xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤต “ไฟใต้” กับวิกฤต “มวลมหาประชาชน” ความเหมือนที่ต้องจับตามอง / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
วันนี้สนามของการสู้รบในนิยามของ “สงครามประชาชน” ไม่ได้จำกัดเขตอยู่ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่สนามรบของสงครามในลักษณะนี้ได้ขยายขอบเขตสู่กรุงเทพมหานครแล้ว แม้จะยังไม่เต็มรูปแบบอย่างที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินด้ามขวาน
 
แต่เสียง M 79 ที่ดังคำรามเป็นระยะๆ รวมทั้งเสียงปืน และประทัดยักษ์ ตลอดจนมีการโปรยตะปูเรือใบที่ถูกนำมาใช้ในการในการทำสงครามประชาชนในเมืองหลวง และความสูญเสียที่เกิดกับเด็กๆ ก็ไม่แตกต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชายแดนใต้
 
และที่เหมือนกันอย่างแน่นอนคือ ปัญหาทั้งของชายแดนใต้ และการชุมนุมที่กรุงเทพฯ เกิดจาก “ความเห็นต่าง” ทางการเมืองของคน 2 ฝ่าย
 
สงครามประชาชนที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานในชายแดนใต้ ซึ่งสู้รบกันมาจนมีความสูญเสียของทั้งฝ่ายขบวนการ และฝ่ายรัฐ จนสุดท้ายทุกฝ่ายต่างเห็นฟ้องต้องกันว่า การจะ “ดับไฟใต้” ให้ได้มีแต่ต้อง “ยุติ” ด้วยการ “พุดคุย” ทำความเข้าใจในเบื้องต้น ก่อนที่จะเปิดการ “เจรจา” อย่างเป็นทางการในเบื้องปลาย
 
เช่นเดียวกับการชุมนุมเรียกร้องของ กปปส.ที่ผ่านมา 4 เดือน ณ วันนี้ทุกฝ่ายต่างเห็นฟ้องต้องกันว่า ให้ทั้งฝ่าย กปปส.และฝ่ายรัฐบาลทำการพูดคุย หรือเจราจาร่วมกัน เพื่อหา “ทางออก” ให้แก่รัฐบาล และหา “ทางลง” ให้แก่กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.
 
สงครามประชาชนในชายแดนใต้สร้างปัญหา “ภัยแทรกซ้อน” ที่ทำให้ไฟใต้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น นั่นคือ การฉวยโอกาสของขบวนการน้ำมันเถื่อน ยาเสพติด ผู้มีอิทธิพล และที่น่ากลัวที่สุดคือ เจ้าหน้าที่รัฐ หรือคนในเครื่องแบบกลายเป็น “มือปืนรับจ้าง” กลายเป็นผู้ก่อเหตุฆ่าประชาชน ทั้งจากการว่าจ้าง และความแค้นส่วนตัว โดยอาศัยอาวุธ เครื่องแบบ และสถานการณ์เพื่อป้ายความผิด
 
เช่นกรณี 2 นาวิกโยธิน 1 อส.ที่รับจ้างฆ่า 2 ผู้รับเหมาก่อสร้างที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และการฆ่าเด็ก 3 คนของครอบครัว “มะมัน” ที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งแนวทางสืบสวนในทางลับเชื่อว่า เป็นฝีมือของ “ทหารพราน” ที่มีความแค้นส่วนตัวกับพ่อแม่ของเด็กๆ ทั้ง 3 คนที่กลายเป็นเหยื่อของการแก้แค้น
 
หรือกรณี “มะดือนัง มะแซ”  อส.ของ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ที่กลายเป็นผู้ต้องหาร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารอีก 4 คน ของกองพลที่ 9 จ.กาญจนบุรี ในข้อหายิงนายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำแดงตัวพ่อของ จ.อุดรธานี ซึ่งก่อนหน้านี้ ทั้งนายมะดือนัง และเจ้าหน้าที่ทหารกลุ่มนี้เคยอยู่ด้วยกันที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และเคย “รับงาน” ประเภทนี้มาด้วยกัน
 
เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่นาวิกโยธินหน่วย “ซีล” จากค่ายจุฬาภรณ์ จ.นราธิวาส จำนวน 2 นาย ที่ถูกตำรวจจับกุมพร้อมอาวุธ และหลักฐานในการเป็น “การ์ด” ของ กปปส. โดยเจ้าตัวรับว่า “รับจ้าง” มาเป็นการ์ด ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันของ “ภัยแทรกซ้อน” ในชายแดนใต้ที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเมื่อสร้างสถานการณ์แล้วมีการป้ายความผิดให้แก่ผู้อื่น
 
ที่เหมือนกันของสงครามประชาชนที่ชายแดนใต้ กับการชุมนุมที่กรุงเทพฯ อีกประการก็คือ มีการประกาศใช้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” มีการตั้งข้อหา “กบฏ” ต่อผู้ที่ทำผิดกฎหมาย หรืออยู่ตรงข้ามกับเจ้าหน้าที่รัฐ
 
อีกทั้งกรณีเจ้าหน้าที่รัฐ และกรณี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ กำลังกลายเป็นปัญหาที่ “อ่อนไหว” สำหรับคนในชายแดนใต้ และกำลังจะเกิดคำถามจากประชาชนบนแผ่นดินปลายด้ามขวานถึงความไม่ “เท่าเทียม” ของการบังคับใช้กฎหมาย
 
มีคำถามว่า ทำไมการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ชายแดนใต้จึงใช้อย่าง “เฉียบขาด” จับกุม ตรวจค้น สืบสวน ควบคุมตัวได้ 30 วัน และเมื่อมีการส่งฟ้องในข้อหากบฏ ทำไมไม่ได้รับการประกันตัวเหมือนกับคดีกบฏที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ
 
ข่าวที่สื่อทุกแขนงรายงานอยู่ทุกวันชี้ให้เห็นว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือพัวพันอยู่กับการก่อเหตุร้าย ทั้งในรูปแบบของ “ชายชุดดำ” ก็ดี หรือ “ไอ้โม่ง” ก็ดี หรือ “แก๊งป็อบคอร์น” ก็ดี หรือ “มือยิง M79” ก็ดี หรือมือยิงจาก “จุดสูงข่ม” ก็ดี ต่างถูกมองว่าเป็น “คนในเครื่องแบบ” ที่ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความรุนแรง
 
เช่นเดียวกับในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ประชาชนส่วนหนึ่งต่างมีข้อสงสัยว่า การฆ่าบุคคลที่เป็นผู้ต้องสงสัย และผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็น “แกนนำ” และ” แนวร่วม” ของขบวนการ รวมทั้งผู้ที่ “ศาลสั่งไม่ฟ้อง” ในคดีความมั่นคงที่เกิดขึ้น เป็นการกระทำของคนในเครื่องแบบ หรือเจ้าหน้าที่รัฐนั่นเอง
 
เช่นเดียวกับคดีที่ อ.รือเสาะ อ.บาเจาะ และที่อื่นๆ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐกลายเป็นผู้ “รับจ้าง” เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่หน่วยซีลที่ถูกจับกุมได้ในฐานะของการ์ด กปปส. ซึ่งประชาชนเชื่อว่าไม่ได้มีเพียง 2 นาย แต่ยังมีอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ถูกนำมาเปิดเผย
 
สิ่งที่เกิดขึ้นที่ชายแดนใต้จึงไม่เป็นเพียง “วิกฤต” ของ “รัฐบาล” ในการที่จะตอบคำถามของประชาชนเกี่ยวกับการใช้ พ.ร.ก.ฉุนเฉินฯ ที่แตกต่างกัน แต่เป็นวิกฤตของ “กองทัพ” ของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” รวมทั้ง “ฝ่ายยุติธรรม” ที่ต้องตอบข้อสงสัยต่อ “ผู้ถูกกระทำ” และประชาชนบนแผ่นดินด้ามขวานถึง “ความไม่เท่าเทียม” จากการปฏิบัติที่พวกเขาได้รับ
 
และมีคำถามหนึ่งจากเสียงสะท้อนในพื้นที่คือ ถ้าคนในชายแดนใต้ที่ “ถูกกระทำ” และรู้สึกว่า “เจ้าหน้าที่รัฐ” ทำไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรม หากพวกเขาจะใช้ “รูปแบบ” เดียวกับที่ผู้ชุมนุมในกรุงเทพฯ ใช้ เขาจะได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ หรือไม่
 
วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ กำลังกลายเป็นประเด็นที่คนบนแผ่นดินด้ามขวานนำมาเป็น “ข้ออ้าง” และเป็น “แบบอย่าง” เพื่อทวงถามเจ้าหน้าที่รัฐถึงความเท่าเทียม ถึงความไม่ไว้วางใจ ซึ่งล้วนเป็นความ “อ่อนไหว” ของสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายต้องติดตาม และรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคต
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น