xs
xsm
sm
md
lg

“Sport Complex” อัสสัมชัญพระราม 2 สุดเวอร์! สนองขั้ว “กิตติรัตน์”-ต้นเหตุฐานะการเงินดิ่งเหว?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทุนฟุตบอลใหญ่ประกบ “อัสสัมชัญ” ยึดเป็นแหล่งผลิตนักเตะสำรอง ปั้นจากเยาวชนสู่ทีมใหญ่ คนวงการฟุตบอลประเมินสนาม 15,000 ที่นั่ง ใหญ่เกินสำหรับทีมเด็ก แถมเป็นภาระค่าใช้จ่ายบำรุงสนาม เว้นแต่บริหารในเชิงธุรกิจ ด้านบางกอกกล๊าสค่ายเบียร์สิงห์จับมือร่วมทำทีม ขณะที่ศิษย์เก่าอย่าง “กิตติรัตน์” พร้อมทีมงานคุม “บีบีซียู” เบ็ดเสร็จ แต่ยังไร้สนามเหย้า อาจใช้ฐานนักเตะอัสสัมฯ เสริมทัพหรือถึงขั้นช่วยเรื่องสนาม ส่วนซี้อย่าง “แสนสิริ” ทำ Academy ป้อนอัสสัมฯ ธน

ปมปัญหาของโรงเรียนอัสสัมชัญ คือการก่อสร้างโรงเรียนอัสสัมชัญแห่งใหม่ย่านถนนพระราม 2 สมุทรสาคร ที่ใช้งบประมาณกว่า 2,500 ล้านบาท จนทำให้ระบบการเงินของโรงเรียนอัสสัมชัญต้องประสบปัญหา ทั้งเรื่องเงินเดือนครู และกลายเป็นภาระของผู้ปกครองเพิ่มขึ้น นำมาซึ่งการรวมตัวกันของผู้ปกครอง ครู และศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันที่ห่วงใยในสถานการณ์ของโรงเรียนเก่าแก่แห่งนี้

อัสสัมชัญ แคมปัส พระราม 2 ถูกจับตามากขึ้น เนื่องจากมีการทุ่มเทงบประมาณในการก่อสร้างจำนวนไม่น้อยลงไปที่ด้านกีฬาที่มุ่งไปสู่ Sport Complex มีการสร้างสนามกีฬาหลายชนิดทั้งสนามฟุตบอล ฟุตซอล สนามบาสเกตบอล วอลเลย์บอล แบดมินตัน สระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิกและอื่นๆ

แม้สนามกีฬาถือเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน เสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับนักเรียน แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดของสนามกีฬาต่างๆ นับว่าเป็นมาตรฐานสูงมากเกินกว่าเด็กในระดับมัธยมศึกษา แม้ว่าด้วยศักยภาพของโรงเรียนเก่าแก่และมีชื่อเสียง อำนาจและพลังการสนับสนุนจากผู้ปกครองจะมีสูงก็ตาม แต่ถ้างบประมาณในการก่อสร้างมหาศาลย่อมเป็นปัญหาในเรื่องการระดมทุน

ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าในด้านกีฬาแล้ว โรงเรียนอัสสัมชัญมีชื่อเสียงมากในด้านฟุตบอล มีศิษย์เก่าจำนวนไม่น้อยที่กลายเป็นนักฟุตบอลทีมชาติไทยที่มีชื่อเสียงทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมไปถึงการครองแชมป์ฟุตบอลในระดับเยาวชนอีกหลายรายการ นับว่าโรงเรียนอัสสัมชัญเป็นอีกหนึ่งโรงงานผลิตนักฟุตบอลฝีเท้าดีของประเทศไทย

บางกอกกล๊าสจับอินทรีแดง

ทีมฟุตบอลในระดับเยาวชนของอัสสัมชัญที่มีชื่อเสียงจะมาจาก 3 ส่วนคือ อัสสัมชัญ บางรัก ฉายาอินทรีแดง อัสสัมชัญ ธนบุรี และอัสสัมชัญ ศรีราชา ปัจจุบันอัสสัมชัญ ศรีราชา ผลิตนักฟุตบอลฝีเท้าดีเข้าสู่ตลาดนักเตะ โดยมีสโมสรชลบุรี เอฟซี เป็นพันธมิตร

ดังนั้น โรงเรียนอัสสัมชัญจึงเป็นที่หมายตาของบรรดาทีมฟุตบอลชั้นนำ ให้เข้ามาเลือกหานักเตะฝีเท้าดีเข้าไปเสริมหรือเป็นกำลังหลักของทีม และที่เข้ามาร่วมทำโครงการเฟ้นหานักเตะเยาวชนฝีเท้าดีจากทั่วประเทศร่วมกับอัสสัมชัญคือสโมสรบางกอกกล๊าสของกลุ่มเบียร์สิงห์

“เราทำโครงการร่วมกับอัสสัมชัญ (บางรัก) หานักเตะฝีเท้าดีอายุไม่เกิน 16 ปี เข้ามาเป็นนักเตะของโรงเรียนและสโมสร ส่วนเมืองทองฯ มีนักเตะจากอัสสัมชัญ ธนบุรีและหาจากโรงเรียนโพธินิมิตร” ทีมงานจากสโมสรบางกอกกล๊าส กล่าว

ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับทุนการศึกษา ชุดในการฝึกซ้อมและแข่งขัน ชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน ซึ่งทางโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้จัดหอพักสำหรับนักกีฬาและสนามฝึกซ้อมที่โครงการอัสสัมชัญ แคมปัส พระราม 2 จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมทั้งมีคุณครูดูแลในเรื่องการเรียนการสอน ระเบียบวินัย รวมถึงการจัดการเรียนเสริมเพิ่มเติมในการเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา

นอกจากนี้ทางโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้รับการสนับสนุนจากทีมสโมสรฟุตบอลบางกอกกล๊าส เอฟซี พันธมิตรของโรงเรียนอัสสัมชัญ ส่งทีมงานมาช่วยในการพัฒนาทีมฟุตบอลของโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งนักฟุตบอลอัสสัมชัญ จะได้รับการส่งเสริมและมีโอกาสก้าวไปสู่ทีมสโมสรฟุตบอลบางกอกกล๊าส เอฟซี
สโมสรบางกอกกล๊าส/สโมสรบีบีซียู เอฟซี
Academy ป้อนทีมใหญ่

ในธุรกิจวงการฟุตบอล โดยเฉพาะวงการฟุตบอลไทยที่ก้าวเข้าสู่ฟุตบอลอาชีพอย่างเต็มตัว การหานักเตะสำรองเพื่อใช้ทดแทนนักเตะในปัจจุบันที่อาจโรยราไปตามสภาพถือเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะในระดับโลกหรือบ้านเรามี 2 แนวทางคือ หนึ่ง ซื้อตัวนักเตะที่มีคุณภาพเข้ามาประจำทีม ประเภทนี้ส่วนใหญ่ซื้อมาแล้วพร้อมใช้งานได้เลย ส่วนจะเข้ากับทีมได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการปรับสภาพของตัวนักเตะและโค้ช แนวทางที่สองคือ การปั้นเด็กตั้งแต่ระดับเยาวชนขึ้นมา อาจมีการสร้างเป็น Academy หรือเลือกเป็นพันธมิตรกับโรงเรียนที่ผลิตนักเตะที่มีชื่อเสียง

แนวทางแรกต้องใช้เงินมาก เพราะมีทั้งค่าแรงนักเตะ ค่าสัญญากับต้นสังกัดและค่าเอเยนต์ ส่วนแนวทางที่สองแม้จะต้องลงทุนอยู่บ้างแต่จะได้นักเตะที่มีต้นทุนต่ำกว่า ยิ่งถ้าเลือกเป็นพันธมิตรกับโรงเรียนที่มีทีมฟุตบอลในระดับเยาวชนดังๆ แล้วต้นทุนจะต่ำลงไปอีก

โรงเรียนที่มีชื่อเสียงด้านฟุตบอลก็ไม่ต่างกับการทำ Academy มีการหานักเตะฝีเท้าดีทั่วประเทศผ่านเครือข่าย เช่น ครู อาจารย์ตามต่างจังหวัด ส่งเข้ามาศึกษาต่อยังโรงเรียนเหล่านี้ มีทุนการศึกษา ที่พัก และค่าใช้จ่ายบางส่วนให้ พร้อมกับการฝึกฝนทักษะฟุตบอลไปพร้อมกัน แม้โครงการดังกล่าวจะมีต้นทุนอยู่บ้าง แต่ทางโรงเรียนเน้นไปที่การสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนเป็นหลัก และมีเงินบริจาคจากสปอนเซอร์หรือเงินจากสโมสรฟุตบอลเข้ามาเป็นอีกแรงสนับสนุนหนึ่ง

บ้านเราเรื่องของทีมเยาวชนนั้นทางสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ยังไม่ได้ดำเนินการจัดให้มีการแข่งขันอย่างจริงจังเหมือนกับลีกฟุตบอลใหญ่ แต่ทีมในไทยพรีเมียร์ลีกก็มักจะมีทีมสำรองในระดับเยาวชนไว้อยู่แล้ว อย่างรายการฟุตบอลจตุรมิตรหรือรายการอื่นที่จัดแข่งขันกันของฟุตบอลระดับมัธยม จะมีทีมใหญ่ๆ ในเมืองไทยจับจองตัวนักเตะกัน โดยอาจจะเลือกไปที่ตัวบุคคลหรือผูกสัญญากับทางโรงเรียน

ทีมกิตติรัตน์คุม BBCU

เมื่อฟุตบอลไทยได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว นักการเมืองหลายรายโดดลงมาเป็นเจ้าของทีม ไม่ว่าจะหวังผลเรื่องคะแนนเสียงหรือรักกีฬาประเภทนี้อย่างแท้จริง ชลบุรี เอฟซี ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ตระกูลคุณปลื้มผลักดันมาโดยตลอด เอสซีจี เมืองทอง ที่มีทั้งสยามสปอร์ตและวรวีร์ มะกูดีร์ นายกสมาคมฟุตบอล สนับสนุน บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ของ เนวิน ชิดชอบ และอีกหลายทีม

นักการเมืองชุดใหม่ที่ชื่นชอบในกีฬาฟุตบอล อย่าง กิตติรัตน์ ณ ระนอง ศิษย์เก่าและอดีตนักเตะของอัสสัมชัญ ถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าจับตามอง แม้ว่าบทบาทที่ผ่านมาจะรับหน้าที่เป็นผู้จัดการทีมชาติไทยหลายรายการ แต่ด้วยใจรักฟุตบอลเมื่อครั้งที่เป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เข้ามาปรับปรุงสนามกีฬาของจุฬาลงกรณ์ ปรับให้เป็นหญ้าเทียมและพยายามปั้นทีมจุฬาฯ

แต่ติดขัดปัญหาบางประการในเรื่องสิทธิในการทำทีม และท้ายที่สุดกลุ่มของกิตติรัตน์ก็ได้ทีมนี้กลับมา ในนามทีม “บีบีซียู” ที่เคยเลื่อนชั้นจากดิวิชัน 1 ขึ้นมาแข่งในไทยพรีเมียร์ลีกได้ในฤดูกาลที่ผ่านมา แต่ต้องตกชั้นไปอีกครั้ง โดยมี วีรยุทธ โพธารามิก เป็นผู้จัดการทีม ที่ทุ่มงบประมาณ 80 ล้านบาทกับเป้าหมาย 1 ปี เลื่อนชั้นไปสู่ไทยพรีเมียร์ลีกอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้มีการลงหุ้นในการทำทีมนี้ประกอบด้วย ฐาปน สิริวัฒนภักดี จากเบียร์ช้าง กิตติรัตน์ ณ ระนอง พันธ์เลิศ ใบหยก เจ้าของตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทย และอดิศัย โพธารามิก เจ้าของธุรกิจจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล โดยมีการจดทะเบียนในนามบริษัท จุฬายูไนเต็ด ซึ่งภายหลังบริษัทนี้ปรากฏรายชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจอยู่ 3 คน ไม่มีชื่อของกิตติรัตน์

เมื่อมองถึงคนข้างกายของกิตติรัตน์ ณ ระนอง ยังมี เศรษฐา ทวีสิน เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อย่างแสนสิริ ที่มีใจรักฟุตบอลเช่นเดียวกัน ทั้งจากสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน เศรษฐาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีมชาติไทยในช่วงกิตติรัตน์เป็นผู้จัดการทีมชาติ

นอกจากนี้แสนสิริมีการจัดตั้ง “แสนสิริอะคาเดมี” อบรมทักษะฟุตบอลให้กับเยาวชนมี 5 สาขา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีอดีตนักฟุตบอลทีมชาติเข้ามาเป็นผู้ถ่ายทอดทักษะ และสามารถผลิตนักเตะในโครงการให้กับโรงเรียนอัสสัมชัญ ธนบุรี จนติดทีมชาติรุ่นอายุ 12 ปี

รวมไปถึงเครือข่ายของตระกูลโพธารามิก เจ้าของบริษัท จัสมินฯ ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เนื่องจากในบริษัทดังกล่าวมี ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง ประธานบริษัทไทยพรีเมียร์ลีก ผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกและเป็นคนสนิทของ วรวีร์ มะกูดีร์ นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย นั่งเป็นกรรมการอิสระและประธานกรรมการตรวจสอบในบริษัทแห่งนี้
กิตติรัตน์-เศรษฐา 2คู่หูวงการฟุตบอล
15,000 ที่นั่งเท่า SCG เมืองทอง

ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าวงการฟุตบอลเมืองไทยเดินหน้าเข้าสู่รูปแบบของธุรกิจมากขึ้น และข้อกังขาในเรื่องของสนามฟุตบอลของโรงเรียนอัสสัมชัญ ย่านพระราม 2 ที่เป็นส่วนหนึ่งของการลุกขึ้นมาต่อต้านภราดาอานันท์ ปรีชาวุฒิ นั้นเป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร

เมื่อเปรียบเทียบกับ Main Stadium สนามฟุตบอลขนาด 64X110 เมตร ลู่วิ่ง ขนาด 9 ลู่วิ่ง อัฒจันทร์ขนาด 15,000 ที่นั่ง ในโครงการพระราม 2 แล้ว นับว่าเป็นมาตรฐานที่สูงมากสำหรับการลงทุนเพื่อสร้างนักกีฬาฟุตบอลของโรงเรียนอัสสัมชัญเพียงอย่างเดียว

สนามฟุตบอลที่มีความจุผู้ชมขนาดนี้เทียบเท่าได้กับสนามฟุตบอลในระดับจังหวัด ซึ่งบางแห่งยังจุผู้ชมได้น้อยกว่านี้ หรืออาจเทียบเท่ากับสนามฟุตบอลของสโมสรใหญ่ๆ ในระดับไทยพรีเมียร์ลีก เช่น สนามไอโมบายของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่จุได้ 24,000 คน สนามเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด จุได้ราว 15,000 ที่นั่ง ส่วนทีชลบุรี เอฟซี จุผู้ชมได้ 8,600 คน และสนามฟุตบอลของสโมสรบางกอกกล๊าส ทำได้ราว 9,000 ที่นั่ง

แม้ว่าโรงเรียนในเครืออัสสัมชัญจะมีการแข่งขันกีฬาภายในกัน มีนักกีฬาและผู้ปกครองจำนวนมากมาชมการแข่งขัน แต่ความจำเป็นในการสร้างสนามขนาดใหญ่เพื่อรองรับกับการแข่งกีฬาภายในปีละครั้งนั้นถือว่าเป็นการลงทุนที่มากเกินไป เพราะสามารถเช่าสนามขนาดใหญ่จากภาครัฐได้ ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น สนามศุภชลาศัย หรือสนามราชมังคลาฯ

การมีสนามกีฬาขนาดใหญ่นั้นนอกจากต้นทุนค่าก่อสร้างแล้ว ยังมีเรื่องค่าบำรุงรักษาสนาม หากใช้หญ้าจริงจะต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง และเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศในบ้านเราที่มีทั้งร้อนและฝน

“หากเป็นสนามฟุตบอลของสโมสรระดับไทยพรีเมียร์ลีกนั้น เขาทำเป็นธุรกิจ เมื่อมีทัวร์นาเมนต์แข่งขัน สนามที่เป็นทีมเหย้าจะสร้างรายได้ให้กับทีม ทั้งค่าเข้าชมและของที่ระลึกรวมถึงสปอนเซอร์ที่สนับสนุน สามารถนำเงินเหล่านั้นมาปรับปรุงสนามได้ หรืออาจเปิดให้เช่าสำหรับองค์กรธุรกิจในการแข่งขันกีฬาหรืออาจใช้จัดคอนเสิร์ต”

ความจุของสนามขนาด 15,000 ที่นั่งนั้นจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการบำรุงรักษา ลำพังเพียงเพื่อใช้สำหรับการแข่งขันรายการฟุตบอลของอัสสัมชัญเพียงอย่างเดียวถือว่าไม่คุ้มค่า เว้นแต่ทางโรงเรียนมีแผนในทางธุรกิจไว้รองรับ
โครงการอัสสัมชัญ แคมปัส พระราม2
“บีบีซียู” ของโต้งยังขาดสนามเหย้า

อย่างไรก็ดี เป้าหมายหลักของการก่อตั้งอะคาเดมีในบ้านเรานั้นมีเพื่ออะไร แม้จะยังไม่มีใครตอบได้อย่างชัดเจนก็ตาม หากด้านหนึ่งเป็นการทำเพื่อคืนกำไรให้สังคมนับว่าเป็นเรื่องดี แต่ในต่างประเทศแล้วอะคาเดมี เป็นเรื่องธุรกิจ มีการเตรียมทีมในระดับเยาวชนของสโมสรฟุตบอลนั้นๆ เพื่อใช้ทดแทนกับนักเตะในปัจจุบัน แน่นอนว่าสโมสรจะคัดกลุ่มหัวกะทิไว้ใช้กับทีม ที่เหลือก็จะปล่อยให้กับสโมสรอื่น บางแห่งตั้งขึ้นมาเป็นอิสระก็สามารถป้อนนักเตะให้กับสโมสรฟุตบอลอื่นที่สนใจได้

“อย่างนักเตะต่างชาติในบ้านเราก็เป็นผลผลิตมาจากอะคาเดมีทั้งนั้น ส่วนดีๆ ก็เล่นในยุโรป ที่รองลงมาก็กระจายตามภูมิภาคนี้” พินิจ งามพริ้ง ประธานชมรมเชียร์ไทยให้ความเห็น

แม้ว่าสนามฟุตบอลขนาดใหญ่ของอัสสัมชัญ ย่านพระราม 2 จะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไรให้เกิดความคุ้มค่า หรือจะให้อัสสัมชัญ ธนบุรี ซึ่งส่งทีมลงแข่งในระดับดิวิชัน 2 ใช้ คงเป็นไปไม่ได้เพราะมีสนามฟุตบอลของตัวเองและกำลังก่อสร้างเพิ่มเติม

แต่สิ่งที่เริ่มเห็นกันแล้วนั่นคือความร่วมมือกับสโมสรฟุตบอลบางกอกกล๊าส ของค่ายเบียร์สิงห์ ใช้พื้นที่อัสสัมชัญ พระราม 2 เป็นกองหนุนสำหรับทีมในอนาคต

ส่วนศิษย์เก่าอัสสัมชัญอย่างกิตติรัตน์ที่เครือข่ายทุนหนา อำนาจทางการเมืองสูง ที่กำลังปั้นทีมบีบีซียูขึ้นมาจะหันมาใช้บริการทีมสำรองจากอัสสัมชัญ รวมไปถึงสนามที่ใช้ในการแข่งขันหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด

เนื่องจากที่ผ่านมาทีมบีบีซียูยังมีปัญหาในเรื่องของสนาม ไม่มีสนามเหย้าเป็นของตัวเอง ต้องไปเช่าสนามอื่น ทั้งนี้เป็นเพราะทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำทีมฟุตบอลขึ้นมาในนามจามจุรี ยูไนเต็ด อยู่ในระดับดิวิชัน 2 และใช้สนามของจุฬาลงกรณ์เป็นสนามหลัก แม้จะมีข่าวว่าทีมบีบีซียูเตรียมจะสร้างสนามฟุตบอลของตัวเองย่านบางนา ด้วยงบประมาณราว 500 ล้านบาท แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้มากนัก

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างบางกอกกล๊าสกับบีบีซียู รายแรกมีสนามฟุตบอลเป็นของตัวเองคือลีโอ สเตเดี้ยม ความจุ 9,000 ที่นั่ง ส่วนรายหลังยังไม่มีสนามเป็นของตัวเองหรือเช่าได้อย่างถาวร การหันกลับมามองสนามของโรงเรียนอัสสัมชัญ พระราม 2 ก็นับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ไม่ต้องลงทุนเพิ่มมากนัก นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาให้กับทีมแล้วยังช่วยแก้ปัญหาให้กับทางโรงเรียนอัสสัมชัญได้อีกด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น