นักวิชาการรัฐศาสตร์-ความมั่นคง มอง “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” บริหารมวลชนพลาด เหตุไม่ลดโทนขัดแย้ง “หมิ่นสถาบัน-หนี้สาธารณะ” ซ้ำแข็งกร้าวยั่วยุ ยิ่งเร่งปฏิกิริยามวลชนให้ร่วมม็อบ เสธ.อ้ายขับไล่รัฐบาลเพิ่ม ระบุหากจัดการม็อบห่วย คุมเสื้อแดงไม่อยู่จนเกิดจลาจล มีสิทธิที่ทหารจะจับตัว “ผู้นำ” สูง ชี้ “แม้ว” เล็งตั้งรัฐบาล “พลัดถิ่น” เกิดยาก เว้นแต่สหรัฐฯ หนุน แต่ต้องแลกด้วยผลประโยชน์มหาศาล ด้าน “ปณิธาน” เผยโยกย้ายทำกระทรวงกลาโหมร้าวลึก ชนวนแตกแยกรัฐบาลยิ่งลักษณ์-ทหาร เชื่อทุกเหตุการณ์นำไปสู่ความรุนแรงได้!
เกมการเมืองกำลังเข้มข้น ฝ่ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เก็บอาการ “กลัว” ไม่อยู่ เมื่อประเมิน “ม็อบเสธ.อ้าย” พลาดในครั้งแรก จนวันนี้ทั้งเตรียมบันไดให้ ส.ส.ปีนหนีหากมีการล้อมสภาฯ หรือนายกฯ เรียกฝ่ายต่างๆ เตรียมรับมือม็อบ หรือแม้แต่สันติบาลที่มีหน้าที่หลักในการทำงานข่าวเชิงลับ แต่ก็ออกมาให้ข่าวทำลายเครดิตม็อบ เสธ.อ้ายว่ามีการจ้างคนมา ทั้งๆ ที่หน้าที่จะต้องรายงานข่าวในเชิงลับกับรัฐบาล หรือแม้กระทั่งการจัดฉากให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกฯ ตัวจริงของรัฐบาลนี้โฟนอินมาถึงพี่น้องเสื้อแดงในจังหวัดสมุทรปราการว่าม็อบ เสธ.อ้าย มีพลเอก ...อยู่เบื้องหลัง
ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เป็นการแสดงออกที่เห็นเด่นชัดมากว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังประสาทกิน
อะไรที่ทำให้ฝ่ายทักษิณกลัว ?
คำตอบก็คือ เขาประเมินไม่ได้ว่าม็อบ เสธ.อ้ายจะจัดการรัฐบาลนี้ด้วยวิธีอะไร ถึงหาญกล้าประกาศทุกอย่างต้องเบ็ดเสร็จภายใน 2 วัน (24-25 พ.ย.) นี้เท่านั้น
เสธ.อ้ายกำความลับ-ไม่มีข่าวรั่ว
อาจารย์คมสัน โพธิ์คง อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของพลเอกบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ แกนนำกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม แตกต่างจากม็อบอื่นๆ และไม่เคยมีมาก่อน เป็นจุดแข็งที่ เสธ.อ้ายมี และ พ.ต.ท.ทักษิณประเมินไม่ออก ที่สำคัญคือในการประชุมแกนนำภายในของม็อบ เสธ.อ้าย ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้นำมวลชนในท้องถิ่น รวมถึงเอ็นจีโอนั้น เสธ.อ้ายใช้วิธีปิดบังการเคลื่อนไหวระดับสูงสุดไว้เป็นความลับที่สุด
ดังนั้น การเคลื่อนไหวของม็อบ เสธ.อ้ายจึงเป็นการเคลื่อนไหวที่แกนนำระดับมวลชนก็ไม่รู้ว่าจะเดินหน้าหมากสุดท้ายอย่างไร ซึ่งนั่นกลายเป็นข้อดี ทั้งนี้เพราะการจัดการชุมนุมทางการเมืองหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาไม่ว่าจะม็อบฝ่ายใดมักมีข่าวรั่วจากแกนนำที่เป็นแกนนำมวลชนนี้เอง
ในครั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ เลยเจาะข่าววงในแบบเข้าไม่ถึง เพราะ เสธ.อ้ายก็ไม่บอกใครว่าจะทำอย่างไร แม้เป็นทีมระดมมวลชนของตัวเองก็ตาม
“ข่าวรั่วจากกระบวนการประชุมภายในไม่มีหลุดออกมาเลย ใครเป็นใคร มีเบื้องหลังอะไร เสธ.อ้ายมาจากไหนไม่รู้ เพิ่งมาทำม็อบครั้งแรก จะทำอะไรยังไงก็เก็บไว้คนเดียว ไม่ให้หลุดออกมา ข่าวรั่วจึงไม่มี เพราะแกนนำมวลชนภายในก็ยังไม่รู้ เสธ.อ้ายจะทำอะไร”
ดังนั้น การเคลื่อนไหวของรัฐบาลตอนนี้ เหมือนคนที่ตีตนไปก่อนไข้ เพราะ “ไม่รู้เขาไม่รู้เรา”นั่นเอง และการออกมากล่าวว่าเบื้องหลัง เสธ.อ้ายเป็นคนนั้นคนนี้ ก็เป็นการเดาเอาเอง
ในการทำการศึกแบบทหาร แค่มีรอยหวั่นไหว พ.ต.ท.ทักษิณก็พ่ายไปครึ่งหนึ่งแล้ว ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณคงลืมไป ว่านี่คือก้าวที่พลาด!
“ความจริงก็อาจจะไม่มีอะไร แต่ความไม่รู้ข้อมูลก็ทำให้ฝั่งรัฐบาลกลัวจนเกินเหตุไปหรือเปล่า”
อย่างไรก็ดี ท่าทีของฝ่ายรัฐบาลดูเหมือนกลัวว่าเกมนี้จะเริ่มต้นด้วยการ “จับตัวผู้นำ”
อาจารย์คมสันบอกว่า เป็นเรื่องยากมากที่จะมีการจับตัวผู้นำจริง เพราะว่าวันที่ 24-25 พ.ย.ที่จะมีการชุมนุมนั้นเป็นช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่ได้ไปทำงาน และอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ เพราะฉะนั้นการชุมนุมที่จะมีการจับตัวผู้นำจึงเป็นไปได้ยาก เว้นแต่มีกองกำลังพิเศษมาจับตัวนายกฯ ถึงจะทำได้ แต่ก็คงไม่จับตัวในช่วงวันหยุดอยู่ดี และลักษณะการจัดม็อบที่จะเป็นม็อบมวลชนนั้น ก็ไม่ได้จะไปจับตัวผู้นำได้ง่ายๆ อยู่ดี
แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังกังวลอย่างหนัก อยู่ที่ความขัดแย้งภายในมากกว่า
“ตอนนี้ความขัดแย้งภายในเป็นศึกที่น่ากลัวของรัฐบาล เพราะรัฐบาลเองก็ไม่ได้ไว้ใจฝ่ายความมั่นคง ลักษณะเลยออกมาว่าไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน ดังนั้นการสั่งการการจัดการม็อบก็อาจจะยังกังวลว่าแต่ละฝ่ายจะไม่จริงใจต่อกันมากกว่า”
จลาจล-จับตัวยิ่งลักษณ์-ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น!
อย่างไรก็ดี เหตุผลที่จะนำไปสู่การจับตัวผู้นำรัฐบาล คือ ตัวนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ใช่ปิดประตูตาย
“ถ้าการชุมนุมยืดเยื้อไปจนถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีการเคลื่อนขบวนไปปิดล้อมสภาฯ ที่รัฐบาลก็กลัวอยู่แล้วว่าจะมีการปิดล้อมทำให้ ส.ส.ออกมาจากสภาฯ ไม่ได้ แล้วถ้าเกิดการยั่วยุของคนเสื้อแดง จนเกิดการปะทะ รวมทั้งรัฐบาลมีคำสั่งให้ตำรวจสลายการชุมนุม ทันทีที่ทำอย่างนั้น จะเป็นเหตุผลให้ฝ่ายกองกำลังลับไปจับตัวผู้นำได้ทันทีเช่นกัน เพราะถือว่าประเทศชาติกำลังเกิดจลาจล”
สิ่งนี้คือสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังกลัว จนมีข่าวออกมาแล้วว่า เขาเตรียมให้ยิ่งลักษณ์เดินทางไปต่างประเทศ และพร้อมสำหรับการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น โดยการที่ เสธ.อ้ายประกาศอยู่ตลอดเวลาว่านี่คือศึกที่เขาจะทำเป็นครั้งสุดท้าย ยิ่งทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ประเมินว่าศึกครั้งนี้จะรุนแรง!
“การตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น คุณทักษิณคงตั้งเองไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นผู้นำรัฐบาล และยังมีสถานะเป็นนักโทษหนีคดี แต่คนที่จะตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นได้มีเพียงคนเดียวคือ คุณยิ่งลักษณ์ เพราะเป็นผู้นำรัฐบาลที่มีอำนาจอยู่ และถูกยึดอำนาจจนต้องไปต่างประเทศ การตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นก็ถือต้องการคงสภาพรัฐบาลอยู่”
แต่อย่าลืมว่าการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น คือการตั้งเพียงสัญลักษณ์เพื่อบอกนานาชาติว่า ผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นต่อต้านการยึดอำนาจ และจะต่อสู้ในทางการเมืองต่อไป แต่อย่าลืมว่าไม่ได้มีอำนาจจริง
“รัฐบาลพลัดถิ่นตั้งได้ เพราะมีหลายประเทศที่ยอมให้ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นได้ จะมีแค่ตัวยิ่งลักษณ์คนเดียว หรือมีคณะรัฐมนตรีคนอื่นๆ ร่วมด้วยก็ได้ แต่คุณจะไม่มีอำนาจสั่งการจริง เพราะข้าราชการทั้งหมดอยู่ในประเทศไทย จะสั่งการให้บริหารประเทศคงไม่ได้ งานด้านบริหารถือว่าหมดสิทธิทันที”
ทั้งนี้ ประเทศใดที่เปิดให้ยิ่งลักษณ์ใช้เป็นฐานทางการเมืองย่อมหมายความว่า ประเทศนั้นยอมตั้งตนเป็นศัตรูกับประเทศที่มีรัฐบาลอยู่ ดังนั้นประเทศต่างๆ จึงต้องคิดหนัก เว้นเสียแต่ว่า ประเทศมหาอำนาจถือหางรัฐบาลพลัดถิ่นของยิ่งลักษณ์ด้วยตนเอง
“จึงเป็นไปได้ และเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกา หากสหรัฐอเมริกาสนับสนุนรัฐบาลพลัดถิ่นของคุณยิ่งลักษณ์ เท่ากับเป็นการหนุนรัฐบาลพลัดถิ่นของยิ่งลักษณ์ แต่อย่าลืมว่าสหรัฐอเมริกาคงไม่ช่วยใครฟรีๆ สิ่งที่จะต้องแลกมานั้นต้องเป็นผลประโยชน์ที่สหรัฐฯ พอใจ ซึ่งประเทศชาติอาจจะต้องเสียอะไรไปมากมายก็ได้”
ทั้งนี้จึงมองว่าสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะทำเพื่อแก้เกม คือ เดินหน้าเกมโลกล้อมประเทศต่อไป
“จริงๆ เกมโลกล้อมประเทศนี้ คุณทักษิณทำมานานแล้ว ที่ผ่านมาก็มีการเดินหน้าฟ้องศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เรื่องการสังหารประชาชน 91 ศพ ดังนั้นเกมนี้คุณทักษิณจะเล่นหนักขึ้น”
แต่ก็ไม่ได้ผิดจากการคาดหมายของฝั่งตรงข้าม ที่อ่านเกม พ.ต.ท.ทักษิณ ทะลุหมด!
แข็งกร้าวจนติดกับดักทหาร
ด้าน รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไม่แปลกใจท่าที พ.ต.ท.ทักษิณ และรัฐบาล มีท่าทีแบบกลืนไม่เข้า คายไม่ออกกับการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่าปัญหาที่สั่นคลอนรัฐบาลอยู่ในเวลานี้ เป็นปัญหาที่เกิดจากการบริหารจัดการของรัฐบาลที่ผิดพลาด และมีจุดอ่อน 3 ประการที่สำคัญคือ
ประการแรก แม้รัฐบาลจะได้คะแนนนิยมจำนวนมากจากประชาชน และมีมวลชนที่สนับสนุนตัวเองในขณะที่เป็นพรรคการเมือง แต่ลืมไปว่าบทบาทเมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว จะต้องบริหารมวลชนทั้งมวลชนที่สนับสนุนและมวลชนที่ไม่ได้สนับสนุน แต่รัฐบาลกลับมีแต่บริหารและทุ่มเทนโยบายให้มวลชนกลุ่มที่สนับสนุนตัวเองเท่านั้น ซึ่งผิดหลักการบริหารที่ดี เนื่องจากรัฐบาลสามารถลดความขัดแย้งจากมวลชนกลุ่มต่อต้านได้ไม่ยาก เพราะมวลชนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในเวลานี้คือกลุ่มคนที่เป็นห่วงอยู่ 2 เรื่องใหญ่ คือเรื่องการหมิ่นสถาบัน และเรื่องการดำเนินนโยบายประชานิยมที่ผิดพลาดและอาจส่งผลเสียต่อระดับหนี้สาธารณะของประเทศ
ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้วรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาลดความขัดแย้งได้ทั้ง 2 ประเด็นนี้ ด้วยการแสดงท่าทีว่าจะแก้ทั้งสองปัญหาอย่างไร ซึ่งทำได้ไม่ยาก โดยเฉพาะการเจรจากับกลุ่มผู้ต่อต้าน หรือการฟังนักวิชาการที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องต่างๆ และปรับนโยบายประชานิยมที่จะไม่ทำให้ประเทศชาติเกิดวิกฤต และต้องทำให้เกิดอย่างรวดเร็ว แต่รัฐบาลไม่ทำ
ประการที่ 2 นอกจากรัฐบาลจะไม่สนใจในการแก้ปัญหามวลชนที่ต่อต้านด้วยวิธีละมุนละม่อมแล้ว รัฐบาลยังมีท่าทีแข็งกร้าว พร้อมเผชิญหน้า ซึ่งรัฐบาล และ พ.ต.ท.ทักษิณ ประเมินเรื่องนี้พลาด และยังเป็นท่าทีที่เร่งปฏิกิริยาคนต่อต้านให้เข้าร่วมการชุมนุมในม็อบ เสธ.อ้ายมากขึ้น มีพลังมากขึ้น
“ความคิดที่ปิดกั้น กดดัน โดยการใช้เครื่องมือทางกฎหมาย การใช้กำลัง ยิ่งทำให้การต่อต้านของมวลชนยิ่งโตขึ้น เพราะมวลชนที่ต่อต้านกลุ่มนี้เขาเคลื่อนไหวเพราะไม่มีทางออก รัฐบาลไม่ยอมเจรจา ไม่ยอมฟัง และไม่มีท่าทีในการแก้ปัญหาอะไรเลย คนชั้นกลางมีความกังวลเรื่องเหล่านี้ แต่รัฐบาลก็ไม่มีกระบวนการรับฟัง ไม่ปรับเปลี่ยนท่าที”
ประการสุดท้าย ความกังวลเรื่องรัฐประหารของทางฝ่ายรัฐบาล เห็นได้ชัดมาก ซึ่งเป็นเรื่องน่าเห็นใจ เพราะว่ายิ่งรัฐบาลมีท่าทีแข็งกร้าวมากเท่าไร ก็ยิ่งมีแนวโน้มกดดันให้เกิดความรุนแรง และเมื่อไรที่เกิดความรุนแรง ก็จะมีปัญหาการแทรกแซงทางการทหารได้
“รัฐบาลกำลังติดกับดัก ซึ่งรัฐบาลนี้ติดกับดักแบบนี้มาหลายครั้ง แต่ไม่เข้าใจ ยิ่งแสดงท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นไปอีก โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงหรือทหารเข้ามาแทรกแซงก็เลยมีโอกาส แต่เป็นโอกาสที่รัฐบาลบริหารผิดพลาดเอง ไม่มียุทธศาสตร์ที่ดีพอในการจัดการมวลชนในสังคมประชาธิปไตย”
โอกาส “จับตัวผู้นำ” มี-ทำไม่ยาก
ส่วนกรณีการจับตัวผู้นำ มีโอกาสเกิดขึ้นหรือไม่ รศ.ดร.ปณิธานบอกว่า มีความเป็นไปได้ และไม่แปลกที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะกังวล เพราะทุกคนรู้ดีว่ากระบวนการรักษาความปลอดภัยในตัวผู้นำของไทยยังไม่ดีนัก ไม่เหมือนประเทศสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือสมัยนายกฯ อภิสิทธิ์ ก็ยังโดนปิดล้อมจากมวลชนคนเสื้อแดงได้ ซึ่งประการนี้ทางฝ่ายรัฐบาลก็รู้ว่าระบบการป้องกันตัวผู้นำของไทยยังไม่ดี ดังนั้นการจับตัวผู้นำทำได้ง่ายมากในประเทศไทย
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าการจับตัวผู้นำไปแล้ว จะเกิดผลกระทบอย่างไร
“เชื่อว่าถ้ามีการจับตัวผู้นำไปจะเกิดวิกฤตทางการเมืองแน่นอน จะเป็นผลเสียต่อบรรยากาศทางการเมืองมากกว่าผลดี และจะนำไปสู่ความรุนแรงรอบใหม่อย่างมิต้องสงสัย”
สำหรับเรื่องรัฐบาลพลัดถิ่น พ.ต.ท.ทักษิณ พูดบ่อยครั้ง โดยเฉพาะหลังจากการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ซึ่งมีความพยายามอย่างมากจากฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณที่จะตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น แต่ว่าไม่เคยทำสำเร็จ
ดังนั้น แม้จะอยากตั้ง “รัฐบาลพลัดถิ่น” แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย!
“มีการพูดกันหลายครั้งเรื่องรัฐบาลพลัดถิ่น มันมีจริง แต่มีตั้งแต่สมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 หากรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ก็คงทำได้ยาก ไม่น่าเกิดขึ้นได้”
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.ปณิธานระบุว่า จุดที่จะทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์สั่นคลอน นอกจากการเคลื่อนไหวมวลชนแล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังเผชิญปัญหาภายใน โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายรอบที่ผ่านมา ที่ทำให้เกิดความไม่พอใจในกระทรวงต่างๆ และกระทรวงที่เป็นคลื่นใต้น้ำที่สุด ก็เป็น “กระทรวงกลาโหม”
อย่าแปลกใจ! ถ้าวันนี้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพี่ชาย จะนอนไม่หลับ เพราะไม่อาจวางใจฝ่ายความมั่นคงได้!