xs
xsm
sm
md
lg

“ทีดีอาร์ไอ”ตีแผ่ประชานิยม2พี่น้องชินวัตร! จี้“6โครงการ”ต้องเลิกหวั่นศก.พังเสนอโมเดลรัฐสวัสดิการของแท้ (ตอนที่1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทีดีอาร์ไอ เสนอยกเลิก 6 ประชานิยมลดการกู้เงินก่อนเศรษฐกิจประเทศชาติพังยืนยัน รับจำนำข้าวทำรัฐเจ๊งสูงกว่า 1 แสนล้าน ฟันธงอีก 5 ปี หนี้สาธารณะแตะเพดานที่ 60%ของจีดีพี ขณะที่ “รถคันแรก-บ้านหลังแรก-พักหนี้ดี-กองทุนสตรี-SML”ได้ไม่คุ้มเสีย พร้อมเสนอโมเดลรัฐสวัสดิการดูแลตั้งแต่เกิดจนตายที่ใช้เงินน้อยกว่านโยบายหวือหวา จี้รัฐเร่งปฏิรูปฐานภาษีเพื่อนำมาใช้ในการบริหารประเทศได้มากขึ้น

แม้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)จะออกมาปรับการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทย ปี พ.ศ. 2555 โดยมองภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในระดับ 5.5% และกระทรวงการคลังเปิดเผยยอดหนี้สาธารณะของไทย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคมยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจคืออยู่ที่ระดับ 42.55%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งก็ยังห่างไกลเพดานหนี้ของประเทศไทยที่กำหนดสัดส่วนอยู่ที่ 60% ของจีดีพีก็ตาม

แต่ก็ต้องยอมรับว่าในสภาพความเป็นจริงแล้วนั้น รัฐบาลในขณะนี้อยู่ในฐานะที่ไม่มีเงินที่จะทำอะไรได้มากนัก จึงมีแผนที่จะกู้ กู้ และกู้ ไต่บันไดการกู้ที่สูงขึ้นไปจากงบประมาณที่ทำแบบขาดดุลอยู่แล้ว

ส่วนทางไหนบ้างที่รัฐบาลจะได้ไม่ต้องกู้ กู้ และกู้มากเกินไป จนกลายเป็นภาระของคนไทยในอนาคต?นั่นมีคำตอบ ซึ่งนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์กำลังพูดถึงกันอย่างมากก็คือ การบริหารงบประมาณที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และควรยกเลิกสิ่งที่ไม่จำเป็น

โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมทั้งหลาย เพราะหลายตัวต้องยอมรับว่าเป็น “ตัวถ่วง” และมีแนวโน้มเป็นปัญหากับภาวะเศรษฐกิจไทยอย่างหนัก

ทีดีอาร์ไอ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการวิจัยทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับหน่วยงานภาครัฐนั้นปัจจุบันกำลังศึกษาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ และเตรียมเสนอทางออกให้รัฐบาลโดยเฉพาะแนวคิดที่เรียกว่า เปลี่ยนประชานิยม เป็นสวัสดิการสังคมดีกว่า

ดร.สมชัย จิตสุชนผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ให้สัมภาษณ์กับทีม special scoop หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ว่า การบริหารเศรษฐกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น จะต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่ใช้เงินโดยไม่เกิดประโยชน์มากเกินไป เพราะจะทำให้ประเทศชาติมีความเสี่ยงในด้านภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

โดยเฉพาะเรื่องของประชานิยมหลายโครงการควรต้องรีบยกเลิก เพราะทำแล้วไม่เกิดประโยชน์มากนัก แต่ฝ่ายการเมืองยังนิยมที่จะนำมาใช้ เช่นเดียวกันกับรัฐบาลนี้ที่มียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีก็ยังคงเดินตามรอยการใช้นโยบายประชานิยมมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกระแสนิยมทางการเมือง

เช่นเดียวกับยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นพี่ชายที่เคยทำและประสบความสำเร็จทางการเมืองมาก่อน

แต่ผลต่อภาวะเศรษฐกิจไทยนั้น นโยบายประชานิยมยังถือว่าเป็นปัญหามาตั้งแต่ยุค พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว

เหตุผลคือ ประชานิยมต้องใช้เงินจำนวนมากในแต่ละโครงการ ขณะเดียวกันประชานิยมกลับไม่ได้ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก

“ประชานิยมนั้นได้ผลเพียงเพื่อคะแนนเสียงทางการเมืองเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบประชานิยมในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ และยุค ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็จะยิ่งเห็นได้ชัด”

โดยประชานิยมในยุค พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ถือว่าประสบความสำเร็จสูงมากในทางการเมือง เพราะประชานิยมเกือบทั้งหมดของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ มีสัดส่วนการนำเงินลงไปในกลุ่มคนรากหญ้าเป็นหลัก แม้ว่ามีการศึกษาภายหลังว่าประชานิยมที่ลงไปช่วยรากหญ้านั้น ผลประโยชน์ไม่ได้ลงไปถึงรากหญ้าเท่าที่ควรก็ตาม ก็ยังถือว่าได้ช่วยรากหญ้า

ขณะที่รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ มีประชานิยมที่ไม่ได้ช่วยรากหญ้า แต่เน้นมาที่กลุ่มคนชั้นกลางในเมืองแทน เป็นลักษณะการทำการเมืองแบบ “ฉันไม่แคร์ ฉันจะเอาใจคนทุกกลุ่ม”จึงมีนโยบายที่มาช่วยคนชั้นกลาง เช่น โครงการบ้านหลังแรกผ่อน 0% 3 ปี และโครงการคืนภาษีให้รถยนต์คันแรกรวมถึงกลุ่มแรงงานนอกภาคเกษตรที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้เน้นทำประชานิยม

เท่าที่ TDRI ศึกษามา จึงเห็นว่า โครงการประชานิยมหลายโครงการควรรีบยกเลิกโดยเร็ว เพราะสร้างความเสียหายมากกว่าได้ประโยชน์ และหลายโครงการมีแนวคิดดี แต่ต้องปรับวิธีการ
ประชานิยมที่เห็นว่าควร “ยกเลิก” โดยด่วนนั้น มีทั้งหมด 6 โครงการ และนโยบายที่ควรยกเลิกเป็นอันดับแรกคือ “การรับจำนำข้าว”

6 ประชานิยมเหลว-จี้ยกเลิก
 

โครงการรับจำนำข้าวนั้น มีข้อเสียใหญ่ๆ 3 ประการคือ ต้องใช้เงินในการรับจำนำจำนวนมาก,มีระบบการทำลายกลไกตลาด และมีปัญหาทุจริตคอร์รัปชันรวมอยู่ในหลายขั้นตอนของการจำนำ

“แค่ประกาศนโยบายก็เริ่มมีการทุจริตแล้ว โดยเฉพาะถ้าดูจากงานวิจัยของดร.นิพนธ์ พัวพงศกร (ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI) จะเห็นได้ชัดว่า เงินจะไปตกอยู่กับโรงสีเยอะมาก คือไม่ว่าจะมีการทุจริต หรือไม่ทุจริต แค่สร้างโกดังก็มีคำกล่าวว่า จะสามารถคืนทุนได้ภายใน 30 เดือน อย่าลืมว่าโรงสีโรงหนึ่งการสร้างก็ต้องใช้เงินหลายล้านบาทแล้ว”

นอกจากนี้ยังมีการนำข้าวเก่ามาเวียนจำนำใหม่ การลักลอบนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งเขมร และเวียดนาม เป็นต้น

“รัฐบาลรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ข้าราชการก็รู้แต่ไม่กล้าพูด ดังนั้นที่คุณกิตติรัตน์ ประกาศว่า การรับจำนำรอบนี้ไม่มีคนทุจริต แต่การทำนโยบายที่มีช่องว่างที่เปิดเหล่านี้ จึงมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น”

ทั้งนี้งานวิจัยของ ดร.นิพนธ์ ที่ศึกษาโครงการรับจำนำข้าวเมื่อปี 2548-2549 นี้ยังมีตัวเลขที่รายงานด้วยว่า สมมติรัฐบาลใช้เงิน 100 บาทในโครงการนี้ โรงสีและผู้ส่งออกจะได้เงินไปประมาณ 60 กว่าบาท ทั้งในส่วนของทุจริตและไม่ทุจริต ซึ่งมีการคำนวณตัวเลขในส่วนนี้ออกเป็นการทุจริตที่มากถึง 30% ดังนั้นในจำนวนงบประมาณ 1 แสนล้านบาท จึงเสียไปในกระบวนการทุจริตแล้ว 30,000 ล้านบาท ขณะที่ชาวนานั้นได้รับประโยชน์ไปในสัดส่วนเพียง 30% เท่านั้น

“มีการประเมินว่าโครงการรับจำนำข้าว รัฐบาลจะขาดทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่จริงๆ รัฐบาลอาจจะขาดทุนมากกว่า เพราะตัวเลขนี้ยังไม่รู้จนกว่ารัฐบาลจะขายข้าวออกไป ว่าขายไปเท่าไรในแต่ละล็อตจนหมด”

โครงการรับจำนำข้าวจึงถือว่าเป็นโครงการที่ฝืนกลไกตลาดมากที่สุด รองลงมาก็เป็นนโยบาย “พักหนี้ดี” ซึ่งแนวคิดต่อยอดมาจากโครงการ “พักหนี้เกษตรกร 3 ปี” โครงการนี้ไม่ควรเกิดขึ้นเลย

“มันฝืนกลไกตลาดเต็มที่ หนี้ดีไม่มีใครเขาพักกัน ธนาคารไม่ได้ดอกเบี้ยในการบริหารงาน รัฐบาลก็ต้องเอางบประมาณมาชดเชย ถึงแม้รัฐบาลจะอ้างว่าตัวเลขไม่สูง แต่ก็เป็นงบประมาณที่นำมาใช้โดยไม่จำเป็น และเป็นการสร้างวัฒนธรรมในการเอื้อเฟื้อกันโดยพร่ำเพรื่อ”

เช่นเดียวกับโครงการ “บ้านหลังแรก” และ “รถยนต์คันแรก” แม้รัฐบาลบอกว่าใช้งบประมาณไม่สูง คือรถยนต์คันแรกนั้นใช้ประมาณ 10,000 กว่าล้านบาท และโครงการบ้านหลังแรกที่ใช้งบประมาณน้อยกว่า แต่แท้จริงแล้ว เป็นโครงการที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะโครงการรถคันแรก เพราะปัญหาที่พบคือ นโยบายนี้ไม่ได้ช่วยแค่คนชั้นกลาง แต่ช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจรถยนต์ ขณะที่ประเทศไทยมีนโยบายหลักในการลดการใช้พลังงาน แต่รถคันแรกกลับเป็นนโยบายสวนทางที่ทำให้มีการบริโภคน้ำมันในประเทศไทยเพิ่มขึ้นด้วย

อีกโครงการที่ควรยกเลิกคือ นโยบาย “กองทุนสตรี”โดยโครงการนี้จะคล้ายกับนโยบาย “S M L”ที่ท้ายสุดกลับเต็มไปด้วยข้อครหาที่ว่า มีการนำเงินเข้าพวกพ้องหรือไม่ ซึ่งไม่ต่างกับกองทุนพอเพียงในยุคประชาธิปัตย์ ซึ่งโครงการนี้แตกต่างจากกองทุนหมู่บ้าน ที่มีกรรมการ 15 คน มีความชัดเจนในกระบวนการปล่อยกู้เงินที่มากกว่าถือว่าเป็นการทำโครงการแบบ Micro finance ไม่ใช่เรื่องแปลก

“ในต่างประเทศ กองทุนสตรีจะดีในกลุ่ม Single parentที่หากมีการหย่าร้าง หรือแม่เลี้ยงลูกคนเดียว แม่ก็จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่กองทุนสตรีของไทยกลับไม่ชัดเจนว่าช่วยคนกลุ่มไหน ทำให้แม้ NGOs ด้านผู้หญิงก็ไม่ได้สนับสนุน”

 
แนะปรับปรุงประสิทธิภาพ4ประชานิยม
 

ส่วนกองทุนหมู่บ้านที่มีแนวคิดดีอยู่แล้ว จึงเป็นนโยบายที่ควรปรับปรุงด้านประสิทธิภาพ โดยรัฐบาลเข้าไปช่วยในการทำให้การบริหารจัดการของหมู่บ้านที่ยังอ่อนแอดีขึ้น ก็จะมีประสิทธิภาพมากกว่า

รวมถึงเรื่องธนาคารคนจนที่ต้องยอมรับว่ามีคนจนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังเข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน แม้กระทั่ง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เรื่องธนาคารคนจนจึงเป็นเรื่องที่ควรพัฒนาต่อด้วย

อีกนโยบายที่ต้องปรับปรุงคือ“ค่าแรง 300 บาท”มีความเห็นด้วยกับทิศทางนี้ ว่าแรงงานควรได้รับการขึ้นค่าแรง แต่ควรขึ้นเป็นระดับ เพราะรัฐบาลนี้มีการขึ้นค่าแรงที่เร็วเกินไป และมากเกินไป ทำให้เกิดผลกระทบตามมากับภาคเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วด้วย

เห็นได้ชัดจากการขึ้นค่าแรงรอบแรกใน 7 จังหวัด ในจังหวัดภาคอีสานนั้นมีรายงานว่ามีตัวเลขค่าแรงที่เพิ่มขึ้นประมาณ 40% ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ปรากฏว่าตัวเลขที่แสดงถึงอัตราการว่างงานก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย

โดยมีการเพิ่มขึ้นประมาณ 0.2% แม้จะเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ระดับประมาณ 0.08% คือเพิ่มขึ้นประมาณ 1% แต่ก็ถือว่ามีคนว่างงานเพิ่มขึ้นในจำนวนมากถึง 7-8 หมื่นคน ซึ่งน่าเป็นห่วงว่า 1 มกราคม 2556 ที่รัฐบาลจะมีการใช้ค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ อาจจะทำให้ตัวเลขคนว่างงานเพิ่มขึ้นอีกมาก

ขณะที่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ควรปรับปรุง โดยที่ผ่านมา ทีดีอาร์ไอได้มีการศึกษาเรื่องของแนวคิดที่จะมีการรวมกองทุนประกันสุขภาพ 3 ตัวมารวมกัน คือกองทุนประกันสังคม กองทุนข้าราชการ และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยจะมีการคิดสูตรค่ารักษาพยาบาลใหม่ให้เป็นระบบ และการบริหารจัดการทั้งหมดขึ้นอยู่กับ สปสช.(สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)

“ไอเดียคือเอา 3 กองทุนมารวมกันเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ให้การบริหารจัดการไม่ลักลั่นกัน ตอนนี้ 30 บาทมีประสิทธิภาพมากที่สุด สูสีกับประกันสังคม แต่ค่าใช้จ่ายรายหัวถูกกว่ามาก แต่คนคัดค้านที่ไม่ให้รวมคือโรงพยาบาลเอกชน และมีการดันคนในกลุ่มนี้เข้าไปอยู่ในสปสช.ด้วย เพื่อคัดค้าน ซึ่งที่ผ่านมา ทำให้เรื่องนี้ไม่ประสบความสำเร็จ และน่าเสียดายที่รัฐบาลนี้ไม่ได้สนใจเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพในทุกโครงการที่เป็นนโยบายเลย”

โดยที่ผ่านมาทางทีดีอาร์ไอ โดย ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ ได้ศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการ ร่วมกับ นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) ได้ศึกษาเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่อไปจนถึง 20 ปีข้างหน้า และดร.สมชัย จิตสุชน ดูในภาพรวมว่าประเทศชาติจะเดินหน้าโครงการนี้ไปได้หรือไม่

“ตอนนี้ทำไปแล้ว 60% รอรวมกับอีก 2 ส่วนก็จะเสร็จ จะสามารถบอกภาพใหญ่ได้ว่าระบบการรักษาพยาบาลที่ดีจะเกิดขึ้นได้อย่างไร”

เปลี่ยนประชานิยมเป็นสวัสดิการสังคม
 

นอกจากนี้ ดร.สมชัยเปิดเผยต่อว่า ทีดีอาร์ไอ ยังได้จัดทำแนวทางการทำนโยบายแบบสวัสดิการสังคม ดูแลตั้งแต่เกิดจนตายเพื่อเตรียมเสนอรัฐบาลด้วย โดยหลักกว้างๆ จะเริ่มจากการดูแลเด็กในการเข้าถึงการศึกษา โดยแม้ว่าจะมีโครงการเรียนฟรี 15 ปี แต่เรื่องคุณภาพการศึกษาที่ยังไม่ดีนัก หรือเด็กที่อยู่ในที่ห่างไกลก็มีปัญหาในการเดินทาง ทำให้ไม่ได้รับโอกาสนี้ก็มีจำนวนไม่น้อย ตรงนี้ต้องมีการจัดบริการโครงสร้างสาธารณะมารองรับให้มากขึ้น

ขณะที่เมื่อเรียนหนังสือจบและไปทำงาน คนทำงานนอกระบบทุกวันนี้มีจำนวนมากประมาณถึง 70% ของภาคแรงงานทั้งหมด หรือประมาณ 20 กว่าล้านคน ซึ่งยังไม่มีใครเข้าไปดูแล เช่น เงินเลี้ยงดูบุตร,เจ็บป่วยช่วงไม่มีรายได้ ไม่มีคนดูแล หรือถ้าเกิดอุบัติเหตุใครจะเข้าไปดูแล
 
“ประชานิยมตอนนี้มีแต่หวือหวา แต่ประชานิยมที่ดูแลอย่างทั่วถึงยังไม่เกิดขึ้นเลย”

ขณะที่พอเป็นคนแก่ เงินช่วยเหลือ 500 บาทต่อหัวนั้น เป็นเรื่องที่ดี แต่รัฐบาลนี้กำลังมีแนวคิดเพิ่มเงินช่วยเหลือแบบขั้นบันไดตามอายุ เช่น 500-600-700 บาท ต่อคนอายุเท่าไร แต่การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า คนแก่ทั้งหมดนั้นมีประมาณ 6-7 ล้านคน (นับจากอายุ 60 ปีขึ้นไป) จะมีไม่ถึง 10% ที่เป็นคนจนมากๆ จึงคิดว่าน่าจะมีการเพิ่มให้คนส่วนนี้เป็นจำนวน 2,000 บาทต่อคนไปจะดีกว่า จะช่วยเหลือได้มากกว่า

เมื่อคิดงบประมาณในการช่วยเหลือผู้สูงอายุตามสูตรของรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ จะใช้เงินงบประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาทในขณะนี้ และจะขึ้นไปประมาณ 1 แสนล้านบาทในอีก 10 กว่าปีข้างหน้า แต่ถ้าเป็นสูตรของทีดีอาร์ไอจะใช้เงินน้อยกว่าประมาณ 10-20% คือประมาณ 5 หมื่นล้านบาทในวันนี้ และอีก 10 กว่าปีข้างหน้าตัวเลขงบประมาณที่ใช้จะอยู่ที่ประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท แต่สามารถช่วยเหลือคนจนได้อย่างเข้าถึงมากกว่า

ทั้งนี้โมเดลที่ทีดีอาร์ไอกำลังศึกษาทั้งหมดนี้ จะทำให้รัฐบาลเดินหน้าทำโครงการเป็นลักษณะรัฐสวัสดิการสังคมที่ดีกว่าประชานิยมแบบหวือหวา แต่ไม่ได้ประโยชน์ในการช่วยเหลือคนจน ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดในเวลานี้คือ รัฐบาลไม่มีเงิน จะมีก็แต่แผนที่จะกู้เงินจำนวนมาก

 
ยันรัฐต้องเก็บภาษีเพิ่ม-หนุนสวัสดิการสังคม
 

อย่างไรก็ดี นอกจากแผนที่จะกู้เงินแล้ว รัฐบาลควรมีการปฏิรูประบบภาษีเพื่อหารายได้ให้กับรัฐเพิ่มมากขึ้นด้วย เพราะรายจ่ายมีชัดเจน แต่รายได้ควรจะมีกลับเข้ามาสู่รัฐได้มากกว่านี้

“ต้องปฏิรูปภาษี แต่ ดร.โกร่ง (วีรพงษ์ รามางกูร) ก็ประกาศแล้วว่าจะไม่มีการทำ ตรงนี้น่าห่วง เพราะการเก็บภาษีไม่ได้มาก ยิ่งทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้น แม้ตอนนี้จะมองว่ามีระดับหนี้สาธารณะแค่ 42.55% ของจีดีพี แต่อย่าลืมว่าหนี้สาธารณะยังไปซ่อนอยู่ในโครงการที่ไม่มีประสิทธิภาพอีกหลายโครงการเช่น โครงการรับจำนำข้าว ที่ยังไม่ปรากฏในงบประมาณ เพราะยังมีตัวเลขการขาดทุนที่ไม่ชัดเจน แต่เป็นการเพิ่มหนี้สาธารณะให้สูงขึ้นแน่นอน”

โดยหากรวมกับการจัดงบประมาณปี 2556 ในจำนวน 2.2 ล้านล้านบาท รัฐบาลบอกว่าเวลา 7 ปี หนี้สาธารณะจะโตอย่างไรก็ประมาณ 10% ของจีดีพี ทำให้รัฐบาลคาดการณ์ว่า อีก 4-5 ปีข้างหน้า ตัวเลขหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ประมาณ 53% แต่ความจริงแล้วต้องบวกเข้าไปอีก 5-6%ซึ่งเป็นตัวเลขที่ซ่อนอยู่ รวมๆแล้ว หนี้สาธารณะในอีก 4-5 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 60%ของจีดีพี ซึ่งน่าเป็นห่วง

ดังนั้นจึงเสนอว่า ประชานิยมที่ไม่จำเป็น ควรต้องยกเลิกเป็นการด่วน เพราะไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด แต่ถ้ายังดึงดัน ความเสียหายต่อประเทศชาติจะเกิดขึ้นและมากกว่านี้แน่นอน

ส่วนสิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะต้องรีบดำเนินการในเรื่องของการบริหารงานให้โปร่งใส โดยเฉพาะโครงการลงทุนในระบบรางที่มีมูลค่าการลงทุนสูงมาก เพราะโจทย์ใหญ่คือเรื่องการทำให้ระบบลอจิสติกส์ของประเทศไทยดีขึ้น แต่ก็ต้องโปร่งใส เพราะทุกวันนี้มีการพูดกันในวงธุรกิจทั่วไปเป็นเรื่องธรรมดาว่า 1 โครงการนั้นจะมีเงินทอน หรือการทุจริตไปแล้ว 30-50% เหลืองบประมาณที่ใช้ในเนื้องานจริงๆ เฉลี่ยแค่ประมาณ 60% ของงบประมาณทั้งหมดซึ่งถือเป็นการเสียประโยชน์โดยใช่เหตุ

สำหรับภาษีที่เห็นว่าควรจะมีการปฏิรูปใหม่นั้น มีหลายส่วนที่รัฐบาลควรปฏิรูป คือในฐานภาษีจะมี 4 ฐานสำคัญ คือ ฐานรายได้, ฐานรายจ่าย, ฐานธุรกิจการคลัง และฐานทรัพย์สิน

ในส่วนฐานรายได้ พบว่ายังมีคนที่มีรายได้นอกระบบจำนวนมากแต่ไม่เคยเสียภาษี เช่น คนขายของจตุจักร คนขายของโบ๊เบ๊ หรือแม้กระทั่งชาวนาที่ร่ำรวยที่บางรายมีที่นามากถึง 200 ไร่เป็นต้น

“คนที่มีรายได้แต่ไม่เสียภาษียังมีอีกมาก ถ้ารัฐไปดำเนินการขยายฐานของกลุ่มคนที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นได้ก็จะมีงบประมาณในการพัฒนาประเทศมากขึ้น”

ในส่วนฐานรายจ่าย ก็แนะนำให้มีการทบทวนภาษี VAT หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก 7% เป็น 10% และฐานทรัพย์สินควรมีการเดินหน้าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ถูกรัฐบาลนี้ตีตกไป เพราะถ้าใช้เวอร์ชั่นตามที่มีการเสนอในสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลจะมีรายได้เข้ามาเพิ่มในระดับ 1.3 แสนล้านบาท และเงินส่วนนี้นำมาใช้ในการทำสวัสดิการสังคมได้เป็นอย่างดี




ทีม “special scoop”ASTVผู้จัดการรายวันจะนำเสนอปัญหาและผลกระทบจากการใช้นโยบายประชานิยมของรัฐบาลภายใต้ 2พี่น้องตระกูลชินวัตร“ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” แม้จะกวาดคะแนนนิยมได้อย่างถล่มทลายก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงแล้วกำลังจะพาคนไทยไปสู่หายนะจริงหรือไม่?และรัฐสวัสดิการที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไรโดย 3 ผู้เชี่ยวชาญจากทีดีอาร์ไอและสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ รวม 3 ตอน
กำลังโหลดความคิดเห็น