xs
xsm
sm
md
lg

“สมศักดิ์ เจียม” แสบตัวพ่อด่าสถาบัน ผุดทายาทรุ่นใหม่-ทหารจี้ “ปู” จัดการ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทัพเอาจริง บีบรัฐบาลเร่งจัดการพวกหมิ่นสถาบัน ชี้ “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” ตัวการใหญ่ปลุกกระแสต้านสถาบัน ขณะที่คนเดือนตุลาฯ ตีแผ่พฤติกรรมสมศักดิ์ หวั่นกลุ่มอื่นฉวยโอกาสนำไปขยายผล ส่วนสาวกรุ่นใหม่อย่าง “อั้ม เนโกะ” เด็ก มธ.แสบสุดๆ ด้านกลุ่ม 21 ราชนิกุลลั่นต้องสกัดพวกนักการเมืองแอนตี้สถาบันดำรงตำแหน่ง พร้อมเกาะติด “องค์กรตำรวจ” ปราบพวกหมิ่นจริงหรือไม่!

เพียงแค่เดือนที่ 2 ของปี 2557 ขบวนการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ได้ออกมาปลุกกระแสหมิ่นสถาบันกันอีกครั้ง โดยหัวหอกครั้งนี้เป็นการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กของรองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีปฏิกิริยาของกองทัพบกต่อเรื่องดังกล่าวทันที

พันเอกวินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมานายสมศักดิ์มีการโพสต์บางข้อความที่อาจมีเนื้อหาไม่ค่อยเหมาะสมต่อสังคมไทย โดยเฉพาะบางข้อความอาจมีโอกาสเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งทางกองทัพบกจะให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาว่าข้อความใดเข้าข่ายเป็นการหมิ่นสถาบัน หรือจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันบ้าง เนื่องจากกองทัพบกเป็นส่วนราชการที่มีหน้าที่ในการปกป้องสถาบัน และดำรงพระเกียรติยศ

ก่อนหน้านี้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รายนี้ ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาแล้วเมื่อ 11 พฤษภาคม 2554 โดยถูกเชิญให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจนางเลิ้ง และพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องคดีในข้อหากระทำผิดตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 จากนั้นคดีนี้ยืดเยื้อมาตลอดกระทั่งถึงวันนี้

หากย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายปี 2556 ที่เวทีปราศรัยของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2556 นายเอกภพ เหลือรา หรือ ตั้ง อาชีวะ อายุ 22 ปี ขึ้นปราศรัยมีลักษณะหมิ่นเหม่จาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง ศาลอาญารัชดาภิเษก ออกหมายจับเลขที่ 2429/2556 เมื่อ 13 ธันวาคม 2556 ตามคำร้องของ พ.ต.ท.โกเมน สุภาพ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก และยังไม่สามารถจับตัวมาดำเนินคดีได้ ท่ามกลางกระแสข่าวว่าผู้ต้องหาไปหลบซ่อนในพื้นที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทยรายหนึ่ง

คดีในลักษณะดังกล่าว หลายคดีที่หลุดในชั้นอัยการ ประกอบด้วย พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร และนายจักรภพ เพ็ญแข ส่วนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษสั่งไม่ฟ้องอีกรายคือนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส่วนที่ถูกดำเนินคดีและถูกคุมขังอยู่คือ นางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข

ขณะที่รายอื่นที่ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับคนเสื้อแดงและทำงานทางการเมืองให้กับพรรคเพื่อไทย ต่างได้รับการประกันตัว และบางรายได้รับการพระราชทานอภัยโทษออกมาอย่างนายสุรชัย แซ่ด่าน (ด่านวัฒนานุสรณ์)

หัวหอกแพร่เชื้อคนรุ่นใหม่

สำหรับ ผศ.ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล รายนี้นับว่าเป็นนักวิชาการขาประจำที่มักจะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันเบื้องสูงมาโดยตลอด ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีคณาจารย์ที่มีแนวคิดในลักษณะเดียวกันอย่างกลุ่มนิติราษฎร์จากคณะนิติศาสตร์ที่นำโดย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และยังมี ดร.เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์อีกราย
รศ.ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล(ขวา)กับนายสมบัติ บุญงามอนงค์(บก.ลายจุด) ภาพจาก Facebook
ดร.สมศักดิ์ นับเป็นนักวิชาการสายที่ถูกจับตามองว่าไม่เอาสถาบัน แต่เขาปฏิเสธว่า “ตลอดระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมาผมได้เขียนบทความทางวิชาการและข้อเขียนอื่นๆ และพูดอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยไม่เคยเสนอให้ล้มเจ้าหรือล้มเลิกสถาบันกษัตริย์ สิ่งที่ผมพูดอยู่ในกรอบของการมีสถาบันกษัตริย์ทั้งสิ้น ขณะเดียวกันผมก็ไม่ปิดบังความคิดที่ว่า สถาบันฯ ต้องปรับปรุง ซึ่งไม่ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และอาญา”

วิธีการที่ ดร.สมศักดิ์เลือกใช้เผยแพร่แนวความคิด จากเดิมที่เคยเขียนผ่านสื่อสิ่งพิมพ์หรือตามเว็บไซต์ต่างๆ ภายหลังได้เลือกใช้เฟซบุ๊กเพื่อถ่ายทอดความคิดของตนเอง ด้วยสถานะความเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ความคิดเห็นต่างๆ ในนามของนักวิชาการกลายเป็นเกราะกำบังให้เขานำเสนอความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันได้อย่างต่อเนื่อง

การเลือกใช้สื่อสมัยใหม่ ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น การโพสต์ข้อความของดร.สมศักดิ์แต่ละครั้งจะมีพลังมากกว่านักวิชาการที่มีแนวคิดที่คล้ายกันรายอื่น ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการที่มียอดคนเพื่อนเต็มจำนวน 5,000 คน และมีผู้ติดตามกว่า 7.8 หมื่นคน ขณะที่เฟซบุ๊กของ ดร.เกษียร เตชะพีระ มีเพื่อน 187 คน มีผู้ติดตามราว 3.2 หมื่นคน และเฟซบุ๊กของสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย หรือกลุ่มนิติราษฎร์เดิม แม้จะมียอดที่เข้ามากดถูกใจในเพจนี้ 8.5 แสนราย แต่ยังไม่ทรงพลังเท่ากับเพจของอาจารย์สมศักดิ์

การโพสต์ของอาจารย์สมศักดิ์นับเป็นการโพสต์ในเชิงรุก กล้าที่จะโต้แย้งต่อสถาบันแม้จะไม่ใช่คู่กรณีโดยตรง ประกอบกับยังไม่มีหน่วยงานของรัฐบาลดำเนินการทางกฎหมายอย่างจริงจัง ข้อเขียนของ ดร.สมศักดิ์จึงดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง แม้ครั้งหนึ่งเพจของเขาจะถูกแบน 30 วัน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 หลังจากโพสต์รูปตัดต่อที่ไม่เหมาะสม จากนั้นอาจารย์สมศักดิ์ก็กลับมาโพสต์ได้อีก

พลังของโลกโซเชียลมีเดีย ทำให้ข้อเขียนของ ดร.สมศักดิ์ดึงเอาคนรุ่นใหม่มาเป็นสาวกและคอยติดตามข้อเขียนของเขาตลอดเวลา ปรากฏการณ์ที่เด็กรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดต่อต้านสถาบันก็มีให้เห็นทั้งที่เปิดเผยตัวและไม่เปิดเผย หลายคนเคยได้ยินชื่อ ก้านธูป เด็กสาวอายุ 17 ปีที่โพสต์ข้อความไม่เหมาะสมต่อสถาบัน อั้ม เนโกะ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือเนติวิทย์ นักเรียนมัธยมปลายแห่งหนึ่ง ล่าสุดคือ ตั้ง อาชีวะ และยังครอบคลุมไปถึงผู้ใหญ่ทั้งนายโชติศักดิ์ รวมถึงอากง

นี่จึงกลายเป็นปัญหาของบ้านเมือง หากยังปล่อยให้กลุ่มคนที่มีแนวคิดต่อสถาบันฯ ในด้านลบ สามารถเผยแพร่แนวคิดเหล่านี้ได้อย่างเสรี

อย่างกรณีของนายศรัณย์ ฉุยฉาย หรืออั้ม เนโกะ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของเด็กรุ่นใหม่ที่มีพฤติกรรมแตกต่างไปจากนักศึกษาทั่วไป ที่นอกเหนือจากการไปนั่งโพสท่าถ่ายรูปหน้ารูปท่านปรีดี พนมยงค์ และมักจะมีกิจกรรมที่ออกมาในรูปต่อต้านกฎเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย และยังเป็นอีกหนึ่งแรงที่หนุนให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ที่ผ่านมากิจกรรมของอั้มมักจะโน้มเอียงไปในแนวทางของอาจารย์ในกลุ่มนิติราษฎร์

แต่อั้มกับอาจารย์สมศักดิ์ก็ดูชื่นชมกันดี เห็นได้จากการเข้ามาแสดงความคิดเห็นรูปของอั้มที่โพสท่าถ่ายรูปกับรูปปั้นของท่านปรีดี จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม แต่อาจารย์สมศักดิ์ก็โพสต์ในลักษณะชื่นชม ไม่ได้มีการตำหนิแต่อย่างใด โดยที่เครือข่ายแนวคิดเดียวกันนี้ต่างยังให้กำลังใจกันเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งถูกมรสุมทางสังคม เช่น เนติวิทย์โพสต์ให้กำลังใจอั้ม หรือเนติวิทย์วิพากษ์วิจารณ์บทบาทของทหารที่มีต่ออาจารย์สมศักดิ์

การแสดงออกของอั้มทำให้เขาถูกแจ้งความในข้อหาจงใจกระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย ทางคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต เมื่อ 16 กันยายน 2556
อั้ม เนโกะ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาพจาก Internet
คนรุ่นใหม่อีกจำนวนไม่น้อยที่มีแนวคิดในทิศทางเดียวกันกับเจ้าสำนักอย่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ทั้งที่แสดงตัวอย่างเปิดเผยและพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันเป็นกลุ่มเฉพาะ นับเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทยที่คนรุ่นใหม่มีลักษณะความคิดแบบนี้

“สมศักดิ์” โชว์เดี่ยว

หากมองถึงตัวตนของ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ออกมาแสดงความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์สถาบันเบื้องสูงเสมอนั้น หลายคนมองว่าเขาน่าจะมีปมอะไรในใจมาตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อทีม Special scoop ได้พูดคุยกับคนที่รู้จักกับสมศักดิ์เป็นอย่างดีได้รับคำตอบว่า

“อาจารย์สมศักดิ์เป็นอย่างนี้มาตลอด ไม่มีคน ไม่เชื่อมกับใคร และไม่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองพ่วงเข้ามา คิดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ไม่เข้าร่วมกับกลุ่มนิติราษฎร์ ไม่ร่วมกับเกษียร เตชะพีระ เป็นคนที่มีตัวตนสูง”

อีกทั้งแนวทางของ ดร.สมศักดิ์ไม่เหมือนกับของนิติราษฎร์และ ดร.เกษียร แม้จะมองเรื่องของการแก้ไขมาตรา 112 เหมือนกันแต่เป็นเพียงแค่คล้ายเท่านั้น ขณะที่แนวทางของนิติราษฎร์และ ดร.เกษียรเป็นการเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มและจับมือกันในนามสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย

หลายคนอาจมองว่าทำไม ดร.สมศักดิ์จึงกล้าที่จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน มองว่าเขามีคนที่ให้การสนับสนุนที่ดี เท่าที่ทราบนั้นเขาไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง ข้อเขียนของเขาตรงไปตรงมา ไม่หยาบ ไม่เหมือนกับรายอื่นอย่าง ดา ตอร์ปิโด ที่หยาบคายจนถูกดำเนินคดี

นักวิชาการที่มีแนวคิดในลักษณะนี้ยังมีท่านอื่นๆ อีก แต่อาจจะไม่โจ่งแจ้งมากนัก หรือบางรายก็ลดบทบาทของตัวเองลงไป

คนเดือนตุลาฯ รายนี้ประเมินว่า พวกที่อยู่บนดินคงไม่ค่อยเท่าไหร่ ห่วงก็แต่พวกที่อยู่ใต้ดินมากกว่า โดยเฉพาะบรรดาสาวกของนายชูพงษ์ ถี่ถ้วน และอาคา ซิดนีย์ ที่หนีคดีไปต่างประเทศ พวกนี้จะใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทางในการเผยแพร่แนวคิด เพื่อหวังจับคนรุ่นใหม่ ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงและหยาบคาย

เรื่องเหล่านี้มีมานานแล้วเพียงแต่มาเบ่งบานในยุคหลังเหตุการณ์ยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 กลุ่มเหล่านี้ก็แอบอิงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คนเดือนตุลาฯ หลายคนก็ไปเป็นที่ปรึกษาให้กับทักษิณและทำงานให้กับพรรคเพื่อไทย อีกทั้งแนวทางของแต่ละคนก็กระจัดกระจายกันไป อย่างอาจารย์สมศักดิ์ก็ไม่ถูกกับอาจารย์เกษียร ทะเลาะกัน ต่างคนต่างใหญ่ไม่ยอมให้ใครมาเหนือกว่า

ดังนั้น แนวคิดอย่างนี้จึงมีข้อจำกัดอยู่ ส่วนการขยายพื้นที่หรือแนวคิดออกไปสู่คนรุ่นใหม่ก็อาจทำได้จำกัด อาจมีบ้างอย่างที่เราเห็นอย่างเช่น อั้ม เนโกะ หรือเนติวิทย์บ้าง แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อย อีกทั้งสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานี้ การออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ก็เป็นตัวปลุกกระแสให้คนรุ่นใหม่รักสถาบันมากขึ้น

อย่าเพิ่งท้อ

ขณะเดียวกันทางกลุ่มราชนิกุลได้ออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้งเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2557 โดยเดินทางไปยังกองปราบปราม เพื่อร้องทุกข์ขอให้มีการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง และติดตามบุคคลที่เข้าข่ายกระทำความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

หม่อมหลวงธรรมธนวัทธ สวัสดิวัตน์ แปลกใจว่าทำไมที่ผ่านมากลับไม่มีการจัดการกับการกระทำลักษณะนี้เลย แต่จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ จากนี้ทาง 21 ราชนิกุลคงจะต้องเดินหน้าจัดการกับกรณีที่เกิดขึ้นให้ได้ แม้ว่าจะเคยเข้าร้องเรียนหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาล แต่กลับไม่ได้รับการใส่ใจโดยเฉพาะรัฐบาลนี้ที่ไม่เคยนำเข้าสู่วาระการดำเนินการทางกฎหมายอย่างจริงจัง เราเคยยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีแล้วก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากนี้คงจะขอติดตามการทำงานของตำรวจต่อไปว่าจะดำเนินการหรือไม่อย่างไร

หม่อมหลวงสุทธิฉันท์ วรวุฒิ 1 ในผู้แทน 21 ราชตระกูลและราชนิกุล กล่าวว่า เราได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมด และมีการตรวจสอบก่อนทั้งกรณีของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เมื่อก่อนก็โพสต์มาตลอด แต่ทำแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็เลยเปิดเผยมากขึ้นและโพสต์ถี่ขึ้น เพื่อให้คนอื่นเข้ามาร่วม

ข้อเรียกร้องเดิม 2 ข้อ ที่เราเคยเรียกร้องให้รัฐบาลอย่าแต่งตั้งบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง และเป็นอันตรายต่อสถาบันดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขณะเดียวกันขอให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พิจารณาดำเนินการตรวจสอบและปิดสื่อ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุชุมชน วิทยุโทรทัศน์ดาวเทียมให้เด็ดขาดกรณีที่เป็นอันตรายต่อสถาบันก็ไม่มีความคืบหน้า

สำหรับคนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้อย่าเพิ่งท้อแท้ อย่างเหตุการณ์เสียกรุงครั้งที่สอง ที่พระเจ้าตากนำทหารราว 500 นาย ตีวงล้อมพม่าออกไป ยอมเสี่ยงโทษอาญา ต้องทิ้งครอบครัวไว้ จากนั้นเมื่อรวบรวมไพร่พลได้ ก็กลับเข้ามาตีเมืองคืน คนรุ่นก่อนท่านเสียสละมากกว่าเรา

“ดังนั้นอย่ายอมแพ้กับความเลวร้าย นักการเมืองคนไหนก็ไม่มีสิทธิโกงบ้านเมืองอีกต่อไป”

ท้าชนสมศักดิ์ เจียม

นายบวร ยสินทร แกนนำกลุ่มราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน กล่าวว่า ช่วงนี้อาจารย์สมศักดิ์โพสต์หนักไปหน่อย ซึ่งจะเป็นการเพาะเชื้อและปลูกฝังความคิดต่างๆ ให้กับคนรุ่นใหม่ที่ติดตามเขาอยู่ นักวิชาการที่แสดงความคิดเห็นก็รู้ดีว่าเมื่อถูกดำเนินคดีแล้วก็ขอพระราชทานอภัยโทษ พวกนี้รู้ดีว่าในหลวงทรงเมตตา

รัฐบาลรู้เห็นเป็นใจ ปล่อยพวกนี้ไว้เพื่อดึงความสนใจ หากทหารจะเอาจริงก็ทำได้แต่จะเอาจริงหรือไม่ พวกนี้ถ้าเปลี่ยนรัฐบาลได้ก็จบ

หลังจากนั้นแกนนำกลุ่มราษฎรอาสาฯ ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2557 ถึงนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญมาร่วมดีเบตกัน หลังจากก่อนหน้านี้ นายสมศักดิ์ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในเชิงหมิ่นต่อสถาบัน
ตัวอย่างผู้ถูกดำเนินคดีหมิ่นสถาบันฯ
สกัดก่อนแพร่เชื้อ

แหล่งข่าวจากคนเดือนตุลาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมองเฉพาะกรณีของ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ส่วนใหญ่จะไม่มีใครกล้าฟ้องร้องดำเนินคดี อย่างคดีเมื่อปี 2554 คนที่ฟ้องดำเนินคดีกับอาจารย์สมศักดิ์ก็เป็นทีมกฎหมายจากกองทัพ

ส่วนในครั้งนี้ที่กองทัพบกออกมาเอาจริงเอาจังกับการโพสต์ของ ดร.สมศักดิ์ ในขณะนี้ เชื่อว่าเป็นเรื่องทางการเมือง ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ฝ่ายกองทัพต้องการบีบรัฐบาล เนื่องจากที่ผ่านมาคดีในลักษณะนี้มักถูกดองเอาไว้ หรือหลุดในชั้นอัยการ ที่คนทั่วไปก็ทราบดีว่ากระบวนการในชั้นนี้แอบอิงกับระบอบทักษิณมาโดยตลอด เห็นได้จากคนที่เป็นแกนนำต่างๆ มักถูกยกฟ้อง หรือทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษในเวลาต่อมา

ดังนั้น การหาทางหยุดการเผยแพร่แนวความคิดเหล่านี้ ก่อนที่จะขยายวงไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เชื่อว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ซึมซับแนวคิดดังกล่าวไป แต่ยังไม่แสดงตัว การจำกัดพื้นที่หรือการหยุดยั้งแนวความคิดเหล่านี้ จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ฝ่ายกองทัพเลือกใช้และยังใช้กดดันรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปในตัว หลังจากที่อยู่ในสถานะของรัฐบาลรักษาการและมีหลายแนวทางที่ดำเนินการไปโดยฝ่ายทหารไม่เห็นชอบ

กำลังโหลดความคิดเห็น