xs
xsm
sm
md
lg

เคาะ 6 มติแก้ปัญหาด่านสะเดาแห่งใหม่ หวั่นกลายเป็นโครงการร้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เจรจาเวนคืนที่ดิน ส.ป.ก.ชาวบ้าน 34 รายสร้างด่านสะเดาแห่งใหม่ยังไม่คืบ ล่าสุด ที่ประชุมได้ 6 มติสู่กระบวนการสันติระหว่างภาครัฐ และชาวบ้านให้สามารถเปิดด่านรับสมาคมอาเซียนในอนาคต โดยให้แต่ละฝ่ายไปดำเนินการติดตามเพื่อนำมาเสนอในการประชุมครั้งใหม่ พร้อมจี้รัฐติดตามนโยบายของมาเลเซียว่ายังคงจะพร้อมเปิดประตู 2 ประเทศอยู่หรือไม่ หวั่นลงทุนฝ่ายเดียวเสียประโยชน์

วันนี้ (1 พ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ณ ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชจังหวัดสงขลา เป็นประธานจัดประชุมเรื่องพิจารณาแก้ไขปัญหาให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการขอใช้ที่ดินเพื่อก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา โดยมีทั้งภาครัฐ เอกชน และชาวบ้านที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

สำหรับโครงการก่อสร้างด่านสะเดาแห่งใหม่นั้น มีพื้นที่รวม 661 ไร่ ซึ่งได้ตัดแนวท่อก๊าซไทย-มาเลเซียจึงลดลงจากเดิมที่มีทั้งหมด 720 ไร่ ทำให้ลดผลกระทบต่อที่ดินชาวบ้านที่อยู่ในเขต ส.ป.ก.จากเดิม 41 ราย เหลือเพียง 34 ราย ซึ่งยังอยู่ระหว่างการเจรจาขอเวนคืน

ม.ล.สิทธิเดช ศุขสวัสดิ นายด่านสะเดา กล่าวถึงความจำเป็นของด่านสะเดาแห่งใหม่ว่า เพื่อเป็นการเปิดประตูแห่งใหม่ให้แก่อาเซียน ซึ่งปัจจุบันมีคนเข้าออกด่านสะเดาปีละ 4.2 ล้านคน และมีรถขนส่ง 800,000 คัน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 3.2 แสนล้านบาท และปัจจุบัน จังหวัดสงขลาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวจึงจำเป็นต้องขยายด่านแห่งใหม่เพื่อความสะดวกสบาย

นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวถึงการขอเวนคืนพื้นที่เพื่อสร้างด่านสะเดาว่า ชาวบ้านยังมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องการเวนคืนหรือไม่ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มคนที่ต้องการอาศัยทำกินเช่นเดิม โดยอ้างว่าอยู่มาตั้งแต่สมัยปี พ.ศ.2500 2.ยินยอมให้มีการเวนคืน แต่ต้องการค่าชดเชยไร่ละ 1,000,000 บาท 3.กลุ่มคนที่ขอค่าอาสินชดเชยต้นยาง 8,000 บาท/ต้น

ทั้งนี้ นางชุลีกร ดิษโสภา หนึ่งในชาวบ้านกลุ่มเครือข่ายชุมชนชาวสวนยางด่านนอก กล่าวว่า ชาวบ้านทุกคนไม่ต้องการค่าชดเชยใดๆ เพราะไม่ต้องการให้เกิดโครงการด่านศุลกากรบริเวณชุมชน และสวนยางพาราของชาวบ้าน แต่ข้อเรียกร้องเงินชดเชยนั้นเกิดขึ้นจากการกดดันของเจ้าหน้าที่ คนที่เรียกราคาชดเชยไร่ละ 1 ล้านก็ไม่ได้มีที่ดินอยู่ตรงนั้น แต่ด้วยอารมณ์โกรธที่ถูกกดดันจึงตั้งราคาโดยที่ไม่ได้มีความประสงค์จะย้ายออกจากพื้นที่ ทำให้เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลไว้ ทั้งนี้ รัฐบาลมีตัวเลือกอีกมากในโครงการนี้ ขณะที่ชาวบ้านมีอาชีพเกษตรไม่มีตัวเลือกที่จะย้ายไปที่อื่น จึงอยากให้รัฐได้เห็นใจกันด้วย

ทางด้านนายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้เสนอแนวทางเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ก่อนสร้างด่านในฝั่งไทยขอให้กรมศุลกากรขอหนังสือยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรถึงนโยบายของประเทศมาเลเซียว่ายังคงมีแผนก่อสร้างด่านที่ตรงกันหรือไม่ เพื่อไม่รัฐบาลไทยลงทุนเสียเปล่า เนื่องจากพื้นที่โครงการของฝั่งมาเลเซียเป็นพื้นที่ค่ายทหารซึ่งอาจมีปัญหาภายในทำให้ใช้พื้นที่นั้นไม่ได้ แต่หากมาเลเซียยังคงมีแผนสร้างด่านที่เดิม และฝั่งไทยต้องดำเนินการขยายด่านแห่งใหม่ให้ทันการเปิดประชาคมอาเซียนแล้ว ก็ควรจะมีทางออกอื่นๆ ที่ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบน้อยลง เช่น สำรวจดูพื้นที่อื่นที่สามารถนำมาทดแทนกันได้

เช่นเดียวกับ นายจำนง จิตนิรัตน์ อนุกรรมการอำนวยการประชาชนสังคมที่เป็นธรรม ได้เสนอแนะให้ที่ประชุมพิจารณาโมเดลจำลองเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อชาวบ้าน และการขยายด่าน โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมให้มากที่สุดเพื่อลดความขัดแย้ง ซึ่งอาจต้องตั้งอนุกรรมการที่แต่งตั้ง หรือมีการแต่งตั้งขึ้นมาใหม่ให้มาทำงานอย่างโปร่งใส

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมได้มีมติเพื่อนำไปสู่กระบวนการร่วมแก้ปัญหาใน 6 ข้อ โดยบูรณาการทำงานระหว่างภาครัฐ และประชาชน ดังนี้

1.ให้กรมศุลกากรประสานกับรัฐบาล เพื่อสอบถามนโยบายของประเทศมาเลเซียที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะสร้างด่านเชื่อมต่อกับประเทศไทยอยู่หรือไม่
2.จัดตั้งคณะอนุกรรมการชุดใหม่ในการแก้ปัญหาโครงการก่อสร้างด่านสะเดา ซึ่งปัจจุบัน เป็นคณะอนุกรรมการชุดเดียวกันกับการแก้ปัญหาอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน จังหวัดเชียงใหม่ และปัญหาอ่างเก็บน้ำห้วยฝั่งแดง ที่จังหวัดอุบลราชธานี จึงหวั่นว่าจะเกิดปัญหา และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้แก้ไขคำสั่งให้ถูกต้อง
3.ให้สำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมศึกษากฎหมายว่า ศุลกากรสามารถนำที่ดิน ส.ป.ก.ไปใช้ประโยชน์ในการสร้างด่านศุลกากรนั้นผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ และจะแก้ไขอย่างไร
4.ให้ชาวบ้านเสนอทางออกเรื่องของที่ดิน เช่น การจ่ายค่าเวนคืนในอัตราที่พึงพอใจ โดยคำนวณถึงเงินลงทุนครั้งใหม่ในการประกอบอาชีพมาด้วย หรือหากต้องการที่ทำกินใหม่ทดแทน ก็ให้ ส.ป.ก.รับหน้าที่พิจารณาหาพื้นที่ใหม่เพื่อแลกกับที่ทำกินเดิม ขณะเดียวกัน ก็ให้นายอำเภอสะเดา ศุลกากร และรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา รับหน้าที่ตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจากับชาวบ้านทั้ง 34 ราย
5.กรมศุลกากรจะต้องศึกษาพื้นที่ใหม่ที่เหมาะสมในการสร้างด่าน
6.เสนอให้แยกประเภทการใช้งานของด่านแต่ละแห่งว่าจะเป็นเส้นทางเข้าออกของคน หรือสินค้า เพื่อลดผลกระทบของด่านสะเดาแห่งใหม่ที่อาจไม่ต้องใช้พื้นที่ถึง 661 ไร่ก็เป็นได้


 นายกำพล ภาคสุข
นายอาจารย์คมสัน โพธิ์คม อาจารย์ประจำสาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

นางชุลีกร ดิษโสภา ตัวแทนชาวบ้าน


 ม.ล. สิทธิเดช ศุขสวัสดิ นายด่านศุลกากรสะเดา



กำลังโหลดความคิดเห็น