xs
xsm
sm
md
lg

“4 ตำรวจ” ชั่วร้ายในสายตาม็อบ ขี้ข้า-โหดเหี้ยม-ปลุกรัฐ “ตำรวจซ้อนตำรวจ”

เผยแพร่:

4 นายตำรวจจอมแสบ ในสายตามวลมหาประชาชน เอี่ยวความรุนแรง เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายของระบอบทักษิณ แถมบางคนยังเล่นบทแทงข้างหลังหวังเอาใจ “นายใหญ่” คนวงในชี้ตอนนี้เกิดรัฐ “ตำรวจซ้อนตำรวจ” หาโอกาสเหมาะสร้างเหตุให้ตำรวจ-ประชาชนปะทะกัน ล่อทหารเข้ามายุติปัญหา เข้าทางนายใหญ่ดูไบอ้างได้ “ทหารปฏิวัติ”

ในการชุมนุมทางการเมืองทุกครั้ง คู่กรณีของผู้ชุมนุมด่านแรก ย่อมหนีไม่พ้นการเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายของผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตำรวจจะทำหน้าที่หลักในการดูแล และสามารถขอกำลังเสริมจากทหารเข้ามาช่วยหากเห็นว่ากำลังตำรวจไม่เพียงพอ

ที่สำคัญหากตำรวจกระทำการรุนแรงกับผู้ชุมนุมหรือทำตัวเป็นองครักษ์พิทักษ์ “นาย” หรือกลายเป็นสัญลักษณ์ของระบอบชั่วร้ายก็จะกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากับผู้ชุมนุมในทันทีเช่นกัน

ดังนั้นผู้ชุมนุมก็จะต้องหาทุกวิธีที่จะจัดการกับคนเหล่านี้ เฉกเช่นเดียวกันกับการชุมนุมโค่นระบอบทักษิณที่เกิดขึ้นในเวลานี้ภายใต้การนำของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำในฐานะเลขาธิการ กปปส.

สำหรับตำรวจที่ “แกนนำ-มวลมหาประชาชน” รู้สึกเกลียดชัง และมองเป็นศัตรูตัวร้ายที่ถูกหมายหัวไว้จึงหนีไม่พ้น 4 ตำรวจคนดังที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ขี้ข้า” ระบอบทักษิณนั่นเอง

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เจ้าของฉายา “มีวันนี้เพราะพี่ให้”

พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ปล่อยให้ชายชุดดำกระทำต่อมวลชนได้อย่างไร

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นนายตำรวจคนเดียวที่มวลชนผิดหวังว่า วันนี้เขาเปลี๊ยนไป๋

คนสุดท้ายที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าแสบที่สุด ต้องยกให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผู้ที่สนองนายได้ทุกอย่าง แถมบอกอย่างไม่สะทกสะท้านให้มวลชนได้ตื่นรู้ว่า “เขาเป็นขี้ข้าทักษิณมานานแล้ว”

“คำรณวิทย์” เบอร์หนึ่ง

จากวาทะ “มีวันนี้เพราะพี่ให้” อันลือลั่น ชื่อของคำรณวิทย์ กลายเป็นตำรวจที่ถูกจับตาจากฝ่ายผู้ชุมนุมเป็นพิเศษ ด้วยพฤติกรรมที่ผ่านมาบ่งบอกถึงการเลือกที่จะยืนข้างพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด รวมไปถึงปฏิบัติการที่มีต่อผู้ชุมนุมที่ระดมยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางออกมาใส่ผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่ต้องรักษาพื้นที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของรัฐบาลอย่างทำเนียบรัฐบาลและกองบัญชาการตำรวจนครบาล

พลตำรวจโทคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการสกัดกั้นการเคลื่อนไหวของฝ่ายผู้ชุมนุม และเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในช่วงที่มีการเคลื่อนผู้ชุมนุมเพื่อยึดพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลและที่ทำการของตำรวจนครบาล ดังนั้นในช่วงวันที่ 1-2 ธันวาคม 2556 การสกัดกั้นจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งการฉีดน้ำที่ผสมสารเคมี(สีม่วง) และแก๊สน้ำตาถูกยิงออกมาอย่างต่อเนื่อง และเลิกรากันเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม โดยที่ฝ่ายตำรวจยอมให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่ทั้ง 2 ได้

คำรณวิทย์นับเป็นตำรวจระดับนายพลที่คุมกำลังตำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่กล้านำกำลังพลเจ้าหน้าที่ตำรวจไปยังหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ 18 กันยายน 2555 เพื่อจะยื่นหนังสือชี้แจงต่อพรรคประชาธิปัตย์ แต่สุดท้ายพลตำรวจโทคำรณวิทย์ได้ให้ตัวแทนเป็นผู้ยื่นหนังสือ ภาพที่ออกมาจึงไม่แตกต่างกับการนำกำลังตำรวจไปคุกคามพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

ทั้งเป็นผลมาจากมีการเผยแพร่ภาพที่ห้องทำงานของผู้บัญชาการตำรวจนครบาล มีรูปการประดับยศพลตำรวจโทให้โดยบุคคลในภาพเป็นคำรณวิทย์และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งในรูประบุวันที่ถ่ายคือ 29/6/2012 โดยมีลายมือ พ.ต.ท.ทักษิณเขียนบนรูปว่า “ขอแสดงความยินดีกับแจ๊สน้องรัก ขอให้มีความสำเร็จในหน้าที่การงาน เป็นที่รักของประชาชนและเพื่อนตำรวจ รัก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (29 มิ.ย.55)”

นอกจากนี้ยังมีป้ายที่มีข้อความว่า “มีวันนี้เพราะพี่ให้” กลายเป็นชนวนสำคัญที่มีการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบในเรื่องจริยธรรมของตำรวจนายนี้

ตามมาด้วยในงานเลี้ยงของคนเสื้อแดงที่ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกล่าวในงานว่า “วันใดที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ตนก็จะลาออกจากชีวิตราชการตำรวจทันที”

แถมด้วยถ้อยคำที่ออกมาตอบโต้เมื่อถูกโจมตีหลังจากที่ภาพประดับยศกลายเป็นเรื่องที่ผู้คนในสังคมพูดกันอย่างกว้างขวางว่า การที่ให้พันตำรวจโททักษิณติดยศให้ เพราะมีความเคารพ และถือเป็นประเพณีอยู่แล้ว อย่างกรณีนายตำรวจจบมาใหม่ติดยศ ร้อยตำรวจตรี ก็ให้คนที่เคารพประดับยศให้ทั้งนั้น เพราะถือเป็นการให้เกียรติ และมองว่าไม่ได้ผิดจริยธรรมแต่อย่างใด

“ผมคุยกับแม่ผม และแม่ผมสอนเสมอเกี่ยวกับจริยธรรม ดังนั้นการให้ พ.ต.ท.ทักษิณติดยศให้ก็ไม่ได้ผิดอะไร และผมก็ถามแม่ผม ไม่ได้ไปถามแม่ใคร”

นี่จึงกลายเป็นการประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า พล.ต.ท.คำรณวิทย์ เลือกที่จะยืนฝ่ายใด ทั้งๆ ที่ในฐานะของการเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นต้องปฏิบัติงานเพื่อประชาชนทุกฝ่าย ดังนั้นในการชุมนุมของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลจึงจับตาการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บัญชาการตำรวจนครบาลรายนี้เป็นพิเศษ

โดยการปะทะกันระหว่างฝ่ายผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในช่วงต้นเดือนธันวาคมนั้น เป้าหมายหลักคือการยึดพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลที่เป็นสัญลักษณ์ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ และที่ทำการของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของทั้งคำรณวิทย์และทักษิณ ชินวัตร ดังนั้นจึงต้องสกัดกั้นทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้สัญลักษณ์เหล่านี้ถูกทำลาย

พร้อมด้วยถ้อยคำที่ออกไปในเชิงเหน็บแนมว่า หากจะเข้ามาก็ต้องยันเอาไว้ แต่ยืนยันว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงกับมวลชนแน่นอน แต่หากยื้อไม่หยุดแล้วมวลชนจะเข้ามาก็ต้องปล่อยให้เข้า ถ้าเขาอยากเข้ามาก็ต้องปล่อยให้เข้า อยากจะทำอะไรก็ทำได้เลย จะเผา บช.น.ก็ได้ หากคิดว่าไม่เสียดายทรัพย์สินของประชาชนของประเทศชาติ แต่จะไม่ยอมให้บุกยึดทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภาอย่างเด็ดขาด เพราะถือเป็นสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของรัฐบาล ซึ่งยอมไม่ได้

การปะทะกันเมื่อวันที่ 1 และ 2 ธันวาคม 2556 ที่อาวุธหลักของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นแก๊สน้ำตาที่ระดมยิงออกมาอย่างต่อเนื่อง นับว่าได้ผล ฝ่ายผู้ชุมนุมไม่สามารถเข้าไปยังพื้นที่เป้าหมายได้ แต่ในวันที่ 3 ธันวาคม ทุกอย่างกลับเปลี่ยนไปแบบหน้ามือหลังมือ เมื่อผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเปิดทางให้ผู้ชุมนุมผ่านเข้าไปในพื้นที่ทั้ง 2 ได้อย่างสะดวก พร้อมด้วยภาพของการจับไม้จับมือระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ มอบดอกไม้และนกหวีดให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ในวันเดียวกันฝ่ายรัฐบาลได้มีคำสั่งเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการเหตุการณ์จากพลตำรวจโทคำรณวิทย์ มาเป็นพลตำรวจเอกวรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และได้เปลี่ยนตัวผู้ที่ดูแลศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) จากพลตำรวจเอกประชา พรหมนอก มาเป็นนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ที่ถือเป็นสายตรงของทักษิณที่พร้อมทุ่มเทการทำงานให้เกินร้อย

จากนั้นบทบาทของพลตำรวจโทคำรณวิทย์ ก็เงียบหายไป ภารกิจในการดูแลการชุมนุมกลายเป็นหน้าที่ของพลตำรวจเอกวรพงษ์ ชิวปรีชา แทน

อย่างไรก็ตามเมื่อคืนวันที่ 15 มกราคม 2557 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ได้ออกมากล่าวถึงพลตำรวจโทคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อีกครั้ง โดยระบุว่า มีตำรวจระดับนายพลเขียนจดหมายมาถึง บอกว่า ไอ้แจ๊ด ให้นายทุนที่ทำตู้ม้าภาค 1 และภาค 7 มาทำตู้มาในกรุงเทพฯ โดยเอาเงินมา 50 ล้านแล้ว และจะเอาอีก 100 ล้าน เพื่อเอามาใช้ก่อกวนเวทีของมวลมหาประชาชน

“ที่ผ่านมาพฤติกรรมของพลตำรวจโทคำรณวิทย์ ชัดเจนว่าเป็นคนของทักษิณ มีการจัดการกับผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง ชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน ใช้ทั้งแก๊สน้ำตา กระสุนยาง กระสุนจริง รวมถึงอาจมีการจ้างให้คนอื่นทำงานใต้ดิน นี่จึงเป็นสาเหตุที่มีการกล่าวถึงชื่อของตำรวจนายนี้บนเวทีชุมนุมมากเป็นพิเศษ” หนึ่งในแกนนำ กปปส.ให้เหตุผล

“วรพงษ์” เบอร์ 2

เรื่องของชายชุดดำบนอาคารกระทรวงแรงงานที่ปฏิบัติการในช่วงที่มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดินแดง กลายเป็นปมค้างคาใจ รวมถึงอาการเถื่อนออกมาทุบรถ ทำลายทรัพย์สินของประชาชน และที่หนักสุดคือเข้ามาทุบรถยนต์ของเจ้าหน้าที่อาสาพยาบาล จนทำให้ในวันนี้ภาพลักษณ์ของตำรวจตกต่ำลงไปในทันที พลตำรวจเอกวรพงษ์ ชิวปรีชา เป็นผู้บัญชาการสถานการณ์ในขณะนั้นย่อมปฏิเสธเรื่องเหล่านี้ไม่ได้

พลตำรวจเอกวรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรองผู้อำนวยการ ศอ.รส. ถูกใช้เข้ามาดูแลการชุมนุมในช่วงที่นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงชุมนุมกันเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งในวันดังกล่าวกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้นัดชุมนุมกันที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน จนเป็นเหตุให้มีการปะทะกันของทั้ง 2 ฝ่าย และมีการยิงกันจนมีผู้เสียชีวิตทั้งฝ่ายนักศึกษาและฝ่ายคนเสื้อแดง

แต่ครั้งนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถเข้าไปแก้ไขสถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นได้ พร้อมๆ กับคำครหาว่าตำรวจไม่เข้าไปช่วยเหลือนักศึกษา โดยมีการลอบยิงนักศึกษารามคำแหงมีอยู่อย่างต่อเนื่องจากช่วงคืนวันที่ 30 พฤศจิกายนต่อเนื่องมาจนถึงช่วงเช้าวันที่ 1 ธันวาคม 2556

โดยชี้แจงว่า “เหตุที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เข้าระงับสถานการณ์ในทันทีขณะที่มีการปะทะ เนื่องจากเกรงว่า หากส่งกำลังเข้าไปในช่วงสถานการณ์กำลังชุลมุน จะยิ่งทำให้สถานการณ์บานปลาย จึงติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดและเข้าไปในตอนเช้า จนสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้”

แต่ภายใต้สถานการณ์ที่คลี่คลายลงได้นั้นมีการขอกำลังจากฝ่ายทหารที่นำโดยพันเอกทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) นำกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร 1 กองร้อย เข้ามาเคลื่อนย้ายนักศึกษารามคำแหงออกมายังที่ปลอดภัย ทุกอย่างจึงยุติลง

หลังจากที่รัฐบาลได้เปลี่ยนตัวคนดูแลสถานการณ์จากพลตำรวจโทคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง มาเป็นพลตำรวจเอกวรพงษ์เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2556 อีกบททดสอบหนึ่งของการปฏิบัติงานของรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติรายนี้คือเหตุการณ์เมื่อ 26 ธันวาคม 2556 ซึ่งเป็นวันจับสลากหมายเลขผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองต่างๆ กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ได้เดินทางไปเพื่อไม่ให้มีการจับสลากจนเกิดการปะทะกัน และมีผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ฝ่าย รวมถึงมีการจับกุมตัวผู้ชุมนุมไปจำนวนหนึ่งภายใต้หน้าตาที่ปูดบวม

จาก 26 ธันวาคม 2556 ที่สถานการณ์ทุกอย่างอึมครึมไร้การชี้แจงจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งเรื่องชายชุดดำและคนที่แต่งกายคล้ายตำรวจออกมาทำลายทรัพย์สินของประชาชน โดยที่ก่อนหน้านี้ทั้งโฆษกของ ศอ.รส. พลตำรวจตรีปิยะ อุทาโย และร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกมาปฏิเสธว่าบุคคลเหล่านั้นไม่ใช่ตำรวจ

จนถึงวันที่ 3 มกราคม 2557 พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการ ศอ.รส.ได้ออกมายอมรับว่าข้อสงสัยของผู้คนในวันนั้นทั้งชายชุดดำบนดาดฟ้ากระทรวงแรงงานและผู้แต่งกายชุดตำรวจทุบรถประชาชนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ

บทบาทของพลตำรวจเอกวรพงษ์ในการดูแลผู้ชุมนุมจึงดูไม่โดดเด่นนัก แม้จะมีความพยายามตอบโต้ข้อกล่าวหาต่างๆ แต่พบว่าการควบคุมเหตุการณ์ภายใต้การดูแลของรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติรายนี้กลับมีผู้เสียชีวิตทั้งเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง จนถึงเหตุการณ์ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง

แตกต่างจากข้อมูลของแกนนำ กปปส. ที่ระบุว่า “ท่านเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ที่ดินแดง ต้องรับผิดชอบกับการกระทำของชายชุดดำและการทำลายทรัพย์สินของประชาชนด้วย เราทราบมาว่าท่านกำลังวางแผนที่จะใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมรวมถึงกับแกนนำด้วย”

“อดุลย์” เบอร์ 3

ผลงานโบแดงทั้งการปล่อยให้มีการล้มการประชุมสุดยอดผู้นำที่พัทยาเมื่อครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล และการใช้มาตรการดำเนินการปราบปรามผู้ชุมนุมเมื่อครั้งที่องค์การพิทักษ์สยามอย่างรุนแรง ทำให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติท่านนี้ ถูกจับจ้องเป็นพิเศษ

ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของตำรวจ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าการกระทำของลูกน้องทั้งหมดตั้งแต่ระดับพลตำรวจจนถึงรองผู้บัญชาการนั้นอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

หากย้อนไปในอดีตพลตำรวจเอกอดุลย์เคยเป็นผู้ดูแลสถานการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล โดยการประชุมอาเซียนซัมมิตเมื่อปี 2552 ต้องยุติลง เมื่อนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำ นปช. นำพาคนเสื้อแดง ฝ่าแนวกั้นของตำรวจได้อย่างง่ายดายและบุกเข้าไปในโรงแรมรอยัล คลิฟบีช ที่พัทยา จังหวัดชลบุรี

อีกผลงานหนึ่งคือการหยุดยั้งผู้ชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามของกลุ่มเสธ.อ้าย พล.อ. บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2555 ที่มีการใช้แก๊สน้ำตาประเดิมการสกัดกั้นผู้ชุมนุม โดยที่ไม่มีการใช้รถฉีดน้ำหรือรถที่ส่งคลื่นความถี่ที่ต้องใช้ตามหลักสากลและมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนั้นจึงเห็นความแตกต่างของปฏิบัติการสกัดกั้นผู้ชุมนุมของทั้ง 2 ฝ่ายของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติรายนี้

นอกจากนี้ที่มาที่ไปของพลตำรวจเอกอดุลย์นับเป็นการดำรงตำแหน่งนี้ต่อจากพลตำรวจเอกเพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ชายของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยาของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555 พลตำรวจเอกอดุลย์ให้สัมภาษณ์ว่า “ตำรวจต้องเป็นมืออาชีพในการดูแลความสงบเรียบร้อยของสังคม ชุมชน เพื่อให้เป็นที่พึ่งของประชาชน ต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้วยความเป็นธรรม และเป็นเครื่องมือรัฐบาลในการแก้ปัญหาตามกฎหมาย ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องยืนให้ได้ อุดมการณ์และภารกิจที่ปฏิบัติ ต้องยึดกฎหมาย อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ”

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุว่าเหตุใดสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลอย่างแข็งขัน ทั้งตำรวจในระดับผู้บัญชาการจนถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับล่าง

“ผบ.ตร.ถือว่าเป็นเบอร์ใหญ่ที่สุดของตำรวจ เขามีลักษณะแข็งกร้าวและมีอคติกับผู้ชุมนุมมาโดยตลอด แก๊สน้ำตา กระสุนยาง กระสุนจริง งัดเอาออกมาใช้หมด และมีการจัดตั้งทีมงานเพื่อมาจับตัวกำนันสุเทพ” แกนนำ กปปส.กล่าว

บนเวทีการชุมนุมจะมีการพูดถึงชื่อของตำรวจ 3 นายนี้มาโดยตลอด เพราะมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมโดยตรง ที่พยายามใช้ความรุนแรงทั้งบนดินและใต้ดิน เราเพียงเตือนเพื่อให้ท่านทำหน้าที่ของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ไม่ใช่ใช้อำนาจของรัฐตำรวจรับใช้นักการเมือง

“เฉลิม” เบอร์ใหญ่สุด

“ไม่รู้เหรอว่าผมเป็นขี้ข้าทักษิณมานานแล้ว”คำพูดที่ยโสโอหังของร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง ที่ประกาศชัดเจนและพร้อมที่จะทำงานให้กับทักษิณอย่างเต็มที่

แม้ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง จะไม่ใช่ตำรวจประจำการ แต่ก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อการชุมนุมในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง นั่นคือร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรี ดูแลงานด้านตำรวจ เมื่อถูกลดอันดับมาเป็นแค่รัฐมนตรีแถมไม่ได้ดูแลงานตำรวจ ก็ออกอาการน้อยอกน้อยใจไม่น้อย

แต่เมื่อสถานการณ์การชุมนุมได้ยกระดับเข้มข้นขึ้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ร้อยตำรวจเอกเฉลิมเข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และบังคับการการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย โดยมารับผิดชอบเฉพาะงานด้านการชุมนุมและการติดตามจับกุมผู้กระทำความผิด นั่นเท่ากับกลับเข้ามามีบทบาทหน้าที่ในการดูแลตำรวจอีกครั้ง

เป็นตามคาด รมว.แรงงาน เมื่อท่านได้รับมอบหมายก็เปิดศึกกับคู่กรณีอย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ทันที “ที่ผมมาทำงานนี้ไม่ได้บ้าอำนาจ แต่เพราะหมั่นไส้ที่พากำนัน พาผู้ใหญ่บ้านมา แล้วไปขนคนมาจากภาคใต้มาร่วมชุมนุม”

ใครที่ติดตามข่าวสารการเมืองมาก็จะทราบดีว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถือเป็นมวยที่ถูกคู่ ทั้ง 2 มีการกล่าวพาดพิงกันมาโดยตลอด นอกจากนี้ร้อยตำรวจเอกเฉลิมยังคงมีปัญหากับสื่อมวลชนโดยเฉพาะกับผู้สื่อข่าวสายการเมืองของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ซึ่งการตอบโต้ระหว่างนางสาวสมจิตต์ นวเครือสุนทรกับร้อยตำรวจเอกเฉลิม ทำให้ผู้คนในสังคมเห็นตัวตนของร้อยตำรวจเอกเฉลิมอย่างชัดเจน

“ตอนที่คุณสมจิตต์ นวเครือสุนทร ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 มาว่าผมเป็นขี้ข้าคุณทักษิณ ผมก็บอกไปว่า เพิ่งรู้หรือ ทำไมรู้ช้า เพราะผมเป็นขี้ข้าท่านทักษิณมาตั้งนานแล้ว”

จากการรับงานอย่างเป็นทางการเมื่อ 9 มกราคมที่ผ่านมา การเข้ามาทำหน้าที่ดูแลตำรวจในการดูแลการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. อาจจะยังไม่ชัดเจนนัก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการตอบโต้กับนายสุเทพกันไปมาแต่ยังไม่สามารถดำเนินการจับกุมนายสุเทพได้ตามที่เคยพูดไว้

“เจ้าหน้าที่ตำรวจที่พบนายสุเทพจะต้องจับกุมตัวทันทีเพราะเป็นทางผู้ต้องหาตามหมายจับในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ และหากภายใน 48 ชั่วโมงยังไม่ดำเนินการจับกุมผมจะไปประท้วงกับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล”

ตำรวจซ้อนตำรวจ

การโฟกัสไปที่ตำรวจทั้ง 4 นายนี้ 3 รายแรกถือว่าเป็นผู้ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งรัฐบาล และเป็นผู้ที่มีอำนาจในการสั่งการต่อตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้ชุมนุมโดยตรง อีกทั้งภายใต้ระบอบทักษิณจะเลือกใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือหลักในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของรัฐบาล ไม่ว่าแนวทางการปฏิบัตินั้นจะไม่ถูกต้องก็ตาม จนเรียกกันว่ารัฐบาลของทั้งทักษิณและยิ่งลักษณ์เป็นรัฐตำรวจ

“สิ่งที่น่ากลัวคือขณะนี้มีรัฐตำรวจซ้อนตำรวจอีกที” ตำรวจนายหนึ่งตั้งข้อสังเกต ตำรวจที่ปฏิบัติงานตามหน้าที่ในตำแหน่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือรองผู้บัญชาการ รวมถึงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเหล่านี้ต้องเป็นไปตามกฎหมาย หากผิดพลาดหรือเกิดความรุนแรงขึ้นพวกเขาต้องรับผิดชอบ

แต่สิ่งที่ผิดปกติที่เกิดขึ้นกับการชุมนุมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2556 เหตุใดผู้บัญชาการอย่างคำรณวิทย์จึงปล่อยให้ผู้ชุมนุมเข้ามาในพื้นที่ต้องห้ามได้เหมือนไม่เคยมีการปะทะกันมาก่อน ทั้งๆ ที่ 2 วันก่อนหน้านั้นมีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างหนัก และทำให้คำรณวิทย์ต้องถูกเปลี่ยนตัวออกจากการเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์

ว่ากันว่าในวันนั้นมีการแฝงตัวของกลุ่มคนที่ไม่หวังดี เข้ามาเพื่อสร้างสถานการณ์ ต้องการทำร้ายทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อหวังให้ทั้ง 2 ฝ่ายปะทะกันอย่างรุนแรง เกิดการบาดเจ็บล้มตาย และเป็นเงื่อนไขให้ทหารเข้ามาจัดการปัญหา แต่ฝ่ายตำรวจสามารถควบคุมตัวบุคคลดังกล่าวได้ก่อน และทราบว่าเป็นคนของอดีตนายตำรวจใหญ่คนหนึ่ง

เมื่อสถานการณ์ที่บริเวณทำเนียบรัฐบาลไม่เป็นไปตามแผน เหตุการณ์จึงไปเกิดขึ้นในวันที่ 26 ธันวาคม ที่มีพลตำรวจเอกวรพงษ์ ชิวปรีชา เป็นผู้รับผิดชอบ จากการจับสลากหมายเลขพรรคการเมือง ครั้งนั้นมีการปะทะกันระหว่างฝ่ายผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ฝ่าย แต่เหตุการณ์ไม่ได้ถูกพัฒนาไปสู่ความรุนแรง

ภายใต้เหตุการณ์นี้มีบุคคลที่สวมชุดดำเข้าไปปฏิบัติการบนดาดฟ้าของอาคารกระทรวงแรงงาน ครั้งแรกไม่มีใครยอมรับว่าเป็นตำรวจ แต่สุดท้ายพลตำรวจเอกอดุลย์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกมายอมรับว่าเป็นตำรวจจริง

หลายคนเชื่อว่าตำรวจที่ขึ้นไปปฏิบัติการที่กระทรวงแรงงานนั้นไม่น่าจะเป็นคำสั่งที่มาจากพลตำรวจเอกอดุลย์ แต่น่าจะมาจากคำสั่งของนักการเมือง เรายังเชื่อกันว่าครั้งนี้น่าจะเป็นทีมที่มาจากทีมงานของเฉลิม อยู่บำรุง เพราะท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการที่นั่นและมีตำรวจที่รับฟังคำสั่งอยู่จำนวนหนึ่ง เพราะหากเกิดการปะทะกันอย่างหนัก มีผู้บาดเจ็บล้มตายกันมากแล้วจะเป็นการบีบให้ทหารต้องออกมายุติปัญหา

นั่นจะเป็นไปตามแผนที่คนแดนไกลต้องการ เพราะเมื่อทหารเข้ามากุมสภาพไว้ ก็จะถูกใช้เป็นเหตุในการโจมตีว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกทหารยึดอำนาจอีกครั้ง แล้วจะนำเอาเรื่องนี้ไปเดินเกมต่อนานาชาติ ซึ่งตรงนี้ฝ่ายทหารก็ทราบดี ทุกอย่างจึงถูกยืดออกไป

ดังนั้นสถานการณ์จึงล่วงเลยเข้ามาสู่การปฏิบัติการปิดกรุงเทพฯ เมื่อ 13 มกราคม 2557 จนถึงขณะนี้ฝ่ายผู้ชุมนุมก็ยังไม่สามารถปิดบัญชีกับฝ่ายรัฐบาลได้ แถมในช่วงดึกจะมีกลุ่มคนที่เข้ามาสร้างสถานการณ์กับเวทีการชุมนุมต่างๆ อย่างต่อเนื่องถึง 25 ครั้ง แม้ว่าในพื้นที่รอบการชุมนุมจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่านเพื่อรักษาความปลอดภัยแล้วก็ตาม การเล็ดลอดเข้ามาก่อเหตุย่อมต้องถูกตั้งข้อสงสัยว่ากลุ่มที่เข้ามาก่อเหตุนั้นรู้เห็นกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ฝ่ายผู้ชุมนุมไม่เคยไว้วางใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

กำลังโหลดความคิดเห็น