xs
xsm
sm
md
lg

‘หมอประดิษฐ’ตัวร้ายทำลายระบบสุขภาพไทย!พบวิธีการส่งส่วยของบิ๊กขรก.ต้นเหตุสธ.ทวงคืนอำนาจ-เงิน? (ตอนที่2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เบื้องหลัง ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีสาธารณสุข ประกาศแผนปฏิรูป สธ.ใหม่ รุกคืบหวังดึงอำนาจ-เงิน จาก “องค์กรตระกูล ส.” ทั้งหมดคืนให้ สธ. พบวิธีการส่งส่วยในอดีตจากผู้น้อยถึงผู้ใหญ่ ทำได้ง่าย ชี้ตระกูล ส.ก้างขวางคอ นักการเมือง-บิ๊ก ขรก.โดยเฉพาะ สปสช.ถูกจัดการเป็นแห่งแรก เร่งเดินหน้า 5 แผนใหญ่ให้ถึงเป้าหมาย ด้านหมอวิชัย โชควิวัฒน แจงอยู่ภายใต้อุ้งมือนักการเมืองจะทำให้ระบบสุขภาพไทยอ่อนแอ เอื้อธุรกิจเอกชนตามแผน Medical hub!

ทีม Special scoop นำเสนอเรื่อง “หมอประดิษฐ” ตัวร้ายทำลายระบบสุขภาพไทย! ถีบหัวส่งบัตรทอง 48 ล้านคนเป็นอนาถาเต็มขั้น (ตอนที่ 1) ไปแล้ว และครั้งนี้จะนำเสนอเป็นตอนที่ 2

เพื่อชี้ให้เห็นถึงเบื้องหน้า เบื้องหลัง การแย่งชิงอำนาจ และงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขกับองค์กรตระกูล ส.ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ต่อไป

“การเกิดขึ้นของนโยบายสาธารณสุขเพื่อสุขภาพ Health Public policy ผ่านช่องทางกระบวนการอื่นที่ไม่ต้องพึ่งกระทรวงสาธารณสุข มีงบประมาณก้อนโตที่กระทรวงไม่ได้ร่วมชี้ทิศทาง”

นั่นเป็นข้อความตอนหนึ่งในคำประกาศหน้าเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุขภายใต้แผนการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข หรือ MOPH Reform ที่นอกจาก P4P การทบทวนหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทน กำลังคนภาครัฐ กระทรวงสาธารณสุข และแผน Co-play โครงการร่วมจ่ายแล้ว แผนใหญ่ของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะต้องทำให้สำเร็จ

ดังนั้นภายใต้ MOPH Reform นี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ในการบริหาร จัดการ กระทรวงสาธารณสุข ในยุคของ นพ.ประดิษฐ ต้องการควบคุมกลไก งบประมาณต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพและเคยอยู่ในหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขกลับคืนมา

โดยเฉพาะหน่วยงาน “ตระกูล ส.” ทั้งหมด ซึ่งบัดนี้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ พร้อมงบประมาณก้อนโต จนมีกระแสข่าวลือว่า นพ.ประดิษฐกำหนดเป้าหมายใหญ่คือการยุบองค์กรดังกล่าวทั้งหมด หรือหากจะยังคงอยู่ ก็จะค่อยๆ ลดบทบาทลง จนกลายเป็น “เสือกระดาษ” ที่มีแต่ชื่อ แต่ไม่มีอำนาจ และอยู่ใต้การควบคุมของฝ่ายการเมือง และข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขเบ็ดเสร็จ!

สธ.รุกคืบทวงอำนาจกลับคืน
อย่างไรก็ดี มีกระแสข่าวลือในกระทรวงสาธารณสุขว่า จุดเริ่มต้นของยุทธศาสตร์ที่ นพ.ประดิษฐกำหนดขึ้นมานั้น เบื้องหลังมาจากผู้มีอำนาจในหมู่ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขนั่นแหละที่เป็นคนผลักดันเรื่องทั้งหมดผ่านรัฐมนตรี เพราะมีความอึดอัดใจอย่างมากในสมัยเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง ที่แต่เดิมเคยมีอำนาจ มีเงิน มีบารมี แต่หลังจากการเกิดขึ้นของ สปสช. ผู้ตรวจราชการกระทรวงจึงถูกลดบทบาทลงอย่างมาก และความแค้นนี้ถึงเวลาที่จะต้องเอาคืน

นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้ชื่อของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตกเป็นจำเลยในสายตาของพันธมิตรในกลุ่มแพทย์ชนบท และบรรดาผู้ที่ปฏิบัติงานในตระกูล ส. เพราะเขาเคยเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขมาก่อน และยังมีลูกคู่ที่ออกมา “ประฝีปาก” กับกลุ่มหมอชนบทที่คัดค้านเรื่อง P4P อย่าง นพ.อภิชัย มงคล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ที่สนับสนุนแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างระบบสาธารณสุขของ รมว.ประดิษฐ

ทั้ง นพ.ณรงค์ และ นพ.อภิชัย ทั้งสองคนเติบโตมาเส้นทางเดียวกันและต่างเคยเป็นอธิบดีกรมสุขภาพจิต และเป็นผู้ตรวจกระทรวงเช่นกัน

โดยเฉพาะปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนนำค่าใช้จ่ายรายหัวลงไปให้ผู้ตรวจฯ ที่ นพ.ประดิษฐกำลังดำเนินการ ก็ออกจะเข้าเค้าว่าใครเกี่ยวข้องอย่างไร

การรุกคืบเพื่อให้กระทรวงสาธารณสุข กลับมามีอำนาจในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการบริหารงาน-งบ-คน นั้น มีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน

กระทั่งคนในรัฐบาลเพื่อไทยถึงกับบอกว่า “นพ.ประดิษฐ” ถูกส่งมาทำลายอำนาจของ สปสช.และองค์กรตระกูล ส.ทั้งหมด

สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงเป็นองค์กรแรกที่ฝ่ายการเมืองและข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขรุกคืบเข้าไปก่อน เนื่องจาก สปสช.นั้น เป็นองค์กรใหญ่ ที่ดึงบทบาทสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขไป ทั้งเรื่องการจัดวางนโยบายเรื่องสุขภาพ และการบริหารเงินงบประมาณปีหนึ่งมากกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่

ส่วนนี้ทำให้ฝ่ายข้าราชการระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข รู้สึกว่าเมื่อ สปสช.เป็นผู้กำหนดนโยบาย และเป็นคนดูแลเงิน แต่กระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศจะต้องเป็นคนปฏิบัติ

แหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลายๆ นโยบายปฏิบัติได้ แต่หลายนโยบายทำไม่ได้จริง เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก เหมือนโครงการล้างไตฟรี ที่ทำให้โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุขรู้สึกอึดอัดอย่างมาก เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก

“เงินที่ให้แต่ละโรงพยาบาล เป็นเงินก้อนเดียว ในเงินก้อนนี้ โรงพยาบาลต้องบริหารทั้งเงินเดือนหมอ พยาบาล นำไปซื้อยา จัดสรรค่าเหมาจ่าย ทุกอย่างอยู่ในก้อนเดียวกันหมด ทีนี้ เมื่อมีโครงการที่ต้องใช้เงินมาก และเป็นโครงการระยะยาว ส่วนใหญ่แล้วเป็นสิ่งที่ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน แต่ในเมื่อเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ใช้เงินรัฐ ก็ยอมขาดทุนไป เมื่อสิ้นปีก็ของบประมาณใหม่มาโปะ เป็นอย่างนี้ทุกปี”

โดยก่อนที่จะมีการจัดตั้ง สปสช.นั้นนโยบายในการรักษาจะเป็นเรื่องของแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งมีองค์ความรู้ และงบประมาณจะต้องกระจายออกไปจากส่วนกลาง แล้วโรงพยาบาลภายใต้กระทรวงสาธารณสุขต่างๆ ก็จะนำงบประมาณไปบริหารตามเป้าหมายของกระทรวง โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ไปตรวจตามโรงพยาบาลต่างๆ ว่าสามารถบริหารจัดการได้ดีหรือไม่ มีปัญหาอะไร งบประมาณพอหรือไม่ จึงจะมาดำเนินเรื่องที่ส่วนกลางเพื่อของบประมาณเพิ่มให้แต่ละโรงพยาบาลได้

“การจัดสรรแบบในอดีต มีหมอกลุ่มหนึ่งเห็นว่า อำนาจของกระทรวงสาธารณสุขมีมากเกินไป โดยเฉพาะกระบวนการ “สร้างบารมี” จะใช้วิธีการลงขันนำเงินไปให้ผู้ตรวจราชการประจำเขตต่างๆ จากนั้นผู้ตรวจราชการก็จะนำเงินไปส่งให้อธิบดีต่างๆ แล้วก็นำส่งต่อเป็นทอดๆ ไปถึงมือปลัดกระทรวง” แหล่งข่าวระบุ

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการจัดตั้ง สปสช.เกิดขึ้นได้ทำลายกระบวนการสร้างบารมี และผลประโยชน์ที่เคยได้ของข้าราชการผู้ใหญ่และนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุขต้องปิดฉากไปเช่นกัน ทั้งนี้เพราะอำนาจและงบประมาณถูกถ่ายไปอยู่ สปสช.ทั้งสิ้น

“สปสช.มีบทบาทหน้าที่เป็นผู้จ้างกระทรวงสาธารณสุขให้ปฏิบัติงาน จึงไม่แปลกที่ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขจะอึดอัดและอยากดึงอำนาจกลับคืน”

ดังนั้นจึงต้องดึงอำนาจบางส่วนที่ สปสช.มีอยู่และเป็นตัวจักรสำคัญในการสร้างผลประโยชน์และบารมีให้กลับมาอยู่ในมือกระทรวงสาธารณสุขให้จงได้

วิธีการของเขา คือเริ่มต้นด้วยการแก้กฎระเบียบเพิ่มตำแหน่งเข้าไปเป็นคณะกรรมการ สปสช. โดย มีการขอเพิ่มตำแหน่งรองเลขาฯ เพิ่ม 2 ตำแหน่ง จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 3 คน เป็น 5 คน โดย สปสช.ได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 56 ว่าได้คัดเลือกรองเลขาฯ ทั้ง 2 คนแล้ว ได้แก่ นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ และ นพ.อรรถสิทธิ์ กาญจนสินิทธิ์

ขณะเดียวกันการแต่งตั้งครั้งนี้ ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงสาธารณสุขและสื่อมวลชนว่าเป็นการกระทำตาม “ใบสั่ง” การเมืองที่ต้องการขยายสัดส่วนคณะกรรมการในฝ่ายของการเมืองเข้าไปเพื่อกำหนดบทบาทของ สปสช.ให้สามารถเดินตามสิ่งที่การเมืองต้องการได้

“ตอนนี้หมอชนบทเชื่อว่า สปสช.ถูกการเมืองครอบงำได้เกือบทั้งหมดแล้ว โดยเฉพาะ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.ได้หมดวาระไปแล้ว และต้องการเข้ามาเป็นเลขาฯ สปสช.อีกเป็นครั้งที่ 2 จึงทำให้ หมอ.วินัยต้องยอมทำตามความต้องการของฝ่ายการเมืองไปอย่างน่าเสียดาย”

เมื่อการรุกคืบเข้า สปสช.เป็นผลสำเร็จ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ จึงประกาศเดินหน้าที่จะปรับโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุขใหม่

5 แผนงานดึงอำนาจสปสช.คืนสธ.

แหล่งข่าวข้าราชการระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การผ่าตัดโครงสร้างใหม่โดย รมว.ประดิษฐจะมีแผนงานสำคัญ 5 แผนงาน

เรื่องแรกของการรุกคืบกลับมาคุมอำนาจหลักของระบบสุขภาพของฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำนั้น นพ.ประดิษฐได้เดินหน้าเรื่องนี้แล้ว โดยจะมีการตั้งองค์กรกลางขึ้นมาองค์กรหนึ่ง มีหน้าที่เป็นองค์กรกลางดูแลระบบเบิกจ่าย และข้อมูลของระบบสุขภาพทั้ง 3 คือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, กองทุนสวัสดิการข้าราชการและกองทุนประกันสังคม

แต่ไม่ใช่เพียงต้องการจะรวบอำนาจ สปสช.แค่นั้น เพราะแผนนี้เป็นแผนที่จะรวบ 3 ระบบสุขภาพมาไว้เป็นอันเดียวกันอย่างชัดเจน คือหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม โดยที่ผ่านมามีการประชุมภายใต้ “หน่วยงานกลางเบิกจ่าย” (National Clearing House) ที่กระทรวงสาธารณสุข โดยนอกจาก นพ.ประดิษฐจะให้ทั้ง 3 หน่วยงานสุขภาพเข้าร่วมแล้ว ยังได้ให้สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.), สำนักงานกลางสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.), ศูนย์พัฒนากลุ่มโรคร่วมไทย (ศรท.) และคณะแพทย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าร่วมออกแบบองค์กรดังกล่าวเรียบร้อย

องค์กรที่จะเกิดขึ้นนี้ มีแนวโน้มที่จะเป็นการบริหารแบบองค์กรมหาชน หรือรูปแบบบริษัทยังไม่ได้ข้อยุติ แต่สิ่งที่รัฐมนตรีประดิษฐต้องการคือ คนที่ดูแลจะต้องเป็นคนจากภาครัฐ โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ควรที่จะนั่งเป็นประธานบอร์ด

องค์กรนี้เดินหน้าไปตามแผนการที่ 1 อย่างเต็มที่ เพื่อให้วันที่ 1 ต.ค. 2557 เป็นวันเริ่มต้นของการทำงานองค์กรกลางดูแลระบบเบิกจ่าย และข้อมูลของระบบสุขภาพทั้ง 3 แล้ว

ดังนั้นต่อไปเรื่องการเบิกจ่าย ไม่ว่าจะ สปสช., สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม หน่วยงานนี้จะดูแลทั้งหมด ถือเป็นการดึงอำนาจการบริหารด้านการเงินของ สปสช.กลับออกมาบริหารเอง และยังมีเป้าหมายในการดูแลกองทุนสวัสดิการข้าราชการ และกองทุนประกันสังคมแบบครบวงจรด้วย

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับแผนการที่ 2 ที่ นพ.ประดิษฐวางเป้าหมายไว้ คือการตั้งเขตสุขภาพขึ้นมาใหม่ 12 เขต แต่ละเขตจะดูแลโรงพยาบาลในพื้นที่ 5-6 จังหวัด โดย นพ.ประดิษฐได้ประกาศแผนนี้ไปแล้วกลางเวทีประชุมการพัฒนากระทรวงสาธารณสุขเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยจะมีการยกเลิกระบบอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวที่ใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่แต่เดิมโรงพยาบาลต่างๆ จะต้องมีการเบิกจ่ายจาก สปสช. รวมถึงงบประมาณเงินเดือนแพทย์และบุคลากร ที่จะมีการโอนงบฯ ทั้งหมดไปไว้ที่เขตบริการสุขภาพทั้ง 12 เขตแทน ซึ่งมีผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานดูแล 12 เขตสุขภาพดังกล่าว ทั้งนี้ นพ.ประดิษฐประกาศว่า ในแต่ละเขตบริการสุขภาพจะมีการกำหนดตัวชี้วัดจากสุขภาพของประชาชนที่ใช้บริการ หากสถิติโรงพยาบาลใดดีก็จะได้รับงบประมาณพิเศษมากขึ้น

อำนาจของผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขกำลังจะถูกถ่ายกลับมาให้ยิ่งใหญ่ มีบารมีเหมือนเดิม

แหล่งข่าวผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยเพิ่มว่า การตั้งเขตสุขภาพขึ้นมาใหม่นี้ มีแนวคิดมุ่งทำการบริหารเครือข่ายแบบบริษัท Cooperate Company เป็นองค์กรระบบสุขภาพ ที่พัฒนามาจากของเดิมคือ คณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขเขตที่มีอยู่แล้ว แต่ยังทำงานไม่ได้เต็มที่ เพราะไม่ได้มีงบประมาณมาบริหาร แต่เมื่อรัฐมนตรีตั้งเขตดังกล่าว พร้อมกับให้งบฯ มาบริหารแล้วนั้น ก็จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ เช่น เมื่อเงินลงมาที่เขตบริหาร ก็จะมีการบริหารเพื่อให้คนมีสุขภาพดี แล้วเงินที่ใช้ไปก็ต้องมีประสิทธิผล

ตัวอย่างคือ ผู้บริหารเขตอาจจะมีโครงการขึ้นมาดูแลแม่และเด็กในเดือนนี้ จะดูแลยังไง เพื่อทำแบบเป็นองค์รวม ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เป้าหมายคือ ต้องเสริมสร้างสุขภาพให้ประชาชน ลดการป่วยให้ได้ เช่นโรคไข้เลือดออก เงินที่เหลือ ผู้บริหารเขตฯ ก็สามารถนำไปให้โรงพยาบาลในพื้นที่อีกทีหนึ่ง เพื่อเป็นค่าตอบแทนพิเศษให้หมอ

“คนไข้ 1 คน บางคนรักษาหลายโรงพยาบาล ตั้งแต่โรงพยาบาลชุมชน มาโรงพยาบาลจังหวัด ไปโรงพยาบาลศูนย์ ถามว่าส่วนนี้ต้องมีการทำงานแบบบูรณาการหรือไม่ กระทรวงสาธารณสุขคิดว่าถ้ามีองค์กรระบบสุขภาพ 12 เขตขึ้นมาทำงานบริหารจะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นมาก ซึ่งจะรวมในส่วนที่ต้องเน้นหนักไปที่งานส่งเสริมสุขภาพท้องถิ่น เช่น ดูแลแม่และเด็กร่วมกันอย่างไร ทำอย่างไรคนในเขตพื้นที่ถึงเป็นไข้เลือดออกน้อยลง เมื่อบริหารจัดการดี มองว่าการขาดทุนของโรงพยาบาลจะลดลงได้”

โดยพิจารณาได้จากปัจจุบันในท้องถิ่น จากเดิมที่จะมีการแบ่งเขตการดูแลสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุข 12 เขต โดยให้ผู้ตรวจราชการเป็นผู้ดูแลในการตรวจสอบการดำเนินงานของแต่ละโรงพยาบาล แต่ก็จะเป็นแค่ลักษณะตรวจสอบให้โรงพยาบาลทำงานตามนโยบายและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมี สปสช.ระดับพื้นที่ 12 เขตที่ปัจจุบันดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ และงบประมาณให้แต่ละโรงพยาบาล

แต่ในอนาคตจะมีองค์กรระบบสุขภาพที่แบ่ง 12 เขตขึ้นมาทำหน้าที่บริหารทั้งงาน-เงิน-งบ ดูแลโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดเขตแต่ละเขต โดยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขจะเปลี่ยนผันจากคนควบคุมมาเป็นผู้บริหาร โดย สปสช.เขตก็จะยังมีอยู่ 12 เขตเหมือนเดิม แต่งบประมาณบริหารจะถูกถ่ายไปอยู่ในเขตการดูแลสาธารณสุขแบบใหม่แทน

จุดนี้แม้แต่ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขเองยังมองว่าไม่เหมาะสม เหตุผลคือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงควรจะเป็นผู้ควบคุมดูแล แต่ถ้าจะทำหน้าที่บริหารควบคู่ไปพร้อมด้วยแล้วนั้น ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลจึงเท่ากับถูกทำลายไป

จุดนี้ก็เป็นจุดที่น่าห่วง!

อย่างไรก็ดี แผนการดึงอำนาจบริหารออกมาจาก สปสช.ยังเดินหน้าอีก เมื่อ รมว.ประดิษฐประกาศเลิกใช้การจ่ายเงินตามอัตรากลุ่มโรคร้ายแรง (ดีอาร์จี) แต่จะใช้วิธีเบิกจ่ายตามราคากลางในการรักษา โดยการคำนวณดีอาร์จีจะใช้เพื่อคำนวณหาต้นทุนและมาตรฐานการจ่ายเงินของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น และยังประกาศยกเลิกการจ่ายเบี้ยทุรกันดารสำหรับแพทย์ชนบท ซึ่งแต่เดิมจะเบิกจ่ายผ่านระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมของ สปสช. แต่ให้เปลี่ยนมาจ่ายตามระบบเขตและพ่วงบริการ ซึ่งจะมีแบบชี้วัดจากผลสัมฤทธิ์ของการรักษาในพื้นที่เป็นหลัก

กลยุทธ์ที่ นพ.ประดิษฐกำลังขับเคลื่อนอยู่นั้น ถือเป็นการลิดรอนอำนาจต่อรองของกลุ่มหมอชนบทได้อย่างดียิ่ง เพราะหากปล่อยให้หมอชนบทยึดองค์กรหลักด้านสุขภาพต่อไป จะเป็นผลร้ายต่อนักการเมืองและพรรคการเมืองที่เข้ามาบริหารทั้งในระดับประเทศและระดับกระทรวง!

P4P วุ่น หมอชนบทต้านสุดตัว

แผนที่ 3 คือการประกาศใช้ P4P (Pay for performance) หรือการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน แทนการเหมาจ่ายแบบเดิม ซึ่งแต่เดิม สปสช.ได้ออกแบบการจัดระบบตอบแทนแบบ 3 เหลี่ยมคือ ชั้นล่างสุดคือเงินเดือน ชั้นต่อมาคือการเหมาจ่าย และชั้นบนสุดเป็นระบบ P4P ที่มีอยู่แล้ว แต่รัฐบาลต้องการยกเลิกระบบเหมาจ่ายแต่ให้ใช้ P4P แทน ซึ่งเรื่องนี้กลุ่มหมอชนบทได้ทำการต่อต้านอย่างมาก โดยมองว่าการใช้ P4P จะทำให้แพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุข ทำงานเหมือนหุ่นยนต์ และการรักษาคนไข้ด้วยใจจะค่อยๆ ลดน้อยถอยลงไปเพราะต้องทำแต้ม โดยการเคลื่อนไหวของกลุ่มหมอชนบทรุนแรงถึงขนาดมีการเรียกร้องให้ปลด นพ.ประดิษฐออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี และขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงการหาข้อยุติร่วมกันของ 3 ฝ่าย คือผู้แทนนายกรัฐมนตรี แพทย์ชนบท และ รมว.สธ. และหากผลการเจรจาไม่เป็นที่พอใจของแพทย์ชนบทก็อาจจะมีการชุมนุมใหญ่อีกครั้งที่หน้าบ้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 20 มิถุนายนที่จะถึงนี้

แหล่งข่าวผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า แนวความคิดของการใช้ P4P คือ ปัญหาในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่โรงพยาบาลชุมชนมีหมอจำนวนที่มากขึ้น และไม่ได้อยู่ในระดับที่ขาดแคลนแล้ว แต่ละโรงพยาบาลจะมีหมอในโรงพยาบาลชุมชนแต่ละแห่ง 4 คนขึ้นไป ซึ่งปัญหามันอยู่ที่ว่า โรงพยาบาลชุมชนนั้น มักจะมีการส่งคนไข้ไปรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลศูนย์ ทำให้โรงพยาบาลชุมชนรักษาแต่โรคไม่ยาก สมมติว่ามี 30 เตียง ส่วนใหญ่ก็มีคนไข้ประมาณแค่ 15 เตียง ขณะที่โรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลศูนย์มีจำนวนคนไข้ปกติและคนไข้ที่ถูกส่งตัวต่อมาเป็นจำนวนมาก บ่อยครั้งจึงพบว่าโรงพยาบาลมีเตียง 300 เตียง แต่คนไข้มีจำนวนเกิน 300 ราย

ดังนั้น แผนของ รมว.ประดิษฐคือจะใช้ P4P มาช่วยเรื่องการให้หมอในโรงพยาบาลชุมชน หาวิธีที่จะรักษาคนไข้ให้ได้มากขึ้น ลดภาระโรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลศูนย์ อีกทั้งหากเป็นโรคร้ายแรงที่รพ.ชุมชนทำไม่ได้ ก็จะเป็นแรงจูงใจให้แพทย์โรงพยาบาลจังหวัดไปช่วยทำการรักษาให้ที่โรงพยาบาลชุมชนด้วย

แน่นอนว่าเป็นเหตุผลที่แตกต่างกับเหตุผลที่กลุ่มหมอชนบทยืนยันว่า ระบบเก่าดีอยู่แล้ว และแพทย์โรงพยาบาลชุมชนยังมีความจำเป็นในระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐาน ถ้าไม่มีระบบจูงใจหมอก็จะเป็นปัญหาในอนาคต อีกทั้งแพทย์ไม่ควรที่จะรักษาคนไข้แบบล่าแต้มเป็นหุ่นยนต์หรือเครื่องจักร แต่ควรรักษาและดูแลคนไข้ด้วย “ใจ”

เงื่อนไข คนไข้ประเภทไหนต้อง Co-pay

ส่วนแผนที่ 4 ที่ นพ.ประดิษฐกำลังผลักดัน แต่ยังไม่สามารถดันไปให้ทะลุดวงดาวได้คือ เรื่อง Co-pay หรือโครงการร่วมจ่าย ซึ่งแหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามข้อเท็จจริงทางกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าทำไมรัฐบาลจะต้องไปจ่ายให้กับคนที่ไม่ดูแลสุขภาพตัวเอง เช่น คนเมาไปขับรถชน ควรเอาเงินภาษีมาจ่ายให้หรือไม่ หรือโรคที่ควรจะดูแลตนเองได้ แต่ไม่ดูแลตนเอง เช่น คนเป็นเบาหวานแต่ไปกินทุเรียน คนสูบบุหรี่เป็นประจำ ฯลฯ จึงมีการเสนอความเห็นกันว่าคนที่ไม่ดูแลตัวเองก็ควรให้ประชาชนร่วมจ่ายด้วย แต่ในระดับนี้คงทำไม่ได้ เพราะจะถูกต่อต้านอย่างหนัก แต่ที่ทำได้จะเป็น Co-pay 2 ประเภทคือ

1. Co-pay ค่าห้อง ค่ายานอกบัญชียาหลัก หรือค่าหมอพิเศษ ส่วนนี้มีการทำอยู่แล้ว

2. โรคที่เป็นภาระของคนไข้ เช่น โรคล้างไต รัฐให้ 1,500 บาท แล้วคนไข้อยากไปทำที่โรงพยาบาลเอกชน ราคา 2,500 บาท ก็ต้องจ่ายเองอีก 1,000 บาท

วิธีการดังกล่าวเป็นทางออกที่ดีให้กับคนไข้ และการกำหนดยอดวงเงินที่ชัดเจนก็เหมือนกับการที่บริษัทประกันชีวิตต่างๆ มีกฎควบคุมการใช้เงินไว้

Co-pay นี้ มีการนำเสนอที่ประชุมบอร์ด สปสช.ไปแล้วเมื่อเดือนเมษายนแต่เรื่องยังไม่ผ่านการอนุมัติ เนื่องจากคณะกรรมการส่วนใหญ่ยังเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เพราะจะเป็นการผลักประชาชนคนยากจนให้กลับไปอยู่ในระบบอนาถา

นี่คือแผนลดบทบาท ลดอำนาจของ “สปสช” ที่ รมว.ประดิษฐเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว และทุกแผนมีการดำเนินงานไปแล้วตามแผน

แผนใหญ่ตั้งคณะกก.นโยบายสุขภาพแห่งชาติ

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ สปสช.ที่ต่อไปจะถูกดึงอำนาจกลับไปกระทรวงสาธารณสุข แต่ฝ่ายการเมืองกำลังมองว่า องค์กรตระกูล ส.ทั้งหมดจะต้องถูกลดบทบาทไปพร้อมกัน และเข้ามาอยู่ภายใต้การบริหารของกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้แผนที่ 5 คือการเตรียมตัวตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ที่ รมว.ประกาศว่า จะมีไว้เพื่อบูรณาการบริหารที่กระจัดกระจายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แผนการนี้เป็นแผนการใหญ่ที่สุด ที่ต่อไปอำนาจการกำหนดนโยบายจะกลับมาอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขที่มีรัฐมนตรีว่าการนั่งเป็นหัวขบวน

องค์กรตระกูล ส.ทั้งหมด ต่อไปจะต้องอยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาตินี้ด้วย

สสส.ผลงานเพียบ-สนิทกับสื่อ

องค์กรตระกูล ส. ต่อมาที่จะมีการถูกลดอำนาจอย่างแน่นอนนั้น คือ สสส. หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

สสส.เป็นองค์กรที่ใช้งบประมาณบริหารจากภาษีที่ขอเพิ่มจากภาษีสรรพสามิตเหล้า บุหรี่อีก 2% ทำให้ สสส.มีเงินบริหารงานปีละ 3,000 กว่าล้านบาท

สสส.เล็กกว่า สปสช.มาก แต่งบประมาณ 3,000 กว่าล้านบาทไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ประกอบกับตั้งแต่มี สสส. ปรากฏว่า สสส. ที่ทำงานด้านการรณรงค์โดยเน้นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในสังคมเป็นหลักนั้น ประสบความสำเร็จอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นโครงการสวดมนต์ข้ามปี, ให้เหล้าเท่ากับแช่ง, โครงการเลิกสูบบุหรี่ ฯลฯ

อีกทั้งยังมีประชาคมเครือข่าย ที่เข้ามาร่วมงานกับ สสส.เป็นหมื่นๆ องค์กร

อย่าลืมว่าการรณรงค์ต่างๆ นั้น สสส.ใช้วิธีการซื้อโฆษณาจากสื่อจำนวนไม่น้อย ทำให้ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่าง สสส. กับสื่อต่างๆ เป็นไปด้วยดีอย่างมาก

ใครได้ สสส.ไป จะได้ทั้งผลงาน และยังสามารถดึงงบประมาณบางส่วนมาโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้กระทรวงสาธารณสุขได้อีกด้วย

สช.VS สำนักนโยบายและแผน ใครของจริง!

องค์กร ส. ต่อมา คือ สช. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่ชัดเจนยิ่งว่า ทั้งหมอชนบท และข้าราชการระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขก็ยืนยันกับ “ทีม Special scoop หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน” ว่า สช.เป็นองค์กรที่เกิดขึ้น เพราะประชาคม องค์กรพัฒนาเอกชน และเครือข่ายด้านสุขภาพต่างๆ ไม่อยากทำงานอยู่ภายใต้การกำหนดนโยบายโดยกระทรวงสาธารณสุข ที่การเมืองเข้าแทรกได้ง่าย

แต่แหล่งข่าวระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ชี้ว่า แม้ประชาคมเครือข่ายต่างๆ ไม่ต้องการทำงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุข แต่อย่าลืมว่ากระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานปฏิบัติ ที่จะสามารถขอความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐกระทรวงอื่นๆ ในท้องที่ได้ด้วย

ดังนั้น สช.อาจมีนโยบายและแผนที่ได้จากการมีส่วนร่วมภาคประชาชน แต่อย่าลืมว่าเวลาไปปฏิบัติอาจจะมีปัญหาที่หน่วยราชการของกระทรวงอื่นๆ ในท้องที่ไม่รับไปปฏิบัติก็เป็นได้ แต่กระทรวงสาธารณสุขสามารถทำบทบาทนี้ได้

จึงเห็นว่า การดึง สช. และสำนักงานนโยบายและแผน ไปทำงานร่วมกันภายใต้ คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติจะดีที่สุด เช่นเดียวกับหน่วยงานที่ทำงานวิจัยอย่าง สวรส. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ก็ควรจะเข้ามาทำงานกับกระทรวงสาธารณสุขภายใต้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติด้วยเหตุผลเดียวกัน

“หมอวิชัย” ชี้การเมืองต้องหยุดโกหก!

แน่นอนว่าเรื่องนี้ได้รับการคัดค้านอย่างหนักของกลุ่มหมอชนบทด้วย เพราะมองว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เป็นผู้ที่ไม่มีอำนาจอะไรเลย เพราะกระทรวงสาธารณสุขและฝ่ายการเมือง มีสัดส่วนอยู่ในคณะกรรมการ สปสช.ด้วย

ความคิดเห็นอะไร อย่างไร กระทรวงสาธารณสุข และฝ่ายการเมืองก็มีสิทธิแสดงความคิดเห็น

เพียงแต่ รมว.และข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขต้องการอำนาจกลับคืนให้กระทรวงสาธารณสุขยิ่งใหญ่ตามเดิมแค่นั้นหรือเปล่า?

นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ยืนยันว่า การปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข และแผนต่างๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการนั้น เป็นความประสงค์ที่จะลดอำนาจตระกูล ส. แล้วถ่ายเทกลับไปที่กระทรวงสาธารณสุขให้คุมทั้งเงิน งาน งบ โดยไม่สนว่าอะไรจะดีกับประชาชน แต่เป็นเรื่องอำนาจ และมีการโฆษณาให้ประชาชนเชื่อว่าปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขแล้วจะดี แต่หลายๆ เรื่องยังเป็นการพูดไม่ตรงกับความจริงเท่าไรนัก และประชาชนจะเป็นผู้เสียประโยชน์อย่างมาก หรือการที่ทำให้รู้สึกว่าต้องยุบองค์กรเหล่านี้ คิดได้ประการเดียว คือความต้องการมีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข ที่นักการเมืองสามารถเข้าแทรกแซง หรือมีอิทธิพลได้ตลอด

เมื่อเป็นเช่นนั้น สิ่งที่ นพ.ประดิษฐควรทำคือ ต้องเลิกโกหกประชาชน!

ทำไมข้าราชการระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ประดิษฐถึงต้องการยุบองค์กรตระกูล ส.ทั้งหมด?

นพ.วิชัยเห็นว่า เพราะองค์กรตระกูล ส.เวลานี้ มีอำนาจ มีงบประมาณ ที่สำคัญคือมีผลงาน และผลงานที่ตระกูล ส.ทำมาทั้งหมดดันไปขัดกับผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล ธุรกิจบรรษัทยาข้ามชาติ และธุรกิจสุขภาพของเอกชนที่มีมูลค่ามหาศาลด้วย

อย่าลืมว่า คนที่สนใจธุรกิจสุขภาพ ไม่ใช่แค่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เท่านั้น เพราะวันนี้แม้กระทั่งน้องสาวอย่าง นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และครอบครัวก็มีข่าว “ฉาว” ออกมาทั้งจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ที่มีลูกสาวไปเกี่ยวข้อง ที่กำลังทำโครงการทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับด้านสุขภาพ ขณะที่ลูกชายคนโตของนางเยาวภาก็กำลังทำธุรกิจเครื่องมือแพทย์มูลค่ามหาศาล

การรุกคืบเข้าสู่ธุรกิจสุขภาพเต็มรูปแบบเพื่อ “เข้าถึง” รายได้มหาศาลของตระกูลชินวัตรกำลังเดินหน้าตามนโยบายที่เตรียมรองรับเบ็ดเสร็จอย่าง Medical hub ศูนย์กลางการรักษาพยาบาลเต็มรูปแบบของเอเชีย

ก้างขวางคอชิ้นใหญ่สุด คือ สปสช. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงองค์กรตระกูล ส.ทั้งหมด

“องค์กรตระกูล ส. สร้างผลงานไว้มากมาย โดยเฉพาะนวัตกรรมใหม่ๆ มีการคิดค้นขึ้นตลอดเวลา อย่างเช่น การรักษาพยาบาลฉุกเฉินโดยไม่จำกัดสิทธิที่แตกต่างที่รัฐบาลนำมาหาเสียง ก็เกิดขึ้นจากความคิดของ สปสช.”

ดังนั้น ถ้าจะทำให้ธุรกิจเอกชนเข้มแข็งได้ ก็ต้องทำให้ระบบการรักษาสุขภาพของภาครัฐอ่อนแอ

องค์กรตระกูล ส.มีอำนาจ มีความเข้มแข็งมากเกินไป ดังนั้นจึงต้องทำลาย!

“ตระกูล ส.” ปฏิรูปสุขภาพทั้งระบบ

นพ.วิชัยกล่าวว่า องค์กรตระกูล ส. มีที่มาจากหลักคิดของการบริการสุขภาพถ้วนหน้าจากกลุ่มแพทย์ชนบท และ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เห็นด้วย และนำมาพัฒนาเป็นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคที่ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนอย่างมาก จนทำให้พรรคไทยรักไทยได้รับการเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งแรกของพรรคไทยรักไทย ปี 2544 อย่างถล่มทลาย

ก่อนหน้านั้นระบบสาธารณสุขไทยอยู่ในมือการบริหารงานของข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขในระบบรวบอำนาจตั้งแต่ปี 2518-2548

เป็น 30 ปีภายใต้การบริหารงานด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นไปตามระบบราชการ และไม่ค่อยเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในระบบการรักษาพยาบาลอะไรมากนัก การดูแลรักษากลุ่ม “คนจน” เป็นการรักษาพยาบาลแบบที่เรียกว่า “อนาถา” หรือการรักษาที่ยึดหลักจริยธรรมความเป็นมนุษย์

การรักษาพยาบาลในแบบที่เป็น “สวัสดิการสังคม” เริ่มเกิดขึ้นในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นรัฐบาล ภายใต้การเข้ามาเป็นมันสมองของกลุ่มแพทย์ชนบท ที่คิดว่า ถ้าการบริหารงานทุกอย่างยังอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข การรักษาพยาบาลที่อยู่ภายใต้ระบบราชการจะทำให้ระบบเสื่อมลง และทำให้ “หมอ” รู้สึกไม่อยากทำงานเพื่อประชาชนไปอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลเสียอย่างที่สุด ดังนั้นวิธีคิดคือต้องดึงบทบาทของการดูแลระบบการรักษาพยาบาลออกจากกระทรวงสาธารณสุขให้ได้เสียก่อน และให้มีองค์กรที่จะทำงานในรูปแบบคณะกรรมการ ไม่ให้อำนาจการดูแล งาน-งบ-คน ไปอยู่ภายใต้อำนาจข้าราชการระดับสูง และนักการเมืองเบ็ดเสร็จ

จึงมีการเริ่มต้นการปฏิรูประบบสุขภาพโดยการตั้ง ส.แรกคือ สวรส. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข โดยการปฏิรูปงานด้านสุขภาพจะต้องอาศัยฐานความรู้ทั้งระบบ และมีทิศทางที่แน่นอน ไม่ควรจะจัดทำนโยบายและแผนด้านการสาธารณสุขแบบสะเปะสะปะ

สวรส.มีงบประมาณประจำปีอยู่ที่ประมาณ 194 ล้านบาท

จากนั้นในปี 2544 จึงมีการตั้ง สสส. หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ขึ้นมา โดยใช้งบการบริหารจากเงินภาษีสรรพสามิตในส่วนของภาษีบุหรี่ และเหล้า โดยขอเก็บเพิ่มภาษีสรรพสามิตปกติอีก 2% เพื่อไม่ให้กระทบกำไรภาครัฐที่มีอยู่เดิม

เอาภาษีบาปมาทำงานบุญ!

“งานรณรงค์บางอย่างถ้ารอจะของบประมาณประจำปีอย่างเดียว ต้องรอนานมาก และส่วนใหญ่ไม่สำเร็จถ้าจะหวังพึ่งกระทรวงสาธารณสุขอย่างเดียว เพราะอย่างบุหรี่ และเหล้า คนที่ทำธุรกิจมักจะไปล็อบบี้นักการเมือง และสุดท้ายนโยบายรณรงค์ในสิ่งเหล่านี้ก็ไม่เคยทำสำเร็จ”

กรณี สสส. มีพนักงานเพียงแค่ 100 กว่าคน มีงบบริหารงานไม่ถึง 10% ของงบรวมที่ได้มาปีหนึ่งประมาณ 3,000 ล้านบาท

กระนั้นปัจจุบัน สสส.มีองค์กรเครือข่าย ทั้งประชาคม สมาคม องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชนเข้าร่วมงานกว่า 10,000 องค์กร มีโครงการรณรงค์นับหมื่นกว่าโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เช่น โครงการสวดมนต์ข้ามปี, โครงการให้เหล้าเท่ากับแช่ง, โครงการเลิกสูบบุหรี่, โครงการออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งโครงการ 7 วันอันตรายที่เดิมมีสถิติผู้เสียชีวิตในช่วงเวลาดังกล่าวจำนวนกว่า 800 ราย แต่ทุกวันนี้เหลือ 300 กว่าราย ฯลฯ

“ถามว่า ถ้าให้กระทรวงสาธารณสุขทำเรื่องเหล่านี้จะทำสำเร็จไหม คำตอบคือกระทรวงสาธารณสุขตั้งมานานแล้ว มีการบริหารงานหลายสิบปี แล้วที่ผ่านมาเคยมีการรณรงค์เรื่องอะไรแล้วสำเร็จบ้าง อย่างกระทรวงสาธารณสุขมีกรมอนามัย แต่ประชาชนรู้ไหมว่าอาทิตย์หนึ่งควรจะกินไข่ไก่กี่ฟอง น้ำมันมะพร้าวดีกับสุขภาพจริงหรือเปล่า ประชาชนไม่เคยรู้ข้อมูลเหล่านี้ นอกจากไปค้นคว้าเอง”
เหตุที่ต้องล้ม สสส. เพราะนอกจาก สสส.มีผลงานจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จแล้ว นักการเมืองต้องการให้ สสส.เอางบฯ ที่มีอยู่ไปสนับสนุนการสร้างภาพให้นักการเมืองหรือไม่?

ที่สำคัญอย่าลืมว่า การที่ สสส.ทำงานรณรงค์มาตลอด มีการซื้อสื่อเพื่อลงโฆษณามากมาย สสส.จึงสนิทกับสื่ออย่างยิ่ง การได้ สสส.มาไว้ในอาณัติย่อมมีแต่ได้กับได้

พอถึงปี 2545 มีการตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้นมา โดยมีเงื่อนไขในภาคผนวกอยู่ที่ใน 3 ปีแรกของการเปลี่ยนผ่านให้อำนาจของกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลเรื่องระบบการรักษาพยาบาลไปก่อนคือปี 2545-2548

ปรากฏว่าเป็น 3 ปีที่การทำโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเกิดปัญหามากที่สุด มีแต่ข่าวว่า 30 บาทรักษาทุกโรคไม่ดีอย่างไร และมีโรงพยาบาลทำท่าจะเจ๊งมากกว่า 700-800 แห่ง แต่หลังจากมีคณะกรรมการเข้ามาบริหารงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กลับไม่มีปัญหาการดำเนินงาน แถมการรักษาแบบ 30 บาทยังได้รับความนิยมไปทั่ว แม้กระทั่งคนที่พอมีรายได้แต่ไปรักษา 30 บาทก็มีความพึงพอใจในการรักษาพยาบาล

ถ้าเทียบกันดีๆ แล้ว 3 กองทุน คือ สวัสดิการข้าราชการ, 30 บาทรักษาทุกโรค และประกันสังคม ปรากฏว่า 30 บาทรักษาทุกโรค แม้จะต้องใช้ยาจากบัญชียาหลักเท่านั้น แต่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ การเบิกจ่ายยาที่สะดวก และครอบคลุมการรักษาพยาบาลที่ดีกว่า “ประกันสังคม” อย่างเห็นได้ชัด แถมประกันสังคมยังต้องจ่ายเงินส่วนหนึ่งเองทุกเดือน และยังต้องจ่ายภาษี แต่กองทุน 30 บาทไม่ต้องจ่าย รวมทั้งต่อไปจากนี้ เมื่อรัฐบาลกำลังจะรวม 3 กองทุนไว้ด้วยกัน ก็เริ่มมีการลดสวัสดิการข้าราชการจนหลายคนเริ่มบอกว่า 30 บาทบางครั้งดีกว่าสวัสดิการข้าราชการ

แต่ 30 บาทจะสำเร็จเป็นอย่างดีไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การเภสัชกรรมที่นำขบวนโดย นพ.วิฑิต อรรถเวชกุล เป็นผู้อำนวยการ เพราะเป็นยุคที่หมอวิฑิตได้เดินหน้าทำ CL ยา และได้ยาที่จำเป็นต่อผู้ป่วยจำนวนมากอย่างยาละลายลิ่มเลือดหัวใจลดลง จากราคา 70 กว่าบาท หมอวิฑิตก็หายาตัวเดียวกัน คุณสมบัติเหมือนกันมาในราคาแค่ 1 บาท

ยาดี ราคาถูก มุ่งช่วยเหลือประชาชนจำนวนมากมายมหาศาล และยังประหยัดงบประมาณแผ่นดิน

หมอที่คิดดี ทำดี มีอุดมการณ์แรงกล้า แต่เพราะทำอย่างนี้ หมอวิฑิตเลยถูกย้ายฟ้าฝ่าจากฟากการเมือง

นพ.วิชัยกล่าวว่า ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขไม่เคยชอบใจการเกิดขึ้นของ สปสช. เหตุเพราะอำนาจถูกกระจายออกไป, เงินไม่ผ่านมือ และไม่มีงบประมาณไปให้ นพ.สสจ. (นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด) ที่ยังอยู่ภายใต้การบริหารงานของกระทรวงสาธารณสุข

ปฏิบัติการสร้างฐานอำนาจที่แน่นปึ้กเหมือนเดิมจึงเกิดได้ยาก ดังนั้น สปสช.จึงเป็นหน่วยงานแรกที่ต้องถูกโยกอำนาจกลับคืนสู่กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การบริหารงานของข้าราชการ และนักการเมือง

งบประมาณก้อนใหญ่ด้านสุขภาพที่อยู่ในมือ สปสช.ปีละเป็นแสนล้าน เช่นในปี 2555 มีงบทั้งสิ้น141,709 ล้านบาท และ 153,597 ล้านบาทในปี 2556

งบฯ นี้แหละที่ฝ่ายการเมืองจ้องตาเป็นมัน และยังมีแผนเอากองทุนประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการมารวมในส่วนนี้ด้วย

ยันสช.ยังต้องมีบทบาทประสานร่วมประชาคมสุขภาพ

ส่วน สช. หรือสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจัดทำนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุข นพ.วิชัยกล่าวว่า ความจริงแล้วกระทรวงสาธารณสุขมีสำนักนโยบายและแผนที่เขียนนโยบายเก่งและดีที่สุด จนครั้งหนึ่ง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังเคยชม แต่ก็ใช่ว่าจะทำได้จริง

ถ้าทำได้ กระทรวงสาธารณสุขดูแลสุขภาพประชาชนได้ดีกว่าที่ผ่านมาไปแล้ว

เหตุสำคัญก็คือว่า ภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพกว่า 1 หมื่นองค์กร ไม่เคยรู้สึกเลยว่านโยบายและแผนของกระทรวงสาธารณสุขเป็นแผนชาติ เพราะพวกเขาไม่เคยมีส่วนร่วมกำหนดอะไรได้เลย กระทรวงไม่เคยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ดังนั้น การตั้ง สช.ขึ้นมา เพื่อให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างและกำหนดนโยบายและแผนสุขภาพระดับชาติ เกิดเป็นกระบวนการสมัชชาที่มีความสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้มากกว่าการนั่งเขียนนโยบายและแผนภายในโดยข้าราชการ

“อย่างนี้เขาเรียกว่าการปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบสุขภาพของไทยที่เป็นระบบ และภาคประชาชนมีส่วนร่วมที่แท้จริง ยังไงก็ประสบความสำเร็จมากกว่า”

อำนาจเบ็ดเสร็จคือการคอร์รัปชัน

ดังนั้น ถ้อยคำที่ประกาศไว้ว่า “การเกิดขึ้นของนโยบายสาธารณสุขเพื่อสุขภาพ Health public policy ผ่านช่องทางกระบวนการอื่นที่ไม่ต้องพึ่งกระทรวงสาธารณสุข มีงบประมาณก้อนโตที่กระทรวงไม่ได้ร่วมชี้ทิศทาง”

เป็นคำพูดที่ชัดเจนยิ่งกว่าคำไหนๆ

ยังไม่รวมคำกล่าวอื่นๆ ในประกาศแผนปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่เป็นทางการ ที่ระบุว่า ต่อไป รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ตรวจราชการคือบอร์ดสูงสุดในการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขใหม่ จะมีการทบทวน 4 ภารกิจคือ ระบบบริการสุขภาพ, ระบบส่งเสริมสุขภาพ, ระบบควบคุมและป้องกันโรค และระบบคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ

รวมทั้งประกาศแผนจะจัดทำเขตบริการสุขภาพ 12 หน่วยงาน ซ้ำซ้อนกับเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขที่มีอยู่แล้วในอำนาจของผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขขึ้นมาอีก ด้วยเป้าที่จะให้เขตบริการสุขภาพ 12 หน่วย มีบทบาทผู้ให้บริการสำคัญในระดับภูมิภาค โดยทำงานเป็นเครือข่าย

ดังนั้น สิ่งที่ต้องจับตาดูจากนี้ไปก็คือ ยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบสุขภาพที่ นพ.ประดิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำหนดขึ้นมาใหม่ และดึงอำนาจกลับคืนกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้จริงหรือไม่?

หรือจะเป็นเพียงการบริหารภายใต้ผลประโยชน์ตามที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน สรุปทิ้งท้ายไว้ก็คือ “ต้องอย่าลืม อำนาจเบ็ดเสร็จคือการคอร์รัปชัน Absolute power is Corrupt” !!
กำลังโหลดความคิดเห็น