xs
xsm
sm
md
lg

24 พ.ย.! คนไทยรักชาตินัดรวมพล จับตา 7 หน่วยทหารเคลื่อนพลสู่ปฏิวัติ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“นักวิชาการ- ทหาร” พร้อมอดีตบิ๊กความมั่นคง ที่เข้า-ออกสนามม้า ประเมินม็อบ เสธ.อ้ายมีพลัง กระเพื่อมรัฐบาลได้ ด้วยเหตุผล 4 ประการ มั่นใจศึกทหารชนทหารไม่เกิดขึ้น ชี้ชัดๆ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” คนเดียวที่สั่ง “ปฏิวัติ” ได้ จับตา 7 หน่วยรบเคลื่อนพล? ด้าน “ปณิธาน” ชี้จุดอ่อน “รมต.-รองนายกฯ มั่นคง” ยากประสานผู้นำเหล่าทัพ

การประเมินคนเข้าร่วมการชุมนุมในม็อบ “เสธ.อ้าย” พลเอกบุญเลิศ แก้วประสิทธิ ต่ำเกินไปจนหน้าแตก หรือ คำเตือนของพลเอกพัลลภ ปิ่นมณี ที่บอกว่า “เสธ.อ้ายคนนี้ไม่ธรรมดา” ตลอดจนการจับมือ ตท.10 ของพลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตร ตท.5 ว่าศึกครั้งนี้ทหารรุ่น 5 และ 10 จะคัดค้านเต็มที่ การเตรียมบันไดให้ ส.ส.ปีนออกจากสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงการจัดเตรียมกำลังเพื่อดูแลความเคลื่อนไหวครั้งนี้อย่างจัดใหญ่

โดยความเคลื่อนไหวทั้งหมดทั้งมวลของฝ่ายรัฐบาลเวลานี้ล้วนแต่ทำให้การจัดให้มีการชุมนุมของเสธ.อ้าย ในวันที่ 24 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ เป็นม็อบที่มีราคาขึ้นมาอย่างยิ่ง เฉกเช่นเดียวกับที่ฝ่ายความมั่นคงที่เข้า-ออกในสนามม้าอันเป็นที่ตั้งหรือหน่วยบัญชาการของ เสธ.อ้ายได้ประเมินให้ทีม “special scoop” ฟัง ถึงการชุมนุมครั้งนี้จะเป็นการชุมนุมที่มีพลังจนถึงขั้นสั่นสะเทือนรัฐบาลได้!

4 เหตุผลม็อบเสธ.อ้ายสะเทือนรัฐบาลปู

สำหรับเหตุผลที่จะทำให้การชุมนุมของม็อบ เสธ.อ้ายครั้งนี้มีพลังมีที่มาจาก 4 ประเด็นใหญ่ประกอบด้วย

ประการแรก เกิดจากการที่พลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตร ออกมาจุดชนวนเรื่องทหารจะสู้กับทหาร โดยแสดงตัวว่าเป็นตัวแทนของ ตท.5 และร่วมมือกับ ตท.10 ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ได้กลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนยิ่งอยากเข้าร่วมกับม็อบ เสธ.อ้ายมากขึ้น

ทั้งนี้เพราะคนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมม็อบ เสธ.อ้ายนั้น มีที่มาจากความไม่พอใจรัฐบาลที่มีอยู่ในแต่ละบุคคลอยู่แล้ว โดยเฉพาะในการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

แต่การที่พลเอกชัยสิทธิ์ พยายามทำให้เห็นภาพว่าศึกครั้งนี้เมื่อทหารฝ่ายหนึ่งทำม็อบต้านรัฐบาล ก็ยังมีทหารอีกฝ่ายหนึ่งที่รักรัฐบาลซึ่งหมายถึงพวกของพลเอกชัยสิทธิ์ และเพื่อนพวกพ้องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เองก็จะออกมาต้าน

การกระทำของพลเอกชัยสิทธิ์ครั้งนี้ ไม่รู้ว่ามีการประเมินผลกระทบจากการกระทำดังกล่าวไว้ก่อนหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ การกระทำครั้งนี้โดยคนที่มีนามสกุลชินวัตร ซ้ำยังเป็นทหารที่ต้องมีหน้าที่รักและปกป้องสถาบันยิ่งชีพ ก็ยิ่งทำให้เห็นภาพความเป็นศัตรูระหว่างชินวัตร กับผู้ที่ออกมาปกป้องสถาบันรุนแรงขึ้น และทำให้เกิดแรงฮึดของภาคประชาชนที่จะชักชวนกันให้เข้าร่วมม็อบ เสธ.อ้ายมากขึ้น

“คนที่จะออกมาต้านคือตท.รุ่น 5 และรุ่น 10 พูดถึงตท.5 ภาพของพลเอกชัยสิทธิ์ (ชินวัตร) หรือรุ่น 10 มันไม่มีความหมายอะไร ทั้ง 2 รุ่นถ้าจะออกมาจริงก็ทำเพื่อปกป้องทักษิณ ไม่ได้ทำอะไรเพื่อชาติบ้านเมือง เหมือนกับว่าต้องออกข่าวเพราะดีกว่าอยู่เฉยๆ แม้แต่เสธ.อ้ายเอง ก็ไม่ได้คุมทหารในกองทัพ ก็ไม่มีหน่วยกำลัง คนสำคัญจริงๆ มีแค่ผบ.ทบ.” แหล่งข่าวด้านความมั่นคง ระบุ

ประการที่สอง ความอึดอัดที่คุกรุ่นอยู่ในตัวประชาชนเอง เนื่องจากขณะนี้ แม้รัฐบาลจะประเมินว่าไม่มีความร้อนแรงทางการเมืองที่จะสร้างความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชนได้ แต่อย่าลืมว่าประชาชนที่อึดอัดกับนโยบายรัฐบาลกำลังมีมากขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องแรกที่เห็นได้ชัดคือนโยบายจำนำข้าว ที่เมื่อนักวิชาการต่างๆ ต่างออกมาให้ข้อมูลประชาชน iอย่างต่อเนื่อง ด้วยการให้เหตุผลทางหลักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก ก็เริ่มทำให้ประชาชนเห็นแล้วว่าการบริหารโครงการจำนำข้าว ถ้ารัฐบาลยังดันทุรังต่อไป รังแต่จะมีผลเสียกับประเทศชาติ

อีกทั้งคนที่ออกมาต่อต้านนโยบายจำนำข้าวหลักๆ ก็เป็นนักวิชาการที่ไม่ได้มีส่วนได้ ส่วนเสียทางการเมือง อย่างดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ที่ออกมาบอกว่ารัฐบาลมี 4 โจทย์ที่จะต้องตอบ

หนึ่งคือไม่สามารถนำเอาโมเดลการพัฒนาประเทศแบบเก่า คือ การพัฒนาประเทศที่เน้น 3 เสาหลัก คือการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ไม่ค่อยพัฒนาเทคโนโลยี การเน้นการส่งออก และการใช้ภาคแรงงาน แต่ในขณะนี้ไม่สามารถใช้โมเดลเก่าได้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไป เช่น เน้นส่งออกจำนวนมากไม่ได้ เพราะความต้องการของตลาดโลกลดลง

สอง เป็นเรื่องของคุณภาพการศึกษาของไทยโดยเฉลี่ยแย่ลง ทำให้มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสังคมมากขึ้น

สามการคอร์รัปชันกำลังเป็นปัญหาใหญ่ และมีการกระทำกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติอย่างมาก

สี่ ฐานะการคลังของประเทศถ้าเกิดวิกฤตจะทำให้ประเทศชาติตกเหวทันที โดยเฉพาะวิกฤตหนี้สาธารณะ

แหล่งข่าวด้านความมั่นคง กล่าวว่า ปัญหาหนี้สาธารณะกำลังเป็นเรื่องใหญ่ โดยโครงการประชานิยมทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินมามากขึ้น และก็จะกระทบกับหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นตามไปด้วย

“เรื่องนี้ หม่อมอุ๋ย ดร.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่วิจารณ์การจำนำข้าวก็พูดชัด ว่าตอนรัฐบาลเข้ามานั้นหนี้สาธารณะอยู่ที่ 42%ต่อจีดีพี แต่พอเดือนตุลาคม 2555 หนี้สาธารณะกลับพุ่งขึ้นสูงถึง 49% ต่อจีดีพีแล้ว และถ้าปล่อยไว้อีก 2-3 ปีก็มีโอกาสขึ้นสูงถึง 52-53%ต่อจีดีพี ปี 2563 จะขึ้นสูงไปถึง 59%ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นเส้นแดงที่เพดานหนี้สาธารณะของไทยที่อยู่ที่ 60% ต่อจีดีพี ซึ่งเห็นชัดว่าถ้ายังดำเนินโครงการจำนำข้าวต่อไป ประเทศชาติจะมีแต่เสียหาย”

ปัญหาอยู่ที่ พอหม่อมอุ๋ยบอกเรื่องนี้กับคุณกิตติรัตน์ (ณ ระนอง) ก็ไม่ฟัง ก็เลยมองว่าถ้าปล่อยให้รัฐบาลชุดนี้บริหารต่อไปรัฐบาลจะตกเหวแน่ๆ ส่วนดร.สมเกียรติ ก็มองว่า เรือกำลังจะพุ่งชนภูเขาน้ำแข็ง บอกให้รัฐบาลเปลี่ยนทิศ ก็ไม่เปลี่ยน

“สิ่งที่การเมืองทำคือท่าทีการต่อต้านความคิดเห็นของนักวิชาการเหล่านี้ ทั้งๆที่พวกเขามีความหวังดีกับบ้านเมือง แต่ฝ่ายรัฐบาลกลับไม่ฟังข้อเสนอแนะอะไรเลย ยังคงเดินหน้าโครงการที่อาจจะทำให้บ้านเมืองเสียหายมหาศาล แถมยังมีท่าทีเย่อหยิ่งจองหอง ดูถูกความคิดคนอื่นเสียอีก”

เห็นได้จากคำชี้แนะต่างๆ ที่ได้ส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาล รวมไปถึงความแตกแยกที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาล อาทิ

จำนำข้าวจะทำให้รัฐบาลพัง! เป็นคำกล่าวของ ดร.โกร่งที่กระซิบผ่านสื่อมวลชนไปถึงนายกฯ ตัวจริงอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร วันนี้ไม่ได้พูดเล่นๆ

ขณะที่นโยบายประชานิยมอย่างค่าแรง 300 บาท ที่รัฐบาลประกาศเริ่มต้นวันที่ 1 มกราคม 2556 นี้ซึ่งเหลือเวลาอีกแค่เดือนกว่าๆ!

ปรากฏว่านโยบาย 300 บาท ขณะนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงและสร้างความไม่พอใจของภาคธุรกิจอย่างมาก จนกระทั่งเกิดปัญหาความขัดแย้งภายในบอร์ดสภาอุตสาหกรรมแห่งชาติ หรือ ส.อ.ท. แบบที่เรียกได้ว่าปิดไม่มิด จากความไม่พอใจ พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท.ที่ไม่ได้มองว่า 300 บาทเป็นปัญหากับภาคธุรกิจ ทำให้มีการบีบให้พยุงศักดิ์ไปคุยกับรัฐบาลหลายครั้งหลายหน

ดังนั้น ภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากค่าแรง 300 บาท มีทั้งบริษัทใหญ่กระทั่งบริษัทเอสเอ็มอี ที่มองแล้วว่า อาจจะมีคนกลุ่มนี้ที่ส่งแรงงานในบริษัทของตัวเองเข้าร่วมม็อบ เสธ.อ้ายก็เป็นได้

แหล่งข่าวด้านความมั่นคง วิเคราะห์ว่า ความไม่พอใจในการบริหารประเทศของรัฐบาลของกลุ่มประชาชนจะทำให้เกิดการรวมตัวกันในการชุมนุมที่เสธ.อ้ายเปิดเวทีให้

“คนกลุ่มต่างๆ กำลังไม่พอใจรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ที่ใช้งบประมาณจำนวนมากเป็นแสนๆ ล้านบาท แต่กลับเป็นโครงการที่จะสร้างผลเสียหายอย่างกว้างขวาง จึงจะปล่อยให้รัฐบาลทำงานไม่ได้อีก ซึ่งกลุ่มคนชั้นกลางที่เริ่มอึดอัดกับการบริหารประเทศแบบนี้ แต่ไม่มีช่องทางระบายออก พอ เสธ.อ้ายจัดเวทีให้ขับไล่รัฐบาล คนจึงออกมาร่วมเป็นจำนวนมาก”

นี่เองที่เป็นสิ่งที่ทำให้รัฐบาลตกใจ เพราะม็อบ เสธ.อ้ายครั้งแรก ฝ่ายรัฐบาลประเมินแค่ 2,000 ดันมากันเกือบ 40,000 คน!

“รัฐบาลเดินเกมต่อสู้ค่อนข้างผิด คือนอกจากไม่ยอมลดกระแสความไม่พอใจรัฐบาลลงแล้ว ยังเพิ่มความไม่พอใจมากขึ้นอีก คือคนของรัฐบาลยังดูถูกม็อบ เสธ.อ้ายว่าไม่มีน้ำยา คนส่วนใหญ่ที่มาเป็นผู้หญิงแก่ๆ ก็จะทำให้คนรู้สึกทนไม่ไหวกับรัฐบาลมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อรัฐบาลกุมบังเหียนแล้วมันจะตกเหว พูดเท่าไรก็ไม่ฟัง ประชาชนก็มีสิทธิที่จะออกมาแย่งพวงมาลัยมาถือไว้เอง” แหล่งข่าวความมั่นคง กล่าว

สำหรับวิธีการแย่งอำนาจรัฐนั้น ในสภาฯ ก็คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้าน แต่ประชาชนที่ดูก็ยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องทางการเมือง เพราะเวทีในสภาฯ สุดท้ายก็ล้มไม่ได้เพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมากอยู่ในมือ ส่วนจะไปล้มโครงสร้างบริหารก็ล้มไม่ได้ เพราะตอนนี้พรรคเพื่อไทยคุมรัฐบาลได้หมดทุกภาคส่วน จะมีก็แค่อำนาจและพลังของประชาชนเท่านั้นที่จะล้มรัฐบาลได้ในเวลานี้

โดยในวันนี้ประชาชนเริ่มเห็นความสำคัญของตัวเอง และมีโอกาสที่จะเข้าร่วมม็อบ เสธ.อ้ายเพื่อแสดงพลังกันอย่างมาก ยิ่ง เสธ.อ้ายประกาศว่าจะเป็นศึกครั้งสุดท้ายตลอดเวลา ก็ยิ่งทำให้ประชาชนรู้สึกว่าต้องออกมาแสดงพลังให้นักการเมืองได้ประจักษ์

1 ล้าน “เสธ.อ้าย” ส่งสัญญาณถึงใคร

ประการที่สาม การประกาศย้ำว่าคนที่จะเข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 24 พ.ย.นี้จะต้องมีให้ถึง 1 ล้านคนนั้นเป็นเรื่องที่ เสธ.อ้ายกำลังส่งสัญญาณบอกเครือข่ายและพันธมิตรของเขาโดยตรง

“การเคลื่อนไหวของม็อบ เสธ.อ้าย จะเริ่มระดมพลที่สนามราชตฤณมัย หรือสนามม้านางเลิ้งก่อน แล้วมารวมตัวกันที่พระบรมรูปทรงม้าเป็นศูนย์กลาง การที่ เสธ.อ้ายประกาศว่าจะต้องพาคนมา 1 ล้านคนให้ได้นั้น อาจทำไม่ได้ถึงขั้นนั้น แต่จุดประสงค์หลักของ เสธ.อ้ายคือการส่งสัญญาณไปให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งว่าถ้าต้องการล้มรัฐบาลต้องเอาคนมาให้ได้ 1 ล้านคน หรืออย่างน้อยต้อง 5 แสนคนขึ้นไป”

คำถามคือส่งสัญญาณถึงใคร?

“สัญญาณมองได้ว่าส่งได้ถึงหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝั่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่แกนนำไฟเขียวให้เข้าร่วมได้แล้ว แต่ถ้าจะมองว่าส่งสัญญาณถึงคนที่กุมอำนาจฝ่ายหน่วยรบในกองทัพ ก็มองได้เช่นกัน”

อย่างไรก็ดีในเรื่องนี้ “ทีม Special Scoop หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน” ได้สัมภาษณ์เสธ.อ้ายมาโดยตรง โดยขณะนี้ในการเตรียมการชุมนุมวันที่ 24 พ.ย. เสธ.อ้ายเปิดเผยว่า เป็นช่วงที่กำลังเช็กกระแสว่าจะมีคนเข้าร่วมจำนวนเท่าไร ซึ่งได้มีการเช็กแล้วจากโซเซียลเน็ตเวิร์ก, เครือข่ายลูกเสือชาวบ้าน, เครือข่ายกำนันผู้ใหญ่บ้าน, กลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มเครือข่ายองค์การพัฒนาต่างๆ และกลุ่มพันธมิตรที่มีจุดยืนทางการต่อสู้เหมือนกับม็อบ เสธ.อ้าย ฯลฯ

นอกจากนี้ยังเห็นด้วยว่า ความเคลื่อนไหวในหน้าห้อง เสธ.อ้ายนั้น จะเห็นได้ว่ามีความคึกคัก เพราะมีคนระดับแกนนำเข้าไปช่วยวางแผนหลายฝ่าย ซึ่งฝ่ายที่เข้าช่วยเหลือมากที่สุดจะเป็นกลุ่มเอ็นจีโอจากภาคส่วนต่างๆ นักวิชาการจากหลายสายที่ทั้งเปิดตัวและปิดตัว กองทัพธรรม จากท่านสมณโพธิรักษ์ และอย่าแปลกใจถ้าเห็น “สมศักดิ์ โกศัยสุข” อดีตแกนนำพันธมิตร สิงอยู่ในห้องประชุมลับภายในตึกโบราณสีขาวลึกสุดในสนามม้านางเลิ้งเป็นประจำด้วย

ปฏิวัติ-ไม่ปฏิวัติ ทหารทำอะไรได้?

ประการสุดท้าย แหล่งข่าวด้านความมั่นคง กล่าวว่า การกระตุ้นด้วยโมเดลภาคประชาชนลุกฮือต่อต้านรัฐบาลที่ปล่อยให้มีการจาบจ้วงสถาบัน เป็นชนวนสำคัญในการปลุกให้ทหารตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาโดยทุกคนต่างจับจ้องว่าการปฏิวัติจะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะถ้าปฏิวัติเกิดขึ้น เรื่องทุกอย่างก็จบ

แหล่งข่าวความมั่นคง ระบุว่า การปฏิวัติในสมัยปัจจุบันจะทำไม่ได้ง่ายนัก เนื่องจากจะเกิดการไม่ยอมรับได้โดยง่าย แต่โอกาสที่จะมีปฏิวัติก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้

“ความจริงการล้มรัฐบาลถ้าจะทำให้ได้รับการยอมรับมากที่สุด ก็ไม่ควรที่จะทำการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว ซึ่งรูปแบบการล้มรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดต้องเป็นรูปแบบของการขับเคลื่อนของฝ่ายประชาชนจำนวนมาก คือโมเดลของประชาชนที่ลุกฮือกันต่อต้านอำนาจรัฐ”

ซึ่งตรงนี้เป็นโมเดลที่ เสธ.อ้ายต้องการในการชุมนุมเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลยิ่งลักษณ์โดยภาคประชาชน เพราะจะเป็นผลดีที่สุดที่จะทำให้รัฐบาลสะเทือนอย่างมาก

แต่โอกาสปฏิวัติก็ใช่ว่าจะปิดประตูเสียทีเดียว

เพราะถ้ามีปัญหามวลชนปะทะมวลชน หรือปัญหารัฐบาลปะทะมวลชน จนเกิดการนองเลือด เหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ทหารเข้ามาทำปฏิวัติรัฐประหารได้ เนื่องจากต้องการเข้ามารักษาความสงบเรียบร้อยภายใน

“ตรงนี้จะขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะจัดการปัญหาอย่างไร จะมีการยิงประชาชนหรือไม่ ซึ่งปัญหาหนักจะอยู่ที่รัฐบาลว่าจะตัดสินใจอย่างไร ถ้าใครใช้ความรุนแรงก่อน ฝ่ายนั้นก็จะเป็นฝ่ายแพ้ เกมการเมืองมีอยู่แค่นี้เอง ซึ่งจะเป็นตัวการดึงทหารออกมาปฏิวัติ และการปฏิวัติเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดอยู่แล้ว เพราะนั่นหมายถึง รัฐบาลต้องสูญเสียและยุติบทบาททันที”

อีกประการหนึ่งเนื่องจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน เป็นทหารที่มีจุดยืนในการรักสถาบันอย่างมาก โดยในการอบรมนายร้อย จปร.หลายครั้ง ก็จะใช้คำพูดเน้นย้ำในเรื่องที่ทหารจะต้องรักษาสถาบันกษัตริย์ด้วยชีพ

เช่นในวันที่ 29 มี.ค. 55 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไปบรรยายพิเศษให้นายทหารใหม่ที่เพิ่งจบจากโรงเรียนนายร้อย จปร.ก็พูดชัดเจนว่า จะต้องยึดความจงรักภักดีจนตัวตาย

“ตราบใดที่เป็นทหารขอให้ยึดความจงรักภักดีไปจนกว่าตัวจะตาย ให้ฝังอยู่ในหัวใจว่า กองทัพคือความหวังของประชาชน ทุกครั้งที่ปฏิบัติภารกิจ ขอให้ยึดผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว เพราะไม่มีองค์กรใดที่จะทำสิ่งเหล่านี้ให้แผ่นดินได้ดีเท่าทหาร ทหารต้องจงรักภักดี ผมขอสาปแช่งคนที่ไม่จงรักภักดี ไม่ให้มีความเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน ความเป็นทหารจะทำให้รู้ว่าทุกคนต้องดำรงตนอย่างไร ซึ่งต้องดำรงตนอย่างเหมาะสม เป็นแบบอย่างที่ดีต่อการจงรักภักดีต่อสถาบัน” พลเอกประยุทธ์กล่าว

ดังนั้น หากพลเอกประยุทธ์ทนไม่ไหวกับการหมิ่นสถาบันที่นับวันยิ่งมากขึ้น ก็อาจเป็นเหตุผลที่พลเอกประยุทธ์ มีคำสั่ง “ปฏิวัติ” ถ้าหากมีการใช้ความรุนแรงในการจัดการกลุ่มผู้ชุมนุมครั้งนี้

“ทหารหน่วยรบเป็นคนของใคร ต้องมองที่หัวขบวน ตำแหน่ง ผบ.ทบ. คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ามีท่าทีอย่างไร จากภายนอกจะเห็นว่า พลเอกประยุทธ์แสดงออกชัดเจนว่าทหารมีจุดยืน ไม่เกี่ยวกับม็อบครั้งนี้ และห้ามทหารเข้าร่วมการเดินขบวนครั้งนี้เด็ดขาด แต่ในแวดวงความมั่นคงก็ยังทราบว่าพลเอกประยุทธ์ ยังเป็นทหารสายหลักที่รักสถาบัน แต่ด้วยความมีอำนาจจึงต้องแสดงท่าทีอย่างระมัดระวัง”

ดังนั้น หากรัฐบาลยังปล่อยให้คนในรัฐบาลหรือกลุ่มคนเสื้อแดงมีการกระทำเข้าข่ายหมิ่นสถาบัน และยังไม่จัดการปัญหานี้ต่อไปอย่างนี้ วันหนึ่งจะทำให้ทหารที่รักสถาบันทนไม่ได้ออกมาจัดการแก้ไข

และถ้าวันนั้นมาถึง ก็ต้องจับตาให้ดีว่าทหารหน่วยรบเริ่มเคลื่อนไหวหรือยัง โดยเฉพาะ 7 หน่วยรบสำคัญ คือ กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (ร.1รอ.), กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.), กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน4 รอ.)

ที่สำคัญยิ่งต้องจับตากองทัพภาคที่ 2 เนื่องจากมีพื้นที่มากที่สุด มีทหารมากที่สุด และกองทัพภาคที่ 3 ที่การปฏิวัติรัฐประหารครั้งที่แล้วมีบทบาทมาก รวมทั้ง กองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) กาญจนบุรี และกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.2) ปราจีนบุรี เป็นหน่วยรบสำคัญ

อย่างไรก็ดี การปฏิวัติก็ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ โดยเฉพาะทหารที่มีบทเรียนจากการปฏิวัติวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่หลายฝ่ายมองว่าไม่ได้แก้ปัญหาทางการเมืองได้อย่างแท้จริง อีกทั้งการเมืองของไทยมีการพัฒนาด้านประชาธิปไตยมาระดับหนึ่งแล้ว จึงทำให้การที่ทหารจะปฏิวัติต้องคิดให้หนักกว่าเดิม และต้องมีเหตุผลที่อธิบายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

แหล่งข่าวด้านความมั่นคง ย้ำว่าทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับรัฐบาลแล้วว่าจะจัดการควบคุมฝูงชนไม่ให้เกิดความรุนแรงได้อย่างไร ไม่ให้ซ้ำรอยวันที่ 10 เมษายน 2553 ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจ

“จริงๆ คืนวันที่ 10 เมษายน คุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) นายกฯ ขณะนั้นตัดสินใจแล้วว่าจะยอมทหาร คือรู้สึกหมดอาลัยตายอยาก ยอมให้ทหารยึดอำนาจแล้ว แต่ทหารก็มีการประชุมกัน สรุปว่า จะไม่แทรกแซงฝ่ายการเมือง จะฟังคำสั่งจากฝ่ายการเมือง ดังนั้น หลังจากนั้นฝ่ายการเมืองจึงมาตั้งสติและหาทางแก้ปัญหากันใหม่ จนกระทั่งคุณชวน (หลีกภัย) ออกมาพูดว่าเดี๋ยวนี้ไม่ห่วงทหาร ทหารพัฒนาก้าวพ้นเรื่องการเมืองไปมากแล้ว

ทหารยัน “ชัยสิทธิ์” อย่าเอาชื่อรุ่นมาอ้าง

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวนายทหารในราชการ ที่วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองในเวลานี้ รวมถึงมองการปฏิวัติว่า ต้องดูที่คำสั่งของคนเพียงคนเดียวคือ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผบ.ทบ. เพราะทหารยังต้องฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเป็นสำคัญ ดังนั้น การกระทำการใดๆ แม้ว่าจะอยู่ในหน่วยที่กุมกำลังสำคัญก็คงไม่สามารถดำเนินการได้โดยพลการ

“ทหารที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นพลเอกบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ในนามกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม กับพลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตร ในนามของนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 5 และรุ่นอื่น ถือว่าเป็นเรื่องสิทธิของแต่ละบุคคล เพราะทหารเมื่อถอดเครื่องแบบก็คือประชาชนคนหนึ่ง”

ทั้งนี้ก็ต้องอย่าลืมว่า ทหารแต่ละรุ่นที่แบ่งแยกกันในเวลานี้ มีการอ้างรุ่นต่างๆ แต่ความจริงแล้วรุ่นต่างๆ มีคนเรียนอยู่ 200-300 คน ดังนั้นเป็นเรื่องยากที่ใครจะมาบอกว่ารุ่นนี้เข้าร่วมกับฝ่ายนี้ เพราะคำว่ารุ่นต้องแยกไปอีกว่าใน 1 รุ่นมีกี่คน เตรียมทหารบางรุ่นมี 200-300 คน การใช้คำว่ารุ่นนั้นรุ่นนี้ต้องกลับไปดูด้วยว่าคนที่อยู่ในรุ่นนั้นไม่เห็นด้วยก็มี

ขณะนี้ ตท.5 คือรุ่นที่มีปัญหาขัดแย้งในเรื่องนี้มากที่สุด เพราะพลเอกชัยสิทธิ์ก็ไม่ใช่แกนนำของรุ่นที่แท้จริง ไม่ได้ดำรงตำแหน่งใดของรุ่น แต่เข้าข่ายการนำชื่อรุ่นมาอ้างเองหรือไม่?

ด้านแหล่งข่าวสายทหารมองว่า กลุ่มที่เข้าร่วมกับพลเอกชัยสิทธิ์ ที่รับราชการอยู่จะมี ตท.13 บางคน แต่ความที่รับราชการอยู่ และด้วยกฎระเบียบแล้วคงไม่มีใครกล้าที่จะออกมาเปิดตัว เพราะเรื่องของวินัยเป็นสิ่งสำคัญของทหาร ส่วนหลังจากนั้นใครจะเห็นด้วยกับใครก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“อย่าเอาเรื่องรุ่นเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง กลุ่มขององค์การพิทักษ์สยามก็ไม่ได้เอาเรื่องของรุ่นมาใช้ในการชุมนุม ดังนั้น เตรียมทหารรุ่นอื่นก็ไม่ควรเอาชื่อของรุ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคลและเป็นการกระทำของนายทหารที่เกษียณอายุราชการแล้ว”

นอกจากนี้ยังยืนยันว่า ทหารยังคงมองเรื่องของประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก การเมืองที่เข้ามาตามระบอบก็ต้องยืดหยุ่นกัน แต่ทหารจะมีกรอบในระดับหนึ่งหากก้าวล่วงเข้ามามากจนเกินไปก็คงยอมรับไม่ได้เช่นกัน ที่สำคัญ เมืองไทยยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองอยู่

“ปณิธาน” ชี้ทหารจับมือการเมือง-รอวันปะทุ

ขณะที่นักวิชาการด้านความมั่นคงที่เคยเป็นหนึ่งในผู้วางยุทธศาสตร์ให้กับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รองศาสตราจารย์ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ระบุว่า เมื่อทหารมาอยู่กับการเมืองแล้ว ความขัดแย้งภายในทหารกับทหารเองนั้นย่อมมี และเป็นชนวนเหตุความรุนแรงในบ้านเมืองมาแล้วหลายครั้ง

โดยแม้ว่าทหารที่ออกมาต่อสู้กันอย่างเปิดเผยในเวลานี้จะเป็นฝ่ายทหารที่เกษียณอายุแล้ว แต่เรื่องความขัดแย้งในกองทัพก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีจริง และเป็นชนวนให้เกิดความรุนแรงมาหลายยุค ตั้งแต่อดีตที่มีการขัดแย้งระหว่างรุ่นนายร้อยพระจุลจอมเกล้าที่เป็นสมัยของทหารที่เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองและรัฐวิสาหกิจ คือการต่อสู้ของ จปร.1 จปร.5 และ จปร.7 ในขณะนั้น

โดยมีนักวิชาการหลายคนที่ได้ศึกษาเรื่องของความขัดแย้งของทหารไว้ โดยความขัดแย้งของทหารนั้นมีมานานแล้ว แต่อดีตจะเป็นความขัดแย้งระหว่างทหารกับทหารในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย แต่ปัจจุบันความขัดแย้งได้ขยายวงคือฝ่ายการเมืองมีการเอาฝ่ายทหารเข้ามาสู่ฝ่ายการเมืองกันมากขึ้น ตั้งแต่ยุคสมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่ลาออกจากราชการทหารแล้วมาเล่นการเมืองเต็มตัว และต่อเนื่องมาจนถึงยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ที่พยายามเอาการเมืองเข้ามาเกี่ยวกับทหารด้วยการผูกผลประโยชน์ไว้ด้วยกัน

ดังนั้น ทหารที่เลือกข้างในฝ่ายการเมืองแล้ว เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมือง และเมื่อทหารฝ่ายหนึ่งทำการเคลื่อนไหว ทหารอีกฝ่ายหนึ่งก็จะออกมาตอบโต้เสมอ และความขัดแย้งของทหารมีแนวโน้มที่จะปะทุได้ตลอดเวลา

รองศาสตราจารย์ ดร.ปณิธาน บอกอีกว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีความระมัดระวังมากไม่ให้เกิดเหตุปะทุขึ้น แต่ก็มีหลายเรื่องที่จะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงจุดเดือดได้มี 2 ประเด็นสำคัญคือ

ประเด็นแรก การแต่งตั้งโยกย้ายทหารในรอบที่ผ่านมา (ตุลาคม 2555) ที่ฝ่ายการเมืองเริ่มพยายามนำคนของฝ่ายการเมืองเข้าไปอยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ ของกองทัพบ้างแล้ว ทั้งในสายสนับสนุน และสายธุรกิจ แม้จะยังไม่มาก แต่ถือว่าเริ่มก้าวก่าย และมีความต้องการที่จะส่งคนของตัวเองไปนั่งในตำแหน่งกุมกองกำลังสำคัญๆ บ้างแล้ว

ประเด็นต่อมา คือการดำเนินคดีของทหารในช่วงการเมืองร้อนแรงในปี 2553 ซึ่งท่าทีของรัฐบาลในเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องสำคัญว่าจะดำเนินคดีกับทหารหรือไม่ เพราะถ้ามีการดำเนินคดี ทหารคงไม่ยอมเพราะทำหน้าที่ตามคำสั่งที่ถูกต้อง

สำหรับจุดอ่อนของรัฐบาลขณะนี้ แม้จะพยายามบริหารไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างรัฐบาลกับทหาร แต่ว่าทหารหลายคนก็เริ่มมีความไม่พอใจรัฐบาล อีกทั้งการที่รัฐบาลไม่มีทหารที่ใกล้ชิด หรือประสานงานได้ทุกฝ่ายในเวลานี้ ทั้งตำแหน่งรองฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีกลาโหมในปีนี้ จึงเป็นจุดอันตรายมาก

ขณะที่ในอดีตนั้นผู้นำเหล่าทัพต่างๆ มักจะไปทานกาแฟกันที่ห้องรัฐมนตรีทุกเช้า แต่ปัจจุบันความสัมพันธ์ในลักษณะนี้หายไปแล้ว แต่จะเกิดขึ้นเฉพาะการประชุมที่เป็นทางการ และก็มีจำนวนน้อยครั้ง

“วิธีแก้รัฐบาลควรจะหาคนที่ดำรงตำแหน่งสำคัญด้านความมั่นคงที่ประสานงานกับคนทุกกลุ่มในกองทัพได้จะดีกว่า จะสามารถลดแรงต้านทานได้อย่างมาก” รองศาสตราจารย์ ดร.ปณิธาน ระบุ

“ม็อบเสธ.อ้าย” ทำรัฐบาลกระเพื่อม

อย่างไรก็ดี ในการชุมนุมวันที่ 24 พ.ย.นี้จะรุนแรงถึงขั้นนองเลือดหรือไม่นั้น รองศาสตราจารย์ ดร.ปณิธาน มองว่า สถานการณ์ยังไม่น่าจะถึงขั้นรุนแรง แต่การชุมนุมครั้งนี้จะมีพลัง และทำให้เกิดแรงกระเพื่อมของรัฐบาลได้จริง ซึ่งลักษณะแรงกระเพื่อมจะเป็นลักษณะเกิดขึ้นใต้น้ำ รัฐบาลจะไม่ทันตั้งตัว

โดยเฉพาะความไม่พอใจในการบริหารงานหลายส่วนตั้งแต่การแต่งตั้งโยกย้ายในระบบราชการที่ไม่เป็นธรรม, ความไม่พอใจในนโยบายจำนำข้าว และยุคข้าวยากหมากแพง เป็นต้น ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีความอึดอัดอยู่แล้ว แต่ไม่เคยมีช่องทางให้ชุมนุม เรียกร้อง หรือเจรจาต่อรอง เมื่อ เสธ.อ้ายเปิดเวทีให้ชุมนุม คนจึงเข้าร่วมจำนวนมาก และยังคาดเดาไม่ได้ว่าในวันที่ 24 พ.ย.นี้คนจะเข้าร่วมมากเท่าไร แต่บุคลิก เสธ.อ้ายเองที่เป็นคนเปิดเผย จะทำให้คนไปเข้าร่วมได้ง่าย ซึ่งเป็นจุดแข็งของการชุมนุมครั้งนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น