xs
xsm
sm
md
lg

แนะแพร่วัฒนธรรมเพิ่มคุณค่า “ชาวเล” สางปัญหาถูกไล่ที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวเลเปิดปัญหาถูกไล่ที่ ทั้งที่อยู่มานานกว่า 100 ปี เหตุไม่มีเอกสารครอบครอง และถูกตั้งข้อหาบุกรุกเขตอุทยานฯ ด้านนักวิชาการจี้รัฐบาลช่วยเหลือ แนะชุมชนเผยแพร่วัฒนธรรมสร้างคุณค่าเพิ่มให้ชาวเล วอนศาลไทยควรตัดสินคดีชาติพันธุ์ด้อยโอกาส ด้วย กม.พิเศษ อิงหลักมนุษยธรรม

วันนี้ (10 พ.ย.) ที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายศักดิ์ชัย จลุทั้งสี่ แกนนำเยาวชนชาวเล กล่าวระหว่างการจัดงานเสวนา “วิกฤต วิถีชาวเล” ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยสังคมฯ รวมกับมูลนิธิชุมชนไทย ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร สำนักกิจการชาติพันธุ์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงวัฒนธรรรม (วธ.) สำนักงานปฏิรูป และภาคีเครือข่ายชาวเล ว่า ขณะนี้ชาวเลได้รับความเดือดร้อนในเรื่องของปัญหาที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินอย่างมาก หลังจากสถานการณ์การท่องเที่ยวได้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ โดยเกิดขึ้นในส่วนของบนบก เช่น ชาวบ้านไม่มีที่อยู่อาศัย เพราะถูกฟ้องไล่ที่จากภาคเอกชนและรัฐบาล ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่กำลังขยายตัว รวมทั้งมีปัญหาเรื่องพื้นที่ฝังศพ หรือสุสาน เนื่องจากชาวบ้านที่เป็นชาติพันธุ์เดิมไม่มีเอกสารในการครอบครองที่ดิน จึงต้องถูกผลักไสให้ย้ายถิ่นฐาน จากผู้ประกอบการรีสอร์ทและโรงแรม

จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่ทำให้ทราบว่า สุสาน และที่ฝังศพอันเป็นวัฒนธรรมหลักของชาวเลนั้นมีมานานกว่า 100 ปี แต่กลุ่มนายทุนที่เข้ามายื่นฟ้องไล่ชาวบ้านนั้น จะมีโฉนดที่ดินในการถือสิทธิ์ครอบครอง ซึ่งมีมานานกว่า 40 ปี ไม่เข้าใจเช่นกันว่า พวกเขาได้รับเอกสารมาอย่างไร แต่ทำไมชาวเลในพื้นที่จึงต้องถูกขับไล่เรื่อยมา นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องชาวเลถูกจับกุมข้อหาบุกรุกอุทยานแห่งชาติอีกด้วย เช่น เมื่อเร็วๆ นี้ ชาวอูรักลาโว้ย ถูกจับกุมในขณะออกเรือที่เกาะยูง เกาะดอน ทำให้ต้องกู้เงินมาประกันตัวเองนับหมื่น” นายศักดิ์ชัย กล่าว
ภาพประกอบขากอินเทอร์เน็ต
นางปรีดา คงแป้น มูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลล่าสุดของมูลนิธิฯ ทราบว่า ปัจจุบันมีชุมชนชาวเลประมาณ 41 ชุมชน จำนวน 2,758 ครัวเรือน มีประชากรประมาณ 12,000 คน กระจายใน 5 จังหวัดอันดามัน คือ ภูเก็ต 5 ชุมชน พังงา 20 ชุมชน ระนอง 3 ชุมชน กระบี่ 10 ชุมชน และสตูล 3 ชุมชน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 1.กลุ่มมอแกน อาศัยในพื้นที่เกาะเหลา เกาะสินไห เกาะช้าง และเกาะพยามในจังหวัดระนอง หมู่เกาะสุรินทร์ ในจังหวัดพังงา และบ้านราไวย์ในจังหวัดภูเก็ต มีประชากรกว่า 2,100 คน 2.กลุ่มมอแกลน เป็นกลุ่มที่อาศัยตั้งบ้านเรือนชายฝั่งทะเล มีวิถีชีวิตผสมผสานกับสมัยใหม่ เช่น หมู่บ้านชาวเลชายฝั่งทะเลกว่าสิบหมู่บ้านในจังหวัดพังงา ภูเก็ต และ เกาะพระทอง ประชากร 3,700 คน และ 3.กลุ่มอูรักลาโว้ย เป็นชาวเลที่มีภาษาพูดเฉพาะแตกต่างจากมอแกน และมอแกลน เป็นกลุ่มที่อาศัยตามเกาะต่างๆ ในจังหวัดสตูล ภูเก็ตบางส่วน และกระบี่ เช่น เกาะลันตา เกาะพีพี ฯลฯ มีประชากรกว่า 6,200 คน

กลุ่มชาวเลต่างๆ เหล่านี้จะประสบปัญหาคล้ายๆ กันคือ เรื่องของปัญหาที่ดินในการอยู่อาศัย ประมาณ 28 แห่ง ขณะที่สถานการณ์ของชาวเลที่โดนข้อหาบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติในหมู่เกาะต่างๆ ตั้งแต่ปี 2553-2555 มีชาวเล 32 รายถูกเจ้าหน้าที่จับกุมแล้ว ส่วนอีก 9 รายอยู่ในระหว่างการรอเอกสารอยู่ว่า จะถูกฟ้องหรือไม่ฟ้อง” นางปรีดา กล่าว

นางปรีดา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้รับการบอกเล่าจากชาวเลในพื้นที่ด้วยว่า ส่วนของชาวเลที่ไร้สัญชาติ ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อเสียชีวิตลงในโรงพยาบาลแห่งใดก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่าย ญาติที่ต้องการนำศพไปทำพิธีต้องจ่ายเงิน เพื่อนำมาดำเนินการตามประเพณี แต่กรณีที่ไม่มีเงินก้อนก็ต้องจ่ายให้ทางโรงพยาบาลเดือนละ ประมาณ 500 บาท หรือ ที่เรียกว่า ผ่อนศพ ซึ่งอาจต้องอาศัยข้าราชการในการดำเนินการ ขณะที่บางคนก็ยอมยืมเงินจากเพื่อนบ้าน

นางเตือนใจ ดีเทศน์ คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวว่า ปัญหาของชาวเลมีมานานมากแล้ว ซึ่งหลายครั้งที่ภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเคยได้ยื่นหนังสือเกี่ยวกับความเดือดร้อนของชาวเลในพื้นที่ต่างๆ ถึงประธานคณะกรรมการปฏิรูป และรัฐบาลหลายครั้งต่อกรณีด้านกฎหมายที่ควรมีการคุ้มครองสิทธิของชุมชนมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การสนับสนุนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ไปสู่กฎหมายที่สามารถปฏิบัติได้จริง แต่หลายครั้งที่ปัญหาถูกมองข้าม เพราะหน่วยงานที่ดูแลไม่เข้มแข็งพอ เช่น ข้าราชการไม่เคยยืนเคียงข้างประชาชน ไม่เคยทำหน้าที่เท่าที่ควร ดังนั้น การแก้ปัญหาที่ดีจำเป็นต้องมีการประสานงานเชิงพันธมิตร เช่น กระทรวงมหาดไทยต้องประสานงาน วธ.เพื่อนำเสนอมุมมองปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น เสนอว่า ชาวเลไร้ที่อยู่ในการทำกิน เสนอให้ชาวเลในชุมชนต่างๆ มีการครอบครองสิทธิอยู่อาศัยในพื้นที่เดิมบ้าง

นางสุนีย์ ไชยรส คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ชุมชนต้องเร่งพัฒนาตัวเองในมุมมองเชิงบวก เช่น นำเสนอวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ให้ออกสู่สาธารณะมากขึ้น เพื่อให้สังคมรับรู้ว่า ชาวเลมีตัวตน มีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ส่วนนี้จะช่วยสร้างคุณค่าแก่ชาวเล และจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการริเริ่มสร้างกฎหมายครอบครองสิทธิด้านที่อยู่อาศัยและการทำกินมากขึ้น เนื่องจากกฎหมายแต่ละอย่างกว่าจะเกิดขึ้นได้ก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4 ปี รวมทั้งรัฐบาลเองควรมีการประเมินผลด้านนโยบาย เช่น นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวสะท้อนชัดเจนว่าบางส่วนเป็นการผลักดันชาติพันธุ์ดั้งเดิมให้หายไป

“สำหรับประเพณีและวัฒนธรรมที่สำคัญนั้นมีหลายอย่าง ทั้งการเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และธรรมชาติ อาทิ พิธีไหว้หลาพ่อตาหรือโต๊ะ ตามความเชื่อของแต่ละพื้นที่ พิธีนอนหาด พิธีลอยเรือ พิธีอาบน้ำมนต์ งานกินข้าวกลางบ้าน การแสดงรองแง็งและกาหยง เป็นต้น ซึ่งเป็นกระบวนการเชื่อมร้อยจิตวิญญาณของคนแต่ละรุ่นแต่ละตระกูลเข้าด้วยกัน” นางสุนีย์ กล่าว

นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) กล่าวว่า วิกฤตที่ชาวเลเผชิญขณะนี้สะท้อนชัดว่า ด้อยโอกาสในการอาศัยอยู่ในสังคม และกำลังถูกแย่งชิงทรัพยากรโดยไร้ความยุติธรรมในสังคม ชนพื้นเมืองอย่างชาวเลที่อาศัยในชุมชนใกล้ชิดกับธรรมชาติ กำลังถูกผลักดันให้เป็นคนเมืองและยอมรับสถานการณ์การเติบโตทางการท่องเที่ยวอย่างจำใจ ขณะที่ระบบการตัดสินของศาลไทยก็ดูจะเน้นกฎหมายที่อ้างอิงพยานหลักฐานมากขึ้น จนไม่เหลือมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว อย่างกรณีที่คนในชุมชนถูกศาลตัดสินฟ้องและเรียกค่าปรับ 450,000 บาท หลังจากแพ้คดีการบุกรุกพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลนั้น ต้องถือว่ายากเกินความสามารถที่คนมีรายได้หลักร้อยต่อวัน จะหาเงินหลักแสนมาจ่ายเพื่อชดใช้ความผิดที่ตนกระทำ ดังนั้น คิดว่า ในส่วนนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ศาลในยุคนี้ต้องมีมุมมองการตัดสินแบบพิเศษกว่าคดีปกติทั่วไป โดยเน้นความยุติธรรมให้กับคนด้อยโอกาสมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น