มหาวิทยาลัยออกนอกระบบพ่นพิษ หลายแห่งต้องดิ้นหารายได้ด้วยการเปิดศูนย์การศึกษานอกสถานที่ พบกว่า 60% ไม่มีความพร้อม ต้องปิดตัว ด้าน สกอ.คุมเข้ม เตรียมดันข้อบังคับตีตรา “ศูนย์ที่จบ-รูปแบบการเรียน” ลงทรานสคริปต์ แก้ข้อกังขาเกาะชื่อเสียงสถาบันแต่ไร้มาตรฐาน พร้อมออกกฎจำกัดจำนวน “ม.รัฐ-ม.เอกชน” ก่อนล้นตลาด ขณะที่ ม.สวนสุนันทา แจง ทุกศูนย์มีความเป็นเลิศเฉพาะด้าน ส่วนสภาอุตฯ ชี้ เกรดเฉลี่ย สถาบัน หรือศูนย์ที่จบการศึกษาเป็นส่วนประกอบในการพิจารณารับเข้าทำงาน
ทีม special scoop นำเสนอปัญหาของระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาซึ่งในตอนแรกเรื่อง “ม.เอกชนป่วน! หลายแห่งรอปิดกิจการ หลังถูก ม.รัฐเปิดภาคพิเศษชิงตลาดนักศึกษาจบใหม่” และตอนที่ 2 จะเป็นการเจาะลึกถึงมูลเหตุและปัญหาของการขยายตัวของศูนย์การศึกษานอกสถานที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษาที่มีเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
โดยมีข้อมูลการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษาที่แจ้งมายังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาอย่างเป็นทางการ (ข้อมูล ณ กันยายน 2555) ระบุว่า มีศูนย์การศึกษานอกสถานที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 1,643 ศูนย์จากทั่วประเทศ ซึ่งเป็นศูนย์ของ ม.รัฐและม.เอกชน ที่จัดการเรียนการสอนทั้งที่ได้มาตรฐานและไม่ได้มาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ
ขณะเดียวกันการเปิดศูนย์ฯ ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เพื่อเป็นการสร้างรายได้อันเกิดจากปริมาณนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ได้คำนึงถึงความพร้อมของสถาบันการศึกษานั้นๆ จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงมาตรฐานคุณภาพของนักศึกษาที่จบออกมาจากศูนย์ฯ ว่า “ปริญญาบัตร” ดังกล่าวมีคุณภาพเท่ากันหรือไม่กับการจัดการศึกษาในสถาบันส่วนกลางอันเป็นสถานศึกษาหลักของมหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ดี สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบประเมินผลการจัดการอุดมศึกษา ตลอดจนเสนอแนะการจัดตั้ง ยุบรวม ปรับปรุงและยกเลิกสถาบันอุดมศึกษา ได้มองเห็นปัญหาและผลกระทบจากการเปิดศูนย์ฯ ต่อระบบการศึกษาในระยะยาว หากไม่ได้รับการดูแลเรื่องคุณภาพการศึกษาอย่างทั่วถึง
สกอ.ออกกฎ “ทรานสคริปต์” ต้องบันทึก “ศูนย์ที่จบ”
ดังนั้น สกอ.จึงต้องเร่งหามาตรการและผลักดันให้เกิดข้อบังคับต่างๆ เพื่อกำกับดูแลให้มีการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เพราะการจะเปิดศูนย์การศึกษานอกสถานที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษาได้ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ เช่น กำหนดให้มีอาจารย์ประจำ, พนักงานประจำ, อุปกรณ์การเรียนการสอน, ห้องเรียน ฯลฯ ซึ่งหากไม่มีก็จะไม่สามารถดำเนินงานได้
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาทุกวันนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง กรณีที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือข้อสงสัยของสังคมว่า “เด็กที่จบการศึกษาในแต่ละแห่ง จะสามารถเชื่อมั่นในความรู้ ความสามารถได้เพียงใด”
คุณภาพของเด็กที่จบแต่ละศูนย์ฯ หรือในแต่ละหลักสูตรยังไม่เคยมีใครวัดคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนออกมา จึงทำให้เกิดข้อสงสัย เกิดปัญหาว่าสังคม หรือผู้ที่จะรับนักศึกษาเข้าทำงานก็ไม่สามารถรับรู้ได้ว่าคุณภาพเด็กที่จบออกมาเป็นอย่างไร นอกจากรับไปทดลองงาน จึงจะรู้ว่าเด็กคนนั้นทำงานได้จริงหรือไม่
โดยในอนาคตทาง สกอ.จะออกมาตรการใหม่ เพื่อจะให้ทางมหาวิทยาลัยแจ้งให้สังคมได้ทราบโดยตรงว่านักศึกษาจบจากศูนย์การศึกษาที่ไหน จังหวัดอะไร เช่น การออกทรานสคริปต์จะต้องระบุว่าจบจากศูนย์ไหน ภาคเรียนอะไร เรียนด้วยวิธีไหน อาทิ บางคนเรียนเอง หรือที่เรียกว่าเรียนแบบ e-learning ฯลฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการรับรู้ตั้งแต่ต้น และใช้พิจารณาในการตัดสินใจเลือกรับพนักงานเข้าทำงาน หากผู้ประกอบการเชื่อมั่นในสถาบัน หรือลักษณะการเรียนของนักศึกษาก็จะรับเข้าทำงาน
“การระบุรายละเอียดเรื่องการศึกษาให้สังคมรับรู้เป็นการเตือน เป็นการให้ข้อมูล เพื่อให้มีความโปร่งใส ชัดเจน”
ขณะที่สถาบันการศึกษาบางแห่งก็เริ่มมีปัญหาขึ้นบ้างแล้ว ซึ่งคงเคยได้ยินสโลแกนที่ว่า “เรียนง่าย จ่ายครบ จบแน่” จึงทำให้ สกอ.เห็นถึงปัญหานี้ และพยายามดำเนินการดูแลมากขึ้น
แต่ในลักษณะโครงสร้าง อำนาจและหน้าที่ของ สกอ.ก็ไม่มีอำนาจเข้าไปจัดการได้โดยตรง แต่อาจออกข้อกำหนดที่จะควบคุมได้บ้าง เช่น กฎระเบียบ การดูแลมาตรฐานต่างๆ ที่จะเชื่อว่ามหา’ลัยจะเดินไปในทางที่ดีขึ้น เป็นต้น
“หลักการเริ่มต้นของการเปิดวิทยาเขตเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ผู้ที่มีบ้านอยู่ต่างจังหวัดได้มีโอกาสเข้าถึงมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ เหมือนกัน แต่ในทางกลับกัน วิทยาเขต หรือศูนย์ฯ ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผมก็ยังเชื่อว่ามหาวิทยาลัยเหล่านั้นมุ่งที่จะเน้นคุณภาพมากกว่าเรื่องของธุรกิจ”
จำกัดจำนวน “ม.รัฐ-ม.เอกชน”
นอกจากนี้ สกอ.อยู่ระหว่างการพิจารณาออกข้อกำหนดอีกหลายประการ เพื่อดูแลสถาบันอุดมศึกษาเหล่านั้นให้สอดคล้องกับจำนวนนักศึกษา อย่างเช่น การจำกัดไม่ให้มี ม.รัฐเพิ่มขึ้น และขณะนี้กำลังพิจารณานโยบายจำกัดปริมาณของ ม.เอกชนเช่นกัน เพราะแนวโน้มจะมีมหาวิทยาลัยมากกว่าความจำเป็น มากกว่าจำนวนนักศึกษา
“ภาพรวมวันนี้มหาวิทยาลัยมีปริมาณเพียงพอแล้ว และเริ่มมีการแข่งขันในเชิงธุรกิจมากขึ้น”
รองเลขาธิการ สกอ.ระบุว่า อย่าง ม.ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่เปิดภาคพิเศษ ก็ไม่ได้เรียนง่ายกว่าภาคปกติเลย คุณภาพออกมาก็ไม่ได้ต่างกัน เพราะทั้ง 2 สถาบันเน้นที่คุณภาพ และการประเมินผล ส่วนการที่เด็กนิยมเลือก ม.รัฐที่มีชื่อเสียง เนื่องจากชื่อเสียงก็เป็นตัวประกันคุณภาพ ขณะที่ตัวผู้จบเองก็ต้องไปแสดงความสามารถอีกที
“สกอ.มีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐาน แต่ด้านคุณภาพอยู่ที่ตัวคณาจารย์ ว่าต้องมีคุณวุฒิการศึกษาที่เหมาะสม มีประสบการณ์ และความเป็นครู ซึ่งส่วนนี้วัดได้ยาก”
ช่องว่างเด็ก “เก่ง-โง่” แยกชัดเจน “ปริญญา” ไร้ค่า
ส่วนของ ม.เอกชนที่ต้องการจะแข่งขันกับ ม.รัฐให้ได้ เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจในส่วนของค่าใช้จ่าย ต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งสิ่งที่สำคัญก็คือ คณาจารย์ หากสามารถหาอาจารย์ที่มีคุณภาพ มีสื่อการสอนที่ทันสมัย ครบ บวกกับวิธีการจัดการเรียนการสอนที่ดี ก็จะสามารถแข่งขันได้ แต่สุดท้ายก็จะวัดกันที่คุณภาพบัณฑิตที่จบออกมา ซึ่งบางแห่งสามารถผลิตบัณฑิตที่มีลักษณะเฉพาะขึ้นมาได้ หากถึงตรงนั้นก็จะบ่งชี้ถึงคุณภาพในระดับหนึ่ง ก็จะสามารถแข่งขันได้ ส่วน ม.เอกชนที่เพิ่งเกิดใหม่อยากให้โฟกัสที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง และทำตัวให้เล็กลง สร้างคนที่มีคุณภาพจึงจะได้รับการยอมรับและอยู่รอดได้
แนวโน้มการศึกษาของไทยจะเป็นตลาดของผู้เรียน มีให้เลือกมากขึ้น ผู้เรียนจะค่อยๆ น้อยลง ตามอัตราประชากร และมีแนวโน้มว่าคนที่เรียนไม่เก่งจะเลือกมหาวิทยาลัยที่เรียนง่าย เด็กที่เรียนเก่งจะเลือกมหาวิทยาลัยที่เรียนยาก เพราะต้องการเพิ่มคุณภาพตนเอง ก็จะแยกออกจากกันเป็น 2 ส่วนอย่างชัดเจนขึ้น เด็กที่มีคุณภาพด้อยก็จะตกงานในที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ สกอ.เป็นห่วง และพยายามจะปรับช่องว่างเข้าหากัน
โดยเฉพาะหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ใบปริญญาอาจมีค่าลดลง แต่จะดูที่ความสามารถมากกว่า เช่น อาจไม่ผ่านระยะทดลองงาน ฯลฯ ภาคเอกชนจะมีบทบาทมากขึ้น เด็กไทยจะเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศได้ง่าย อีกทั้งฝีมือการทำงานจะเป็นเครื่องชี้ประสิทธิภาพของการเรียน เพราะถ้ามีปริญญาแล้วทำงานไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ สุดท้ายก็จะไม่มีใครอยากจ้างทำงาน
“ปรัชญาของการมี ม.เอกชนที่แท้จริงคือการช่วยรัฐในการจัดการศึกษา ไม่ใช่ธุรกิจ ม.เอกชนไม่ใช่ธุรกิจ ดังนั้นต้องไม่หากำไร วิธีการจัดการศึกษาที่ไม่แสวงหากำไรคือ การลงทุนมาก ได้กลับมาพอสมควร”
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี บอกว่า ในส่วนของ ม.รัฐที่ออกนอกระบบ ก็เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหาร ไม่ใช่ประเด็นเรื่องการหารายได้ แต่สามารถหาผลประโยชน์ได้ซึ่งเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น เนื่องเพราะรัฐได้สนับสนุนด้านงบประมาณ และผ่านหน่วยงานต่างๆ อย่างเรื่องบริหารจัดการงบด้านบุคลากรก็มีให้ เป็นต้น จึงห้ามหารายได้จากเด็ก
มหาวิทยาลัยเปิดศูนย์ฯ หารายได้ก่อนวิกฤต
ขณะที่นักวิชาการด้านการศึกษา ระบุว่า การที่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง โดยเฉพาะม.รัฐที่ออกนอกระบบ หรือมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐต้องขยายศูนย์ และสาขาวิชานั้น มีสาเหตุสำคัญคือ การต้องหารายได้ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการออกนอกระบบ จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐเหมือนในอดีต เช่น เงินเดือนพนักงาน ป.ตรี 15,000 บาท รัฐอาจให้ 12,000 บาท ทำให้มหาวิทยาลัยเหล่านั้นต้องแบกภาระส่วนต่างเอง ซึ่งอาจได้ยินว่ามหาวิทยาลัยบางแห่งไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างพนักงาน ประกอบกับจำนวนนักศึกษาที่ลดน้อยลง มีการแข่งขันกันดึงตัวนักศึกษาอย่างรุนแรง จึงต้องมีการคิดเชิงพาณิชย์มากขึ้น ขณะที่มหาวิทยาลัยเอกชนยิ่งลำบาก
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ข้อมูลของ สกอ.ระบุว่ามีสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของแต่มหาวิทยาลัยมีจำนวนมาก อย่างมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี มีการเปิดศูนย์กระจายทั่วประเทศจำนวนมากถึง 250 ศูนย์ ตั้งอยู่ที่ จ.กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น ชัยภูมิ ฯลฯ โดยขณะนี้ สกอ.ระบุไว้ว่าได้แจ้งปิดการเรียนการสอนทุกศูนย์ ฯลฯ
แต่จากการสอบถามของทีม special scoop ไปยังมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีพบว่า ศูนย์ที่ปิดตัวลง บางแห่งกลายเป็นศูนย์ให้ข้อมูล ประชาสัมพันธ์แทน ซึ่งหากนักศึกษาต้องการเรียนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีจะต้องมาเรียนที่ส่วนกลาง ที่กรุงเทพฯ เท่านั้น เนื่องจากศูนย์เหล่านั้นได้ปิดการเรียนการสอนลงแล้ว นักศึกษาตามศูนย์เหล่านั้นก็ได้โอนมาเรียนที่ส่วนกลาง
แหล่งข่าวบอกอีกว่า ศูนย์ต่างๆ หลายสถาบันฯ ส่วนใหญ่ประสบปัญหาด้านคุณภาพการสอน เช่น ไม่มีอาจารย์ประจำศูนย์ ฯลฯ และเมื่อรู้ว่า สกอ.จะไปตรวจก็รีบปิดศูนย์ฯ ก่อน ส่วนศูนย์ฯ ใดเมื่อ สกอ.ไปตรวจและบอกว่าควรปรับปรุงหรือเพิ่มส่วนใด หากทางศูนย์ฯ ปรับปรุงได้ตามที่ สกอ.ระบุก็จะสมารถกลับมาเปิดศูนย์ฯ ดังกล่าวได้อีก
ขณะที่มหาวิทยาลัยบูรพามีจำนวนศูนย์ 49 ศูนย์ ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ กระบี่ กาฬสินธุ์ ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ ฯลฯ ซึ่งมีทั้งต้องปิดศูนย์ฯ บางแห่งอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงหรือแจ้งเปลี่ยนสถานที่ตั้ง
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีจำนวน 4 ศูนย์ ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ราชบุรี ฯลฯ ได้มีการแจ้งปิดการเรียนการสอนทั้ง 4 แห่ง
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 58 ศูนย์ ตั้งอยู่ที่กาญจนบุรี กำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ชัยภูมิ ตาก น่าน นครปฐม ฯลฯ ซึ่งมีทั้งอยู่ระหว่างดำเนินการ และรับทราบการเปิด-ปิดศูนย์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มีจำนวน 25 ศูนย์ ตั้งอยู่ที่ขอนแก่น จันทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ ฯลฯ ซึ่งมีทั้งอยู่ระหว่างดำเนินการ และรับทราบการปิดและปรับปรุงศูนย์ฯ
มหาวิทยาลัยนเรศวร มีจำนวน 27 ศูนย์ ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ กำแพงเพชร เชียงใหม่ ตาก ฯลฯ ซึ่งมีการแจ้งปิดศูนย์ฯ ทั้งหมด
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มีจำนวน 21 ศูนย์ ตั้งอยู่ที่ จ.ตรัง นครนายก ลำปาง สุพรรณบุรี ฯลฯ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ และรับทราบการปิดศูนย์ฯ
60% ศูนย์การศึกษานอกสถานที่ปิดตัว
จากข้อมูลการปิดศูนย์ฯ จำนวนมากได้บ่งชี้ถึงคุณภาพการศึกษา และหากไม่ได้รับการสอดส่องอย่างทั่วถึงจะส่งผลกระทบกับตัวนักศึกษา และภาพรวมของวงการศึกษาไทยในที่สุด
แหล่งข่าวนักวิชาการด้านการศึกษาให้ข้อมูลต่อว่ามีหลายศูนย์ที่จัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งต้องปิดตัวลงไปประมาณกว่า 60% เนื่องจากมีนักศึกษาหรือมีคู่แข่งทางการศึกษามาร้องว่า บางศูนย์ไม่มีอาจารย์ ไม่มีพนักงาน ไม่มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งช่วงหลัง สกอ.มีการสุ่มตรวจเข้มมาก จนทำให้ศูนย์หลายแห่งปิดตัวลงไป
ทั้งนี้ หากสังเกตจะพบว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏนิยมเปิดศูนย์จำนวนมาก และประเด็นหลักอีกประการที่ทำให้ศูนย์ฯ หลายแห่งต้องปิดตัวลงก็คือ อาจารย์หายากมาก ซึ่ง สกอ.จะมีการกำหนดจำนวนอาจารย์ประจำศูนย์ฯ ไว้อย่างชัดเจน เช่น สอน ป.โท 1 สาขา ต้องมีอาจารย์ ป.เอกประจำ 5 คน เป็นต้น
ส่วนการประเมินคุณภาพของนักศึกษาเป็นเรื่องยาก เพราะไม่สามารถวัดได้ชัดเจน เช่น เรียนที่ กทม. หรือต่างจังหวัด หากได้รับการสอนจากอาจารย์คนเดียวกัน ตำรา และหลักสูตรเดียวกัน จะมาวัดว่าเด็กที่เรียน กทม. หรือศูนย์ฯ หลักมีคุณภาพมากกว่าก็ไม่ใช่ การจะเหมารวมก็เป็นเรื่องไม่ยุติธรรม นอกจากศูนย์ฯ นั้นจะไม่มีคุณภาพเอง
นอกจากนี้หากมหาวิทยาลัยต้องการหารายได้น่าจะศึกษาแนวทางของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ให้เช่าพื้นที่ได้รายได้จำนวนมาก, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หารายได้จากการเป็นที่ปรึกษา หรืออาจหาจากงานวิจัย และบางมหาวิทยาลัยอาจส่งออกหลักสูตร เพื่อสร้างรายได้ เช่นเดียวกับการศึกษาของประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น
มั่นใจทุกศูนย์ “สวนสุนันทา” มีความพร้อม
รศ.ดร.ช่วงโชติ พันธุเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวถึงเหตุที่ต้องขยายศูนย์การศึกษาออกไปสู่พื้นที่ต่างๆ ว่าเป็นเพราะขนาดพื้นที่ที่จำกัดของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาที่มีพื้นที่เพียง 67 ไร่ ซึ่งปกติแล้วมหาวิทยาลัยควรมีพื้นที่เกิน 100 ไร่ โดยการขยายพื้นที่ไปตามศูนย์ฯ ดังกล่าวก็เพื่อรองรับจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีประมาณ 15% และเป็นการวางแผนรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ด้วย ซึ่งจะเน้นภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น รวมถึงรองรับนักเรียนจากอาเซียนด้วย เนื่องจากทุกวันนี้จำนวนนักศึกษาน้อยลงเรื่อยๆ แต่ละแห่งก็มีคณบดีดูแล และมีการรายงานผลทุกไตรมาส ซึ่งแต่ละคณะจะทำ TOR ส่งสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยพิจารณา
สำหรับศูนย์ของทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาจะมีความพร้อมในการรองรับนักศึกษาในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ หอพัก อุปกรณ์การเรียนการสอน ฯลฯ โดยส่วนใหญ่แต่ละศูนย์จะมีความโดดเด่น มีความเป็นเลิศที่ต่างกัน เช่น ศูนย์ที่ศาลายาจะเปิดสอนในปี 2557 อย่างเต็มตัว เป็นหลักสูตรนานาชาติ จะเน้นด้าน new media อาเซียน นานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นด้านแอนิเมชัน ความคิดสร้างสรรค์ ที่มาพร้อมศิลปวัฒนธรรมของแต่ละชาติ นำมาผสมผสานของนานาชาติที่มาเรียน
อย่างศูนย์ฯ ที่เน้นด้านสุขภาพจะอยู่ที่สมุทรสงคราม ถนนพระราม 2 ที่นั่นจะมีโรงพยาบาลสวนสุนันทาอยู่ มีเตียง 165 เตียง จะเปิดเต็มตัวปี 2556 นี้ เน้นวิทยาศาสตร์ สุขภาพ เน้นผู้สูงอายุ เป็นการสอนที่มีการผสมผสานการแพทย์แผนปัจจุบัน และโบราณ รวมถึงแพทย์ทางเลือก อย่างแพทย์แผนจีน ซึ่งนักเรียนที่จบพยาบาลจากสวนสุนันทาเป็นที่ต้องการของตลาดมาก มีโรงพยาบาลเอกชนมาจองตัวนักศึกษา ซึ่งอัตราการได้งาน 100% และได้เงินเดือนสูง ปีแรกได้เงินเดือนเฉลี่ย 37,000 บาท ปีที่ 2 ประมาณ 42,000 บาทต่อเดือน และหากโรงพยาบาลมีความพร้อม ก็จะเปิดสอนทางด้านการแพทย์ ซึ่งคาดว่าไม่เกิน 10 ปี
ในส่วนของวิชาชีพครูที่ทางสวนสุนันทามีชื่อเสียงอยู่แล้ว ก็ยังคงรักษาคุณภาพไว้ และจะเน้นด้านอุตฯ ท่องเที่ยว อาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งหากมองในภาพรวมจะพบว่าสวนสุนันทามีนักศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี ประมาณ 15% นักศึกษาที่จบออกไปจะมีงานทำสูงถึง 96% พยาบาล 100% อัตราเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพของนักศึกษาที่จบออกไป ไม่ว่าจะเรียนจบจากศูนย์ฯ ใดก็ตาม
จบศูนย์ กทม.-เมืองใหญ่โอกาสได้งานสูงกว่า
ส่วน ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า หากจบจากสถาบันเดียวกัน สาขาเดียวกัน แต่คนละศูนย์ ผู้ประกอบการจะพิจารณาสถาบันหลัก ศูนย์ฯ ใน กทม. หรือเมืองใหญ่มากกว่าศูนย์ฯ ที่ห่างไกล เนื่องจากเป็นความรู้สึกด้านจิตวิทยาว่า รูปแบบการศึกษา เครื่องมือ ฯลฯ ให้ความเชื่อมั่นว่ามีความพร้อมมากกว่า
โดยหลักการแล้วการจะตั้งศูนย์การศึกษานอกสถานที่ของสถาบันอุดมศึกษาจะต้องมีการควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งมหาวิทยาลัยชั้นนำมักจะให้อาจาร์จากส่วนกลางไปสอนตามศูนย์ต่างๆ หรือตามวิทยาเขต จึงมีมุมมองและการถ่ายทอดที่ไม่ต่างกันมาก ขณะที่มหาวิทยาลัยระดับกลาง ตลาดแรงงานอาจตั้งข้อสังเกตเรื่องคุณภาพของนักศึกษาที่จบออกมามากกว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำ
แนวโน้มตลาดแรงงานที่จะรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะมีเกณฑ์ในการเลือกด้านความสามารถทางภาษาอังกฤษ ความสามารถด้านเทคโนโลยี และเลือกมหาวิทยาลัยที่มีการสอบแข่งขันกันเข้าไป ซึ่งมหาวิทยาลัยชั้นนำดูเหมือนยังได้เปรียบ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจที่มีการติดต่อกับต่างประเทศ
แต่หากผู้สมัครที่จบจากสถาบันระดับกลาง-ล่างฉายแววความสามารถในระหว่างสัมภาษณ์งาน ก็มีสิทธิในการได้งานเหมือนกัน แม้จะแข่งกับสถาบันชั้นนำก็ตาม ซึ่งในระยะหลังเรื่องความขยัน อดทน มีความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ มีความคิดสร้างสรรค์เข้ามามีส่วนสำคัญในการพิจารณารับพนักงาน
อุตฯกลาง-เล็ก โอกาสเลือกพนักงานได้น้อยลง
สำหรับ เจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สะท้อนมุมมองของตลาดแรงงานในปัจจุบันว่า ขณะนี้หลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง-เล็กขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะช่างฝีมือในระดับอาชีวะ ขณะที่ตลาดวุฒิปริญญาตรีที่มีความรู้ความสามารถด้านวิชาเฉพาะ วิชาชีพต่างๆ ก็เป็นที่ต้องการ อาทิ วิศวกรรม, บัญชี ฯลฯ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของอุตสาหกรรม หากมีแนวโน้มที่ดี ก็จะเลือกพนักงานได้มากกว่า เช่น อุตฯ ยานยนต์, อุตฯ อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ รวมถึงขนาดของธุรกิจก็มีส่วนสำคัญ หากเป็นบริษัทใหญ่ก็มีสิทธิเลือกได้มากกว่า
ส่วนหลักเกณฑ์ในการพิจารณาพนักงานจะดูสาขาที่จบออกมาว่าตรงต่อตำแหน่งงานที่ต้องการหรือไม่ วิชาที่เรียนตรงตามงานที่จะต้องทำหรือไม่ เช่น ต้องการรับพนักงานมาทำบัญชีต้นทุน หากมีวิชาที่เรียนตรงก็จะมีแนวโน้มได้งานสูง เพราะไม่จำเป็นต้องรับมาแล้วฝึกใหม่ สามารถปฏิบัติงานได้เลย รวมถึงดูผลงาน กิจกรรมที่เคยทำว่าตรงกับที่ต้องการในตำแหน่งนั้นๆ หรือไม่
ขณะที่เกรดเฉลี่ย สถาบัน หรือศูนย์ฯ ที่จบการศึกษาจะเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาเท่านั้น บทบาทเริ่มน้อยลง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก มักจะไม่เจาะจงว่าจะต้องจบจากสถาบันชั้นนำแล้วจะเลือกรับ เพราะเชื่อว่าหากจบจากสถาบันชั้นนำก็อาจอยู่ไม่ทนและเข้ามาเพื่อฝึกงานเท่านั้น ดังนั้นการจะเลือกรับพนักงานต้องดูให้เหมาะกับงาน และองค์กร
อีกปัจจัยหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในการพิจารณาก็คือ การอยู่บ้านใกล้ที่ทำงาน เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา พนักงานที่อยู่บ้านไกลจะมาทำงานได้ไม่นานก็ออก เพราะทนต่อการเดินทางไม่ไหว
“พนักงานบางคนจบจากสถาบันไม่ติดอันดับ แต่ฝีมือดี ทำงานรวดเร็ว และอดทน ซึ่งก่อนรับพนักงานก็จะมีข้อทดสอบต่างๆ เช่น สอบเชาว์ เป็นต้น และในช่วงทดลองงานก็จะเป็นตัวชี้วัดว่าสามารถทำงานได้หรือไม่ ปัจจุบันผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธุรกิจขนาดใหญ่มีโอกาสในการเลือกพนักงานน้อยลง”