้งล่าสุดในวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมาถือเป็นความพยายามสุดท้ายของกองทัพไทยที่จะเข้าไกล่เกลี่ยความขัดแย้งไม่ถือว่าเป็นไปตามสคริปที่เคยทำกันมา ที่เกิดเหตุให้กรุงเทพฯถูกปิดตายในขณะที่จังหวัดอื่นๆทั่วประเทศต่างเฝ้ามองด้วยความพิศวง
การปฎิวัติล่าสุด กองทัพได้จัดระเบียบทั่วประเทศไทยอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่นักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักวิชาการ ซึ่งคนส่วนใหญ่อยู่ในค่าย “คนเสื้อแดง” สนับสนุนพรรคเพื่อไทยที่ได้ถูกโค่นอำนาจการบริหารประเทศ อ้างอิงจากการสัมภาษณ์ของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ทหารและสมาชิกครอบครัวที่ถูกกักบริเวณ
เหตุรัฐประหารที่ทำให้กองทัพได้กุมอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ และยังไม่มีกรอบเงื่อนเวลาตายตัวจะทำให้ไทยกลับไปสู่ประชาธิปไตยในเร็ววันนี้ ทำให้หลายฝ่ายสงสัยว่ากองทัพไทยมีความคิดที่จะบริหารประเทศยาวนานออกไปกว่าการปฎิวัติครั้งก่อนๆ
ทั้งนี้คณะคสช.ได้ปฎิเสธว่ามีการเตรียมวางแผนทำรัฐประหารล่วงหน้า โดย พลโท ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข รองเสนาธิการทหารบก ได้แถลงต่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศเมื่อวานนี้(29)ว่า “การวางแผนทำรัฐประหารถือเป็นกบฎ นั่นเป็นสาเหตุทำไมที่เราไม่ได้เตรียมการล่วงหน้า” และกล่าวต่อไปว่า “ในสิ่งที่กองทัพทำถือว่าเสี่ยงมาก เพราะหากไม่ทำตามแผนการอย่างรอบคอบ จะทำให้ผู้ร่วมทำรัฐประหารต้องถูกจำคุก หรือได้รับโทษประหารชีวิต ดังนั้นจึงไม่มีการวางแผนล่วงหน้า”
คณะคสช.ได้ทำการระงับการใช้กฏหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มัดปากสื่อ และยังขู่ที่จะนำพลเรือนขึ้นศาลทหารในคดีความผิดสำคัญ
นอกจากนี้บรรดาผู้กุมอำนาจคสช.ยังได้สัญญาจะให้มีการปฎิรูปเพื่อแก้ไขวิกฤตการเมืองระหว่างกลุ่มจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ที่รวมถึงคนในเครื่องแบบทหารบางส่วน เหล่าผู้นำชั้นสูงฐานอำนาจเก่าในสังคม ธุรกิจใหญ่ และกลุ่มคนรากหญ้าที่เรียกว่า “คนเสื้อแดง” ที่จงรักภักดีต่ออดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เศรษฐีพันล้านจากธุรกิจโทรคมนาคม ได้สั่งการจากลอนดอน ดูไบ และฮ่องกง สนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง รวมถึงทางด้านการเงิน
ในไม่กี่เดือนหลังจากนี้ กองทัพต้องดูว่าจะให้ประชาธิปไตยในไทยทำงานได้ผลที่สุดอย่างไร แต่หากมาจากการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งแน่นอนว่าพรรคเพื่อไทยของตระกูลชินวัตรต้องกลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้ง หรือจากการแต่งตั้งเพื่อจำกัดอำนาจของนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา และในทัศนคติของกองทัพ ซึ่งนักการเมืองเหล่านั้นล้วนแต่ฉ้อฉล
และพบว่าฟางเส้นสุดท้ายทำให้กองทัพตัดสินใจวางแผนยึดการควบคุมประเทศหลังจากที่มีกลุ่มคนไม่ทราบฝ่ายที่มีทั้งปืนและระเบิดได้สังหารคนอย่างน้อย 3 คน และมีผู้บาดเจ็บ 20 รายในการประท้วงของกลุ่มกปปส. ต่อต้านรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งการโจมตีกลุ่มกปปส.ในวันที่ 15 พฤษภาคม ทำให้กองทัพกลัวถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด “สงครามกลางเมือง” และความรุนแรงครั้งนั้นได้ส่งสัญญาณไปยังผู้นำคสช.ต้องตัดสินใจว่า เป็นสถานการณ์ที่ “เกินกว่าที่ตำรวจจะควบคุมได้แล้ว”
“หลังจากเหตุการณ์ระเบิดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยทำให้เหล่าผู้นำทัพต่างกังวลว่า ทุกฝ่ายในประเทศพร้อมจะใช้ความรุนแรงเข้าหากัน” พ.อ.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกกองทัพบกกล่าว และเสริมต่อว่า ดังนั้นจึงได้ประกาศใช้กฏอัยการศึกในวันที่ 20 พฤษภาคม เพื่อให้โอกาสทุกฝ่ายได้ถอยไปคนละก้าว แต่หลังจากวันนั้น เห็นได้ชัดว่าทางเลือกที่เราไม่ต้องการ แผน B การทำรัฐประหารนั้นเด่นชัด”
“คณะรัฐประหารทางศาล” ได้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการทำรัฐประหารโดยกองทัพไทยในสายตาของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และทำให้กองทัพตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ในวันที่ 7 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรีไทย รวมไปถึงเหล่ารัฐมนตรีบางคนในคณะครม.ของเธอจากข้อหาใช้อำนาจโดยมิชอบ ทั้งนี้กลุ่มสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศเตือนให้ระวัง “สงครามกลางเมือง” หากมีการแต่งตั้งผู้นำคนใหม่ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
แต่ไม่คาดคิดว่ามติของศาลรัฐธรรมนูญให้รัฐบาลของทักษิณยังอยู่ในอำนาจในฐานะรัฐบาลรักษาการต่อไป ได้ส่งสัญญาณเตือนไปที่กองทัพ แหล่งข่าวกองทัพไทยที่มีส่วนในการเจรจาระหว่างกองทัพและฝ่ายต่างๆเผย
“รัฐบาลรักษาการไม่สามารถลงนามในกฏหมายความมั่นคงฉบับใดได้เลย เพราะไร้อำนาจในสถานการณ์ความไม่สงบ” แหล่งข่าวกองทัพกล่าว และเสริมต่อว่า “และนั่นเป็นเวลาที่ทางกองทัพเริ่มคิดถึงแผน B”
ทั้งนี้รอยเตอร์ได้เห็นเอกสารที่ลงวันที่ 27 ธันวาคมจัดทำโดยเสนาธิการทหารบกไทยระบุว่า กองทัพต้องการอำนาจเต็มของคณะรัฐมนตรีเพื่อรักษาความสงบ และสลายกลุ่มผู้ประท้วงที่รัฐบาลรักษาการไม่สามารถทำได้ และยังเป็นศาลรัฐธรรมนูญศาลเดียวกันที่ตัดสินให้การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์เป็นโมฆะ ซึ่งผลการเลือกตั้งในครั้งนั้นส่งให้พรรครัฐบาลของยิ่งลักษณ์ได้รับการเลือกกลับเข้ามาสู่อำนาจอีกครั้ง และในคำพิพากษาอื่นมีคำสั่งให้งดการใช้กำลังเข้าสลาย กลุ่มกปปส.
นอกจากนี้คนที่รู้จักของผู้นำคณรัฐประหารต่างอ้างว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาลังเลที่จะทำการรัฐประหารโดยให้เหตุผลถึงบทเรียนจากการทำรัฐประหารก่อนหน้านี้ในปี 2006ที่ทางกองทัพพยายามจะปกครองประเทศหลังจากยึดอำนาจจากทักษิณเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในการทำรัฐประหารครั้งนั้นกองทัพวางแผนแต่การยึดอำนาจ และมีความอื้อฉาวในนโยบายที่ล้มเหลว รวมไปถึงการเข้าควบคุมเงินทุนที่ทำให้หุ้นตกไปถึง 15% ภายในวันเดียวกัน
แผนการยึดอำนาจเสร็จสิ้นล่วงหน้าในวันที่พลเอก ประยุทธ์ประกาศใช้กฏอัยการศึกในวันที่ 20 พฤษภาคม 2 วันก่อนที่จะมีการทำรัฐประหาร เพื่อควบคุมสถานการณ์ในระหว่างที่นักการเมืองต่างกำลังหาทางออกให้กับวิกฤตความขัดแย้ง แหล่งข่าวระดับสูงของกองทัพเผย
“นับตั้งแต่มีการประกาศใช้กกอัยการศึก มีโอกาส 50-50ที่พลเอก ประยุทธ์จะยึดอำนาจ แต่เขาต้องการให้โอกาสทุกฝ่ายเพื่อถอยหลังคนละก้าวเสียก่อน” แหล่งข่าวกองทัพกล่าวต่อ
และยังไม่มีเงื่อนเวลาตายตัวในการที่จะให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์แบบ แต่จากแผนการรับมือฉุกเฉินในเอกสารที่รอยเตอร์เห็นได้อธิบายถึงวิธีการส่งมอบอำนาจคืนสู่ประชาชน “ในระยะเวลาที่เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”
พลโท ฉัตรเฉลิม เผยว่า เงื่อนไขต้องใช่ และต้องมีการสมานฉันท์ทุกฝ่ายก่อนที่จะส่งมอบอำนาจคืนให้กับรัฐบาลพลเรือนต่อไป “จะต้องใช้เวลานานเท่าใดที่จะสามารถปรองดองระหว่าง 2 กลุ่มขั้วการเมืองที่เป็นปรปักษ์ร่วม 10 ปี” พลโท ฉัตรเฉลิมถามนักข่าวต่างประเทศ โดยพบว่าในการทำรัฐประหารปี 2006 ใช้เวลา 15 เดือนก่อนที่จะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2007 ทั้งนี้รอยเตอร์ได้รายงานในเดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมาว่า พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา และพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ สองนายพลรุ่นพี่พลเอก ประยุทธ์ได้แอบหนุนหลังช่วยการเคลื่อนไหวของกลุ่มกปปส.ที่ต้องการล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในขณะนั้น
และในช่วงการกระชับอำนาจทางกองทัพได้จับกุมเหล่านักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และนักวิชาการไปกักตัวที่สถานที่ไม่เปิดเผย โดยในกรุงเทพฯ คสช.ได้เรียกนักเคลื่อนไหว นักวิชาการ และสื่ออย่างน้อย 286 คนไปรายงานตัวเพื่อป้องปรามให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบ และไม่ให้เกิดความรุนแรงในอนาคต รวมถึงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานของกองทัพ รายงานจากแถลงการณ์ของคณะคสช. โดยคนเกือบทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวหลังจากนั้น
แต่ในถิ่นภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยที่เป็นฐานกำลังของการเคลื่อนไหวคนเสื้อแดง ฐานเสียงพรรคเพื่อไทย “อย่างน้อยมีการประกาศเรียกตัวอย่างเป็นทางการในเมืองหลวงของไทย แต่จะทำอย่างไม่เป็นทางการในต่างจังหวัด” นักวิชาการจากภาคเหนือของไทยที่อยู่ในระหว่างการซ่อนตัวให้ความเห็น และกล่าวต่อว่า “ ทหารจะมาพร้อมรถบรรทุกและนำตัวไป”
ในจังหวัดเชียงใหม่ พล.ต.ศรายุทธ รังษี ผู้บัญชาการค่ายกาวิละ ปฎิเสธที่จะตอบคำถามว่ายังคงกักตัวอีกจำนวนเท่าใด แต่ในการสัมภาษณ์เหล่านักวิชาการ นักเคลื่อนไหว และครอบครัวของผู้ที่ถูกกักตัว รวมไปถึงทหารได้เปิดเผยว่า มีกลุ่มเสื้อแดงอย่างน้อย 20 กลุ่มถูกกักตัวไว้ในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย และคนเกือบทั้งหมดถูกปล่อยตัวในวันอังคาร(27)
ทั้งนี้คนที่ถูกกักตัวเปิดเผยว่า ได้มีการลงนามในMOUสัญญาที่จะไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวที่ไม่สงบทางการเมือง ให้การสนับสนุนกลุ่มผิดกฏหมาย โดยทุกคนที่ลงนามถูกเตือนว่า หากฝ่าฝืนจะต้องโดนดำเนินคดี และถูกจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ทั้งนี้หนึ่งในคนเสื้อแดงเปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า เขาถูกถามว่าเป็นพวกหัวรุนแรงหรือไม่ และสะสมอาวุธหรือไม่ และตอบคำถามรอยเตอร์ที่ว่า “กองทัพประสบความสำเร็จที่จะเปลี่ยนใจเขาหรือไม่” นักเคลื่อนไหวเสื้อแดงประกาศว่า “คำตอบอยู่ในใจ พูดไม่ได้มีสัญญาผูกมัดเป็นเงื่อนไขในการปล่อยตัว”
ในขณะที่ทางภาคเหนือ พล.ต.ศรายุทธยังเดินหน้ากวาดล้างกลุ่มเคลื่อนไหวที่ยังจงรักภักดีต่อทักษิณต่อไป โดยกล่าวว่า “ยังคงเดินหน้ากวาดล้าง เมื่อไรที่มีรายงานว่ามี1 หรือ 2 คนกำลังวางแผนที่จะทำอะไร เราจะเดินหน้าเพื่อควบคุมสถานการณ์” แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีการประท้วงต้านรัฐประหารในเลียงใหม่ โดยในวันเสาร์(25)มีผู้ประท้วงอย่างน้อย 200 คนได้ปะทะกับตำรวจท้องที่ แต่ความพยายามที่จะรวมตัวผ่านการส่งข้อความทางมือถือและโซเชียลมีเดียไม่ได้ผลนัก เพราะการข่าวกองทัพสามารถทำให้เหล่าทหารเข้าควบคุมสถานที่การประท้วงได้ล่วงหน้า
นอกจากนี้ยังมีอย่างน้อย 16 คนถูกจับกุมในการประท้วงต้านรัฐประหารที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามีการจับกุมตัวผู้ประท้วงจำนวนมากเท่าใดในพื้นที่อิทธิพลพรรคเพื่อไทย ในจังหวัดขอนแก่นที่เป็นอีกหนึ่งฐานที่มั่นของคนเสื้อแดง เหล่าสมาชิกกล่าวว่าแกนนำถูกรวบตัวไป แต่ไม่ปรากฎชื่อในรายชื่อของกองทัพที่เปิดเผยในกรุงเทพฯ
ในตัวเมืองหลวง สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำการเคลื่อนไหวกลุ่มกปปส.ที่ได้เรียกร้องการรัฐประหารเรื่อยมา โดยเชื่อว่าการยึดอำนาจเป็นทางออกให้สังคมไทย และเรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ อีกหนึ่งแกนนำของกลุ่มกปปส.ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า ผู้ประท้วงรู้ว่ากองทัพต้องออกมาหากรัฐบาลไม่ยอมลาออก พร้อมกับเสริมว่า ประตูระหว่างกองทัพกับกปปส.ยังไม่ถูกปิดลง “เราไม่แปลกใจที่มีการทำรัฐประหาร แต่มันไม่ใช่ผลลัพท์ที่เราต้องการ เราต้องการรัฐประหารโดยประชาชน และจนกระทั่งถึงวันพฤหัสบดี(22) เราเชื่อว่าเราจะได้เห็นสิ่งนั้น ไม่มีการพบกันระหว่างกองทัพและแกนนำกปปส.เพื่อวางแผนการยึดอำนาจ” ร้อยตรีแซมดินกล่าว
รวมไปถึงสมศักดิ์ โกศัยสุข อีกหนึ่งแกนนำของกปปส. ยืนยันว่า ทางกลุ่มไม่ทราบการทำรัฐประหารล่วงหน้า ในระหว่างที่ทางแกนนำได้เข้าประชุมที่สโมสรทหารบกในวันยึดอำนาจเพื่อที่จะสามารถหาข้อตกลงร่วมกันกับตัวแทนรัฐบาลรักษาการ
ผู้นำคสช.ถามตัวแทนรัฐบาลรักษาการอีกครั้งว่าพวกเขาจะยอมลาออกก่อนที่พลเอก ประยุทธ์จะยึดอำนาจหรือไม่ “แต่ฝ่ายรัฐบาลรักษาการปฎิเสธ” สมศักดิกล่าว และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้พลเอก ประยุทธ์ต้องประกาศว่าเขากำลังจะทำการรัฐประหาร “ทุกฝ่ายต้องนั่งอยู่กับที่” พลเอก ประยุทธ์กล่าว อ้างจากแหล่งข่าวของทั้งฝ่ายกปปส.และฝ่ายรัฐบาลรักษาการที่ได้เข้าร่วมประชุม และหลังจากนั้นกองทหารหลายร้อยนายได้ล้อมสโมสรทหารบกไว้ และทำให้ผู้นำคสช.สามารถจับกุมตัวกลุ่มผู้มีส่วนในความขัดแย้งทางการเมืองในคราวเดียวกันทั้งหมด