xs
xsm
sm
md
lg

งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯครั้งที่ 69 / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

นี่อาจเป็นการแข่งขันฟุตบอลรายการเดียวในประเทศไทย ที่ชื่อรายการเปลี่ยนไปทุกปี ทั้งนี้ ก็เพราะมันเป็นการแข่งขันฟุตบอลระหว่าง 2 มหาวิทยาลัย ต่างฝ่ายต่างยอมรับให้เกียรติทัดเทียมกัน ในปีไหนใครเป็นเจ้าภาพก็จะนำชื่อของมหาวิทยาลัยนั้นขึ้นก่อน อย่างในปี 2556 นี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเจ้าภาพ ชื่อของงานจึงเป็น งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 69 แข่งกันวันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ที่ สนามศุภชลาศัย แห่งเดิม

หลายคนสงสัยว่า ก็ในเมื่อ มธ.มีสนามกีฬาดีๆ ที่ ศูนย์รังสิต อยู่แล้ว แต่ทำไมยังคงใช้ สนามศุภชลาศัย ผมเคยได้ยินคำตอบว่า มันเป็นเรื่องของผังที่นั่งบนอัฒจันทร์ที่ สนามศุภฯ เอื้ออำนวยต่อการแปรอักษรได้เป็นอย่างดี แต่ที่ ศูนย์รังสิต นั้น นั่งไม่ได้เข้ารูป และหากจะปรับใช้ให้ได้ มันยุ่งยากครับ นอกจากนั้น สถานที่ตั้งก็อยู่ไกลออกไป เกรงว่า ผู้คนจะเดินทางไปไม่สะดวก

ฟุตบอลนัดเดียวอย่างนี้ ทั้ง 2 สถาบันต่างก็ขนผู้เล่นที่บางส่วนเป็นนิสิตนักศึกษาปัจจุบัน บางส่วนก็เป็นศิษย์เก่าที่ยังมีฝีเท้าดีขนาดสังกัดสโมสรฟุตบอลอาชีพ หรือติดทีมชาติไทยมาแข่งขันกัน ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็หวังคว้าชัยชนะเพื่อช่วงชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาครองให้ได้

นอกจากเกมการแข่งขันแล้ว กิจกรรมภายในงานก็ถือเป็นเสน่ห์ดึงดูดความสนใจไม่น้อย นั่นคือ กิจกรรมของนิสิตนักศึกษา เช่น การเดินพาเหรด การเชียร์ การแปรอักษร และขบวนพาเหรดล้อการเมือง ซึ่งเป็นจุดเด่นให้ผู้คนต้องติดตามว่า ปีนี้นักการเมืองคนไหนบ้างที่จะตกเป็นเป้าในการล้อเลียน เสียดสี จากทัศนะของบรรดานักศึกษา ปัญญาชนของชาติ โดยมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์สู่สายตาประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งรายได้ทั้งหมดจากการจัดงานก็จัดมอบให้แก่การกุศลต่อไป

ตั้งแต่การแข่งขันครั้งแรกในปี พ.ศ.2477 จนถึงหนล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ผ่านมา 78 ปี 68 ครั้ง ดูเหมือนว่า ธรรมศาสตร์ จะมีสถิติที่ดีกว่า ชนะ 22 ครั้ง เสมอ 31 และแพ้เพียง 15 ครั้ง แต่ถ้าเราแบ่งออกเป็น 2 ยุค คือ 34 ครั้งแรก ตอนนั้น ธรรมศาสตร์ ชนะชุ่ยเลยครับ บางช่วงชนะ 4 ปีซ้อน สกอร์ขาด 4-0 ก็มีด้วย ในขณะที่ 34 ครั้งหลัง ธรรมศาสตร์ ค่อนข้างเป็นรอง เพราะตั้งแต่ครั้งที่ 35 ในปี 2522 เป็นต้นมา 34 สมัย จุฬาฯ ชนะ 9 ครั้ง เสมอ 19 และแพ้เพียง 6 ครั้ง โดยเฉพาะ 2 ปีล่าสุด จุฬาฯ ยังคงครองแช้มพ์ และตั้งเป้าชนะ 3 หนติดต่อกันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ด้วย

ประเพณีอีกอย่างที่ต้องไม่ลืม ก็คือ เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี นักเตะที่เคยเล่นในนามของทั้ง 2 สถาบัน แม้จะไม่อยู่ในวัยกำลังเฮี้ยนแล้ว แต่ยังอยากหวนรำลึกความหลัง เขาจึงจัดรวบรวมนักเตะเก่าๆ ให้มาดวลแข้งกัน เรียกว่า โดมชรา-จามจุรีโรย โดยจัดแข่ง 1 วันก่อนงานฟุตบอลประเพณี ซึ่งในปีนี้ก็ไปตกวันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์
ในปัจจุบัน นักเตะชราของทั้ง ธรรมศาสตร์ และ จุฬาฯ นั้น แต่ละคนมีหน้าที่การงานต่างๆ กัน ทั้งด้านการเมือง ข้าราชการ หรือธุรกิจเอกชน บางคนเป็นถึงรัฐมนตรีก็มี การแข่งขันก็จัดแบ่งออกเป็น 3 รุ่น คือ อายุ 40 ปีขึ้นไป อายุ 50 ปีขึ้นไป และอายุ 60 ปีขึ้นไปหรือ วีไอพี ซึ่งปกติจะแข่งกันที่ สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ สนามจุ๊บ แต่เนื่องจากในช่วงนี้กำลังจะมีการปิดปรับปรุงสนามเพื่อรองรับการแข่งขันฟุตบอลลีกภูมิภาค ดิวิเชิ่น 2 สำหรับทีม จามจุรี ยูไนเต็ด ดังนั้น โดมชรา-จามจุรีโรย คราวนี้กำหนดแข่งกันที่ สนามเทพหัสดิน นะครับ

สำหรับ จุฬาฯ ในปีนี้ทางมหาวิทยาลัย มอบหมายให้ อาจารย์ทรรศนะ พิทักษ์อรรณพ เป็นผู้จัดการทีมเช่นเดิม เพราะนำทีมชนะ 2 สมัยซ้อนแล้ว ส่วนผมเป็นผู้จัดการทีมจามจุรีโรย ดังนั้น จึงขออนุญาตฝากเรียนมายังพี่น้องเลือดสีชมพูทุกท่าน ว่า ผมมีแนวทางง่ายๆ ซึ่งกำชับให้โค้ชไปแล้วว่า ทุกคนต้องได้ลงสนาม ใครฟอร์มยังแจ๋วก็เป็นตัวยืนนานหน่อย ใครแค่เอี้ยวตัวหยิบขวดน้ำปลาก็ตะคริวขึ้นแล้ว ก็ได้ลงเล่นเหมือนกัน แต่ตามอัตภาพนะครับ เราซ้อมกันทุกวันจันทร์ 1 ทุ่มตรงที่สนามจุ๊บครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น