ตีแผ่ปมปัญหาโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค จากรัฐบาลทักษิณ ถึง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้ผ่านมา 10 ปี กลับพบความห่วยของระบบประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น วงการแพทย์สุดทนแฉ! เหตุงบรายหัว 30 บาทถูกตัด ส่งผลให้ต้องลดคุณภาพยา-สั่งหมอรักษาต่อรายห้ามเกิน 700 บาท กระทั่งส่งต่อผู้ป่วยให้เป็นภาระโรงพยาบาลขนาดเล็ก ระบุธรรมาภิบาลของผู้บริหาร โรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั้ง กทม.และต่างจังหวัด ติดลบ ใช้วิธีคุมงบด้วยการส่งต่อคนไข้และเป็นต้นเหตุผู้ป่วยตาย! ขณะที่ สปสช. ดึงงบรักษาไปใช้ผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เชื่อไม่เกิน 10 ปีหลักสูตรนี้ล้มเหลว!
ถ้าถามว่าปี 2544 นโยบายอะไรที่โด่งดัง จนทำให้พรรคไทยรักไทยได้รับการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย คงหนีไม่พ้นนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” ที่ยึดหลักการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกันของประชาชนไทยโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสทางสังคม นโยบายนี้ถูกเรียกว่าเป็น “นโยบายประชานิยม” ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องของผลทางการเมืองให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีอย่างมาก
แต่หลังจากมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 19 พ.ย. 2545 ผลปรากฏว่านโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค มีปัญหากระท่อนกระแท่นมาโดยตลอด
จวบจนวันนี้ผ่านมาแล้ว 10 ปี โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคก็ยังมีปัญหาที่หนักหน่วง
โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงสุขภาพที่ไม่ได้คุณภาพ และโรงพยาบาลบางแห่งถึงกับมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลอย่างหนัก แม้กระทั่ง “หมอ” เองก็รับไม่ได้กับปัญหาในขณะนี้!
ปัญหาบางอย่าง ประชาชนที่เข้ารับบริการ 30 บาทรักษาทุกโรคไม่มีทางที่จะรู้ว่ากำลังได้รับบริการที่ไม่เหมาะสม แถมปัญหาหลายๆ อย่างกำลังเป็นปัญหาที่หนักที่ยังคงรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
30 บาทระส่ำ มีปัญหาทุกระดับ
โดยแพทย์จากโรงพยาบาลโพธาราม จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคมีปัญหาในทุกระดับ เริ่มตั้งแต่ ตัวคนไข้, นโยบายรัฐ, แพทย์ และโรงพยาบาล
สำหรับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น เป็นนโยบายที่ทำให้ประชาชนมาโรงพยาบาลจำนวนมาก เพราะคิดว่าถ้ามาโรงพยาบาลอย่างไรก็จะได้ยารักษาโรคง่ายๆ ทำให้ประชาชนไม่ดูแลสุขภาพ เมื่อรับยาได้ง่ายๆ ก็ไม่ได้เห็นความสำคัญของยา มีการใช้ยาอย่างทิ้งๆ ขว้างๆ
จึงเรียกได้ว่านโยบายป้องกันสุขภาพของทางรัฐบาลล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง คือประชาชนไม่สนใจป้องกันสุขภาพ ทำให้ประชาชนมาโรงพยาบาลแม้จะเป็นโรคเล็กๆ น้อยๆ ทำให้โรงพยาบาลต่างๆ ต้องแบกรับภาระคนไข้จำนวนมาก การรักษาจึงเกิดความผิดพลาดได้ง่าย เมื่อเกิดความผิดพลาดก็เกิดการฟ้องร้องจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลจะถูกต่อว่าว่ามีการบริการไม่ดี มีความแออัด
“นโยบายป้องกันโรคล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง รัฐบาลต้องการให้เห็นภาพคนในโรงพยาบาลมีจำนวนไม่เยอะ แต่สุดท้ายมันเป็นเพียงภาพลวงตา เพราะแค่กระจายคนไข้ไปหน่วยอื่นๆ คนไข้เท่าเดิม หมอก็เท่าเดิม แค่เดินทางไปสถานที่อื่นเท่านั้น”
กรณีนี้เป็นปัญหามาอย่างยาวนาน พอมาในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จึงหาวิธีแก้ปัญหาด้วยการมีนโยบายให้ผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือสถานีอนามัยเก่า นั่นเอง
“เบาหวาน-ความดัน”ต้องไปรพ.ปฐมภูมิก่อน
โดยแนวคิดนั้นเป็นแนวคิดที่ดี ที่จะให้คนไข้ไปรักษาที่หน่วยปฐมภูมิและมีการคัดกรองคนไข้ให้ลดลงก่อนที่จะส่งมาโรงพยาบาลทุติยภูมิ และตติยภูมิ แต่ในความเป็นจริงแล้ว รพ.สต.นั้นปัญหาคือไม่มีแพทย์ประจำ คนไข้จะต้องไปเฉพาะวันที่แพทย์เข้าเวรเท่านั้น ส่วนวันอื่นๆ หรือคนไข้ที่เป็นโรคทั่วๆ ไป จะให้พยาบาลเป็นผู้รักษาเบื้องต้น
“ปัญหาคือคนป่วยที่เป็นโรคต่อเนื่องอย่างเบาหวาน ความดัน ก็ต้องออกมารักษาที่ รพ.สต.ทั้งคนไข้เก่าและคนไข้ใหม่ หากอาการหนักถึงจะมีการส่งตัวไปโรงพยาบาลที่ใหญ่ขึ้น แต่ผลปรากฏว่าได้ผลไม่ดีนัก เพราะแพทย์ไม่ใช่แพทย์เฉพาะทาง ซึ่งคนไข้เดิมนั้นรักษากับแพทย์เฉพาะทางอยู่ แต่พอต้องออกมารักษา รพ.สต. ที่แพทย์จะผลัดเวรกันมา รวมกับจำนวนผู้ป่วยที่มารักษาโรคในระดับปฐมภูมิที่มีจำนวนมากอยู่แล้ว ทำให้การรักษาแบบตรวจละเอียด โดยเฉพาะโรคเบาหวานที่ต้องเจาะเลือดนั้น ทำได้ไม่เต็มที่”
ในส่วนของแพทย์เองนั้น พบว่าแพทย์ก็ไม่ได้อยากมาประจำที่ รพ.สต.เนื่องจากแพทย์ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในเวลานี้ส่วนมากเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
“อย่างแพทย์ศัลยกรรมกระดูก ก็ไม่อยากไปเข้าเวรที่ รพ.สต. เพราะเมื่อไปเข้าเวร ตัวเองเป็นแพทย์กระดูก แต่ต้องไปรักษาโรคพื้นฐานทั่วไปก็ไม่ได้ใช้ความสามารถของตัวเอง อีกทั้งให้แพทย์เฉพาะทางอย่างแพทย์กระดูกไปตรวจเป็นแพทย์ทั่วไป ตรงนี้ก็เป็นการหลอกประชาชน ถือเป็นความยากลำบากในการบริหารจัดการแพทย์ทั้งระบบ เพราะคนในโรงพยาบาลต่างจังหวัดก็มีน้อยอยู่แล้ว”
สั่งหมอรักษาต่อหัวไม่เกิน700บาท-ลดคุณภาพยา
นอกจากนี้ยังพบว่าปัญหาสำคัญที่สุดตั้งแต่มีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี คือเรื่องของการบริหารจัดการงบประมาณที่โรงพยาบาลต่างๆ จะต้องบริหารเอง ในส่วนนี้มีทั้งโรงพยาบาลที่ดี และโรงพยาบาลที่ไม่มีธรรมาภิบาล
“ค่าใช้จ่ายรายหัวกำลังเป็นปัญหามาก เพราะค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลให้คิดเป็นรายหัว ไม่ได้คิดตามการรักษาเป็นครั้งๆ ดังนั้นเมื่อเหมาจ่ายไปแล้ว ถ้าคนไข้มารักษาแบบ OPD หรือผู้ป่วยนอก บ่อยๆ โรงพยาบาลก็ขาดทุน โรงพยาบาลก็ต้องพยายามดึงคนให้มาอยู่ในเขตการรักษาให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มงบบริหารจัดการของโรงพยาบาล”
ทั้งนี้ จากการที่เคยเป็นแพทย์อยู่ในหลายท้องที่ กลับพบปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งคือ ตัวเลขประชาชนที่ขึ้นทะเบียนกับโรงพยาบาลในพื้นที่ต่างๆ ก็พบว่าเป็นตัวเลขหลอก
“ตัวเลขหลอกคืออย่างในบางพื้นที่ เช่นภาคอีสาน มีจำนวนคนอยู่ในเขตนี้จำนวนมาก ทำให้ค่าใช้จ่ายรายหัวกระจุกตัวอยู่มาก แต่คนไปรักษาพยาบาลจริงน้อย เพราะคนภาคอีสานไม่ได้อยู่ในถิ่นฐานมากนัก ไม่เหมือนกับภาคอื่นๆ โดยเฉพาะภาคกลาง ที่มีจำนวนคนอยู่จริงในพื้นที่พอๆ กับตัวเลขที่แท้จริง ปัญหาก็เลยเกิดว่าโรงพยาบาลในภาคกลางนั้นมีสภาพคล่องในการใช้จ่ายเงินต่ำ เรียกว่ายิ่งคนไข้ visit มากยิ่งขาดทุนมาก”
ปัญหานี้ทำให้โรงพยาบาลต้องปรับตัวแก้ปัญหาเอง โรงพยาบาลที่ดีมีจรรยาบรรณก็จะพยายามรักษาคนไข้ให้ดีที่สุดในงบประมาณตึงตัว แต่หลายโรงพยาบาลกลับพบว่าไม่ได้รักษาจรรยาบรรณ โดยมีทั้งการลดคุณภาพยา การผลักไสคนไข้ให้กลับไปรักษาโรงพยาบาลต้นทางแทน
“โรงพยาบาลดีๆ ก็จะยอมขาดทุนโดยเอายาคุณภาพดีๆ มารักษาคนไข้ แต่หลายโรงพยาบาลทำน่าเกลียด โดยที่รู้มาโรงพยาบาลระดับโรงพยาบาลศูนย์ได้มีคำสั่งภายในให้หมอรู้กันเองว่า ถ้าคนไข้คนไหนมีค่ารักษาพยาบาลเกินหัวละ 700 บาทเมื่อไร ให้กลับไปรับยาที่เหลือในโรงพยาบาลปฐมภูมิ หรือทุติยภูมิแทน แทนที่คนไข้จะได้รับยาจากโรงพยาบาลใหญ่ๆ 1 เดือนก็ได้ยาไม่ถึง 1 เดือน ตรงนี้เป็นเทคนิคที่มีการทำกันมาก”
รพ.ในกทม.จ่ายยาคุณภาพต่ำกว่าต่างจังหวัด
ส่วนคนไข้ที่โรงพยาบาลทั่วไปรักษาไม่ได้ เมื่อส่งไปให้โรงพยาบาลศูนย์ผ่าตัดเสร็จ ก็มีการให้กลับไปรับยาในโรงพยาบาลที่เล็กกว่า หรือโรงพยาบาลเดิมในแม่ข่าย เพื่อที่โรงพยาบาลใหญ่จะได้ประหยัดงบประมาณรายหัว เป็นต้น
“มันไปเสียหายที่คนไข้ บางคนได้ยาไปแค่ 2 เม็ด เสร็จแล้วต้องไปขอยาโรงพยาบาลเล็กกว่าแทน ลักษณะนี้เป็นการบริหารจัดการภายในเมื่อเห็นว่าจะขาดทุน ก็ใช้เทคนิคในการหลบเลี่ยง”
อย่างไรก็ดี แม้โรงพยาบาลในต่างจังหวัดจะมีข้อจำกัด แต่กลับพบว่าปัญหาโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานครน่าเป็นห่วงมากกว่า
“พื้นที่ในเขต กทม.นั้น มีการกระจายการรักษาที่น้อยกว่า มีการกระจุกตัวมากกว่า การเข้าถึงการรักษาพยาบาลทำได้น้อยกว่าโรงพยาบาลในต่างจังหวัด ที่สำคัญเนื่องจากคนไข้มีจำนวนมากและกระจุกตัวตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ ทำให้มาตรฐานคุณภาพยาที่ให้คนไข้ยิ่งต่ำกว่าโรงพยาบาลในต่างจังหวัด”
ฟันธง“เวชศาสตร์ครอบครัว”อีก 10 ปีล่ม
ขณะเดียวกันการที่กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้ประชาชนไปรักษาพยาบาลที่หน่วยปฐมภูมิมากขึ้นนั้น เป็นเพราะมีการผลักดันหลักสูตรแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เพื่อให้แพทย์เหล่านี้ที่จบออกมาไปดูแลโรงพยาบาลในชุมชน ตามหลักการแล้วเป็นเรื่องที่ดี มีหน้าที่หลักในการแนะนำประชาชนให้รู้จักป้องกันโรค แต่ข้อเสียก็มีเพราะ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวถ้าเจอเคสที่ยากๆ อาจจะได้แค่วินิจฉัยว่าน่าจะเป็นโรคร้าย แต่ก็ไม่สามารถตรวจอย่างละเอียดได้ว่าเป็นจริงหรือไม่ ต้องส่งคนไข้ให้แพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลใหญ่ๆ เป็นผู้วินิจฉัยอีกที
ดังนั้น หากแพทย์ดังกล่าวเจอคนไข้ที่เป็นเคสร้ายแรง ก็อาจจะทำการรักษาไม่ทันการได้เช่นกัน ซึ่งปัญหานี้น่าเป็นห่วง
โดยหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวนี้ เป็นหลักสูตรอบรมแพทย์ที่เรียนจบแพทย์มา 6 ปีแล้วมาต่อยอดเรียนเป็นหลักสูตรเวชศาสตร์ครอบครัวอีก 3 ปี ซึ่งหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับค่าทดแทน และหลังเรียนจบต้องไปปฏิบัติงานที่หน่วยบริการปฐมภูมิ โดยมีเป้าหมายเพิ่มการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวรายใหม่ปีละ 200 ราย เป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะสามารถเพิ่มแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวได้ 1,000 คน
ที่สำคัญแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มจากที่ได้รับในระบบปกติ ปีที่หนึ่ง 10,000 บาท/คน/เดือน ปีที่สอง 20,000 บาท/คน/เดือน และปีที่สาม 30,000 บาท/คน/เดือน และต้องกลับไปใช้ทุนที่ต้นสังกัดเดิมอย่างต่ำ 3 ปี โดยหลักสูตรนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552
ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข พบว่า หลักสูตรนี้มีปัญหาใหญ่คือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เป็นวิธีการที่ผิด ไม่มีทางเป็นไปได้ อีกทั้งเป็นการฝืนธรรมชาติของคนที่เป็นหมอ
“รพ.สต.ปัจจุบัน ให้พยาบาลเวชปฏิบัติตรวจรักษาคนไข้ในโรคพื้นฐานได้อยู่แล้ว ถ้ารักษาไม่ได้ก็ส่งต่อไปโรงพยาบาลใหญ่ขึ้น แต่ทำหลักสูตรนี้ขึ้นมา ก็ปรากฏว่าไม่มีคนเรียน เพราะไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนที่เป็นหมอ”
แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข อธิบายอีกว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคได้มีการจัดระบบการบริการสุขภาพเป็น 3 ระดับ คือ ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ โดยแต่เดิมสถานีอนามัยนั้นถือเป็นหน่วยงานที่ต้องรักษาคนไข้ที่ไม่มีภาวะซับซ้อน ไม่มีภาวะวิกฤต ถ้าไม่ไหวค่อยส่งไปโรงพยาบาลใหญ่ขึ้น และถ้าไม่หายก็จะมีการเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาเป็นระยะ เช่นอาทิตย์ละ 1-2 วัน ที่เหลือให้พยาบาลเวชปฏิบัติตรวจไปได้
เมื่อมีการปรับมาเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบาล (รพ.สต.) จึงได้มีการดึงหมอไปอยู่กับคนไข้ที่ไม่ได้มีเคสที่ป่วยหนักทุกวัน จึงเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่าอย่างยิ่ง
ที่สำคัญเกี่ยวข้องกับเรื่องของศักดิ์ศรีของความเป็นแพทย์ เพราะแพทย์ทุกคนอยากพัฒนาสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญ เช่นถ้าเปรียบเทียบกับเวชศาสตร์ครอบครัวกับเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงระบาดวิทยา เรียน 3 ปีเท่ากัน หมอก็อยากเรียนในหลักสูตรเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงระบาดวิทยา มากกว่า เพราะถ้าไม่มีเวลาก็ทำงานไป สามารถสอบขึ้นทะเบียนและเรียนทางไกลได้ แต่ถ้าหลักสูตรเวชศาสตร์ครอบครัว เหมือนให้หมอมาเริ่มต้นเรียนใหม่ เสียเวลา แถมผลิตได้ปีละแค่ 50 คน
“ซ้ำยังมีการให้เงินเดือนคนละ 10,000-30,000 บาทต่อคนต่อเดือน ตามชั้นปีที่เรียน เงินจำนวนนี้ก็คือเงินจูงใจให้มาเรียน แต่กลับพบว่าเป็นเงินในกองทุนหลักประกันสุขภาพนั่นแหละ แทนที่โรงพยาบาลต่างๆ จะเอางบส่วนนี้ไปบริหารได้ ก็ต้องแบ่งสันมาให้แพทย์เรียนหลักสูตรเวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งดูแลไม่เกิน 10 ปี หลักสูตรนี้จะต้องพัง เพราะมันหลงทาง” แหล่งข่าวระบุ
ตัดค่าใช้จ่ายรายหัว-ไม่หนุนงบเครื่องมือแพทย์
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานแพทย์ชนบท กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแบ่งการรักษาเป็น 3 ระดับคือการรักษาแบบปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ โดยจะมีการส่งต่อโดยให้ผู้ป่วยไปหาหมอที่สถานีอนามัยช่วยกลั่นกรองคนไข้ที่อาการไม่หนัก เป็นการแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลใหญ่ๆ หรือในต่างจังหวัดก็เป็นโรงพยาบาลตำบล โรงพยาบาลอำเภอหรือโรงพยาบาลชุมชนก่อน ถ้ารักษาไม่ได้ค่อยส่งต่อไปโรงพยาบาลชุมชน แล้วส่งต่อไปโรงพยาบาลจังหวัด หรือโรงพยาบาลศูนย์ประจำภูมิภาคนั้นๆ
โดยคิดง่ายๆ แบ่งหมอเป็น 3 ระดับ ได้แก่ หมอจบปริญญาตรี หมอจบปริญญาโท และหมอจบปริญญาเอก จะอยู่ในโรงพยาบาลที่ต่างกัน หมอจบปริญญาตรีก็ควรอยู่ในหน่วยปฐมภูมิ เพื่อรักษาคนไข้อาการพื้นฐาน ส่วนหมอจบปริญญาโทก็ดูแลคนป่วยในเคสที่ยากขึ้นไปอีก เช่น อายุรศาสตร์ทางยาทั่วไป เช่นโรคหัวใจ สูตินรีเวช เด็ก กระดูก และหมอระดับปริญญาเอกรักษาโรคอายุรศาสตร์โรคเฉพาะทาง เช่นโรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคระบบประสาททางด้านสมอง เป็นต้น ซึ่งหมอระดับปริญญาเอกก็จะอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์เป็นหลัก
“ระบบนี้เป็นระบบกลั่นกรองคนไข้ ไม่ให้คนไข้มากระจุกตัวอยู่กับหมอ หรืออาจารย์หมอเท่านั้น ซึ่งเป็นระบบที่ดี”
ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นห่วงคือการดูแลเรื่องงบประมาณด้านสุขภาพของรัฐบาล โดยทุกวันนี้ต้องยอมรับว่างบประมาณรายหัวของประชากรในระบบ 30 บาทนั้น ถือว่าคิดตามความเป็นจริงมากกระทั่งเกิดความตึงตัวในการบริหารงบประมาณของโรงพยาบาลหลายๆ แห่ง ซึ่งต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับงบในการรักษาพยาบาลของข้าราชการที่ตกอยู่ที่ประมาณ 8,000 บาทต่อหัว ซึ่งมากกว่าระบบ 30 บาทกว่า 4 เท่า
“โรงพยาบาลพอเห็นว่าเป็นเงินจากกองทุนข้าราชการ ก็จะมีการคิดราคาเกินความเป็นจริง เพื่อเอางบมาไว้ที่โรงพยาบาลจำนวนมาก ก็ไม่เคยมีใครตรวจสอบราคาการรักษาที่แท้จริง ทำให้มีงบประมาณการรักษาที่แพงเกินจริงไปมาก”
ขณะที่งบประมาณรายหัวของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มีการคำนวณกันอย่างดี แต่กลับถูกรัฐบาลปรับลดเนื่องจากปัญหาน้ำท่วมเมื่อปีที่ผ่านมา โดยค่าใช้จ่ายรายหัวที่รัฐบาลอนุมัติให้ในปี พ.ศ. 2556 นั้นจะอยู่ที่ 2,755.60 บาท ถูกปรับลดจากปี พ.ศ. 2555 ไป 141 บาทต่อหัว ทั้งๆ ที่ในปี 2556 นั้นมีการคำนวณจากค่ายา รวมทั้งค่าเงินเฟ้อที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 2,939.73 บาทต่อหัวประชากร
ส่วนนี้ทำให้เกิดปัญหาการจัดบริการ ทำให้คนที่ต่อต้านระบบ 30 บาทอยู่แล้วยิ่งต่อต้านไปอีก เพราะงบประมาณเป็นไปในลักษณะจำกัดจำเขี่ยมากเกินไป
“รัฐบาลไม่น่าจะปรับเงินค่าใช้จ่ายรายหัวลดลง เพราะทำให้เกิดแรงต้านสูงมากโดยเฉพาะจากโรงพยาบาลใหญ่ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่พองบฯ ไม่พอก็ใช้วิธีส่งต่อไปโรงพยาบาลอื่นๆ ซึ่งเกินความจำเป็น และเป็นเหตุให้คนไข้เสียชีวิตก็มีมาก”
นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการจัดงบการลงทุนด้านสาธารณสุขเลย ทั้งการลงทุนอาควร สถานที่ รวมทั้งเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย เพราะทุกวันนี้โรงพยาบาลต่างๆ มีเครื่องมือแพทย์ที่เก่าและล้าสมัยมาก ตรงนี้ไม่สอดคล้องกับนโยบายดูแลเรื่องสุขภาพของประชาชนที่ต้องการให้มีความเท่าเทียม และมีการเข้าถึงได้ง่าย ทำให้ค่าใช้จ่ายต่างๆ ของโรงพยาบาลใหญ่ๆ ไม่พอ แถมยังกลายเป็นภาระอันหนักหน่วงเสียอีก