xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” กู้ 2.2 ล้านล้านให้คนไทยแบกหนี้ 50 ปี (ตอนที่3)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ธีระชัย” อดีตขุนคลัง เผย 2.2 ล้านล้านบาทไม่ผ่านงบประมาณ ทำให้ไม่มีการถ่วงดุล เปิดช่องโหว่ในการกำกับดูแล ด้านฝ่ายค้านโวยทำคนไทยหนี้เพิ่มหัวละ 1 แสนบาท กว่าจะหมดหนี้ก้อนนี้ใช้เวลาอีก 50 ปี ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์มองแค่เอาของเก่ามายำ ประเมินรัฐต้องชิงเงินฝากกับแบงก์พาณิชย์ ส่งผลดอกเบี้ยลงยาก ส่วนประชาชนเตรียมใจแบกหนี้แทนรัฐบาล

โครงการเมกะโปรเจกต์ 2.2 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลผลักดัน ทางทีมงาน Special Scoop ได้นำเสนอมาแล้ว 2 ตอนคือ “ยิ่งลักษณ์” ขายฝัน 2.2 ล้านล้าน ขุดหลุมล่อ “แมงเม่า” ฟันธงรถไฟความเร็วสูงไม่มีสิทธิเกิด และ 2.2 ล้านล้านดันหุ้นรับเหมาทะยาน “อนุทิน” ร่วมเพื่อไทย “STEC” กระฉูด

แม้ว่าโครงการจะมีความเป็นไปได้เพียงแค่บางโครงการเท่านั้น แต่ก็ทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มวัสดุก่อสร้างปรับตัวขึ้นอย่างถ้วนหน้า สร้างผลกำไรให้กับคนเล่นหุ้นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มที่ล่วงรู้ข้อมูลภายใน

การผลักดันให้โครงการเดินหน้า ทางรัฐบาลได้ดำเนินการเตรียมวิธีการจัดหาเงินด้วยวิธีการออกเป็นพระราชบัญญัติ แทนการจัดเข้าไปอยู่ในงบประมาณประจำปีของรัฐบาล และกำลังกลายเป็นที่จับตาของพรรคฝ่ายค้าน

ทั้งร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่ง วงเงิน 2 ล้านล้านบาท และร่างพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือร่างกฎหมาย PPP ที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือนำพาโครงการเมกะโปรเจกต์ยักษ์ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

งาบง่ายกว่า

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการออกพระราชบัญญัติเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทว่า เป็นการผลักดันให้เป็นกฎหมายเฉพาะ จะทำให้ดำเนินการได้รวดเร็วและรวบยอด โดยวิธีการรวมศูนย์การอนุมัติโครงการไว้ในรูปคณะกรรมการ ดังเช่นกรณีพระราชกำหนดที่รัฐบาลนี้และรัฐบาลก่อนหน้าเคยออกไปแล้ว วิธีนี้ไม่ผ่านระบบงบประมาณ จึงมีข้อเสียที่ไม่มีการถ่วงดุล และไม่มีกระบวนการกำกับดูแลกันโดยกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ตามปกติ จึงมีช่องโหว่ในการกำกับดูแลมากกว่ากระบวนการงบประมาณ

“ในอนาคตควรจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปิดช่องทางการกู้เงิน ที่ไม่เข้าระบบงบประมาณ ให้ดำเนินการได้เฉพาะเรื่องที่ฉุกเฉินเร่งด่วนเท่านั้น ส่วนการกู้เพื่อโครงการระยะยาวนั้น ควรบีบแคบให้ต้องผ่านงบประมาณทุกกรณี เพื่อการกำกับดูแลการใช้เงินที่รัดกุมมากขึ้น” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าว

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ทางวุฒิสมาชิกคงต้องตรวจสอบโครงการที่รัฐบาลต้องการจะก่อสร้างก่อนถึงเรื่องต้นทุนที่แท้จริง รวมไปถึงค่าก่อสร้างอื่นๆ ที่แฝงไปในรูปของงบประมาณปกติ ก่อนที่จะมีการลงมติ
รถไฟความเร็วสูง
เลี่ยงตรวจสอบ-ใช้หนี้ 50 ปี

แหล่งข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ผลของโครงการนี้ต้องกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท จะทำให้ประชาชนเป็นหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 แสนบาทต่อคน และกว่าจะใช้หนี้หมดต้องใช้เวลาอีก 50 ปี นอกจากนี้เงินกู้ก้อนดังกล่าวถือว่าเป็นการเพิ่มหนี้สาธารณะอีกด้วย

เมื่อสอบถามถึงข้อแตกต่างระหว่างการนำงบดังกล่าวเข้าในงบประมาณรายจ่ายกับการออกเป็นพระราชบัญญัติ ได้รับคำตอบว่า หากรัฐบาลจัดทำในรูปของงบประมาณประจำปี ตรงนี้ทางสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ร่วมพิจารณาถึงความเหมาะสมหรือความคุ้มค่าของการใช้เงินงบประมาณในแต่ละโครงการ แต่รัฐบาลต้องการเลี่ยงการตรวจสอบตรงนี้เลยจัดทำเป็นพระราชบัญญัติ เพราะการออกเป็น พ.ร.บ.ทำให้ทุกอย่างสั้นลง เป็นประโยชน์กับรัฐบาลมากกว่า

ในแผนการก่อสร้างตามโครงการนี้กว่า 80% เป็นการลงทุนทางด้านราง คำถามที่ตามมาคือ การลงทุนทางน้ำถือเป็นการลงทุนที่ต้นทุนต่ำมิใช่หรือ ประการต่อมาการลงทุนนี้เป็นการตอบโจทย์ของแผนลอจิสติกส์หรือไม่

รถไฟความเร็วสูงที่จะสร้างเส้นกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ไม่มีคำตอบว่าจะใช้ขนส่งคนหรือสินค้า นอกจากนี้ต้องมีรายละเอียด อย่างเช่น จอดกี่ป้าย ค่าก่อสร้างกิโลเมตรละเท่าไหร่ ค่าโดยสารเป็นเท่าไหร่ เพราะหากค่าโดยสารใกล้เคียงกับค่าโดยสารทางเครื่องบินแล้วคงมีจำนวนผู้โดยสารน้อย โอกาสที่โครงการนี้จะเจ๊งมีสูง

ดังนั้น รัฐบาลควรจัดลำดับความสำคัญของโครงการว่าอันไหนจำเป็นก่อนหลัง ดูขีดความสามารถของประเทศด้วยว่าหากทำโครงการเหล่านี้ไปแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ เพราะผู้ที่แบกภาระทั้งหมดไม่ใช่รัฐบาลแต่เป็นคนไทยทั้งหมด ที่ต้องทนแบกหนี้แทนรัฐบาลต่อไปอีก 50 ปี

เมื่อถามถึงแหล่งที่มาของเงิน คำตอบที่ได้คือ กู้สถานเดียว รัฐบาลไม่สนใจหรอกว่าจะออกเป็นพันธบัตรหรืออะไร ดอกเบี้ยที่ใช้กู้จะเป็นเท่าไหร่ ถูกหรือแพงไม่ต้องสนใจเพราะไม่ใช่เงินของเขา แต่เป็นการเอาเงินของประเทศมาจ่ายทั้งต้นทั้งดอก
แผนที่โครงข่ายรถไฟความเร็วสูง
เหล้าเก่าขวดใหม่

ด้านนักเศรษฐศาสตร์รายหนึ่งประเมินว่า โครงการโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 2.2 ล้านล้านบาทนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่โครงการใหม่แต่อย่างใด เป็นเพียงการรวบรวมเอาโครงการที่แต่ละหน่วยงานมีแผนเตรียมดำเนินการไว้แล้วเข้ามารวมไว้ด้วยกันเท่านั้น อาจจะมีเพียงโครงการเรื่องการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทที่เพิ่มเข้ามา หลังจากที่ประเทศไทยเกิดวิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554

เขากล่าวต่อไปว่า ไม่ว่าจะมีการออกเป็นพระราชบัญญัติกู้เงินหรือออกพระราชบัญญัติ เพื่อให้เอกชนร่วมลงทุนกับภาครัฐ แต่หนี้ที่เพิ่มขึ้นมาจากโครงการนี้ต้องถูกนับรวมเป็นหนี้สาธารณะเช่นกัน ไม่ต่างกับการจัดงบก่อสร้างเหล่านี้ไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพราะรัฐบาลได้ออกแบบมาเพื่อสามารถทำงบประมาณให้สมดุลได้ตามที่เคยตั้งใจไว้ เพียงแต่ตัวหนี้ไปฝากไว้ที่จุดอื่น

“เงินที่ใช้อาจจะไม่ถึง 2.2 ล้านล้านอย่างที่กำหนดไว้ เพราะจะมีรูปแบบการลงทุนอื่นเช่น การเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ ตรงนี้น่าจะมีความเป็นไปได้ราว 10-15% ของมูลค่าโครงการ เนื่องจากเป็นการลงทุนระยะยาวและผลตอบแทนที่ได้อาจไม่จูงใจนัก”
โครงการรถไฟรางคู่
“รัฐ:แบงก์”แย่งเงินฝาก

ดังนั้นเงินที่เหลือคงหนีไม่พ้นการกู้เงินมาเพื่อลงทุน ซึ่งรัฐบาลแสดงเจตนาแล้วว่าจะใช้เงินกู้ในประเทศ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะออกแบบการกู้เงินด้วยวิธีการใด ส่วนใหญ่แล้วคงจะหนีไม่พ้นการออกพันธบัตร แต่จะเสนอขายกับประชาชนหรือนักลงทุนรายใหญ่คงต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาล

หากมองเฉพาะสภาพคล่องในประเทศจากกลุ่มผู้มีเงินฝากที่มีอยู่ราว 3 แสนกว่าล้านบาทต่อปี โครงการของรัฐบาล 7 ปีก็ใช้เงินปีละ 3 แสนล้านบาท ตรงนี้ภาครัฐจะต้องเข้าไปแย่งเม็ดเงินก้อนนี้จากสถาบันการเงินไม่ว่าจากธนาคารพาณิชย์หรือจากธนาคารรัฐ

สิ่งที่จะตามมาคือสภาพคล่องดังกล่าวจะเหลือน้อยลง ขณะที่สถาบันการเงินก็ต้องปล่อยสินเชื่อตามปกติของธุรกิจ ดังนั้นเราอาจได้เห็นการแย่งเม็ดเงินก้อนนี้ระหว่างรัฐบาลกับธนาคาร คาดกันว่าอีกไม่นานจะมีการออกพันธบัตรของรัฐบาลมาเสนอขายกับประชาชน ขณะที่แบงก์ก็ต้องเร่งออกโปรโมชันเงินฝากเพื่อดึงดูดใจลูกค้าเช่นกัน

ดอกเบี้ยไม่ลง

แน่นอนว่าสภาพเช่นนี้จะทำให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศลดลงได้ยาก ประกอบกับที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% ไม่ได้ปรับลดลงอย่างที่กระทรวงการคลังต้องการ

ภาวการณ์เช่นนี้จะทำให้การออกพันธบัตรของรัฐบาล จำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นมาเพื่อจูงใจผู้ออมเงิน และจะกลายเป็นต้นทุนของรัฐบาลจำนวนไม่น้อย

หากประเมินจากการออกพันธบัตรโดยทั่วไปส่วนใหญ่จะมีอายุราว 4 ปีขึ้นไป หากรัฐบาลจะออกพันธบัตรที่มีอายุนาน จะทำให้การตัดสินใจซื้อมีน้อยลง เห็นได้จากปี 2555 กระทรวงการคลังออกพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษอายุ 6 ปี ดอกเบี้ย 3.99% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ใกล้เคียงกับตลาด ทำให้พันธบัตรรุ่นดังกล่าวไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร

คนไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบถือหรือฝากเงินไว้นานๆ เว้นแต่ได้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าตลาดพอสมควร อีกทั้งสินค้าทางการเงินในตลาดอย่างกองทุนรวมบางแห่งให้ผลตอบแทนได้ราว 3.5% กับระยะเวลาไม่กี่เดือน แถมไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยรับอีก 15% ทำให้การออกพันธบัตรในระยะหลังได้รับความสนใจจากประชาชนน้อยลง

หากรัฐบาลกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาให้มากๆ แต่คงไม่ง่าย ตรงนี้อาจทำให้มีประชาชนจำนวนหนึ่งเริ่มสนใจพันธบัตรและดอกเบี้ยที่เสนอมาจะต้องสูงกว่าตลาดไม่น้อยกว่า 0.5%

สำหรับประชาชนแล้วมีหน้าที่อย่างเดียว คือ ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะโยนภาระเหล่านี้มาให้อย่างไร ส่วนใหญ่จะหนีไม่พ้นเรื่องภาษี จะเป็นภาษีอะไรต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาล แต่คนที่ใช้หนี้แทนรัฐบาลทั้งหมดคือคนไทย ดังนั้นคงต้องทำใจกับสิ่งที่จะตามมา

การลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการสาธารณูปโภค ถือเป็นการเปิดพื้นที่การลงทุนให้กับนักพัฒนาที่ดินและนักการเมืองในยุคนี้

โปรดติดตามตอน 4 ตอนสุดท้าย

กำลังโหลดความคิดเห็น