xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปรถไฟทันที ความสุขที่คนไทยอยากได้จาก คสช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้บริการของ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. เป็นประจำ โดยเฉพาะผู้หญิง บัดนี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือจาก ความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุรถไฟตกราง ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติเฉลี่ยปีละ 100 ครั้ง นั่นคือ ความเสี่ยงที่จะถูกข่มขืนและฆ่าโดยพนักงานของการรถไฟฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนขบวนรถ

บนรถไฟที่วิ่งฝ่าความมืดไปยังจุดหมายปลายทางในตู้นอนปรับอากาศชั้นหนึ่ง ซึ่งควรจะเป็นที่ปลอดภัยสำหรับทุกชีวิต มีสายตาของฆาตกรที่คอยจับจ้องหาเหยื่อที่มันจะลากไปข่มขืน ฆ่า แล้วโยนร่างทิ้งออกไปทางหน้าต่าง

เรื่องนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 117 ปีของการรถไฟฯ อย่างที่นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. อ้าง หลังจากข่าวฆ่าข่มขืนบนขบวนรถไฟตู้นอนเที่ยว 174 สุราษฎร์ธานี-กรุงเทพฯ ถูกเผยแพร่อออกไป ก็มีสุภาพสตรีรายหนึ่งส่งจดหมายเปิดผนึกจากกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ผ่านสื่อมวลชนไปยังหัวหน้า คสช.และการรถไฟฯ เพื่อบอกว่า เธอคือเหยื่อที่ถูกพนักงานการรถไฟฯ ข่มขืนบนตู้นอนรถไฟสายใต้ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 เวลาผ่านไป 13 ปี การรถไฟฯ ปฏิเสธความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนเธอต้องฟ้องศาล แต่การรถไฟฯ ต่อสู้จนถึงศาลฎีกาในขณะนี้

และจากปากคำของ นายวันชัย แสงขาว พนักงานการรถไฟฯ ผู้ก่อเหตุ สารภาพว่า เคยข่มขืนพนักงานที่ทำงานบนขบวนรถไฟมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ผู้เสียหายอับอาย ไม่กล้าแจ้งความเอาเรื่อง

ยังมีเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายอีกกี่รายที่ถูกข่มขืน หรือทำอนาจารขณะใช้บริการของการรถไฟฯ แต่ไม่ปรากฏเป็นข่าว?

เหตุการณ์ฆ่า ข่มขืน ผู้โดยสารบนขบวนรถไฟ แน่นอนละว่าเป็นเพราะพฤติกรรมและจิตใจอำมหิตของฆาตกรเอง แต่การรถไฟฯ ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เพราะเหตุเกิดบนรถไฟด้วยน้ำมือของพนักงานการรถไฟฯ ซึ่งผ่านการคัดเลือกให้บรรจุเป็นพนักงาน ทั้งๆ ที่เคยมีประวัติต้องโทษคดียาเสพติดมาก่อน

เหตุการณ์พนักงานรถไฟฆ่า ข่มขืน ผู้โดยสารบนขบวนรถไฟ ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่ไม่คาดคิด แต่เป็นเรื่องที่สะท้อนถึงมาตรฐานการบริหาร การปฏิบัติงานที่เหลวแหลก เละเทะ มาเป็นเวลานานจนยากที่จะแก้ไขได้ ยกเว้นแต่การเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน

เหตุการณ์แบบนี้ ก็เหมือนกับกรณีรถไฟตกราง รถไฟชนกัน รถไฟชนรถยนต์ที่จุดรางรถไฟตัดกับถนน ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำ เมื่อเกิดแล้วผู้บริหารก็มักจะอ้างว่าไม่มีงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์และว่าจ้างบุคลากร เช่นเดียวกับกรณีรถไฟเสีย ล่าช้า ไม่ตรงต่อเวลา ที่เกิดขึ้นซ้ำซากจนเป็นเรื่องปกติที่ผู้โดยสารต้องทำใจว่าเป็นความเสี่ยงที่ต้องยอมรับ เพราะการรถไฟฯ ขาดทุน การรถไฟฯ ไม่มีงบประมาณ ไม่มีบุคลากร

การรถไฟฯ ซึ่งมีอายุได้ 117 ปีแล้ว ในปัจจุบันก็ไม่ต่างจากรัฐวิสาหกิจอีกหลายๆ แห่งที่มีบทบาทในการเป็นแหล่งหาผลประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้างของนักการเมืองและผู้บริหารทุกระดับโดยไม่สนใจว่าจะจัดการบริหารอย่างไรให้ประชาชนได้รับการบริการที่ดีมีประสิทธิภาพ ช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับระบบเศรษฐกิจ

ตัวอย่างเช่น โครงการแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งเกิดขึ้นมาเพื่อให้ผู้รับเหมาได้งานโดยไม่มีแผนบริหารจัดการในระยะยาว ใช้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันต่อวัน หรือโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ–ตลิ่งชัน ซึ่งสร้างเสร็จแล้วแต่ยังใช้ไม่ได้ เพราะไม่มีรถ ไม่มีระบบอาณัติสัญญาณ เนื่องจากเอาไปไว้ในโครงการช่วงบางซื่อ–รังสิต แต่ผู้รับเหมางานโยธาฟันค่าก่อสร้างไปแล้วหมื่นกว่าล้านบาท

ความพยายามในการที่จะปฏิรูปปรับโครงสร้างการรถไฟฯ มีมาต้องแต่ปี 2542 โดยมีแนวทางหลักๆ คือ การจัดองค์กรใหม่ แยกออกเป็นองค์กรการรถไฟ ที่เป็นเจ้าของทรัพยสินทั้งหมด องค์กรหรือบริษัทที่เดินรถ ซึ่งอาจมีมากกว่า 1 ราย เพื่อให้เกิดการแข่งขันกัน และองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สิน ที่เป็นที่ดิน เพื่อแสวงหากำไร เพื่อนำเงินไปพัฒนาระบบราง และการบริหารให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการปฏิรูป หรือแปรรูปกิจการรถไฟญี่ปุ่น เมื่อปี 1987

อย่างไรก็ตาม แนวทางแปรรูปหรือปฏิรูปการรถไฟไทยนี้ ไม่เป็นจริง เพราะนักการเมืองต้องการแต่ประโยชน์เฉพาะหน้าจากการซื้อหัวรถจักร ตู้โบกี้มือสอง เอาที่ดินรอบๆ ย่านพหลฯ ริมถนนรัชดาภิเษกให้เอกชนเช่าในราคาถูก และถูกต่อต้านจากสหภาพแรงงานที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง

ความพยายามในการแปรรูปครั้งล่าสุดตามแนวทางที่ว่านี้ ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2552 ถูกต่อต้านอย่างหนักจาสหภาพแรงงานที่ใช้วิธีหยุดงาน งดเดินรถไฟสายใต้จนรัฐบาลต้องยอมแพ้

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า เป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ที่ใครๆ เกรงกลัว สามารถจัดระเบียบคิวรถมอเตอร์ไซค์ วินรถตู้ ได้เรียบร้อยภายในเวลาไมกี่วัน เพราะผู้มีอิทธิพลที่คุมวินยอมสยบต่ออำนาจ คสช. แต่เมื่อทหารกลับกรมกอง มีแนวโน้มสูงว่า สภาพการณ์แบบเดิมๆ จะกลับมาอีก

แต่สำหรับการรถไฟแห่งประเทศไทย คสช. สามารถที่จะปฏิรูป สร้างองค์กรใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ ในการพัฒนาระบบรางให้มีประสิทธิภาพ แนวคิดวิธีการนั้น มีการศึกษามานานแล้ว และกรรมการในซุปเปอร์บอร์ดหลายคนก็น่าจะมีความเห็นที่สอดคล้องด้วย ด้วยอำนาจในมือ น่าจะถือโอกาสนี้ปฏิรูปการรถไฟไทยในเชิงโครงสร้างองค์กรเสียใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ เป็นความสุขที่แท้จริงและยั่งยืน ของประชาชนมากกว่าการจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์ รถตู้ และการทบทวน ระงับการจัดซื้อหัวรถจักร ตู้รถไฟ

อย่าเพียงแต่เอ่ยคำว่ารู้สึกเสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนรถไฟขบวน 174 แต่จงใช้ความสูญเสียที่เกิดขึ้นบนรถไฟขบวนนั้นเปลี่ยนแปลงการรถไฟแห่งประเทศไทยให้สำเร็จด้วยอำนาจในมือที่มีอยู่อย่างล้นเหลือ



กำลังโหลดความคิดเห็น