xs
xsm
sm
md
lg

“หอฯ-สภาอุตฯ” ชี้ “รัฐบาล” ศรีธนญชัย! ศก.ดิ่งเหวคนตกงานอื้อ-บอกจิ๊บจิ๊บแค่ 30%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ภาคเอกชนเดินหน้าช่วยธุรกิจ-SMEs ด้วยกันเองก่อนเจ๊ง! ชี้ตัวเลขภาครัฐสะท้อนความจริงเพียง 30% เท่านั้น โอดรัฐฯ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด อุ้มรายใหญ่ ลอยแพอุตฯ “สิ่งทอ-รองเท้า” ไปต่างประเทศ ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเผย แรงงานกว่า 1 หมื่นคนได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะ “ผู้สูงวัย” เสี่ยงตกงานระนาว! ด้านกระทรวงอุตฯ เร่งทำงานเชิงรุกลงพื้นที่ช่วยผู้ประกอบการ

หลังจากอัตราค่าแรงขั้นต่ำขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ยังคงเป็นประเด็นร้อนในภาคธุรกิจ และแรงงานไทยถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นลูกโซ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ภาครัฐออกมายันถึงตัวเลขการเปิดและปิดกิจการที่อยู่ในภาวะปกติ หรืออาจเรียกได้ว่าดีกว่าปกติด้วยซ้ำ

จากตัวเลขเดือนมกราคม 2556 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 8,184 ราย เพิ่มขึ้น 3,644 ราย คิดเป็น 80% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2555 ที่มีจำนวน เพียง 4,540 ราย และเพิ่มขึ้น 3,097 ราย คิดเป็น 60% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2555 ที่มีจำนวน 5,087 ราย

ขณะที่นิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกทั่วประเทศในเดือนมกราคม 2556 มีจำนวน 1,202 ราย ส่วนมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในเดือนมกราคม 2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 40,758 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2555 จำนวน 23,969 ล้านบาท คิดเป็น 142% และเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2555 จำนวน 23,312 ล้านบาท คิดเป็น 133% รวมทั้งอัตราการว่างงานที่น้อยเพียง 0.4% และจากรายงานของศูนย์สนับสนุนฯ มีผู้ใช้แรงงานไปขึ้นทะเบียนว่างงานกับกรมการจัดหางาน (กกจ.) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-6 กุมภาพันธ์ จำนวน 3,557 คน
 
 

 
 
แจงตัวเลขรัฐสะท้อนความจริงเพียง 30%
 

อย่างไรก็ดี ข้อมูลดังกล่าวกลับสวนทางจากข้อมูลภาคเอกชนที่ยันว่า ตัวเลขของภาครัฐที่ออกมาไม่ได้สะท้อนความจริง เนื่องจากตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงตัวเลขกิจการที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องเท่านั้น ไม่ใช่ตัวเลขตามสถานการณ์จริง โดยเฉพาะธุรกิจขนาด SMEs ของภาคธุรกิจแต่อย่างใด

“ในประเทศไทยมีธุรกิจที่ไม่ได้จดทะเบียนอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย โดยธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม หรือ SMEs กว่า 60-70% ไม่ได้อยู่ในระบบ หรือไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้อง ดังนั้นตัวเลขที่ภาครัฐสะท้อนออกมาจึงเป็นเพียงประมาณ 30% เท่านั้น ซึ่งทางหอการค้าไทยได้รวบรวมพบว่าภาคธุรกิจในส่วนภาคอีสานตอนใต้ จำนวนประมาณ 7-8 จังหวัด มีการเลิกจ้างแล้วประมาณ 6,000-7,000 คน” นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าว

ขณะเดียวกันทางหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ขอความร่วมมือกับหอการค้าแต่ละจังหวัดในการรวบรวมข้อมูลที่แท้จริงของสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ซึ่งผู้ประกอบการบางแห่งก็ไม่กล้าที่จะบอก เนื่องจากบางแห่งไม่ได้จดทะเบียน ไม่ได้อยู่ในระบบ

ดังนั้น เมื่อได้ข้อมูลตัวเลขของแต่ละจังหวัดมาแล้วทางหอการค้าแห่งประเทศไทยจะนำเข้าสู่ศูนย์ประสานงานเฉพาะกิจ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ของหอการค้าไทย เพื่อวิเคราะห์ร่วมกับผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมาเปรียบเทียบกัน แล้วจากนั้นจะมีการศึกษาเพิ่มเติม ก่อนนำข้อมูลประสานงานกับทางภาครัฐ

ขึ้นค่าแรง 300-ต้องผลิตได้เพิ่มขึ้น 8% ถึงจะรอด
 

ขณะที่ตัวเลขการเปิดกิจการที่เพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลที่รัฐแจงออกมามองว่า เป็นเรื่องปกติของภาคธุรกิจ หากใครมีศักยภาพ และเห็นช่องทางการค้าก็ย่อมจะลงทุน แต่พบว่าธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ส่วนใหญ่จะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในกระบวนการผลิต ไม่เน้นการใช้แรงงาน ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนโฉมในการแข่งขัน

ส่วนธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมเดิมก็ต้องปรับตัวโดยลดการใช้แรงงานลง เพิ่มปริมาณการผลิตต่อชิ้น ต่อคนให้มากขึ้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่า การขึ้นอัตราขั้นต่ำเริ่มใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจโดยเฉลี่ยต้องผลิตได้เพิ่มขึ้น 8% ถึงจะอยู่รอด

“ภาครัฐออกมาบอกว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ไม่ได้บ่งชี้ถึงการปิดกิจการของภาคธุรกิจนั้นไม่น่าจะถูกต้อง เพราะด้วยภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญเรื่อยมา และต้องมาเจอการปรับค่าแรงที่สูงขึ้นมาก จึงเป็นฟางเส้นสุดท้ายของภาคธุรกิจ จนต้องตัดสินใจปิดกิจการลงในที่สุด เพราะไปไม่ไหวจริงๆ”

ทั้งนี้เพราะการปรับค่าแรงขึ้นตามนโยบายรัฐในครั้งนี้ เป็นการปรับที่ก้าวกระโดด ทำให้ธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ไม่สามารถปรับตัวได้เหมือนธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีอัตราค่าจ้างเกิน 300 บาทต่อวันอยู่แล้ว ทางหอการค้าแห่งประเทศไทยจะเข้าช่วยเหลือให้ข้อมูล และประสานงานระหว่างรัฐต่อไป
 

 
 
โอดรัฐฯแก้ปัญหาไม่ตรงจุด-SMEs เตรียมเจ้ง
 

สอดคล้องกับ นายเอกพร โฆษะครรชิต กรรมการและเลขานุการ รองเลขาธิการฯ-งานแรงงาน ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก กล่าวว่า การที่ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นในครั้งนี้ ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ที่มีบางจังหวัดต้องเพิ่มต้นทุนค่าแรงสูงถึง 80% หรือ SMEs ต้องแบกรับค่าแรงที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 40% ขณะที่กำไรของธุรกิจ SMEs อยู่ที่ประมาณ 10% เท่านั้น

ดังนั้นหากธุรกิจที่มีสายป่านยาวก็ยังทนอยู่ได้ แต่ท้ายที่สุดคาดว่าหากไม่มีมาตรการที่ช่วยเหลือได้ตรงจุดก็ต้องปิดตัวลงในที่สุด

สำหรับมาตรการรัฐในขณะนี้ถือว่าไม่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการเท่าที่ควร จะเอื้อกับผู้ประกอบการรายใหญ่เสียมากกว่า โดย SMEs ต้องแบกรับ ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ไม่ค่อยได้รับผลในเรื่องนี้มากนัก เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำเกิน 300 บาทต่อวันอยู่แล้ว

“ภาคเอกชนเสนอให้รัฐเป็นผู้จ่ายส่วนต่าง ถือว่าตรงกับความเดือดร้อนของธุรกิจจริง โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งหากรัฐกลัวว่าเงินส่วนนั้นจะไม่ถึงมือของแรงงาน ก็อยากให้มีระบบจ่ายตรง อาจผ่านประกันสังคมก็ได้”

อุตฯ “สิ่งทอ-รองเท้า” โดนลอยแพ

ขณะที่แหล่งข่าวภาคเอกชนมองว่า จากมาตรการของรัฐที่ออกมาไม่ได้ช่วยธุรกิจขนาดเล็ก เป็นการอุ้มธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งรัฐอาจมองว่าธุรกิจขนาดใหญ่เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม เป็นผู้จ่ายภาษี แต่หากมองลึกลงไปจะพบว่าธุรกิจขนาดใหญ่เป็นธุรกิจที่รับจ้างผลิตเสียมากกว่า

สำหรับตัวเลขที่ออกมาของภาครัฐในลักษณะการปิดกิจการยังไม่มากนัก และแถมยังมีธุรกิจเกิดขึ้นใหม่อีกด้วยนั้น เกิดจากการที่ธุรกิจต้องพึ่งพาสถาบันการเงิน จึงตกแต่งบัญชีให้มีกำไรเพื่อความอยู่รอด โดยอาจอยู่ในรูปแบบการเปิดกิจการใหม่ เพื่อยื่นขอกู้เงิน เป็นต้น ตัวเลขดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นจึงไม่น่าแปลกใจ หรืออีกส่วนหนึ่งในบางพื้นที่ อาจมีการย้ายฐานเนื่องจากหนีน้ำท่วม จึงเห็นว่ามีการจดทะเบียนเพิ่ม

เขาบอกอีกว่า ในอดีตภาครัฐได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนลงทุนในส่วนธุรกิจที่มีการใช้แรงงานสูง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้า ทำรองเท้า ฯลฯ แต่พอต้องการขึ้นค่าแรง จากนโยบายประชานิยมก็ไม่ใส่ใจ หรือรับผิดชอบธุรกิจประเภทนี้ ได้แต่ให้คำแนะนำว่าควรย้ายฐานไปที่อื่นแทน ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านั้นหากมีกำลังก็ย้ายไปที่อื่น เนื่องจากเมื่อคำนวณดูแล้วจ่ายชดเชยให้แก่พนักงาน ยังถือว่าคุ้มกว่า แต่หากเป็นขนาดเล็ก ไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอก็ต้องปิดตัวลงในที่สุด

“จากข้ออ้างการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศว่า ส่วนหนึ่งจะทำให้แรงงานกลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว แต่ภาคธุรกิจกลับมองว่าการที่ค่าจ้างเท่ากันหมดทั้งประเทศก็จะส่งผลให้โรงงานที่มีสาขาย่อยอยู่ต่างจังหวัดย้ายไปรวมที่ศูนย์ใหญ่ หรือโรงงานต้นสังกัด เนื่องจากเป็นการลดต้นทุนด้านการขนส่งลงถึง 10% ซึ่งในอนาคตโรงงานสาขาก็จะค่อยๆ ยุบลง แรงงานที่กลับบ้านก็อาจไม่มีงานทำ และการขึ้นค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในพื้นที่นั้น” แหล่งข่าวภาคเอกชน กล่าว
 

“ผู้สูงวัย” เสี่ยงตกงานระนาว!
 

ส่วนภาคแรงงานนั้น นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย บอกว่าขณะนี้มีแรงงานตกงานได้แจ้งถึงผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน อยู่ที่ประมาณ 10,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเพียงตัวเลขเบื้องต้นเท่าที่ทราบมา ซึ่งคาดว่าไตรมาส 2 จะเห็นตัวเลขผลกระทบภาคแรงงานที่ชัดเจนขึ้น

โดยเฉพาะในภาคสิ่งทอ พื้นที่ภาคอีสาน จังหวัดบุรีรัมย์, ขอนแก่น, ศรีสะเกษ ที่อดีตค่าแรงถูก รองลงมาจะเป็นเซรามิก ในพื้นที่ภาคเหนือ และแรงงานพวกนี้ส่วนใหญ่จะไม่มีเครือข่ายสหภาพแรงงาน ซึ่งแรงงานที่ถูกปลดจากภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวก็ย้ายไปทำอุตสาหกรรมด้านอื่น เช่น ในภาคอีสานก็ย้ายไปทำก่อสร้าง และภาคบริการแทน

“แรงงานที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้สูงวัย อายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ เย็บผ้า เมื่อโรงงานเหล่านั้นปิด แม้จะได้เงินชดเชย แต่ก็หางานใหม่ยากมาก อาจต้องกลับไปทำการเกษตร หากยังมีที่ดิน หรือไปใช้แรงงานเป็นแม่บ้านแทน เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมจะไม่จ้างคนอายุมาก ขณะที่คนหนุ่มสาวยังมีโอกาสไปทำในภาคอุตสาหกรรมอื่น จึงอยากให้ภาครัฐให้การดูแล”

ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวต่อว่า อยากให้ภาครัฐเข้าดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบโดยเก็บข้อมูลที่แท้จริง และตรวจสอบว่า เมื่อแรงงานถูกปลดออกไปแล้วไปอยู่ที่ไหน ทำงานอะไร เพื่อจะได้ช่วยเหลือให้ตรงจุด ไม่เพียงแต่รอให้แรงงานเดินไปแจ้ง เพราะเนื่องจากการจัดหาแรงงานของรัฐอาจจัดในพื้นที่หนึ่ง แต่แรงงานอยู่อีกพื้นที่หนึ่ง และรัฐจะต้องไม่สนใจภาคอุตสาหกรรม หรือภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ต้องดูแลภาคแรงงานด้วย

เร็วไปที่จะบอกว่า “ค่าแรง” ส่งผลร้าย
 

ขณะที่ ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงผลกระทบต่อค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นว่า เมื่อแยกธุรกิจในแต่ละขนาดพบผลกระทบเฉลี่ยรวมธุรกิจขนาดใหญ่จะได้รับ 4.83% ขนาดกลางอยู่ที่ประมาณ 5.63% และธุรกิจขนาดเล็กจะอยู่ที่ประมาณ 5.75%

“ธุรกิจขนาดเล็ก หรือธุรกิจครอบครัว ต้องหันมาคำนึงถึงตลาดสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม หรือเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า”

โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากสุดจะเป็นธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น หรือใช้แรงงานจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตดังนี้

1. เครื่องนุ่งห่ม ตัดเย็บเสื้อผ้า มีต้นทุนรวมเพิ่มขึ้น 7.73%

2. อุตสาหกรรมอาหาร มีต้นทุนรวมเพิ่มขึ้น 6.12%

3. อิเล็กทรอนิกส์ มีต้นทุนรวมเพิ่มขึ้น 5.63%

“สถานการณ์ด้านธุรกิจ แรงงาน ยังเร็วไปที่จะบอกว่ากิจการที่ปิดลงมีผลจากการขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ส่วนอุตสาหกรรมที่คิดว่าจะได้รับผลกระทบจนอยู่ไม่ได้ก็จะปรับตัว เพราะเตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดยอาจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนผู้ประกอบการที่ประสบปัญหา ทางภาครัฐก็พยายามตรวจสอบว่ามีปัญหาอะไรบ้าง แล้วเข้าช่วยเหลือ”
 
อุตฯทำงานเชิงรุกช่วยผู้ประกอบการ
 

ดร.ณัฐพลบอกอีกว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่ง และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เนื่องจากหากธุรกิจไม่มีการเตรียมความพร้อม หรือปรับตัวในระยะยาวอาจอยู่ไม่ไหว ซึ่งภาครัฐมีมาตรการเข้าดูแลในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ โครงการอัดฉีดเงินหมุนเวียนสำหรับ SMEs โดยให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ, โครงการเงินทุนพัฒนาเครื่องจักร, การเข้าดูแลในการลดต้นทุนการผลิตที่เสียไป ฯลฯ

สำหรับแนวทางในการปฏิบัติงาน ทางสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมจะลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการ จากเดิมที่เปิดหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการเดินทางมาติดต่อ แต่ขณะนี้ทางสำนักเศรษฐกิจฯ จะลงพื้นที่เจาะกลุ่มเป้าหมายโดยตรง จะช่วยผู้ประกอบการได้มาก เพราะบางครั้งการรับรู้ของผู้ประกอบการต่างจังหวัดต่อโครงการของรัฐอาจไม่มากนัก

โดยใช้หลักวิธีการเลือกจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมาก ซึ่งวัดจากเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เช่น พะเยา มีเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้น 88.68%, ศรีสะเกษ เพิ่มขึ้น 87.50% หรืออย่างพิจิตร พิษณุโลก แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน อำนาจเจริญ อุตรดิตถ์ ที่มีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 84.05% เป็นต้น

ส่วนของอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตในปี 2556 เห็นจะเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับนโยบายของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ จากนโยบายรถคันแรก อุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็ก ฯลฯ จากนโยบายบ้านหลังแรก หรือด้านการป้องกันน้ำท่วม ถึงแม้ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำจะปรับสูงขึ้นก็ตาม แต่กลับกลัวว่าแรงงานจะไม่เพียงพอต่อความต้องการมากกว่า ซึ่งขณะนี้พบว่ามีอัตราการว่างงานเพียง 0.4%

แนะ 6 วิธีปรับธุรกิจให้อยู่รอด
 

ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ย้ำว่า ภาคเอกชน ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวต่อภาวะค่าแรง และการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1. ด้านต้นทุนที่สูงขึ้น ก็ควรเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน จำนวนสินค้าให้เพิ่มมากขึ้นด้วย

2. ลดผลเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตต่างๆ

3. เมื่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการควรปรับสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม เช่น การออกแบบ, การสร้างแบรนด์ใหม่ หรือรีแบรนด์ ฯลฯ เพื่อขยายเข้าสู่ตลาดที่สูงขึ้น

4. การนำเทคโนโลยี เครื่องจักรสมัยใหม่เข้ามาเสริม

5. อุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาแรงงาน อาจต้องย้ายฐานการผลิตไปยังพื้นที่ที่มีค่าจ้างขั้นต่ำถูกกว่า

6. ลดการจ้างงาน และมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งการลดการจ้างงานอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาโดยกระทรวงแรงงาน และอุตสาหกรรมจังหวัด ได้เข้าไปดูแลเรื่องดังกล่าวแล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น