“เสื้อแดง” นับวันยิ่งเหิมเกริม บุกปิดล้อมดะ ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ-แบงก์ชาติ นักวิชาการชี้ผลประโยชน์เข้า “ทักษิณ” เต็มๆ โดยเฉพาะการล้มศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าสำเร็จก็ดาหน้าล้มองค์กรอิสระอื่นๆ เชื่อคิวต่อไป “ป.ป.ช.-กกต.-สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน” ขณะที่เสื้อแดงกดดันผู้ว่าแบงก์ชาติ เบื้องหลังน่าจะเกี่ยวพันผลประโยชน์การเก็งกำไรค่าเงิน ด้าน “ปณิธาน” ระบุ รัฐบาลควรหยุดความขัดแย้ง เร่งให้ความรู้ประชาชนที่ถูกต้อง ขณะที่ “นพ.เหวง”- “ไพจิต” ชี้แท้จริงแล้ว “นปช.ส่วนกลาง-พรรคเพื่อไทย” ไม่เห็นด้วย!
ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ได้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะรัฐบาลของตระกูลชินวัตรตั้งแต่ยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีการส่งไม้ต่อเรื่อยมา จนถึงปัจจุบันที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ล้วนแต่ประกาศความภาคภูมิใจในชัยชนะของการเลือกตั้งมาโดยตลอด แต่น่าแปลกที่ภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลนี้กลับพบการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่สนับสนุนรัฐบาลเองเคลื่อนไหวชุมนุมและขยายวงกว้างได้อย่างไม่ต้องเกรงกลัวอะไรทั้งสิ้น
โดยเฉพาะกรณีของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือ นปช. กลุ่มแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ที่มีการชุมนุมเรียกร้องมาโดยตลอด และมาหนักในช่วงเดือนเมษาร้อนนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่การเมืองกำลังร้อนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการให้คำชี้แจงต่อศาลอาญาระหว่างประเทศกรณีปราสาทพระวิหาร ฯลฯ
เสื้อแดงกลับป่วนที่สุดในช่วงเดือนเมษายนนี้!
ไม่ว่าจะเป็นการปิดถนนทางเข้ามหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ต้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่จะเดินทางขึ้นเวทีปราศรัย เดินหน้าผ่าความจริง ในวันที่ 20 เมษายน, การปิดล้อมศาลรัฐธรรมนูญ โดยกลุ่มคนเสื้อแดงในนามกลุ่มผู้กล้าประชาธิปไตย ประมาณ 200 คน ที่เรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนยุติการทำงานในหน้าที่ และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ โดยการเลือกตั้งตรงจากประชาชน
และกลุ่มคนเสื้อแดงอีกนั่นแหละที่เดินทางไปบุกธนาคารแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือกดดันให้ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ด้วยเหตุผลว่าบกพร่องในการดูแลค่าเงิน และยังไม่ยอมลดดอกเบี้ยแก้ปัญหาบาทแข็ง เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา
เสื้อแดง! นับวันชักจะเหิมเกริม? เพราะเหตุใด
ค่าเงินบาท-ล้มศาลรธน.ผลประโยชน์เข้าทักษิณ
นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงในเวลานี้นั้น ไม่ได้มีเหตุผลทางการเมืองเลย โดยเฉพาะการที่คนเสื้อแดงไปบุกแบงก์ชาติ คำถามคือ แท้จริงแล้วกลุ่มคนเสื้อแดงเข้าใจปัญหาภาคเศรษฐกิจแค่ไหน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจโดยง่าย เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาพรวมทางเศรษฐกิจที่เข้าใจยาก ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นชัดว่า มีกระบวนการผลักดันให้คนเสื้อแดงมีการขับเคลื่อนไปชุมนุมที่ต่างๆ ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคนใกล้ชิด
อย่างไรก็ดี ในทรรศนะเชื่อว่า การที่มีความเคลื่อนไหวของมวลชนเสื้อแดง ท้ายที่สุดแล้ว เป็นเพียงเรื่องของผลประโยชน์ที่ดำเนินการเป็นประโยชน์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งสิ้น เพราะการเคลื่อนไหวไปปิดล้อมกดดันศาลรัฐธรรมนูญ คนเสื้อแดงนอกจากจะบอกว่า ต้องการให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ลาออกจากตำแหน่งแล้ว ยังต้องการให้มีการเปลี่ยนที่มาของการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้มีการเลือกตั้งตรง หรือการไปบุกแบงก์ชาติเพื่อกดดันให้ผู้ว่าฯ ประสารลาออก ทั้ง 2 เรื่องล้วนมีประโยชน์แอบแฝงจากฝ่ายการเมือง
อีกทั้งการให้มีการเลือกตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ก็เป็นความต้องการของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากแผนการล้มอำนาจองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้เป็นส่วนที่ขัดขวางการล้มอำนาจองค์กรอิสระที่ พ.ต.ท.ทักษิณต้องการ แต่หากทำลายอำนาจศาลรัฐธรรมนูญได้ การล้มองค์กรอิสระอื่นๆ จะมีตามมาอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ป.ป.ช. กกต เป็นต้น
สำหรับการกดดันผู้ว่าแบงก์ชาติ ในกรณีค่าเงินบาท อย่าลืมว่าในอดีตที่ผ่านมา คนที่ได้ประโยชน์อย่างมากในการเก็งกำไรค่าเงินตั้งแต่ปี 2540 คือ พ.ต.ท.ทักษิณ เองใช่หรือไม่?
ดังนั้นเรื่องผลประโยชน์ในเรื่องค่าเงินจึงเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามของการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงในจุดนี้
“ดูให้ดี พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังเปิดแนวรบในทุกด้าน ทั้งการแก้รัฐธรรมนูญ การปรองดอง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เงินกู้ 2 ล้านล้าน ทั้งหมดมีการเคลื่อนไหวที่ล้วนผิดปกติ และปราศจากเหตุผล”
เมื่อวิเคราะห์จากเหตุและผลเชื่อว่า แผนการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อล้มองค์กรอิสระนั้น โดยการ “สั่ง” ให้คนเสื้อแดงไปชุมนุมกดดันศาลรัฐธรรมนูญในเวลานี้นั้น พ.ต.ท.ทักษิณจะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งล่อง
เพราะหากพรรคเพื่อไทยเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จ ศาลรัฐธรรมนูญก็จะไม่เป็นเสี้ยนหนามในการแก้หรือล้มองค์กรอิสระอื่นๆ ต่อไปอย่างที่กล่าวมา แต่หากแก้รัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ การขับเคลื่อนมวลชนเสื้อแดงก็ทำให้เกิดภาพการเข้าใจที่ผิดต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเป็นการแสดงให้เห็นว่าคนที่ต้องการให้ล้มศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นภาคประชาชนเอง ไม่ใช่ภาคการเมือง
อย่างไรก็ดี สำหรับ ป.ป.ช. นั้นนับเป็นเสี้ยนหนามสำคัญของคนตระกูลชินวัตรมาตลอด ตั้งแต่คดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนล่าสุดก็เป็นคิวน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ที่โดนคดีให้บริษัทสามีกู้ 30 ล้านบาทจนเกือบหลุดตำแหน่งมาแล้ว ดังนั้น การแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงมีความคิดที่จะแก้ในส่วนของที่มาของป.ป.ช.ให้มาจากสภาฯ หรือฝ่ายการเมืองเบ็ดเสร็จ เช่นเดียวกับ กกต. (สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง)
โดยผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น ที่ผ่านมา เป็นบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชน มีความรอบรู้และมีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน วิสาหกิจ หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี หน้าที่สำคัญสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ในกรณีที่เห็นว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ และสามารถยื่นคำร้องต่อศาลปกครองได้ในกรณีที่คำสั่งของบุคคลใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ และดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ด้วย
เสี้ยนหนามทั้งหมดของทักษิณ ก็ยังมีสิทธิที่กลุ่มคนเสื้อแดงฝ่ายบู๊จะไปเคลื่อนไหวกดดันด้วยประการละฉะนี้
ทั้งหมดจึงเป็นประโยชน์กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในระยะยาว!
องค์กรอิสระอื่นๆ มีแนวโน้มถูกกดดันรายต่อไป?
เหวงชี้ นปช.ส่วนกลางจับตา 2 องค์กร
นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.ส่วนกลาง ให้สัมภาษณ์กับ “ทีม Special Scoop หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน” ว่า การเคลื่อนไหวของ นปช.กลุ่มที่ปิดล้อมศาลรัฐธรรมนูญในเวลานี้นั้น ทำได้ตามสิทธิเคลื่อนไหวในกรอบรัฐธรรมนูญ แต่ทาง นปช.กลางก็จะมีการไปอธิบายให้ฟังว่า การเคลื่อนไหวจะต้องไม่รุนแรง และใช้ภาษาสุภาพ แม้ว่า นปช.ส่วนกลางจะไม่เห็นด้วยกับการไปล้อมศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้สักเท่าไร เนื่องจากเป็นเรื่องที่ นปช.กลางเคยยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2555 ในกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ศาลรัฐธรรมนูญแนะนำว่าให้มีการทำประชามติก่อน ซึ่งควรจะให้เวลาศาลรัฐธรรมนูญในการทำงาน
โดยประเมินว่า โอกาสที่ นปช.กลุ่มต่างๆ จะไปปิดล้อมองค์กรอิสระอื่นๆ ต่อเนื่องก็มีความเป็นไปได้ เพราะอาจเห็นว่ามีประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็อยากบอกว่า นปช.ส่วนกลาง มีการจับตาประเด็นต่างๆ อยู่แล้ว โดยเฉพาะใน 2 เรื่องใหญ่ คือ การถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และการทำงานของ ป.ป.ช.ในเรื่อง
ที่ ปรส.หรือ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ตั้งแต่ปี 2541 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ที่มีการขายทรัพย์สิน8 แสนล้านบาท โดยคดีนี้จะหมดอายุความในเดือนมิถุนายนนี้
“นปช.ส่วนกลางจับตาทั้ง 2 กรณีนี้อยู่ตลอด และจะมีการไปถามความคืบหน้าทั้ง 2 เรื่องอย่างแน่นอน โดยจะไม่มีลักษณะการไปชุมนุมปิดล้อม แต่จะมีลักษณะการไปยื่นหนังสือเพื่อสอบถามความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว” นพ.เหวงกล่าว
สรุปคือ เมื่อ นปช.ส่วนกลางคุม นปช.ย่อยๆ ไม่ได้ ก็คงไม่คุม แค่ขอให้พูดจาสุภาพ และไม่กระทำผิดกฎหมาย แต่เชื่อว่าการหยิบประเด็นอื่นๆ มาเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องมีอีกแน่!
ไพจิตหวั่นกระทบพรรค-รัฐบาล
นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงช่วงนี้ส่งผลลบต่อรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย
โดยเปิดเผยว่า การชุมนุมในช่วงที่ผ่านมานั้น เป็นการกระทำของกลุ่มคนเสื้อแดงบางกลุ่มที่ไม่ผ่านความเห็นชอบ หรือไม่ได้ผ่านมติของที่ประชุม นปช.ส่วนกลาง แต่เป็นเสื้อแดงที่เป็นนักเคลื่อนไหว ที่ไวต่อความรู้สึก มีความกระตือรือร้น รู้สึกไม่ชอบมาพากลก็จะมีการแสดงออกทันที ซึ่งไม่เหมือนกับพรรคการเมืองที่เวลาจะทำอะไรจะมีผลกระทบมากกว่าจึงจะระมัดระวังในการเคลื่อนไหวมากกว่า
เนื่องจากพรรคเพื่อไทยและ นปช.เคลื่อนไหวสัมพันธ์กันมาโดยตลอด แต่เมื่อ นปช.กลุ่มย่อยๆ ไปเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ย่อมส่งผลเสียให้พรรคเพื่อไทย และรัฐบาล ในฐานะที่กำลังเป็นฝ่ายบริหารบ้านเมืองอยู่ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ตรงนี้เป็นปัญหามานานแล้ว คือ นปช.ใหญ่ต้องไปคุยกับกลุ่มย่อยๆ ว่าการเคลื่อนไหวอะไรต้องระมัดระวัง แต่ที่ผ่านมาก็มีกลุ่มย่อยๆ แสดงความไม่พอใจในเรื่องต่างๆ ซึ่งกรณีการเดินขบวนไปยื่นหนังสือที่ต่างๆ ผมเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ แต่การไปปักหลัก กดดัน และเป็นการชุมนุมยืดเยื้อ ไม่มีจุดจบแบบนี้ รู้สึกไม่เห็นด้วย เพราะทุกวันนี้ประเทศไทยเป็นสังคมเปิด ใครมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร มีคนเปิดเผยได้หมด”
อย่างไรก็ดี การเดินขบวนของกลุ่มคนเสื้อแดงไปปิดล้อมองค์กรอิสระอื่นๆ นายไพจิตกล่าวว่า มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีก เพราะการให้ข้อมูลที่เพียงพอในเรื่องต่างๆ ถึงคนเสื้อแดงไม่ทั่วถึง และ นปช.ส่วนกลางยังควบคุมการเคลื่อนไหวทั้งหมดไม่ได้ เนื่องจากมี นปช.บางกลุ่มที่มีลักษณะกระตือรือร้น เห็นอะไรที่ไม่ชอบมาพากลก็จะออกมาเคลื่อนไหวทันที
ตรงนี้เป็นจุดอ่อน ที่นายไพจิตมองว่า แกนนำ นปช.ส่วนกลางต้องเร่งหาทางแก้ไข!
จับตามวลชนปะทะมวลชน
อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงที่มีแนวโน้มขยายวงกว้างออกไปนี้ นายคมสันมองว่า หากสังคมต้องการให้ยุติการเคลื่อนไหวนั้น มั่นใจว่าคนที่จะสั่งหยุดได้ ก็คือคนที่สั่งการลงมาให้มีการเคลื่อนไหวนั่นเอง
แต่ถ้ายังคงปล่อยให้มีการชุมนุม บานปลายต่อไป โอกาสที่จะนำไปสู่การปะทะระหว่างมวลชนกับมวลชนก็มีอยู่มาก โดยเฉพาะประชาชนที่อึดอัดกับการบริหารของรัฐบาลนี้ก็มีจำนวนมากที่ยังไม่ได้แสดงตัว
ขณะเดียวกันโอกาสที่ทหารจะออกมาปฏิวัติยังมองว่ามีโอกาสน้อย เพราะบทเรียนที่ผ่านมาทำให้เห็นแล้วว่า ไม่ประสบผลสำเร็จ เห็นได้จากเหตุการณ์เมื่อปี 2549 แม้ทหารที่ออกมาทำหน้าที่จะได้ดอกไม้ และกำลังใจจากมวลชน แต่เมื่อเวลาผ่านไปทหารเหล่านี้กลับได้ก้อนหิน ดังนั้นทหารจะมีความระมัดระวังอย่างมากที่จะปฏิวัติ
จะมีแต่ภาคประชาชนเท่านั้น ที่อึดอัดจนเกือบถึงจุดระเบิด!
ปณิธานชี้ “รัฐบาล” ต้องหยุดความขัดแย้ง
เช่นเดียวกับ นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ภาคประชาชนจะเป็นภาคที่ออกมาขับเคลื่อนทางการเมืองซึ่งอาจจะเกิดการเผชิญหน้าได้ ทั้งระหว่างประชาชนทั่วไปที่อึดอัดกับการบริหารงานของรัฐบาลซึ่งมีจำนวนไม่น้อย และไม่ชอบการกระทำของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยเฉพาะการชุมนุมขับไล่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญคงไม่ยอมให้ใครมากดดัน คงจะมีการต่อสู้กันในกระบวนการยุติธรรมต่อไป
ส่วนปัญหาการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนเสื้อแดงนั้นมี 3 ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหา ประเด็นแรกเป็นเรื่องของความรู้ความเข้าใจที่ภาครัฐให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนไม่มากพอ ทำให้มีความเข้าใจผิดๆ และสับสน โดยเฉพาะกรณีศาลรัฐธรรมนูญที่จะเห็นได้ชัดว่าแท้จริงแล้ว ผู้ที่ไปกดดันศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีความเข้าใจถึงหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่แท้จริง และดีพอ
ประเด็นที่สอง จะเห็นได้ชัดว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ผูกกับประเด็นทางการเมือง คือมีความพยายามใช้ประเด็นทางการเมืองมากดดันศาลรัฐธรรมนูญที่มีบทบาทในการพิจารณาคดีทางการเมืองหลายคดี เมื่อรวมกับฐานความรู้ความเข้าใจของภาคประชาชนที่ผิดๆ กับศาลรัฐธรรมนูญ ก็เลยทำให้ฝ่ายการเมืองที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนี้ ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือในประโยชน์ทางการเมือง
ประเด็นสุดท้ายเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องบรรเทาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยให้ได้ดี รัฐบาลต้องให้การสนับสนุน โดยเฉพาะข้อมูลที่ถูกต้อง แต่รัฐบาลก็หาจุดยืนที่เหมาะสมยังไม่ได้ ดังนั้นต่อไปจะมีปัญหาเกิดขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะการฟ้องร้องระหว่างศาล กับภาคประชาชน ที่จะเกิดเป็นความวุ่นวายอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นมา
คำถามก็คือว่า ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น รัฐบาลจะทำมองไม่เห็นปัญหาอีกนานแค่ไหน?