xs
xsm
sm
md
lg

สัปดาห์วิบากกรรมของรัฐบาลก่อนปิดกรุงเทพฯ

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

ตามแผนของ กปปส. ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศมาว่า จะเริ่มปฏิบัติการปิดกรุงเทพฯ วันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2557 เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป จนกว่าจะได้รับชัยชนะ มีการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเมืองสมความตั้งใจของ กปปส.

การปิดกรุงเทพฯ จะเป็นเช่นไร ในอีกหนึ่งสัปดาห์ก็คงได้เห็น แต่ก่อนนั้น ในสัปดาห์นี้ รัฐบาลระบอบทักษิณก็ต้องเตรียมอกสั่นขวัญแขวนกับวิบากกรรมที่ตัวเองก่อไว้ก่อนยุบสภา ที่กำลังจะมาสนองให้ยะเยือกส่งท้ายลมหนาว ก่อนมาตรการปิดกรุงเทพฯ ในสัปดาห์หน้า

เริ่มจากวันอังคารที่ 7 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะมีมติแจ้งข้อกล่าวหากรณีร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว.หรือไม่ ซึ่งเป็นกรณีต่อเนื่องจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไปแล้วว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว.นี้ มีความผิดทั้งกระบวนการและสาระ ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 68

ซึ่งหากการแจ้งข้อกล่าวหาจะนำไปสู่การสอบสวนและชี้มูลความผิด ซึ่ง ส.ส. และ ส.ว.ที่ร่วมก่อการทั้ง 381 คน ก็จะต้องถูกดำเนินคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปในอนาคตแน่นอน เพราะบรรดา ส.ส. ทั้งหลายที่จะถูกชี้มูลนี้ ก็เป็น ส.ส.ชุดที่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งต่อไป ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขต ส่วน ส.ว.ที่จะโดนชี้มูล ก็เป็นกลุ่ม ส.ว.ที่เหมือนเป็น “แนวร่วม” ของระบอบทักษิณนี่เอง

ในการนี้ การสอบสวนไปจนถึงชี้มูลของ ป.ป.ช.นั้นไม่ยาก เพราะข้อเท็จจริงถูกมัดโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญบังคับไว้ให้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้มีผลเป็นเด็ดขาด ผูกพันทุกองค์กรของรัฐ ดังนั้นจึงแทบว่า ป.ป.ช.ไม่น่าจะวินิจฉัยไปทางอื่นได้

และนี่ก็เป็นระเบิดเวลาอีกลูกหนึ่ง สำหรับ ส.ส.ที่จะฟอกตัวด้วยการเลือกตั้ง ที่ต่อให้ถูลู่ถูกังจัดเลือกตั้งกันไปได้ ก็ไม่รู้ว่าเก้าอี้จะเด้งทีหลังเพราะระเบิดกรรมที่พกมาจากการปฏิบัติหน้าที่ในสภาฯ สมัยที่แล้วหรือเปล่า

ในวันถัดไป พุธที่ 8 ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดไต่สวนตัวแทนทั้งฝ่ายผู้ร้อง คือพรรคประชาธิปัตย์ และฝ่ายรัฐบาลผู้ถูกร้องในคดีร่างพระราชบัญญัติเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งไม่ได้ตกตามไปด้วยการยุบสภา เนื่องจากถือว่าเป็นกฎหมายที่ผ่านสองสภาฯ แล้ว เหลือเพียงขั้นตอนตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก่อนเสนอเพื่อลงพระปรมาภิไธย ตามที่มีผู้เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 154

ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ก็เป็นเหมือนความหวังสุดท้ายอีกเหมือนกันสำหรับเครือข่ายทักษิณ ที่แม้สภาฯ จะไปแล้ว อนาคตก็ไม่รู้ แต่ก็ “ฝาก” ร่างกฎหมายกู้เงินนี้ไว้เป็นภาระแก่รัฐบาลต่อไปในอนาคตและลูกหลานชาวไทยที่จะต้องแบกหนี้กองโต ซึ่งการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ ก็จะได้รู้ว่า ร่างพระราชบัญญัติที่รัฐบาลที่แล้วทิ้งเชื้อไว้นี้ จะอยู่รอดเป็นกฎหมายได้จริงหรือไม่ หรือจะถูกศาลรัฐธรรมนูญทำแท้งไป

อันนั้นเป็นชั้นไต่สวน หรือถ้าพูดด้วยภาษาศาลยุติธรรมที่คุ้นเคยก็ว่า ชั้นสืบพยาน แต่ที่จะ “ฟันธง” หรือพิพากษากันก็ได้แก่ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ที่ศาลได้นัดฟังคำวินิจฉัยกรณีที่ส.ส. ส.ว.คณะเดิมกับที่แก้ไขที่มา ส.ว.ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่เกี่ยวกับเรื่องหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องนำมาให้สภาฯ เห็นชอบด้วย โดยการแก้ไขดังกล่าวนี้ลดทอนรายละเอียดหนังสือสัญญาที่หากคณะรัฐมนตรีไปตกลงไว้กับต่างชาติ ที่ต้องนำมาให้สภาฯ รับรู้เห็นชอบนั้นมีน้อยเรื่องลงไป

การแก้ไขนี้เป็นประโยชน์ต่อคณะรัฐมนตรีหรือฝ่ายบริหาร ทำให้มีความสะดวกในการเจรจากับต่างชาติ มีอำนาจในการตกลงกับต่างชาติได้มากขึ้นโดยไม่ต้องถามสภาฯ ก่อน แต่กระนั้นก็เป็นดาบสองคมว่า หากการตกลงนั้นเป็นเรื่องที่ประเทศชาติอาจเสียประโยชน์ หรือส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชาติ รัฐบาลจะไปตกลงเองแล้วผูกพันได้เลยอย่างไร

แม้ตามหลักการแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ก็เป็นประโยชน์กับรัฐบาลทุกรัฐบาลต่อไปนี้ ที่ใครก็ตามที่จะมาเป็นรัฐบาลก็จะได้รับประโยชน์รับความสะดวกดังกล่าว แต่นั่นแหละครับ ก็เห็นได้ชัดว่าตอนที่แก้ไขนั้น ฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันก็มุ่งที่จะได้ประโยชน์นั้นเองนั่นแหละ ในการไปติดต่อตกลง หรือให้สัญญากับต่างชาติในเรื่องต่างๆ อันเป็นผลประโยชน์ของตัว

นี่ก็เป็นอีกคดีหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ให้เห็นว่า กระทำได้หรือไม่ ซึ่งรู้ผลกันบ่ายๆ วันพุธนี้เลย

วันต่อมาพฤหัสฯ ที่ 9 ศาลปกครองสูงสุดจะมีการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก กรณีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรกับและคณะในรัฐบาลชุดที่แล้ว ในคดีเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ว่าได้กระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มีการรับฟังความเห็นของประชาชนหรือเปล่า

แม้ชื่อจะบอกว่า “การนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก” แต่กรณีของศาลปกครองนี้ไม่เหมือนศาลยุติธรรม เพราะก่อนหน้าที่จะมีการออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกนี้ ศาลได้ทำงานด้วยการไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงมาก่อนหน้านี้แล้ว ตามวิธีการพิจารณาคดีในระบบไต่สวน ซึ่งในการพิจารณาคดีครั้งแรกนี้ เป็นการนัดให้คู่ความมาพบกัน เพื่อฟังแถลงการณ์เพิ่มเติม หากจะมีเท่านั้น และในวันนั้นหากไม่มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมพอที่จะเป็นเปลี่ยนแปลงผลของคดี ตุลาการผู้แถลงคดีที่เป็นเหมือนตุลาการอิสระที่จะให้ความเห็นต่อคดีนี้ ก็จะอ่านความเห็นของตน ซึ่งถึงจะไม่ผูกพันคำพิพากษาขององค์คณะจริง แต่ก็ทำให้เห็นแนวทางของคดีได้ จากคดีสำคัญๆ คำแถลงการณ์ของผู้แถลงคดีก็มักจะไม่ผิดไปจากคำพิพากษาจากองค์คณะสักเท่าไร

จึงสรุปได้ว่า วันที่ 9 นี้ก็เป็นอีกวันที่จะได้รู้ถึงอนาคตของสิ่งที่รัฐบาลเก่าทำไว้อีกชิ้น คือโครงการบริหารจัดการน้ำ ว่าจะ “รอด” หรือไม่ จากกระบวนการตรวจสอบของศาลปกครองสูงสุด

ปิดท้ายด้วยวันศุกร์ที่ 10 ที่ ป.ป.ช.จะเรียกอดีตประธานและรองประธานรัฐสภา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และนายนิคม ไวยรัชพานิช เข้ารับทราบข้อกล่าวหา กรณีจงใจปฏิบัติหน้าที่ส่อไปในทางทุจริตกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว.ซึ่งแม้จะยังไม่ใช่การชี้มูลความผิด แต่ก็ส่งผลให้สองคนนี้เป็นผู้ถูกกล่าวหา มีชนักติดหลังกันไป ที่ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ก็ถอนไปไม่ได้

ทั้งหมดนี้ คือผลกรรมที่รัฐบาลภายใต้ระบอบทักษิณจะได้รับ ซึ่งล้วนเป็นผลมาจาก “กรรมเก่า” ของการกระทำอันไม่โปร่งใสที่ทำไว้ในสมัยที่เป็นรัฐบาลทั้งสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น