เลือกปฏิบัติให้เห็นกันชัดๆ ในการช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยกลุ่มชาวนายังได้รับโอบอุ้มต่อไปจากนโยบายรับจำนำข้าวในฤดูกาลผลิต 56/57 ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขไปบ้าง แต่สำหรับกลุ่มอื่นๆ เช่น ชาวสวนยาง ที่กำลังชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำยังไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใดแถมยังถูกทุบตีถูกหยันว่าเป็นม็อบที่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง เช่นเดียวกับกลุ่มเกษตรกรปลูกข้าวโพดซึ่งกำลังมีปัญหาเช่นเดียวกัน
เคาะกันชัดแล้วสำหรับโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิตปี 56/57 โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 56 ได้กำหนดแนวทางรับจำนำข้าวเปลือกฤดูกาลผลิตปี 2556/57 ซึ่งจะใช้วงเงินไม่เกิน 2.7 แสนล้านบาท และกำหนดแนวทางการรับจำนำ คือ 1.รับจำนำข้าวนาปี 2556/57 ตันละ 1.5 หมื่นบาท จำกัดวงเงิน 3.5 แสนบาท/ครัวเรือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2556 และ 2.รับจำนำข้าวนาปรังปี 2557 ตันละ 1.3 หมื่นบาท จำกัดวงเงิน 3 แสนบาท/ครัวเรือน ซึ่งแนวทางนี้ กขช.ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติเมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีข้าวเข้าสู่โครงการประมาณ 18 ล้านตัน จากเดิมที่รับจำนำประมาณ 21-22 ล้านตัน และประเมินว่า รัฐบาลจะขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวรอบนี้ ประมาณ 8 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาท
สำหรับข้าวเปลือกเหนียว ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมจังหวัด และข้าวเปลือกหอมปทุมธานี กขช. ได้คงราคารับจำนำไว้เท่าเดิม โดยราคาข้าวเปลือกเหนียว เมล็ดยาว ตันละ 1.6 หมื่นบาท และเมล็ดสั้น ตันละ 1.5 หมื่นบาท ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 2 หมื่นบาท ข้าวเปลือกหอมจังหวัด ตันละ 1.8 หมื่นบาท และข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 1.6 หมื่นบาท
มติกขช.ที่เคาะราคาจำนำข้าวดังกล่าวข้างต้นนั้น ทางสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ซึ่งมีนายวิเชียร พวงลำเจียก เป็นประธาน ทำท่าฮึดฮัดไม่เอาด้วยในตอนแรก โดยขอยืนยันตามข้อเสนอเดิมที่เสนอในที่ประชุม กขช. เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา คือให้ยืนราคารับจำนำข้าว 14,000 บาทต่อตัน ในวงเงิน 400,000 บาท ทั้งในรอบนาปีและนาปรัง ซึ่งเป็นการพิจารณาจากข้อมูลการทำนาจริงของชาวนาเป็นที่ตั้ง เพราะชาวนาทำนาไม่พร้อมกัน และเก็บเกี่ยวไม่พร้อมกัน จึงขอให้ครม.ทบทวนและมีมติเป็นไปตามข้อเสนอของชาวนา พร้อมกับขู่ว่าถ้าไม่ได้อย่างที่ขอกลุ่มชาวนาจะไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ซึ่งไม่ปฏิบัติตามที่ได้มีการประกาศนโยบายต่อรัฐสภา ว่าจะรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคา 15,000 บาท
แต่ทว่าหลังจากถูกเกลี้ยกล่อมไม่นาน ในวันถัดมา นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ก็ยอมรับแนวทางการรับจำนำที่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใหม่ โดยอ้างว่า ชาวนาส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้า ปีการผลิต 2556-2557 ความชื้น 15% ที่ราคาตันละ 13,000 บาท รับจำนำปีละ 2 ครั้ง และกำหนดวงเงินครัวเรือนละไม่เกิน 300,000 บาท ราคานี้เมื่อหักความชื้นและสิ่งเจือปนชาวนาจะขายข้าวได้ในราคาตันละ 10,000-11,000 บาท หรือมีกำไรเหลือตันละ 1,000 บาท ส่วนอีกทางเลือกหนึ่ง คือ การรับจำนำข้าวที่ตันละ 15,000 บาท เพียงปีละ 1 ครั้ง และจำกัดวงเงินต่อครัวเรือนไม่เกิน 500,000 บาท เป็นแนวทางนี้ไม่คุ้มค่า เพราะชาวนาส่วนใหญ่ปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง
“ชาวนาไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะรัฐบาลระบุว่าไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะรับจำนำข้าวในราคาตันละ 15,000 บาท แบบไม่จำกัดปริมาณอีกต่อไป” นายกสมาคมชาวนาฯ กล่าว ซึ่งนั่นเท่ากับว่ารัฐบาลได้เคลียร์ปัญหากับกลุ่มชาวนาที่อึมครึมให้จบลงแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งกันทั้งสองฝ่าย
ขณะที่การตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีกระแสข่าวว่าในการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 56 จะมีการชี้มูลความผิดการทุจริตในโครงการนี้ตามที่นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร้องเรียนให้มีการตรวจสอบการรับจำนำ และการระบายข้าวระบบจีทูจีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ สุดท้ายก็ยังไม่มีการชี้มูลแต่อย่างใด
ป.ป.ช. เพียงแต่แถลงความคืบหน้าในการติดตามเส้นทางการเงินจากเช็ค 1,744 ฉบับ จาก 6 ธนาคาร เพื่อที่จะให้ใครเป็นคนซื้อแคชเชียร์เช็คนี้ โดยเบื้องต้นมีเพียง 3 ธนาคารที่ส่งข้อมูลมาให้ คือ ธนาคารกรุงไทย, แบงก์ ออฟ ไชน่า และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ส่วนที่เหลือยังไม่มีการส่งข้อมูลมา แต่ได้รับการประสานจากธนาคารกรุงเทพ และกสิกรไทย ว่าจะส่งมาให้ภายในกลางเดือนกันยายน 2556 แต่ธนาคารไทยพาณิชย์ยังไม่ได้รับการประสานมา โดย ป.ป.ช.ได้แจ้งไปแล้วว่าให้ส่งข้อมูลมาภายในเดือนกันยายนนี้ นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังต้องสอบข้าราชการกระทรวงพาณิชย์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการประสานงานการรับจำนำข้าว และสอบถามองค์กรคลังสินค้ากรณีส่งข้าวไปยังที่มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ประเทศจีน รวมถึงสอบผู้ที่เกี่ยวข้องอีกบางส่วนก่อนประชุมพิจารณาชี้มูล
สรุปคือ ลากกันอีกยาว เรื่องที่สังคมจะไปหวังให้ป.ป.ช.เร่งมือชี้มูล เพื่อสกัดการทุจริตจำนำข้าวในฤดูกาลผลิตปีนี้ที่กำลังจะเริ่มขึ้น คงเข้าทำนองต้องร้องเพลงรอต่อไปเรื่อยๆ
แต่ที่ยังเป็นปัญหาและทำท่าจะบานปลายก็คือ ม็อบชาวสวนยาง ซึ่งกำลังระดมพลกันทั่วประเทศชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เข้ามาช่วยพยุงราคายางพาราที่ตกต่ำลงอย่างมาก โดยขณะนี้ราคายางแผ่นดิบเหลือเพียงแค่กิโลกรัมละ 76 บาท ส่วนยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา 79 บาท น้ำยางสด ณ โรงงาน ราคา 71 บาท และเศษยาง ณ โรงงาน ราคา 69 บาท ขณะที่ข้อเรียกร้องของม็อบชวนสวนยาง ก็คือ ให้รัฐบาลประกันราคายางแผ่น กิโลกรัมละ 120 บาท เศษยางหรือขี้ยาง ราคากิโลกรัมละ 60 บาท และให้ประกันราคาปาล์มน้ำมัน กิโลกรัมละ 3 บาท จากเวลานี้อยู่ที่ 2 บาท เท่านั้น
ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาราคาตกต่ำของชาวสวนยาง ไม่ได้แตกต่างไปจากชาวนาที่ขอให้พยุงราคาข้าวผ่านโครงการรับจำนำแม้แต่น้อย แต่การสนองตอบต่อปัญหาของเกษตรกรสองกลุ่มนี้กลับต่างราวฟ้ากับเหว ไม่ใช่แค่ไม่ช่วยเหลือเท่านั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยังมองม็อบชาวสวนยางว่าเป็นม็อบการเมือง เพียงเพราะเกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคใต้ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ เจ้าหน้าที่ถึงขั้นลงมือไล่ทุบไล่ตี ทั้งที่ความจริงแล้วเกษตรกรชาวสวนยางเวลานี้มีอยู่ทั่วประเทศอันเป็นผลมาจากโครงการส่งเสริมปลูกยางล้านไร่ในสมัยรัฐบาลทักษิณนั่นเอง ดังนั้น ปัญหานี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่พื้นที่ภาคใต้แต่เดือดร้อนกันไปหมด จึงไม่แปลกที่ม็อบชาวสวนยางจะประกาศนัดรวมพลทั่วทุกภาค 3 ก.ย.56 นี้ หากยังไม่สามารถเจรจาหาข้อยุติได้
งานนี้ นายนิวัตรธำรง บุญทรงไพศาล รมว.พาณิชย์ แม่งานโครงการรับจำนำข้าวทำตัวเป็นนกรู้ รีบชิ่งไม่รู้ไม่เกี่ยวโยนเผือกร้อนไปให้กระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบเคลียร์ปัญหาทั้งหมด แล้วนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.กระทรวงเกษตรฯ ก็แสดงธาตุแท้ออกมายืนกระต่ายขาเดียว รับไม่ได้กับราคายางที่เกษตรกรเรียกร้อง ถ้าต้องทำเช่นนั้นแล้วรัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนไปอุดหนุน แล้วสต็อกที่ยังค้างอยู่ในโกดังจากการใช้เงิน 3 หมื่นล้านไป พยุงราคารอบที่แล้วที่มีอยู่กว่า 2 แสนตัน จะทำอย่างไร ทั้งที่คำถามนี้นายยุคล น่าจะถามสำหรับการรับจำนำข้าวที่ใช้เงินไปมหาศาลหลายแสนล้าน ขาดทุนกว่า 3 แสนล้าน และมีข้าวเหลือบานเบอะอยู่เต็มล้นโกดังมากมายหลายเท่า
นี่ยังไม่นับว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่มีความรู้ใดๆ เกี่ยวกับยางพารา ดังที่ให้สัมภาษณ์ว่า “…ต้องกราบขอความเห็นใจว่าเราไม่สามารถผลักราคาให้เท่าราคาตลาดโลกได้ เพราะปริมาณยางพาราของเราเมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้วก็ยังน้อยอยู่ เราก็ต้องไปอิงตามกลไกจริง” ทั้งที่ความจริงแล้วประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกยางพาราอันดับหนึ่งของโลก โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ รายงานว่า เมื่อปี 2555 ประเทศไทยส่งออกยางธรรมชาติ มีปริมาณรวม 3,647,814,225 กิโลกรัม มูลค่ารวมสูงถึง 336,287,045,194 บาท สูงกว่าการส่งออกข้าวที่มีมูลค่า 142,976,235,578 บาท
เมื่อเรื่องกลายเป็นว่าทั้งนายกรัฐมนตรี ทั้งรมว.พาณิชย์ และรมว.เกษตรฯ ต่างก็โง่หรือแกล้งโง่ปัดสวะให้พ้นตัว นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ (กยน.) จึงเตรียมล้วงเงิน 25,000 ล้านบาท ออกมาสยบม็อบช่วยเกษตรกรในการแปรรูปน้ำยางดิบเป็นยางแผ่น โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการในวงเงิน 5,000 ล้านบาท และอีก 10,000 ล้านบาท ให้ธนาคารออมสิน ปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการเพื่อปรับปรุงเครื่องจักร ส่วนอีก 10,000 ล้านบาท จะใช้ลดต้นทุนด้านการผลิต เช่น การจัดโซนนิ่งสินค้าเกษตรอย่างระบบ ดูแลพื้นที่ปลูกยางให้ถูกต้องเพราะมีพื้นที่เพาะปลูกมากเกินความต้องการของตลาด ซึ่งเมื่อพินิจพิจารณาแล้ว เหมือนกับว่านายกิตติรัตน์ กำลังแก้ปัญหาแบบถามไก่ตอบกา ไม่เข้าเป้า ไม่ตรงจุด ไม่ตอบปัญหาความเดือดร้อนของม็อบสวนยางแต่อย่างใด
การแก้ไขปัญหาผลิตผลทางการเกษตรแบบเลือกปฏิบัติของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ จะจุดชนวนสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ ที่ไม่ได้รับเหลียวแลอย่างทั่วถึงจนลุกลามบานปลายใหญ่โต ผสมโรงกับม็อบการเมืองซึ่งนัดชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรีที่กำลังเริ่มคุกรุ่น กระทั่งทำให้รัฐบาลมีอันเป็นไปก่อนเวลาหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป
(29 ส.ค.56)
เคาะกันชัดแล้วสำหรับโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิตปี 56/57 โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 56 ได้กำหนดแนวทางรับจำนำข้าวเปลือกฤดูกาลผลิตปี 2556/57 ซึ่งจะใช้วงเงินไม่เกิน 2.7 แสนล้านบาท และกำหนดแนวทางการรับจำนำ คือ 1.รับจำนำข้าวนาปี 2556/57 ตันละ 1.5 หมื่นบาท จำกัดวงเงิน 3.5 แสนบาท/ครัวเรือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2556 และ 2.รับจำนำข้าวนาปรังปี 2557 ตันละ 1.3 หมื่นบาท จำกัดวงเงิน 3 แสนบาท/ครัวเรือน ซึ่งแนวทางนี้ กขช.ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติเมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีข้าวเข้าสู่โครงการประมาณ 18 ล้านตัน จากเดิมที่รับจำนำประมาณ 21-22 ล้านตัน และประเมินว่า รัฐบาลจะขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวรอบนี้ ประมาณ 8 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาท
สำหรับข้าวเปลือกเหนียว ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมจังหวัด และข้าวเปลือกหอมปทุมธานี กขช. ได้คงราคารับจำนำไว้เท่าเดิม โดยราคาข้าวเปลือกเหนียว เมล็ดยาว ตันละ 1.6 หมื่นบาท และเมล็ดสั้น ตันละ 1.5 หมื่นบาท ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 2 หมื่นบาท ข้าวเปลือกหอมจังหวัด ตันละ 1.8 หมื่นบาท และข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 1.6 หมื่นบาท
มติกขช.ที่เคาะราคาจำนำข้าวดังกล่าวข้างต้นนั้น ทางสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ซึ่งมีนายวิเชียร พวงลำเจียก เป็นประธาน ทำท่าฮึดฮัดไม่เอาด้วยในตอนแรก โดยขอยืนยันตามข้อเสนอเดิมที่เสนอในที่ประชุม กขช. เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา คือให้ยืนราคารับจำนำข้าว 14,000 บาทต่อตัน ในวงเงิน 400,000 บาท ทั้งในรอบนาปีและนาปรัง ซึ่งเป็นการพิจารณาจากข้อมูลการทำนาจริงของชาวนาเป็นที่ตั้ง เพราะชาวนาทำนาไม่พร้อมกัน และเก็บเกี่ยวไม่พร้อมกัน จึงขอให้ครม.ทบทวนและมีมติเป็นไปตามข้อเสนอของชาวนา พร้อมกับขู่ว่าถ้าไม่ได้อย่างที่ขอกลุ่มชาวนาจะไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ซึ่งไม่ปฏิบัติตามที่ได้มีการประกาศนโยบายต่อรัฐสภา ว่าจะรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคา 15,000 บาท
แต่ทว่าหลังจากถูกเกลี้ยกล่อมไม่นาน ในวันถัดมา นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ก็ยอมรับแนวทางการรับจำนำที่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใหม่ โดยอ้างว่า ชาวนาส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้า ปีการผลิต 2556-2557 ความชื้น 15% ที่ราคาตันละ 13,000 บาท รับจำนำปีละ 2 ครั้ง และกำหนดวงเงินครัวเรือนละไม่เกิน 300,000 บาท ราคานี้เมื่อหักความชื้นและสิ่งเจือปนชาวนาจะขายข้าวได้ในราคาตันละ 10,000-11,000 บาท หรือมีกำไรเหลือตันละ 1,000 บาท ส่วนอีกทางเลือกหนึ่ง คือ การรับจำนำข้าวที่ตันละ 15,000 บาท เพียงปีละ 1 ครั้ง และจำกัดวงเงินต่อครัวเรือนไม่เกิน 500,000 บาท เป็นแนวทางนี้ไม่คุ้มค่า เพราะชาวนาส่วนใหญ่ปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง
“ชาวนาไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะรัฐบาลระบุว่าไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะรับจำนำข้าวในราคาตันละ 15,000 บาท แบบไม่จำกัดปริมาณอีกต่อไป” นายกสมาคมชาวนาฯ กล่าว ซึ่งนั่นเท่ากับว่ารัฐบาลได้เคลียร์ปัญหากับกลุ่มชาวนาที่อึมครึมให้จบลงแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งกันทั้งสองฝ่าย
ขณะที่การตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีกระแสข่าวว่าในการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 56 จะมีการชี้มูลความผิดการทุจริตในโครงการนี้ตามที่นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร้องเรียนให้มีการตรวจสอบการรับจำนำ และการระบายข้าวระบบจีทูจีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ สุดท้ายก็ยังไม่มีการชี้มูลแต่อย่างใด
ป.ป.ช. เพียงแต่แถลงความคืบหน้าในการติดตามเส้นทางการเงินจากเช็ค 1,744 ฉบับ จาก 6 ธนาคาร เพื่อที่จะให้ใครเป็นคนซื้อแคชเชียร์เช็คนี้ โดยเบื้องต้นมีเพียง 3 ธนาคารที่ส่งข้อมูลมาให้ คือ ธนาคารกรุงไทย, แบงก์ ออฟ ไชน่า และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ส่วนที่เหลือยังไม่มีการส่งข้อมูลมา แต่ได้รับการประสานจากธนาคารกรุงเทพ และกสิกรไทย ว่าจะส่งมาให้ภายในกลางเดือนกันยายน 2556 แต่ธนาคารไทยพาณิชย์ยังไม่ได้รับการประสานมา โดย ป.ป.ช.ได้แจ้งไปแล้วว่าให้ส่งข้อมูลมาภายในเดือนกันยายนนี้ นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังต้องสอบข้าราชการกระทรวงพาณิชย์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการประสานงานการรับจำนำข้าว และสอบถามองค์กรคลังสินค้ากรณีส่งข้าวไปยังที่มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ประเทศจีน รวมถึงสอบผู้ที่เกี่ยวข้องอีกบางส่วนก่อนประชุมพิจารณาชี้มูล
สรุปคือ ลากกันอีกยาว เรื่องที่สังคมจะไปหวังให้ป.ป.ช.เร่งมือชี้มูล เพื่อสกัดการทุจริตจำนำข้าวในฤดูกาลผลิตปีนี้ที่กำลังจะเริ่มขึ้น คงเข้าทำนองต้องร้องเพลงรอต่อไปเรื่อยๆ
แต่ที่ยังเป็นปัญหาและทำท่าจะบานปลายก็คือ ม็อบชาวสวนยาง ซึ่งกำลังระดมพลกันทั่วประเทศชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เข้ามาช่วยพยุงราคายางพาราที่ตกต่ำลงอย่างมาก โดยขณะนี้ราคายางแผ่นดิบเหลือเพียงแค่กิโลกรัมละ 76 บาท ส่วนยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา 79 บาท น้ำยางสด ณ โรงงาน ราคา 71 บาท และเศษยาง ณ โรงงาน ราคา 69 บาท ขณะที่ข้อเรียกร้องของม็อบชวนสวนยาง ก็คือ ให้รัฐบาลประกันราคายางแผ่น กิโลกรัมละ 120 บาท เศษยางหรือขี้ยาง ราคากิโลกรัมละ 60 บาท และให้ประกันราคาปาล์มน้ำมัน กิโลกรัมละ 3 บาท จากเวลานี้อยู่ที่ 2 บาท เท่านั้น
ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาราคาตกต่ำของชาวสวนยาง ไม่ได้แตกต่างไปจากชาวนาที่ขอให้พยุงราคาข้าวผ่านโครงการรับจำนำแม้แต่น้อย แต่การสนองตอบต่อปัญหาของเกษตรกรสองกลุ่มนี้กลับต่างราวฟ้ากับเหว ไม่ใช่แค่ไม่ช่วยเหลือเท่านั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยังมองม็อบชาวสวนยางว่าเป็นม็อบการเมือง เพียงเพราะเกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคใต้ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ เจ้าหน้าที่ถึงขั้นลงมือไล่ทุบไล่ตี ทั้งที่ความจริงแล้วเกษตรกรชาวสวนยางเวลานี้มีอยู่ทั่วประเทศอันเป็นผลมาจากโครงการส่งเสริมปลูกยางล้านไร่ในสมัยรัฐบาลทักษิณนั่นเอง ดังนั้น ปัญหานี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่พื้นที่ภาคใต้แต่เดือดร้อนกันไปหมด จึงไม่แปลกที่ม็อบชาวสวนยางจะประกาศนัดรวมพลทั่วทุกภาค 3 ก.ย.56 นี้ หากยังไม่สามารถเจรจาหาข้อยุติได้
งานนี้ นายนิวัตรธำรง บุญทรงไพศาล รมว.พาณิชย์ แม่งานโครงการรับจำนำข้าวทำตัวเป็นนกรู้ รีบชิ่งไม่รู้ไม่เกี่ยวโยนเผือกร้อนไปให้กระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบเคลียร์ปัญหาทั้งหมด แล้วนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.กระทรวงเกษตรฯ ก็แสดงธาตุแท้ออกมายืนกระต่ายขาเดียว รับไม่ได้กับราคายางที่เกษตรกรเรียกร้อง ถ้าต้องทำเช่นนั้นแล้วรัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนไปอุดหนุน แล้วสต็อกที่ยังค้างอยู่ในโกดังจากการใช้เงิน 3 หมื่นล้านไป พยุงราคารอบที่แล้วที่มีอยู่กว่า 2 แสนตัน จะทำอย่างไร ทั้งที่คำถามนี้นายยุคล น่าจะถามสำหรับการรับจำนำข้าวที่ใช้เงินไปมหาศาลหลายแสนล้าน ขาดทุนกว่า 3 แสนล้าน และมีข้าวเหลือบานเบอะอยู่เต็มล้นโกดังมากมายหลายเท่า
นี่ยังไม่นับว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่มีความรู้ใดๆ เกี่ยวกับยางพารา ดังที่ให้สัมภาษณ์ว่า “…ต้องกราบขอความเห็นใจว่าเราไม่สามารถผลักราคาให้เท่าราคาตลาดโลกได้ เพราะปริมาณยางพาราของเราเมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้วก็ยังน้อยอยู่ เราก็ต้องไปอิงตามกลไกจริง” ทั้งที่ความจริงแล้วประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกยางพาราอันดับหนึ่งของโลก โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ รายงานว่า เมื่อปี 2555 ประเทศไทยส่งออกยางธรรมชาติ มีปริมาณรวม 3,647,814,225 กิโลกรัม มูลค่ารวมสูงถึง 336,287,045,194 บาท สูงกว่าการส่งออกข้าวที่มีมูลค่า 142,976,235,578 บาท
เมื่อเรื่องกลายเป็นว่าทั้งนายกรัฐมนตรี ทั้งรมว.พาณิชย์ และรมว.เกษตรฯ ต่างก็โง่หรือแกล้งโง่ปัดสวะให้พ้นตัว นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ (กยน.) จึงเตรียมล้วงเงิน 25,000 ล้านบาท ออกมาสยบม็อบช่วยเกษตรกรในการแปรรูปน้ำยางดิบเป็นยางแผ่น โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการในวงเงิน 5,000 ล้านบาท และอีก 10,000 ล้านบาท ให้ธนาคารออมสิน ปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการเพื่อปรับปรุงเครื่องจักร ส่วนอีก 10,000 ล้านบาท จะใช้ลดต้นทุนด้านการผลิต เช่น การจัดโซนนิ่งสินค้าเกษตรอย่างระบบ ดูแลพื้นที่ปลูกยางให้ถูกต้องเพราะมีพื้นที่เพาะปลูกมากเกินความต้องการของตลาด ซึ่งเมื่อพินิจพิจารณาแล้ว เหมือนกับว่านายกิตติรัตน์ กำลังแก้ปัญหาแบบถามไก่ตอบกา ไม่เข้าเป้า ไม่ตรงจุด ไม่ตอบปัญหาความเดือดร้อนของม็อบสวนยางแต่อย่างใด
การแก้ไขปัญหาผลิตผลทางการเกษตรแบบเลือกปฏิบัติของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ จะจุดชนวนสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ ที่ไม่ได้รับเหลียวแลอย่างทั่วถึงจนลุกลามบานปลายใหญ่โต ผสมโรงกับม็อบการเมืองซึ่งนัดชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรีที่กำลังเริ่มคุกรุ่น กระทั่งทำให้รัฐบาลมีอันเป็นไปก่อนเวลาหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป
(29 ส.ค.56)