xs
xsm
sm
md
lg

เซ็งเป็ด!รัฐบาลยิ่งลักษณ์ บริหารพลังงานพลาด-ขึ้น “LPG-รีดเงิน” เข้ากองทุนชดเชย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยั้งไม่อยู่ค่าครองชีพพุ่งกระฉูด รัฐเลือกจังหวะเวลาเหมาะเหม็ง ก๊าซหุงต้ม ค่าทางด่วน ค่าไฟฟ้า ดาหน้าขึ้นพร้อมกัน องค์กรผู้บริโภคจวกนโยบายพลังงานพลาด ดันปิโตรเคมีโตจนเบียดภาคครัวเรือนจนก๊าซในประเทศไม่พอ ต้องนำเข้า วันนี้ให้ประชาชนแบกรับ 2 ทาง เก็บเงินกองทุนน้ำมันตามเดิม แถมราคา LPG ภาคครัวเรือน ทั้งๆ ที่ขึ้นราคาภาคขนส่ง ดันราคาภาคอุตสาหกรรมไปก่อนหน้า นักเศรษฐศาสตร์รับซ้ำเติมเศรษฐกิจกว่าเดิม เงินในกระเป๋าคนไทยน้อยลง

ปฏิกิริยาของประชาชนที่แสดงการคัดค้านไม่เห็นด้วยกับนโยบายปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนของกระทรวงพลังงาน ที่จะเริ่มในวันที่ 1 กันยายน 2556 โดยทยอยปรับราคาขึ้นอีก 0.50 บาทต่อกิโลกรัม หากคิดเป็นถัง 15 กิโลกรัมที่ใช้กันตามครัวเรือนราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดิม 7.5 บาทต่อถังต่อเดือน เป้าหมายของราคาที่รัฐกำหนดไว้จะไปอยู่ที่ 24.82 บาทต่อกิโลกรัม จากราคาเดิม 18.13 บาท หรือจะเพิ่มขึ้นอีก 100 บาทต่อถัง

ด้วยเหตุผลที่ราคาก๊าซภาคครัวเรือนในประเทศถูกบิดเบือนมาเป็นเวลานาน และต้องการให้เป็นไปตามกลไกตลาด สร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้รถยนต์ ที่ต้องถูกเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อมาชดเชยราคาก๊าซ LPG และป้องกันการลักลอบส่งออกและนำไปใช้ผิดประเภท

แม้ว่าเมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมาจะมีเครือข่ายขององค์กรผู้บริโภคและภาคส่วนอื่นๆ แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการตัดสินใจครั้งนี้ แต่นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สายตรงของคนดูไบ ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการปรับขึ้นราคาต่อไป

ขณะที่เหตุผลของภาคประชาชนกลับมองถึงกลไกของราคาที่แท้จริง รวมถึงการนำเอาก๊าซ LPG ที่ขุดได้จากประเทศไทย ถูกนำไปใช้ในกิจการปิโตรเคมีที่ใช้ในปริมาณที่มากกว่าภาคครัวเรือน แต่กลับมีการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐน้อยกว่าผู้ใช้ก๊าซกลุ่มอื่นอย่างกลุ่มขนส่งและกลุ่มอุตสาหกรรม

รวมไปถึงข้อสงสัยถึงการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กันระหว่างผู้ที่ได้รับสัมปทานขุดเจาะ ปตท. และหน่วยงานภาครัฐที่เอื้อประโยชน์ระหว่างกัน ทั้งในเรื่องของการกำหนดราคารับซื้อระหว่างกัน โดยที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเกือบทั้งหมดล้วนเป็นบริษัทลูกของ ปตท.

ความพยายามที่จะหยุดยั้งการขึ้นราคาในครั้งนี้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้คุ้มครองชั่วคราวเมื่อ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา และรณรงค์ให้ภาคประชาชนร่วมลงชื่อเพื่อปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานระหว่าง 1-9 กันยายน 2556
ปรับราคาจาก 18.13 บาทไปที่ 24.82 บาทต่อกิโลกรัม
ปิโตรฯ แย่งใช้จนต้องนำเข้า

ปมปัญหาดังกล่าว เป็นผลมาจากข้อมูลทางด้านพลังงานของไทยถูกกุมเป็นความลับ ภาคประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทั้งหมด ยิ่งเมื่อภาครัฐหันมาเพิ่มภาระให้กับประชาชน พร้อมๆ กับตัวเลขกำไรมหาศาลขององค์กรด้านพลังงานของไทยอย่าง ปตท.กำไรเป็นแสนล้านบาท ก็ยิ่งทำให้เกิดข้อสงสัยถึงความไม่ชอบมาพากลของภาครัฐและปตท.

จากตัวเลขของกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้สรุปยอดการใช้พลังงานในครึ่งปี 2556 เมื่อพิจารณาในส่วนของ LPG พบว่าภาคครัวเรือนใช้ 202,255 ตัน ภาคอุตสาหกรรมใช้ 50,276 ตัน ภาคขนส่งใช้ 141,044 ตัน ภาคปิโตรเคมีใช้ 220,099 ตัน เมื่อเปรียบเทียบกับครึ่งแรกของปี 2555 ภาคครัวเรือนมีปริมาณการใช้ลดลง 17.6% ภาคอุตสาหกรรมลดลง 1.7% ภาคขนส่งเพิ่มขึ้น 59.9% และภาคปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น 7.5%

ขณะที่ภาคประชาชนอ้างถึง LPG สามารถผลิตได้ในประเทศไทยราว 80% ของปริมาณการใช้ทั้งหมด หากรัฐให้ความสำคัญกับการใช้ภาคครัวเรือนเป็นหลักย่อมเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

ยิ่งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลของผู้ใช้ก๊าซ LPG จะพบว่าภาคปิโตรเคมีเป็นกลุ่มที่ใช้มากที่สุด ข้ออ้างที่รัฐแจ้งว่ามีภาระต้องชดเชยการนำเข้าและชดเชยส่วนต่างของราคาก๊าซโดยยึดจากราคาในตลาดโลก จึงเป็นสิ่งที่ภาคประชาชนไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว

นอกจากนี้ราคาก๊าซในประเทศไทยยังกำหนดราคาขายแยกออกเป็น 4 กลุ่มคือ ภาคครัวเรือนขายที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม ภาคขนส่งขายที่ 21.38 บาทต่อกิโลกรัม ภาคอุตสาหกรรมขายที่ราคา 30.13 บาทต่อกิโลกรัม และราคาขายให้กับภาคปิโตรเคมีซึ่งเป็นที่ถกเถียงกัน ภาคประชาชนแจ้งว่าซื้อขายกันที่ราคา 16.96 บาท ขณะที่ภาครัฐแจ้งว่าซื้อขายกันที่ราคา 24.93 บาท

ไม่ว่าข้อมูลใครจะถูกหรือผิด แต่สิ่งหนึ่งที่ยากจะปฏิเสธนั่นคือตัวเลขการเก็บเงินเข้ากองทุนของผู้ที่ใช้ก๊าซ LPG คือรัฐเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 1 โดยภาคครัวเรือน ภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม เก็บเท่ากันที่ 1.0384 บาทต่อกิโลกรัม ภาคปิโตรเคมีเก็บ 1 บาท

ถัดมามีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 2 ซึ่งในส่วนนี้ทั้งภาคครัวเรือนและภาคปิโตรเคมีไม่มีการจัดเก็บ แต่ในภาคขนส่งจัดเก็บ 3.0374 บาทต่อกิโลกรัม และภาคอุตสาหกรรมถูกเรียกเก็บที่ 11.22 บาทต่อกิโลกรัม

ความแตกต่างของการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 2 จึงกลายเป็นความเหลื่อมล้ำกันของผู้ใช้ก๊าซในแต่ละกลุ่ม

เมื่อรัฐมีนโยบายที่จะเพิ่มราคาขายก๊าซให้กับภาคครัวเรือนจาก 18.13 บาทมาเป็น 24.82 บาทต่อกิโลกรัมเพื่อให้เท่ากับราคาในตลาดโลก เพื่อแก้ปัญหาราคาที่บิดเบือน ลดภาระให้กับผู้ใช้น้ำมันที่ต้องถูกเรียกเก็บเงินจากการเติมน้ำมันเข้ากองทุนพลังงาน ลดปัญหาการขนก๊าซจากประเทศไทยไปขายเพื่อนบ้าน ลดปัญหาการนำเอาไปใช้ในภาคขนส่ง

นี่จึงกลายเป็นมูลเหตุสำคัญที่ภาคประชาชนออกมาคัดค้านในเรื่องดังกล่าว
ที่มา:กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน
โยนปัญหาลักลอบให้ประชาชน

แพทย์หญิงกมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ประธานเครือข่ายสภาธรรมาภิบาล กล่าวว่า “หากรัฐให้เหตุผลว่าลดการลักลอบนำเอาก๊าซในประเทศไทยไปขายให้กับประเทศเพื่อนบ้าน หรือลดการนำเอาก๊าซภาคครัวเรือนไปใช้ในภาคขนส่ง อันนี้ถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องแก้ปัญหานี้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องของการกระทำความผิด รัฐต้องดำเนินการจับกุม ไม่ใช่ยกเอาเหตุนี้มาใช้เป็นข้ออ้างที่ต้องขึ้นราคาก๊าซภาคครัวเรือน”

สอดคล้องกับความเห็นของผู้ค้าน้ำมันรายหนึ่งว่า เรื่องพวกนี้ตรวจสอบกันได้ ขึ้นอยู่กับภาครัฐจะดำเนินการจริงจังหรือไม่ การขนก๊าซออกจากคลังไปยังพื้นที่ต่างๆ ต้องมีปลายทาง หากขนข้ามไปยังเพื่อนบ้าน ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ศุลกากรตามด่านต่างๆ ก็ดำเนินการตามกฎหมายได้ เว้นเสียแต่เจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจ ตรงนี้รัฐบาลต้องเข้มงวด หรือการขนข้ามชายแดนแบบกองทัพมด ตำรวจหรือศุลกากรก็รู้ว่ามีช่องทางไหนบ้างก็สกัดได้

ส่วนการลักลอบนำเอาก๊าซในภาคครัวเรือนไปจำหน่ายให้กับภาคขนส่งตามปั๊มก๊าซต่างๆ ที่ผ่านมาเมื่อตำรวจดำเนินการตรวจสอบจับกุมอย่างจริงจัง ก็สามารถกล่าวโทษต่อผู้กระทำความผิดได้เป็นร้อยราย

สิ่งหนึ่งที่เป็นหลักฐานสำคัญคือปริมาณการใช้ก๊าซภาคครัวเรือนครึ่งแรกของปี 2556 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.6% ขณะที่ภาคขนส่งมีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นถึง 59.9% เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าการรั่วไหลหรือกระบวนการทุจริตกินส่วนต่างของราคาก๊าซจากภาคครัวเรือนนั้น หากภาครัฐดำเนินการอย่างจริงจัง ปริมาณการใช้ก๊าซของภาคครัวเรือนก็ไม่ได้สูงอย่างที่กล่าวหา

ประชาชนโดน 2 เด้ง

ประการต่อมา ก่อนหน้านี้ได้มีการทยอยปรับราคาก๊าซทั้งในภาคอุตสาหกรรมจนทำให้หลายกิจการต้องปิดตัวลงไป รวมถึงปรับราคาก๊าซในภาคขนส่ง เมื่อรัฐปรับราคาก๊าซขึ้นย่อมหมายถึงภาระการชดเชยควรจะลดลง ก็มีคำถามว่าแล้วภาครัฐลดการจัดเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันบ้างหรือยัง เวลานี้คนที่ใช้รถยนต์ต้องแบกรับภาระจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันและต้องมาแบกรับกับราคาก๊าซภาคครัวเรือนที่รัฐบาลจะปรับขึ้น กลายเป็นว่าภาคประชาชนต้องแบกรับภาระไปพร้อมๆ กันถึง 2 ทาง คือจ่ายเงินเข้ากองทุนจากการเติมน้ำมัน จ่ายค่าก๊าซหุงต้มที่รัฐบาลปรับขึ้น

“ถือว่าภาคประชาชนโดน 2 เด้ง ที่ผ่านมาไม่มีการแจ้งว่าภาระที่ชดเชยให้กับภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรมลดลงไปเท่าไหร่ กระทรวงพลังงานได้ลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนในอัตราเดียวกับที่ลดการชดเชยให้กับผู้ใช้บริการที่รัฐปรับขึ้นราคาไปแล้วหรือไม่” นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว

ในส่วนของเงินกองทุนน้ำมันที่เรียกเก็บจากผู้ใช้รถยนต์เมื่อ 27 สิงหาคม 2556 มีการเรียกเก็บเงินจากน้ำมันเบนซิน 95 ที่ 10 บาทต่อลิตร เก็บจากแก๊สโซฮอล์ 95 ลิตรละ 3.50 บาท แก๊สโซฮอล์ 91 ลิตรละ 1.4 บาท ดีเซลลิตรละ 0.9 บาท เงินเหล่านี้ถูกเรียกเก็บไว้ใช้รองรับในยามที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกผันผวนและใช้เพื่อชดเชยราคาก๊าซ LPG ในทุกภาคส่วน

แม้ว่าในช่วงวันที่ 27 สิงหาคม กระทรวงพลังงานมีการลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันของน้ำมันเบนซิน 95 ลดลงลิตรละ 0.30 บาท ส่วนแก๊สโซฮอล์ ชดเชยเพิ่มลิตรละ 0.50 บาท และน้ำมันดีเซลลดลงลิตรละ 0.20 บาท มีผลในวันที่ 28 สิงหาคม แต่ราคาขายปลีกกลับไม่ได้ปรับลดลง จึงทำให้ค่าการตลาดของบริษัทค้าน้ำมันเพิ่มขึ้น จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม ได้ปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนน้ำมันแก๊สโซฮอล์ทุกชนิดลง 0.30 บาทต่อลิตร และดีเซลปรับลด 0.50 บาทต่อลิตร เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น

อีกทั้งนโยบายการอุ้มราคาน้ำมันดีเซลในทุกรัฐบาล ด้วยการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันให้น้อยที่สุด (20 สตางค์ต่อลิตร) เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท ยิ่งเป็นการเอาเปรียบผู้ที่ใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ กลายเป็นคนที่ใช้น้ำมันเหล่านี้ต้องอุ้มทั้งก๊าซ LPG และผู้ที่ใช้ดีเซล

ความเข้าใจที่ว่าผู้ที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยนั้น คงไม่ถูกทั้งหมด วันนี้รถยนต์หรูหลายค่ายนำเอาเครื่องยนต์ดีเซลเข้ามาขายกันมากมาย ผู้ที่ใช้มอเตอร์ไซค์รวมถึงมอเตอร์ไซค์รับจ้าง กลุ่มนี้ต้องเติมเบนซินหรือแก๊สโซฮอล์ พวกเขาถูกยกระดับให้อยู่ในกลุ่มที่มีรายได้มากกว่าดีเซลจริงหรือ
ที่มา:เอกสารความจริงวันนี้ของ LPG กระทรวงพลังงาน
นโยบายพลังงานพลาด

ข้อเสนอของภาคประชาชนที่เสนอให้มีการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนจากภาคปิโตรเคมี 12.55 บาทต่อกิโลกรัม สามารถเพิ่มเงินให้กองทุนได้ปีละ 3 หมื่นล้านบาท และยกเลิกการจัดเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันได้ ไม่ต้องมาขึ้นราคาก๊าซ LPG ในภาคครัวเรือน

แต่เมื่อแนวคิดของภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับภาคปิโตรเคมีว่า สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 7 แสนล้านบาทต่อปี จ้างแรงงานได้ถึง 3 แสนคน และมีรายได้จากการส่งออกเป็นอันดับ 3 ของประเทศ แล้วข้อเสนอของภาคประชาชนที่เรียกร้องให้จัดเก็บเงินจากภาคปิโตรเคมีเพิ่มคงเป็นไปได้ยาก

เห็นได้จากความพยายามของภาครัฐที่ออกมาให้ข้อมูลว่า ราคาก๊าซภาคครัวเรือนที่ปรับขึ้นนั้นทำให้ประชาชนมีภาระเพิ่มขึ้น 20 บาทต่อเดือน โดยการนำมาเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทหรือเดือนละ 9,000 บาท ค่าใช้จ่ายของก๊าซหุงต้มอยู่ที่ 0.22% ของรายได้ต่อเดือน เพื่อสร้างความชอบธรรมในการขึ้นราคาครั้งนี้

“ภาวะ LPG ที่ไม่พอใช้ในประเทศจนต้องนำเข้านั้น เนื่องจากภาครัฐให้ความสำคัญกับปิโตรเคมีที่ประเมินว่าสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่ากิจการอื่น อีกทั้งยังช่วยให้หน่วยงานอย่าง ปตท.สามารถดำเนินธุรกิจได้ครบวงจรและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ โดยไม่คำนึงถึงปริมาณการใช้ สุดท้ายก็ต้องนำเข้า เป็นที่มาของการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ซึ่งส่วนหนึ่งถูกนำมาใช้ชดเชยราคาก๊าซ LPG ที่ต้องนำเข้า”

กระเป๋าแฟบ

หากทุกอย่างเดินหน้าต่อ 1 กันยายนนี้ ภาคประชาชนจะต้องเผชิญกับการขึ้นราคาพร้อมกัน 3 รายการคือ ราคาก๊าซ LPG ค่าทางด่วนและค่าไฟฟ้า

หากมองเฉพาะค่าก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนที่จะปรับเพิ่มขึ้นนั้น ในแง่ของการใช้ก๊าซหุงต้มภายในบ้านอาจไม่กระทบมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน 1 ถังอาจใช้ได้ถึง 2-3 เดือนหรือเกินกว่านั้น

“สิ่งที่เรากังวลคือมาตรการที่รัฐให้ความช่วยเหลือนั้น จะครอบคลุมได้ทั้งหมดจริงหรือไม่ โดยเฉพาะร้านค้าที่ขายอาหาร มนุษย์เงินเดือนที่ต้องฝากท้องกับพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้ หากพวกเขาไม่สามารถทำตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดหรือมาตรการนี้ใช้ไปแค่ระยะหนึ่ง หลังจากนั้นรัฐยกเลิกการช่วยเหลือ ต้นทุนค่าก๊าซก็จะถูกผลักมาที่ประชาชนผ่านการปรับขึ้นของราคาอาหาร” ข้อสังเกตจากนักเศรษฐศาสตร์มหภาค

ผลกระทบที่ตามมาย่อมทำให้เงินในกระเป๋าของประชาชนทุกคนหายไป

คิวต่อไปค่าโดยสาร-ราคาสินค้า

หากมองถึงนโยบายของกระทรวงพลังงานทั้งหมด เมื่อมีการปรับราคาก๊าซในภาคครัวเรือนขึ้นมาเท่ากับภาคขนส่งแล้วคือที่ราคา 21.38 บาทต่อกิโลกรัม จากนั้นก็จะปรับราคาก๊าซในภาคขนส่งและภาคครัวเรือนขึ้นพร้อมๆ กันเพื่อให้ขึ้นไปอยู่ที่ราคาตลาดโลกคือ 24.82 บาทต่อกิโลกรัม

ดังนั้นค่าโดยสารของรถที่ใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงย่อมต้องเพิ่มขึ้น และที่จ่อคิวไว้แล้วคือแท็กซี่ที่จะขอปรับราคาเริ่มต้นที่ 35 บาท เป็น 50 บาท สำหรับ 2 กิโลเมตรแรก และยังมีการบวกค่าบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก แม้ภาครัฐอาจอ้างถึงเรื่องของ NGV ที่มีรถยนต์จำนวนหนึ่งใช้ แต่ทุกคนก็ทราบดีว่าปัญหาของ NGV คือมีปั๊มน้อย ปตท.ไม่ค่อยขยายปั๊มเพิ่ม แถมใช้เวลาในการเติมที่นานกว่า

โอกาสที่ค่าโดยสารจากรถยนต์ที่ใช้ก๊าซ LPG ที่มีมากกว่าอาจปรับขึ้นราคาย่อมมีความเป็นไปได้สูง สุดท้ายก็จะส่งผลไปถึงราคาสินค้า

“ซีเรีย” ตัวซ้ำเติม

ทุกอย่างในเวลานี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะทุกอย่างมาขึ้นราคาพร้อมๆ กันท่ามกลางที่ประเทศกำลังมีปัญหาด้านกำลังซื้อ ที่ถูกโครงการรถคันแรกฉุดเศรษฐกิจในประเทศเอาไว้ อีกทั้งในต่างประเทศคู่ค้าสำคัญเศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้นดีนัก

แถมด้วยเหตุการณ์ในซีเรียที่มีโอกาสเกิดสงครามขึ้นได้ทุกเมื่อ หากสหรัฐฯ เปิดฉากโจมตี ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้น พร้อมๆ กับการอ่อนค่าของเงินบาท ยิ่งเป็นแรงกดดันต่อภาวะเศรษฐกิจไทยมากยิ่งขึ้น

หากราคาพลังงานถูกปรับขึ้นทั้งจากก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนและภาคขนส่ง หรือราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจากความกังวลในภาวะสงคราม รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนถึงระดับ 32 บาท เมื่อเหตุการณ์ทุกอย่างเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ต้นทุนพลังงานจะส่งมาที่ราคาสินค้าทันที ยิ่งจะทำให้ต้นทุนในการดำรงชีวิตของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ภาคประชาชนจะออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายด้านพลังงาน ที่ใช้ประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้แบกรับภาระแทน ไม่เว้นแม้แต่คนที่รักรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แม้แต่คนเสื้อแดงที่ออกมาเคลื่อนไหวเมื่อ 29 สิงหาคมยังเห็นด้วยกับแนวทางเคลื่อนไหวของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
กำลังโหลดความคิดเห็น